เลียบเลาะตู้หนังสือนายแผ่นดิน (๓) : แขนของคำ


แต่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่บ้านของเราอยู่วันยังค่ำ และมันยิ่งจะเลวร้ายมาก หากวันหนึ่งต้องจบชีวิตลงในผืนดินที่ไม่ใช่บ้านเกิดของเราเอง

ผมไม่เคยรู้สึกขวยเขินที่จะบอกกับใคร ๆ ว่า  ผมเป็นคนบ้านนอกขอบชนบท   ผมมีความทรงจำที่ดีในวัยเยาว์เกี่ยวกับวิถีทุ่งเสมอ   จนทุกวันนี้  การได้หวนกลับไปคิดถึงภาพในอดีตเหล่านั้น  ก็ยังเป็นเสมือนกิจวัตรที่หัวใจของผมไม่เคยลืมเลือนที่จะกระทำ

 

พักหลังหมู่บ้านของผมเงียบเหงาขึ้นพอสมควร   อย่าว่าแต่หนุ่มสาวเท่านั้นที่บ่ายหน้าลงเมืองใหญ่เพื่อเสี่ยงโชค
คนวัยกลางคนที่มีครอบครัวแล้วก็มีจำนวนมากโขเหมือนกันที่จำต้องห่างบ้านเกิดไปเผชิญชะตากรรมเลี้ยงชีพในเมืองใหญ่
 

 

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีที่แล้ว   พี่สาวและพี่เขยของผมก็เคยต้องชะตาชีวิตเช่นนั้นเหมือนกัน  แต่เมื่อฝนแรกชำแรกลงสู่ผืนดินแห่งบ้านเกิด  ทั้งสองก็ไม่ลังเลที่จะกลับบ้านมาทำหน้าที่แห่งการไถหว่านและปักดำ

 

ผมจำวันนั้นได้  พี่สาวคนเดียวของผมกลับบ้านด้วยผิวพรรณที่ผุดผ่อง  พี่เขยเองก็ดูจะมีสง่าราศีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  
วันนั้น  พี่สาวมีเสื้อสีสวยหนึ่งตัวมาฝากผม  มันเป็นเสื้อยืดสีน้ำตาล  ผมตื่นเต้นและชื่นชอบเสื้อตัวนี้มาก  และยังพกพามาสวมใส่ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยด้วยเหมือนกัน

 

พี่สาวของผมเล่าให้ฟังว่า  ชีวิตในกรุงเทพฯ  ไม่สะดวกสบายเหมือนบ้านเรา  กินอยู่อย่างลำบาก  นอนในเพิงที่ทำด้วยสังกะสี   ตกดึกก็ร้อนอบอ้าว   ชีวิตในแต่ละวันเต็มไปด้วยความรีบเร่ง  และประหนึ่งว่าชีวิตตกอยู่ภายใต้การกำกับของคนที่ไม่คุ้นเคย และประหนึ่งมีมือที่มองไม่เห็นคอยโบยตีอยู่ตลอดเวลา

 

นอกจากนี้  พี่สาวยังเล่าให้ฟังว่า  ไม่มีที่ใดให้เรานอนหลับไดอย่างอุ่นอก  ถึงแม้การงานที่บ้านนอกจากหนักแสนหนัก  แต่เมื่อเอนกายลงพัก  หัวใจก็ได้พักอย่างสนิทแน่น  ซึ่งตรงกันข้ามกับวิถีที่กรุงเทพฯ  ชีวิตแทบไม่มีค่ำคืนใดได้หลับฝันอย่างอุ่นใจเลยสักคืน และนั่นก็เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้นที่พี่สาวคนเดียวของผมไปกรุงเทพฯ   ทุกวันนี้เธอยังคงใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านนอกอย่างเรียบง่ายตามอัตภาพ

 

 

ทุกวันนี้.  คนบ้านนอกหลายชีวิตยังคงต้องดิ้นรนอยู่ตามเมืองใหญ่   ผมไม่รู้ว่าพวกเขารู้สึกเช่นเดียวกับพี่สาวผมหรือไม่   แต่ก่อนที่ฝนแรกแห่งพฤษภาจะมาเยือนของปีนี้   กลางดึกของคืนหนึ่ง  พ่อโทรศัพท์มาหาผม  พร้อมกับบอกว่า  เพื่อนรุ่นเดียวกันได้จบชีวิตลงที่ริมถนนใกล้ ๆ กับโรงงาน ....

 

นั่นคือการจากพรากอันแสนเศร้า  .  ผมเคยได้คุยกับเขาว่า  กรุงเทพฯ  อาจจะมีเงินและปัจจัยอะไรต่ออะไรมากมายให้เราได้เก็บออมและส่งเสียทางบ้าน  แต่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่บ้านของเราอยู่วันยังค่ำ  และมันยิ่งจะเลวร้ายมาก  หากวันหนึ่งต้องจบชีวิตลงในผืนดินที่ไม่ใช่บ้านเกิดของเราเอง  ซึ่งผมก็ไม่คาดคิดว่า  สิ่งที่เราคุยกันนั้น  จะเกิดขึ้นกับเขา 

 

ย้อนกลับไปเมื่อต้นเมษาปีเดียวกันนี้...
หลานชายของผมก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตบนท้องถนนอันทอดยาวอย่างไม่รู้จบ   เป็นการเสียชีวิตในขณะเดินทางกลับไปกรุงเทพฯ  เพื่อเข้าทำงานในโรงงาน   ทิ้งเมียและลูกในวัยขวบเศษไว้เบื้องหลังอย่างแสนเศร้า

 

เช่นเดียวกันนี้
เมื่อหลายปีที่แล้ว   คนในคุ้มเดียวกันกับผม  ก็เสียชีวิตอยู่กลางหมอชิตใหม่โดยไม่อาจได้ล่ำลาลูกเมียที่อยู่ทางบ้าน  ซึ่งครั้งนั้น  แกไปรับจ้างเข็นรถเพื่อบรรทุกสิ่งของผู้โดยสารเที่ยวละ
20 บาทในหมอชิต  ไม่มีใครรู้ว่าเสียชีวิตตอนไหน  รู้แต่เพียงว่า  เผลอหลับอยู่แถว ๆ  มุมเล็ก ๆ ในชานชลาของภาคอีสาน   ซึ่งก็ได้รถคันโทรมของพ่อนี่แหละที่หอบสังขารไปบรรทุกร่างอันไร้วิญญาณของแกกลับคืนสู่แผ่นดินเกิด 

 

ผมเองก็เคยได้ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มาช่วงระยะหนึ่ง  ก่อนตัดสินใจบอกลากลับมาสู่ที่ตรงนี้   ขณะที่เพื่อนฝูงและญาติมิตรอีกหลายคน   ยังคงว่ายวนอยู่ไกลบ้านอย่างหนักหน่วง  หรือแม้แต่บางคนอาจกำลังลงหลักปักฐานในกรุงเทพฯ  โดยมีบ้านเกิดเป็นความหลังและความทรงจำของชีวิต

 

นี่คือห้วงความรู้สึกของผมที่เกิดขึ้นท่ามกลางท้องฟ้าที่หม่นครึ้มด้วยละอองฝน  และความรู้สึกนั้นก็ราวจะรับรู้ว่า  ท้องนาหลายที่คงปักดำเสร็จสิ้นแล้ว   หลายชีวิตแถวบ้านเกิดก็คงกำลังบ่ายหน้าไปทำอย่างอื่น  ขณะที่หลายชีวิตก็ยังคงดิ้นรน ตะกายฝันอยู่ในเมืองใหญ่อันห่างไกลจากบ้านเกิด

 

และนี่คือ บทกวีอีกบทหนึ่งที่ผมหยิบขึ้นมาอ่าน  แล้วพลอยให้เกิดความรู้สึกหม่นเศร้าจนอดที่จะเขียนถึงเรื่องราวในทำนองนี้ไม่ได้   

 

อยากให้กัลยาณมิตรได้อ่านกันจนจบ   ถึงแม้จะออกอารมณ์เศร้า ๆ ไปบ้าง  แต่ก็คงช่วยให้เราได้คิดถึงชีวิตอีกหลายชีวิตที่ยังต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง  ...  และถ้าเป็นคนที่กำลังอยู่ไกลบ้านเช่นนี้  แล้วมาตกอยู่ในชะตากรรมดังกล่าว  จะยิ่งเจ็บปวดและรวดร้าวเพียงใด ...

 




ควันสีเทาถูกปล่อยออกจากปล่อง
หวูดโรงงานกังวานก้องเร่งร้องสั่ง
คนงานพาร่างผอมใกล้ผุพัง

เดินไปยังประตูใหญ่เหมือนปากยักษ์

กากอาหารจานหนึ่งในตอนเช้า

รีดเป็นแรงระดมเข้าสู่เครื่องจักร

ลูกสูบดันคันชักเดินดังชึกชัก

เกร็งกล้ามเนื้อเหงื่อทะลัก หนักและนาน

คนเหล่านี้มีคำอยู่คนหนึ่ง

หญิงสาวซึ่งซมซานจากอีสาน

ทิ้งนาเช่าเข้ากรุงเทพฯ เที่ยวหางาน

ทำด้วยการทุ่มแรงกายขายแรงกิน

คำจึงคือเครื่องจักรคนสองแรงแขน

ถูกลากแล่นต่อลมไปไม่ให้สิ้น

ทุกข์ร้อนหนาวผ่าวพิษไข้คำเคยชิน

เข็นชีวิตแหว่งวิ้นข้ามคืนวัน

วันหนึ่งคำขณะที่นั่งทอผ้า

เกิดมืดหน้าตามัวมือไม้สั่น

สะดุ้งวูบตะครุบด้ายสายพานพัน

พอเสียงสั่นขาดลงก็แหลกลาญ

เลือดกระเซ็นเปื้อนเส้นด้ายจนแดงคล้ำ

จากมือที่เคยทำเคยไถหว่าน

จากมือที่ทอผ้าพรรณตระการ

มือแห่งงาน...วันนี้ต้องถูกตัดไป

แขนของคำเหลือแค่ข้อศอกสั้น

แขนของคำข้างนั้นอยู่ที่ไหน ?

แขนที่ขาดของเธออยู่ที่ใคร ?

เสื้อสีสวยซึ่งคุณใส่สิแขนคำ !

 

 

.........................................................................

 

 

ปล..

บทกวีบทนี้  เขียนขึ้นโดย  คุณเรืองเดช   จันทรคีรี  :  พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารโลกหนังสือ

(พฤษภาคม  ๒๕๒๓)  ได้รับการประกาศให้เป็นบทกวีรางวัลดีเด่น ปี ๒๕๒๓  จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย

 

ผมได้อ่านบทกวีบทนี้ครั้งแรกในตอนมาเรียนปี    ที่มหาวิทยาลัย (๒๕๓๔)  โดยที่อาจารย์ธัญญา  สังขพันธานนท์   (ไพฑูรย์  ธัญญา)   นำมาอ่านให้ฟังในชั้นเรียน  และมันทำให้ผมอดคิดถึงเสื้อสีสวยตัวที่พี่สาวซื้อมาจากกรุงเทพฯ ไม่ได้ 

 

ทุกวันนี้...
ผมยังคงชื่นชอบบทกวีบทนี้  บางท่อน ผมก็ท่องจำจนขึ้นใจ ...

หมายเลขบันทึก: 198469เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2008 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

* ช่วงพานศ.ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านก็เช่นกันค่ะคุณแผ่นดิน

*

* บ้านมีแต่ผู้เฒ่า ผู้แก่ และ เด็กน้อย ... ไม่มีวัยแรงงานเลย

* ...  สาเหตุจากสภาพเศรษฐกิจ ปัญหาสภาพภูมิอากาศ

* ปัญหาค่านิยม ปัญหาแรงงาน และอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ๋ค่ะ

* ....

* ถามคนที่เคยอยู่กทม. มา ตอบแทบจะเหมือนกัน หากเลือกได้

* ไม่มีใครอยากใช้ขีวิตที่นั่นค่ะ ... ยกเว้นคนที่มีบ้านเกิดโตกทม.

* เคยถามบรรดาแท็กซี่ คนใช้แรงงานแทบทุกคน จะกลับบ้าน

* ....

* ทำงานเพื่อหาเงิน เงินทุนสักก้อน แล้วกลับไปทำสวน ทำไร่

* ใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านนอก ... แต่หากคิดในทางกลับกันล่ะคะ

* เวลาที่พวกเขาต้องสูญเสียไป คุ้มหรือไม่ เจ้าของเท่านั้นจะตอบได้นะคะ ...

* ....

* บันทึกนี้ มีหลายๆ ประเด็นมากๆเลยค่ะคุณแผ่นดิน หากจะคิดต่อ

* ปัญหาด้านการใช้แรงงาน ปัญหาสวัสดิการ สิ่งแวดล้อม และ

* ปัญหาหลักประกันสังคม ...  แล้วสุดท้ายก็จบที่ การศึกษา เอวัง

* ...

* อ่านบันทึกนี้แล้ว มีงานให้ต้องทำได้อีกเยอะเลยค่ะ คุณแผ่นดิน

* ... 

อิ่มอร่อยมื้อเย็นหรือยังคะ ...  ฝันดีล่วงหน้า ราตรีสวัสดิ์นะคะ ...

...  ภาพนี้ตัวอย่าง ครอบครัวหนึ่ง มีแต่ตา ยาย และ หลาน ค่ะ ...

สวัสดีครับ  อ.แผ่นดิน

  •  ความเปลี่ยนแปลงของสังคม มันพาให้ค่าของความเป็นไทย หายไปด้วย  หมายถึงว่า ความรัก ความเอื้ออาทร ของคนในสังคมชนบท
  • วัตถุนิยม...และเทคโนโลยี มันฉุดกระชากอะไรต่อมิอะไรไปหมดสิ้นไปจริงๆ   เหลือไว้แต่ซากคันไถเหี้ยนๆ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ

ถ้าชาวอิีสานได้อ่าน

คงอยากจะหอบสังขารกลับบ้านเสียเดี๋ยวนี้

ที่สถานีอนามัยที่ทำงานอยู่ ดูแลชีวิตคนอีสานมิใช่น้อย

บางคนก็ต้องกลับบ้าน ด้วยอาการไม่ครบ

ขอเป็นแรงใจ ให้ทุกคน จงกลับคืนถิ่น รักษาท้องไร่ ท้องนาของเราไว้เถิด

สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน

  • ชีวิตมากมายนะคะที่จบลงด้วยน้ำตาของคนที่อยู่ข้างหลัง แต่ละชีวิตล้วนต้องดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอด ท้ายสุดบ้างก็พบจุดจบเอาง่ายๆ
  • ทุกคนต่างพากันเสาะแสวงหา ด้วยคาดหวังว่าชีวิตจะได้มีอะไรที่ดีๆ  เหมือนกันนะคะไม่ว่าจะชาวโรงงานหรืออาชีพอื่น
  • ได้อ่านเรื่องที่ท่านบันทึกจนจบ เศร้านะคะแต่นี่ก็อีกชีวิตหนึ่งที่ดิ้นรน  คนเขียนเก่งมากค่ะ  และขอชมคนนำมาเผยแพร่ต่อแนวคิดยอดเยี่ยมมากค่ะ  ต้องขอขอบคุณที่นำเรื่องดีๆมาบอกเล่าสู่กัน   ในฐานะคนบ้านนอกอ่านแล้วทำให้คิดถึงบ้านมากขึ้น  เพราะพบแล้วเหมือนกันว่าไม่มีที่ใดอบอุ่นและสุขใจเหมือนบ้านเกิดของเรา ...คิดถึงบินหลา....จริงๆ

สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน เห็นด้วยกับความคิดของอาจารย์ สำหรับดิฉันเองคงจะขออยู่บ้านนอกจนตายเช่นกัน อากาศดี ชีวิตไม่รีบร้อนสบายๆๆ ปี 2539 ไปอบรมที่กรุงเทพฯ 3 เดือน พวกเราชาวต่างจังหวัดพากันไปถึงห้องเรียนประมาณ 8.00น.แต่เพื่อนเป็นคน กทม. มาถึงตั้งแต่ 7.00น. เค้าบอกว่าคนต่างจังหวัดเฉื่อย ตื่นสาย ขำเค้านะคะ ไม่โกธรเขาหรอกค่ะ เพราอยู่บ้านเรา ตื่น 7.00น.ก็ยังมาทำงานทัน

หัวหน้าฯ

ตอนนี้เอี้ยกะมาฮอดกุงเทบแล้วเด้อ  มาฮอดหวั่งฮั่นหละ  ตอนนี้อยู่กับพ่อครูบาห้อง 814 พ่อนอนเอี้ยเลยยาดใซ้ LAN เล่นเนทได่  อิอิ เด๋วเซ้าสิพาพ่อไปเฮ็ดพาสปอร์ต  บ่ายๆส่งพ่อกลับ  เอี้ยจั๋งสิไปศาลายา  มื่ออื่นอบรมฯยาว...

เอี้ยกะบออายสิบอกไผวาเป็นลาว สาวอีสาน ป้าดอีโธ้...อีสานบ้านเฮาไผวามันแล้ง  มาเบิ่งมาแหงงซ้าก่อนเด้อ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท