GotoKnow

AAR ชีวิตของตัวเองถึงวันนี้

โอ๋-อโณ
เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2549 20:49 น. ()
แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2555 14:31 น. ()
After Action Review

จากการเขียนเรื่องย้อนรอย PhDฯ กับประโยคที่ได้รับฟังจากน้องในห้องแล็บ หลังจากเราออกปากไปว่า น้องๆเก่งจัง ลูกยังเล็กๆยังทำงานอื่นๆได้ตั้งเยอะ สมัยพี่ลูกเล็กๆดูเหมือนจะทำแบบนี้ไม่ได้ น้องพูดว่า พวกเราชื่นชมพี่นั่นแหละ ที่มีลูกตั้ง 3 คนแล้วทำได้ขนาดนี้ ทำให้กลับมาคิดว่า เราน่าจะ After Action Review (AAR) ชีวิตที่ผ่านมาดูเหมือนกัน แต่ขอทำตามสไตล์ตัวเองที่มีหัวข้อไม่ครบ ตามแบบของจริงของ สคส. ที่ต้องมี จุดมุ่งหมาย, สิ่งที่ได้เกินคาด, ได้น้อยกว่าที่คาด, จะทำอะไรต่อไป และ ข้อเสนอแนะ

สิ่งที่คาดหมายในชีวิต
ดูเหมือนจะเป็นคนที่ไม่คาดหมาย ไม่เคยตั้งเป้าหมายอะไร แต่ถ้ามีอันต้องทำอะไรแล้วจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ คิดว่าเป้าหมายในชีวิตคงเป็นอยากให้คนเห็นว่า เราเป็นคนดี มากกว่า เป็นคนเก่ง เพราะคิดว่าคนเราจะอิจฉาคนเก่ง แต่ไม่มีใครอิจฉาคนดี ถ้าไม่ชื่นชมก็แค่เฉยๆ อยากให้คนเฉยๆหรือชื่นชมกับเรามากกว่าไม่อยากให้ใครอิจฉา

จบ PhD แล้วต้องทำอะไร
โดนคนแซวว่า อะไรกัน จบด๊อกเตอร์แล้วยังมานั่งลงทะเบียนอีก ทำไมยังมาทำงานอะไรที่ใครๆก็ทำได้อยู่อีก เกิดคำถามว่าแล้วคนจบปริญญาเอกนี่ควรจะทำอะไร ถ้าเราคิดว่าการจบปริญญาเอกเป็นสิ่งที่ทำให้คนเป็นคนเก่ง ต้องทำอะไรที่มันสร้างสรรค์ ให้ประโยชน์ใหญ่หลวง ทำงานพื้นๆไม่ได้ ลองคิดดูว่าคนหวังอะไรจากคนที่จบปริญญาเอก ตัวเองคิดว่า การจบปริญญาเอกไม่น่าจะทำให้เราทำอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ ถ้าคนจบปริญญาเอกทุกคนต้องไปนั่งคิด นั่งเขียน นั่งสอนคนอื่น โดยที่งานที่เคยต้องทำทำไม่ได้ ไม่เหมาะสม ก็ดูจะเป็นเรื่องประหลาด อย่างนั้นเราก็น่าจะส่งคนที่ต้องคิด ต้องเขียน ต้องสอนไปเรียนเท่านั้น คนทำงานพื้นๆไม่ต้องไปเรียนหรอก มีคนมากมายที่รู้เรื่องมากและเก่งโดยไม่ต้องมีปริญญารองรับ แล้วในทางกลับกันเราก็จะเห็นคนที่มีดีกรีด๊อกเตอร์ติดตัวอีกมากมายที่ทำให้เราสงสัยว่า ได้ปริญญามาได้ยังไง สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ใช่คนที่มีดีกรีเองพูด คนก็อาจคิดว่าพูดเพราะตัวเองไม่มีนี่นาไปเสียอีก
   
การให้ความรู้แก่ผู้อื่นก็เป็นทางหนึ่งที่เราสามารถตอบแทนคืนให้จากการเรียนจบระดับนี้ คนจบ PhD ไม่ใช่คนรู้ทุกเรื่อง น่าจะเป็นคนรู้น้อย แต่เชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะเรื่องมากไปด้วยซ้ำเพราะใช้เวลาศึกษาเรื่องเดียวนานๆถึงจะเรียนจบได้ (ระหว่างนั้นเรื่องอื่นๆแทบไม่ได้จับเลย) แต่การเรียนจบมีดีกรีนี้ติดตัวน่าจะเป็นการทำให้เรารู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์ รู้จักการโยงใยดัดแปลงสิ่งต่างๆมาใช้ มีระบบความคิดและการจัดการที่ดีมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น (ย้ำตรงนี้ เพราะถ้าเราไม่ได้เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว สิ่งที่เราได้มาก็คงจะพอๆกับคนที่เขามีเยอะอยู่แล้ว)  มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น (ส่วนหนึ่งก็เพราะคนรอบข้างให้เครดิต) พูดอะไรก็ดูเหมือนคนจะเชื่อมากขึ้น  และอีกส่วนหนึ่งก็ดูเหมือนว่าถ้าคนจบปริญญาเอกทำอะไรผิด ก็จะทำให้คนที่ทำถูกรู้สึกดีมากขึ้นว่ารู้มากกว่าคนจบเอกอีก ถ้ามีโอกาสได้ถ่ายทอดความเชี่ยวชาญที่เราได้มาจากการเรียนจริงๆก็ถือเป็นโชคดี แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงเวลานั้นเพื่อจะทำอะไรให้เหมาะสมคู่ควรกับปริญญาเอก ไม่เช่นนั้นเราก็คงไม่ต้องทำอะไร เพราะงานไหนๆใครๆก็ทำได้ทั้งนั้น ไม่ต้องจบปริญญาเอกหรอก
ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
การมีตำแหน่ง การมีเงินมากขึ้น มีคนนับหน้าถือตา ไม่ใช่เป้าหมาย อาจจะดูแปลกและไม่ใช่ตัวอย่างที่ดี แต่คิดแล้วว่า ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจะไขว่คว้า อยากจะให้มากกว่า ให้อะไรก็ได้ที่คิดว่าให้ได้กับสังคม กับคนไทย กับเพื่อนร่วมงาน ถ้าการมีปริญญาเอกจะทำให้คนเชื่อเรามากขึ้น อยากเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความเป็นคนดี มากกว่าเรื่องความเก่ง เพราะคนเก่งที่เป็นแบบอย่างได้มีอยู่มากมายแล้ว ตัวเองไม่สมบูรณ์แบบพอจะทำได้(ทั้งที่อยากเหมือนกัน)

ทำอะไรต่อไป
ให้คุณค่ากับสิ่งที่สำคัญในชีวิตจริงๆดีกว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่สำคัญในชีวิตจริงๆ....นั่นนะสิ

ข้อเสนอแนะ
ให้พวกเราลอง AAR ชีวิตตัวเองจนถึงวันนี้ แล้วถ่ายทอดเป็นบันทึกให้อ่านกัน


ความเห็น

Dr.Ka-poom
เขียนเมื่อ

"อยากเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความดี มากกว่าเรื่องความเก่ง"

(ยิ้ม)...มีท่านอาจารย์หลายท่านพร่ำสอนว่า..คุณค่า...ความเป็นคน...หาใช่ที่ว่าใครจบอะไรมา..แต่หากเป็น.."ความรู้"...ที่มีของคนคนนั้นต่างหาก...ที่มีการนำมาใช้ให้เกิด...ประโยชน์อย่างไร...มากกว่า..

"ความรู้"..ที่ถ่องแท้..คือความรู้ที่ผ่านการนำทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ..ได้อย่างแท้จริง ดังนั้น..อาจเห็นได้ว่า..ในบางคนเรียนมาอย่างมากมาย..เมื่อสู่ภาคปฏิบัติกลับไม่สามารถสะท้อนสิ่งที่รู้ออกมาได้ แต่ตรงกันข้ามในบางคน...ไม่ได้มีใบอะไรมารับรอง..แต่กลับมีการสั่งสม..."ความรู้"..และตกผลึก..ก่อเกิดประโยชน์นานัปการ

ปรัชญาของปริญญาเอก..ไม่ว่าสาขาอะไร..เมื่อศึกษาอย่างลึกซึ้งในแก่นของหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ...ต่างมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ "คุณคิดเป็น.."...หาใช่ว่าคุณเก่งเนื้อหาอะไร...การเชี่ยวชาญในเนื้อหาคือสิ่งที่สะท้อน "การตกผลึก"...ทางความคิด..ในคนคนนั้นมากกว่า...

ชายขอบ
เขียนเมื่อ

     อ่านแล้วรู้สึกดีมากเลยครับ น้อมรับมาไตร่ตรองครับ ทั้งตัวบันทึก และความเห็นของ Dr.Ka-poom ทำให้ผมเกิดปิติมาก…ขอบคุณครับ

n
เขียนเมื่อ

ใช่แล้วครับบางทีคนจบป. 4 ยังคิดเก่งทำเก่งกว่าปริญญาเสียอีก

ปารมี
เขียนเมื่อ

ค่ะ เห็นด้วยกับคุณชายขอบ รู้สึกดีมาก กับทั้งบันทึก กับความเห็นของ Dr. Ka-poom สิ่งที่คุณโอ๋ทำในขณะนี้ เป็นแบบอย่างที่ดีมากๆ ของการ "ให้" อย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ขณะเดียวกัน ก็อยากให้คุณโอ๋ให้ตัวเองด้วย และจะเรียกว่าเป็นการให้ที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลยิ่ง หากหนทางแห่งการ "ให้" นั้น ก่อให้เกิดผลดีทั้งต่อคนอื่นและต่อตัวเอง (แถมองค์กรด้วย) แล้วเราค่อยๆ เดินไปด้วยกันนะคะ

ศิริ
เขียนเมื่อ

พี่โอ๋เป็นทั้งคนดี และคนเก่งค่ะ

โอ๋-อโณ
เขียนเมื่อ

กลับมาอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปปีกว่าๆก็ยังคงจำได้ว่า เพราะอะไรถึงเขียนบันทึกนี้

ขอบคุณน้อง Dr.Ka-poom (ที่ตอนนั้นดูเหมือนจะไม่ยอมเปิดบล็อก)สำหรับส่วนเสริมที่ลุ่มลึก และทำให้บันทึกนี้ดูดียิ่งขึ้น

ขอบคุณคุณ ชายขอบ ที่มาให้กำลังใจ

ขอบคุณ คุณ ก ที่มาย้ำยืนยันเรื่องจริงที่พบได้เสมอ

ขอบคุณ คุณเอื้อ อ.หมอปารมี สำหรับกำลังใจและข้อคิดค่ะ แต่ยังคงคิดว่าประโยชน์ตนนั้นควรคิดถึงให้น้อยที่สุดเป็นดีค่ะ "ได้"มาเยอะเกินไปแล้วล่ะค่ะ

ขอบคุณ คุณศิริ สำหรับคำชื่นชมที่น่าจะเป็นกระจกของเรากันนะคะ ใครไม่ชม เราก็ชมกันเอง (คนห้อง Chem เชี่ยวชาญเรื่องนี้ที่สุด ใช่ไหมคะ)


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย