“ลูกร้องไห้สามคืน ผมร้องไห้สามเดือน”


“บักโจรเสื้อขาว”

สวัสดีครับ

ผมตัดสินใจรีบเขียนบันทึกถ่ายทอดเรื่องราวไว้แลกเปลี่ยนกับพี่น้องดีกว่าครับ ส่วนงานค่อยทำทีหลัง เอาไว้นั่งเงียบๆเขียนในหงสาวันพรุ่งนี้ก็ได้

ขอข้ามบันทึกความประทับใจในการไปเยือน(บ้าน)ที่ดงหลวงไปก่อนครับ เพราะเพียงแค่นึกเห็นรอยยิ้ม และแววตาของพ่อๆชาวโซ่ ยามเมื่อพบกัน ก็ตื้นตันจนเขียนอะไรให้งดงามแทนความหมายในแววตานั้นไม่ได้แล้วละครับ

มาถึงเรื่องราวที่ประทับใจ จากสกลนครดีกว่าครับ มีเศ้ราเจืออยู่เหมือนกันแต่จบแบบเต็มสุขครับ เป็นเรื่องราวของความพยายามดิ้นรนของพ่อแม่ครอบครัวชาวนาที่ต้องหาเงินส่งลูกเรียนในวิทยาลัยถึงสี่คนครับ

เมื่อคราวที่ผมไปทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนในเขมรเมื่อปีกลาย พบว่า ที่เขมรนั้นการแต่งงานเป็นสาเหตุหนึ่งของความจน เพราะจัดกันใหญ่โตเหลือเกิน

แต่ที่เมืองไทย สาเหตุสำคัญของความยากจนอันดับต้นๆ ที่ทำให้พ่อแม่ต้องขายไร่ขายนาขายวัวขายควาย ก็เพื่อการศึกษาของลูกๆ นั่นเอง เราคงได้ยินคำเหล่านี้บ้างครับ บักโจรเสื้อขาว หรือ ขายควายส่งควายเรียน หรืออะไรทำนองนี้นะครับ

ปราชญ์ชาวบ้านที่ผมไปเยี่ยมรายนี้ ท่านเป็นคนดีศรีกุดบาก ศรีสกล พ่วงอีกสองสามตำแหน่ง แต่สำหรับผมแล้ว ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีของการดิ้นรน หาเงินส่งลูกๆเรียน ท่านเล่าว่ามีลูกสี่คนวัยไล่ๆกัน จึงเข้าโรงเรียนพร้อมๆกัน ครอบครัวนี้หาเงินจากทุกหนทางครับ ทั้ง ขับรถสกายแลปรับจ้าง รับข้าวเพื่อนบ้านไปสีเพื่อเอารำมาเลี้ยงหมู ไก่ ห่าน ปลูกผัก ปล่อยที่ดินไปหนึ่งแปลง หรือแม้กระทั่งต้องกู้เมื่อจำเป็น นับเป็นโชคที่ลูกๆทุกคนเรียนจบมาได้การได้งานทำทั้งหมด เป็นครู เป็นเจ้าหน้าที่อนามัย และลูกชายคนโตยังลาออกจากราชการทหารมาสืบต่องานในไร่นาของครอบครัวอีก น่าชื่นชมจริงๆ

ตอนหนึ่งของการสนทนา ท่านเล่าว่าในช่วงที่ลูกคนที่สามจบม.๖ สอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ แต่จนใจที่ไม่มีเงินจริงๆ เพราะพี่สองคนก็ต้องส่งเรียนเหมือนกัน เลยต้องให้ลูกคนที่สามหยุดเรียนไปก่อน คำพูดที่เรียกน้ำตาของผู้ฟังคือ ลูกผมนอนร้องไห้ที่ไม่ได้เรียนสามคืน แต่ผมผู้เป็นพ่อนอนร้องไห้สามเดือนเพราะสงสารลูก

ผมว่าบ้านเมืองเราน่าจะมีกระบวนการ สวัสดิการทางการศึกษาอะไรก็ได้ที่ก้าวหน้ามากกว่าการปล่อยเงินกู้ให้นักเรียนนักศึกษาที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้นะครับ ทั้งนี้นอกจากค่าเล่าเรียนแล้ว ลูกที่ออกจากบ้านมาเรียนในตัวจังหวัดในต่างจังหวัด ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่ากิน ค่าหอพักอีกจิปาถะ

มหาวิทยาลัยทั้งหลาย นอกจากจะมัวคิดมัวเถียงกันเรื่องออกนอกระบบแล้ว เคยคิดถึงเรื่องการกระจายโอกาสทางการศึกษาบ้างไหม ทบวงกระทรวงกรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน นอกจากจะทุ่มเทกันเรื่องโอเน็ตเอเน็ตแล้ว เคยคิดเรื่องนี้กันบ้างหรือไม่

สุดท้าย ผมคิดว่าหากรัฐสามารถจัดสวัสดิการด้านการศึกษาได้อย่างเต็มที่แล้ว พี่น้องเกษตรกรก็จะได้ไม่ต้องกังวลกับการหาเงินมาส่งเสียเรื่องการศึกษาของลูก เมื่อนั้นการพัฒนาแนวคิดเรื่องความพออยู่พอกิน การพึ่งพาตนเองให้กับพี่น้องเกษตรกรในชนบท คงจะไปได้ไกลกว่าทุกวันนี้แน่นอนครับ 

หมายเลขบันทึก: 174194เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2008 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีครับอ้ายเปลี่ยน

  • พ่อ แม่ ทุกคนย่อมอยากให้ลูก หลาน ได้การศึกษาสูงๆ เท่าที่ลูกหลานมีปัญญาเล่าเรียน
  • ยอมทำทุกอย่าง ขายนา ขายไร่ ขายควาย และถ้าเข้าไปเจาะลึกกันจริงๆ ยังมีอีกหลายชีวิตที่ยอมแม้กระทั่งขายเรือนร่างของตัวเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งการศึกษาของบุตรหลาน
  • หากมีกรณีศึกษา สำรวจ สอบถาม แบบเชิงลึก กันดูจริงๆ จะได้คำตอบมากมาย มาคุณมาทำงานแบบนี้ทำไม? คำตอบคือ หาเงินส่งลูกเรียน และให้พ่อ แม่
  • ทำไงได้ เมืองไทยเราไม่ว่าสถานศึกษาของรัฐ หรือเอกชน มุ่งเน้นเป็นธุรกิจทางการศึกษาไปหมดแล้วครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีเจ้า อาเปลี่ยน

มาทักทายหลังจากหายไปนานโข

อนาคตของลูกสำคัญเสมอ หากหาได้ก็จะหาให้ หากหาไม่ได้พ่อแม่เสียใจกว่าลูกหลายเท่า...

--------มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงมาแลกเปลี่ยนนะคะ-----

"แม่..ลูกเรียนได้ไหม" ฉันมักพูดกับแม่สั้นๆ แบบนี้เสมอ แต่ฉันรู้ว่าแม่เข้าใจ

"ถ้าลูกอยากเรียน" แม่ฉันตอบสั้นๆ แบบนี้เสมอ และก็รู้ว่าฉันก็เข้าใจ

ฉันมีหน้าที่เรียนอย่างเดียวตั้งแต่เกิดจนจบปริญญาโท โดยที่ไม่รู้เลยว่าแม่เหนื่อยแค่ไหน กับการส่งลูกเรียนพร้อมกันสองคนในวัยที่ห่างกันเพียง 3 ปี....

ในที่สุดเมื่อฉันเรียนจบ และโตพอที่จะรับรู้ปัญหาหนี้สินของครอบครัว...มากโข มากเกินกว่าที่ฉันจะรับได้

"ทำไมแม่มีหนี้เยอะจัง..." ฉันถามด้วยความฉงนเมื่อนั่งเขียนรายละเอียดของรายการหนี้สินร่วมกัน

"ก็ตอนส่งลูกเรียนไง...ลงทุนทำโน้นทำนี้ให้ได้เงินมากขึ้น บางทีก็ได้ แต่เสียซะมากกว่า เวลาไม่มีส่งให้ก็ต้องกู้คนอื่น"

"ก็แค่บอกว่า...เรียนไม่ได้ ลูกก็จะไม่เรียน" ฉันตอบแม่ด้วยเสียงเครือ จบปริญญาตรีก็เพียงพอแล้ว...

"ไม่เป็นไร กว่าลูกจะสอบได้ และแม่รู้ว่าลูกอยากเรียน"

ฉันเสียใจที่ทำให้แม่ต้องเหนื่อย ฉันเสียใจที่ความรักของแม่ที่ทำร้ายตัวแม่เอง...ตอนนี้ฉันโตพอที่จะจัดการภาระต่างๆ แทนแม่แล้ว ฉันไม่มีเงินเก็บเหมือนคนอื่น ไม่ได้แต่งตัวสวย ไม่ได้เที่ยวหรูหรา ไม่มีรถเหมือนเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน แต่ฉันดีใจที่ตอนนี้แม่ฉันไม่เหนื่อยเหมือนเดิม...มันเป็นเวลาของฉันแล้ว เวลาที่ฉันต้องจ่ายคืน

-------

ขอให้ลูกทุกคนกลับมาทนแทนบุญคุณพ่อแม่ รัก และเคารพท่าน เท่ากับที่ท่านรักและเป็นห่วงเรา

รักษาสุขภาพนะคะอาเปลี่ยน

---^.^---

 

พ่อช่อมะกอก...พ่อดอกมะไฟ

การศึกษาดี...นั้นอยู่ที่ใคร

อยู่ที่ผู้เรียน...เพียรเอาใส่ใจ

สถานศึกษา...ที่ดีอยู่ไหน

อยู่ที่รัฐบาล..จัดการสอนให้

อยู่ที่คุณครู...สั่งสอนวินัย

น้องจิแวะมา...ให้กำลังใจ

ขอให้สดใส...ทุกวันคืนเอย

* สวัสดีเจ้าค่ะ คุณครู น้องจิแวะมาเยี่ยมเยียน รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ----> น้องจิ ^_^

สวัสดีครับพี่ท่าน สะ-มะ-นึก-กะ

ภาระหน้าที่อันหนึ่งของพ่อแม่คือการอุปถัมป์ให้การศึกษาแก่บุตรธิดาครับ แม้กระทั่งคนที่ไม่มีหน่อเนื้ออย่างผมยังอาสาอุปถัมป์หลานกำพร้าตั้งหลายคนครับ

แต่สำหรับพี่น้องชาวไร่ชาวนารายย่อยที่ปีหนึ่งขายอ้อย ขายมันได้เพียงสองสามหมื่นบาท แต่หากมีลูกเรียนมหาวิทยาลัยหนึ่งคน ต้องจ่ายค่าอยู่ค่ากินสามพันบาทต่อเดือน แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีหลานพิมพ์ดีด

ประสบการณ์ตรงที่หลานเล่ามา ช่างเหมือนกับประสบการณ์ตรงของอาเสียกระไร

ลองคิดดูว่านักเรียนคนที่สอบได้ที่หนึ่งของโรงเรียนมาตลอดห้าหกปี จะรู้สึกเศร้าแค่ไหน ที่ต้องตัดใจลาออกในเทอมสุดท้ายของมอปลาย ทั้งๆที่เขาเป็นความหวังของอาจารย์ทั้งโรงเรียน ว่าจะเป็นคนแรกของโรงเรียนที่สอบเอนท์ติด

เพียงเพราะว่าเขารู้ดีว่าที่บ้านไม่มีเงินส่งเรียนแล้ว เงินที่สะสมไว้ได้ถูกนำไปรักษาพ่อหมดแล้ว เขาเลยไปเรียนผู้ช่วยพยาบาลหนึ่งปีแล้วมาทำงานเลยไงจ๊ะ แต่ไม่ต้องเศร้านะเพราะเขามีลูกบ้าดีเดือด เรียนต่อจนเดี๋ยวนี้เขาได้เป็นผู้เชี่ยวชาญนานาชาติไปแล้วครับ

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีหลานจิคนดี

หน้าที่ของลูก คือ...........

ตั้งใจศึกษา ใผ่หาวิชา ไว้เลี้ยงตัวตน

ฝึกฝนทักษะ ไขว่คว้าตามฝัน สร้างสรรความดี

ขอบใจที่แวะมาให้กำลังใจลุงนะจ๊ะ

 

  • สวัสดีค่ะ อาวเปลี่ยน
  • น้องที่ทำงาน บอกว่า ดีแล้วที่พี่แดงไม่มีลูก เลี้ยงลูกไม่มีเวลาไหนที่ไม่สบายใจเลย ต้องดูแล ต้องส่งเรียน บางคนต้องดูแลต้องส่งสะใภ้เรียนด้วย
  • ---
  • ค่านิยมส่งลูกเรียนต่อก็ยังเป็นกันอยู่
  • ค่านิยมส่งลูกเรียนโรงเรียนดังก็ยังมีกันอยู่
  • ---
  • คนจนจริงๆส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เรียนหรอก ป้าแดงโชคดีที่เป็นลูกหลง เกิดห่างพี่ซะหลายปีเลยได้เรียนต่อ ก็เรียนต่อที่คิดว่าจ่ายน้อยที่สุด
  • แล้วก็ไม่ได้ขวนขวายต่อเหมือนอาวเลย เพราะพ่อแม่ไม่ยอมให้ไปไหน
  • ----
  • ไม่อย่าพูดถึงอดีตเลย......

หวัดดีครับเอื้อย

อดีตเป็นเครื่องสอนคนรุ่นใหม่ครับ

แต่ดิ้นรนมาก ก็พลาดโอกาสอื่นๆในชีวิตไปเหมือนกันนะเอื้อย เช่น ...ชีวิตคู่ไงครับ

แต่เดี๋ยวนี้ผมรู้จักพอแล้วครับ บอกปัดทุนดอกเตอร์ไปสองสามแห่งแล้วครับ บำเพ็ญศีลภาวนาดีก่า อยู่ตรงนี้ก็ช่วยคนได้มากพอแล้วเนาะเอื้อยเนาะ

 

สวัสดีครับคุณ เป ลี่ ยน

               ชีวิตผมก็คล้ายคลึงกันครับ....แต่โชคดีที่ผมเกิดก่อน...คู่ต่อสู้ยังน้อย....ทองแค่บาทละสี่ร้อยเอง...ดิ้นรนจนได้เรียน...เรียนจนจบ...อดบ้างได้กินบ้าง...เหนื่อยง่วงนอนก็ต้องทน...เหนื่อยใจเพราะผลการเรียนออกมาไม่ดี...แต่ก็พยายามรักษาระดับ...จนจบ...โดยพ่อแม่ไม่ต้องขายนาส่งควายเรียนครับ...แล้วชีวิตก็เป็นของเราครับ...สู้สู้...ได้แต่บอกคนรุ่นหลังเพียงเท่านี้...

                                                    โชคดีครับผม

สวัสดีครับ...

-อ่านแล้วนึกถึงตัวเองมาก ๆ (เพราะมีแม่เป็นชาวนาเหมือนกัน) แม่เป็นคน ๆ คนเดียวที่ส่งเสียครูสุมาตลอดจนมาเป็นครูทุกวันนี้ก็เพราะ "แม่" คนที่เป็น "ชาวนา"

-อ่านที่คุณเปลี่ยนเขียนมาแล้ว อยากสนับสนุนมากครับ

น้องชายผมก็เป็นโจรครับ อ้ายบักโจรเสื้อขาว..ฮา ชอบมาไถเงินแม่

ความลำบากสร้างคน ความสบายทำลายคนครับ...เชื่ออย่างนั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท