อนาคตรังสีเทคนิคไทยในมุมมองของผู้ประกอบวิชาชีพ


แต่ในมุมมองของผมก็มีความรู้สึกว่า มันเหมือนกับว่ามันไม่มีสภาวิชาชีพทางด้านนี้โดยตรง และมันก็เหมือนชนกลุ่มน้อย เพราะรังสีเทคนิคทั่วประเทศเนี่ย คาดว่า ถ้ารวมเป็นตัวเลขตรงๆทั้งหมดทุกสถาบันทั่วประเทศ ณ วันนี้ก็น่าจะประมาณหนึ่งหมื่นคน ขณะที่รังสีเทคนิคของเราเนี่ยมันเป็นอะไรที่วิวัฒนาการที่ช้า แต่ขณะเดียวกัน มีสิ่งสวนทางอยู่อย่างคือ เทคโนโลยีทางด้านรังสีเทคนิคเนี่ยมันไปอย่างรวดเร็วมาก ป้ายซีที ป้ายเอ็มอาร์ไอ ใหญ่กว่าป้ายโรงพยาบาลด้วยซ้ำ และขณะเดียวกันถ้าเราไม่มี...

     จากการอภิปรายเรื่อง "อนาคตรังสีเทคนิคไทยในมุมมองของผู้ประกอบวิชาชีพ" ในการประชุมวิชาการรังสีเทคนิคประจำปี 2549 ครั้งที่ 14 หรือ 14th TSRT เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549 ที่โรงแรมเวลคัมจอมเทียน พัทยา ชลบุรี

มานัส มงคลสุข(ผู้ดำเนินการอภิปราย)
    
วันนี้ 5 สมาคมมารวมกันอยู่ที่นี่ ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ ว่าวันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญมาก ไม่ทราบว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น......
     ที่ผ่านมาเนี่ย เราก็จะเห็นว่า วิชาชีพของเราเริ่มที่จะมีอะไรเป็นปึกแผ่นบ้างแล้ว เพราะคนเราเกิดมาอายุ 40 นิดๆ มันก็คงเริ่มจะเห็นแล้วว่า หัวหรือหางจะเป็นอย่างไร เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ขึ้นบน หรือลงล่าง นะครับ เพราะฉะนั้น อยากจะบอกว่า วันนี้เนี่ย ต้องขอชื่นชมคนที่ทำโปรแกรมนี้.......
     มุมมองอนาคตรังสีเทคนิคไทย คือบางทีเรียกรังสีเทคนิคไทย บางทีเรียกรังสีการแพทย์ไทย ผมคิดว่าตรงนี้ชื่อคงไม่ค่อยมีความสำคัญ หรือมีความหมายมากกว่า ว่าเราคิดกันอย่างไร นะครับ เพราะงั้น บางทีผมจะใช้คำว่า ชาวเรา นะครับ คือชาวเราเนี่ย เรามองอนาคตวิชาชีพของเราเป็นอย่างไรในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ
พันธ์ทิพย์ สงเจริญ (นายกสมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิครามาธิบดี)
    
รังสีเทคนิครามาธิบดี เริ่มกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2513 รวมอายุ 35 ปี ทุกคนก็จบการศึกษามาประมาณเป็นตัวเลขก็ ประมาณซักเกือบ 3000 คนได้ ...แล้วมันก็ก่อเกิดอย่างที่ท่านอาจารย์มานัสได้พูดก็คือ ผมก็ไม่ทราบว่าไอ้ความเป็นมาของชื่อตำแหน่งเนี่ย ที่มันเป็นความหลากหลายของชื่อตำแหน่งเนี่ย มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไง
     แต่ในมุมมองของผมก็มีความรู้สึกว่า มันเหมือนกับว่ามันไม่มีสภาวิชาชีพทางด้านนี้โดยตรง และมันก็เหมือนชนกลุ่มน้อย เพราะรังสีเทคนิคทั่วประเทศเนี่ย คาดว่า ถ้ารวมเป็นตัวเลขตรงๆทั้งหมดทุกสถาบันทั่วประเทศ ณ วันนี้ก็น่าจะประมาณหนึ่งหมื่นคน ขณะที่รังสีเทคนิคของเราเนี่ยมันเป็นอะไรที่วิวัฒนาการที่ช้า แต่ขณะเดียวกัน มีสิ่งสวนทางอยู่อย่างคือ เทคโนโลยีทางด้านรังสีเทคนิคเนี่ยมันไปอย่างรวดเร็วมาก ป้ายซีที ป้ายเอ็มอาร์ไอ ใหญ่กว่าป้ายโรงพยาบาลด้วยซ้ำ และขณะเดียวกันถ้าเราไม่มี...
     การเติบโตแบบไม่มีทิศทาง คือหมายความว่า ถ้าตราบใดที่มันไม่เกิด การรวมตัวหรือเป็นสภาวิชาชีพอะไรเกิดขึ้นเนี่ย ตรงเนี้ยมันเหมือนทิศทางไม่มี มันไม่ได้ถูกกำหนด เพราะฉะนั้นต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเติบโต ในวิถีของตัวเอง โดยตัวเอง มันก็ไม่มีมาตรฐานอะไรไปรองรับ ทุกคนวิ่งหาตำแหน่งกันเอง ทุกคนหาจุดยืนของตัวเองโดยตัวเอง พอมีการเรียนต่อเนื่องขึ้นมา ก็ยังมีปริญญาที่แตกต่างกันอีก นี่มันก็ทิศทางคนละทิศคนละทางอีก ซึ่งมันก็เหมือนกับว่า สิ่งที่ต้องการที่แท้จริงมันก็ยังไม่ปรากฏขึ้นมาอีก...............
สมศักดิ์ รุ่งพานิชย์ (ผู้แทนนายกสมาคมรังสีการแพทย์แห่งประเทศไทย)
    
กราบเรียนท่านอาจารย์นะครับ และเพื่อนๆที่รักทุกคน ร่วมชะตากรรมชาวรังสีการแพทย์ รังสีเทคนิค นะครับ จะเป็นรังสีการแพทย์ หรือรังสีเทคนิค ก็คือกลุ่มวิชาชีพรังสี ผมอยากจะเน้นตรงนี้มากกว่าคือกลุ่มวิชาชีพรังสี ซึ่งให้บริการกับตัวประชาชน ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เราจะพูดไม่ได้เลยว่าเราอยู่ในสายงานของสาธารณสุข สายผู้ดูแลสุขภาพของชาวไทยนะครับ เราจะมีกันเพียงน้อยนิด เหมือนกับที่รังสีเทคนิครามาฯนายกบอก เราเหมือนเพชรในตรมนะครับ จะเห็นว่าล่าสุดของหน่วยบริการที่มีเอกซเรย์ใช้ คือเราเป็นผู้ใช้ เราเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี นะครับ จะเห็นว่าประเทศไทยเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีซะส่วนใหญ่ ทำไมถึงเป็นตรงนั้น เนื่องจากว่าคุณภาพของเราเนี่ย ความทัดเทียมนะครับ ทุกด้าน เราบอกว่าเราจะเป็นประเทศที่พัฒนาแต่ว่าเรากลับถูกกรอบจำกัดเอาไว้
     มุมมองของผมมีหลายด้านหลังจากที่ผมได้รับหัวข้อนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ พอดีพี่แดงสุขใจนายกสมาคมฯติดภาระกิจ ดูภาระกิจแกก็เยอะจากการที่ทำงาน contact กับแกมา 7-8 ปี รู้สึกว่าภาระกิจของแกค่อนข้างเยอะ ก็รับมอบหมายมาก็คุยกันว่าจะไปทิศทางไหน เป็นอาชีพกับวิชาชีพนี่แตกต่างกันนะครับ อาชีพนี่ใครจะทำอะไรก็ได้ คุณเป็นรังสีอยู่นี่คุณไปค้าขายนั่นก็เป็นอาชีพพ่อค้า นะครับ อาชีพนักธุรกิจ คุณอยากเป็นเซลขายฟิล์มแต่คุณจบรังสีเทคนิคหรือว่าเป็นการขายเครื่องก็เป็นอาชีพนักธุรกิจ อาชีพพ่อค้า แต่ถ้าเป็นวิชาชีพคุณต้องเรียนและต้องเป็น field ตรงนั้นคุณถึงจะทำได้ ตามกรอบแห่งกฎหมายแห่งวิชาชีพ ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจนะครับ ใบประกอบโรคศิลปะฯของเราเนี่ย ผมเอาตัวเลขกลมๆนะครับเมื่อกี๊เจอกับท่านอาจารย์ ประมาณ 2,500 กว่าใบ ออกไปแล้ว แต่การเข้าสู่สายงานมันยากเย็นเข็ญใจ จากเจ้าหน้าที่เป็นนักรังสี หรือจากน้องที่เป็นนักรังสีจบเพียวๆมาจะเข้าสู่วงราชการอะไรแบบนี้ ก็มีขีดจำกัดว่า รับได้เท่านี้นะ อีกส่วนตรงนี้ไปทำงานอย่างอื่น.....
     เราจะทำอย่างไรให้พวกเราได้โตไปพร้อมๆกัน นะครับ เค้าบอกว่า มนุษย์เราทุกคนเนี่ยพัฒนาได้จริงไหมครับ พัฒนาหลายๆด้าน มุมมองของผมในการพัฒนาคนเนี่ยไม่ใช่การศึกษาอย่างเดียว การศึกษาคือการพัฒนาทางสายวิชาการ สมมติว่าเราอยากจะรู้เรื่องรังสีให้มันเข้มข้นเราก็ไปเรียนรังสีให้มันเข้มข้น เป็นผู้ปฏิบัติที่เข้มข้นในสายวิชาการ สมมติเราอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน เราไม่ได้ทำงานด้านรังสีอย่างเดียว เราเป็นทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตลอดจนบางคนเป็นนักบริหารในโรงพยาบาลด้วย ได้รับมอบหมายในงานต่างๆ เหมือนกันโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปก็เหมือนกัน คุณนั่งเป็นหัวหน้าแผนกเป็นนักรังสีการแพทย์คุณอาจต้องไปเปิดซอง คุณอาจจะต้องกำหนด specification ในการตรวจเครื่อง นั่นคือหลักในการบริหาร คุณต้องพัฒนาตรงนี้ขึ้นมา ในเมื่อเราโตขึ้น วิชาการเราก็ต้องแน่น เราต้องสร้างศักยภาพตัวของเราขึ้นมาก่อน เรามองตัวของเราก่อนว่าเรามีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคม ต่ออุดมการณ์ของเราขนาดไหน แล้วถึงจะมองอนาคต...............
สิโรจน์ ปัญญานันทกิตต์ (นายกสมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิค ม.สงขลานครินทร์)
     ขอรายงานตัวนะครับ ผมสิโรจน์ ปัญญานันทกิตต์ จากรังสีเทนิค มหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ ในมุมมองของกระผม ขอเรียนดังนี้นะครับ ว่าผมจะมองอนาคตรังสีเทคนิคของเราเป็น 3 มิติ
     มิติแรกคือ มิติความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาเร็วมากจนบุคลากรของเรานี้ไม่ได้ตามทันนะครับ เพียงแต่ก้าวตามเทคโนโลยีเท่านั้น เพียงแต่ก้าวตามและได้สัมผัส ได้ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็ต้องขอขอบคุณทางสมาคมที่ได้จัดให้มีการประชุมวิชาชีพทางรังสีเกิดขึ้นมาทุกปี รวมทั้งสถาบันทางการศึกษาหลายๆแห่งที่ร่วมกัน ให้พวกเราวิชาชีพทางรังสีที่ได้มาพยายามเดินก้าวตามให้ทันเทคโนโลยีนี้
     ส่วนอีกมิตินึงคือมิติกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพงาน เราไม่สามารถที่จะแบ่งได้ว่าโรงพยาบาลเล็ก หรือโรงพยาบาลใหญ่ จะต้องทำงานทางด้านกิจกรรมคุณภาพงานนี้ จะขอกล่าวคำอ้างของท่านราษฎรอวุโสท่านอาจารย์ประเวศ วสี ที่ท่านบอกไว้ว่า "ยุคของการบริการสาธารณสุขยุคใหม่นี้ เป็นการบริการสาธารณสุขที่เน้นหัวใจของความเป็นมนุษย์" ที่มันตรงกับ concept ของงานที่เราจัดมาวันนี้ ตรงกันมาก ที่ว่า "รังสีเทคนิคไทย รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เหลียวแลชาวประชา" นี่ผมดู concept นี้ผมก็ทึ่งในคนที่คิด concept นี้ เข้ากับยุค เข้ากับเหตุการณ์ ซึ่งความก้าวหน้าทางด้านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพงานนี้มันต้องก้าวตามไปด้วยกับเทคโนโลยี อย่าให้เทคโนโลยีนำความลำบากมากับให้ผู้ใช้บริการ
     ส่วนอีกมิตินึงคือมิติของความก้าวหน้าทางวิชาชีพ หลายๆคนก็ได้พูดมาเลยนะครับว่า ความก้าวหน้าทางวิชาชีพของเราจำกัดอยู่ มีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเงาบังอยู่ แต่ผมคิดว่ามันก็มีบางอย่างที่ทำให้ท้องฟ้าเริ่มเปิดแล้ว โดยที่เราชาวรังสีมีวัคซีน ผมคิดว่าเป็นวัคซีนนะครับตัวนี้ ไอ้วัคซีนที่ผมบอกก็คือ ใบประกอบโรคศลปะทางรังสี ก็ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการที่ได้จัดทำ ผลักดันให้เกิดวัคซีนตัวนี้ขึ้นมา เพื่อให้ชาวประชารังสีของเรานี้จะได้มีวัคซีนป้องกันสำหรับประกอบวิชาชีพ...............
ปิยะศักดิ์ น้อยอยู่นิตย์ (นายกสมาคมศิษย์เก่ารังสีเทคนิค รพ.จุฬาลงกรณ์)
    
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์มานัสนะครับ ขอบคุณท่านนายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ตลอดจนท่านประธานฝ่ายวิชาการนะครับ และก็ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าตื่นเต้นนะครับ ผมรู้สึกว่า ผมเป็นน้องใหม่ในวงการนี้เลยมั้งครับ จุฬาฯเพิ่งจะมาได้ 5-6 ปีนะครับ
     วันนี้ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีนะครับ ผมมีความคิดอยู่แล้วตั้งแต่ตอนที่เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมฯว่า มันไม่น่าจะกระจัดกระจายกันแบบนี้ จะต้องมีอะไรที่รวมกันให้ได้เป็นหนึ่งได้นะครับ พอได้มีโอกาสเชิญมาอภิปรายก็เลยต้องทำการบ้านเยอะนิดนึง เลยไปสอบถามจากกลุ่มพวกเรานี่แหละครับ แต่ว่าของผมค่อนข้างจะโชคดีว่าได้เจอกับทั้งกลุ่มที่อยู่ในโรงพยาบาลที่ high technology โรงพยาบาลสังกัดทบวง โรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ โรงพยาบาลเอกชนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ตลอดจนวิชาชีพเดียวกันที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือระดับรากหญ้าเล็กๆเราก็ได้ไปสัมผัสมา ผมก็ลองถามเค้าว่าคนทั้ง 5 กลุ่มนี้ เค้าคิดว่านับจากวันนี้ไปอีกซัก 20 ปี 10 ปี ข้างหน้า รังสีเทคนิคเนี่ยอนาคตมันจะเป็นอย่างไง
     เริ่มต้นเลยทุกคนบอกว่าจะต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง วิชาชีพเราหยุดแค่นี้ไม่ได้ เมื่อก่อนผมเป็นคนหนึ่งที่จบอนุปริญญา ผมคิดว่าพอแล้ว แค่นี้ผมทำงานได้ผมใช้เครื่องมือเป็น พอถึงจุดนึงผ่านมาสัก 5 ปี ผมรู้ว่ามันไม่พอต้องมีการศึกษาต่อเนื่อง และ ณ วันนี้ผมก็จบปริญญาตรี ผมก็คิดว่ามันไม่พอแล้ว เวลาไปประชุมหรือไปเสนอความคิดกับใคร คนอื่นที่เค้ามีความรู้ความสามารถมากกว่านี้เนี่ย ไม่จำเป็นต้องเป็นปริญญาโท.......อันที่สองคือการพัฒนาตนเองเมื่อกี้ศึกษา ศึกษาแล้วคุณมาหยุดอยู่กับแผนก มาอยู่ที่โต๊ะคุณ ใบ certificate อยู่ในกรอบแขวนไว้แต่คุณไม่ได้ใช้มัน มันไม่มีประโยชน์ คุณต้องเอามาพัฒนาตัวคุณแล้วเอามาใช้จริงๆ ใช้ให้ได้ให้เห็นผลจริงๆ อันที่สาม เมื่อเราศึกษาและพัฒนาตนเองแล้ว เราก็ต้องก้าวไปสู่ในจุดที่เราต้องร่วมวางแผนการจัดซื้อ..........
สละ อุบลฉาย (นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งปรเทศไทย)
    
ครับก็ขอสวัสดีเพื่อนๆชาวรังสีเทคนิคทุกท่านนะครับ ก็ในนามนายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย ขอต้อนรับพวกเราครับ ก็ดีใจเป็นอย่างมากครับ จริงๆการเชิญใน section นี้ที่เกิดขึ้นเนี่ย ก็จากที่ผมได้ไปพูดคุยกับสมาชิกรังสีเทคนิคนะครับ ซึ่งพวกเราทั้งหมดนะครับไม่ว่าจะสังกัดอยู่ที่ไหนเนี่ย ก็ได้คุยเป็นส่วนหนึ่ง ก็มีความคิดว่าเจตจำนงค์ที่เราควรจะตั้งไว้สักครั้งเถอะ......พอเราพูดคุยในคณะกรรมการ เอามาเสนอในคณะกรรมการ กรรมการก็เห็นพ้องต่อที่ผมไปเสนอ น่าจะมีการเชิญนายกสมาคม ซึ่งพวกเราเป็นพวกเดียวกัน อยู่ในกลุ่มอาชีพที่ต้องยึดถือใบประกอบโรคศิลปะใบเดียวกัน มาตรฐานก็ควรจะเป็นแนวทางเดียวกัน เราก็มีการเชิญพูดคุยในวันนี้เกิดขึ้น นะครับ
     ตอนนั้นเราอายุรังสีเทคนิคเกิดขึ้นในประเทศไทยก็น่าจะ ถอยหลังไปหน่อย อาจจะอายุเป็นวัยรุ่นนิดนึง เบษจเพศ 25-30 อะไรทำนองนี้ครับ ตอนนี้ผมว่ามันโตแล้วนะครับ ตอนนี้ผมว่าอายุก็แก่แล้วรังสีเทคนิคเกิดขึ้นมาเนี่ย ถ้านับปี 11 จนถึงตอนนี้ปี 49 ผมว่าก็ 38 แล้ว วัยที่เราพอที่ น่าจะเป็นหลักได้แล้ว เสานี้น่าจะปักยึดแน่นได้ และให้ผู้ที่ไล่ตามมาก็มาเกาะเสาตัวนี้ ผมว่าผู้ที่มาทำงานสมาคมทุกคนก็คงหวังที่จะทำอันเนี้ยฝากไว้เพื่อให้วิชาชีพเนี่ยเป็นหลัก มีหลักเดียวครับ และทุกคนก็ยึดหลักตัวเนี้ย ว่าหลักตัวเนี้ยเขียนว่าอะไร และก็ปฏิบัติตามใบประกอบฯ ที่ว่าเมื่อกี๊วัคซีนที่ใช้ฉีดเข้าไป หลักนี้จะมีวัคซีนอยู่ครับ เป็นตัวคุ้มกัน ...คิดว่าเหมือนคัมภรีย์ใบนึงซึ่งอยู่ในหลักเนี้ย ทุกคนต้องใช้หลักเดียวกันนะครับ ผมก็อยากจะเปรียบเทียบง่ายๆ
     ทีนี้ลองมองดูซิครับว่ารังสีทุกคนที่เกิดมาในปี 11 เนี่ยจนถึงปัจจุบันนี้ ถามว่าพี่น้องกันใช่ไหมครับ คลานตามกันแตกลูกหลานไป มันน่าจะมารวมตัวกัน ตั้งแต่ปี 11 มา มีพี่คนโตไล่มา อาจารย์ชัชวาลย์ อาจารย์วิจารณ์ นะครับ ซึ่งตอนนั้นอาจารย์วัชรี ผมบอกได้เลยว่าอาจารย์หรรษา ซึ่งเป็นแนวผู้ก่อตั้งให้เกิดพวกเราที่มานั่งอยู่ที่นี่ทุกคนนะครับ ก็ที่ยังไม่เอ่ยนามก็มีเยอะแยะ มีพี่เฉลิมที่ผมจำได้รุ่นแรกๆนะฮะ พี่เชาวนาและสมัยก่อนมีชื่อพี่ชวลิตก็ขอโทษด้วยอ้างชื่อท่านนะครับ จนมายุคหลังๆก็เกิดขึ้นมามากมาย จนมีคณาจารย์ได้ชี้แจงเพื่อช่วยหาทางว่าเป็นอนาคตในข้างหน้านี้จะได้กำหนดทิศทางต่อไปเพื่อเจตจำนงค์ที่เราตั้งไว้ เมื่อกี๊ก็ยังหาอยู่ผมก็ บอกว่ารังสีเทคนิคไทยรวมใจเป็นหนึ่ง เหลียวแลประชา อันนี้ที่ตั้งนี่นอกจากเราจะทำแล้ว หน้าที่ของเรารวมกันแล้ว ก็คงเพื่อไปบริการชาวประชา ก็ขอให้ทุกคนตั้งใจว่าต่อไปนี้ น่าจะเป็นนิมิตเริ่มต้น ณ วันนี้ ไม่ทราบว่าอาจารย์จะสรุปว่าเป็นประวัติศาสตร์จริงหรือเปล่าว่าได้แค่ไหนนะครับ ก็ขอให้มองดูประชาเป็นหลัก ขอบคุณครับแค่นี้ก่อนนะครับ
มานัส มงคลสุข(ผู้ดำเนินการอภิปราย)
    
ต่อไปเป็นช่วงคำถามจากผู้ฟังทุกท่าน กรุณาเตรียมคำถามเขียนใส่กระดาษ หรือจะถามที่ไมค์ก็เตรียมตัวนะครับ ระหว่างรอคำถามผมจะสรุปที่ 5 สมาคมฯพูดมาทั้งหมดครับ
     ที่ท่านนายกสมาคมฯทั้ง 5 สมาคมฯได้พูดไปเนี่ย จริงๆแล้วมันก็คือมุมมองที่ถ้าเราจะวิเคราะห์ตัวเองเราอาจจะใช้ SWOT analysis เอกสารตรงนี้ผมได้แจกให้แก่ทุกท่านไปแล้วนะครับ ซึ่งผมเขียนเองจากใจ ว่า “มองอนาคตรังสีเทคนิคไทยแบบ SWOT” ผมทราบว่าหลายคนอาจจะรู้วิธีนี้แล้ว แต่ก็ขอสรุปให้ฟังอีกครั้ง ว่าคำว่า strength weakness opportunity และ threat โดยเอาอักษรตัวแรกมาผสมกันเป็น SWOT ใช้วิธีนี้มององค์กรของเรา องค์กรของเราคือชุมชนรังสี เรามองภายในชุมชนรังสีว่าอะไรเป็นจุดแข็งหรือ strength และอะไรเป็นจุดอ่อนหรือ weakness และมองภายนอกชุมชนรังสีว่าอะไรเป็นโอกาสหรือ opportunity และอะไรที่เป็นอุปสรรคหรือ threat
     เท่าที่ฟังมาทั้งหมด 5 สมาคมฯ
     จุดแข็งคือ เราทำงานอยู่กับเครื่องมือรังสีที่มีราคาแพงมากหลายคนอาจเห็นแตกต่างได้นะครับ อีกประการหนึ่งคือชุมชนของเรามีใบประกอบโรคศิลปะ อาจจะมีจุดแข็งหลายอย่าง แต่นี่คือตัวอย่าง
     จุดอ่อนคือ การเติบโตทางสายงานและตำแหน่งยังไม่ครอบคลุม และไม่เป็นธรรม มันทำให้เราทำงานไปแล้วซังกะตาย หรือทำไปวันๆนึง มันไม่มีแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้น คือไม่มีทั้ง inspiration และ motivation ขาดทั้งสองอย่างเลย จุดอ่อนอีกอย่างคือการที่วิชาชีพเรามีมุมมองที่แตกต่างกันหลายอย่างในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งไม่ควรที่จะสะท้อนถึงความแตกแยก คำว่าความเห็นแตกต่าง กับความแตกแยก มันทันสมัยมากในระดับประเทศ เห็นแตกต่างได้แต่ไม่ควรแตกแยก ตรงนี้คือจุดอ่อนที่เราต้องหาทางแก้ไข
     อุปสรรคคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรังสีเทคนิครวดเร็วมากจนชาวเราตามกันไม่ทัน ไม่ต้องไปคิดถึงการสร้างเทคโนโลยีเลย การศึกษาต่อเนื่องเพื่อพัฒนาตัวเองให้เท่าทันมันจึงจำเป็นแต่ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง
     โอกาสคือ การที่สังคมให้การยอมรับวิชาชีพของเรา ดูจากการต้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีใบประกอบโรคศิลปะฯ อีกประการหนึ่งคือเทคโนโลยีทางรังสีพัฒนาไม่หยุด ไม่ตาย
     ทั้งหมดที่พูดกันมานี้เมื่อวิเคราะห์แล้วด้วย SWOT ก็จะช่วยให้เรามองอนาคตได้ง่ายขึ้น ทีนี้ก็เชิญคำถามได้เลยครับ


  เรื่องที่เกี่ยวข้อง
  1.บันทึกจากประกายรังสี “รวมใจก้าวต่อไปสู่สภาวิชาชีพ”
  2.บันทึกจากประกายรังสี “มองอนาคตรังสีเทคนิคไทยแบบ SWOT”
<hr>

หมายเลขบันทึก: 28372เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2006 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดิฉันช่วยวิเคราะห์เพิ่มเติมนะคะ

  1. จุดแข็ง  จากเรื่องเล่าในวันประชุมที่ถอดคำพูดจากผู้อภิปรายทุกท่าน ดิฉันปลื้มใจที่ทั้ง 5 สมาคม สมานฉันท์กันดี  การยินดีมาร่วมพบปะพร้อมหน้ากันเช่นนี้ และทัศนะที่แสดงออกของผู้นำสมาคมทุกท่าน เป็นเครื่องชี้บอกได้ว่า วุฒิภาวะของบุคลากรในวิชาชีพเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้มีความแตกต่างหลากหลายแต่ไม่แตกแยก  อีกประการหนึ่งก็คือ ขนาดของบุคลากรในวิชาชีพไม่ใหญ่โตนัก น่าจะเป็นปัจจัยให้การรวมกลุ่มเพื่อระดมสมองพัฒนาวิชาชีพเป็นไปได้โดยง่าย 
  2. จุดอ่อน  การพัฒนาตนทางด้านวิชาการ ตลอดรวมถึงการค้นคว้าวิจัย ในหมู่บุคลากรในสาขาวิชานี้ยังอยู่ในอัตราที่ช้ามาก  อาจเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาความก้าวหน้าในวิชาชีพ ดังที่อาจารย์สรุปไว้ (เรื่องปากท้องมันขัดขวางความคิดสร้างสรรค์กระมัง)  อีกประการหนึ่ง อาจเป็นเพราะ สาขารังสีเทคนิค มีบัณฑิตศึกษาน้อย และในประเทศ มีแต่ระดับ ป.โท ยังไม่มีระดับ ป.เอก อีกทั้งผู้ที่ศึกษาจบในระดับ ป.โท   ป.เอก หรือมีคุณวุฒิทางวิชาการสูง ผู้มีผลงานวิจัยดีเด่นระดับประเทศ ก็ยังมีจำนวนน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย 
  3. โอกาส ลักษณะเฉพาะของวิชาชีพ ที่เน้นเครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และสารสนเทศ สอดคล้องกับวิวัฒนาการของโลกปัจจุบัน ทำให้มีเรื่องให้คิดค้นแก้ปัญหากันได้เรื่อยๆ และลักษณะเฉพาะของวิชาชีพ แตกต่างอย่างขัดเจนกับสาขาวิชาชีพใกล้เคียง ทำให้มีคู่แข่งน้อย
  4. อุปสรรค  มากับโอกาส คือมากับเทคโนโลยี เช่น ด้าน software  วัสดุศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ซึ่งความก้าวหน้าของประเทศเราเองยังไม่เข้มแข็งมากนัก  การต่อยอดเพื่อนำมาพัฒนาทางด้านรังสีเทคนิคก็พลอยทำได้ยากตามไปด้วย

ขอเชิญร่วมต่อยอดความคิด แนวทางแก้ไขด้วยคะ

           

อยากเห็นประเทศไทยมีคนจบ ป เอก ทางรังสีเทคนิค (professional) เหมือนกันครับ ตอนนี้มีหลายประเทศเปิดหลักสูตรแล้ว หากมหาวิทยาลัยผู้ผลิตแห่งใดพอมีทุนส่งคนไปเรียนขอให้ลองมองสาขา "วิชาชีพ" โดยตรงของรังสีเทคนิคดูบ้างนะครับ จะได้มาช่วยกันพัฒนาวิชาชีพรังสี(มี)เทคนิค กันบ้าง

คนไปจบปริญญาเอกด้านข้างเคียง บางครั้งก็ข้างเขียง หากไม่มีประสบการณ์ทางคลีนิค หรือปฏิบัติงานในคลีนิคทางรังสีเทคนิคก็คงจะมองการพัฒนาเชิงวิชาการในวิชาชีพยากอยู่ครับ

อยากให้มองความเข้มแข็งในวิชาชีพเพื่อนขิงเราคือกายภาพบำบัดเป็นแนวทางที่มีการพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพไปพร้อมๆกัน   ผมไม่อยากเห็นวันหนึ่งเรามีคนจบดอกเตอร์เต็มไปหมดแต่ไหงกลายเป็นรังสี(ไร้)เทคนิคไปซะนี่

ยังรักรังสี สังคม และเพื่อนๆพี่ๆน้องๆอยู่นะ.. แต่โชคดีที่หลุดออกจากวงจรวุ่นวายของระบบขรก.ออกมาได้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท