เมื่อวานนี้ทั้งวัน( 4 พ.ค. 49) อยู่กับที่ประชุม ณ ห้องศรีวิชัย ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช วาระประชุมคุณอำนวยอำเภอ 23 อำเภอ (ตัวแทนอำเภอๆละ 3 คน ประกอบด้วย ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ และ ผอ.กศน.) คุณอำนวยจังหวัด(คุณอำนวยกลาง) ทีมงานสนับสนุนวิชาการ และคุณเอื้อจังหวัด ในฐานะที่สวมหมวกคุณอำนวยจังหวัด(คุณอำนวยกลาง)จึงได้เข้าร่วมด้วย ในโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการใช้ ICT- BLOG เป็นเครื่องมือในการสื่อสารการทำงานระหว่างกัน จึงลองทำดู นี่คือบันทึกแรก ลองทนอ่านดูนะครับ เพราะทำขึ้นจากการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง workshop เรื่องนี้จริงๆว่ากันว่าราวต้นดือนหน้า (มิ.ย.49 กศน.จังหวัดนครศรีฯจะจัด) แต่เมื่อถูกเชิญชวนแกมขอร้องจากที่ประชุม จึงอาศัยเหตุนี้เริ่มต้นทำ BLOG ถ้าไม่ฮึดคราวนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงเป็นจังได้เมื่อไร
บังเอิญเหลือเกินวานนี้ช่วงเช้าดูทีวีก่อนเข้าประชุม ว่านายอำเภออาจสามารถครวญว่าแก้จนแบบอาจสามารถ (อาจสามารถโมเดล) ทำท่าว่าจะไปไม่รอด เพราะงบประมาณที่อนุมัติไว้ไม่ลงไปจริง และมีเหตุผลอื่นๆอีกหลายประการที่เป็นอุปสรรค คิดในใจว่าแก้จนเมืองนครของเราจะจัดการกันอย่างไร จะอย่างกับอาจสามารถหรือยิ่งกว่าก็ไม่ทราบ แต่เมื่อได้ฟังผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์ ผู้ว่า CEO แล้ว ประโยคทองของท่านที่ว่าใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือก็ดี จัดการความรู้เป็น Mean ไม่ใช่ end ก็ดี พัฒนาแบบพึ่งพาตนเองพึ่งพากันเอง (ทุนตัวเองทุกด้านรวมทั้งทุนเงิน ไม่พึ่งพารัฐถ้าไม่จำเป็น)ก็ดี แนวพระราชดำริเศรษฐกิพอเพียงก็ดี กระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ก็ดี การพัฒนาแบบยั่งยืนสมบูรณ์ก็ดี รวมทั้งการใช้กลยุทธ์เฝ้าระวังกลุ่มเป้าหมายหรือผู้เรียนของกลไกการทำงานทุกระดับตั้งแต่ประธานคุณเอื้อ(ผู้ว่าฯ)จนกระทั่งแกนนำหมู่บ้านๆละ 8 คน อย่างชนิดที่เรียกว่า "จับตัว วางตาย"ก็ดี คลายความวิตกและกังวลใจไปได้ว่านครฯของเราคงไม่เป็นอย่างนั้นแน่นอน สร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรของโครงการทุกระดับ ท่านมองเห็นภาพของความเป็นทั้งหมด (ช้างทั้งตัว) และเห็นเป็นส่วนๆแบบแยกย่อยว่าจะเป็นจิ๊กซอกันอย่างไร สมแล้วที่ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ให้ฉายาท่าว่า ผู้ว่า KM อีกทั้งประสบการณ์การทำงานจัดการความรู้ที่ได้ทดลองนำร่องไปก่อนหน้านี้ ใน 3 ตำบล ของอำเภอเมือง ในเนื้อหาที่เกี่ยวกับองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งหน่วยงานอย่างพัฒนาชุมชนจังหวัดเป็นแกนร่วมกับหน่วยงานอื่นอีก 9 องค์กร บูรณาการทำงานร่วมกันก็ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ ว่าเป็นแนวทางแก้จนที่ถูกต้อง กระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่องเกิดขึ้นในชุมชน
ได้รับความรู้จาก อ.ประเสริฐ วิทยากรจาก ธกส. ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การเล่าประสบการณ์การทำการจัดการความรู้ งานใน function ของ ธกส. ที่ชอบมากที่สุดก็คือแบบหรือเครื่องมือที่ใช้อบรมชาวบ้าน ธกส.ทำได้ละเอียดดี ทั้งแผนการการอบรม หลักสูตร บันทึกร่องรอยต่างๆ แต่ที่ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยอยู่ประการหนึ่งคือคำว่าการอบรม ไม่จำเป็นว่าต้องอบรมเสมอไปในทุกเวที เวทีประชาคม จะเรียนรู้ด้วยวิธีการเรียนรู้อย่างไรก็ได้แล้วแต่เงื่อนไขปัจจัย ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันหมด การไปอบรมเขาเหมือนกับว่าเราจะ manage เขามากไป แต่ถ้าไปส่งเสริมให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไปเรียนรู้จากเขาแล้วจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามสถานการณ์ อาจจะมีอบรมด้วยก็ได้ไม่เป็นไร ชาวบ้านจะถูกกระทำน้อยลง กล้าแสดงออกมากขึ้น ส่วนนี้คิดว่าทีมวิชาการและคุณอำนวยกลางคงจะได้พูดคุยกัน
ส่วนการบรรยายของคุณภีม ภคเมธาวี มีประโยชน์มากในเรื่องการฝึกคุณอำนวยอำเภอให้ทำตารางอิสรภาพ ร่วมกันกำหนดสมรรถภาพในการทำงาน (อิสรภาพคือคิดได้ไม่มีขอบเขต แล้วแต่ว่างานใดจะอาศัยความสามารถหรือสมรรถภาพด้านใดบ้าง) สังเกตเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรับการฝึก(เป็นนักเรียน) ก็ชื่นใจ การปรับปรุงกลไกการทำงานว่าจะต้อง merge หรือ synergy กันระหว่าง Area และ function ของแต่ละหน่วยงาน อารัมภบทเกี่ยวกับ ICT- BLOG การกำหนดภาระกิจต่อเนื่องในคราวประชุมหน้า (เริ่มทำ KMเสียที หลังจากจัดทัพและรำดาบอยู่นาน)และสุดท้าย คุณภีม ได้สุ่มผู้เข้าประชุม ทำ AAR (ก่อนนี้ไม่เคยทำ)
สำหรับส่วนตัวผมเอง ผมได้ตามเป้าหมายเป็นส่วนใหญ่ทุกเนื้อหาและการฝึก แต่ที่ผิดคาดคือคุณเอื้อจากหน่วยงานต่างๆมากันน้อย ( หรือผมจะไม่รู้จักท่านก็ไม่แน่ หรือเขาไม่เชิญ) รวมทั้งคุณอำนวยอำเภอด้วย ทำให้เกิดความเห็นใจท่านผู้ว่าฯเป็นอย่างยิ่งในความตั้งใจจริงของท่าน กับ ผอ.วิมล วัฒนา ผอ.กศน.ที่ติดอยู่กับการประชุมทั้งวัน ไม่ยอมไปไหนเลย
ชื่นชมนโยบายนี้มากค่ะ และชอบแนวคิดของ ครูนงเมืองคอน ที่ว่า
"คำว่าการอบรม ไม่จำเป็นว่าต้องอบรมเสมอไปในทุกเวที เวทีประชาคม จะเรียนรู้ด้วยวิธีการเรียนรู้อย่างไรก็ได้แล้วแต่เงื่อนไขปัจจัย ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันหมด การไปอบรมเขาเหมือนกับว่าเราจะ manage เขามากไป แต่ถ้าไปส่งเสริมให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไปเรียนรู้จากเขาแล้วจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามสถานการณ์ อาจจะมีอบรมด้วยก็ได้ไม่เป็นไร ชาวบ้านจะถูกกระทำน้อยลง กล้าแสดงออกมากขึ้น "
มากที่สุดค่ะ ถ้าคุณอำนวยอื่นๆมีแนวคิดเช่นนี้ จะทำให้ได้รับความร่วมมือมากขึ้น และน่าจะบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้นด้วยนะคะ ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ค่ะ
ผมตามมาขอเรียนรู้ ว่า KM แก้จนเมืองคอนไปถึงไหนแล้ว อยากให้เล่ากระบวนการครับ
วิจารณ์ พานิช
กระบวนการ KM แก้จนเมืองคอน คืบหน้าไปพอสมควรในส่วนบน คือในส่วนของการสร้างความ รู้ความเข้าใจหลักการโครงการให้แก่ภาคีเครือข่ายที่เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ได้ประชุม สัมมนากันไปหลายครั้ง แต่ความรู้ปฏิบัติที่จะติดอาวุธให้กับ คุณอำนวยอำเภอ คุณอำนวยตำบล ที่เป็นผู้ปฏิบัติสำคัญในการนำกระบวนการ(ส่งเสริมการเรียนรู้)ในวงเรียนรู้(ห้องเรียน)อำเภอ และระดับหมู่บ้าน(ห้องเรียนหมู่บ้าน) คงจะได้เข้มข้นต่อจากนี้ไป (คิดว่าน่าจะเดือน พ.ค.นี้) เพราะ มิถุนายนเป็นต้นไป ปฏิบัติการ KM แก้จนเมืองคอน คุณอำนวยจะลงไปนำกระบวนการคุณกิจ(ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ)ตามแผนที่ได้กำแหนดไว้
KM แก้จนเมืองคอนแบ่งขั้นตอนการทำงานออกเป็น 2 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ ขั้นสำรวจจัดเก็บและจัดทำแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง ตามเครื่องมือสำรวจฯและวิธีการจัดเก็บที่เครือข่ายยมนาได้พัฒนาขึ้น ดำเนินการสำรวจโดยอาสาสมัครของหมู่บ้านๆละ 8 คน อาสาสมัครแต่ละคนรับผิดชอบการจัดเก็บอีก 8 ครัวเรือน รวมทั้งหมู่บ้านประมาณ 72 ครัวเรือน กิจกรรมขั้นตอนนี้รับผิดชอบโดยหน่วยงานที่เรียกว่าปกครองจังหวัด ใช้เวลา 1 ปี (ทำ KM 2549 สำรวจข้อมูล ปี 2548 )
ขั้นตอนที่ 2 คือขั้นดำเนินการแก้จนตามแผนที่ได้กำหนดไว้ อย่างที่ผมเรียนแล้วตอนต้นว่าคืบหน้าไปแค่ไหน บางอำเภอก็กำลังสร้างความเข้าใจกันในอำเภอ บางอำเภอกำลังจัดทัพคุณอำนวยตำบลๆละ 3คน ว่าน่าจะประกอบด้วยใครบ้างที่เวิร์คที่สุด มี กศน.จังหวัดเป็นหน่วยงานธุรการให้
สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ของคุณกิจ ยังไม่เข้มข้นเท่าไร ( ยังไม่มีรูปธรรมแก้จน อาจจะอบรมให้ความรู้แกนนำหมู่บ้านละ 8 คน ไปบ้างแล้ว แต่ก็ไม่น่าจะถือว่าได้ปฏิบัติการแก้จนไปแล้ว) คุณกิจ(ห้องเรียนหมู่บ้าน)คงจะได้ร่วมกิจกรรมอย่างเข้มข้นในไม่ช้านี้
สำหรับหน่วยงานที่จัด KM แก้จนอยู่แล้ว ชาวบ้านก็จะได้กระบวนการไปเป็นทุน เรียนรู้ต่อเนื่องง่ายขึ้นเมื่อโครงการนี้ไปถึง ซึ่งในจังหวัดนครศรีฯมีอยู่หลายหน่วยงานหลายองค์กรรวมทั้ง NGo ที่จัดอยู่
เรียนความคืบหน้าและกระบวนการทำงานให้อาจารย์หมอวิจารณ์ทราบแค่นี้ก่อนนะครับ