หลังจากดิฉันนำเสนอเรื่องเล่า "พบกันคนละครึ่งทาง" ไปแล้ว มีผู้ไม่ประสงค์ออกนามเขียนข้อคิดเห็นมาว่าการกระตุ้นให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเป็นประจำไม่เป็นเรื่องยาก แต่การให้คุมอาหารเป็นเรื่องยากกว่ามาก ต้องขอขอบคุณผู้ไม่ประสงค์จะออกนามท่านนี้อย่างมาก ที่เปิดประเด็นที่น่าสนใจ ดิฉันจึงขอนำข้อคิดเห็นนี้มาลงไว้ เพื่อให้สมาชิกได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดิฉันคุยกับทีม diabetes educators ของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ให้ช่วยเล่าเรื่องความสำเร็จในการช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมอาหาร ว่าใช้วิธีการอย่างไร ผู้ป่วยและครอบครัวมีวิธีการปฏิบัติอย่างไรจึงคุมอาหารได้ กำลังทั้งเร่ง ลุ้นและรอเรื่องเล่านี้อยู่ค่ะ
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามมีข้อคิดเห็นดังนี้ : จากประสบการณ์ที่ดิฉันได้รับจากการดูแลคุณพ่อซึ่งป่วยเป็นเบาหวาน ดิฉันคิดว่าการกระตุ้นให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเป็นประจำไม่ได้เป็นเรื่องยากเลย ปัจจุบันคุณพ่อดิฉันออกกำลังกายวันละชม.ทุกเช้าและเย็น แต่ก็ยังควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีนัก เพราะคุมอาหารได้ไม่ดี ประเด็นอยู่ที่ว่าท่านไม่ทราบว่าอะไรคือ "หวาน"
ตัวอย่างเช่น ล่าสุดดิฉันเดินทางกลับไปเยี่ยมคุณพ่อ แล้วเห็นท่านทานมังคุด ดิฉันก็ห้ามไม่ให้กิน แต่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่กลับพร้อมใจกันบอกว่า "ไม่หวาน มันออกเปรี้ยวต่างหาก" ดิฉันลองทานดู ก็รู้สึกว่าหวานอมเปรี้ยว แต่รู้สึกได้ว่าหวานนำ เพราะปกติก็เป็นคนไม่กินของหวานอยู่แล้ว
ผลไม้ที่ไม่ค่อยหวาน อย่างเช่น แอปเปิ้ล ท่านก็ไม่ทาน ดิฉันบอกให้เน้นทานผักเป็นหลักแทน เช่น แตงกวา มะเขือเทศ ผักเขียว แทนผลไม้แล้วกัน ท่านก็ไม่ค่อยยอมทาน พูดย้ำบ่อยๆ ท่านก็จะหงุดหงิด ความดันก็เลยขึ้น
ดังนั้น ดิฉันจึงอยากบอกว่า เรื่องคุมอาหารเป็นเรื่องที่ยากมากคะ
คุณสุนทรี นาคะเสถียร ผู้จัดการฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัย ของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ได้ให้ข้อคิดเห็น "คุณพ่อที่เป็นเบาหวานท่านสามารถกินผลไม้ได้ทุกอย่างแม้มีรสหวาน เพียงท่านรู้เพิ่มเติมว่าจะกินได้สักครั้งละเท่าไร...... ดิฉันเสนอให้เริ่มด้วยการถามท่านว่า อยากกินอะไรบ้าง แล้วก็หาข้อมูลว่าปริมาณที่เหมาะคือเท่าไร"
สมาชิกท่านใดมีประสบการณ์ในเรื่องนี้เขียนมาแลกเปลี่ยนกันดีไหมคะ
วัลลา ตันตโยทัย
๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๘