"คุยเป็นเชื้อไฟ" เสวนากับอาจารย์ งานประชากรศึกษา


เรื่องนี้ เป็นตัวอย่างที่ทำให้ต้องตระหนักว่า ความรู้ที่ติดอยู่กับฝีมือและบริบทความจำเพาะตนของคนและสังคม (Tacit Knowledge) นั้น ลึกซึ้งเกินที่จะสามารถเข้าใจ และเกินกว่าจะสามารถเข้าถึงได้อย่างผิวเผิน นอกจากการได้อยู่และมีประสบการณ์ทางสังคม ผ่านการดำเนินชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมอย่างใกล้ชิด
เรื่องราวการสนทนาผ่านกระดานเเลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับชาวประชากรศึกษา ที่เราได้สร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไว้  ผมคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใน gotoknow จึงนำมาแลกเปลี่ยนกันต่อที่นี่


ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ :

 

คุณเอก/จตุพร พูดถึงความรู้ผ่านประสบการณ์ กับความรู้ที่ติดอยู่กับฝีมือและบริบทความจำเพาะตนของคนและสังคม (Tacit  Knowledge) เลยทำให้นึกถึงกรณีตัวอย่างกรณีหนึ่งขึ้นมาได้ เพิ่งจะไปเจอมาที่กำแพงเพชรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง

ที่อำเภอเมือง กำแพงเพชร  มีร้านส้มตำอยู่ร้านหนึ่งอยู่นอกตัวเมือง และเป็นย่านอาศัยของชาวบ้านท้องถิ่น เป็นร้านส้มตำที่ทำเป็นกิจการของครอบครัวมีแม่เป็นคนทำ ลูกๆเป็นลูกมือและบริกร สภาพโดยรอบยังอยู่ใกล้ชิดความดั้งเดิมของชีวิตชุมชน อยู่หัวมุมถนน ปากซอย  มีต้นไม้และบ้านเรือนกระจายสลับกับบ้านทันสมัยและอาคารพาณิชย์ คนพื้นที่เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมนั้น เป็นร้านที่ขายดีมาก ขึ้นชื่อและเป็นที่นิยมของคนในจังหวัดเลยทีเดียว ต้องขยับขยายร้านออกไป  กระนั้น  ก็ยังไม่พอรองรับลูกค้า เรียกว่าทำมาค้าขึ้นเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมา คุณป้าที่เป็นคนทำส้มตำ ก็ชราภาพและทำไม่ไหว เลยถ่ายทอดเคล็ดวิชาทั้งหลายทั้งปวงให้ลูกๆ อีกทั้งการได้คลุกคลีมาแต่อ้อนแต่ออก  ลูกๆทุกคนก็ทำทุกอย่างได้ เรียกว่าเข้ากระดูกและอยู่ในชีวิตจิตใจ แต่พอคุณป้าทำไม่ไหว และลูกๆขึ้นมาทำกิจการแทน  ปรากฏว่าลูกค้ากลับค่อยๆหายไป  จนในที่สุดก็เป็นร้านข้างทางเหงาๆ แทบจะอยู่ไม่ได้

เรื่องนี้ เป็นตัวอย่างที่ทำให้ต้องตระหนักว่า ความรู้ที่ติดอยู่กับฝีมือและบริบทความจำเพาะตนของคนและสังคม (Tacit  Knowledge) นั้น ลึกซึ้งเกินที่จะสามารถเข้าใจ และเกินกว่าจะสามารถเข้าถึงได้อย่างผิวเผิน นอกจากการได้อยู่และมีประสบการณ์ทางสังคม ผ่านการดำเนินชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมอย่างใกล้ชิด

การเรียนรู้และความรู้ผ่านประสบการณ์ มีบทบาทต่อกระบวนการเชิงพฤติกรรมของสังคมประชากรมากด้วยเช่นกันครับ บางเรื่องที่สำคัญต่อการตัดสินใจทางประชากรและของสังคม อาจเข้าใจได้ไม่พอด้วยความรู้และข้อมูลข่าวสาร เพราะหลายเรื่องผู้คนและสังคมจะตัดสินใจและสนองตอบด้วยความรู้สึกทุกข์ร้อนร่วมกัน ดังนั้น หลายเรื่อง แม้มีความรู้แต่ผู้คนไม่ร่วมความรู้สึกทุกข์ร้อน กระบวนการทางการปฏิบัติก็จะเป็นไปอีกอย่างหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น การมีประสบการณ์  นับแต่ประสบการณ์ทางสังคม ประสบการณ์ทางการคิด และประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ของการจัดการความรู้เพื่อปฏิบัติการโครงการทางประชากรศึกษา

พลเมืองที่อยู่ในชนบท ทว่า หากมีประสบการณ์ต่อสังคมและชุมชนของตนเอง น้อยกว่าการเกิดประสบการณ์ทางข่าวสารที่เปิดรับทางสื่อและโลกภายนอก ก็ย่อมมีการรับรู้ต่อตนเองและโอกาสต่างๆในชีวิต ที่ส่งผลสืบเนื่องต่อกระบวนการทางประชากรไปด้วย เช่น มีการตัดสินใจในการย้ายถิ่นเข้าออกด้วยแรงจูงใจทั้งต่อต้นทางและปลายทางแตกต่างออกไปตามลักษณะของการเกิดประสบการณ์ทางสังคม ดังนี้เป็นต้น

การเป็นโรคกับการเจ็บป่วย ก็เป็นเป็นพลวัตรกับลักษณะความรู้ ความเข้าใจ และการเกิดประสบการณ์ในชีวิตด้วยเช่นกัน  เมื่อเดือนที่แล้ว ผมไปภาคอิสาน(มหาสารคามและกาฬสินธุ์) ไปเจอหมอเหยา  รวมกลุ่มกันไปร้องเพลง รำ และให้ชาวบ้านที่กลุ่มหมอเหยาไปเยือน ได้มีโอกาสบริจาค-ทำทาน ลองเลียบเคียงศึกษาดูก็พบว่า ขั้นตอนหนึ่งของคนที่เข้าสู่กระบวนการเป็นหมอเหยาก็คือ ต้องมีการเจ็บป่วยและเคราะห์ร้ายในชีวิต แล้วได้รับการรักษาเยียวยาจากหมอเหยาในวิถีของชุมชนจนหาย

ประสบการณ์ชุมชนและประสบการณ์ของสังคมอย่างนี้ หากเรานำความรู้สมัยใหม่ไปจัดการความเปลี่ยนแปลง  ก็คงทำให้ความรู้สังคมและวัฒนธรรมมากมายที่อยู่ในประสบการณ์ชุมชน ต้องหลุดหายไปด้วย ผู้คนและชุมชนก็จะสูญสิ้นหน่วยทางปัญญา ดูแลและพึ่งตนเองต่อไปไม่ได้

ตัวอย่างอย่างนี้ อาจมีส่วนต่อการพัฒนาการวิจัยและปฏิบัติการทางสังคม ของงานทางประชากรศึกษา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในสาขาต่างๆด้วยเช่นกัน เช่น การวิจัยและปฏิบัติการ ซึ่งทำให้ชุมชนและพลเมืองสามารถเดินเข้ามาสู่กระบวนการริเริ่ม สร้างความรู้ และจัดการความรูู้ด้วยตนเองและเพื่อตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่วางอยู่บนโครงสร้างการปฏิสัมพันธ์กันของความแตกต่างหลากหลายด้วยวิถีแห่งปัญญา ใช้ความรู้  ใช้ความเป็นเหตุเป็นผล ปรึกษาหารือกันอย่างเป็นระบบ

เหล่านี้ แม้นยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ อีกทั้งยังไม่เกิดตัวรายงานความรู้  กระบวนการเกิดประสบการณ์อันแยบคายดังกล่าว ก็ทำให้ผู้คนที่ได้มีส่วนร่วม เกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง เพิ่มพูน Tacit Knowledge  ยกระดับเชิงคุณภาพตนเองและยกระดับกระบวนการเชิงพฤติกรรมของสังคมประชากรไปด้วยแล้ว 

โดยกระบวนการคิดอย่างนี้ ก็อาจทำให้เกิดการพัฒนาด้านการวิจัยและจัดการความรู้ สำหรับการดำเนิงานทางประชากรศึกษา ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง โดยมีปัจจัยเรื่องคนและองค์ประกอบทางสังคม-ประชากรทั้งหลาย เป็นตัวแปรหลัก

คุยเพื่อเป็นเชื้อให้เกิดบรรยากาศเสวนากันน่ะ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น วิรัตน์ คำศรีจันทร์ (adwks-at-mahidol-dot-ac-dot-th)วันที่ตอบ 2009-06-08 22:57:52 

IP : 119.31.81.78


 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร :

สวัสดีครับ อ.ดร.วิรัตน์

ผมอ่านเรื่องราวด้านบนโดยละเอียด

กรณีคุณป้าขายส้มตำ ...

กรณีป้าขายส้มตำ ความรู้แฝงที่อยู่กับคุณป้า และในที่สุดคุณป้าก็ทำไม่ไหว ลูกๆที่คลุกคลีและเรียนรู้อยู่กับคุณป้าเสมอๆเมื่อครั้งยังเป็นร้านเพิงยกระดับสู่ร้านห้องแถว ลูกๆได้รับเคล็ดวิชาจากคุณป้าไปเต็มที่ แต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จอย่างเคย...ร้านส้มตำจึงเป็นร้านข้างทางเหงาๆไป...

ผมเห็นด้วยว่า  ความรู้แฝง (Tacit knowledge) นั้นถูกถ่ายทอดจากป้าสู่ลูกๆไปทุกเม็ด เพราะระยะเวลาในการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ที่ลูกๆไม่ประสบความสำเร็จนั้น เพราะปัจจัยอื่นๆบริบทที่เปลี่ยนไป ค่านิยมของสังคมก็เปลี่ยนไป แน่นอนว่าความลึกซึ้งของการเข้าถึงบริบทความรู้อาจจะยากเกินกว่าเราจะเข้าใจได้อย่างผิวเผินดังเช่นอาจารย์อธิบาย

ผมมองต่อแบบนี้ครับ ผมมองว่าวิถีชีวิตคนปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก สิ่งที่คุ้นชินในสมัยดั้งเดิมกลับไม่ใช่คำตอบของคนยุคสมัยนี้ ในตอนเป็นเด็ก ผมมองว่าร้านโชห่วยมีเสน่ห์มาก จะหาซื้ออะไรก็ได้ แต่ปัจจุบันมีห้าง มีร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอดวันคืน ทางเลือกที่คนยุคนี้เลือกที่จะบริโภคก็เน้นความสะดวกสบาย

ลูกๆของคุณป้าไม่สำเร็จในการทำร้านส้มตำ อาจ เป็นเพราะ???

บริบทสังคมเปลี่ยนไปตามที่ผมให้เหตุผลไว้ ส้มตำมีหลากหลายชนิด (ทุกอย่างเอามาตำได้หมด) ลูกๆอาจไม่ได้ประยุกต์คิดต่อ

ร้านส้มตำเปลี่ยนไป??? ตอนนี้ร้านส้มตำ ยกระดับขึ้นเป็นร้านขึ้นห้างเทียบเท่ากับฟาสต์ฟู้ดอาหารเมืองนอกกันแล้ว ร้านข้างทาง อากาศร้อนไม่มีแอร์อาจพ่ายไป (ข้อนี้ไม่แน่ครับ เพราะ ว่ากันว่าส้มตำจะให้เเซ่บนัวนั้น ต้องหาซื้อที่คนขายเป็นชาวอีสาน และใบหน้ามีฝ้าขึ้นจางๆ คุณลักษณะแบบนี้หลายท่าน confirm ว่าตำได้แซ่บ)  :)

ผมพยายามเขียนเหตุผล เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ไปตามเรื่องราวครับ เพื่อความหรรษาในมุมคิด แต่บางครั้งก็มีสาระที่เป็นจริงแฝงอยู่ไม่น้อย

ผมต้องขอบคุณประเด็นที่อาจารย์ได้จุดประกายไว้นะครับ

อ่านเนื้อหาโดยรวมทั้งหมด ทำให้ผมคิดถึง งานวิจัยที่ผมเคยทำมาในอดีตบนดอยสูงทางภาคเหนือ ที่ทำกับชาวไทยภูเขาเผ่าลีซู ตอนนั้นก็ให้ชื่องานว่า เป็นการจัดการความรู้ท้องถิ่นโดยมุ่งศึกษาภูมิปัญญาชาวลีซู พอเข้าไปจับประเด็นนี้ ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า การจัดการความรู้ในกลุ่มชาวไทยภูเขา โดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น เป็นเรื่องใหญ่มากและทำให้ผมได้เรียนรู้การจัดการความรู้ในบริบทที่ค่อนข้างปิด หมายถึงชุมชนที่ศึกษาเป็นชุมชนที่ห่างไกลมากๆจากสื่่อต่างๆการเปิดรับและเข้าถึงเรื่องราวภายนอกก็มีไม่มากนัก  ประสบการณ์ตรงนั้นมีคุณค่ามาก งานศึกษาที่ลักษณะเป็นงาน Action research ช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น (ชาวบ้านนักวิจัย และนักวิจัย ร่วมกันคิดรูปแบบ) นอกจากรูปแบบ KM ธรรมชาติที่มีอยู่เเล้ว ด้วยวัตถุประสงค์นำว่า เราอยากฟื้นองค์ความรู้ดั้งเดิมที่เริ่มจะสูญหายไปของชนเผ่า ผู้เฒ่าผู้แก่ก็ล้มหายตายจากไป เด็กเยาวชนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ 

จากการศึกษาครั้งนั้น ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ ถ่ายเทความรู้จากคนต่างรุ่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยการนำมาเเลกเปลี่ยนกัน เลียนแบบกิจวัตรประจำวันของชาวลีซู แต่ให้เด็กเยาวชน มาแทรกอยู่ในกระบวนการ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้เฒ่า เกิดความภาคภูมิใจที่เด็กๆของพวกเขาสนใจวิถีดั้งเดิมของชนเผ่า และเด็กๆเมื่อเข้ามาเรียนรู้ก็เห็นว่า เรื่องของตนเองนั้นมีคุณค่า และรู้จักตัวตนมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้คุณครูเองเป็นผู้เอื้อให้เกิดกระบวนการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ผลผลิตหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หลักสูตรท้องถิ่น ที่เป็นรูปธรรม แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมคือ "ความสุข" จากการที่ชาวบ้านเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติ องค์ความรู้ดั้งเดิมที่เริ่มสูญหายถูกสังคายนาขึ้นมาอีกครั้ง...

ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับงานเรียนรู้และพัฒนาร่วมกับชุมชน ในครั้งแรกๆของผมครับ

หากมองในเชิงประชากร  ก็เป็น ช่องทางให้ผู้คนเดินเข้ามาสู่พื้นที่ที่จัดไว้สำหรับการสร้างความรู้ ตลอดจนหมุนเกลียวความรู้ด้วยพวกเขาเอง เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมแบบธรรมชาติ ที่มีความรักและความภาคภูมิใจเป็นสิ่งหล่อเลี้ยง เพิ่มพูน Tacit Knowledge และยกระดับเชิงคุณภาพตนเอง สถาปนาความรู้และตัวตนของพวกเขาใว้ให้รุ่นหลังได้เรียนรู้และพัฒนาต่อ..

ขอต่อเชื้อไฟ อาจารย์เท่านี้ก่อนครับ

อาจยังฟุ้งอยู่มากครับ แต่คิดว่าประเด็นที่ร้อยออกมาเป็นประสบการณ์ของผมเองในการทำงานกับชุมชน น่าจะเชื่อมโยงกับงานประชากรเพื่อคิดต่อในระดับมหภาคได้

 

ขอบคุณครับ

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร


 

ผู้แสดงความคิดเห็น เอก -จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร วันที่ตอบ 2009-06-09 23:32:49 IP : 124.121.23.25

 

หมายเลขบันทึก: 267065เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (39)
  • เป็นเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าสนใจมาก
  • บางเรื่องมีเรื่องฝังลึกกว่านั้น
  • ที่ไม่สามารถถ่ายทอดได้
  • ขอบคุณที่เอามาฝาก
  • มาช่วยตรวจอักษร
  • ฮ่าๆๆๆๆ
  • ดรงวิรัตน์ คำศรีจันทร์ 

สวัสดีครับ คุณเอก ;)

กลับไปเป็นนักเรียนอีกรอบ ... เลยหายไปเลย

แสดงว่า อาจจะเด็กลง ครับ อิ อิ

เนื้อหาการแลกเปลี่ยนที่ปรากฎอยู่ในบันทึกนี้ เหมือนอ่านหนังสือเชิงสังคมศาสตร์หนัก ๆ สักเล่ม ... หากว่านอนอ่านก็คงหลับตั้งแต่หน้าแรก เพราะต้องใช้สมาธิและความตั้งใจในการอ่านมากขึ้น อีกทั้งหากต่างสายวิชาชีพกัน แต่ผมก็ไม่ได้หมายว่า จะนำสายวิชาชีพเป็นกำแพงกั้นแต่อย่างใดนะครับ หมายว่า อ่านแล้วหนัก แต่หลายท่านอาจจะชอบหนัก ๆ ชีวิต ๆ แต่ผมชอบเบา ๆ มั้งครับ จริตมันต่าง อ่านแล้วเลยยากจัง

แอบเล่าให้ฟัง อย่าให้ใครทราบนะครับ ;)

ดูแลสุขภาพกาย ใจ และสมอง ครับ

ขอบคุณครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง  ที่อาจารย์ช่วยตรวจคำผิดให้ครับ :)

อาจารย์ Wasawat Deemarn  ครับ

ช่วงนี้หนักเอาการครับ อาการปางตายแต่ใจเกินร้อยอยู่นะครับ วันนี้ได้ Late' coffee ไปอีกสักนิดหน่อยคงทำงานต่อไปได้ :)

ยอมรับว่าหนักอยู่ครับ เนื้อหาที่นำมาแลกเปลี่ยนตรงนี้ ซึ่งก็ไม่ตรงจริตของ gotoknow แต่ผมก็คิดว่ามีประโยชน์มากๆสำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้ เข้าบ้างในบางมุมที่นำเสนอไป ก็คุยต่อกันได้

ถือว่าเป็นความกรุณามาก ของ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ที่มีต่อศิษย์Ph.D.Scholar แบบผมนะครับ การแลกเปลี่ยนเชิงวิธีคิด ทำให้ผมเเตกฉานมากขึ้นในศาสตร์ที่เราต้องใช้ในการคิดต่อ บรรยากาศในการเรียนสวนุกมากครับ เป็นเวทีที่ทำให้ผมได้แชร์ ประสบการณ์เดิมออกมาเต็มที่ และ ทุกคนเปิดกว้างเรียนรู้กัน

ผมได้สุ่มเขียน web ขึ้นมาอีกที่หนึ่งเพื่อให้เป็นแหล่ง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ นศ. และ ผู้ที่สนใจ ครับ ตอนนี้เสร็จเรียบร้อยและก็ออนไลน์ใน www เรียบร้อยแล้ว

การเรียนที่หนักหนาสาหัสในช่วงนี้ ก็ไม่ใช่ที่สุดอาจเป็นเพราะการบริหารจัดการตัวเองต้องให้ลงตัวเท่านั้นเอง ทุกอย่างก็คล่องครับ

แบบว่า หนักกว่านี้ก็เจอมาเเล้ว ประมาณนี้ :)

ขอให้อาจารย์เบิกบานในการทำงานและมีโอกาสไปหยอดแนวคิด การมองที่เวปของผมบ้างนะครับ

:)

 

... มาร่วม มึน อีกคนอีกค่ะ ... 5 5 ...

เป็นกำลังใจให้ อีกความฝันหนึ่งของคุณเอกค่ะ

 

"มึน" อาจเป็นอาการหนึ่งของผมช่วงนี้ด้วยครับ คุณ poo  :)

"ความคิดเหมือนขนมครก สามารถหยอดให้ได้เสมอ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้หยอด อารมณ์ดีก็หยอดดีมีสีสัน อารมณ์ตึงเครียดก็ไม่ควรหยอด เพราะอาจจะเกิดเรื่องได้" ...

หาเรื่องคิดต่อ ... แฟนอาจารย์ ดร.วิรัตน์ ทำงานอยู่สวนดอก ครับ ;)

การกลับมาที่ยังไว้ลายความลุ่มลึก และผลึกของความรู้ที่ยังคงทรงคุณค่าสำหรับการถ่ายทอดครับ

อารมณ์ตึงเครียด หากหยอดแล้ว อาจจะได้ขนมครกที่หนักแน่นไปด้วยกะทิ หวานมัน  :)

ผมเพิ่งทราบว่าคนรู้ใสจท่านอาจารย์ของผม อยู่สวนดอกนะเนี่ยะ ผมอยากชวน อ. Wasawat Deemarn  ไปอ่านงานของ ดร.วิรัตน์ ใน nation ครับ น่าอ่านมีภาพศิลปะ เรื่องราวรื่นรมย์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเสพสุนทรียะแห่งวิชาการ ที่

 

ศิลปะวิถี : รอบรู้ ลุ่มลึก รื่นรมย์
สร้างทรรศนะทางศิลปะ l บูรณาการการเรียนรู้ l ความสมดุลและบูรณภาพแห่งชีวิต l ชุมชนและสังคม
โดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
 
 
 
 

ขอบคุณครับ น้อง   เสียงเล็กๆ  ก็ไม่ได้ไปไหนครับ วนเวียนอยู่แถวนี้ เพียงแต่รอเวลากลั่นความคิดเท่านั้นเองครับ :)

ขอบคุณครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร สำหรับแหล่งความรู้ทองคำ ;)

ดูเหมือนอาจารย์ ดร.วิรัตน์ จะเป็นรุ่นพี่ผมที่มอชอครับ

http://library.cmu.ac.th/digital_collection/etheses/detail.php?id=1696&word=วิรัตน์ ;)

วิธีการเขียนเพื่อสื่อให้คนเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการใช้คำที่สละสลวย
การใช้ภาษาที่เข้าใจยากนับเป็นความล้มเหลวของการสื่อมากกว่าความภูมิใจที่เขียนออกมาแล้วคนอ่านไม่เข้าใจ

ยังมีอีกหลายคนที่หลงตนเองว่าการเพียรพยายามสอดคำที่คิดว่าโก้หรูจะเป็นการยกตนเองให้สูงกว่าคนอื่น
ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เขียนออกไปนั้นมีคนอ่านข้ามไปอย่างไม่สนใจและไม่ได้อะไรนอกจากตาที่พร่ามัวกับคำโก้ที่ไม่ใช่คำจากภาษาไทย

นักเขียนที่ครองใจผู้อ่านมากที่สุดคือนักเขียนที่คนจำนวนมากอ่านแล้วเข้าใจได้มากที่สุด
ไม่ใช่นักเขียนที่พยายามเขียนให้คนอ่านไม่เข้าใจหรือเข้าใจได้ยากที่สุด
โดยคนอ่านเขาเสพเนื้อหา เนื้อหาต้องมาก่อน เนื้อหาต้องเข้าใจง่ายชาว gotoknow เขาเป็นเช่นนั้น

สำนวนการเขียนลักษณะนี้เหมาะสำหรับยุคสมัยหนึ่ง

เคยมีปรากฎในหนังสือสังคมศาตร์ปริทรรศน์ซึ่งเขียนแนวการเมืองในโลกทัศน์ของ "ระบอบสังคมนิยม"

ซึ่ง ส.ศิวรักษ์เป็นผู้ก่อตั้งวารสารสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ในยุคสมัยนั้น

ในกรณีที่จะสื่อเพียงเรื่องราวของคุณป้าขายส้มตำที่เรียบง่ายก็ต้องสื่อด้วยการใช้คำและภาษายากๆเช่นนี้จึงเป็นเรื่องแปลกทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และความจริงมีเนื้อหาองค์ประกอบอื่นที่มาอธิบายเหตุการณ์ของคุณป้าขายสัมตำได้อีกมากมายมิใช่เพียง Tacit  Knowledge ที่อ้างมา

 

- อีกทรรศนะหนึ่งจากผู้อ่าน

ขอบคุณครับ อ. Wasawat Deemarn  ครับ แสดงว่าท่านก็เป็นรุ่นพี่ที่ มช.ของผมเหมือนกัน ลูกช้าง มช.ครับ ยังคิดถึงอยู่เสมอ

สวัสดีค่ะพี่เอก

เป็นบันทึกที่หนักหนาเอาการค่ะ ยอมรับว่ายากต่อการทำความใจอยู่สักหน่อย แต่เสน่ห์ของบันทึกนี้คือการอ่านยากนะค่ะ ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ อ่าน วางความคิดอื่นๆ พลาดไม่ได้แม้ตัวอักษรเพราะความเข้าใจจะเพี้ยนทันที และอาจจะไม่เข้าใจทันทีว่าสรุปแล้วคุยอะไรกัน

อ่านหลายรอบมาก เป็นบันทึกที่ต้องใช้สติมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ผมศิษย์เก่า มช. เหมือนกันครับ

สวัสดีครับ คุณสุวัฒน์ กอไพศาล (ไม่มีชื่อกลาง)

ยอมรับว่ายากเหมือนกันครับ แต่เจตนาก็เพียงแต่อยากนำเรื่องราวที่พูดคุยกัน มาแลกเปลี่ยนครับ ...ผมเองก็พยายามเข้าใจในภาษาที่อาจารย์หลายท่านถ่ายทอดมา และก็เชื่อมโยงประสบการณ์ของตัวเอง

ผมยกมาจาก บอร์ด สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มเฉพาะมาครับ ซึ่งผมเป็นหนึ่งในนั้น และคิดว่า บางส่วนของข้อความ หรือ การสื่อสาร ก็อาจมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย

ยออมรับเหลือเกินว่า การสื่อสารด้วยศัพท์แสง เป็น การสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมอย่างหนึ่ง แต่ผมก็มองว่า ก็ควรพยายามเข้าใจในความหลากหลายของงานเขียนที่เป็นวรรณกรรมเชิงวิชาการ เรียนรู้ไว้ เปิดใจ แลกเปลี่ยนฉันท์กัลยาณมิตร

วันนี้ทานข้าวเหนียวส้มตำ อีกวันก็ทานอาหารฝรั่งเศล ลองอะไรที่ต่าง แล้วค่อยๆลิ้มรสอาหารที่เป็นศิลปะเหล่านั้น สุดท้ายอิ่มเหมือนกัน แต่อาจงงบ้างว่า อาหารฝรั่งเศลสุดหรูจานนี้มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ช่างไม่คุ้นเคยเอาเสียเลย ส่วนส้มตำเรารู้หมด ตรงนี้กระเทียม โน้นปลาร้า นี่ปูดอง ก็ทานกันไป  การรับอาหารที่แตกต่างก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่หากตั้งเงื่อนไขไว้ก่อนว่าอาหารที่ต่างมันอร่อย ไม่คุ้นลิ้น ฉันไม่กิน ตรงนี้ก็น่าเสียดาย

กรณี Tacit knowledge ของแม่ค้าส้มตำ เป็นเรื่องง่ายๆแต่เป็นประเด็นทางสังคมศาสตร์ที่เรากำลังเชื่อมโยงกัน กับทฏษฏีบางอย่าง ผมต้องขอบคุณ ท่านอาจารย์ของผมมากที่ท่านได้ จุดประกายให้คิดต่อ ลึกซึ้งออกไป แม่ค้าส้มตำที่ยกเป็นกรณีตัวอย่าง จริงๆแล้ว เราสามารถอธิบายไปจนถึง การพลิกโฉมของโลก ความมั่งคั่งในนิยามใหม่ๆ  (Post knowledge Based Society)ได้  (ผมคิดไปถึงโน้นเลย 555  5 ) อาจารย์วิรัตน์กำลังสอนให้ผมว่าเราจะเชื่อมสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร? 

สรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง...

 

ความหลากหลายในการเรียนรู้ที่ gotoknow  ก็ทำให้ผมได้พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆครับ โดยส่วนตัวผมชอบความท้าทาย โดยเฉพาะสิ่งที่ยากครับ

และบันทึกนี้ผมหยิบมาจาก พื้นที่แลกเปลี่ยนในกลุ่มเฉพาะ อาจทำความเข้าใจยากบ้าง ต้องขออภัยครับ

ต้องขอบคุณ คุณ สุวัฒน์ กอไพศาล (ไม่มีชื่อกลาง)
มากครับ ที่ช่วยชี้เเนะให้ได้เรียนรู้ ผมเองก็พยายามอย่างยิ่งครับ สำหรับการย่อยงานวิชาการให่้เป็นงานสารคดีวิชาการที่อ่านง่ายได้สาระ และผมต้องพัฒนาอีกนานพอสมควร

ขอบคุณมากครับ

คำสวยๆหรูๆอย่างเขียนแล้วอ่านง่ายเข้าใจง่ายก็มี..อยู่ที่ศิลปในการนำเสนอ

แต่การเขียนเป็นประโยคอ่านแล้วให้แปลจากไทยเป็นไทยอีกครั้งนั้น

ไม่แตกต่างจากภาษาที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ใช้อย่างไรอย่างนั้น

ไม่โก้หรอกครับที่บอกว่าตนเองเปนนักวิชาการแล้วใช้ภาษานักวิชาการ อย่างนั้น..จริงหรือ

น้อง สี่ซี่

ครับบันทึก ของอาจารย์ผม อ่านทำความเข้าใจ ต้องอ่านหลายรอบ ผมชอบตรงที่อ่านแล้ว คิดต่อ คำต่อคำ ประโยคต่อประโยค  อาจใช้เวลาบ้างแต่ก็ได้เรียนรู้เบื้องหลังความคิดได้ดีมากเลยครับ

ค่อยๆอ่าน ค่อยๆทำความเข้าใจไปครับ

:)

อีกรอบครับ ... เพิ่งจากการเดินทางไปงานศพของลุงคนขับรถที่มอ แกเสียหลังเกษียณอายุได้แค่ปีเดียว

ชีวิตคนสั้นนักครับ ... หากอยากทำอะไรที่ยังไม่ได้ทำ เร่งทำนะครับ

แวะมาให้กำลังใจเพื่อนอีกรอบ ครับ ;)

คุณสันติ หมื่นไวย
ขอบคุณครับสำหรับความคิดเห็นครับ

นักวิชาการ นำเสนอ คำพูด ภาษาแบบนักวิชาการ นั้น ใช้ได้ครับ แต่ก็ในสถานการณ์ที่ต่างกัน กลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน แต่ปัญหาที่เจอเสมอก็อยู่ที่ว่า นักวิชาการนำภาษาวิชาการมาใช้ในกลุ่มเป้าหมายที่ต่างออกไป ทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจ(อยู่บ้าง)  

สำหรับการนำเสนอบันทึกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน gotoknow ของผม ขอให้ผ่านคำว่า โก้ / ไม่โก้ ออกไปก่อนครับ เพราะผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนั้นอยู่แล้ว ;)  ผมมักจะพยายามหาทางออกใหม่ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับปัญหาเดิม  และเราจะเชื่อเช่นนั้นจริงๆหากเราไม่ตั้งคำถาม คิดให้ลึก คิดให้เชื่อมโยง สำคัญคือ ตัดอคติในใจออกไปก่อน เบื้องหลังความคิดมีที่มา อาจจะมากกว่าที่เราเห็น เราอ่าน แต่เรายังไม่ทันได้เชื่อมโยงก็ปิดประตูความคิด ผนึกด้วยอคติเราเสียก่อน ...ก็น่าเสียดาย (ผมเคยเป็น)

ที่ผมมีความเห็นแบบนี้ก็เพราะ ทุกอย่างคือการเรียนรู้ทั้งนั้น วาทกรรมไปสู่วรรณกรรม การประดิษฐ์ถ้อยคำ ข้อความที่สวยหรู เข้าใจยากหรืออะไรก็ตามที่จะยากยิ่งที่จะทำความเข้าใจ ก็เพียงแต่เปิดใจรับรู้ในสิ่งที่ต่าง เรียนรู้ ต่อยอดในส่วนที่เข้าใจ ผมก็คิดว่าจะทำให้เราเปิดโลกทัศน์ออกไปมากขึ้น

ทุกวันนี้ผมพยายามเลือกซื้อหนังสือเพื่อมาอ่านเป็นอาหารสมองครับ

แนวการเลือกซื้อหนังสือผมก็พยายามอ่านหนังสือที่อ่านรอบเดียวเเล้วไม่เข้าใจต้องอ่านสองรอบ ก่อนหน้านั้นผมหลีกเลี่ยง แต่ตอนนี้ชอบครับ นอกจากท้าทายความคิดเเล้ว ยังทำให้ผมได้คิดต่อได้เรื่อยๆ

ขอบคุณมากนะครับ ...

มีประเด็นไหนที่สามารถต่อยอดได้ เรียนเชิญเลยครับ

 

สวัสดี เจ้า น้องเอก อ่านแล้ว นึกย้อนไป ยามที่เรียน สังคมวิทยา แบบว่า มันหนักสำหรับพี่ ต้องอ่าน ต้องวิเคราะห์ ต้องเรียนรู้

องค์ความรู้ดั้งเดิม สืบทอดด้วยกระบวนมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โรงเรียนเริ่มต้นด้วยการทำหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งประเด็นที่จะนำทำหลักสูตร ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการเลือก ด้วยนะคะ

นับวันรอ ที่พี่พอ น้องเพียง จะเจอ น้าเอกคนหล่อ ( น้องแอมแปร์ ยืนยัน ) เน้อเจ้า

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก อยากให้นำเสนอประเด็นอย่างนี้บ่อยๆ

การตั้งข้อบันทึกขึ้นมา
ติดตามด้วยความคิดเห็นที่หลากหลายจากผู้อ่านเพื่อติงวิพากษ์นับเป็นมิติที่ดี
ขอยอมรับว่าท่านที่แสดงความคิดเห็นเพื่อแย้งวิธีการผู้อื่น
นับว่าท่านเป็นผู้กล้าที่แสดงตนตรงไปตรงมาเปิดเผย
อยากให้มีเวทีทัศนะเช่นนี้มากนานแล้ว
ไม่อยากเห็นคนมาเยินยอกันเองจนเอียนโดยไม่มีความคิดเป็นของตน

ขอคารวะแด่ผู้กล้าทั้งหลาย

ขอบคุณครับ อ. Wasawat Deemarn 
ชีวิตสั้นนัก อะไรที่ยังไม่ได้ทำ ให้เร่งทำ

ผมเห็นด้วยครับ เพราะประโยคแบบนี้ละครับ เป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งของผม ที่อยากทำ และกล้าทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ค่อยกล้าในอดีต :)

ในที่นี้คือ "กล้าดี" นะครับ แต่ก็บ้าดีเดือด

ครูใหม่ บ้านน้ำจุน ก็เหมือนกันกับผมนะครับ ผมมาจากสานวิทยื แต่ก็กลางๆนะครับ เป็นวิทย์สุขภาพที่ก้าวมาเล่นประเด็นทางชุมชน วัฒนธรรม ไม่สุดทั้งด้านคือ ทางวิทย์สุขภาพก็เอาดีไม่ได้ ทางสังคมศาสตร์ ก็ต้องรื้อความคิดใหม่ ค่อยๆทำความเข้าใจไปครับ

แต่การเรียนรู้ทำให้ผมเปิดหู เปิดตา มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นภาวะที่ผมชอบครับ ท้าทายดี

โอกาสที่ไปพะเยาคงมีโอกาสได้สนทนาเรื่องนี้กับครูใหม่ด้วย

ยินดีอย่างยิ่งครับ จะได้เจอหลานๆ น่ารัก ทั้งสองคน น้องพอ และน้องเพียง

เมื่อวานผมติดต่อไปทาง พี่ชายท่านหนึ่งที่เป็นนายทหารที่เชียงราย ทราบว่าหากเดินทางไปช่วงวันหยุดท่านจะเดินทางร่วมไปด้วย และทราบอีกว่าเป้าหมายที่เราจะไปเยี่ยมท่านเป็นคน ๑๔ ตค. ด้วย ...

ผมกำลังประสานอาจารย์ทั้งหมดที่จะร่วมเดินทางที่ กทม.ให้เสร็จ ได้วัน แล้วจะโทรศัพท์ไปพูดคุยอีกครั้งครับ

ขอบคุณครูใหม่มากครับ ที่ช่วยประสานพื้นที่ให้ผม

:)

 

ขอบคุณ พี่ เบดูอินครับ topic แบบนี้ยากแก่การเข้าใจ แต่ก็ดีครับ ช่วยพัฒนาการคิดไปด้วย...ขอให้มีความสุข เบิกบานกับการเรียนรู้ครับ :)

สวัสดีครับ คุณอุทิศ ไกรฤทธิ์

ผมยินดีมาก และชอบครับ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบเห็นแย้ง เพราะนำไปสู่ การคิดที่แตกต่างออกไป แต่ขออย่างเดียวการเเย้งนั้นอยู่บนเหตุและผล ปราศจากอคติใดๆ

ตอนนี้ผมเองก็ฝึกครับ ฝึกการเห็นต่าง คิดเเย้ง แต่กอรปด้วยข้อมูล เหตุผล เพื่อสะท้อนความคิดซึ่งกันและกัน อยากให้มีบรรยากาศแบบนี้มากๆครับ

และที่สำคัญ บอกตัวตนบ้างก็ดีนะครับ เป็นใครมาจากไหน คิดอะไร ทำไมคิดอย่างนั้น ทั้งหมดเพื่อเป็นข้อมูลในการพูดคุย หากมาแบบ no name ก็ยังกระอักกระอ่วนอยู่บ้างนะครับ

วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนของไทย โดยเฉพาะที่ gotoknow อาจจะเป็นแบบที่คุณว่าครับ ที่มีการชื่นชมกัน ผมก็มองว่าน่ารักดี แต่ยังไงก็ตามนอกจากชื่นชมแล้วอาจต้องมีข้อเเลกเปลี่ยน เพื่อต่อยอดความคิดกันต่อไป

การติติง วิพากษ์ ฉันท์กัลยาณิมตร ก่อให้เกิดการคิดต่อยอด ในบรรยากาศสมานฉันท์

ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับผม :)

คุณอุทิศ เขียนบันทึกบ้างสิครับ จะได้ร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบรรยากาศอย่างที่เราสนใจร่วมกัน ในโอกาสต่อๆไป

  • อ่านเรื่องนี้แล้วสองรอบทุกถ้อยคำมีความละเอียดอ่อนและสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างมากค่ะ

  • ขอนำเสนอความเห็นแบบไม่รู้จริง แต่อาศัยการสังเกตในฐานะของผู้บริโภคและอาศัยมุมมองด้านการตลาดค่ะ

  • ในความเป็นจริง โดยตัวมันเองอยู่แล้ว การถ่ายทอด Tacit Knowledge เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะถ่ายทอดออกมา แม้แต่ตัวของผู้ที่มีความรู้แฝงลึกเองก็อาจจะไม่รู้ตัวว่าตนเองมีดีอะไร  การจะดึงความรู้ที่ลึกซึ้งนี้ออกมานอกจากตัวผู้รู้แล้ว ก็คงเป็นตัวผู้ดึงความรู้ด้วยที่จะต้องรู้จักไต่ถาม สังเกต และซึมซับสิ่งที่อาจจะไม่เห็นได้ด้วยตา (เห็นได้ด้วยใจสัมผัส  อาจจะดูลิเก แต่คิดเช่นนี้ค่ะ)

  • ภายใต้บริบทสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และก็เป็นจริงที่จะย่อมกลืมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมไปอย่างที่คุณเอกตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้

  •  ขออาศัยความคิดแบบหนึ่งที่ว่าแต่ละคนสามารถสร้าง “Brand” ของตนเองได้ค่ะหมายถึงว่าเมื่อเรามองเห็นคนหนึ่ง  เขาคนนั้นทำให้เรานึกถึงอะไร

  • คุณป้าขายส้มตำมี Brand ตามยุคสมัยของคุณป้า ความรู้ ความเชี่ยวชาญในอาชีพที่ตกทอดสู่รุ่นถัดมา เป็น content ซึ่งควรอาศัยการสร้าง form (เปลือก) ห่อหุ้มของยุคสมัยหรือบริบทสังคมใหม่

  • คุณลูกคุณหลานจึงควรใส่ใจกับการ create brand ของตนเองขึ้นมาให้เหมาะสมกับสังคมตน อาจจะแก้ไขปัญหาให้พออยู่รอดได้

  • ตัวอย่างที่พึ่งไปทานอาหารเมื่อเร็ว ๆ นี้คือ ส้มตำใส่กุ้ง ส้มตำราดปลาอินทรีย์ ส้มตำปูทะเล สาระพัดส้มตำที่เอาใจวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และแม้กระทั่งชาวต่างชาติ

  • อ่านบันทึกคุณเอกแต่ละบันทึกหลากรสชาติจริง ๆ ซึ่งนี่ก็คือ Brand ที่มีเสน่ห์ ที่ทำให้คนอ่านได้ทั้งความรู้ และรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ

  • ทั้งหมดที่กลาวมาเป็นเพียงความเห็นของคนที่เพิ่งกลับจากทำงานมา อาจจะฟุ้งซ่านสักหน่อย ไม่ได้เขียนตอนสมองปลอดโปร่ง  ต้องขออภัยล่วงหน้าด้วยค่ะ หากเขียนอะไรไม่เข้าที

  • ขอให้มีความสุขกับงานและการศึกษาที่ทำอยู่ค่ะเวลาสุขที่จะทำ  ทำให้หายเหนื่อยใจได้เหมือนกันนะคะ

สวัสดีค่ะ

  • ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดี  ๆ  ที่นำเสนอ
  • เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีมาก
  • การที่ร้านส้มตำเงียบเหงาในรุ่นลูก รุ่นหลานเงียบเหงา อาจจะเป็นเพราะเคล็ดลับ  หรือความสามารถเฉพาะตน เหมือนบางครั้งที่เราทำอาหาร  ถามสูตรก็แล้ว ถามเคล็ดลับก็แล้ว ลงมือทำก็แล้ว  โดยมีแม่เป็นปรมาจารย์อยู่ข้าง  ๆ  ก็ไม่อร่อยเหมือนแม่ทำ

 

 

พออ่านบทความของพี่เอกแล้วพี่เอกพูดถึง "Tacit Knowledge" แล้วทำให้คิดถึงเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านและปราชญ์ชาวบ้านค่ะ บางทีความรู้พวกนี้ถ้าไม่สืบทอดต่อก็จะหายไปพร้อมกับตัวเจ้าขององค์ความรู้นั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากๆ เลย พี่เอกว่าไม๊คะ ^_^

สวัสดีครับ อ. Sila Phu-Chaya

 

บันทึกนี้ช่วยกันอภิปรายโดยยกตัวอย่าง โดยมี คุณป้าขายส้มตำเป็นนางเอกของเรื่อง

ในเนื้อหาเริ่มจาก แม่ค้าส้มตำ และ พูดเกี่ยวข้องในเรื่องของ การจัดการความรู้ ที่มีมิติละเอียดอ่อนไปมากกว่าการเรียน รู้ ดูและจำ แต่ต้องสัมผัสด้วยใจอย่างที่อาจารย์บอกไว้ครับ

มีข้อความหนึ่งที่เราเเลกเปลี่ยนกัน และ อ.ดร.วิรัตน์ ท่านได้ขมวดให้ผมว่า

"...และจากการยกตัวอย่างเทียบเคียงให้เห็นว่า จัดการถ่ายทอดเคล็ดวิชาขนาดนั้นแล้ว ลูกหลานก็ยังทำได้แต่ตำส้มตำ แต่สร้างบรรยากาศและความชื่นชมที่ผู้คนจะมากินส้มตำอีกไม่ได้  หากความรู้จากประสบการณ์มันเป็นแค่เรื่องสูตรและวิธีทำส้มตำ อีกทั้งการจัดการความรู้ก็เป็นแค่เรื่องถ่ายทอดประสบการณ์ที่มองง่ายๆอย่างนั้น  เรื่องนี้ก็ไม่เป็นเป็น Best Practist ที่น่าสนใจที่จะนำมาเรียนรู้และเสวนาทางวิชาการกัน..."

เห็นไหมครับว่า จากปรากฏการณ์หนึ่งเรามองลึกซึ้งลึกลงไป สิ่งที่คาดหวังในการเสวนากัน ก็น่าจะโยงไปถึงการค้นหาวิธีการถ่ายทอดความรู้จริงๆว่าน่าจะเป็นอย่างไร ยิ่งในบริบทที่เปลี่ยนไปเราจะจัดการความรู้อย่างไรให้ได้ปัญญาจริงๆ

ผมเชื่อว่าหากเราแตกความคิดออกไปเรื่อยๆ เชื่อว่าน่าจะมีประเด็นใหม่ๆในการสร้างความรู้(Knowledge creation)เกิดขึ้น ในแวดวงการจัดการความรู้ เป็นความรู้ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่(generative) จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แห่งนี้

:)

ขอบคุณ อ.ศิลา มากๆครับ :)

  • ข้อควรระวัง คือ "เป็น ดร. แล้วพูดไม่รู้เรื่อง" ค่ะ
    เป็นคำที่มักจะกระทบกระเทียบผู้จบการศึกษา(ในระบบ)สูงๆ เสมอ
    แต่ก็เป็นความจริงบางส่วนค่ะ
  • อันเนื่องมาจาก "การใช้ภาษาวิชาการ" มากเกินไป ทำให้คนอื่นๆ เข้าไม่ถึง
  • บางครั้งก็เป็นความไม่ตั้งใจ...เพราะความเคยชิน เนื่องจากการอยู่ในแวดวงของ
    นักวิชาการ ก็จะพูดกันเองเข้าใจ ใช้ภาษา และศัพท์แสงชุดเดียวกัน
  • บางครั้งก็เป็นความตั้งใจ...เพราะต้องการสร้าง "ความรู้เฉพาะ" ของกลุ่มคน
    ที่แสดงถึงความเหนือกว่าคนอื่น

เข้ามาแลกเปลี่ยนทัศนะค่ะ...เนื่องจากชอบอ่านงานคุณเอกในG2K

ที่เคยใช้ใจเขียนสิ่งที่มาจากประสบการณ์...

แต่เชื่อว่า...ระดับนี้ปรับการเขียนสักหน่อย ก็น่าจะเข้าที่

รออ่านงานถัดไปค่ะ

ขอบคุณ.

ครูนิน  ครับ

เห็นไหมครับว่า การถ่ายทอดความรู้...บางทีก็ไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนที่คิด แต่มีประเด็นอะไรนอกจากนี้ เหมือนกรณีแม่ค้าส้มตำที่ยกตัวอย่างมา :)

ขอบคุณมากครับ ที่มาเยี่ยม และต่อยอดบันทึก

น้องวชิราภรณ์

เป็นกิจกรรมวิจัยที่ผมทำกับพี่น้องลีซูที่แม่ฮ่องสอน ครับ เราใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการสืบต่อภูมิปัญญาดีๆของพี่น้องชาวไทยภูเขา และหลังจบงานวิจัย มี "หลักสูตรท้องถิ่น"ที่ทางโรงเรียนเข้ามาหนุนกระบวนการต่อ ..

ภูมิปัญญาดีๆ ของชุมชน น่าเสียดายมากครับ หากเราไม่ฟื้น หรือสังคายนาความรู้เหล่านั้น

:)

คุณpis.ratana

งานผมหลากหลายครับ และเรื่องราวที่จะเขียนยังรอถ่ายทอดอีกมากมาย จากประสบการณ์การทำงานทุกวัน ทุกวินาที แต่รูปแบบการวิพากษ์เชิงวิชาการ(ดูยากๆหน่อย) เป็นงานอีกแบบที่ผม ก็เสี่ยงเหลือเกิน นำมาจาก พื้นที่เฉพาะ ที่เราแลกเปลี่ยนกันที่โน้น!!!  (สำหรับ นศ.และ อาจารย์ นักวิชาการเฉพาะกลุ่ม) มาโพสลงใน gotoknow แต่ก่อนที่จะโพส จะเขียน ก็ชั่งใจแล้วว่า งานเขียนที่เกิดจากความคิด สานต่อความคิด เป็นงานที่มีคุณค่าเสมอ แล้วแต่คนที่เข้ามาเรียนรู้จะมองในมุมใด ก็พร้อมจะรับคำวิจารณ์ สนุกดีเหมือนกันนะครับ

แต่จะให้ผมเขียนสไตล์เดียวๆเดิมๆ ไม่ใช่ผมแน่ๆครับ

เรื่องยากๆ บางทีก็มีเสน่ห์ ดีครับ

ผมชอบความหลากหลายครับ วันนี้กินส้มตำ พรุ่งนี้ผมอาจกินพิซซ่า สเต้ก ก็ได้ งานเขียนจึงกวัดแกว่งตามใจศิลปิน

เลือกอ่าน เลือกเสพ ตามความพอใจของผู้รับสารภายใต้ความพึงพอใจเถอะครับ..

 

:)

  • ความรู้ฝังลึกในตัวคน
  • ถ่ายทอดได้
  • แต่ไม่สามารถทำได้เหมือน
  • เพราะมันมีความเฉพาะในตัวตนอยู่ค่ะ
  • อย่างคุณป้าที่ขายส้มตำ
  • พี่เขี้ยวเอาปี้ๆที่มีประสบการณ์จั๊ดนักมากมาฝากเจ้า

คุณเอกครับ

มีบันทึกเกี่ยวกับหนังสือ "ชำฆ้อพอเพียง"

ของมูลนิธิสยามกัมมาจล

ที่เป็น E-Book มาฝากครับ

ไม่ทราบว่ามีหรือยังครับ

ถ้ายังก็ลองโหลดไปเป็นข้อมูลดูก่อนไปพบท่าน ผอ.นะครับ

เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการสัมภาษณ์ท่านยิ่งขึ้น

ขอบคุณพี่มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย) 
   มากๆครับ การพูดคุย แลกเปลี่ยนไม่ว่ารูปแบบไหนก็ตาม หากเราเปิดใจที่จะเรียนรู้เราก็จะได้รับความรู้นั้นครับ :) ขอบคุณภาพถ่ายสวยๆของสาวเจียงใหม่ครับ

คุณ  ซวง ณ ชุมแสง     ขอบคุณครับ สำหรับการแนะนำโรงเรียนให้ผมนะครับ ผมเก็บหนังสือที่ ท่าน ผอ.รร.ซ้ำฆ้อมอบมาให้เเล้ว รอส่งต่อครับ

 

คุณ แผ่นดิน  ผมตามลิงค์ไปแล้วครับ วันนี้ก็ตั้งหน้าตั้งตา รออ่านหนังสือครับ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท