• ในชีวิตของผม ต้องเผชิญสถานการณ์ culture shock
สองครั้งใหญ่ๆ
ครั้งที่ใหญ่ที่สุดคือตอนไปเรียนที่อเมริกา
รองลงมาคือตอนมาเรียนที่กรุงเทพ นอกจากนั้นก็ยังมี
ช็อค เล็กๆ อีกมากมาย เช่นตอนมาทำงานที่ สกว.
ตอนเรียน วปอ. เป็นต้น
• ตอนไปเรียนที่อเมริกา ปี ๒๕๑๐ – ๒๕๑๑ ผมอายุ ๒๕ – ๒๖ ปี
เพิ่งจบแพทย์ฝึกหัดใหม่ๆ ไปเรียนปริญญาเอกด้าน
Human Genetics ที่เมือง Ann Arbor รัฐมิชิแกน
แต่ผมเรียนปีเดียวก็ได้ปริญญาโทและกลับมา
สาเหตุที่ผมไม่อยู่เรียน Population Genetics จนจบ (กะว่าเรียน ๓ ปี)
ก็น่าจะเป็นเพราะสาเหตุ ๓ อย่างใหญ่ๆ คือ (1) Culture
Shock (2) คิดถึงแฟน (3)
คิดว่าเรียนจบแพทย์น่าจะทำงานรักษา
ซึ่งได้รับผลประโยชน์สูงกว่าการทำงานกับตัวเลขแบบนัก Population
Genetics จะเห็นว่าผมเมื่ออายุ ๒๖
ปีคิดไม่เป็นเลย ความคิดเหมือนทารก
• อยู่ที่อเมริกา ๑ ปี
ผมรู้สึกตลอดเวลาว่าเป็นคนแปลกหน้า
เห็นวิถีชีวิตของเขาแล้วผมตกใจมาก
เช่นตอนเข้าแถวลงทะเบียนเรียน แถวยาวเหยียดเป็นกิโล
เด็กอเมริกันคงจะรำคาญ จึงจับคู่จูบกันแบบเอาเป็นเอาตาย เป็นคู่ๆ
ต่อหน้าต่อตาธารกำนัล
เขาคงคิดว่าดีกว่าอยู่เปล่าๆ
แต่เราผู้ดูซีครับ ช็อคแล้วช็อคอีก
แต่เขาคุยกับเพื่อนสลับกับจูบกับแฟนแบบหน้าตาเฉย
• ตอนนั้นแฟชั่นมินิสเกิร์ตกำลังมาแรง
และเสื้อยืดคับแบบเห็นเต้าก็เป็นแฟชั่นในอเมริกา
ที่เมืองไทยเราไม่มีใครกล้าสวม เพราะมันโป๊มาก
แต่ที่อเมริกา
นักศึกษาหญิงประมาณหนึ่งในสี่สวมเสื้อแบบนี้
อีกเกือบสี่สิบปีให้หลัง
สาวไทยเราก็สวมเสื้อยืดรัดรูปเหมือนที่ผมเห็นแล้วช็อคที่อเมริกา
แต่ตอนนี้ผมก็ชินเหมือนกัน จึงไม่รู้สึกแปลก
• จะอยู่ในอเมริกาให้กลมกลืนต้องปากเปราะ
ทักทายเก่ง ออกความเห็นเก่ง
ไม่มีความเห็นก็ให้ถามเข้าไว้
แต่ผมมีนิสัยเป็นคนเงียบ
สงสัยอะไรก็ไม่รีบถาม ต้องคิดเสียก่อน
หรือค้นคว้าเองเสียก่อน
จึงทำให้ผมเข้ากับคนอเมริกันยากมาก
• ภาษาที่เราเรียนมาก็เป็นภาษาอ่าน-เขียน
อ่อนด้านพูด-ฟัง
ผมฟังไม่รู้ว่าที่อาจารย์คนหนึ่งพูดว่า
“โปรเดี่ยน” อยู่เดือนเศษแล้วนั้น จริงๆ แล้วหมายถึง
โปรตีน
• ที่เคยลงบันทึกคุยโม้ว่าผมปรับตัวเก่ง
ก็ไม่จริงเสมอไป ผมอยู่ที่ แอนน์ อาเบอร์
ตลอดปี ด้วยความทรมาน
ไม่รู้สึกว่าเป็นบ้าน
• ตอนมาเรียนหนังสือต่อที่กรุงเทพ อายุ ๑๕ ปี
ผมต้องฝึกพูดภาษากลางอยู่ ๑ ปีเต็มๆ
จึงค่อยกล้าคุยกับเพื่อน
กลัวทองแดงร่วงน่ะครับ
เพราะที่บ้านผมเราพูดภาษาปักษ์ใต้
เคยพูดภาษากลางก็เฉพาะกับครูและพูดในห้องเรียน
คือพอเราพูดภาษากลางเราก็จะเกร็ง
เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นภาษาทางการ
มาอยู่กรุงเทพรู้สึกว่าชีวิตต้องเป็นทางการตลอดเวลา
ไม่ผ่อนคลาย กว่าจะผ่อนคลายจริงๆ ก็เข้าไป ๓
– ๔ ปี ตอนเรียนแพทย์แล้วโน่นแหละครับ
ผมจึงเป็นทั้งคนที่ปรับตัวง่ายและยากในเวลาเดียวกัน
• ที่จริงตอนไปเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัด ชุมพร
“ศรียาภัย” (ชื่อในขณะนั้น) ตอนอายุ ๑๐ ขวบ ผมก็มี culture shock
น้อยๆ เพราะผมก็เป็น
“บ้านนอกเข้าเมือง” เห็นเด็กตลาดเขาพูดคุย
กิริยาท่าทาง ไม่เหมือนบ้านเรา ที่ท่ายาง (ต. ท่ายาง อ.
เมือง ห่างจากตลาด ๖ กม.)
ยังดีที่สำเนียงพูดและท่าทางของเราไม่เพี้ยนจากพวกในตลาดมาก
จึงไม่ถูกล้อเลียน
เพื่อนคนหนึ่งมาจากตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ
ซึ่งในสมัยนั้นเขาเรียกว่า “ชาวเหนือ” เวลาคุยกัน
ถ้าเราพูดอะไรเชยๆ ออกไป เพื่อนจะถามว่า
“มึงมาแต่เหนือเหรอ”
เวลาล้อเลียนเพื่อนจะเรียกเพื่อนจาก ต. สลุยคนนี้ว่า
“ไอ้หลุย” เพื่อนคนนี้สนิทสนมกับผมมาก
อาจเพราะเป็นเด็กบ้านนอกด้วยกันก็ได้
เดี๋ยวนี้อำเภอท่าแซะมีถนนสายเอเชียตัดผ่าน คนบ้านนอกร่ำรวยไปตามๆ
กันเพราะที่ดินราคาขึ้น และไปมาสะดวก
• นานแล้ว
ได้ทราบข่าวนักเรียนในโครงการส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศอำเภอละคนของนายกทักษิณ
แล้วมีนักเรียนไปฆ่าตัวตายเพราะเครียด
ทำให้ผมนึกถึงสมัยผมไปเรียนและเครียดเช่นเดียวกัน
ที่รอดมาได้ก็เพราะเราสามารถปรับตัว ทนได้
ในระดับหนึ่ง เมื่อกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว
ลูกสาวคนเล็กได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนชั้น Prep
(ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย) ที่ รร. Exeter
ซึ่งถ้าบอกคนอเมริกันว่าลูกเข้าเรียนที่ Exeter
เขาจะตาลุกด้วยความนับถือ
ลูกสาวผมยังเครียดจนร่ำร้องจะกลับบ้าน
เพื่อนรุ่นเดียวกับผมที่สอบชิงทุน กพ. ไปเรียนต่อต่างประเทศได้
หลังจากสอบ ม. ๘ ติดบอร์ด
ไปเชือดข้อมือตัวเองตายที่อังกฤษเพราะความเครียด
ผมคิดว่าตัวสาเหตุหลักคือ culture shock
วิจารณ์ พานิช
๗ พค. ๔๙
อ่านสนุกดีครับเรืองนี้ เพลินดี
มาเฉลยตอนท้ายว่าอะไรทำให้ อ.เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา
I respect your generosity to share people with such your life story in US. Interestingly, such an event has also occurred to me currently as an international student. I find it is beneficial to know how culture shock influences Thai students. On the whole, there are four stages of the culture shock: 1. honeymoon, 2. hostile, 3. humor and 4. at home, respectively. I'm now somewhere between the 2nd and 3rd stage, even though I have been living in US for three years. So, I believe that getting through the culture shock is a time-required process. I also think everyone has his/her own secret of success in this business and conducting his/her life. There have been several approaches I am using to get my life without suffering too much on such a depression and homesickness. One of them is thinking I have a better opportunity than everyone else of studying here. Second, I study Dhamma and try to apply it for my daily life; this technique helps me a lot. Third, review the goal frequently and go for it.
- San Jose, USA
เพื่อนทางใต้ของดิฉันมาเรียนที่ ม. ช. ด้วยกัน เคยบอกว่า เขามีปัญหากับภาษามาก เพราะเวลาจะพูดอะไรต้องคิดเป็นภาษาใต้แล้วแปลงเป็นภาษากลางก่อน แล้วยังมาเรียนทางเหนืออีกทำให้ยิ่งพูดช้าพาลจะติดอ่างเอา ตอนที่เขาเล่า เรากำลังดูหนังตลกฝรั่งและเขาหัวเราะตามทันได้ตอนเดียวจากทั้งเรื่อง พวกเราล้อกันเล่นในกลุ่มเพื่อนเขาเลยเล่าสาเหตุปัญหาให้ฟัง น่าเห็นใจสำหรับคนที่ต้องย้ายถิ่นหลายๆ ครั้งไปในที่ที่มีความแตกต่างมากเกินไป