นกเสรีไทย…ความทรงจำที่ยังมีชีวิต


นกเสรีไทย…ความทรงจำที่ยังมีชีวิต

นกเสรีไทย

" ความทรงจำที่ยังมีชีวิต "

                       เรื่องนี้มันต้องมาจากที่บ้านผมเคยเลี้ยงนกอยู่หลายตัวเลยล่ะ แต่ก็ไม่รู้ประวัติแท้ ๆ กัน นอกจาก นกปรอดหัวโขน หรือที่ชาวปักษ์ใต้ผมเรียก นกกรงหัวจุก แล้ว ผมก็ชื่นชอบนกที่มีชื่อว่าเขียวหรือสีเขียวเอามาก ๆ เพราะตัวเองเกิดวันพุธ และก็นั่นล่ะชอบมาก ๆ ที่บ้านก็จะสรรหา สิ่งมีชีวิตสีเขียว ๆ มาอยู่ด้วยเป็นอันมาก อาทิเช่น นกเขียวคราม นกแก้ว นกสาลิกา นกหกเล็ก นกเปล้า และที่คลั่งไคล้มาก ๆ ก็ นกเขียวก้านตองนี่ล่ะ มีมันเกือบทุกพันธุ์ย่อย เลยก็ว่า ได้ แต่ก็รู้ครับว่ามันผิดกฎหมาย เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ก็หายห่วง เพราะพ่อกระผมเองก็ชอบเช่นกัน ท่านเลยไปจดทะเบียนกับกรมป่าไม้ สำนักงานย่อยตามที่ รัฐบาลประกาศอนุโลมให้เรียบร้อยไปแล้ว แต่ก็นั่นล่ะครับ นกเสรีไทย...ทำไม่มาหมดเสรีภาพ อยู่ในกรงขัง ! “ เฮ้อ...จึงไม่เลี้ยงมันแล้วเดี๋ยวนี้เหลือบางตัวที่ไม่สามารถปล่อยได้ ต้องเลี้ยงต่อ เพราะมันหากินไม่เป็นแล้ว  เอ้อ ! มือถือสากปากถือศีลซะงั้น เหอ ๆ  เอาล่ะ ไปทราบประวัติกันหน่อย......

 

ทำไมถึงชื่อ....นกเสรีไทย

 

เมื่อ ปี พ.ศ.2489 สถาบันสมิธโซเนียน แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตั้งชื่อ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า  หรือ นกเขียวลออ  ซึ่ง เฮอร์เบิร์ต จี. เด็กแนน พบที่บ้านท่าล้อน ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ ปี พ.ศ.2489 ว่า Chloropsis Cochinchinensis Serithai “ หรือ นกเสรีไทย  เพื่อให้เป็นเกียรติและเป็นที่ระลึกแก่ขบวนการเสรีไทย 

 

มารู้จักนกเสรีไทย หรือ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้ากันเหอะ !

 

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า chloropsis cochinchinensis (blue-winged leafbird)

                ชื่อสามัญ: Blue-winged Leafbird  ชื่อวิทยาศาสตร์: Chloropsis cochinchinensis

เป็นชนิดพันธุ์หนึ่งของสกุลนกเขียวก้านตองลักษณะพิเศษคือมีแถบสีฟ้าที่ขอบปีกด้านนอก ยาวตั้งแต่หัวปีกถึงปลายปีก โดยความเข้มอ่อนขึ้นอยู่กับอายุและชนิดพันธุ์ย่อยของนก ชนิดพันธุ์นี้พบครั้งแรกในเขตโคชินไชน่า (ปัจจุบันคือเวียดนามใต้) จึงนำชื่อสถานที่พบมาตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า cochinchinensis

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้ามีความยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 19 เซนติเมตร ลำตัวอยู่ในแนวนอน บริเวณตะโพกมีขนยาวและฟูเช่นเดียวกับนกปรอด ปากยาว เรียวโค้ง และมีความยาวพอๆกับหัว เหมาะที่จะใช้สอดเข้าไปในกรวยดอกไม้เพื่อดูดกินน้ำหวานตอนปลายปากงุ้มลงเล็กน้อย รูจมูกเป็นรูปไข่ ขนที่หน้าผากยาวลงมาถึงรูจมูก ที่มุมปากมีขนเส้นเล็กๆแข็งๆ สั้นๆ มองเห็นไม่เด่นชัดนัก ปีกมนกลม ขนปลายปีกมี 10 เส้น ขนหางมี 12 เส้น หางยาวตัดตรง ขาและนิ้วเท้าสีเทาอมฟ้า ขาท่อนล่างสั้นมาก นิ้วเท้าเล็กยื่นไปข้างหน้า 3 นิ้วยื่นไปข้างหลัง 1 นิ้ว

ส่วนบนของลำตัวตั้งแต่หลังคอ หลัง ไหล่ ตะโพก จนถึงขนคลุมโคนหางด้านบน เป็นสีเขียวสดเช่นเดียวกับบนหัวและท้ายทอย ปีกสีเขียวเข้มแต่มีแถบสีฟ้าสะท้อนแสงที่ขนคลุมปีกเห็นได้ชัดเจน และครีบขนด้านนอกของขนปลายปีกทุกเส้นเป็นสีฟ้า แต่เห็นไม่ค่อยชัดเพราะนกมักหุบปีกตลอดเวลา แต่ถ้าหากนำไปเทียบกับนกเขียวก้านตองชนิดอื่นแล้ว จะเห็นว่านกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า มีปีกสีออกฟ้าชัดเจนกว่าแม้ว่าจะมิได้มีสีฟ้าทั่วทั้งปีก ขนหางคู่กลางเป็นสีเขียวเข้มเช่นเดียวกับปีกแต่ขนหางที่เหลืออีก 5 คู่เป็นสีฟ้าเช่นเดียวกับครีบขนด้านนอกของขนปลายปีก

 

 

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเป็นนกที่มีความแตกต่างระหว่างเพศ แบบเห็นได้ชัด โดยเพศผู้จะมีขนรอบดวงตา รอบปาก และบริเวณคางเป็นสีดำ ภายในแถบสีดำยังมีขีดสั้นๆ เฉียงๆ ีน้ำเงินอยู่สองข้างคางอีกด้วย แต่ไม่ชัดเจน นอกจากนี้รอบแถบสีดำจะมีแถบสีเหลืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งค่อยๆกลมกลืนส่วนบริเวณหัวจะมีสีเขียวออกไปทางเหลือง หน้าผากและแถบสั้นๆเหนือตาเป็นสีเหลืองสดใส แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเขียวสดทางตอนบนและด้านข้างของหัว บริเวณท้ายทอยเจือสีทองเล็กน้อย ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้มักเข้าใจผิดว่าเป็นนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง แต่จุดที่ต่างคือสีเหลืองจะไม่เข้มมาก และแถบสีฟ้าที่ปีกจะดูเด่นชัดกว่า

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า เป็นนกเขียวก้านตองที่มีชนิดพันธุ์ย่อย(สปีชีส์ย่อย) มากที่สุดในบรรดานกเขียวก้านตองทั้งหมด โดยแบ่งออกถึง 10 ชนิดย่อย

แต่ที่เรากล่าวถึงนี้ ก็คือ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเสรีไทย หรือ นกเสรีไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. serithai

ค้นพบครั้งแรกที่บ้านท่าล้อ อำเภอพูนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย Herbert g. Deignan ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติกับขบวนการเสรีไทย มีถิ่นอาศัยบริเวณทางตอนใต้ของเขตตะนาวศรีในประเทศพม่า และในประเทศไทยตั้งแต่คอคอดกระลงมาจนถึงจังหวัดตรัง

 

ที่มา : จาก คอลัมน์ รู้ไปโม้ด หนังสือพิมพ์ข่าวสด

            และ จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org

                                                                                                                                                                               ....บุญรักษา ครับพี่น้อง

หมายเลขบันทึก: 191831เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2008 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ภาพสวยคะ

ไม่ทราบเลยว่านกนี้ ชื่อ นกเสรีไทย

ขอบคุณคะ

ชอบนกที่อยู่ตามธรรมชาติมากกว่า ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท