ลด-ละ-เลิก อบายมุข ปฏิบัติการจริงที่ "บ้านดอนมัน"


ถึงแม้ว่าบ้านดอนมันจะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ แต่ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจเพื่อกันขจัดเรื่องใหญ่ๆ อย่างอบายมุขให้หมดสิ้นจากชุมชนนั้นกลับนำมาซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะไม่ให้ดีได้อย่างไรในเมื่อเงินที่ไปลงกับขวดเหล้า หรือบุหรี่นั้นกลับมาตกอยู่ในครอบครัวทั้งสิ้น...

ลด-ละ-เลิก อบายมุข ปฏิบัติการจริงที่ "บ้านดอนมัน"


 



ร้านค้าร่วมมืออย่างจริงจังงดขายเหล้า บุหรี่

“เราเคยรู้จักกันมาก่อนไหมคะ…แล้วคุณมาทำร้ายฉันทำไม...?” หนึ่งในประโยคยอดฮิตจากสื่อโฆษณาการรณรงค์งดสูบบุหรี่ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้กระบวนการทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ลงโทษเหล่าสิงห์อมควัน เพื่อสร้างความตระหนักถึงพิษภัยที่ผู้คนรอบข้างจะได้รับจากควันบุหรี่

แต่วันนี้แนวคิดการลด ละ เลิกอบายมุขไม่ได้อยู่เพียงแค่การรณรงค์อีกต่อไป เพราะมีการนำไปใช้จริงเกิดขึ้นแล้วที่ บ้านคอนมัน ต.ขามเรียง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ซึ่งมีการสร้างโอกาสในการดำเนินชีวิตโดยปราศจากอบายมุข ทั้งเหล้า บุหรี่ การพนัน จนได้รับทุนสนับสนุนการเสริมสร้างจริยธรรมในหมู่บ้านจาก สสส. เพื่อขจัดปัญหาอย่างยั่งยืน



อดิศร เหล่าสะพาน

นำกระบวนการทางสังคม ขจัดอบายมุข



กว่าจะได้ชื่อว่าหมู่บ้านปลอดอบายมุขนั้น อดิศร เหล่าสะพาน กำนันบ้านดอนมัน เท้าความว่า ภายในหมู่บ้านประสบปัญหาต่างๆ มากมายทั้งปัญหาดินเค็ม พื้นที่แห้งแล้ง ปลูกพืชผลก็ไม่ค่อยจะได้ราคาทำให้ชาวบ้านที่นี่อยู่ในฐานนะยากจน ด้วยข้อจำกัดที่พบเจอนี้ทำให้ชาวบ้านต้องเข้ามาร่วมมือร่วมใจกันโดยการพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือกันให้มากที่สุด

จากนั้นได้มีการส่งเสริมให้มีการทำบัญชีครัวเรือนในการบันทึกรายรับรายจ่าย และสิ่งที่พบคือเงินของชาวบ้านในแต่ละเดือนส่วนหนึ่งจะไปจมอยู่กับค่าเหล้าและบุหรี่ ชาวบ้านจึงคิดว่าหากหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ได้น่าจะมีเงินเหลือเก็บและชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม จนนำไปสู่แนวคิดในการลด ละ เลิกอบายมุขเกิดขึ้น

“ตัวของผมเองเมื่อก่อนก็เอาทุกอย่างทั้งบุหรี่ เหล้า การพนัน มีอยู่ครั้งหนึ่งได้ไปทำบุญที่วัด ได้คุยกับหลวงพ่อรูปหนึ่งซึ่งท่านกำลังกวาดลานวัดอยู่แล้วบังเอิญเจอก้นบุหรี่ที่จมทรายอยู่เกลื่อนกราด ก็เลยถามท่านไปว่า กวาดยากมั้ย ? ด้วยความที่เราอยากจะช่วยเหลือ ท่านจึงตอบกลับมาว่า กวาดยาก... แต่หากจะช่วยก็เลิกสูบสิ จะได้ไม่มีก้นบุหรี่ นี่เป็นเหมือนภาพที่สะท้อนกลับมาเตือนใจให้เราเลิกสูบ เพราะขนาดกับเรื่องเล็กอย่างก้นบุหรี่ยังสามารถก่อความรำคาญให้ผู้อื่นเดือดร้อนได้ ตั้งแต่นั้นมาก็เลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาดตั้งแต่ปี 2535 จนมาถึงปี 2547 ก็ได้มีการรณรงค์คนในหมู่บ้านให้เลิกบุหรี่เช่นกัน” กำนันบ้านดอนมันสะท้อนภาพ




ป้ายสร้างจิตสำนึกที่ติดทั่วหมู่บ้าน


สำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อลด ละและเลิกอบายมุขนั้น กำนันอดิศร ขยายความว่า จะใช้วิธีการทางสังคมให้เป็นตัวลงโทษสำหรับผู้ที่ยังหลงผิดในอบายมุข เช่น การจัดงานสำคัญต่างๆ ภายในชุมชน หากมีการเลี้ยงเหล้าที่เป็นต้นเหตุให้งบประมาณในการจัดงานนั้นๆ บานปลาย เพื่อนบ้านที่ไปช่วยงานก็จะให้ความช่วยเหลือและให้ความสนใจน้อยลง ทั้งยังสั่งห้ามไม่ให้ร้านค้าในหมู่บ้านนำสินค้าทั้งเหล้า บุหรี่มาวางขาย บ้านไหนที่กินเหล้า ก็จะไม่มีใครสนใจ ยังรวมถึงในงานทางพิธีกรรมต่างๆ ก็จะไม่มีเหล้ามาเป็นปัจจัยในการบวงสรวง เป็นต้น ซึ่งการกระทำบางส่วนที่ว่ามานี้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เข้มแข็งมาก เพราะทุกคนต้องเห็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่มากกว่าประโยชน์ของตนเอง ที่สำคัญคือมีเงินเหลือเก็บเมื่อตัดพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุของปัญหาไปได้

ต่อยอดแนวคิด สู่รั้วมหา’ลัย



นอกจากความเข้มแข็งของการขจัดปัญหาอบายมุขให้หมดสิ้นไปแล้ว บ้านดอนมันยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกด้วย เหมือนอย่างที่ กิตติศักดิ์ นพมณี (โฟน) นศ.ชั้นปีที่ 3 คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหาสารคาม ซึ่งเป็นประธานชมรมคนวัยใส ใส่ใจสุขภาพ ได้ใช้ที่นี่เป็นแหล่งศึกษาดูงาน การจัดการในด้านการลด เลิก อบายมุข ของคนในชุมชน



กิตติศักดิ์ นพมณี


กิตติศักดิ์บอกว่า ตอนนี้ไม่ว่าที่ใดก็จะเห็นแต่คนที่สูบบุหรี่ กินเหล้า โดยไม่เคยนึกถึงความเดือดร้อนและผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับคนร่วมสังคมเลย เช่นเดียวกับภายในมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาทั้งชายและหญิงส่วนใหญ่ก็สูบบุหรี่ อีกทั้งเมื่อไม่กี่ปีมานี้จะเห็นได้ว่าอบายมุขต่างๆ เข้ามาใกล้ชิดกับรั้วมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือร้านเหล้าที่กลายเป็นแหล่งมั่วสุมของนักศึกษาทั้งกลางวันและยามค่ำคืน

ดังนั้น ในฐานะของเป็นประธานชมรมคนวัยใส ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งมีส่วนในการช่วยรณรงค์ให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญในการละ เลิกอบายมุข จึงต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

“การได้มาศึกษาที่บ้านดอนมัน ทำให้เราทราบถึงหลักได้ว่า การจะลดได้นั้นต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน อีกทั้งการใช้สังคมเป็นตัวลงโทษผู้ที่ยังหลงผิดนั้นก็เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้คนสามารถเลิกได้ เพราะในเมื่อคนในสังคมเดียวกันไม่สนับสนุนการที่จะทำอะไรต่อไปก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน แต่ปัญหาที่จะนำหลักเหล่านี้มาปรับใช้ในมหาวิทยาลัยนั้นมีหลายด้าน เพราะเราไม่สามารถไปห้ามใครไม่ให้กิน ไม่ให้สูบได้หมด ซึ่งความจริงแล้วเราไม่ได้ต้องการทำให้เขาเลิกอย่างเด็ดขาด เพียงแค่เราต้องการให้สร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในตัวนักศึกษา เพราะเมื่อตระหนักแล้วความเข้าใจในปัญหาก็จะมีตามมา”


“นอกจากนี้ทางชมรมได้มีการนำไปต่อยอดโดยผ่านหลายโครงการที่จัดให้มีขึ้นภายในมหาวิทยาลัย เช่น โครงการบัณฑิตไร้แอลกอฮอล์ ที่เล็งเห็นว่าในการสำเร็จการศึกษาแต่ละครั้งนั้นก็ต้องมีการเลี้ยงฉลองกันในหมู่เพื่อน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีเหล้ามาเกี่ยวข้อง แต่ที่น่าเศร้าคือในบางรายยังไม่ทันจะได้รับปริญญากลับต้องมาจบชีวิตลงเพราะอุบัติเหตุซึ่งเป็นผลมาจากการเมาเหล้านั่นเอง ดังนั้นการให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้จึงมีความจำเป็นมาก ที่พวกเราต้องช่วยกันรณรงค์ให้เกิดการตระหนักขึ้นให้ได้” โฟนฝากทิ้งท้าย

...ถึงแม้ว่าบ้านดอนมันจะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ แต่ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจเพื่อกันขจัดเรื่องใหญ่ๆ อย่างอบายมุขให้หมดสิ้นจากชุมชนนั้นกลับนำมาซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะไม่ให้ดีได้อย่างไรในเมื่อเงินที่ไปลงกับขวดเหล้า หรือบุหรี่นั้นกลับมาตกอยู่ในครอบครัวทั้งสิ้น...เห็นอย่างนี้แล้วชุมชนอื่นจะนิ่งอยู่ได้อย่างไร

ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9510000113976

คำสำคัญ (Tags): #สาสุขพอเพียง
หมายเลขบันทึก: 230227เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2008 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ขอบคุณ คุณสาสุขพอเพียง
  • ที่ได้นำความรู้ดีๆมาแบ่งปันกัน
  • ขอให้มีความสุขกับงานที่ทำและการศึกษา นะครับ

แวะมาเยี่ยม...

และเยี่ยมมากครับ

 

  • เป็นโครงการที่ดีมาก
  • แต่เสียดายจัง
  • ไม่เคยไปบ้านดอนมัน
  • มีโอกาสต้องแวะไป
  • ขอบคุณครับ

มาเป็นกำลังใจให้เยาวชนคนเก่งกับโครงการดี ๆ ครับผม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท