เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ด้วยความใจดีของคุณ Morning glory ให้ยืมอ่านหนังสือ “คู่มือวิทยากรอบรม” เล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง เขียนโดย จอห์น ทาวน์เซนด์ (แปลโดย บุญเลิศ วงศ์พรม) เห็นว่ามีอะไรน่าสนใจจึงอยากนำมาฝาก “คุณอำนวย” ทั้งหลายค่ะ
ส่วนที่น่าสนใจที่ได้จากหนังสือ คือ เรื่องการเรียนรู้ ที่ชี้ว่า “สมอง” ของคนจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี เมื่อเขาอยากรู้ หรือได้รับการฝึกฝนอยู่ประจำ และในบรรยากาศที่ไม่เป็นแบบแผน การทำให้สิ่งที่เรียนรู้เชื่อมโยงกับประสบการณ์ในอดีต – ปัจจุบัน และอนาคตได้เป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมการเรียนรู้ โดยจากผลการวิจัยยังพบอีกว่า สมองคนเรามักจะจดจำเหตุการณ์ในตอนเริ่มต้นและตอนจบของเรื่องได้ดี แถมยังจำเรื่องที่แปลกประหลาดได้ดีกว่าเรื่องธรรมดา และการทบทวนบทเรียนบ่อยๆ และคิดเชื่อมโยงจะทำให้เราจำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น
แต่อุปสรรคที่สำคัญต่อการเรียนรู้ ก็คือ ความคิดและความเชื่อเก่าๆ นั่นเอง ถ้าสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ไปขัดแย้งกับความคิดและทัศนคติเก่าที่มีอยู่ เขาจะพยายามไม่รับ/ บิดเบือนสารความรู้ใหม่นั้นไม่ให้มันไปขัดแย้งกับความเชื่อเดิมที่ติดอยู่
อีกจุดที่น่าสนใจในหนังสือ คือ การกล่าวถึงประสิทธิภาพของการจัดอบรมในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน เช่น การใช้กรณีศึกษา เป้าหมายเหมาะกับการสร้างทักษะการแก้ปัญหา, การใช้แบบเรียนสำเร็จรูป เหมาะกับการทำให้จดจำความรู้ได้ดี, การทำ Workshop จะทำให้ความรู้ที่ได้รับนั้นสูงกว่าวิธีอื่นๆ และ การใช้การแสดงบทบาท (ละคร) จะทำให้สร้างมนุษยสัมพันธ์ได้ดี ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เขาได้จากการสังเคราะห์การอบรมด้วยวิธีหลายๆ แบบ
นี่ความรู้ส่วนหนึ่งที่ได้จากหนังสือเล่มน้อยที่อยากนำมาฝากค่ะ
ไม่มีความเห็น