เรียนรู้เรื่องการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร


          เราถูกประเทศตะวันตกครอบงำความคิด ว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ละเมิดมิได้   เพราะจะไปปิดกั้นการสร้างสรรค์   เขาไม่บอกว่ามีข้อตกลงระหว่างประเทศ ให้ประเทศต่างๆ สามารถใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL – Compulsory Licensing) ได้ เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน   นี่คือข้อตกลงของ WTO  ภายใต้ TRIPS (Trade-Related Intellectual Property Rights)  

 
          บันทึกนี้ผมใช้ notebook บันทึกจากการนั่งฟังการประชุมกลุ่มสามพราน   นำเสนอโดย นพ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล และ รศ. ดร. ภญ. จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์   ผู้มีประสบการณ์ตรงจากการทำงานนี้

          พรบ. สิทธิบัตรของไทย ปี ๒๕๓๕ เกิดขึ้นเพราะแรงกดดันของประเทศสหรัฐอเมริกา   โดยเอา GSP มาล่อ
          ปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลง TRIPS และสาธารณสุข ปี ๒๕๔๔   ระบุความห่วงใยผลกระทบต่อราคายา อันเกิดจาก TRIPS   จึงส่งเสริมสิทธิของประเทศสมาชิกในการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับยาอย่างทั่วถึง   เป็นผลจากการรวมตัวของประเทศกำลังพัฒนา และองค์กรนานาชาติ ในการปกป้องผลประโยชน์ของคนในประเทศยากจน  
          กม. สิทธิบัตรไทย ปี ๒๕๔๒ มาตรา ๕๑ เปิดช่องให้เราทำ CL ได้
          ในต่างประเทศมี กม. ให้ทำ CL ได้ในเยอรมันตั้งแต่ คศ. ๑๘๗๗   แคนาดาทำ CL ช่วงปี คศ. ๑๙๒๕ – ๑๙๖๙ ๒๒ รายการ    ปี ๑๙๖๙ – ๑๙๙๒ ทำสำเร็จ ๖๑๓ รายการ   เฉพาะปี ๑๙๘๓ แคนาดาประหยัดเงินได้ $211 ล้าน จากค่ายาทั้งหมด $1,600 ล้าน   ทำให้ราคายาในแคนาดาต่ำที่สุดในประเทศอุตสาหกรรม  
          ประเทศอื่นๆ ที่เคยทำ CL ได้แก่ สหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  บราซิล  มาเลเซีย  เคนยา  อินเดีย  อินโดนีเซีย  คาเมรูน  อิตาลี 
          ยาที่ประเทศไทยทำ CL ๓ ตัวแรกมีผลให้ราคายาลดลงตั้งแต่ ๓ เท่าถึง ๗๕ เท่า   และเปิดช่องให้ประเทศไทยสามารถต่อรองราคายากับบริษัทยาได้   รวมแล้วทำ ๗ รายการ
          ปี ๒๕๕๐ บริษัทยาจัดดินเน่อร์มื้อละ ๑ ล้านบาท มีคนกิน ๕๐ คน   ลงข่าวในบางกอกโพสต์   คนกินได้รับประกาศนียบัตร    มีรูปคนกินเป็นคนที่เป็นคนใหญ่คนโตของประเทศไทย  
          การทำ CL ต้องทำงานกันเป็นทีมของหน่วยงานของประเทศ   และต้องมีความรู้  ต้องทำวิจัย  ต้องตรวจสอบอายุสิทธิบัตร   ต้องรู้จักเลือกยา   ต้องมีการจัดการหลังทำ CL   มีปัญหาความร่วมมือจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ให้ข้อมูล   มีหน่วยงานวิชาการ  NGO เข้ามาช่วย   หน่วยงานในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งช่วยด้านความรู้  
          มีปัญหาแพทย์ไม่มั่นใจคุณภาพยาจากอินเดีย   ศ. ประเวศ แนะให้จัดทุนวิจัยให้แพทย์ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย ศึกษาคุณภาพยา    เพื่อสร้างความมั่นใจ
          มีการต่อสู้โดยบริษัทยาหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการเอาบริษัทที่ปรึกษากฎหมายมาขู่   การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ และบิดเบือนข้อมูล 
          ปี ๒๕๕๐ ประเทศไทยใช้ยา ๑๐๗,๐๐๐ ล้าน  ๘๐% ผลิตในประเทศ  นำเข้า ๒๐%  (ข้อมูลนี้ไม่ตรงกับของ รศ. จิราภรณ์)
          Anhydrobarakal จากดอกและใบขี้เหล็ก   ใช้เป็นยาคลายเครียดและนอนหลับ
          บางกอกโพสต์ ลงบทบรรณาธิการว่ารัฐมนตรีสาธารณสุขคนปัจจุบัน (นายวิทยา แก้วภราดัย) กล่าวว่าประเทศไทยจะไม่ทำ CL อีก   เป็นวิธีต่อสู้ของบริษัทยา
          ราคายาในประเทศไทยสูงกว่า ใน international reference price ทั้งหมด   ยาที่หมดสิทธบัตรแล้ว ราคายา original ก็ยังสูง  
          มี กม. ควบคุมราคายา ดำเนินการโดย ก. พาณิชย์   เขาอยากทำ   แต่ติดที่การเมือง    ก. พาณิชย์กำหนดให้บริษัทยาติดราคาตามที่ตนขาย   ไม่ได้ต่อรองราคา 
          USTR ปี ๒๕๕๒ ประกาศ ๓๐๑  ว่าเคารพประกาศโดฮา ด้าน TRIPS กับสาธารณสุข   และยอมรับว่าประเทศสมาชิก UN มีสิทธิทำ CL  แต่ก็อยากให้เจรจาต่อรองกันก่อน  
          หัวใจคือ การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย   การรู้จักใช้ยาอย่างเหมาะสม   เวลานี้ในภาพรวมเราใช้ยามากเกินจำเป็น  


          ผมเห็นภาพนักต่อสู้เพื่อการเข้าถึงยา เพื่อผลประโยชน์ของคนไทย   รศ. ดร. ภญ. จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์   นพ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล   นพ. วิชัย โชควิวัฒน์   นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ   นพ. มงคล ณ สงขลา  
          ท่าทีของนักการเมืองมีความหมายมาก   ถ้ามีจุดยืนว่าจะทำ CL ถ้าต่อรองราคาไม่ได้   การต่อรองราคากับบริษัทยาจะง่ายขึ้น   จนอาจไม่ต้องทำ CL   ดังกรณีประเทศบราซิล   มีคนพูดถึงคุณภาพของนักการเมืองไทย   ว่านักการเมืองบราซิลรักชาติมากกว่านักการเมืองไทย
          ทิศทางพัฒนายาในประเทศ ที่มุ่งพัฒนายาใหม่  อาจผิด   น่าจะเน้นพัฒนายาชื่อสามัญ (generic drug)   เพราะเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมยาในประเทศง่ายกว่า    เวลานี้คุณภาพของโรงงานยาในประเทศดีขึ้น ขับเคลื่อนโดยขบวนการ GMP   แต่ ๗๕% ของโรงงานยา เป็นโรงงานขนาดเล็ก  
          แนวโน้มมูลค่านำเข้าสูงขึ้น มูลค่าผลิตในประเทศลดลง   จนเวลานี้มูลค่านำเข้า มากกว่ามูลค่าผลิตในประเทศ   เป็นสัญญาณอันตรายการครอบงำโดยบริษัทข้ามชาติ   ในอินเดียก็มีสัญญาณที่บริษัทข้ามชาติเข้าไป    ยังเหลือจีน
           พรบ. สิทธิบัตร ปี ๒๕๓๕ มีผลต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศ   ขณะที่อินเดียไม่แก้   ตอนนั้นอุตสาหกรรมยาไทยดีกว่าอินเดีย   เวลานี้อินเดียดีกว่ามาก   เราไม่ฉลาดที่ยอมให้มี Evergreening patent   ระบบเว็บไซต์ของกรมทัพย์สินทางปัญญาเป็นภาษาไทยทำให้ค้นไม่ได้
          ๒๕๔๕ พรบ. ความลับทางการค้า (data exclusivity)
          เราเพลี่ยงพล้ำทางระบบอุตสาหกรรมยา   ถูกบีบให้อ่อนแอลง โดยฝีมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ   แนวโน้มการผลิตยาภายในประเทศลดลง จนเวลานี้ ยาที่ใช้ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ   เป็นแนวโน้มที่น่าตกใจ   ว่าความสามารถในการพึ่งตนเองด้านยาของประเทศไทยลดลง    จากการจัดการระบบยาที่ผิดพลาดของประเทศ    ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ตระหนักว่าการทำหน้าที่ของตนมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศเพียงไร


          ประเวศ : น่าจะมี research fellow ระบบยาไปอยู่กับจิราภรณ์   มีนักกฎหมาย  เศรษฐศาสตร์    ผลงานวิจัยบอก public   ไม่ใช่บอกนักการเมือง   ต้องมีการวิจัยระบบยา เป็นเครือข่ายของคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ 


          ส่วนตัวผม อยากเห็นบรรยากาศที่เห็นอกเห็นใจกัน  เข้าใจผลประโยชน์ที่เหมาะสมของกันและกัน  บนพื้นฐานข้อมูลและความรู้   และรู้เท่าทันความโลภและเล่ห์กลมนุษย์ที่แฝงเร้น   เช้าวันนี้ผมได้เรียนรู้มากจริงๆ

 

วิจารณ์ พานิช
๑๓ พ.ค. ๕๒


         

หมายเลขบันทึก: 262669เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2009 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • อ่านแล้ว
  • คิดถึงยาสมุนไพรชุดนี้จังเลยครับ
  • 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา, ตะไคร้หอม, ขมิ้นชัน, ขิง, ข่า, ดาวเรือง, สาบเสือ, กากเมล็ดชา, พริก, ขึ้นฉ่าย, ชุมเห็ดเทศ, ดองดึง, และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตราย 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท