Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) กับการสร้างพฤติกรรมทางจริยธรรมในมหาวิทยาลัย


 ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  (Transformational   leadership)  หมายถึง  รูปแบบของผู้นำที่แสดงออกโดยมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและสมมุติฐานของสมาชิกในองค์การ  และสร้างความผูกพันในการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ขององค์การ  โดยการเปลี่ยนสภาพหรือเปลี่ยนแปลงความพยายามของผู้ร่วมงานให้สูงขึ้นกว่าความพยายามที่คาดหวัง  พัฒนาความสามารถของผู้ร่วมงานไปสู่ระดับที่สูงขึ้นและมีศักยภาพมากขึ้น

ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  เป็นกระบวนการที่ผู้นำมีอิทธิพลต่อผู้ร่วมงานและผู้ตามโดยเปลี่ยนแปลงความพยายามของผู้ร่วมงานและผู้ตามให้สูงขึ้นกว่าความพยายามที่คาดหวัง  พัฒนาความสามารถของผู้ร่วมงานและผู้ตามไปสู่ระดับที่สูงขึ้นและศักยภาพมากขึ้น  ทำให้เกิดการตระหนักรู้ในภารกิจและวิสัยทัศน์ของทีมและขององค์การ  จูงใจให้ผู้ร่วมงานและผู้ตามมองให้ไกลเกินกว่าความสนใจของพวกเขาไปสู่ประโยชน์ของกลุ่มองค์การหรือสังคม  ซึ่งกระบวนการที่ผู้นำมีอิทธิพลต่อผู้ร่วมงานหรือผู้ตามนี้ จะกระทำโดยผ่านองค์ประกอบพฤติกรรมเฉพาะ  4  ประการของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  หรือที่เรียกว่า “4I’s” (Four  I’s) คือ

 1.1  การมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์ (Idealized  Influence หรือ Charisma  Leadership : II หรือ CL)  หมายถึง  การที่ผู้นำประพฤติตัวเป็นแบบอย่าง  หรือเป็นโมเดลสำหรับผู้ตาม  ผู้นำจะเป็นที่ยกย่อง  เคารพนับถือ  ศรัทธา  ไว้วางใจ  และทำให้ผู้ตามเกิดความภาคภูมิใจเมื่อร่วมงานกัน  ผู้ตามจะพยายามประพฤติปฏิบัติเหมือนกับผู้นำและต้องการเลียนแบบผู้นำของเขา   สิ่งที่ผู้นำต้องปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงคุณลักษณะนี้  คือ  ผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์และสามารถถ่ายทอดไปยังผู้ตาม  ผู้นำจะมีความสม่ำเสมอมากกว่าการเอาแต่อารมณ์  สามารถควบคุมอารมณ์ได้ในสถานการณ์วิกฤต  ผู้นำเป็นผู้ที่ไว้ใจได้ว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง    ผู้นำจะเป็นผู้ที่มีศีลธรรมและมีจริยธรรมสูง  ผู้นำจะหลีกเลี่ยงที่จะใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน  แต่จะประพฤติตนเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นและเพื่อประโยชน์ของกลุ่ม  ผู้นำจะแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาด  ความมีสมรรถภาพ  ความตั้งใจ  การเชื่อมั่นในตนเอง  ความแน่วแน่ในอุดมการณ์  ความเชื่อและค่านิยมของเขา  ผู้นำจะเสริมความภาคภูมิใจ  ความจงรักภักดี  และความมั่นใจของผู้ตาม  และทำให้ผู้ตามมีความเป็นพวกเดียวกันกับผู้นำ  โดยอาศัยวิสัยทัศน์และการมีจุดประสงค์ร่วมกัน  ผู้นำแสดงความมั่นใจช่วยสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน  เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ผู้ตามจะเลียนแบบผู้นำและพฤติกรรมของผู้นำจากการสร้างความมั่นใจในตนเอง  ประสิทธิภาพและความเคารพในตนเอง  ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงรักษาอิทธิพลของตนในการบรรลุเป้าหมายและปฏิบัติภาระหน้าที่ขององค์การ

1.2  การสร้างแรงบันดาลใจ  (Inspiration  Motivation : IM)  หมายถึง  การที่ผู้นำจะประพฤติในทางที่จูงใจให้เกิดแรงบันดาลใจกับผู้ตาม  โดยการสร้างแรงจูงใจภายใน  การให้ความหมายและท้าทายในเรื่องงานของผู้ตาม  ผู้นำจะกระตุ้นจิตวิญญาณของทีม (Team  spirit) ให้มีชีวิตชีวา  มีการแสดงออกซึ่งความกระตือรือร้น  โดยการสร้างเจตคติที่ดีและการคิดในแง่บวก  ผู้นำจะทำให้ผู้ตามสัมผัสกับภาพที่งดงามของอนาคต  ผู้นำจะสร้างและสื่อความหวังที่ผู้นำต้องการอย่างชัดเจน  ผู้นำจะแสดงการอุทิศตัวหรือความผูกพันต่อเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกัน  ผู้นำจะแสดงความเชื่อมั่นและแสดงให้เห็นความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้  ผู้นำจะช่วยให้ผู้ตามมองข้ามผลประโยชน์ของตนเพื่อวิสัยทัศน์และภารกิจขององค์การ  ผู้นำจะช่วยให้ผู้ตามพัฒนาความผูกพันของตนต่อเป้าหมายระยะยาว  และบ่อยครั้งพบว่า  การสร้างแรงบันดาลใจนี้  เกิดขึ้นผ่านการคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคลและการกระตุ้นทางปัญญา  ช่วยให้ผู้ตามจัดการกับอุปสรรคของตนเองและเสริมความคิดสร้างสรรค์

 1.3  การกระตุ้นทางปัญญา  (Intellectual  Stimulation : IS)  หมายถึง  การที่ผู้นำมีการกระตุ้นผู้ตามให้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน  ทำให้ผู้ตามมีความต้องการหาแนวทางใหม่ๆมาแก้ปัญหาในหน่วยงาน  เพื่อหาข้อสรุปใหม่ที่ดีกว่าเดิม  เพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่และสร้างสรรค์  โดยผู้นำมีการคิดและการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  มีการตั้งสมมุติฐาน  การเปลี่ยนกรอบ (Reframing)  การมองปัญหา  และการเผชิญกับสถานการณ์เก่าๆด้วยวิถีทางใหม่แบบใหม่ๆ  มีการจูงใจและสนับสนุนความคิดริเริ่มใหม่ๆในการพิจารณาปัญหาและการหาคำตอบของปัญหา  มีการให้กำลังใจผู้ตามให้พยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ  ผู้นำมีการกระตุ้นให้ผู้ตามแสดงความคิดและเหตุผล  และไม่วิจารณ์ความคิดของผู้ตาม  แม้ว่ามันจะแตกต่างไปจากความคิดของผู้นำ  ผู้นำทำให้ผู้ตามรู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ท้าทายและเป็นโอกาสที่ดีที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน  โดยผู้นำจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ตามว่าปัญหาทุกอย่างต้องมีวิธีแก้ไข  แม้บางปัญหาจะมีอุปสรรคมากมาย  ผู้นำจะพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างได้  จากความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาของผู้ร่วมงานทุกคน  ผู้ตามจะได้รับการกระตุ้นให้ตั้งคำถามต่อค่านิยมของตนเอง  ความเชื่อและประเพณี  การกระตุ้นทางปัญญา  เป็นส่วนที่สำคัญของการพัฒนาความสามารถของผู้ตามในการที่จะตระหนัก  เข้าใจ  และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

 1.4  การคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล  (Individualized  Consideration : IC)  ผู้นำจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลในฐานะเป็นผู้นำให้การดูแลเอาใจใส่ผู้ตามเป็นรายบุคคลและทำให้ผู้ตามรู้สึกมีคุณค่าและมีความสำคัญ  ผู้นำจะเป็นโค้ช (Coach)  และเป็นที่ปรึกษา (Advisor) ของผู้ตามแต่ละคน  เพื่อการพัฒนาผู้ตามผู้นำจะเอาใจใส่เป็นพิเศษในความต้องการของปัจเจกบุคคล  เพื่อความสัมฤทธิ์ผลและเติบโตของแต่ละคน  ผู้นำจะพัฒนาศักยภาพของผู้ตามและเพื่อนร่วมงานให้สูงขึ้น  นอกจากนี้ผู้นำจะมีการปฏิบัติต่อผู้ตามโดยการให้โอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  สร้างบรรยากาศของการให้การสนับสนุน  คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านความจำเป็นและความต้องการ  การประพฤติของผู้นำแสดงให้เห็นว่าเข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล  เช่น  บางคนได้รับกำลังใจมากกว่า  บางคนได้รับอำนาจการตัดสินใจด้วยตนเองมากกว่า  บางคนมีมาตรฐานที่เคร่งครัดว่า  บางคนมีโครงสร้างงานที่มากกว่า  ผู้นำมีการส่งเสริมการสื่อสารสองทาง  และมีการจัดการด้วยการเดินดูรอบๆ (Management  by  walking  around) มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ตามเป็นการส่วนตัว  ผู้นำสนใจในความกังวลของแต่ละบุคคล  เห็นปัจเจกบุคคลเป็นบุคคลทั้งครบ (As  a  whole  person)  มากกว่าเป็นพนักงานหรือเป็นเพียงปัจจัยการผลิต  ผู้นำจะมีการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ  มีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy)  ผู้นำจะมีการมอบหมายงานเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้ตาม  เปิดโอกาสให้ผู้ตามได้ใช้ความสามารถพิเศษอย่างเต็มที่และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่ท้าทายความสามารถ  ผู้นำจะดูแลผู้ตามว่าต้องการคำแนะนำ  การสนับสนุนและการช่วยให้ก้าวหน้าในการทำงานที่รับผิดชอบอยู่หรือไม่  โดยผู้ตามจะไม่รู้สึกว่าเขากำลังถูกตรวจสอบ (รัตติกรณ์ , 2545 : 39 - 41) 

จากความหมายและองค์ประกอบของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  จะเห็นได้ว่า ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในชีวตและการทำงานของบุคคลเป็นอย่างมาก ดังนั้น  ผู้บริหารการศึกษา  จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับที่สูงขึ้น โดยมหาวิทยาลัยควรมีนโยบายสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับนักศึกษา ทุกคณะ  เพื่อให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของภาวะผู้นำและแสดงพฤติกรรมภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น โดยฝึกการสร้างวิสัยทัศน์  การคิดและการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ  การวางแผน การตั้งเป้าหมาย ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงาน  การมองปัญหา  และการเผชิญกับสถานการณ์เก่าๆ ด้วยวิถีทางใหม่แบบใหม่ๆ  การทำงานร่วมกันเป็นทีม  การพัฒนาเพื่อนร่วมงานให้มีความสามารถในการทำงาน จูงใจให้ปฏิบัติงานโดยเน้นประโยชน์ของกลุ่ม คอยส่งเสริมและให้กำลังใจแก่กลุ่ม การบริหารอารมณ์และการบริหารความเครียด การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาสามารถพัฒนาตนเองให้มีระดับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับสูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการเรียน  การทำงานและเพิ่มโอกาสก้าวหน้าในชีวิตมากขึ้น  โดยผู้บริหารสามารถเพิ่มทักษะภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ จากการจัดโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ หรือสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่มีองค์การต่างๆจัดขึ้น ดังนี้

    1.      โครงการครูบ้านนอก (มูลนิธิกระจกเงา จ.เชียงราย) http://www.bannok.com/volunteer/

2.      โครงการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสและผู้ประสบภัยทางธรรมชาติต่างๆ  http://www.siamvolunteer.com/

3.      โครงการอบรมค่ายพุทธบุตร http://www.watphrasri.org/bhutabut_web/index.html

4.      โครงการเลี้ยงอาหารกลางวันแก่เด็กๆในโรงเรียนชนบท http://www.volunteerspirit.org/

5.      โครงการค่ายอาสาเพื่อพัฒนาชนบท http://www.klong6.com/index.php , http://www.rsalife.com/rsa1.htm

6.      โครงการปลูกต้นไม้และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ http://www.redbullspirit.org/index.php

7.      โครงการที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น โครงการอบรมพัฒนาจิตเพื่อพ่อ http://www.watpacharoenrat.com/

8.   โครงการต้นกล้าสีขาว http://www.bizethics.ktb.co.th/home1.jsp

9.   โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม http://www.thaivolunteer.org/

10. โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา  http://www.volunteerspirit.org/

 โดยโครงการและกิจกรรมต่างๆนี้ จะช่วยพัฒนาทักษะภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในองค์ประกอบทั้ง 4 ด้าน พร้อมเสริมสร้างพฤติกรรมจริยธรรมต่างๆของนักศึกษาให้มีมากขึ้น บางโครงการหรือกิจกรรมนั้นภาคธุรกิจเป็นผู้จัดโครงการเพื่อสังคมเหล่านี้  เมื่อนักศึกษาได้ไปเข้าร่วมก็จะได้ความรู้ในการบริหารจัดการและมีเพื่อนต่างสถาบันมากขึ้น เพิ่มเครือข่ายการเรียนรู้ได้ดี และที่สำคัญผู้บริหารการศึกษาจะต้องมีการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์  วิทยุกระจายเสียง ป้ายประกาศ  เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย และหนังสือแจ้งเกี่ยวกับกิจกรรมไปยังภาควิชาและคณะต่างๆในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาทุกคนรับทราบอย่างทั่วถึง ส่งเสริมให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและแสดงพฤติกรรมทางจริยธรรมเพิ่มขึ้น

 

 



ความเห็น (5)

เราเชื่อว่าความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สามารถสร้างได้

และการสร้างพฤติกรรมทางจริยธรรมให้เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ทำได้

เพื่อให้นักศึกษาเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง

โดยใช้กระบวนการการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ

ปรับทัศนคติ และเพิ่มวิสัยทัศน์ในการเรียนรู้ ผ่านประสบการณ์ต่างๆ

แล้วเราจะพบว่า.....

อัจฉริยะ สร้างได้ จริงๆค่ะ

ขอบคุณค่ะ ดีมากๆเลย

ขอบคุณมากนะคะ

ที่เข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็น

ขอให้โชคดีค่ะ

พรุ่งนี้จะสอบ Compre เลยเข้ามาหาความรู้ ขอบคุณนะคะ

ผมขอแบบสอบถาม ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไปทำวิจัยได้ป่าวคับ

ถ้าได้จะเป็นความกรุณาอย่างสูงเลยคับ

[email protected]

ขอบคุณล่วงหน้าคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท