ทำไม.. ครูไทยจึงเหนื่อยนัก ?


เป็น นักเสวยผล โดยไม่นำพากับการเป็น นักสร้างเหตุ ... เลือก-ปรับ-ใช้ ให้เหมาะสม ตามจำเป็นจะโดดเด่น ดีกว่ารับ แบบหลับตา

    พวกเราโชคร้ายที่สบายมานาน  ธรรมชาติที่อุดมในอดีตได้หล่อหลอมให้คนไทยทำอะไร ไม่ต้องจริงจัง ทีเล่นทีจริง  ทำๆหยุดๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร อยู่รอดปลอดภัยเสมอมา  เทียบกับคนชาติอื่นเช่นญี่ปุ่น ธรรมชาติที่โหดร้ายและแปรปรวนได้บ่มเพาะคุณลักษณะที่ยอดเยี่ยมอยู่ในสายเลือด เพราะขืนไม่จริงจังหรือทำอะไรเล่นๆ มันตายเอาได้ง่ายๆ  คนไทยเรานั้นธรรมชาติได้ประเคนความสบายมาให้จนเป็นความเคยชิน  รักสะดวก รักสบายจนกลายเป็นนักบริโภคตัวยงแห่งโลกใบนี้ เป็น นักเสวยผล โดยไม่นำพากับการเป็น นักสร้างเหตุ กันสักเท่าไรเลย  ยิ่งกระแสเทคโนโลยีสารพัดรูปแบบที่ฉาบเคลือบไว้ด้วยเครื่องล่ออันเป็นความรวดเร็ว สะดวก สบาย อย่างเหลือเชื่อ ที่ไหลทะลักเข้ามากับกระแสโลกาภิวัตน์ด้วยแล้ว  ก็เข้าทาง นักบริโภคผู้ยิ่งใหญ่พอดี  ตามซื้อตามหามาใช้กันแบบไม่ลืมหูลืมตา  พร้อมอวดอ้างว่าเป็นความโก้  ความฉลาด ความทันสมัย ผมจึงมีข้อสรุปในใจมานานแล้วว่า  คนเป็นครูในเมืองไทยน่าจะเหนื่อยหนักกว่าครูประเทศใดในโลก  จะทำให้มนุษย์ในดินแดนแห่งนี้ "ใฝ่รู้ - สู้สิ่งยาก" ได้นั้น ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นดอยอินทนนท์กระมัง

    ของฝากที่น่าจะพอไปกันได้กับเรื่องนี้  เขียนไว้นานแล้วครับ ..

   ในกระแส เทคโนโลยี ที่เชี่ยวกราก
สิ่งหลายหลาก ระคนไป ในกระแส
ใครประมาท ขาดความรู้ คอยดูแล
จะต้องแย่ ด้วยพิษภัย ในเทคโน

   ดาบหลายคม ใช่หรือไม่ ใครเห็นบ้าง
อาจสรรค์สร้าง อะไรอะไร ได้มากโข
อาจวายวอด มอดม้วย ด้วยเทคโน
เป็นบัวโผล่ พ้นน้ำ เถิดพวกเรา

   โปรดทบทวน หวนคิด สักนิดหนึ่ง
ก่อนหวังพึ่ง สิ่งใด จากใครเขา
ใช้ปัญญา ตรองดู อย่าหูเบา
หลงเชื่อเขา ง่ายๆ ตายทั้งเป็น

   ควรจะได้ ไตร่ตรอง มองให้รู้
ความจำเป็น มีอยู่ หากมองเห็น
เลือก-ปรับ-ใช้ ให้เหมาะสม ตามจำเป็น
จะโดดเด่น ดีกว่ารับ แบบหลับตา

   ภูมิปัญญา ของไทย ยังไม่สิ้น
ภูมิปัญญา ท้องถิ่น มากนักหนา
ในชุมชน บ้าน-วัด เต็มอัตรา
แสวงหา แต่ของไกล ไม่เข้าที

   ผสมผสาน เก่าใหม่ ให้พอเหมาะ
ร่วมสังเคราะห์ อย่างมีหลัก มีศักดิ์ศรี
อย่าให้เกิน อย่าให้ขาด นั่นแหละดี
จะเป็นที่ ภาคภูมิใจ ไปเนิ่นนาน.

หมายเลขบันทึก: 23135เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2006 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2012 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

     ประเด็นนี้น่าสนใจ "คนเป็นครูในเมืองไทยน่าจะเหนื่อยหนักกว่าครูประเทศใดในโลก" จากประสบการณ์อันน้อยนิดที่ได้รับความไว้วางใจให้ไปทำหน้าที่ครู จะขอ ลปรร.ด้วยนะครับ

     ผมมักจะกลัวความเหนื่อยหนัก ความท้อแท้สิ้นหวัง ความไม่มีแรงขับ เมื่อไปทำหน้าที่จึงวางแผนแก้ความกลัวด้วยการ ผมไม่ไปเป็นครูครับ แต่ผมก็ไปเรียนกับเขาด้วย เพียงแต่พิเศษหน่อยตรงที่ได้หันหน้าไปหาเขา และไม่ได้นั่งกับที่ เนื่องจาก นศ.ที่สอนเป็นข้าราชการเสียส่วนใหญ่ ลามาเรียนต่อ(เนื่อง) ผมเลือกใช้การตั้งประเด็นโจทย์จากวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในคาบถัดไป เป็นการบ้านให้ทบทวนมาเน้นจากประสบการในการทำงาน จากนั้นก็นำมาเปิดเวทีสุนทรียสนทนากัน

     สิ่งที่ได้เห็นในกระบวนการ 1) ไม่มีคนขาดเรียน ยกเว้นที่ลาล่วงหน้า 2) หมดเวลาโดยไม่รู้ตัว และไม่มีใครเก็บของก่อนหมดเวลา 3) อิ่มเอิบทั้งเขา (ผมว่าเอง) และผม 4) ...

ถ้า..ลองเลิกสอนแบบชั้นเรียน

ใช้วิเรียนแบบโบราณ คือส่งลูกไปอยู่กับครู

เรียนเร็วเรียนช้า ไม่ต้องกำหนดด้วยเทอมการศึกษา แต่ด้วยความสามารถของปัจเจกบุคคล ความก้าวหน้าไม่ขึ้นกับข้อสอบเข้าหรือดวงในการจับฉลาก

ครูไม่เหนื่อย นักเรียนได้ความรู้

น่าเสียดายที่ใช้วิธีจัดระบบการศึกษาแยกส่วน เด็กเรียนศิลธรรม ออกไปต่างหากจากวิชาหลัก(เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย) เช้าๆ วิชาจริยธรรมกลับกลายเป็นครูอบรมพูดๆๆๆๆ และพูด

จัดความก้าวหน้าครูที่เอกสารและการไปอบรม

ครูจึงสนุกกับเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อการสร้างเอกสารและสนุกกับไปอบรมกินกาแฟเช้าบ่าย มากกว่าการสอนไปเสียแล้ว

ครูจึงเบื่อและเหนื่อยในการสอน

-ขจิต ฝอยทอง( khajit's blog)
  • ระบบการศึกษาบ้านเราคงได้มีการแก้ปัญหาทั้งระบบ
  • จิตวิญญาณครูหลายคนๆยังมีอยู่ครับ
  • ขอให้คุณครูทุกท่านมีความสุขกับอาชีพที่ประเสริฐนี้นะครับ
   ถ้าครูที่มีจิตวิญญาณทั้งหลายได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่อง KM และนำสู่การปฏิบัติจริงด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง  ทีว่าหนักก็จะกลายเป็นสนุก และความมีชีวิตชีวาจะกลับมาอยู่คู่กระบวนการเรียนรู้ของทั้งครูและนักเรียน  น่าเสียดายที่ครูทีมีจิตวิญญาณความป็นครูสูง จำนวนไม่น้อย ยังถูกครอบงำด้วยกระบวนทัศน์เก่า  มองความรู้ว่าคือสารสนเทศที่ต้องแสวงหา ขยันท่องจำและบอกต่อ  แล้วก็ทุ่มชีวิต สอน สอน สอน ด้วยความทุ่มเทและหวังดีต่อศิษย์อย่างเต็มที่  เห็นศิษย์ทำข้อสอบ  ตอบได้คะแนนสูงๆ ก็สุขใจ  ทั้งที่โดยความเป็นจริงศิษย์ส่วนใหญ่ยังเป็น นักจด นักจำ ที่ไม่ได้มีโอกาสนำสิ่งที่เรียนไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาสักเท่าไรเลย ... กรณีของท่าน ชายขอบ  เคล็ดลับความสำเร็จน่าจะอยูที่ การสามารถปลดปล่อยตัวเองจาก นักสอน (Teacher) มาเป็น ผู้กำกับ (Director) หรือ "คุณอำนวย" (Facilitator) ในกระบวนการเรียนรู้นั่นเอง ... ใช่มั้ยเอ่ย ? อย่าเพิ่งเชื่อล่ะ !

     ในครั้งแรกที่ไปทำหน้าที่ ผมถูกมองเป็นตัวแปลก สำหรับ มรภ.สงขลา ตามที่ นศ.ได้สะท้อนให้ฟัง ผศ.ชาญชัย เรืองขจร ท่านเชื่อของท่าน จึงทาบทามให้ไปทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ผมก็ยังเชื่อของผมตามแบบผม ที่คล้าย ๆ กับ ผศ.ชาญชัยฯ ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็รู้จัก KM ผมเลยลดความแปลกลงได้บ้าง แต่หน้าตาก็ยังแปลก ๆ อยู่ดี (...ยิ้มสิครับ...)

-ขจิต ฝอยทอง( khajit's blog)
  • ดีใจจัง ที่มรภ สงขลา มีอาจารย์หน้าตาแปลก
  •  ยิ้ม ...ยิ้ม....
  • แปลกพันปรือ ละพี่บ่าว...
ก็อย่าจัดการศึกษาที่วิ่งตามกระแสซิคะ
ครูจะได้ไม่เหนื่อย 
ถ้าเหนื่อยแล้วได้คุณภาพมันก็น่าเหนื่อยหรอกค่ะ
แต่ถ้าเหนื่อยแล้วขาดคุณภาพ เหนื่อยเปล่านะคะ

       สารพัดผู้สันทัดจัดการศึกษา

ผู้ทรงปัญญามากประสบการณ์สานสร้างฝัน

หวังปฏิรูปการศึกษามานานวัน

แต่เด็กนั้นเว้งว้างอยู่กลางทาง

      ถึงจุดหมายปลายทางบ้างก็น้อย

หาคนคอยรับส่งอยู่ข้างข้าง

ส่วนพ่อแม่เหมือนปล่อยปละจะละวาง

เพื่อนร่วมทางร่วมต่างคิดชวนผิดทาง

     สิ่งเย้ายวนชวนไปไกลเกินกู่

สังคมหมู่เยาวชนเพลินหลงไหล

คุณธรรมค่านิยมนั้นเปลี่ยนไป

เหลือไว้แต่รอยช้ำและนำตา.....

 

      

งานการศึกษาปัจจุบันต้องพัฒนาอีกมาก  เพราะลูกหลานไทยเราขาดคุณธรรมและจริยธรรมกันมาก เราคนไทยควรปลูกฝังคุณธรรมในตัวเองก่อนแล้วจึงไปปลูกฝังในบุคคลท่ใกล้ชิดก่อนแล้วป้อนให้ลูกหลานไทยเป็นคนมีจริยธรรมและคุณธรรมให้มาก

โบราณว่ารักวัวให้ผูกนั้นถูกแล้ว

 

รักลูกแก้วให้ตีไม่หนีหน่าย

 

คอยหมั่นพบซักถามความในใจ

 

พร้อมทั้งให้คำแนะนำตามวิธี

 

   ผิดว่าผิดเตือนสักนิดคิดครวญใคร่

 

กำลังใจกระตุ้นตอบปลอบเกศรี

 

ล้อมด้วยรักสานด้วยใย ห่วงไมตรี

 

พร้อมมือที่จูงนำตามคุณธรรม

 

No need to be too tired.

Just a little tired or a little comfortable.

You'll be all right.

สวรรณใจ ไชยศรีรัมย์

"ทำไมครูไทยจึงเหนื่อยนัก"

 ณ ปัจจุบันนี้ครูไทยสุดแสนจะเหนื่อย  ๆ เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไป จิตใจก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์   ผู้เป็นพ่อแม่พยายามจะหาความสุขให้ลูก   ปล่อยลูกไว้กับครูเพราะเป็นหน้าที่ที่ครูต้องรับผิดชอบ   ผู้เป็นพ่อแม่ควรจะคิดว่าครุที่บ้านหรือครุที่โรงเรียนทุกคนต้องมีหน้าที่ดูแลขัดเกลาเหมือนกัน

ขอบคุณค่ะที่ให้เสนอความคิดเห็น

"ทำไมครูจึงเหนื่อยนัก"

ถ้าวิ่งตามกระแสโลกาภิวัฒน์จนขาดการผสมผสานระหว่างของเก่า กับของใหม่ ก็น่าจะเหนื่อยเพราะต้องวิ่ง และเหตุที่น่าจะเหนื่อยที่สุดก็ คือ   การประเมินคุณภาพการศึกษาเน้นเอกสารมากกว่าประเมินผลิต

 

 

 

นายโสภณ คำสวาสดิ์

ผมก็มีอาชีครู  ยอมรับวาเหนื่อยจริง  ๆครับ

  • ยอมรับว่า "เหนื่อยค่ะ"  แต่ก็ยังมีความสุขเวลาเห็นนักศึกษาประสบความสำเร็จ
                เคยรับราชการครูมาก่อน  ยอมรับว่าเหนื่อยจริงค่ะ แต่การสอนคนให้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นคนดีของสังคม คือสิ่งที่น่าภูมิใจไม่ใช่หรือค่ะ แต่สิ่งที่สังคมต้องคิด คือ ความคาดหวังของผู้ปกครองไม่ใช่แค่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานเท่านั้น แต่ต้องการให้รู้จักหน้าที่ มีความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อเข้าไปทำงาน และอยู่ร่วมกับสังคมทุกชั้น วรรณะ ฉะนั้นหลักสูตรการสอนน่าจะเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา ทบทวนอีกครั้งค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท