แดจังกึม : ละครสะท้อนปฏิรูปการศึกษาไทย


ตีพิมพ์ใน...1)หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2548 2)วารสารเทคโนโลยี (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น) ปีที่ 33 ฉบับ 185 กุมภาพันธ์-สิงหาคม 2549 หน้า 126-128
        ถ้าพูดถึงละครทีวีที่มีเรดติ้งสูงเรื่องหนึ่งในขณะนี้ คงไม่พ้นละครของเกาหลีเรื่องแดจังกึม ซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงคนแรกของเกาหลีที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์หลวงรักษาพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ Joseon และเป็นเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณีภายในราชสำนักของเกาหลีที่สืบทอดกันมายาวนาน

        ผู้ชมแต่ละคนอาจเกิดแง่คิดจากละครเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป สำหรับมุมมองของผมเห็นว่าละครเรื่องนี้สามารถสะท้อนให้เกิดแนวคิดในการปฎิรูปการศึกษาของบ้านเราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะบทบาทของตัวละคร 3 ตัวที่อยู่ในหัวใจผม กล่าวคือ

       แดจังกึม ซึ่งเป็นนางเอกของเรื่อง นับเป็นผู้เรียนที่เพียบพร้อมทั้งความเก่ง ความดี และมีทักษะในการดำรงชีวิตที่เหมาะสม เป็นแบบอย่างของผู้ที่หมั่นฝึกฝนพัฒนาตนเองจนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ด้วยนิสัยที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ชอบอ่านหนังสือ ช่างสังเกต ช่างจดจำ ทั้งๆที่เธอมีโอกาสในการศึกษาด้อยกว่าคนอื่นๆ แต่เธอก็มีความมุ่งมั่นพยายาม สั่งสมประสบการณ์ สร้างองค์ความรู้ แสวงหาโอกาสการเรียนรู้ทั้งจากพ่อแม่ ครู ภูมิปัญญา และแหล่งเรียนรู้ต่างๆในทุกแห่งที่เธออาศัยอยู่ ทั้งที่บ้านเกิดในชนบท ในวังหลวง และแม้แต่ตอนถูกขับไปอยู่ในเขตทาเจที่ทุรกันดาร เธอก็มีความอดทน ไม่ท้อแท้ หาโอกาสเรียนรู้วิชาแพทย์จากชองอุนแปแพทย์ฝีมือดีจากวังหลวง และสามารถคิดค้นปลูกพืชสมุนไพรที่หายากและราคาแพงในเขตทาเจได้สำเร็จ

       เธอสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า การปรุงอาหารให้ดีเลิศนั้น ไม่ได้อาศัยความรู้เพียงแค่ในตำราการปรุงอาหารอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้เรื่องสมุนไพร ด้านการแพทย์ และด้านอื่นๆด้วย จึงจะสามารถพลิกแพลงประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างบูรณาการ

       แม้เธอจะถูกกลั่นแกล้งสารพัด แต่ก็สามารถใช้ความเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้แก้ปัญหาในสถานการณ์ที่คับขันได้ในทุกเรื่อง เช่น การเอาถ่านไม้ใส่ในไหซีอิ้ว ใช้น้ำส้มสายชูดับกลิ่นเปรี้ยวฉุนของซีอิ้วให้หายไปและทำให้มีรสกลมกล่อมยิ่งขึ้น การใช้ผักกาดห่อหมั่นโถแทนแป้งบะหมี่ที่เธอทำหาย โดยสามารถให้เหตุผลได้ว่า ผักกาดช่วยการย่อยอาหาร สร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยในการขับถ่าย เธอสามารถชิมรสการผัดเนื้อและบอกได้ว่า ไม่ได้ใช้น้ำตาลทรายแต่ใช้ลูกพลับ โดยให้เหตุผลว่า ลูกพลับมีรสหวานกลมกล่อมกว่าน้ำตาล มีสรรพคุณป้องกันโรค และช่วยให้สร่างเมาได้ด้วย

       นอกจากนี้เธอยังสามารถค้นหาสาเหตุอาการประชวรขององค์ชายที่หมอหลวงก็ยังไม่ทราบสาเหตุ โดยไปขอหนังสือจากมินจุงโฮ (พระเอก) เกี่ยวกับตำราสมุนไพรมาอ่าน จนพบว่าองค์ชายเสวยน้ำมันชนิดหนึ่งเข้าไป ถ้าร่างกายรับน้ำมันนี้เข้าไปมากจะทำให้ร่างกายหมดสติ และยังเสวยน้ำโสมเข้าไปเป็นตัวเร่งทำให้แสดงอาการประชวรมากขึ้นด้วย เป็นต้น

        ยังมีตัวอย่างที่แสดงความเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ของแดจังกึมให้เห็นอีกมากมาย ท่านที่ติดตามดูละครคงได้เห็นแล้ว นอกจากความเก่ง ความฉลาดแล้ว เธอยังเป็นผู้ที่มีน้ำใจที่ดีงาม ชอบช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน จนบ่อยครั้งที่เธอต้องรับความเดือดร้อนไปเสียเอง ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้อุปการะเลี้ยงดู และครูอาจารย์เธอก็มีเพียบพร้อม เห็นได้จากการเชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้มีบุญคุณต่อเธอทุกคนด้วยความจริงใจ เธอนำบทเรียนในอดีตที่ตนเองทำให้พ่อแม่เดือดร้อนมาเป็นข้อเตือนใจไม่ให้ปฎิบัติอย่างเคร่งครัด เป็นต้น

      ฮันซังกุง เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่ผมยอมรับว่าเป็นครูมืออาชีพ เธอเป็นหัวหน้าแม่ครัวในวังหลวงที่มีฝีมือยอดเยี่ยมในการปรุงอาหารคนหนึ่ง เธอมีวิธีอบรมสั่งสอนศิษย์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีความสามารถในการสังเกตและวิเคราะห์พื้นฐานของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เช่นการทดสอบความอดทนของแดจังกึมด้วยการให้รินน้ำให้ดื่มอยู่หลายวันโดยไม่บอกเหตุผล แล้วจึงสอนและฝึกทักษะตามพื้นฐานของผู้เรียน

      เธอจะสอนให้ผู้เรียนแน่นและแม่นในองค์ความรู้ก่อนที่จะสอนการปรุงอาหาร เช่น การให้จังกึมไปเก็บผักที่ภูเขามาให้ครบ 100 ชนิด และให้บอกประโยชน์ของผักแต่ละชนิดด้วย ระหว่างสอนก็มีวิธีเสริมแรงให้ผู้เรียนมุ่งมั่นเอาใจใส่ เธอจะมีบุคลิกที่เคร่งขรึม ไม่พูดมาก วางตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาระเบียบวินัยของวังหลวง จนเป็นที่เกรงใจของศิษย์ แต่โดยส่วนลึกของจิตใจเธอเต็มเปี่ยมด้วยความรักความเมตตาต่อศิษย์ และมีจิตใจที่ดีงามกับทุกคน

       เธอเป็นครูที่มีความเฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ช่างสังเกต เช่น เมื่อเห็นคนขายปลาซึ่งตาบอดสามารถบอกรายละเอียดของปลาได้อย่างแม่นยำโดยใช้มือจับและดมกลิ่น ก็ทำให้เธอเกิดแนวคิดนำมาฝึกแดจังกึมที่สูญเสียประสาทลิ้น ให้สามารถปรุงอาหารโดยใช้ประสาทสัมผัสอื่นแทนการชิมรสได้สำเร็จ เป็นต้น

      ชองซังกุง เป็นตัวละครที่ผมอยากจะฟันธงว่าเป็นผู้บริหารมืออาชีพ ที่เจริญก้าวหน้าจนขึ้นมาเป็นซังกุงสูงสุดโดยอาศัยการพัฒนาความรู้ความสามารถด้วยตนเองมาเป็นลำดับ เมื่อเป็นซังกุงสูงสุดก็บริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ปฎิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ละเลยที่จะทำหน้าที่เป็นครูสอนนางกำนัล ไม่บริหารงานโดยการ “เห็นชอบมอบผู้ช่วย” เหมือนกับผู้บริหารหลายคน งานใดที่เธอเห็นว่ามีความสำคัญก็จะลงมือทำด้วยตนเอง เช่นการจัดทำของเสวยสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นต้น เธอจึงเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าจุงจง แต่เธอก็ไม่ได้ใช้ความพอพระทัยของเบื้องสูงมาเป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจ หรือความก้าวหน้า ให้แก่ตนเอง เครือญาติ หรือพวกพ้อง เหมือนกับผู้บริหารหลายคน     

         เธอเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รักษาเกียรติศักดิ์ศรีของผู้บริหาร เมื่อรู้ว่าตนเองเจ็บป่วยหย่อนสมรรถภาพ ก็แสดงความจำนงขอลาออกจากตำแหน่งเองโดยไม่ต้องให้ใครมาปลด

         นอกจากนี้เธอยังมีความกล้าทางจริยธรรม เมื่อเห็นประเพณีใดไม่เหมาะไม่ควร ก็กล้าที่จะคัดค้าน อย่างมีสติ โดยใช้ความชาญฉลาดของตนเองและความโปรดปรานของพระมหากษัตริย์เป็นแนวทางในการเสนอให้มีการคัดเลือกซังกุงสูงสุดจากการใช้ศักยภาพที่แท้จริง เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในอิทธิพลของระบบเส้นสายจากซังกุงปกครองเพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นการให้โอกาสและจูงใจให้ทุกคนมีความหวังและหมั่นฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ความสามารถ เป็นต้น

         ตัวละครอื่นๆแม้จะแสดงบทร้ายแต่ก็ให้แนวคิดแก่เราได้ไม่น้อย เช่น คนอย่างซังกุง ปกครอง ที่ลุแก่อำนาจ เล่นพรรคเล่นพวก เห็นแก่สินบน ก็ควรต้องหาทางป้องกันอย่าให้ขึ้นมามีอำนาจเป็นผู้บริหาร  การคัดเลือกคนที่มาเป็นครูก็ต้องสรรหาคนที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ไม่มีอคติต่อศิษย์ ไม่มุ่งสร้างความก้าวหน้าในตำแหน่งและวิทยฐานะด้วยวิชามารและการประจบสอพลออย่างแชซังกุง และการจัดการศึกษาก็ต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เจริญก้าวหน้าทั้งด้านความเก่ง ความดี มีคุณธรรมน้ำใจ มีทักษะในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

      ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถทำให้ผู้เรียนที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ เฉลียวฉลาด แต่ถูกครอบครัวหล่อหลอมให้เป็นคนเจ้าเล่ห์อย่าง แชกิมยอง ได้รับการอบรมกล่อมเกลาด้านคุณธรรมจริยธรรม เติมเต็มในสิ่งที่เธอขาด ให้เป็นบุคคลที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนของความเป็นมนุษย์

      ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ที่มีทั้งความเก่งและความดีอย่าง แดจังกึม

     ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถสรรหาและพัฒนาครูให้เป็นครูมืออาชีพ ได้อย่าง ฮันซังกุง

     และทำอย่างไรเราจึงจะสามารถคัดเลือกคนมาเป็นผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพได้อย่าง ชองซังกุง

        …เป็นบทสรุปที่หน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ น่าจะนำไปคิดหาคำตอบ…

--------------------------------------

ธเนศ ขำเกิด  [email protected]

คำสำคัญ (Tags): #no tag
หมายเลขบันทึก: 23131เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2006 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท