295 นักธรรมชาติวิทยาชาวบ้าน


พ่อแสนเข้าร่วมประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเห็น แนวคิดกับเพื่อนบ้านคนอื่นๆในเรื่องแนวทางการพึ่งตนเองบ่อยๆ มีส่วนสำคัญกระตุ้นให้พ่อแสนคิดและทำในสิ่งเหล่านี้ ในวงสัมมนาไม่เคยพูดเรื่องการทำบ้านค้างคาว บ้านหอยป่า หรือแมงโย่งเย่ง แต่มันมาจากฐานประสบการณ์เดิมของพ่อแสนเอง การพูดคุยกันเพื่อนบ้านอื่นๆนั้นเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการคิดต่อ.

หนึ่งในผู้นำที่ผมจะต้องเยี่ยมเยือนเพื่อแจ้งให้ทราบว่า ผมกลับมาทำงานที่ดงหลวงอีกครั้งแล้ว คือ พ่อแสน วงษ์กะโซ่ ชาวบ้านที่แสนจะธรรมดาแต่สูงส่งด้วยคุณค่าความเป็นคนนักเรียนรู้ธรรมชาติยิ่งนัก ผมเป็นทึ่งกับพ่อแสนจริงๆ ดูซิครับว่า แค่ 3 เดือนที่ไม่ได้พบกัน พ่อแสนทำอะไรบ้าง

 

 1%20local%20signal

 

 

ยากที่พ่อแสนจะมานั่งๆนอนๆอยู่ใต้ถุนบ้านเฉยๆ โน้น..ไปอยู่มุมใดมุมหนึ่งของ สวนป่าครอบครัวพ่อแสนก็มีวิธีให้คนเรียกหาโดยการเอาเศษท่อเหล็กเก่าๆมาผูกไว้ที่โคนเสาเถียง เอาไม้ที่มีรูปร่างคล้ายค้อนมาไว้ ใครอยากพบพ่อแสน ก็เอาค้อนไม้เคาะท่อนเหล็ก พ่อแสนได้ยินเสียงก็จะออกมาพบ .. นี่คือเทคโนโลยี่พื้นฐานชายป่าดงหลวง ผม..หละอมยิ้ม.. พ่อแสนนะพ่อแสน ช่างคิดเสียจริงๆ

 

2%20%e0%b8%9e%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%99%201 

 

 

เราต่างดีอกดีใจกันพักหนึ่ง พ่อแสนถึงกับบอกว่า ตอนอาจารย์ส่งจดหมายล่ำรานั้น ดีแล้ว หากอาจารย์มาด้วยตัวเองผมคงอดใจไม่ได้  แค่อ่านจดหมายลาไม่ทันจบก็น้ำตาตกซะแล้ว.. พวกเราเป็นซึ้งจริงๆ ที่พ่อแสนแสดงความผูกพันเช่นนั้น

 

 3%20%e0%b8%9e%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%99%202

 

ที่ห้องครัวเปิดโล่งแบบฉบับบ้านนอก ดูแล้วก็รู้ว่า ความเรียบง่ายนี้คือความพอเพียงตามสภาพ ที่สิ่งประกอบการดำรงชีวิตนั้นไม่ได้เพื่อความสวยงามหรือฟุ่มเฟือย หรู เริดแต่อย่างใด  ก็คงเหมือนๆกับชนบททั่วไป เตาหุงต้มอาหารแบบนี้ ใช้ฟืนที่หาได้แสนง่ายจากการตัดกิ่งไม้ในสวนป่าที่เกินความจำเป็นออกไป เมื่อทิ้งไว้แห้งดีแล้วก็เก็บเอามาทำฟืน เตาฟืนที่มีควันมีประโยชน์หลายอย่าง คนโบราณรู้มานานแล้ว ว่าหลังคาที่รมควันไฟนั้นไม่ค่อยผุง่าย มดมอดไม่มากินเนื้อไม้ และหากจะเก็บเมล็ดพืชพันธุ์ต่างก็เอามาห้อย มาแขวนไว้ใกล้ๆ ควันไฟที่มารมเมล็ดพันธุ์พืชนั้น คือการเคลือบสารธรรมชาติที่มดแมลงไม่มาเจาะแทะให้เสียหาย เมื่อถึงฤดูเพาะปลูกก็มาเอาไปใช้ได้เลย  ไม่ต้องไปเก็บรักษาในภาชนะใดๆให้เปลืองไปอีก ..ฯ...

 

 5%20bat%201

 

ผมเดินไปเห็นท่อนลำไม้ไผ่สามสี่ลำ จึงถามพ่อแสนว่า เอามาทำอะไร ?

 

พ่อแสนเดินเข้ามาจับมือผมแล้วกล่าวว่า ..อาจารย์จำที่ผมเล่าเรื่องค้างคาวป่าตัวเล็กๆที่บินมาอาศัยขื่อที่นอนผมแล้วฉี่ พร้อมถ่ายมูลลงมาบนหลังคามุ้งผมได้ไหม 

 

ผมจำได้พ่อแสน..

 

เดิมผมไล่ตีมัน.. แต่ภายหลังผมรู้ว่าค้างคาวมีประโยชน์ ผมก็เอาพลาสติกไปครอบหลังคามุ้งแล้วเก็บมูลมันมาเป็นปุ๋ยต้นไม้ชั้นเลิศ  มันกินแมลงกลางคืนที่เป็นศัตรูต้นไม้ผมด้วย..  ผมจึงคิดต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้มันมาอยู่มากๆ จะได้มูลมากๆ และไม่จำเป็นต้องมาอยู่บนขี่อบ้าน ให้มาอยู่ตรงไหนก็ได้ที่ผมต้องการให้มันอยู่ 

 

นี่ไงครับอาจารย์..กระบอกไม้ไผ่นี่แหละ ผมจะทำเป็นบ้านอาศัยให้มัน แล้วเอาไปแขวนไว้ตามที่ต่างๆในสวนป่าผม  ผมจะเจาะทะลุกลางปล้องไม้ไผ่ เอาไม้เล็กๆขนาดตะเกียบเสียบเข้าไปเพื่อให้เป็นคอน ให้ค้างคาวเกาะ แล้วเอาไปห้อยตามต้นไม้ ตามชายคาบ้าน หรือที่ไหนๆที่ผมอยากให้ค้างคาวอยู่อาศัยเพื่อให้มันถ่ายมูลลงมาเป็นประโยชน์แก่ต้นพืช.. นี่ผมยังทำไม่เสร็จครับ..พ่อแสนกล่าวทิ้งท้าย..

 

ผมนึกถึงความช่างคิดช่างสังเกตของพ่อแสนที่มีต่อธรรมชาติ และเอาสรรพสิ่งนั้นมาใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเพื่อดำรงชีวิตแบบง่ายๆ ที่เราไม่เคยคิด

  

ผมและเพื่อนๆเดินไปในสวนป่าพ่อแสนอีก เห็นท่อน้ำปูนซีเมนต์ตั้งอยู่ดังภาพ แถมมีก้อนหินทับปิดอยู่

 

ผมถามพ่อแสนว่าท่อนั่นทำอะไรครับ..

 

พ่อแสนบอกว่าอาจารย์ไปดูเองซิ.. ทึ่งจริงๆ..นี่คือท่อเลี้ยงหอยป่า ชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมเอามาประกอบอาหาร มีเรื่องขำๆที่ทึ่ง..คือ พ่อแสนตั้งใจจะเอาท่อนี้มาเป็นที่เลี้ยงหอยจริงๆ ก็เอามาตั้งไว้ในสวนป่า แล้วตั้งใจว่าจะไปหาหอยป่ามาใส่ พ่อแสนบอกว่า ผมตั้งท่อนั้นไว้ 3 วัน ก็ไปหาหอยป่ามาได้จำนวนหนึ่ง จะเอาไปใส่ท่อเมื่อเปิดหินที่ปิดให้กว้างขึ้นพบว่า มีหอยป่าที่ผมต้องการจะเลี้ยงมัน เข้ามาอยู่เองสองตัว..?? ทึ่ง..ทึ่ง..

 

 6%20snail%201

 

 

ผมถามต่อว่า พ่อแสนคิดได้อย่างไรว่าไอ้ท่อที่เอามาตั้งๆนั้นหอยจะชอบอยู่ จะเป็นบ้านที่หอยชอบ.. 

 

อาจารย์ สมัยก่อนผมเข้าป่าไปเห็นโพลงต้นไม้ใหญ่ ในโพลงนั้นมักจะเป็นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด หนึ่งในนั้นคือ หอยป่าชนิดนี้  เราก็เก็บเอามากิน  โพลงไม้นั้นมักจะมืด อยู่ในป่า ผมก็ทำเลียนแบบ ซี..เห็นไหมแค่สองสามวัน หอยในธรรมชาติก็เข้าไปอยู่ในท่อนั้นเอง แสดงว่าใช้ได้ผล...พ่อแสนยิ้มแฉ่งอีกครั้ง..

 

เดินชมสวนป่าพ่อแสนไปอีกหน่อยก็พบ เคสซิ่งคือท่อปูนซีเมนต์ที่เอามาใช้ทำส้วมซึม วางอยู่มีแผ่นปูนปิดทึบ ข้างๆเจาะเป็นช่อง แถมมีกองดิน ปูลาดขึ้นไปจนถึงช่องนั้น

 

 7%20insect%20house

 

 

อะไรอีกล่ะพ่อแสนครับ ผมถามพ่อแสนอีก..

 

พ่อแสนยิ้มฟันขาว แล้วกล่าวว่า เรื่องที่ผมเล่าให้อาจารย์ฟังแต่กี้นี้ว่าสมัยเข้าป่าและพบโพลงต้นไม้ใหญ่ที่มีสัตว์หลายชนิดไปอาศัยอยู่นั่นน่ะ นอกจากหอยแล้วก็มีแมงชนิดหนึ่ง ชาวบ้านเรียก "แมงโย่งเย่ง  มันคล้ายๆจิ้งหรีด แต่สีออกขาวกว่า ไม่ใช่จิ้งโก่ง มันเป็นแมงโย่งเย่ง เอามาคั่วกินอร่อยนัก  ตอนออกป่าเมื่อเห็นโพลงแบบนี้ก็จะเอาไฟเผาเข้าไปในโพลง เจ้าแมงโย่งเย่งที่มันอาศัยในโพลงสูงขึ้นไปโดนความร้อนก็หล่นลงมาตายกองเป็นกิโล ...

 

สมัยนี้ไม่มีแล้วหายาก แต่ชาวบ้านยังอยากหากินอยู่ ผมก็นึกว่า ทำบ้านให้มันซี เหมือนหอย เหมือนค้างคาว เดี๋ยวก็รู้ว่าได้ผลหรือไม่ พ่อแสนอธิบายไปแบบใจเย็นๆ และดูเชื่อมั่นในความคิดเช่นนี้....

 

ผมไม่ได้ไปเปิดดู

 

พ่อแสนก็บอกว่ายังไม่ได้เปิดดู ปล่อยมันไปนานๆก่อนค่อยไปดู  เราไม่ได้รีบอะไร เราไม่ได้คิดเอาไปขายเอาเงินทองอะไร  แค่ทำเพื่อมีกิน  หากมันมาอยู่มากมายจริงๆใครมาซื้อก็ขาย พี่น้องมาขอกินก็จะให้..

 

~-~-~-~-~-~

 

สามเดือนที่ผมไม่ได้พบ พ่อแสนไม่ได้หยุดนิ่ง คิดค้นหาสิ่งที่เคยมีอยู่ในธรรมชาติมาใส่ในสวนป่าครอบครัว เราเป็นคนภายนอกมีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง คิดไม่ถึงว่าพ่อแสนจะคิดและทำในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร 

 

จากการพูดคุย เราพบว่า ชาวไทโซ่ท่านนี้แตกต่างจากไทโซ่ท่านอื่นๆพอสมควร ที่ใช้ประสบการณ์จากการคลุกคลีป่าในอดีตมาสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่ออยู่เพื่อกินในสวนป่า โดยเอาหลักธรรมชาติของสิ่งต่างๆนั้นมาสร้างขึ้นใหม่ 

 

จากการที่พ่อแสนเข้าร่วมประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเห็น แนวคิดกับเพื่อนบ้านคนอื่นๆในเรื่องแนวทางการพึ่งตนเองบ่อยๆ มีส่วนสำคัญกระตุ้นให้พ่อแสนคิดและทำในสิ่งเหล่านี้  ในวงสัมมนาไม่เคยพูดเรื่องการทำบ้านค้างคาว บ้านหอยป่า หรือแมงโย่งเย่ง แต่มันมาจากฐานประสบการณ์เดิมของพ่อแสนเอง การพูดคุยกันเพื่อนบ้านอื่นๆนั้นเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการคิดต่อ..

 

นี่คือจุดเด่นของชาวบ้านท่านนี้ พ่อแสน วงษ์กะโซ่ นักธรรมชาติวิทยาชาวบ้าน...แห่งดงหลวง

 

 

หมายเลขบันทึก: 171970เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2008 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 04:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

พ่อแสน วงษ์กะโซ่ นักธรรมชาติวิทยาชาวบ้าน...แห่งดงหลวง

อ่านแล้วทึ่งจริงๆค่ะ เก่งจริง!!

  • พ่อแสนนี่เป็นนักประดิษฐ์ตัวจริงเลยนะเนี่ย  อิอิ
  • ขอแสดงความดีใจกับพี่น้องชาวดงหลวงด้วยครับที่ได้ ผู้ชี้นำและชี้แนะดีๆกลับมาร่วมพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน

สวัสดีครับท่านพี่ใหญ่ 1. Sasinanda

พ่อแสนยังคิดค้นและทำมากกว่าที่ผมบันทึกในนี้ครับ จะทะยอยลงบันทึกครับ

สวัสดีครับคุณหมอ 2. คนชอบวิ่ง พ่อแสนนี่เป็นนักประดิษฐ์ตัวจริงเลยนะเนี่ย อิอิ

 

ผมก็คิดเช่นนั้นครับคุณหมอ เพราะหายากที่ชาวบ้านจะทำอะไรทึ่งๆเช่นนี้

สวัสดีครับ สะมะนึก แซ่เฮ

ขอแสดงความดีใจกับพี่น้องชาวดงหลวงด้วยครับที่ได้ ผู้ชี้นำและชี้แนะดีๆกลับมาร่วมพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน

ขอบคุณครับ สะมะนึกะ

สวัสดีครับ 

สบายดีนะครับ   ขออนุญาตนำไปรวมครับ ขอบคุณมากครับ

 

                                                     รวมตะกอน

ประทับใจ  ได้ความรู้มาขยายความลับที่คาใจ เช่นเรื่องหอย

ชอบชอบคุยกับชาวบ้าน เหลือยุคสุดท้ายแล้ว

น่าเชิญไปเขียนตำรา เศรษฐศาสตร์ชีวิต ดงหลวง

เยี่ยมจริงๆ 

สวัสดีครับ 7. สิทธิรักษ์ สบายดีนะครับ ขออนุญาตนำไปรวมครับ ขอบคุณมากครับ

 

ผมสบายดีครับคุณสิทธิรักษ์ ด้วยความยินดีครับ

ท่านครูบาครับ 8. ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

ประทับใจ ได้ความรู้มาขยายความลับที่คาใจ เช่นเรื่องหอย ชอบชอบคุยกับชาวบ้าน เหลือยุคสุดท้ายแล้ว น่าเชิญไปเขียนตำรา เศรษฐศาสตร์ชีวิต ดงหลวง เยี่ยมจริงๆ

 

ครับ paleeyon และผมจับตาพ่อแสนมานานแล้ว และเห็นความเด่นของพ่อแสน  เผลอๆแปล๊บเดียว พ่อแสนผลิตอะไรใหม่ๆมาอยู่เรื่อยๆ ไม่เคยนั่งๆนอนๆทอดหุ่ยเลยครับ  ทั้งหมด พ่อแสนจะเรียนรู้จากธรรมชาติ ดัดแปลงมา  เราเองไม่มีทางคิดออก เพราะวิถีชีวิตเราไม่ใช่แบบนั้น

เรื่องนี้สะท้อนว่าความรู้ภายในชุมชนนั้นมีมหาศาล ความรู้จากภายนอกอาจจะไม่เหมาะสมกับหมู่บ้านก็ได้  ทางที่ดี ทำอย่างไรจะขุดเอาขุมความรู้เหล่านั้นออกมา  ก็ต้องสร้างหลักคิด  แล้วชาวบ้านก็เอาหลักคิดนั้นไปสานต่อเองจากฐานความรู้เดิม

พ่อแสนยังบอกว่า มีชาวบ้านมาแอบดู มาถาม เมื่อมารู้มาเห็นก็ร้องอ๋อ และบอกว่าจะเอาไปทำบ้าง... ความรู้มันขยายด้วยครับท่านครูบา แบบดังกล่าวนี้ขยายเองโดยเราไม่ได้จัดฝึกอบรมแต่อย่างใด

เห็นด้วยครับท่านครูบา มีหลายเรื่องที่ผมเขียนเรื่องของพ่อแสนไปก่อนแล้ว เช่น

  • สร้างที่อยู่ผึ้ง 
  • สร้างที่อยู่ตัวต่อที่กินได้ 
  • สร้างคอกหมูแบบเคลื่อนที่  ซึ่งกรณีนี้ พ่อแสนเรียนรู้ต่อมาว่า มีประโยชน์ก็จริง แต่หมูก็ไปทำลายหอยที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพราะมันเอาจมูกดุนดิน กินหอยเรียบหมดเลย พ่อแสนอยากได้หอยมากกว่าจึงหยุดเลี้ยงหมูแบบคอกเคลื่อนที่ อิอิ นี่ก็ความรู้เพิ่มขึ้น ก็ดัดแปลงต่อเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น
  • เลี้ยงเขียดตะปาด

เป็นทึ่งพ่อแสนจริงๆ ครับ  การจัดทำตำราเศรษฐศาสตร์ชีวิตดงหลวง เป็นแรงกระตุ้นที่น่าสนใจครับท่านครูบาครับ

สวัสดีค่ะ พี่บางทราย

  • ทึ่งพ่อแสน วงษ์กะโซ่ มากค่ะ
  • 3 เดือน ทั้งคิดทั้งทำ ....สุดยอดจริงๆค่ะ
  • พ่อแสน วงษ์กะโซ่เป็นแรงบันดาลใจมากเลย....
  • ขอบคุณค่ะพี่
  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • เยี่ยมจริงๆ ครับ
  • อนาคตผมก็คงจะอยู่อย่างพ่อแสนนี้แหละครับ  สบายทั้งกายและใจ
  • ใครไปหาอาจนำกระบอกไม้ไผ่มาทำเป็นเกราะให้ตีเรียกครับ
  • อึ้งและทึ่งมากๆๆ
  • คิดได้หลายประเด็นเลย
  • ความรู้แบบนี้หายากนะครับ
  • ถ้าพี่ไม่เขียนไว้ต่อไปถ้าไม่มีพ่อแสน ก็จะหายไป
  • อยากดูที่ดักหนู
  • เหมือนภาคกลางบ้านเราไหม
  • ผมใช้เหมือนด้วง
  • ไม่ได้ใช้กรงนะ
  • ขอบคุณครับ

เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมากครับ เป็นวิถีชีวิตที่รับรู้ได้ถึงความสุขในการอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติครับ

สวัสดีคะ

หากปรับขีวิตให้เข้ากับธรรมชาติแล้ว ก็จะได้สัมผัสและได้ลองทำอะไรสนุกๆ อีกนะคะ

ขอบคุณพี่ บางทราย ที่นำมาบอกเล่ากันต่อ อ่านแล้วสนุกคะ

สวัสดีครับ น้องสาว P 11. จันทรรัตน์

  • ทึ่งพ่อแสน วงษ์กะโซ่ มากค่ะ
  • 3 เดือน ทั้งคิดทั้งทำ ....สุดยอดจริงๆค่ะ
  • พ่อแสน วงษ์กะโซ่เป็นแรงบันดาลใจมากเลย....

พี่ไม่คาดคิดว่าจะพบพ่อแสนก้าวหน้าไปไม่หยุดยั้งครับน้องสร้อย

ปกติพ่อแสนเป็นคนไม่พูด แต่ทำ ทำ ทำ เวลาเข้าสัมมนาก็คอยเงี่ยหูฟังคนโน้นคนนี้ หากเชิญให้พะดพ่อแสนจะมีแบบการพูดของตนเอง  หากพวกนักวิชาการประเภท คิดเร็ว ทำเร็ว พูดเร็วละก็  เบื่อแย่เลย 

  • เพราะพ่อแสนพูดช้า แต่ชัด
  • พ่อแสนจะสาธายายที่มาที่ไปของความคิดยาวนานแล้วมาลงที่งานที่พ่อแสนทำชิ้นนั้นๆ
  • ใครไม่ทนฟังก็จะตัดบทไปก็จะไม่ทราบที่มาที่ไปของความคิดว่าทำไมต้องทำคอกหมูเคลื่อนที่  แล้วเลิกไปทำไม  เป็นไงมาไงถึงเห็นว่าค้างคาวมีประโยชน์  ทั้งๆที่เคยเอาไม้ไล่ตีมันเพราะมันมาฉี่รถมุ้งที่นอนเหม็นหมด มาตอนนี้กลับชักชวนให้มันมาอยู่มากๆโดยทำบ้านให้เขา เป็นทึ่งกับบ้านหอยนี่ซิ ยังไม่ทันจะหาหอยมาใส่เลยเจ้าหอยที่ต้องการมันแอบพากิ๊กมาจู๋จี๋กันก่อนซะแล้ว อิอิ 

น้องสิงห์ครับ 12. สิงห์ป่าสัก

เยี่ยมจริงๆ ครับ อนาคตผมก็คงจะอยู่อย่างพ่อแสนนี้แหละครับ สบายทั้งกายและใจ ใครไปหาอาจนำกระบอกไม้ไผ่มาทำเป็นเกราะให้ตีเรียกครับ

เราเข้าไปเยี่ยมแล้วตีสัญญาณแบบนี้เรียกพ่อแสน ดูมันน่ารักปนยิ้มๆถึงความเป็นคนช่างคิดน่ะครับ

ผ่านมาเจ็ดย่านน้ำ ไม่เห็นชาวบ้านคนไหนทำอะไรเก๋ๆแบบนี้เลย มีพ่อแสนนี่แหละ

ที่แปลกคือ ที่บ้านสวนป่าพ่อแสนไม่มีทีวี ไม่มีวิทยุ อยู่ติดป่าติดดอย วันๆก็อยู่แต่ในสวน  มิใช่คนเดินทางไปโน้นมานี่จะได้เอาแนวคิดมาจากการเห็นที่อื่นๆก็ไม่ใช่

อย่างนี้เรียกว่าบรรลุสัมมนาอาชีวะ คิดได้ไง ง่ายๆ ไม่ได้ลงทุนอะไรเลยนอกจากแรงงานและความคิด 

สวัสดีครับน้องขจิตP 13. ขจิต ฝอยทอง

  • ความรู้แบบนี้หายากนะครับ
  • ถ้าพี่ไม่เขียนไว้ต่อไปถ้าไม่มีพ่อแสน ก็จะหายไป

ใช่แล้วครับพี่จึงต้องบันทึกไว้ และต่อไปอาจจะทำอะไรที่เต็มรูปมากกว่าบันทึกแบบนี้ครับ

  • อยากดูที่ดักหนู
  • เหมือนภาคกลางบ้านเราไหม
  • ผมใช้เหมือนด้วง
  • ไม่ได้ใช้กรงนะ

ทางดงหลวงเขาเรียก..หล่วง..

%e0%b8%9a%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b9%89%e0%b8%a7%2003

ชาวบ้านจะทำให้ท่านครูบาเป็นตัวอย่างทั้งทำจากกระป๋องกาแฟ และจากไม้ แล้วจะส่งมาให้ครูบาครับ

หัวใจของเรื่องของคนอย่างพ่อแสนคือ "การเรียนรู้"

มีคนอย่างพ่อแสนอยู่ทั่วไปหรือเปล่าครับ?

สวัสดีครับ 14. ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมากครับ เป็นวิถีชีวิตที่รับรู้ได้ถึงความสุขในการอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติครับ

ผมเขียนถึงพ่อแสนมาสองบันทึกแล้วครับ เมื่อช่วงแรกที่ผมเข้ามา g2k นี้ ยังไม่หมดครับ ค่อยๆเขียน

ก่อนเดินทางกลับวันนั้นพ่อแสนบอกผมว่ามีวิทยุรายการหนึ่งจากกรุงเทพฯติดต่อพ่อแสนต้องการสัมภาษณ์สดออกรายการวิทยุ โดยผ่านมือถือเพื่อนบ้านคนหนึ่ง  แต่สัญญาณไม่ดีเลยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ครับ ผมถามว่ารายการอะไร ใครมาสัมภาษณ์ ความตื่นเต้นเลยลืมไปหมดครับ

สวัสดีครับ P 15. มะปรางเปรี้ยว

หากปรับขีวิตให้เข้ากับธรรมชาติแล้ว ก็จะได้สัมผัสและได้ลองทำอะไรสนุกๆ อีกนะคะ

น้องมะปรางครับ ถามว่าเราทำอย่างพ่อแสนได้ไหม คงไม่ได้ เน๊าะ เพราะวิถีชีวิตแตกต่างกัน ยกเว้นว่าใครจะลงไปปรับวิถีชีวิตให้เป็นแบบนั้น

แต่แบบอย่างพ่อแสนนั้นชาวบ้านทั่วไปสามารถเรียนรู้และเอาไปปรับใช้ได้

เมื่อเราติดตามพ่อแสน จะรู้สึกว่าพ่อแสนมี "แรงขับ" หรือ "พลัง" บางอย่างอยู่ข้างในจิตสำนึกพ่อแสน มันมีพลังมากจริงๆ มากจนไม่รู้เหน็ดเหนื่อยครับน้องมะปรางครับ

เหมือนทีมงาน G2k นี่ไงครับที่มีแรงขับมหาศาล มีพลังมหาศาล ที่พวกเรารู้สึกได้ จริงๆน้องมะปรางครับ

หวัดดี เชษฐ นาย สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ หัวใจของเรื่องของคนอย่างพ่อแสนคือ "การเรียนรู้" มีคนอย่างพ่อแสนอยู่ทั่วไปหรือเปล่าครับ?

 

มีครับ เชษฐ กลุ่มไทโซ่มี "ดาว" แบบนี้อยู่เกือบทุกตำบล เช่น

ตำบลดงหลวง มีพ่อแสน นักธรรมชาติวิทยา

                  พ่อชาดี เป็นผู้นำความคิด คอยคัดหางเสือสมาชิกเครือข่ายไทบรูคนไหนเพี้ยนไป พ่อชาดีก็จะออกมาทบทวนหลักคิดการพึ่งตนเอง 

                   พ่อสมบูรณ์  นักปฏิบัติเกษตรผสมผสาน

ตำบลพังแดง มีพ่อธีระ หรือสหายธีระ หรือบัยไล วงษ์กะโซ่ อดีตหมอผ่าตัดคู่กับหมอเหวง โตจิราการ ปัจจุบันเป็นเจ้พอผักหวานป่าคนหนึ่ง เป็นผู้รู้สมุนไพร เกษตรผสมผสาน และทำการทดลองเองทั้งสิ้น

ก็มีหลายคนอยู่ครับแตกต่างกันออกไป

หวัดดีค่ะพี่บางทราย

นับแต่พี่ได้สอนให้นกได้ปล่อยวางและสอนให้นกปฏิบัติตัวในการทำงานและการปฏิบัติตัวอย่างไรต่อผุ้บังคับบัญชา นกไปนำคำสอนของพี่ไปปฏิบัติจริงค่ะ และได้ค้นพบวิธี "ปล่อยวาง"ที่น่าสนใจมากค่ะ นกเขียนบันทึกใหม่อยากให้พี่บางทรายเข้าไปอ่านค่ะที่ตอนชื่อว่า "เสื้อแห่งความสุข"

สวัสดีครับน้องนก  P 23. เพ็ญศรี(นก)

พี่เข้าไปตามติดแล้วด้วยความสุข ของเสื้อ..ใจ เพราะเสื้ออยู่ที่ใจ

วิเศษจริงๆครับน้องนก ความสุขที่เกิดขึ้นกับน้องนก ก็แผ่มาถึงพี่ด้วย และเพื่อนๆทุกคน

วิเศษจริงๆ

วิเศษจริงๆ

วิเศษจริงๆ

พี่ไม่รู้จะกล่าวอะไรอีกแล้วครับ น้องนก..

เมื่อเดือนสิงหาคมปี ๔๙ อ.เสรี ประสบอุบัติรถยนต์ กระดูกเบ้าตาแตก ดั้งจมูกหัก ต้องผ่าตัดใบหน้าใหม่ แต่เมื่อแผลหายแล้ว เอามือหยิกที่แก้มก็ไม่มีความรู้สึก หมอบอกว่าเพราะปลายประสาทบริเวณใบหน้าได้รับความกระทบกระเทือน ช่วงที่หน้าไม่มีความรู้สึกอาจารย์ก็ยังอารมณ์ดีบอกคนที่ไปเยี่ยมว่าเพิ่งรู้ว่าหน้าด้านจริงๆ เป็นอย่างนี้เอง ต่อมา อ.เสรีใช้ "ว่านโซ่" จากหมู่บ้านแถบภูพาน ทาทุกวันเพียงเดือนเดียวประสาทฟื้นกลับมา ตอนนี้ (มีนาคม ๕๑)เล่าให้ฟังเพื่อจะบอกว่าชาวโซ่มีของดี

เชษฐ ขอบคุณมากครับที่บอกกล่าว  ผมไม่ทราบเลยจริงๆในเรื่องที่เกิดขึ้นกับอาจารย์เสรี  หากดีขึ้นแล้วก็ดีใจ  หากมีจังหวะเหมาะจะไปเยี่ยมอาจารย์ครับ

ตอนนี้หมอยุทธ ก็ลาออกจากงานทุกแห่งเพื่อมารักษาตัวเองที่บ้าน เพราะเป็นมะเร็งที่ตับระยะที่สอง อันเนื่องมาจากไวรัสบี

จิตใจดีมาก  ผมกับ สมพจน์ไปเยี่ยมอยู่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท