เมื่อ ดร.รุ่ง แก้วแดง บอกว่า "การศึกษาไทยมาตรฐานต่ำ" : แล้วจะทำอย่างไง


ดร.รุ่ง ยังกล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2542 มีอุปสรรคสำคัญคือ การเมืองมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และไม่ได้มีการให้ความรู้แก่นักการเมือง ทำหลายเรื่องพร้อมกันมากเกินไป ขาดผู้นำที่เข้มแข็งและที่สำคัญมีแต่คนพูด แต่ไม่มีคนทำ ดังนั้นในการปฏิรูปการศึกษารอบสองที่จะทำใหม่นั้น ตนเห็นว่าจะต้องขับเคลื่อนด้วยพลังของประชาสังคมจะดีกว่า เพราะเราตั้งความหวังกับการเมืองไม่ได้แล้ว
การปฏิรูปการศึกษาดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 นับเนื่องมาสิบปี   ผลสรุปออกมาตรงกันหมดคือ การปฏิรูปล้มเหลว  เพราะมัวแต่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการศึกษา  ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน   ทุกฝ่ายก็โทษกัน  ทุกฝ่ายก็บอกว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิด   นักการศึกษาโทษนักการเมือง  นักการเมืองโทษข้าราชการ  ข้าราชการโทษนักการศึกษา   ไม่มีใครบอกว่าเด็กคิดอะไรอยู่  ทุกคนมองแต่ประโยชน์และระวังการเสียผลประโยชน์ของการปฏิรูปการศึกษา   คุณภาพการศึกษาจึงกลายเป็นมุมมองของแต่ละฝ่ายว่าตนจะได้ประโยชน์อะไรจากการปฏิรูปการศึกษา   ไม่มีใครบอกว่าเด็กจะได้ประโยชน์อะไรจากการปฏิรูปการศึกษา   เพราะเขียนเอาไว้แล้วให้ไปอ่านเอง  แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เกิดมรรคผลใด ๆ
หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาจึงมีไม่กี่เรื่อง แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำที่หัวใจ  ไปเน้นที่การแต่งหน้าแต่งตา เช่น โครงสร้างกระทรวง หน่วยงาน งบประมาณ องค์กรใหม่ เทคนิคบริหารใหม่ 
แต่หัวใจคือ
- การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
- การผลิตครูในลักษณะที่เป็นทุน  เหมือนนักศึกษาแพทย์
- การเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ที่เน้นการวิเคราะห์ สังเคราะห์
ทุกฝ่ายเข้าใจ ทุกฝ่ายเห็นด้วย   แต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม
เมื่อหวังอะไรไม่ได้จากฝ่ายการเมืองเพราะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  หวังจากภาคประชาสังคมก็ย่อมยากเพราะทุกฝ่ายก็อยากรอการเมืองนำหน้า   มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นสูญเปล่า   
โจทย์นี้ยากนัก   แต่เดิมพันด้วยประเทศไทย
 
เดลินิวส์  1 มิ.ย.2552
'ดร.รุ่ง'สวดการศึกษาไทยมาตรฐานตํ่า
 

ที่โรงแรมอมารีออคิด รีสอร์ทฯ พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 30 พ.ค. มีการจัดเสวนาเรื่อง “การศึกษาไทยในภาวะวิกฤตของประเทศ” จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดย ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีต รมช.ศึกษาธิการ กล่าวยอมรับว่าคุณภาพการศึกษาของไทยต่ำ และมีความอ่อนแอตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับอุดมศึกษา “ทุกครั้งที่เกิดอะไรกับประเทศไทย การศึกษาจะตกเป็นจำเลยทุกครั้ง แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธว่าคุณภาพการศึกษาไทยทั้งต่ำและเตี้ยคู่กันจริง ๆ เราอ่อนแอตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา โดยเฉพาะอุดมศึกษาทุกวันนี้แต่ละมหาวิทยาลัย เหมือนแค่ร้านสะดวกซื้อที่ไม่ได้สอนคนแต่มีไว้ขายปริญญา มีการเปิดศูนย์สาขาขยายไปทั่ว บางแห่งก็ไปเช่าสถานที่โรงเรียนประถมหรือโรงแรม และมีการพูดกันว่าหากใครอยากได้ปริญญาโทก็จ่าย 1 แสน จ่ายครบจบแน่ ส่วนระดับปริญญาเอกก็ 3 แสนบาท และบางแห่งยังมีเงินให้กู้เรียนได้อีกด้วย ซึ่งผมกำลังคิดว่าจะฟ้องศาลปกครอง เพราะหากเราปล่อย ให้สถาบันเหล่านั้นผลิตคนไม่มีคุณภาพ ออกมาก็จะส่งผลเสียต่อประเทศอย่างมาก”
 
ดร.รุ่ง ยังกล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2542 มีอุปสรรคสำคัญคือ การเมืองมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และไม่ได้มีการให้ความรู้แก่นักการเมือง ทำหลายเรื่องพร้อมกันมากเกินไป ขาดผู้นำที่เข้มแข็งและที่สำคัญมีแต่คนพูด แต่ไม่มีคนทำ ดังนั้นในการปฏิรูปการศึกษารอบสองที่จะทำใหม่นั้น ตนเห็นว่าจะต้องขับเคลื่อนด้วยพลังของประชาสังคมจะดีกว่า เพราะเราตั้งความหวังกับการเมืองไม่ได้แล้ว เพราะระบบการเมือง  ในบ้านเราตายหมดแล้วในทุกระดับตั้งแต่การเมืองระดับชาติถึงการเมืองระดับท้องถิ่นและเหม็นเน่าด้วย ส่วนระบบราชการก็ตายแล้วเช่นกันไม่ว่าทุ่มเงินลงไปเท่าใดก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา
 
ขณะที่ ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ในฐานะกรรมการสภาการศึกษา กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับครู แต่ตนหมดหวังกับระบบการผลิตและพัฒนาครูของเรา อีกทั้งระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูก็ล้มเหลว มีการวิ่งเต้นกันแหลกลาญ กว่าร้อยละ 80 เป็นการวิ่งเต้นทั้งหมด ทั้งการวิ่งเต้นจากผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก ไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่ ข้ามทั้งระบบและไม่ใช้หลักคุณธรรม หรือการวิ่งเต้นย้ายครูข้ามโรงเรียน ข้ามเขตพื้นที่ฯ ส่วนที่เป็นปัญหามานานคือการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ 2 ขั้น รวมถึงการทำผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทย ฐานะก็มีการพัฒนา จากเมื่อก่อนใช้วิธีจ้างทำ ก็มาเป็นการวิ่งเต้นกับผู้อ่านผลงานวิชาการเพื่อให้ผ่านการพิจารณา แต่ปัจจุบันไปไกลถึงขนาดที่ผู้ตรวจผลงานเป็นฝ่ายโทรศัพท์ไปถามเองเพื่อเรียกร้องเงินทอง หากเราไม่ทบทวน สิ่งเหล่านี้ก็จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของครูที่ดีและมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา
 
“ผมอยากเสนอว่าการให้ความก้าวหน้าแก่ครู ควรวัดจากผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับตัวนักเรียน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ครูต้องใส่ใจกับคุณภาพการสอน อีกทั้งยังทำให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งคนดีเข้ามาเป็นครู เช่น ผู้ที่จบหลักสูตรครู 6 ปีจะได้ค่าตอบแทนเท่ากับหมอ เป็นต้น” ศ.ศรีราชากล่าว.

หมายเลขบันทึก: 264872เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2009 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ทิศทางของการศึกษา คือ ห้วงเวลาที่ต้องทบทวน เพราะปัญหาที่จะส่งต่อเนื่องทางการศึกษาที่จะส่งต่อสามจังหวัด คืออีกหลายๆปัญหาตามมาครับ...คืนครูให้นักเรียน คือ ความเพียรอยากให้เกิดขึ้นครับในพื้นที่ครับ ขอบคุณข้อมูลดีๆๆแก่แวดวงการศึกษาครับ

สมมติฐานแรก  ถ้าครูมีวิทยฐานะ  เงินตอบแทนสูงจะมีขวัญกำลังใจในการทำงาน  อันจะส่งผลให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้น

เวลาผ่านไป...ครูได้รับวิทยฐานะกันเกือบทั่วหน้า  ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา ที่ ดร.รุ่ง กล่าวไว้...ผลที่ปรากฎ...การศึกษาก็ยังมาตรฐานต่ำกว่าเดิม

บทเรียนนี้ได้พิสูจน์อะไร ???

ครู ไม่จำเป็นต้องมีอาชีพครู ครูคือผู้ให้ ไม่ใช่คนรับจ้างสอน

ในฐานะครู...เห็นปัญหาหลายประเด็นทั้งในด้านการบริหารจัดการ ด้านหลักสูตร ด้านครูและบุคลากร ด้านทรัพยากรสนับสนุนการเรียนการสอน และด้านผู้เรียน แต่บางปัญหาเกินกำลังการจัดการของครูระดับผู้สอนนะค่ะ...แต่ยังดีใจที่ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษา...ก็ถือเป็นสัญญานที่ดี...ทั้งนี้อย่าโทษ หรืออย่าหาคนผิดเลยค่ะ..ทุกระดับทำให้เต็มที่ เต็มความสามารถ เสียสละ..เหนื่อยหน่อยแต่ต้องทำนะค่ะ

เพราะขาดผู้นำที่เข้มแข็งและที่สำคัญมีแต่คนพูด แต่ไม่มีคนทำ

          1.  คงต้อง "ทำใจ"

          2. ต้องเริ่มที่ "ตัวเอง"

                   ขอบคุณครับ

ครูยังไม่วิธ๊การสอนแบบเดิม ในขณะที่งานอื่นก็ต้องทำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท