อานิสงส์ของการหล่อเทียนหรือถวายเทียนพรรษาแก่พระภิกษุ ถือกันว่าจะทำให้เป็นผู้มีปัญญาดีเจริญก้าวหน้า เหมือนดังแสงเทียนที่สว่างในยามค่ำคืน ซึ่งพระภิกษุสมัยก่อนใช้เป็นแสงสว่างในการอ่านหนังสือธรรมะและประกอบกิจของสงฆ์
วันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณาจารย์ นักศึกษา ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และนักศึกษาเก่าสาขาวิชาอาชีวศึกษา ได้ร่วมกันถวายเทียนพรรษาและทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดเมืองก๊ะ ตำบลสลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ขบวนผ้าป่า และแห่เทียน

ช่างฟ้อนฟ้อนท่ามกลางสายฝน

พิธีทอดผ้าป่าและถวายเทียนพรรษา
ท่ามกลางสายฝนที่ตกตลอดทั้งวัน บรรยากาศแสนจะเย็นสบาย การเดินทางก็ไม่ลำบาก ถนนดีตลอดสาย ผ่านหมู่บ้านของชาวบ้าน เทือกสวน ไร่นา เป็นช่วงเพาะปลูก ตลอดสองข้างทางชาวบ้านปลูกพืชเขียวขจี เป็นบรรยากาศร่มรื่นทีเดียว ก่อนถึงบ้านเมืองก๊ะ แยกขวาไปวัดพระพุทธบาทสี่รอย

บรรยากาศสองข้างทาง
ความเป็นมาของพระพุทธบาทสี่รอย เดิมทีสถานที่แห่งนี้มิได้เป็นวัด มีแต่รอยพระบาท อยู่ที่หินมันจะมีหินอยู่ด้านหลังที่พระพุทธรูปยืน หินมีลักษณะคล้าย ๆ เรือ จะกว้างยาวมาข้างล่างและเรียบลงติดกับพื้นดิน หินพ้นมาจากพื้นดินขึ้นมามีรอยพระพุทธบาทข้างบนเป็นเขาลงแบบนี้ เป็นภูเขาลงแบบนี้ แล้วจากข้างล่างก็เป็นลำห้วยในสมัยโบราณ จะขึ้นมากราบพระพุทธบาททีก็ต้องเอาไม้ไผ่มาพาดไต่ ๆ กันไป จะมีก็แต่พระและผู้ชายที่ปีนก้อนตรงข้าง ๆ พระบาท เป็นหินก้อนใหญ่และสูงส่วนผู้หญิงไม่มีโอกาสที่จะได้ขึ้นไปชมรอยพระบาท (คนสมัยก่อนถือห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าใกล้) ในสมัยก่อนกราบได้ก็แต่ตรงฐานเบื้องล่างมาตรงนี้ก็เป็นลำห้วย พ.ศ. ๒๔๗๑ เจ้าดารารัศมี ขึ้นมากราบและสั่งให้ทำร้านนั่งได้รอบ ๆ รอยพระบาท และต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๒ พระครูบาศรีวิชัยได้ขึ้นมากราบ ท่านเลยมาสร้างวิหารครอบรอยพระบาทไว้บริเวณที่เราเดินรอบรอยพระบาทไว้

วัดพระพุทธบาทสี่รอย

รอยพระพุทธบาท
ทุก ๆ ปี จะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธบาทสี่รอย ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ซึ่งประเพณีจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุก ๆ ปี
นอกจากนี้แล้ว บริเวณหน้าวัด ยังเป็นที่ตั้งของสถูป "ขุนหลวงวิลังคะ" และ"ขุนหลวงวิลังคะ" คือใครกัน มีความสำคัญต่อคนเมืองก๊ะอย่างไร?"

สถูปขุนหลวงวิลังคะ
ชาวเมืองก๊ะ เชื่อกันมานานแล้วว่าพ่อขุนเสียชีวิตที่นี่ ที่บ้านเมืองก๊ะ ท่านเป็นกษัตรย์ชาวลัวะองค์ที่ 13 ของระมิงค์นครในราชวงศ์กุนาระ เมื่อราวต้นพุทธศักราช 1200 ทรงมีอิทธิฤทธิ์ มีฝีมือในการพุ่งหอกเสน้า (สะ-เน่า) เป็นที่เลื่องลือ สิ้นพระชนม์ด้วยความตรอมใจเมื่อพุทธศักราช 1227 เพราะไม่สมหวังในความรักจากพระนางจามเทวีที่ปกครองนครหริภุญชัยในสมัยเดียวกัน

ขุนหลวงวิลังคะ
ตำนาน องค์พ่อขุนหลวงวิลังคะ ...เล่ากันว่า ในสมัยที่พระนางจามเทวีปกครองเมืองหริภุญไชยราว พ.ศ. ๑๓๐๐ ในสมัยนั้นเล่ากันว่า นครหริภุญไชยเป็นนครของชนชาติมอญ หรือเม็ง และในขณะเดียวกันบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะมี ขุนหลวงวิรังคะเป็นเจ้าเมืองหรือหัวหน้า ขุนหลวงวิรังคะมีความรักในพระนางจามเทวี มีความประสงค์จะอภิเษกกับพระนาง แต่พระนางไม่ปรารถนาจะสมัครรักใคร่กับขุนหลวงลัวะ เพราะเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมต่ำกว่ามอญในสมัยนั้น ขุนหลวงได้ส่งทูตมาเจริญไมตรีขอนางอภิเษกด้วย พระนางก็ผัดผ่อนหลายครั้ง โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ ได้แก่ ขอให้ขุนหลวงสร้างเจดีย์ที่มีขนาดและลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย ให้ขุนหลวงพุ่งเสน้ามาตกที่ในเมือง พระนางจึงจะอภิเษกสมรสด้วย

ประชาชนกราบไหว้บูชา และปิดทอง
ขุนหลวงวิรังคะ เป็นผู้ทรงพลังและชำนาญในการพุ่งเสน้า (เสน้า หมายถึง หอกด้ามยาวมีสองคม) ขุนหลวงพุ่งเสน้าครั้งแรกตกที่นอกกำแพงเมืองหริภุญไชยด้านตะวันตกเฉียงเหนือปัจจุบันเรียกว่า หนองเสน้าพระนางจามเทวีเห็นว่าจะเป็นอันตรายยิ่ง ถ้าขุนหลวงวิรังคะพุ่งเสน้ามาตกในกำแพงเมืองตามสัญญา พระนางจึงใช้วิชาคุณไสยกับขุนหลวงวิรังคะ โดยการนำเอาเศษพระภูษาของพระนางมาทำเป็นหมวกสำหรับผู้ชาย นำเอาใบพลูมาทำหมากสำหรับเคี้ยวโดยเอาปลายใบพลูมาจิ้มเลือดประจำเดือนของพระนาง แล้วให้ทูตนำของสองสิ่งนี้ไปถวายแด่ขุนหลวง ขุนหลวงได้รับของฝากจากพระนางเป็นที่ปลาบปลื้มอย่างยิ่ง นำหมวกใบนั้นมาสวมลงบนศีรษะ และกินหมากที่พระนางทำมาถวาย ซึ่งของทั้งสองสิ่งนี้ชาวล้านนาถือว่าเป็นของต่ำ ทำให้อำนาจและพลังของขุนหลวงเสื่อมลง เมื่อพุ่งเสน้าอีกครั้งต่อมาแรงพุ่งลดลงเสน้ามาตกที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ชาวบ้านเรียกว่า หนองสะเหน้า เช่นเดียวกัน ขุนหลวงเมื่อเสื่อมวิทยาคุณเช่นนั้น ก็หนีออกจากบ้านเมืองไป
ก่อนสิ้นชีวิต ขุนหลวงวิรังคะได้ขอให้เสนาอำมาตย์นำศพของท่านไปฝังไว้ ณ สถานที่ที่ขุนหลวงจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุญไชยได้ตลอดเวลา ทหารได้จัดขบวนศพของขุนหลวงจากเชิงดอยสุเทพขึ้นสู่บนดอยสุเทพเพื่อหาสถานที่ฝังตามคำสั่ง ขบวนแห่ศพได้ลอดใต้เถาไม้เลื้อยชนิดหนึ่งเรียกว่า เครือเขาหลง ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้ใดลอดผ่านจะทำให้พลัดหลงทางกันได้ ขบวนแห่ศพขุนหลวงได้พากันพลัดหลงกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง นักดนตรีบางคนพลัดหลงไปพร้อมกับเครื่องดนตรีของตน นิทานเล่าว่าภูเขาที่นักดนตรีผู้นั้นหลงจะปรากฏมีรูปร่างคล้ายเครื่องดนตรีนั้น ๆ บนยอดเขาสุเทพ-ปุย จะมีภูเขาชื่อต่าง ๆ ดังนี้ ดอยฆ้อง ดอยกลอง ดอยฉิ่ง ดอยสว่า บางแห่งเป็นที่แคบและฝาครอบโลงศพปลิวตก บริเวณนั้นเรียกว่า กิ่วแมวปลิว (คำว่า แมว หมายถึง ฝาครอบโลงศพที่ทำด้วยโครงไม้ไผ่ใช้ตกแต่งด้านบนของฝาโลงศพ)
เสนาอามาตย์ที่หามโลงศพของขุนหลวงได้เดินทางไต่ตีนเขาไปทางทิศเหนือ ถึงบริเวณแห่งหนึ่ง โลงศพได้คว่ำตกลงจากที่หาม เสนาอามาตย์จึงได้ฝังศพของขุนหลวงไว้ ณ สถานที่บนภูเขาแห่งนี้ ซึ่งจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุญไชยได้ตลอดเวลา ยอดภูเขานี้ชาวบ้านเรียกว่า ดอยคว่ำหล้อง (หล้อง หมายถึง โลงศพ)
ปัจจุบันชาวบ้านยังเรียกชื่อภูเขาลูกนี้ว่า ดอยคว่ำหล้อง ตั้งอยู่บนภูเขาบริเวณเหนือน้ำตกแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ยอดเขาเป็นรูปสี่เหลี่ยมตัดลักษณะคล้ายโลงศพ บนยอดเขามีศาลของขุนหลวงวิรังคะตั้งอยู่ ชาวบ้านบริเวณเชิงเขาเล่าว่า กลางคืนเดือนเพ็ญบางครั้งจะได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงบนยอดเขา เชื่อกันว่าวิญญาณของขุนหลวงสถิตอยู่บนดอยคว่ำหล้อง
บริเวณเชิงเขา มีหมู่บ้านลัวะหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่า บ้านเมืองก๊ะ มาจากชื่อของขุนหลวงวิรังคะ เชื่อกันว่า ชาวลัวะเหล่านี้เป็นเชื้อสายของขุนหลวงวิรังคะ ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีศาลที่สถิตวิญญาณของขุนหลวง และทหารซ้ายและขวาของขุนหลวงอีก ๒ ศาล ชาวบ้านจะเซ่นสรวงดวงวิญญาณขุนหลวงและทหารปีละครั้ง ชาวบ้านเล่าว่า ดวงวิญญาณของขุนหลวงจะสถิตอยู่ ๓ แห่งได้แก่ บนดอยคว่ำหล้อง ศาลที่บ้านเมืองก๊ะ อำเภอแม่ริมและอีกแห่งหนึ่งคือ บริเวณดอยคำ อำเภอเมือง ซึ่งตั้งอยู่ทิศใต้ของดอยสุเทพ ปัจจุบันบนยอดดอยมีวัดชื่อว่า วัดพระธาตุดอยคำ บนวัดแห่งนี้มีอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิรังคะประดิษฐานที่ลานวัดใกล้เจดีย์
สถูปพ่อขุนหลวงวิลังคะ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านเมืองก๊ะ ปัจจุบันมีผู้คนมาสักการะบูชาจำนวนมาก แต่ละปีจะมีการจัดทำ พิธีทำบุญประจำปี ในตำนานกล่าวว่า ขุนหลวงวิลังคะ หรือ "มะลังกะ" กษัตริย์ของชนเผ่าลั๊วะ สร้างอานาจักรอยู่ในบริเวณเชิงเขาดอยสุเทพ และที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง มีเมืองสำคัญปรากฏหลักฐานสืบมา เช่น เวียงนพบุรี เวียงเชษฐบุรี (เวียงเจ็ดลิน) และ เวียงสวนดอก ก่อนที่จะถูกพระยามังรายแผ่ขยายเข้ามาทำการยึดครองเพื่อสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1983
ชาวบ้านเชื่อว่า การทำพิธีกรรมเลี้ยงขุนหลวงนี้จะทำให้พืชผลดี ฟ้าฝน น้ำ และปลาอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุกปีในเดือน 9 เมืองที่ตรงกับเดือนมิถุนายน และเลือกวันก่อนที่จะลงสวน ทำไร่นา ให้เป็นผลตามความเชื่อ ต้องไม่ใช่วันศีล (วันพระ) ไม่ใช่วันเสีย ไม่ใช่วันอาทิตย์ ไม่ใช่วันจันทร์ ไม่ใช่วันพุธ
ข้อมูลจาก http://tantra-siam.com/forums/forum2/thread255.html