กฤษณพงศ์ กีรติกร : การปฏิรูปการศึกษา (๕)


 

ตอนที่ ๑
ตอนที่ ๒ 
ตอนที่ ๓
ตอนที่ ๔

          ผมขอบทความที่มองระบบการศึกษาไทยอย่างครอบคลุมรอบด้าน   และเห็นภาพเชิงประวัติศาสตร์ ของ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร นักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาที่ดีและเก่งที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย   เอามาเผยแพร่ต่อดังต่อไปนี้   โดยที่บทความนี้ยาวกว่า ๕๐ หน้า    จึงทยอยลงหลายตอน
          ขอชักชวนให้ค่อยๆ อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะได้ประโยชน์มาก    

 

วิกฤติ    กระบวนทัศน์  มโนทัศน์  เพื่อการปฎิรูปการศึกษา
กฤษณพงศ์ กีรติกร

ต่อจากตอนที่ ๔
          มองไปในอนาคต    ประเทศไทยจะยังมี 4 คลื่นพร้อมกัน คือ   คลื่นเกษตรที่ยังใหญ่อยู่   คลื่นอุตสาหกรรม   คลื่นไอที    และคลื่นวิทยาศาสตร์ใหม่บนฐานชีวภาพ   เป็นความรับผิดชอบของเราชาวอุดมศึกษาที่จะต้องมองให้เห็นสิ่งเหล่านี้     ผมเห็นว่าเราต้องสลัดกระบวนทัศน์ตะวันตกซึ่งไม่มีคลื่นเกษตร   ไม่มีสังคมเกษตร  ระบบการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษาของเราออกแบบโดยมีกระบวนทัศน์ของโลกอุตสาหกรรมและโลกการบริการ  ไม่มีโลกเกษตร    นอกจากนั้นขณะนี้เป็นยุคสมัยแห่ง Convergence of disciplines คือ การที่หลากศาสตร์หลายสาขาวิชา    สอบ  หรือบรรจบ  และหลอมรวม(converge และ intersect)   เป็นแนวโน้มใหม่ของโลก   ที่เป็นกระบวนใหม่ที่สร้างความรู้ใหม่และเกิดความรู้ใหม่  มหาวิทยาลัยจะทำอย่างไร    ผมมองว่าเป็นความท้าทายที่เราจะตั้งคำถามและหาคำตอบว่าเราจะสร้างภาคเกษตรที่ยังมีขนาดใหญ่จากสภาวะที่ศาสตร์บรรจบกัน(ต่างจากสภาพคลื่นพัฒนาของตะวันตกกว่าหนึ่งศควรรษมาแล้ว   ที่ศาสตร์ยังบรรจบกันน้อย)   ให้เกิดเกษตรฐานเทคโนโลยี  เกิดเป็นฐานความเข้มแข้งของภาคสังคมกับภาคการผลิตได้อย่างไร

 

          เมื่อก่อนนี้ 50-60 ปีมาแล้วหรือก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง  ภาคเกษตรผลิตเพียงอาหาร (Foods) ให้คนเป็นหลัก   ต่อมามีการผลิตอาหารสัตว์ (Animal Feeds)    แต่ในสิบปีที่ผ่านมาเพราะราคาน้ำมันสูงขึ้นและแนวโน้มสภาวะโลกร้อนชัดเจน   ผลผลิตจากภาคเกษตรใช้ผลิตเชื้อเพลิง (Fuels) เพื่อลดการพึ่งเชื้อเพลิงจากฟอสซิล    ต่อไปผลผลิตภาคเกษตรจะเป็นสารเคมีตั้งต้นของกระบวนการอุตสาหกรรม (Chemicals  Feed stocks )    และผลิตสารออกฤทธิ์ (Pharma ซึ่งย่อจาก bio-pharmaceutical))   ภาคเกษตรจะเป็นฐานการผลิตทั้งหมดของอนาคต    ผลผลิตภาคเกษตรไม่ใช่อาหารเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป  แต่ผลิตทั้ง Foods, Feeds, Fuels, Feedstock และ Pharma    โดยนัยยะนี้ ภาคเกษตรจะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้     เกษตรต้องเชื่อมกับต้นน้ำคือวิทยาศาสตร์และปลายน้ำคือวิศวกรรมสาสตร์   นอกจากนั้นเราต้องตระหนักว่า ภาคเกษตรของไทยยังสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเป็นกลไกความมั่นคงเชิงสังคม (Social safety net)    ลองคิดกันดูว่าเมืองไทยนั้นหากไม่มีภาคเกษตรรองรับ   เมื่อเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540   ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร   คนตกงานจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพราะวิกฤติเศรษฐกิจยังกลับไปทำกินภาคเกษตรได้   ยังมีอาหารกิน   เมื่อสองสามปีที่ผ่านมาอาหารทั่วโลกมีราคาแพง    คนแย่งชิงอาหาร   แต่คนไทยมีอาหารกินพอในราคาที่ซื้อกินได้     ตอนนี้ปี 2552  เราก็พบวิกฤติเศรษฐกิจ   คนก็จะตกงานจากเมืองและกลับมาสู่ภาคการเกษตร   ถ้าไม่มีภาคเกษตรเหลืออยู่    คนไทยอาจพบภาวะสงครามกลางเมืองเรื่องคนตกงานไม่มีกิน   และพบสภาพการไม่มีอาหารไปแล้ว   ดังนั้นผมจึงมองว่า   ในยุคสมัยที่หลากศาสตร์มาบรรจบกัน   ภาคการเกษตรใหม่จึงควรเป็นฐานความมั่งคงทางสังคมและฐานการผลิตของเศรษฐกิจที่สำคัญได้   มหาวิทยาลัยต้องสร้างและรักษาภาคเกษตรที่ได้รับการปรับเป็นฐานความรู้ไว้ให้ได้

 

          บทความชุดนี้เป็น master piece ด้านให้ความลุ่มลึกในการทำความเข้าใจระบบการศึกษาไทย    ต้องอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์จึงจะได้รับประโยชน์เต็มที่

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ พ.ค. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 264870เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2009 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

     วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ก็จะเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนว่าความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงเชิงสังคม  เราจะมี buffering capacity ได้เท่าไหร่ และมีพฤติกรรมต่อวิกฤตการณ์ดังกล่าวอย่างไร

  นิสิต คำหล้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท