จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ถอดออกแล้วแต่ไม่เปลือย


ช่วงนี้ไม่รู้เป็นงัยครับ ผมจะได้ยินคำว่า "ถอด" บ่อยมาก มากจน..... ฮิฮิ เมื่อวันที่ไปประชุมปฏิบัติการที่นครปฐม ระหว่างที่กำลังนั่งคุยกับท่านอาจารย์แวมายิอยู่ น้องเจ้าหน้าที่ก็มาเชิญอาจารย์ท่านเข้าร่วมประชุม โดยบอกอาจารย์ว่า อาจารย์ค่ะ เชิญเข้าประชุมเพื่อออกแบบการถอดค่ะ แล้วก็หันมามองที่ผมแล้วก็พูดขึ้นว่า ส่วนอาจารย์ไม่ต้องนะค่ะ เพราะอาจารย์จะเป็นคนถูกถอดค่ะ (แหม่ เกือบจับกระดุมไม่ทันแน่ะ)
ก่อนหน้าเดินทางไปนครปฐมก็ได้นั่งประชุม ซึ่งสกว.ภาคจัดเพื่อเตรียมงานถอดเหมือนกัน คุยกันอยู่นานครับว่าจะได้ข้อสรุป (แอะ รู้สึกว่าเขียนเล่าไปแล้ว)
ที่มีการพูดว่า "ถอด" ก็มาจากคำเต็มว่า "ถอดบทเรียน" ครับ และที่พูดถึงกันเยอะในช่วงนี้ก็เพราะเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีสกว. (หรืออะไรทำนองนี้แหละครับ) หน่วยงานต่างๆ ในภายในจึงทำการถอดบทเรียนอดีตและปัจจุบันเพื่ออนาคต
ผมนิยามการถอดครั้งนี้ให้คนที่พูดคุยกันในหลายโอกาสว่า การถอดบทเรียนไม่ได้แค่บอกว่า ผลจากการทำวิจัยแล้วได้อะไร แต่เป็นการบอกว่า บนเส้นทางของการวิจัยนั้น มีอะไรที่เป็นบริบทรอบข้างที่ทำให้ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวบ้าง แอ๊ะ! พูดอย่างนี้เข้าใจยากไปอีกมั๊งครับ เอาเป็นว่า มีอะไรนอกเหนือจากรายงานการวิจัยที่คุณๆ อยากบอกออกมาบ้าง
จากที่ได้ร่วมนั่งฟังนั่งคุย (ที่นครปฐม) แต่ส่วนใหญ่ผมเป็นประเภทนั่งฟังเสียมากกว่า เนื่องจากอาจจะเป็นนิสัยไปเสียแล้วสำหรับผม ที่เวลาได้นั่งคุยกับชาวบ้านหรือคนจากชุมชนต่างๆ มักจะชอบเก็บเกี่ยวข้อคิดดีๆ จากการพูดคุย มากกว่าจะพยายามนำเสนอของตนเองให้กับชุมชน
งานวิจัยที่นำมาถอดบทเรียนกันในครั้งนี้เป็นงานวิจัยชุมชนที่เกี่ยวข้องกับภาษาใกล้วิกฤติและภาษาถดถอย ซึ่งหัวเรือใหญ่ก็คือทีมงานจาก ม.มหิดล ผมนั่งฟังแล้วได้ข้อสรุปสำคัญหลายเรื่องครับ ขอนำเสนอตามโอกาสที่เหมาะสมแล้วกันครับ (หรือบางทีคุยกันจบในบันทึกนี้เลยก็เป็นได้)
เอาอย่างแรกก่อน คือ ที่มาของโครงการ แต่ละโครงการมีจุดเริ่มอย่างไร?
ผมได้คำตอบอย่างนี้ครับว่า จุดเริ่มของการวิจัยภาษาวิกฤตส่วนใหญ่เริ่มจากการเห็นความสำเร็จของโครงการวิจัยภาษาฌองของกำนันเฉินครับ แล้วก็นำแนวคิดของโครงการดังกล่าวไปทำในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ดังนั้นถ้าจะถามจุดเริ่มของงานวิจัยภาษาวิกฤติภาคประชาชน ก็คงต้องแบ่งออกเป็นสองแหล่งครับ คือ การเริ่มต้นจริงๆ ของลุงเฉิน และการเริ่มต้นในระยะที่สองซึ่งเป็นงานวิจัยลักษณะคล้ายๆ กันเพียงแต่เปลี่ยนกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้นเอง

(ลุงเฉิน ต้นแบบของนักวิจัยชุมชนทางด้านภาษา)

ประการแรก (กี่แรกแล้วเนี๊ยะ) ลุงเฉินหรือกำนันเฉินคนนี้ไม่ใช่ธรรมดาครับ ไม่ธรรมดาในแง่แนวความคิดครับ และที่สำคัญท่านไม่พลาดในการหยิบฉวยโอกาสที่มาถึงครับ เท่าที่ผมรับรู้จากการคุยกันคือ จะว่างานวิจัยของท่านในงานวิจัยชุมชนก็ไม่ใช่ซะทีเดียว เนื่องจากก่อนการทำวิจัยท่านคือ วิทยากรภาษาฌองของมหาวิทยาลัยมหิดล ดังนั้นจากการเป็นวิทยากรจากชุมชนอยู่ในแวดวงนักวิชาการมหาวิทยาลัย จึงนำเอากระบวนการวิจัยเข้าสู่ชุมชนได้อย่างลงตัว

ดังนั้นจุดเริ่มงานวิจัยจึงน่าจะกล่าวได้ว่าแตกต่างจากงานวิจัยชิ้นต่อๆ มาคือ งานวิจัยชิ้นแรกเป็นงานวิจัยชุมชนที่คนเริ่มต้นมีความเป็นนักวิชาการชุมชน ซึ่งผมเองชื่นชมคนกลุ่มนี้มากครับ เขามีมิติของการคิดที่แตกต่างจากคนทั่วๆ และที่สำคัญคือมีความกล้าและทรัพยากรอยู่ในมือ จากความสำเร็จของลุงเฉินนำไปสู่การวิจัยต่อยอดในชุมชนของลุงเฉินเอง โดยขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน ขณะเดียวกันทีมพี่เลี้ยงก็นำความสำเร็จดังกล่าวไปสู่การเผยแพร่และกระตุ้นชุมชนอื่นๆ ที่มีความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มาสู่กระบวนการของงานวิจัยชุมชน


คุณประชุมพร (แกนนำนักวิจัยชุมชนจากราชบุรี ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับ) คุยให้ฟังว่า เมื่อตัวของท่านและแกนนำชุมชนในหมู่บ้านไปเห็นความสำเร็จของลุงเฉินจากนิทรรศการที่ม.มหิดลนำเสนอในอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ แกนนำชุมชนของท่านประกาศว่า สักวันหนึ่งรูปถ่ายของฉันจะมาติดอยู่ ณ อาคารอันทรงเกียรติแห่งนี้ อาคารซึ่งมีพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเทพฯ อยู่ด้านหน้าอาคาร เช่นเดียวกับลุงเฉิน แล้วนั้นก็กลายเป็นแรงบันดาลให้เกิดการเคลื่อนไหวของงานวิจัยภาษาถิ่นในชุมชน ซึ่งปรากฏว่า ความรู้สึกคล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นในทุกงานวิจัยเลยครับ

(ผอ.ประชุมพร หนึ่งในนักวิจัยชุมชน)

ท่านผอ.ประชุมพร ท่านนำเสนอแนวทางการสร้างทีมวิจัยชุมชนได้อย่างน่าสนใจครับ การสร้างแนวร่วมทางความคิดเพื่อการขับเคลื่อนงานวิจัยชุมชนไม่ใช่เรื่องง่ายครับ (ผมเองก็ยังไม่ค่อยจะทำสำเร็จสักเท่าไร) ในการพูดคุย ผมได้ยินวาทะเด็ดของท่านครับ ท่านพูดไว้ว่า "ใครพอกราบได้กราบ ใครพอกอดได้กอดครับ"

 

 

ก่อนจะคุยต่อ ขออนุญาตสร้างความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับงานวิจัยภาษาวิกฤติก่อนนะครับว่า ส่วนใหญ่งานวิจัยกลุ่มนี้มักจะเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเขียนให้กับภาษาถิ่นที่ใกล้สูญหาย เนื่องจากเจ้าของทฤษฏีเชื่อว่า วิธีการอนุรักษ์ภาษาวิกฤติวิธีการหนึ่ง คือ การให้มีระบบเขียน โดยการนำเอาอักษรของภาษาราชการมาใช้เขียนนั่นเอง ซึ่งจากการคุยกันพบว่า มีกรณีงานวิจัยของภาษามอน น่าจะไม่เข้าค่ายดังกล่าว แต่ยังมีการเอามาทำเป็นงานวิจัยในรูปแบบเดียวกันได้อีก (ในทัศนะของผมนะครับ แต่ฟังๆ ดูแม้กระทั่งทีมพี่เลี้ยงหลายท่านก็เห็นด้วย)  เนื่องจากภาษามอนมีระบบเขียนเป็นของมอนเองแล้ว เพียงแต่ส่วนใหญ่คนที่เรียนที่เขียนที่อ่านกันคือกลุ่มผู้ชาย และเริ่มมีการนำอักษรไทยมาใช้เขียนมากขึ้น นักวิจัยกลุ่มนี้จึงสร้างระบบเขียนด้วยอักษรไทยขึ้น หัวหน้าทีมวิจัยนำโดยหญิงวัยเจ็ดสิบกว่าปีครับ น่าทึ่งจริงๆ ออ.ลุงเฉินก็เจ็ดสิบกว่าแล้วเหมือนกันครับ แต่ดูว่าทั้งคู่จะแข็งแรงสุขภาพดีจริงๆ

(คุณยายนักวิจัยภาษาวัยเจ็ดสิบกว่า ขออภัยจำชื่อท่านไม่ได้จริงๆ)

งานวิจัยที่ได้พบปะกันครั้งนี้ถึงแม้จะหลากหลายภาษาหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ปรากฏว่า ทุกวิจัยมีกระบวนการวิจัยที่คล้ายกันมากการพัฒนาโจทย์วิจัย และการเตรียมนักวิจัยชุมชนที่ใช้เวลานานพอสมควร และความท้าทายอยู่ที่การสร้างความเข้าใจในโครงการวิจัยและการสร้างทีมนักวิจัยที่จะต้องมีความหลากหลายกลุ่มแนวร่วม จะพบว่าเป้าหมายสุดท้ายของการวิจัยมักจะลงไปที่ต้องการให้มีการนำไปใช้ได้จริง และสถานที่สำคัญที่ต้องการให้เอาไปใช้จริงคือ "โรงเรียน"

(ผอ.โรงเรียนที่เป็นกำลังสำคัญในการนำภาษาฌองสู่โรงเรียน)

(ครูชาวบ้านที่ทุ่มเทเพื่อการสอนภาษาฌองในโรงเรียน)


ประเด็นที่โครงการวิจัยที่มีความหลากหลายกลุ่มชนแต่มีเกือบทุกเรื่องเหมือนกันได้ อันนี้ผมว่าน่าคิดนะครับ น่าคิดว่าทำไมเหมือนกันได้ หรือทำไมทำให้เหมือนกัน (อันนี้คิดแบบด้านลบ) หรือมีตัวบงชี้ใดว่า ทุกภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีสภาพเหมือนกัน ซึ่งนั้นก็น่าจะหมายความว่า อาจจะถูกกระทำด้วยต้นเหตุเดียวกัน ซึ่งต้นเหตุนี้น่าจะใหญ่มากใหญ่พอที่จะทำให้ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศน่าเป็นห่วง แล้วนิสัยหรือสภาพการแก้ไขปัญหาโดยกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้นเหมือนกันหมดเลยในอดีต ไม่ว่าจะเป็นคนฌอง คนเขมร คนมอน คนจะกั๊วะ ผีตองเหลือง คนมลายู ฯลฯ สารพัดกลุ่มชาติพันธุ์มีพฤติกรรมกลุ่มเหมือนกัน คำถามคือ "เป็นอย่างนั้นจริงหรือ?"
ประเด็นต่อมา การมองความสำเร็จของทุกโครงการวิจัยระบบเขียนภาษากลุ่มชาติพันธุ์ไปที่โรงเรียน โดยแนวคิดที่ว่า หากเด็กได้เรียนรู้ด้วยภาษาแม่ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มภาษาทางการไปทีละนิดจะทำให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น แนวคิดนี้ผมไม่ค้านครับ เพียงแต่ให้ข้อสังเกตว่า ระบบเขียนที่พัฒนาขึ้นส่วนใหญ่จะมีความซับซ้อนกว่าระบบเขียนในภาษาไทยครับ เนื่องจากทั้งหมดยังยึดหลักภาษาไทยแต่เพิ่มหน่วยเสียงของภาษาถิ่นลงไป แสดงว่าถ้าจะให้ง่ายต้องอ่านภาษาไทยออกก่อนแล้วค่อยเรียนภาษาถิ่น (อันนี้พิจารณาจากความซับซ้อนของหน่วยเสียงที่เพิ่มขึ้น ประเด็นนี้ผมขออธิบายเชิงแย้งแนวคิดในบันทึกต่อๆ ไปแล้วกันนะครับ เนื่องจากผมอยากสังเคราะห์โครงการทวิภาษาฯ ที่นำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้อยู่ด้วย หากมีโอกาสจะเขียนอีกทีหนึ่งแล้วกันครับ)
ผมนั่งฟังท่านหนึ่งจากทีมนักวิจัยเล่าสภาพชุมชนในหมู่บ้านไว้ว่า ในพื้นที่ตำบลนั้นไม่ได้มีเพียงกลุ่มชาติพันธุ์เดียว แต่ประกอบด้วยหลายกลุ่ม และกลุ่มเขาคือกลุ่มแรกที่กำลังเริ่มพัฒนาระบบเขียนขึ้น และพยายามพลักดันให้นำไปสู่ในโรงเรียนให้ได้ คำถามในใจผมก็เกิดขึ้นมาว่า แล้วกลุ่มชาติพันธุ์อื่นจะรู้สึกอย่างไร สมมติเป็นไปในแง่บวก คือ การทำวิจัยของกลุ่มนี้เป็นการกระตุ้นให้กลุ่มอื่นทำวิจัยด้วย แล้วสรุปง่ายๆ ว่า คงต้องแยกโรงเรียนออกเป็นสี่ระบบกระมังครับ หรือมีทางอื่นในการยกระดับภาษากลุ่มชาติพันธุ์ที่นักวิจัยยังไม่ได้คิดแสวงหาแนวทางกัน ผมคิดเปรียบเทียบไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐกลันตันที่ผมไปเก็บข้อมูลมา ผมพบว่า สัญลักษณ์สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ภาษาครับ และยังพบว่า คนในทุกๆ รุ่นสามารถสื่อสารได้ทั้งในภาษาทางการและภาษากลุ่ม ซึ่งเขาเองภูมิใจกับการที่พูดได้มากกว่าสองภาษากลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ผมถามคนสยามว่า ให้ลูกเรียนภาษาอะไร เขาบอกว่า ต้องภาษามลายูกลันตัน ภาษาไทย และภาษาจีน ภาษาอันหลังนี้ต้องถามเหตุผลว่าทำไม คำตอบคือ เพื่อประกอบอาชีพครับ แล้วจะพบว่า ชุมชนสร้างระบบกลไกในการเรียนรู้ภาษาขึ้นมาเองครับ มีการสอนภาษากลุ่มชาติพันธุ์ในวันหยุด ซึ่งผมว่ามันต่างกับแนวคิดของที่เราทำๆ กันในประเทศไทยที่จะนำทั้งหมดไปอิงกับทางการ
ที่ผมเขียนมาทั้งหมดเหมือนกับมองในภาพลบครับ จริงๆ มีภาพบวกของงานวิจัยภาษาอีกเยอะครับ เนื่องจากภาษาเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ การอนุรักษ์ภาษาจึงเป็นกลไกหนึ่งของการรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนได้เป็นอย่างดีครับ ซึ่งในทางกลับกันภาษามีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงครับ มีการผสมผสานแลกเปลี่ยน นั่นก็หมายถึงหากภาษาดังกล่าวขาดกลไกที่แข็งแรงพอ มันอาจสูญสลายหายไปได้เช่นกันครับ ซึ่งเมื่อภาษาหายไป อัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ก็หายไปด้วยครับ
ต้องขออภัยที่วันนี้ผมกลายเป็นนักวิชาการที่มองและนำเสนอเพียงภาพลบภาพเดียว แฮะแฮะ เนื่องจากสองวันที่นั่งประชุมได้ยินแต่ภาพบวก เลยต้องกลับมาทำให้เกิดภาพเชิงลบบ้างเพื่อความสมดุลย์ แต่ขออนุญาตเรียนท่านผู้อ่านว่า ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยตามผม และยินดีรับฟังข้อโต้แย้งทุกประการครับ

หมายเลขบันทึก: 183093เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2008 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

อาจารย์ค่ะ อ่านหัวข้อแล้วสะดุ้งค่ะ ต้องรีบคลิ้กมาอ่าน :)

ขอบคุณครับ

ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์

ผมตกใจมากครับว่า ผมเขียนยาวมากปรากฏแป๊บเดียวมาคนมาให้ความคิดเห็นแล้ว สงสัยว่าอ่านเร็วจริงๆ ฮิฮิ ปรากฏเห็นด้วยกับที่อาจารย์ว่าครับ หัวข้อมันชวนสะดุ้ง ฮิฮิ

มาเก็บเกี่ยวเอาความรู้เพิ่มเติมครับ

                       ขอบพระคุณอย่างสูงครับอจารย์

                                          รพี

ขอโทษครับขอแก้ที่เขียนคำผิด  ครับ  อจารยอาจารย์  

                      รพี

อ่า

นี่คือตำบลที่ผมทำงานอยู่ครับ มีชาวชอง ภาษาชอง

ตอนแรกนึกว่าถอดอะไร นึกว่าถอดวิกกำนันเฉินซ๊ะอีกครับ อิอิ

พอเห็นรูปก็ร้อง อ๋อ เลยครับ กำนัน(เก่า)เฉิน ,ผอ.แดง(ผอ.รร.วัดคลองพลู, เฮียซุง (น้องพี่ที่ทำงาน ตอนนี้เป็น ส.อบต แล้ว)นี่เอง

วัฒนธรรมตอนนี้ก็อนุรักษ์อยู่ เพราะมีศูนย์วัฒนธรรมชองอยู่หน้าที่ทำงานผม

แต่ตอนนี้แทบจะเหลือน้อยจริงๆ สำหรับคนที่พูดภาษาชองได้ครบถ้วนน่ะครับ

ผมก็พอได้น่ะครับ แต่เป็นคำไม่สุภาพ เอิ๊กๆๆ

ขอบคุณครับคุณ4. รพี กวีข้างถนน ที่แวะมาเยี่ยมเยียน

ขอบคุณครับคุณ5. suksom

โจทย์ของการวิจัยภาษาชองมีความชัดเจนครับ และเป็นแม่แบบอีกหลายพื้นที่

ผมคงต้องเอาอีกหลายรูปมานะเสนอแล้วนะครับ เพราะมีคนที่สามารถบอกชื่อให้ผมได้จำชื่อดีขึ้น

สวัสดีครับ

  • แวะมาอ่าน เรื่อง ถอด
  • ถอดบทเรียนนี่เอง นึกว่า ถอด...รหัส ครับ
  • ขอบคุณครับอาจารย์

ช่วยกันถอด ช่วยกันเปลือยครับ เพื่อที่จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้สำหรับพื้นที่อื่นๆต่อไป

ให้กำลังใจครับผม

:)

ถึงที่แล้วจะโทรไปหาครับ ชวนทานข้าว

ขอบคุณครับครูสุ ที่แวะมาเยี่ยมเยียน

ขอบคุณครับเอกที่แวะมาช่วยถอด..... เสียดายวันก่อน ที่ไม่ได้ไปร่วมโต๊ะใต้ต้นหูกวาง หน้ามอ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท