เสียดาย..นิทานร้อยบรรทัด..ที่หายไป(๑)


เสียดาย..หนังสือทองของฉัน

 

นิทานร้อยบรรทัด 

เรื่อง "คนไทยต่างรักเคารพท่าน"

สองพี่น้อง  เรียกวิหค  นกที่รัก

"วันนี้ไย  ไม่ร้องทัก  ทีเหงาหงอย

นกร้อง "โธ่!  โอ้อกข้า!   พี่มาคอย

นึกว่าสาย  อีกหน่อย  ถึงจะมา

ไยวันนี้  พี่ตื่น  ก่อนเช้าตรู่

รีบไปดู  งานอะไร  อีกเล่าขา

เด็กว่า "งาน  วันนี้  มีประชา

ทุกถ้วนหน้า  ไปชุมนุม  ประชุมกัน

ที่พระรูป  พระปิยะ  มหาราช

เออ! หน้าตื่น  นึกประหลาด  ละซีนั่น"

นกว่า "จริง  ยิ่งกว่าตื่น  ซ้ำตื้อตัน

เพราะเห็นโลก  ไม่กี่วัน  มานี่เอง

ฟังนกตอบ  เด้กชอบ  หัวเราะร่า

เอื้อมมือคว้า  เข้ามากอด  "เจ้าพลอดเก่ง"

นึกว่าดี  แต่จำเรียง  สำเนียงเพลง

แท้ก็เก่ง  ทั้งคารม  สมที่รัก

สมเด็จพระ  ปิยะ  มหาราช

องค์ในหลวง  ของชาติ  จงประจักษ์

ไทยทั่วถ้วน  ต่างถวาย ความจงรัก

สมัยที่ทรง  ปกปัก  ประชากร

เมื่อสิ้นบุญ  เหมือนเดือนดับ  ลาลับโลก

ต่างก่นโศก  สร้างสุข  สโมสร

เหมือนหนึ่งบุตร  คราวคลาด  ขาดบิดร

วุ่นอาวรณ์  ไม่วาย  คลายคำนึง

วันนี้แหละ  คล้ายวัน  สวรรคต

๒๓ ตุลาคม  กำหนด  เวียนมาถึง

ไทยทั้งชาติ  พรักพร้อม  น้อมรำพึง

ในพระคุณ  อันซึ้ง  ติดตรึงใจ"

นกถามว่า  "พระคุณ  การุญนั้น

มีต่อพี่  และฉัน  เป็นไฉน

อายุเรา  กับยุคนั้น  ห่างกันไกล

หรือประทาน  อะไรไว้  เป็นชิ้นอัน"

เด็กว่า "มี มรดก  ตกมาถึง

นับเป็นหนึ่ง  ยากหา  ค่ามหันต์

คือโรงเรียน  แหล่งวิชา  สารพัน

อีกทั้งครู  สร้างสรรค์  ไว้สอนเรา

เด็กทั้งชาติ ได้เรียน รู้เขียนอ่าน

จนแตกฉาน  เติบโต  ไม่โง่เขลา

ได้ดิบดี  เหมือนเหมือน เพื่อนผู้เยาว์

ไม่อายเขา  บรรดา  เด็กสากล"

นกถามว่า  "มีอะไร  ที่ให้นก

ช่วยหยิบยก  ให้ฟัง  ยังฉงน

พบแต่ความ  เปล่าเปลี่ยว  เที่ยวบินวน

คอยหลีกภัย  ให้พ้น  ไปวันวัน"

เด็กหัวร่อ  "ก็เดี๋ยวนี้  มีคนรัก

น้อยหรือพี่  ฟูมฟัก  ไม่เดียดฉันท์

นกว่า "แน่  ละพี่  ดีครามครัน

มีจิตมั่น  เมตตา  เปี่ยมปรานี"

เด็กว่า "พี่  ดีเพราะใคร  รู้ไหมเล่า

ที่คอยเฝ้า  ปั้นปลุก  ทุกวิถี

ให้รู้จัก  ผิดชอบ  กอปรกรรมดี

ดั่งที่พี่  รักเลี้ยงเจ้า  เฝ้าเอ็นดู

นกว่า "เพราะ  พี่ได้เรียน  ได้เขียนอ่าน"

เด็กว่า "แล้ว ใครล่ะท่าน ผู้ก่อกู้

ให้มีที่  สอนสั่ง  มีทั้งครู"

นกร้อง "อ้อ!  อ้อ! รู้  ละทีนี้

เป็นพระคุณ  ที่ทรงสร้าง  ในทางอ้อม

ฉันขอน้อม  สักการะ  ร่วมกะพี่"

เด็กปลื้มใจ  "ชะ! ชะ! ช้า!  น้องข้าดี

ถึงเป็นนก  ก็ยังมี  กตัญญู

พี่มีเพลง  สดุดี  ที่เคยร้อง

ทั้งเนื้อถ้อย  ททั้งทำนอง  เสนาะหู

เจ้าอยากฟัง  ก็มาลอง  ร้องกันดู"

นกตีปีก  "ฉันจะคู  คลอพี่ไป"

เด็กเริ่มขับ  "ข้าทั้งมวล  หวนละห้อย

โอ้บุญน้อย  มิได้พบ  สบสมัย

มหาราช  สยามินทร์  ปิ่นไผท

เพียงแต่ได้  ยินพระยศ  ปรากฏเกียรติ์

ว่าทรงรัก  ราษฎร  อาวรณ์หวัง

ให้สยาม  อยู่ยั้ง  สถิตเสถียร

อุปสรรค  นานา  นับอาเกียรณ์

ทรงพากเพียร  ผ่านพ้น  เพื่อคนไทย"

นกร้อง "ชะ!  ช้า! ช้า!  พี่ข้าเก่ง

ช่างทำเพลง  ราวกับมี  ปี่ไฉน

ได้ฟังเสียง  ของพี่  เข้าทีไร

ก็จับอก  จับใจ  ไปหลายวัน"

แมวได้ยิน  เสียงคู  "จู้กูฮุก"

นึกสนุก  วิ่งเข้ามา  "ช้า! ขยัน

พอเช้าตรู่  ก็ทำเพลง  เร่งตะวัน

เล่นเอาฉัน  ต้องตื่นตา  มาช่วยคู

ยินคุณแม่  ว่าจะไป  ไหว้พระรูป

ท่านเตรียมธูป  เทียนดอกไม้  ไว้งามหรู

มะลิร้อย  ห้อยจำปา  น่าเอ็นดู

มีพวงเล็ก  ของคุณหนู  อยู่ด้วยนะ"

เด็กว่า "เจ้า  เอาแต่นอน  สอนไม่เชื่อ

คนเกียจคร้าน นอนไม่เบื่อ ช่างเหลือหละ

แมวว่า "อ้าว  คุณหนู  รู้ไหมคะ

ว่าฉันน่ะ  ระวังหนู  อยู่ค่อนคืน

คุณหนูนอน  ตั้งไหนไหน  แล้วไม่รู้

แต่นางแมว  ยังอยู่  นั่งตาตื่น

นั่งแล้วเดิน  วนเวียน  แล้วเปลี่ยนยืน"

เด็กว่า "เจ้า  ละคอยขืน  ขัดร่ำไป

จะนอนดึก  หรือหัวค่ำ  เหลื่อมล้ำหน่อย

ก็ต้องค่อย  รีบตื่น  ฝืนให้ได้

หากงัวเงีย  ก็หักห้าม  อย่าตามใจ

พอสักหน่อย  เป็นนิสัย  ไม่ยากเย็น"

แม่ได้ยิน  ลูกน้อย  จ้อยจ้อยขาน

เดินเข้ามา  หลังบ้าน  พอแลเห็น

"ไปเถอะลูก  สายจะร้อน  ค่อนลำเค็ญ

เดี๋ยวค่อยกลับ  มาเล่น  กันต่อไป"

จบนิทานร้อยบรรทัด  เรื่องที่ ๓

หนังสือนิทานร้อยบรรทัด เล่ม ๒

เรื่อง บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ ๒

ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓

ของกระทรวงศึกษาธิการ

พิมพ์ครั้งที่ยี่สิบห้า(เพิ่มเติมครั้งที่ ๒) ๑๓๐,๐๐๐ เล่ม  พ.ศ.๒๕๒๒

ปกราคากระดาษ ราคาเล่มละ ๑.๗๕ บาท

กระทรวงศึกษาธิการ

ประกาศอนุญาตให้ใช้หนังสือนิทานร้อยบรรทัดในโรงเรียน

เพื่อสอนอ่านวิชาภาษาไทย  ณ วันที่ ๑๘ เมษายน  ๒๕๐๑

นานมากถึง ๒๑ ปี

ที่ใช้หนังสือนิทานร้อยบรรทัดในการสอนอ่านภาษาไทย

ตั้งแต่หลักสูตร พ.ศ.๒๕๐๓-หลักสูตรพ.ศ. ๒๕๒๑

หลากหลายคุณค่าของนิทานร้อยบรรทัด

ใช้ฝึกหัดอ่านออกเสียง

อ่านเป็นบทท่องจำ

อ่านจับใจความ

ฝึกการคิดวิเคราะห์

หาวรรคทองต้องใจ

ใช้เรียนความรู้หลักเกณฑ์ทางภาษา

หาคำที่สะกดตามมาตราต่างๆ   อักษรนำ

คำควบกล้ำ   คำใช้สระต่างๆ   คำประ-ไม่ประวิสรรชนีย์    หาคำราชาศัพท์

ฝึกเขียนคำ  ประโยค  ข้อความ  เขียนสร้างสรรค์

คัดลายมืองาม  ตัวบรรจงเต็มบรรทัด  ตัวบรรจงครึ่งบรรทัด

สอนคุณธรรม  จริยธรรม  คุณลักษณะอันพึ่งประสงค์

ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์  รักความเป็นไทย

ฯลฯ

 

เสียดาย..นิทานร้อยบรรทัด..หายไป

เล่มนี้..เป็นเล่มเดียวที่เหลืออยู่

หนังสือทองของฉัน

วัชราภรณ์ วัตรสุข

๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 262572เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2009 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

หนังสือทุกเล่มมีคุณค่าเสมอค่ะ..ไม่ว่าเวลาจะผ่านไป

ดูแลตัวเองนะคะ

ขอบคุณค่ะ

เก็บกล้วยไม้มาฝากค่ะ  :)

สวัสดีค่ะ

มาทักทายพร้อมดอกไม้สวยๆค่ะ

สวัสดียามเช้าค่ะ...

      หนูนี่ตามอะไรไม่ค่อยทันจริงๆเรื่องวิชาการนี่ แม้จะเป็นของเก่าๆ

   นิทานร้อยบรรทัดมีอยู่ในหนังสือภาษาพาที ป.2 เรื่อง ข้าเป็นลูกคุณแม่ด้วยก็ได้...

   เพิ่งรู้นะคะว่ามี ตอนที่2ด้วย อิ..อิ... มีภาพหนังสือให้ดูด้วย เพิ่งเคยเห็นค่ะ

   ดีจัง  มีแนวการสอน การนำไปใช้ให้ด้วย 

   หนูสอนของ ป.2 บางทีก็ไปไม่ถูกเหมือนกันค่ะ อิ..อิ...

   ได้แนวแล้ว ดีใจๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

        .. ^___^..

เห็นแล้วนึกถึงอดีต..อันแสนหวานที่เคยเรียนหนังสือเหล่านี้

สวัสดีค่ะ

  • นิทานร้อยบรรทัด..สมชื่นนะคะ
  • ได้ตระหนักด้านคุณธรรม จริยธรรม ความเมตตากรุณา
  • ขอขอบคุณน้องอ้วนค่ะ
  • ทักทายกัน...ได้นิดหน่อย
  • จะไปโรงเรียนแล้วค่ะ

สวัสดีค่ะ ศน.อ้วน  คนเก่ง

  • สองพี่น้อง  เรียกวิหค  นกที่รัก

    "วันนี้ไย  ไม่ร้องทัก  ทีเหงาหงอย

    นกร้อง "โธ่!  โอ้อกข้า!   พี่มาคอย

    นึกว่าสาย  อีกหน่อย  ถึงจะมา..

  • พี่เหมียวจำวรรคนี้ได้แม่นเลยค่ะ เพราะว่ามีคำว่า วิหค  ทำให้คิดถึง นิ่ม นิด หน่อย น้อย  ลูกของนกกางเขนตัวผู้ตัวหนึ่ง เกาะอยู่บนกิ่งไม้ ไงคะ

  • คิดถึงนิทานร้อยบรรทัดค่ะ

  • จะพยายามนำมาสอดแทรกกับการเรียนการสอนให้เด็ก ๆยุคนี้ค่ะ

ด้วยรัก...พี่เหมียว

สมัยปอสามหรือปอสี่นี่แหละ ผมเรียนอยู่นะครับ อ่านเพลิน สนุก

คิดถึงหนังสือชุดนี้เช่นกันนะคะ ศธ.น่าจะพิจารณานะ เด็กรุ่นเก่าทำไมยังจำเนื้อหาในหนังสือนี้กันได้แม่นยำเรียน เนื้อหาไม่ต้องมากมายสอดแทรกความเป็นไทยๆ ศีลธรรมคุณธรรมในตัว แต่หลักสูตรทันสมัยที่ปรับเปลี่ยนบ่อยๆนี้ เด็กจึงไม่เคยจดจำ

ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะเคยเรียนตอนอยู่ป.1 หรือ ป.2 นี่แหละ รบกวนช่วยหาให้ด้วยครับ คิดว่าน่าจะอยู่ในนิทานร้อยบรรทัดครับ

"ระลึกรู้สึกตัวชาวไทยทั่วอย่ามัวรอ

จงร่วมรวมใจคอขอให้ช่วยทำด้วยกัน

บำรุงปรับปรุงแต่งท้องถิ่นแหล่งแห่งเราพลัน

ด้วยความงามครบครันทุกสิ่งอันทันสมัย

ตึกรามงามสูงค่ารู้รักษาอนามัย

ร่มรื่นแช่มชื่นใจเป็นสถานบ้านเมืองเรา"

  • เข้ามาอ่านกลอนตอนวัยเยาว์
  • ยาวจัง
  • แต่ความหมายดีจริงๆ

   หนังสือเล่มนี้เริ่มใช้พี่ยังไม่เกิด  อิอิ

เคยเรียน นิทานร้อยบรรทัดเหมือนกันค่ะ

แสดงว่าเป็นคนรุ่นเก่าใช่ไหมคะ อิอิ..

ท่องจนจำได้เลยค่ะ

มีอีกเล่มนะคะ แบบเรียนเร็วใหม่ ก็น่าเสียดายเหมือนกัน

คิดถึงพี่สาวเสมอค่ะ

  • จากประสบการณ์การเรียนในวัยเด็ก และการเป็นครูสอนมาร่วม  40  ปี มีความเห็นว่า การเรียนการสอนภาษาไทยตามแบบโบราณ น่าจะเหมาะสมกับธรรมชาติของภาษาไทยมากกว่าวิธีการที่ใช้กันในช่วงหลัง ๆ    

                 "วิธีการตามแบบโบราณ...ที่เริ่มจากรู้จักตัวอักษร 
             (
พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ ตามลำดับ) หัดประสมคำ ...
           
และผันตามเสียงวรรณยุกต์ เป็นต้น ตามแบบหนังสือแบบ
           
เรียนเร็ว ซึ่งเข้าใจว่าผู้แต่งปรับมาจากหนังสือแบบเรียน
           
โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย  อาจารยางกูร) ซึ่งก็คงปรับ
           
มาจากหนังสือเรียนภาษาไทยรุ่นก่อน ๆ อันมีหนังสือ
           
จินดามณีเป็นต้นเค้าของวิธีการเรียนการสอนภาษาไทยของ
           
เรา

  • พออ่านออกแล้วก็ไปอ่านหนังสือ นิทานร้อยบรรทัด  อ่านกันดัง ๆ เพื่อนอ่านตามดัง ๆ ในโรงเรียนมีเสียงอ่านแบบนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน  บทอาขยานก็ท่องกันดัง ๆ ตอนเย็น ๆ สูตรคูณก็ท่องกันดัง ๆพร้อม ๆกันทั้งชั้นตอนเย็น ๆ   จำได้ว่าเมื่ออยู่ชั้น ป.1 ป.2 ป. 3 จะได้ยินรุ่นพี่ป.4 ท่องบทกลอนเรื่องสังข์ทอง  ฟังอยู่สามปี  พอขึ้นป. 4 ก็ท่องได้โดยที่ยังไม่เคยอ่านหนังสือเรื่องนี้เลย
  • อานิสงส์ที่สำคัญของการท่องอาขยาน หรือบทกลอนที่เพราะ ๆดัง ๆกันชั่วนาตาปีอย่างนี้  ทำให้เด็ก ๆ ซึมซับรับเอาท่วงทำนองกลอนเข้าไปอย่างไม่รู้ตัว  รู้สึกว่าเด็ก ๆรุ่นผมจะมีความสามารถในทางฉันทลักษณ์มากกว่าเด็กรุ่นหลัง ๆที่เขาเลิกให้ท่องดัง ๆแล้ว  การเรียนรู้ท่วงทำนองกลอนเป็นพื้นฐานที่สำคัญนำไปสู่การเรียนรู้ และมีความสามารถในการประพันธ์ฉันทลักษณ์แบบอื่น 
  •  อยากจะชักชวนให้หันกลับไปใช้วิธีสอนภาษาไทยแบบเดิม ๆกันอีก คิดว่าจะช่วยให้เด็ก ๆอ่านหนังสือแตกฉานกว่าวิธีที่เอาอย่างฝรั่งมา

                                              paaoobtong
                                                  22/05/52 
                                                      23:26 

  • สวัสดีเจ๊าน้องอ้วน
  •  เห็นหนังสือแล้วกึ๊ดเติงหาต๋อนเป๋นนักเรียน
  • มีความสุขแบบธรรมชาติ สดใส วัยใส
  • หนังสือเก่าๆยิ่งมีคุณค่าน้อเจ๊า

เสียดายนิทานร้อยบรรทัดนี้มากค่ะ

ขอบคุณน้องสายธารมากค่ะ..

สำหรับกำลังใจ..พร้อมดอกไม้แสนสวย

เช่นกันค่ะ..ดูแลตัวเอง..

คนรักการอ่านเช่นกัน

 

ขอบพระคุณพี่แดงมากค่ะ..

ดอกไม้สวยมากค่ะ

ที่บ้านพี่แดงคงสดชื่น  งดงามมากนะคะ

ครูตุ๊กจ๋า..

ดีจัง..ตามผู้เฒ่าให้ทันเด้อค่า...

ดีใจๆๆ..ครูตุ๊กได้แนวทางไปใช้งานด้วย

ทำให้ศน.อ้วนคิดออกเช่นกันค่ะ

จะพยายามหากิจกรรมจากหนังสือทอง..มาฝากเยอะๆนะคะ

 

 

  • ชอบเรียนวิชาภาษาไทยมากค่ะ
  • ชอบอ่านนิทานร้อยบันทัด  ชอบท่องบทอาขยาน  ชอบ...ชอบ...ความงดงามของภาษาไทย
  • ขอบคุณนะคะที่มารำลึกความหลังให้ฟัง

พี่คิมขา..

อิอิ..พี่คิมต้องทันได้เรียนได้สอนแน่ๆเลยใช่ไหมคะ

นิทานร้อยบรรทัด..

"ร้อยบรรทัดทอง" ..ทีเดียวละค่ะ

ขอบคุณพี่คิมค่ะ

 

พี่เหมียวจ๋า..

"ร้อยบรรทัดทอง"  กับ นกกางเขน  นี่พี่น้องกันนะคะ..

ยิ่งหวนคิด..ยิ่งมองเห็นคุณค่าค่ะ..

น้องจะพยายามอย่างมากในการพลิกฟื้นบอกกล่าวให้คุณครูภาษาไทยนำกลับมาใช้ในการเรียนการสอนค่ะ

หนึ่งในนั้น..ขณะนี้พี่เหมียว..ครูตุ๊กแก..อย่างน้อยก็ ๒ สัญญาแล้ว

อิอิ..

ขอบคุณพี่เหมียวค่ะ

 

สวัสดีครับท่านศน. อ้วน เอานิทานร่วมสมัย (สมัยศตวรรต) ชอบๆๆๆๆ แต่ผู้เฒ่ามาสมัย เจ้าเป้าพออายุได้เก้าปีบิดาก็เสียตา

หรือ ตาคำแกทำนากับเมียแก แกมีวัวห้าตัว....ขอบคุณมากๆ จะท่องให้จำแล้วเอาไปใช้แทนเพลงเวลาเขาให้รัองเพลงครับ

P

 

ขอบพระคุณท่านรองมากค่ะ..

อ่านเพลิน  สนุก และยังอยู่ในความทรงจำ

แสดงว่าเป็นบทเรียนที่ดีนะคะ..ศน.อ้วนก็ยังคงจำได้เช่นกันค่ะ

จะพยายามนำมาเผยแพร่และพลิกฟื้นค่ะ..

ขอบคุณคุณครูพิษณุโลกมากค่ะ..

ที่ร่วมรำลึกและซึมซับถึงคุณค่าของนิทานร้อยบรรทัด

เป็น "ร้อยบรรทัดทอง" จริงๆนะคะ

สอนทุกอย่าง ทั้ง K A P

เรามาร่วมกันเสาะหาและนำกลับมาใช้ใหม่นะคะ..

หนูพยายามนึกก็นึกไม่ออกว่าเคยเรียนหรือไม่ คิดว่าคงเกิดไม่ทัน แต่เนื้อเรื่องสนุกดีค่ะ แต่ก็อดนึกย้อนไปถึงตอนเรียน ป.3/ป.4 ตอนคุณครูมีประชุม นักเรียนทั้งชั้นจะนั่งท่องตะโกนเสียงดัง เรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งแว่วประมาณว่า้ ...อันว่าพระลักษณ์สุริยะวงศ์ ยังไม่คงชีวันสังหาร...

ครูรสจ๋า..

ครูรสอาจไม่ทันเรียนค่ะ

แต่ต้องทันสอนแน่ๆ..เพราะยังคงอยู่ในหลักสูตร ๒๑ ด้วย

แต่ค่อนข้างไม่ได้รับการเน้น/ส่งเสริมแล้ว

สำหรับบทท่อง..เรื่องรามเกียรติ์..ที่ครูรสจำได้นั้น เป็นหลักสูตรภาษาไทย ๒๕๒๑ ค่ะ

ศน.อ้วนก็ให้เด็กท่องสนั่นห้องก่อนกลับบ้านทุกวัน..ค่ะ

ขอบคุณครูรสที่เข้ามาเยี่ยม ..มาอีกนะคะ

เจ้าของบ้านจะรอค่ะ..

..อิอิ..ลัดคิวอีกแล้ว ขอโทษๆ..ค่ะ

P

 

ขอบคุณค่ะ..ที่สนใจนิทานร้อยบรรทัดเช่นกัน

ยังหาไม่เจอค่ะ..สำหรับตอนนี้..

จะลองหาอีกนะคะ

ขอบคุณน้องเขี้ยวจ้ะ..

หนังสือเล่มนี้พิมพ์นานนนนนน..มากค่ะ

แต่น้องเขี้ยวทันได้ใช้อยู่ค่ะ

เพราะใช้ในหลักสูตรของชาติ ทั้ง หลักสูตร ๒๕๐๓ และ ๒๕๒๑ ค่ะ

พี่อ้วนได้เรียนและได้สอนดัวยแหละ..

(อิอิ..ไม่ต้องบอกนะคะว่าเฒ่าแก่แค่ไหน..)

ขอบคุณค่ะ..

ขอบคุณ..กัลยาณมิตรทุกท่านค่ะ..

  • ขอบคุณน้องนก..ที่ร่วมย้อนรอย..กับคนรุ่นเก่าค่ะ อิอิ
  • พี่อ้วนมีอยู่ค่ะ..แบบเรียนเร็วใหม่..แล้วจะเอามาบอกเล่าค่ะ
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์ผอบทองมากค่ะ..
  • ท่านอาจารย์ทำให้ย้อนมองเห็นภาพชัดเชียวค่ะ
  • เคยให้นักเรียนท่องเสียงดังมากค่ะ..ทุกเย็น
  • ยามค่ำ..เด็กๆอยากกลับบ้าน ..เก็บโต๊ะเก็บหนังสือไป..ปากก็ตะโกนท่องไปด้วย  ท่องทุกบททุกตอนทุกอย่างที่ครูบอกให้ท่อง
  • จนจำขึ้นใจได้นั่นแหละค่ะ..
  • ขอบคุณในการชักชวนของอาจารย์ค่ะ..
  • กำลังภาวนาให้คุณครูที่มีโอกาสได้เข้ามาอ่าน..ได้นำไปฝึกเด็กๆด้วยค่ะ..สำหรับวิธีการดีๆ ของคนรุ่นเก่า

 

ขอบคุณพี่เอื้องมากค่ะ..

พี่เอื้องขา..ของเก่า..คนเก่าๆ.ก็ยิ่งมีค่านะคะ..อิอิ

 

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ศศินันท์มากค่ะ..

เสียดายเช่นกันค่ะ..เสียดายมากๆๆๆๆ

กำลังบอกเพื่อนๆครูค่ะ..ว่าเสียดาย

จะช่วยกันอย่างไรในการนำกลับมาใช้ใหม่อีกค่ะ

ที่บ้านมีครบชุดเลยครับ แต่ปกมันเยินหมดแล้ว

ป.2 บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 1

ป.2 บ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ 2

ป.4 ครูที่รักเด็ก (นำแสดงโดย อ้อย เอื้อน ตุ้ม ตุ๊)

ป.5 ประเทศเล็กที่สมบูรณ์

ป.6 ตระกูลไทยที่คงไทย

ป.7 ประชาธิปไตยที่ถาวร

หนังสือเก่าๆ แบบเรียนแบบเดิมๆ เช่น มานี ชูใจ เป็นหนังสือที่ดีมาก สอนทั้งหลักภาษา การใช้คำ สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย

แต่ปัจจุบัน ได้ปรับปรุง ปรับเปลี่ยน หนังสือใหม่ ไม่ค่อยจะเน้นเรื่องของหลักภาษา เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เด็กก็เกิดความสับสน

เปลี่ยนมาใช้มานีชูใจแบบเดิมท่าจะดี ถึงจะเก่า แต่เข้าใจง่าย เรียนรู้ได้เร็ว... ดีกว่ามั้ยคะ

อ่านแล้วคิดถึงสมัยเรียน ตอนนี้เป็นคุณครูแล้ว ก็อยากให้นักเรียนได้อ่านและเก็บความทรงจำที่ดีไว้บ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท