งานส่งเสริมการเกษตร งานบริการที่ไร้พรมแดน


ทฤษฎี ไหนจะสู้การปฏิบัติ

จากที่เคยอ่านบันทึก  ส่งเสริมการเกษตรข้ามจังหวัด ของสิงห์ป่าสัก  วันนี้ผมกลับเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กันจึงนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

          ได้รับการติดต่อ ประสาน มาจาก คุณนิมิตรชัย  ชัชวาลย์ (คุณมิตร) หนุ่มใหญ่จากอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าสนใจจะมาศึกษาดูงานด้านการปลูกผัก ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เขาปลูกเป็นอาชีพ มีที่ไหนบ้างพอจะอำนวยความสะดวกให้หน่อยได้หรือไม่  เขาบอกว่าเคยเข้าไปอ่านใน G2K ของหนุ่มร้อยเกาะ แล้วเห็นว่าเคยแนะนำเกษตรกร รายที่เด่น ๆ ไว้หลายราย

          ผมเลยรับปากไว้ว่าจะประสานงานให้ จึงประสานไปยัง สำนักงานเกษตรอำเภอพุนพิน และพี่ยีน(คุณชาญณรงค์ พังงา)นักวิชาการผู้รับผิดชอบ ตำบลท่าข้าม พี่เขาได้กรุณานัดแนะกับเกษตรกรผู้ปลูกผักไว้ให้

          วันที่ 19 ก.พ. 52 คุณมิตรพร้อมคณะ 5 คน ก็เดินทางมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช นัดพบกันที่สำนักงานเกษตรอำเภอพุนพิน ท่านเกษตรอำเภอ คุณสมชาย กะณะโกมล และทีมงานให้การต้อนรับและนำคณะไปที่ ศูนย์การเรียนรู้การเกษตรพอเพียงบ้านบางท่าข้าม หมู่ 3 ตำบลท่าข้าม ไปถึง พี่สมพล ไทยบุญรอด ตัวแทนกลุ่มผู้ปลูกผัก รอต้อนรับคณะอยู่แล้วและได้สาธยาย การดำเนินงานของกลุ่มให้ฟังซะยาวเลย

 

  

          กลุ่มปลูกผักบ้าน บางท่าข้าม แห่งนี้ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี (ห่างประมาณ 2 กิโลเมตร) มีสมาชิก กลุ่มประมาณ 50-60 ครอบครัว เมื่อก่อนเป็นชาวจังหวัดราชบุรี กันทั้งกลุ่ม ได้มาอยู่ที่นี่เมื่อ 20-30 ปี มาแล้ว ตอนมาใหม่ ๆ มาทำสวนส้ม ทำได้ 3-4 ปี พอเข้าฤดูฝน ตอนที่ยังไม่มี เขื่อนรัชชประภา น้ำมาท่วมสวนส้มเสียหายหมด กลับบ้านที่ราชบุรีก็ไม่ได้ เพราะขายที่ขายทางมาหมดแล้ว จึงต้องเปลี่ยนอาชีพ หันมาปลูกผัก เพราะจะหนีน้ำได้ ตั้งแต่มีเขื่อน น้ำก็ไม่ค่อยท่วมหนักๆแล้ว และประกอบกับมีถนนสายใหญ่ 4 เลน ตัดผ่าน ทำให้ชะลอน้ำไว้ได้เยอะ มีผลดีกับคนที่อยู่ด้านใต้ถนน แต่กับคนที่อยู่ด้านเหนือถนน ก็จะเจอกับน้ำที่ระบายไม่ทันเหมือนกัน

          ในกลุ่มฯ มีพื้นที่รวมประมาณ 350 ไร่ พืชผักที่ปลูกคือ พริก (ยอดสน) คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว แตง  ขายส่งที่ ตลาดโพธิ์หวาย ในตัวเมืองสุราษฎร์ และมีพ่อค้าคนกลางมารับไปส่งที่จังหวัดภูเก็ตบ้าง คุยได้สักพัก ท่านเกษตรอำเภอและพี่ยีน ขอตัวกลับเพราะมีภารกิจที่อำเภอ

จากนั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้มาดูงานสนใจ  คุณมิตรและคณะ ยิงคำถามเป็นชุด ๆ ในเรื่องที่เจอปัญหามาจากที่บ้าน และเรื่องที่สนใจเพิ่มเติม และชวนกันเดินเข้าไปในแปลงผัก คุยกันไปด้วย ดูของจริงไปด้วย  

 

 

การตัดสินใจเลือกชนิดพืชผักที่จะปลูก ต้องดูตลาดเป็นหลัก วางแผนเรื่องน้ำ ทั้งขาดน้ำ และน้ำท่วม ต้องดูแลดินอย่างดี ปรับปรุงดิน การใส่ปุ๋ย การตากดิน การใส่โดโลไมท์  ถ้าให้ดีต้องเอาดินไปวิเคราะห์เพื่อจะได้เลือกใช้ปุ๋ยได้ถูกต้อง ไม่สิ้นเปลือง พืชผักเป็นพืชที่ทำเงินดี แต่ปลูกซ้ำแปลงไม่ได้ ต้องสลับ ด้วยพืชอื่น 1 ครั้งก่อน

คะน้ารายได้ต่อพื้นที่ ดีที่สุด ต้นทุน ประมาณ  15-20 %  ของราคา  มะระผลตอนแทนดีกว่าบวบ พืชที่ต้องใช้ค้าง ใช้ตาข่ายแทนค้าง จะให้ผลผลิตดีกว่า เช่นปลูกถั่วแล้วตามด้วยบวบได้   ที่กลุ่มทำพริกขายเมล็ดพันธุ์ด้วย(พริกแดง) ได้ราคาดีกว่าขายพริกเม็ดสด(พริกเขียว-แดง) 50 %

  

                                                                        คุณนิมิตรชัย  ชัชวาลย์

          การปลูกผัก ปัจจัยสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกอย่างหนึ่ง คือ ศัตรูพืช ซึ่งมีทั้งโรคและแมลง การจัดการศัตรูพืชเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ปลูกผักแต่ละครั้ง (รอบ/Crop)  ประสบความสำเร็จ

-          โรคเน่าคอดิน  ต้องตากดินก่อนแล้วปรับปรุงด้วยโดโลไมท์

-          แตงร้าน  โรคราน้ำค้าง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน ต้องใช้สารเคมีเข้าช่วยบ้าง

-          มะระ  มีแต่ยอดไม่มีลูก เป็นไวรัส ไอ้โต้ง มีเพลี้ยไฟ , ไรแดง เป็นพาหะ พบมากในขณะที่มีอากาศร้อนชื้น กึ่งฝนกึ่งแดด

-          ถั่วฝักยาว  หนอนเจาะดูด ทำให้ดอกร่วง ต้องป้องกันก่อนช่วงที่เป็นดอก โรคราสนิม ต้องตัดวงจรการปลูก

-          พริก  โรคกุ้งแห้ง ยังป้องกันไม่ได้ ต้องเตรียมดินดี ๆ  บำรุงดิน

การปลูกพืชผักบางครั้งต้องใช้สารเคมีบ้าง เพื่อตัดวงจรของโรคและแมลง แต่ในการใช้สารเคมีนั้น ก็คำนึงถึง ความปลอดภัย ทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภค  สภาพแวดล้อม และต้นทุนการผลิตด้วย  ในแปลงผักที่นี่ มีความปลอดภัยพอสมควร เพราะยังมีหอยเชอรี่คลานและวางไข่ที่บริเวณร่องน้ำอยู่เลย

กลุ่มปลูกผักบ้านบางท่าข้ามนี้  เคยเป็นโรงเรียนเกษตรกรผักมาก่อน และร่วมกิจกรรมกับทางราชการมากมาย  เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์  แปลงพยากรณ์ศัตรูพืชผัก  เป็นแปลงการเรียนรู้เรื่องการปรับปรุงดินของกรมพัฒนาที่ดิน  พี่สมพลเป็นหมอดินอาสา เป็นประธานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรตำบลท่าข้าม  ช่วยเกื้อกูลงานของทางราชการมาตลอด  พี่สมพลบอกว่า ต้องอาศัยทางราชการในการสนับสนุนกลุ่ม เช่น เงินทุนหมุนเวียน  ที่ทำการกลุ่ม  รถไถเตรียมดิน  วัสดุปรับปรุงดิน  วิชาการต่างๆ   ทั้งจากส่วนราชการและ องค์การบริหารส่วนตำบล

          คุยกันประมาณ 2 ชั่วโมง คุณมิตรและคณะคงจะเก็บข้อมูลได้มากพอสมควรตามที่ต้องการ จึงได้ขอบคุณและขอตัวกลับ  ก่อนจะจากกัน พี่สมพลได้ฝากให้ผมช่วยประสานกับพ่อค้าให้มารับซื้อผลผลิตโดยตรงกับผู้ปลูกผัก เพื่อตัดวงจรพ่อค้าคนกลางให้สั้นลงบ้าง  ผู้บริโภคจะได้ไม่ต้องซื้อผักราคาแพง และผู้ปลูกผักก็จะขายผักได้ราคาดีขึ้นบ้าง  ผมก็ตกปากรับคำว่า จะประสานงานให้ เพราะว่า มีพรรคพวกที่รู้จักกับพ่อค้าที่ตลาดหัวอิฐ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตลาดกลางสินค้าของภาคใต้ แต่ไม่รู้ว่าจะได้ผลแค่ไหน  

 พี่สมพล ไทยบุญรอด

พี่สมพลบอกว่ายินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกท่าน และได้ให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ด้วย 077-311055 ,086-5965211

          เมื่อคุณมิตรกลับถึงบ้านตอนค่ำ  ๆ ก็ได้โทรศัพท์มาขอบคุณผม และบอกว่าการดูงานวันนี้คุ้มค่าจริง ๆ ได้พบกับคัมภีร์การปลูกผักเล่มใหญ่เลย  เพราะพี่สมพลเขาตอบข้อสงสัยของคณะได้ทุกอย่าง รู้เรื่องการปลูกผักละเอียดยิบ แถมยังแซวผมมาว่า นักวิชาการสู้พี่เขาได้หรือเปล่า  ผมก็ต้องยอมรับว่า ทฤษฎี ไหนจะสู้การปฏิบัติ   และหวังว่าจะได้ไปเยี่ยมแปลงผักที่ อำเภอพิปูน นครศรีธรรมราชบ้าง

 

...งานส่งเสริมการเกษตร เป็นงานบริการที่ไร้พรมแดน จริงๆ.. ครับ..

 

ชัยพร  นุภักดิ์

หมายเลขบันทึก: 244028เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2009 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีท่านเกษตร “ทฤษฎี ไหนจะสู้การปฏิบัติ”  สรุปได้ สั้น ง่าย ชัดเจน ครับ

สวัสดีครับ คุณ P หนุ่ม กร~natadee

    • ยอมรับ เพื่อ จะได้ปรับปรุงต่อไป ครับ

สวัสดีท่านเกษตร กลับมาอีกครั้ง การได้เรียนรู้กับ "ตัวจริง เสียงจริง " อย่างคุณสมพล ฯ ซึ่งมีความจริงใจที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับทุกๆคน น่าชื่นชมมาก ฝากขอบคุณและให้กำลังใจท่านด้วย ครับ

นักส่งเสริมเปลี่ยนบทบาทจากผู้แนะนำเป็นผุ้ประสานจริงๆ

แต่คำว่านักวิชาการยังค้ำคออยู่

ยังไงก็ต้อง..เรียนรู้อยู่ร่ำไป....

ขอบคุณมากครัย

  • ตามมาทักทาย
  • ไม่ทราบว่าพี่อบรมบล็อก
  • จะได้รอทักทายเยอะๆๆ
  • ทักทายไปได้ไม่กี่คน

สวัสดีครับพี่ เกษตรยะลา

  • พวกเรา จึงมีชื่อตำแหน่งว่า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร งัยครับ
  • การเรียนรู้ ไม่มีวันสิ้นสุด ครับ

สวัสดีครับ คุณถั่วเขียว

  • พักนี้ ไม่ค่อยเห็นหน้า เห็นตา นะครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

  • แลกเปลี่ยน กับข้าราชน้องใหม่ แค่ 6 คนเองครับ
  • ขอบคุณที่เข้าไปทักทายน้องๆครับ
  • แวะมาเยี่ยมเยียนครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • การทำงานของเรานั้น ไม่มีขอบเขตที่ตายตัวนะครับ
  • อยู่ที่ความสะดวกของเกษตรกร
  • เยียมมาครับ

สวัสดีครับ อ. สิงห์ป่าสัก

  • เกษตรกร เดี๋ยวนี้มีคนเก่งๆเยอะ
  • แต่เรายังค่อยเจอกันแค่นั้นเอง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท