ผู้บริหารต้องคิด"เชิงกลยุทธ์"


ตีพิมพ์วารสารเทคโนโลยี(สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น) ปีที่ 31 ฉบับที่ 176 สิงหาคม-กันยายน 2547 หน้า 162-164
        มีหลายคนสงสัยว่า การวางแผนกลยุทธ์(Strategic Planning) ต่างจากการวางแผนทั่วไปอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า การวางแผนกลยุทธ์เป็นการวางแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานอันชาญฉลาด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ(Efficiency) และประสิทธิผล(Effectiveness)สูงสุดของงาน

        กระบวนการวางแผนกลยุทธ์เป็นอย่างไรนั้น มีคนเขียนไว้มากแล้ว ผมจึงไม่ขอกล่าวในที่นี้ แต่ผมสนใจที่จะกล่าวถึงการวางแผนอันชาญฉลาดที่มีการคิดเชิงกลยุทธ์โดยมีกลวิธี(Tactics)ในการแก้ปัญหาและพัฒนางานด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์มากกว่า เพราะเรื่องนี้ถือเป็นจุดชี้ขาดประการหนึ่งของผู้บริหารที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

     การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นการคิดที่ช่วยเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ เพราะเป็นการคิดที่มีเป้าหมายตามความต้องการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน รู้จักเรียนรู้ที่จะมองตนเอง มองสภาพแวดล้อม และมองอนาคต ทำให้สามารถรุกและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      การที่ผู้บริหารจะคิดเชิงกลยุทธ์ได้จะต้องรู้ปัญหา รู้สาเหตุของปัญหาอย่างดีมาก่อน ต้องมีข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งข้อมูลที่เป็นจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ตลอดจนผลกระทบจากปัญหานั้นด้วย ผู้บริหารจึงต้องมีเทคนิค มีเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์ปัญหา เช่นอาจใช้เทคนิคSWOTS การประเมินความต้องการจำเป็น(Needs Assessment :NA) หรือการวิจัย เป็นต้น ซึ่งการรู้ข้อมูลอย่างรอบด้านที่มีการจัดกระทำให้เป็นสารสนเทศ จะช่วยให้ผู้บริหารมองปัญหา มองสาเหตุของปัญหาที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้สามารถคิดหาทางเลือกในการแก้ปัญหาได้สอดคล้องกันมากขึ้น

      ผู้บริหารจะคิดเชิงกลยุทธ์ได้ ต้องมีความสามารถในการตัดสินใจ โดยพิจารณาทางเลือกที่เห็นว่าดีที่สุด เหมาะสมที่สุดจากบรรดาทางเลือกหลายๆทาง เพื่อนำมาดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเกิดประโยชน์มากที่สุดและเกิดผลเสียหายน้อยที่สุด เพราะการตัดสินใจคือหัวใจของการบริหาร ดังมีผู้กล่าวว่า

     “ถ้านายสิบตัดสินใจผิด ทหารอาจจะตายทั้งหมวด ถ้านายร้อยตัดสินใจผิด ทหารอาจจะตายทั้งกองร้อย ถ้านายพันตัดสินใจผิด ทหารอาจจะตายทั้งกองพัน และถ้านายพลตัดสินใจผิด ทหารอาจจะตายทั้งกองทัพ”

     ฟรานซิส เบคอน ได้ให้ข้อคิดสำหรับผู้บริหารในการคิดเชิงกลยุทธ์ไว้ว่า
“…ถ้าเราอยากบรรลุความสำเร็จในสิ่งที่ไม่เคยสำเร็จมาก่อน ต้องอย่าทำเหมือนสิ่งที่เคยพยายามทำมาแล้ว เพราะฉะนั้นต้องคิดและทำใหม่ ในความคิดใหม่ ในรูปแบบใหม่ จึงจะมีโอกาสบรรลุความสำเร็จในสิ่งซึ่งไม่เคยสำเร็จมาก่อนได้…”
    ผมมีนิทานที่สะท้อนการคิดเชิงกลยุทธ์ เรื่องเต่าแข่งกับกระต่าย ที่มีการแข่งขันกันต่อในภาค 2 มาเล่าให้ฟัง
       คือหลังจากกระต่ายแข่งขันวิ่งแพ้เต่าในรอบแรก ก็รู้สึกแค้นใจมากที่ตนเองประมาท จึงถือว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่จะต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก

       กระต่ายได้กลับมาฟิตซ้อมร่างกายอย่างดีแล้วไปท้าเต่าแข่งขันใหม่ เต่าก็รับคำท้าโดยดี เมื่อถึงเวลานัดแข่งขัน พอเริ่มออกวิ่ง กระต่ายก็วิ่งเต็มฝีเท้า โดยไม่เหลียวหลังมาดูและหยุดพักเหมือนครั้งก่อน แต่พอไปถึงสระน้ำแห่งหนึ่งก็พบว่าเต่ามาถึงก่อนหน้าแล้ว กระต่ายก็เลยต้องเร่งความเร็วให้มากขึ้น พอวิ่งไปถึงพุ่มไม้อีกแห่งก็พบว่าเต่ามาถึงก่อนอีก กระต่ายรู้สึกโกรธที่วิ่งอย่างเร็วแล้วยังไม่ทันเต่าอีก จึงเร่งความเร็วอย่างสุดชีวิต จนถึงจุดสิ้นสุดการแข่งขัน ปรากฏว่าเต่าถึงเส้นชัยก่อนเช่นเคย กระต่ายรู้สึกอับอายจนอยากจะแทรกแผ่นดินหนี

        มีคนสงสัยว่า ทำไมเต่าจึงวิ่งเร็วนัก ก็ได้รับคำตอบที่เป็นความลับสุดยอดว่า มีเต่าพ่อ แม่ ลูก อยู่ประจำตำแหน่งตัวละจุด

       มีนิทานเรื่องเต่าแข่งกับกระต่ายภาค 3 ต่อเนื่องอีก กล่าวคือ กระต่ายรู้สึกอับอายมากที่วิ่งแพ้เต่าเป็นครั้งที่สอง ก็พยายามทบทวนว่า “แพ้เต่าได้อย่างไร” ทั้งๆที่ตนมีจุดแข็งและโอกาสที่มีเหนือเต่าทุกอย่าง กระต่ายคิดเท่าไรก็คิดไม่ออก เพื่อให้หายสงสัยจึงไปขอท้าเต่าแข่งขันแก้ตัวเป็นครั้งที่ 3 เต่าเองก็รู้ตัวว่าตนมีข้อเสียเปรียบกระต่ายเกือบทุกอย่าง ที่ชนะครั้งแรกเพราะกระต่ายประมาท ส่วนครั้งที่สองก็เกิดจากการใช้ปัญญา ครั้งนี้จึงมีข้อจำกัดจะนำวิธีการเก่าๆมาใช้ในครั้งที่สามก็คงไม่ได้ แต่ถ้าไม่รับคำท้าก็เสียศักดิ์ศรีความเป็นแชมเปี้ยน การแข่งครั้งนี้จึงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสำหรับเต่าอย่างมาก เต่าจึงขอเวลาคิดสักหนึ่งวันก่อนที่จะรับคำท้ากระต่าย

         หลังจากเต่ากลับไปนอนคิดได้หนึ่งคืน จึงมาตอบรับคำท้ากระต่าย โดยเสนอเงื่อนไขว่า ครั้งนี้ขอเปลี่ยนสนามวิ่งแข่งขันใหม่เป็นบริเวณภูเขา กระต่ายพิจารณาแล้วเห็นว่าภูมิประเทศที่เต่าเสนอมาตนเองย่อมคุ้นชินและได้เปรียบเต่า จึงตอบตกลง

       การแข่งขันจะเริ่มวิ่งจากยอดภูเขาจนถึงเส้นชัยคือบริเวณเชิงเขา เมื่อสิ้นสัญญาณการปล่อยตัว กระต่ายกระโจนออกไปอย่างสุดกำลัง ส่วนเต่าก็คลานต้วมเตี้ยมไปจนถึงหน้าผาที่สูงชัน แล้วหดหัวและขาตนเองลงในกระดอง จากนั้นก็ทิ้งตัวให้ตกลงจากหน้าผาแล้วกลิ้งลงมาที่เชิงเขา จนถึงเส้นชัยก่อนกระต่าย ด้วยสภาพกระดองที่สะบักสะบอม ผลการแข่งขันเต่าจึงชนะกระต่ายอีกเป็นครั้งที่สาม แต่เป็นชัยชนะที่แลกกับความบอบช้ำและเจ็บปวดจนแทบจะเอาชีวิตไม่รอด

      นิทานเรื่องนี้ให้แนวคิดแก่ผู้บริหารที่จะคิดเชิงกลยุทธ์ได้ว่า ผู้ที่ด้อยกว่า ถ้าอยากจะชนะก็ต้องรู้สภาวะแวดล้อมที่เป็นจุดเด่นและโอกาสของตนเอง รวมทั้งต้องกล้าที่จะเสี่ยงด้วย

       การคิดเชิงกลยุทธ์ก็ต้องอาศัยการคิดกลวิธี เหมือนกับการออกศึกสงครามที่ผู้นำทัพจะต้องหากลวิธีอันแยบยลที่จะเอาชนะฝ่ายตรงข้ามให้ได้ ซึ่งการคิดกลวิธีก็อาจมีทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ดังตัวอย่างนิทานเรื่องกลวิธีของหลวงตารูปหนึ่ง

        เช้าวันหนึ่งหลวงตาไปถ่ายทุกข์ที่ถาน(ส้วมของพระ)ที่อยู่หลังกุฏิ บังเอิญไปพบเต่าตัวหนึ่งก็เกิดกิเลสอยากฉันเต่าขึ้นมา แต่ด้วยความเป็นสงฆ์จะทำอะไรที่โจ่งแจ้งเกินไปก็ดูไม่งาม หลวงตาจึงครุ่นคิดหากลวิธีที่จะฉันเต่าให้ได้

          เมื่อกลับมาถึงกุฏิ หลวงตาเห็นเด็กวัด 2-3 คนจับกลุ่มกันอยู่ จึงหยิบหนังสือธรรมมะเล่มหนึ่งเดินไปนั่งใกล้ๆกับกลุ่มเด็กวัด กางหนังสือออก แล้วแกล้งอ่านดังๆ

        “เมื่อเช้ากูไปถาน เห็นเต่ามันคลานตัวโตใหญ่”

   กลุ่มเด็กวัดหันมามองหลวงตา แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าหลวงตาอ่านหนังสือธรรมมะหรือเรื่องจริง จึงไม่สนใจและเล่นกันต่อ หลวงตาเห็นเด็กไม่สนใจจึงแกล้งอ่านหนังสืออีกครั้ง

         “เจอแล้วดูเผินๆท่ามันเดินคงมีไข่ใน”

      เด็กวัดได้ฟังก็ตาวาว เริ่มเข้าใจว่าหลวงตาพูดเรื่องจริง ต่างวิ่งกรูไปที่ถาน แยกย้ายกันค้นหาจนพบเต่าใหญ่ตามคำบอกเล่าของหลวงตา จึงช่วยกันจับเต่าและอุ้มมาใกล้ๆกับที่หลวงตาอยู่ ต่างหยิบมีดไม้มาฟัน ทุบเต่าเป็นการใหญ่ แต่ก็ทำอะไรเต่าไม่ได้ เพราะมันหลบหัวลงไปในกระดองที่แข็งแกร่ง หลวงตาดูอยู่แล้วจึงอ่านหนังสือดังๆ

         มีดไม้ใช้ไม่ได้ ถ้าให้ตายต้องเผาไฟ”

      เด็กวัดจึงจัดการตามสัญญาณที่หลวงตาบอกเป็นนัยๆ แล้วติดเตาถ่านเตรียมต้มเต่าทั้งกระดอง คว้าหม้อมาหลายใบแต่ก็ใส่เต่าลงในหม้อไม่ได้ หลวงตาจึงว่าต่อ

            หม้อนั้นมันเล็กนัก แล้วหม้อต้มกรักเอาไว้ทำไม”

      (หม้อต้มกรักคือหม้อต้มจีวร) เด็กวัดรู้ว่าหลวงตาอนุญาตให้ใช้หม้อต้มกรักได้ จึงคว้าหม้อนั้นมาจัดการต้มเต่า พอต้มจนสุกก็ฉีกเนื้อหนัง ไส้และไข่เต่าเตรียมปรุงอาหารต่อไป แต่ก็คิดไม่ออกว่าจะใส่อะไรลงไป หลวงตาชำเลืองดูอยู่เกรงว่าจะไม่อร่อย จึงอ่านหนังสืออีกครั้ง

 

         ตะไคร้ใบมะกรูด มะพร้าวขูดใส่ลงไป”

         เด็กๆจึงดำเนินการตามหลวงตา และต้มยำเต่าจนสุกส่งกลิ่นหอมฉุยเตะจมูก แล้วต่างพากันหยิบถ้วยชามทัพพี รี่มาที่หม้อต้มยำเต่า หลวงตาเห็นไม่ได้การจึงรีบกล่าวทัดทานด้วยเสียงที่ดังเป็นพิเศษ

         เนื้อหนังเด็กกินได้ ไข่กับไส้ไว้ฉันเพล”

        ผมคงต้องขอเตือนผู้บริหารว่า  อย่าเลียนแบบกลวิธีของหลวงตามาใช้ในการบริหารก็แล้วกัน เพราะถึงแม้จะเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดก็จริง  แต่ก็ไม่สร้างสรรค์  ไม่เช่นนั้นองค์กรคงปั่นป่วนแน่     

                     ------------------------------------------------------------

                                                              ธเนศ ขำเกิด    [email protected]
หมายเลขบันทึก: 23123เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2006 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท