มันจะมาแล้ว เอาอะไรกั้นไว้ก็ไม่ไหว : แล้วเราจะรับมืออย่างไร?? คำถามท้าทายคนบ้านวัดจันทร์


"งบประมาณไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ใจ ของทุกคน หากใจมาก่อนทุกอย่างจะสำเร็จ"

 

บทเพลงของคน มูเส่คี บรรเลงไปเรื่อยๆ เพื่อบอกให้ทุกคนรู้ว่า พวกเขามีความสุขกับธรรมชาติ และพอเพียงในวิถีของคนบนดอย

------

"น้ำจะไหล มันตึงไหล จะเอา อะหยังมากั้น มันตึง บ่ อยู่"

(น้ำจะไหลบ่า มันไหลมาอยู่แล้ว จะเอาอะไรมากั้นก็ไม่อยู่)

พะตี่ อ.พนา พัฒนาไพรวัลย์ ได้พูดขึ้นในเวที"การพัฒนาบ้านวัดจันทร์" หลังจากที่ผมได้จุดประกายบทเรียนจากเมืองปาย กรณี ผลพวงจากการท่องเที่ยวที่คนท้องถิ่นปายต้องรับผลลัพธ์เชิงลบอย่างไม่เต็มใจ

 

ผมได้ใช้ "บทเรียนการท่องเที่ยวกระแสหลักที่ปาย" เป็นกรณีตัวอย่าง ผ่านการเล่าเรื่อง จากปากของคนปายอย่างผม ว่าที่บ้านของผมตอนนี้สถานการณ์ที่เราถูกกระแสใหญ่ โถมกระแทกอย่างไร และเราสบักสบอมแค่ไหนกับวิถีที่เราเผชิญอยู่...

ระหว่างที่ผมเล่าเรื่อง ผมรู้ดีว่า ผมใช้น้ำเสียงที่เจือด้วยอารมณ์ บางครั้งก็สั่นคลอ ด้วยความรู้สึกร่วมในความเจ็บปวดของคนท้องถิ่นที่ถูกละเมิดสิทธิ์ จากคนข้างนอก หรือแม้แต่คนปายด้วยกันเอง

ไม่กี่วันที่เมืองปายเสียงดนตรีประหลาดจากภูเขานั่น...มันมาอีกแล้ว

มหกรรมดนตรีเรกเก้ เสียงดนตรีที่แปลกประหลาด แยงหู ถูกถ่ายทอดมาจากเครื่องเสียงอันใหญ่กระจายเซอร์ราวด์ ใครจะรู้หรือไม่ว่า เสียงที่สะท้อนก้องหุบเขาในค่ำคืนอันทรมานที่ปายในคืนนั้น เป็นคืนที่คนท้องถิ่นทุกข์ระทมกับการข่มตาให้หลับไหล - - -

อย่างไรจะหลับได้ ในเมื่อตลอดคืนเสียงดนตรีเรกเก้ก็ดังดุจฟ้าถล่มทะลายปานนั้น

มันคือเสียงของความอ่อนด้อยของวิธีการจัดการเมืองแบบเพิกเฉยไม่ดูดำดูดีของผู้ปกครอง

มันเป็นสิ่งคุกคามเสรีภาพที่คำรามหัวเราะว่ามันคือผู้ชนะและคนท้องถิ่นต้องยอมจำนนกระนั้นหรือ???

แม่บอกผมว่าบ้านของเราปิดประตูหน้าต่าง ก็พอหลบเสียงได้ นอนหลับได้...แม่ยิ้มๆเมื่อพูดถึงวิธีการของแม่ แต่ผมกลับสะอื้นในหัวใจอย่างรุนแรง

---------------------------------------------------

คำว่า"น้ำจะไหล" หมายถึงกระแสจากข้างนอกที่จะเข้ามากระแทกชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราหมายถึง "การท่องเที่ยว"ที่รุกคืบเข้ามาที่บ้านวัดจันทร์แล้ว

บ้านวัดจันทร์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย เป็น "ป่าสนผืนใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้" รวมถึงวิถีคนปกาเกอญอ อันเรียบง่าย มีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ ชีวิตที่ผูกพันกับ ดิน น้ำ ป่า อย่างพอเพียง

 

เปราะบางจริงหนอวัดจันทร์!!!

-----------------------------

ใครจะรู้หรือไม่ว่า ระยะทางจากปายไปสู่บ้านวัดจันทร์ เพียงห้าสิบกว่ากิโลเมตร ถนนลาดยางอย่างดี สถานที่ที่หลายๆท่านตั้งใจจะไปเยือนมีชื่อที่นี่รวมอยู่ด้วย ผมคาดคะเนว่าอีกไม่นานที่นี่จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วทุกมุมโลก

ดูวันปีใหม่สากลนั่นปะไร...

ช่วงนั้นผมมีโอกาสไปจัดเวทีชุมชนที่บ้านวัดจันทร์เหมือนครั้งนี้ ที่ ออป.บ้านวัดจันทร์ มีเต้นท์สีสดกว่า ๒๕๐ หลังกระจายทั่วบริเวณ คนร่วมห้าถึงหกร้อยคนมาเสพธรรมชาติที่นี่ ส่วนหนึ่งตั้งใจมาเที่ยวโดยตรง อีกส่วนทะลักล้นจากเมืองปาย

เจ้าหน้าที่ ออป.บ้านวัดจันทร์ คนหนึ่งบอกกับผมว่า "ถึงแม้ห้องน้ำเราจะรองรับไหวแต่ก็เกิดการทะเลาะวิวาท กระทบกระทั่งกันระหว่างนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นเนืองๆ เพราะเกิดการแย่งใช้น้ำ แย่งที่จอดรถ"

 พ่อหลวง(ผญบ.)บ้านวัดจันทร์ บอกในเวทีค่ำคืนนี้บอกว่า "ที่บ้านเรามีปัญหาขยะมากขึ้น ที่ดินบริเวณหน้าโรงพยาบาลถูกจับจองไปด้วยนายทุน คนบ้านเราขายเพราะอยากได้เงิน"

"เมื่อไม่นานมานี้ มีไอ่ฝรั่งกับสาวญี่ปุ่นมายืนจูบปากกันกลางถนนในหมู่บ้าน ชาวบ้านมาต่อว่าให้ผมว่า แขกนักท่องเที่ยวที่มากับ อ.พนานั่นหละทำอะไรก็ไม่รู้ น่าขี้จ๊ะขนาด (น่าบัดสีบัดเถลิง)"  อ.พนา  เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นปีที่แล้วที่หมู่บ้านเป็นนักท่องเที่ยวที่ตามอาจารย์ขึ้นมาเที่ยวที่นี่

การเปิดเวทีระดมความคิดของผมและเจ้าหน้าที่โครงการหลวงในค่ำคืนนี้ มีการพูดคุยกันอย่างเมามัน ท่ามกลางปัญหาที่พวกเราเริ่มมองเห็นแล้วว่า อีกไม่นานที่นี่ก็ไม่ต่างจากปาย หากเรายังปล่อยเวลาล่วงไปเช่นนี้

ผมเริ่มต้นด้วยการนำเสนอ ภาพของเมืองปาย ที่ไต่พัฒนาการมาจากเมืองเล็กๆสวรรค์ของคนสูบกัญชา และวาดรูป จนถึงกระแสการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ปิดท้ายด้วยสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันที่คนปายต้องเผชิญ ...มันเศร้ามากว่า "ปายกำลังล่มสลาย" จริงหรือ แล้ว คนปายอยู่ที่ไหน???

จาก"เมืองปาย สู่บ้านวัดจันทร์"

ผมเห็นแววตาของทุกคนในเวที ต่างจ้องมองภาพที่ผมนำเสนอผ่านโปรเจคเตอร์นั้นอย่างไม่กระพริบตา ผมเห็นแววตาอันตื่นตระหนกของผู้เข้าร่วมประชุม ในคืนนั้นจากนั้นเราเปิดการระดมความคิดกันเสรี

อารมณ์กรุ่นๆ

คำถาม ความคิด ความเห็นพร่างพรูออกมาเต็มที่ ...การระดมความคิดที่ให้โอกาสเด็กเยาวชนแกนนำ ผู้ใหญ่ ผู้นำ และเจ้าหน้าที่ ผมนั่งสรุปผังความคิดเงียบๆท่ามกลางพายุความคิดที่เล็กๆเกิดขึ้น ค่ำคืนกลางป่าสนไหวเอน

เสียงใบสนยามต้องลม ดังมาไกลๆจากชายป่า เสมือนบอกกับพวกเราในเวทีว่า "ถึงเวลาแล้วนะที่จะร่วมกันปกป้องมาตุภูมิและชีวิตของปกาเกอญอที่นี่" แว่วอีกเสียงเป็นเหมือนเสียงปรบมือกราวใหญ่ให้กับการเริ่มต้นคิดถึงอนาคตและการอยู่รอดของมูเสคี

ท่าน ผอ.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ได้บอกกับทุกคนในเวทีว่า "หากน้ำจะไหลบ่า ก็ไม่เป็นไร ถ้าเสาเรือนเราแข็งแรง นอกจากเราจะต้านทานกระแสนั้นได้ เรายังได้ใช้ประโยชน์จากน้ำนั้น ได้ตักดื่มกิน" 

ประโยคเด็ดของ ท่าน ผอ. ทำให้เกิดประเด็นในการระดมความคิดต่อว่า เราจะกำหนดอนาคตของบ้านของเราได้อย่างไร?? 

เยาวชนพุทธ ประกอบด้วย ยุวพุทธ - เยาวชน รวมตัวกันเป็นกลุ่มอย่างเข้มแข็ง ศึกษาพุทธศาสนาอันเป็นแนวทางปริยัติอันประเสริฐ กิจกรรมเพื่อสังคม เก็บขยะเป็นต้น ตัวแทนเยาวชนบอกกล่าวอย่างภูมิใจทางด้านยุวชน เยาวชนของคริสต์ ก็มีกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน ที่น่าภาคภูมิใจก็คือเยาวชนเหล่านี้สวมชุดชนเผ่าอย่างภาคภูมิใจในสองสามวันต่อสัปดาห์

"ใส่เสื้อปกาเกอญออยู่เมืองไทย พูดไทยไม่ชัดก็ไม่เป็นไร

แต่ใส่เสื้อฝรั่งแล้วพูดไทยไม่ชัดนี่สิ มันน่าอายกว่า"  พะตี่ อ.พนา บอกให้ทุกคนเวที ที่ว่าเสื้อฝรั่งก็คือเสื้อคนเมืองสวมใส่ทั่วไป อาจารย์พูดถึงกิจกรรมที่บ้านใหม่พัฒนาได้ดำเนินการสืบสานวัฒธรรมปกาเกอญอที่กำลังดำเนินการในขณะนี้

ประเด็นหลายๆประเด็นนำขึ้นมาพูดคุย ในเวที ...และทั้งหมดคือ "ต้นทุน" ของพื้นที่ที่นี่

เราจะจัดการทุนเหล่านั้นอย่างไร?เพื่อเป็นการจัดการองค์ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับบ้านเรา

คำถามนี้ผมได้ทิ้งให้ถกกันต่อ ในขณะที่ผังความคิดที่ผมจับประเด็นได้ถูกขีดเขียนจนเต็มพื้นที่

ปิดท้ายค่ำคืนนี้ด้วย บทเรียนการทำงานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ประสบความสำเร็จจากพื้นที่อื่น...และบรรยากาศนี้เช่นกัน ทุกคนได้ตั้งใจชมภาพที่เรียงร้อยในการนำเสนออย่างตั้งใจ

กระดาษปรู๊ฟแผ่นใหญ่ ...สรุปความคิดของพวกเราแต่เริ่ม  ถูกนำมาติดบนบอร์ด พร้อมสรุปการสนทนาของเราแยกเป็นประเด็นให้เห็นชัด

  • สถานการณ์บ้านของเรา
  • ทางออก ทางเลือกในการแก้ปัญหา
  • ทุนของเรา
  • ภาคีที่เกี่ยวข้อง (หากเราจะพัฒนา)
  • พื้นที่เป้าหมายนำร่อง

 ผมสรุปให้ทุกคนได้ฟัง...พร้อมกับทุกเสียงในเวทีบอกว่า เราจะนำการพูดคุยในค่ำคืนนี้สู่เวทีประชาคมใหญ่   ช้าไม่ได้แล้ว!!!

ปิดการระดมความคิด

ดึกแล้ว...ใครจะรู้หรือไม่ว่าผมยังไม่ได้ทานข้าวมื้อเย็น

  

ห้าทุ่มย่างหกทุ่มคืนนี้ที่โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์เหน็บหนาวแบบที่เคยสัมผัส แต่ว่าในใจของผมนั้นอิ่มเอมด้วยพลังของคนท้องถิ่นระดับแกนนำที่พร้อมจะทุ่มเทกำลังกาย กำลังความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบ้านของพวกเขา

แน่นอนว่าเราจะต้องทำงานใหญ่ และคิดยุทธศาสตร์รอบคอบ รอบด้านก่อนขับเคลื่อน

คำถามหนึ่งที่ถามขึ้นมาว่า "แล้วเราจะเอางบมาจากไหน??"

ผมตอบทุกคนในเวทีว่า "งบประมาณไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ใจ ของทุกคน หากใจมาก่อนทุกอย่างจะสำเร็จ"

อาหารมื้อเย็นตอนดึก เอร็ดอร่อยยิ่งนัก ...ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรู้สึกว่าหิว ส่วนหนึ่งก็สบายใจเมื่องานลุล่วงไป ด้วยการจุดไฟให้ลุก

คืนนี้ผมนอนหลับด้วยความสุข และสะสมพลังเพื่อจะช่วยกันคิดต่อประเด็นที่เราคิดกัน

และมันยังอีกไกล....

 ----------------

 

ผืนแผ่นดินแคบลง   มวลมนุษย์เพิ่มขึ้น

สีขาวสลาย  สีดำทะมึนรวมตัว

ฝนไม่ตกตามฤดูกาล  แล้งไม่เหมือนแต่ก่อน

ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น  นกเขาขันบนกิ่งไม้

เงินเต็มกระบุง   ข้าวไม่เต็มกระบุง

เพราะคนกินข้าวไม่เห็นต้นข้าว  คนกินน้ำไม่เห็นต้นน้ำ

ลูกฉันจะกินอย่างไร  เหลนฉันจะอยู่อย่างไร

เมื่อลูกสาวทอผ้าไม่เป็น  ลูกชายจักสานไม่เป็น

ลูกหลานสมัยนี้  เห็นงูไม่กลัวเห็นตะขาบไม่เกรง

กลับหลงระเริงแต่เกล็ดมังกรทอง

คนฉลาดจะกินได้  แต่ของฟรีมักราคาแพง

จะตัดกิ่งไม้อย่าตัดหมดต้น  เหลือไว้ให้นกพญาไฟมาพักหนึ่งกิ่ง

เราพี่น้องเก็บใจรวมกันไว้  ช่วยกันยกเสาหลักแห่งชีวิต

เก็บรักษาพันธุ์เผือกเอาไว้  เก็บรักษาพันธุ์ข้าวเอาไว้

เก็บไว้จนครบสามสิบกระบุง  ถึงแร้นแค้นเราก็ไม่กลัว

ฆ้องกบอยู่กับคนที่มีกำลัง  เงินอยู่กับคนที่มีความเร็ว

ลูกหลานปกาเกอะญอเอ๋ย  จงมารอที่กิ่วดอย

ตอนบ่ายบ่าย  เงินและทองจะกลับมา  

ขอให้โชคดี

--------------------

บทเพลง "ธา" ของ คุณ ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ลูกชายของ อ.พนา พัฒนาไพรวัลย์

ถอดความมาจากบทเพลง ภาษาปกาเกอญอ

ขอคารวะปราชญ์แห่งขุนเขา คือ ปกาเกอญอ แห่ง มูเส่คี

หมายเลขบันทึก: 165546เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (67)

สวัสดีเอกจากอีกฟากของขุนเขาเมืองหงสา

ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน

ผมกำลังกลัวแทนคนหงสามากๆ

เมื่อวานนั่งโน้มน้าวพี่น้องชาวลื้อ ที่อยากได้โบสถ์รูปทรงเมืองไทย ไม่เอาศาลาราย ปีกหลังคาแบบของลื้อ

เหนื่อยใจมากครับ

หนาวแต้ๆน้อ หงสาหนาวขะหนาดหนักครับ

  • สวัสดีค่ะ น้องเอก
  • กระแสสวนป่าวัดจันทร์มาแรงมากค่ะ เมื่อสองปีก่อนป้าแดงก็มีแพลนที่จะไปแวะค้างที่นั่น แต่ไม่ไปถึง
  • ปีนี้ก็มีคนชวนแต่ไปไม่ได้
  • ตัวโครงการเองก็รณรงค์เรื่องท่องเที่ยวอยู่นะคะ
  • ไม่อยากให้เปล่ยนแปลงไปเป็นเมืองฝรั่งเหมือนปายค่ะ

 

พี่ เปลี่ยนครับpaleeyon

น้องสาวจากโครงการหลวง บอกผมว่า "หนูขอโทษที่ชวนพี่มาทำงานในวันวาเลนไทน์"

ผมบอกว่า "ไม่เป็นไร ผมยินดี"

ที่วัดจันทร์ผมมาหลายครั้ง และทุกครั้งผมมีความสุขที่ได้สัมผัสธรรมชาติสวยงามที่นี่

มีคุณค่ามากที่สุดครับ...ผมรู้สึกหวงเเหนพื้นที่ที่นี่แทนคนท้องถิ่น เมื่อมีคนชวนไปช่วยเปิดระดมความคิดการพัฒนา ผมไม่อิดออด

เวทีก่อนก็เป็นช่วงหยุดยาว ปีใหม่สากล ผมก็มาที่นี่...

จากนี้การขับเคลื่อนงานพัฒนาที่บ้านวัดจันทร์ก็กำลังจะเดินทางไป

มีโอกาสอ้ายมาแอ่วที่ปาย จะชวนมาที่นี่นะครับ

 

ขอบคุณอ้ายเปลี่ยนนักๆเน้อครับ ตี้มาแอ่วเยือนกั๋นครับ

ดูแลสุขภาพโตยเน้อ!!!

 

สวัสดีค่ะ คุณเอก

ครูเอ เคยไปปายเมื่อปีที่แล้ว มีบางมุมมองที่พบเห็นแล้วไม่สบายใจ  คือ การที่มีคนต่างชาติมาทำการค้าขายในบ้าน ( ตามถนนคนเดิน )  ไม่หน้ามองเลยค่ะ มันสะท้อนภาพอะไรหลายๆอย่าง เกิดคำถาม ว่า แล้วคนปายเขาไปไหนกัน  ปล่อยในคนต่างชาติเอาบ้านเมืองของเราทำอะไรก็ไม่รู้ วัฒนธรรมสูญหายไปไหนหมด ไปเที่ยวปายก็อยากจะเห็นวิถีชีวิตคนเมืองปาย กับสภาพบรรยากาศของคนในท้องถิ่น 

เป็นกำลังในการทำงานให้คุณเอก และอยากกลับแล้วพบเห็นผู้คนเมืองปายมีความสุขกับบ้านเมืองที่ตนเองร่วมกันสร้างค่ะ

อ้าย

  • จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ไปเมืองปาย
  • เสียดายจริง ๆ
  • มาพักหลัง วงสนทนาของเพื่อนพ้องที่ไปเมืองปายมาเริ่มจะส่อไปในแนวทางที่ไม่สู้ดีนักทั้ง คนนอกที่เข้าไปเมืองปาย และ แหล่งเสพพืชเสพติด
  • ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ก็นับว่าเสียดายมาก

ป้าแดงครับpa_daeng

อนุสารของ อสท. นำภาพ ป่าสนวัดจันทร์ นำเสนอผ่านนิตยสารฉบับต้นปี ผมคิดว่า ที่นี่เริ่มรู้จักขึ้นมาเรื่อยๆ

น่ากลัวนะครับ!!!

ผมกลัวจังครับ ผมมาที่นี่ได้เห็นป่าสนสวยๆ วิถีคนปกาเกอญอที่เรียบง่าย ผมชอบมาก

นอกจากค่ำคืนที่ผมจัดทำเวทีคืนนี้ รุ่งเช้าผมต้องนำไพล์นำเสนอเดิม อารมณ์เดิมไปคุยในเวทีหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ในการประชุมคณะทำงานโครงการหลวงอีก ...

บรรยากาศอีกวันน่าเร้าใจไม่แพ้กัน

จะนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

ฟังดู เหมือน "ปายกำลังป่วย"

  • คนป่วยมีใครบ้าง
  • ด้วยสาเหตุอันใด
  • มีใครตรวจอาการให้
  • มีใครหายาให้กิน
  • มีใครรักษา
  • รู้ที่มา หรือสมุติฐานถูกต้องแล้วยัง
  • ยาผีบอก มีกี่ยี่ห้อ
  • ถ้าแก้ไขไม่ทัน วัดจันทร์อาจจะย้ายไปอยู่บนเชิงตะกอน
  • คนปายจะไม่แค่นอนผวา แต่จะนอนตาค้างใจกระด้าง ขื่นขม
  • ปัญหาปาย คนปายจะอธิบายและตอบตัวเองว่าอย่างไร?
  • ตอบตัวเองว่าอย่างไร ๆๆๆๆๆๆๆ

มันไม่ใช่แต่ วันจันทร์ หรือที่ปายหรอกเอกเอ๊ย!

ประเทศใดความรู้ไม่พอใช้  ก็จะจ่ายค่าโง่กันทั้งแผ่นดิน อย่างนี้แหละ

สวัสดีเจ้าค่ะ พี่เอก

             แวะมาทักทายเจ้าค่ะ  เป็นอย่างไรบ้างเจ้าค่ะ สบายดีหรือเปล่า รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ

               เป็นกำลังใจให้พี่เอกเจ้าค่ะ ---------> น้องจิ ^_^

ครูเอ ครับ

เรื่องการค้านั้น ผมไม่ค่อยวิตกครับ จะเป็นใครก็ทำได้ทั้งนั้น เพียงแต่อยู่ในกรอบ ในระเบียบเคารพสิทธิของเจ้าบ้าน เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้า + ความพึงพอใจ

แต่ผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เป็น ดาบสองคม นั่นสิครับ ด้วยการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สถานการณ์มันวิกฤติมากขึ้น

คนปายส่วนหนึ่งได้แต่เฝ้าดูด้วยใจระทึก แต่ เพิกเฉย ส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไม่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น...

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเล่าครับ...หลังจากนั้น

ผมเชื่อว่า  เรายังทัน หากเราเริ่มต้นพัฒนากันอย่างจริงจัง และเราต้องทำในพื้นที่รอบข้างที่สุ่มเสี่ยงกับผลกระทบนั้นด้วย

 ขอบคุณครูเอ ครับผมที่มาเติมเต็มครับ

 

  • บินไปจนล้า  ถลาและโรยแรง
    ด้วยปีกที่เหี่ยวแห้ง  ด้วยแรงที่อ่อนล้า
    สายลมยังเคลื่อนไหว  จ้องไปบนท้องฟ้า
    กางปีกได้ทุกครา  ขึ้นหยัดขึ้นท้าทาย
                                           ..สายลม อักษรสุนทรีย์..

น้องออตครับออต

ผมคิดว่าปรากฏการณ์นี้เป็นไปเกือบทุกที่อยู่ที่ว่าจะมีการนำเสนอหรือไม่เท่านั้น

ถามว่า ทำไมผมถึงนำเสนอเรื่องของบ้านตัวเองออกมา หลากหลายแนว (บวก ลบ) เพราะผมอยากสะท้อนภาพของความตริงที่เกิดขึ้น และระดมพลังในการพัฒนาเมือง ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เรียกง่ายๆว่า เป็นพื้นที่เรียนรู้

ที่ไหนก็ตามที่เกิดการขาดสมดุล ปัญหาเกิดขึ้นมาแน่นอน อยู่ที่เราจะมีกระบวนการรับมือเรื่องราวพวกนี้ได้อย่างไร?

คนท้องถิ่นได้เรียนรู้อย่างไร? จากบทเรียนที่เกิดขึ้น

ติดตามกันต่อไป....

คุณพ่อครับครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

ว่ากันว่าคนป่วยหากสร้างเสริมสุขภาพตนเองยังพอมีโอกาสในการอยู่รอด แต่คนป่วยไม่รู้ตัวเองป่วยนั้น ไม่รู้จะทำไง นอกจากเคาดาวไปที่เชิงตะกอนที่เร็วขึ้น

อยากสะท้อนปัญหานี้ให้ผู้ใหญ่ หรือ ใครก็ตามที่มีหน้าที่ให้รับรู้ รวมถึง คนท้องถิ่น ที่กำลังหลงกับวิถีที่เป็นอยู่

แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ถอดบทเรียนได้ว่า เราจะพึ่งใครไม่ได้ นอกจากพึ่งตนเอง  พอเพียง...เป็นมรรควิธีทางเลือกที่ดีที่สุด

ภาคประชาสังคม เข้มแข็ง???อยู่ที่ไหน

การทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง...ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากทุกภาคี แล้วเราทำได้แค่ไหน...

ผมจึงถือโอกาสปลีกตัวไปทำงานช่วยโครงการหลวงที่บ้านวัดจันทร์ อย่างน้อยอาจเป็นกลไกเล็กๆที่จะช่วยคิด ช่วยทำเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่นั่นให้ต้านทานกระแสที่เรารู้ดีว่า มันกำลังจะมา....

ก็กำลังเดินต่อครับผม

 

 

 

น้องนางสาว จิราภรณ์ น้องจิ กาญจนสุพรรณ

ขอบคุณครับ เยาวชนคนเก่ง ที่มามอบกำลังใจให้พี่...

น้องเป็นความหวังของประเทศชาติครับ ผมก็ขอให้กำลังใจนั้นกลับคืนให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ศาสตร์และศิลป์ เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน

สู้ๆครับ

น้องนายสายลม อักษรสุนทรีย์

ขอบคุณการเติมเต็มผ่านการสนทนาออนไลน์ MSNและขอบคุณบทกวีที่ได้แง่คิดพร้อมกำลังใจ

"สายลมยังเคลื่อนไหว  จ้องไปบนท้องฟ้า
กางปีกได้ทุกครา  ขึ้นหยัดขึ้นท้าทาย"

ขอบคุณมากครับ

*** ภาพที่นำเสนอในบันทึกผมเป็นไฟล์นำเสนอส่วนหนึ่งในเวทีระดมความคิด

 

และกระผมขอเพิ่มเติมกระบวนการที่เราคิด- - เพื่อแลกเปลี่ยนกับมทุกท่านครับ

------------------ 

กระบวนการพัฒนาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมบ้านวัดจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

บันทึกเดิม

เวทีที่ ๑ เก็บข้อมูลระดับเวทีเล็ก เติมแนวคิดการท่องเที่ยว ผ่านข้อมูลเดิมของงานพัฒนาโครงการหลวง (ต่อยอด)

เวทีที่ ๒ ระดมแนวคิดการพัฒนาบ้านวัดจันทร์ ในกลุ่มแกนนำ เพื่อแสวงหาโจทย์วิจัย

เวทีต่อไป...เวทีประชา พัฒนาโจทย์ และ แสวงหาภาคีร่วมในการขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนา

 

 ผมในส่วนของวิทยากรกระบวนการ ตัวต่อเพื่อพัฒนาโจทย์เพื่อนำเสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สำนักงานภาค) สกว. ประเด็น "การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน"

ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง 

สวัสดีความเศร้าครับน้องเอก

มันคืบคลานไปทั่ว  ที่ไหนมีวัตถุดิบในการหากิน ที่นั่นจะมีคนไปเสวย และพร้อมที่จะทำลาย เพราะไม่ต้องรับผิดชอบ

ระบอบทุนคืออย่างนี้ครับ  มันจะเคลื่อนย้ายกันไป แล้วกอบโกย ใครจะเป็นไงช่างมัน  ถ้าพินาศมันก็จะย้ายกันไปอีก จนไม่มีที่ไปนะครับ

คุณเอาที่ชัดๆที่พัทยาไงครับ กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม

แล้วที่ สามเหลี่ยมทองคำละ  พวกอิทธิพลเข้าครอบงำมันกำลังขยี้ความสวยงามของธรรมชาติไปหมดสิ้น

น้องเอกทำถูกแล้วครับ  หนุ่มสาวสมัยนี้ทิศทางที่ทรงพลัง ความเร่าร้อน ปกปักรักษาของดีที่พวกเราหวงแหนเสียตอนนี้ ดีกว่าเรามาเยียวยาในตอนหลังซึ่งจะลำบากมาก  มันจะก่อรากสร้างอิทธิพลกันจะถอนกันยากมากครับ

ให้กำลังใจถึงแม้ว่าจะช่วยอะไรไม่ได้มาก    

โชคดีครับ

คนพื้นที่ต้องเข้มแข็งครับน้องเอก ภูเก็ตวันนี้คนพื้นที่ไม่เข้มแข็ง เห็นเงินเป็นพระเจ้าขายที่ดินให้กับนายทุนต่างถิ่นและนายทุนต่างชาติ จนแทบไม่เหลือสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น น้องผมเกิดความรู้สึกว่าภาษาถิ่นภูเก็ตมันหายไป เด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษากลางกันทั้งในครอบครัวและนอกบ้าน พูดภาษาถิ่นไม่เป็นจึงทำเพลงกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาถิ่นประสบความสำเร็จมากพอสมควร เพราะบทเพลงของน้องชายเป็นเพลงที่นำไปใช้สอนภาษาถิ่นในโรงเรียนทั่วทั้งเกาะภูเก็ต เดี๋ยวจะส่งไปให้นะครับ

สวัสดีความเศร้าครับน้องเอก

มันคืบคลานไปทั่ว  ที่ไหนมีวัตถุดิบในการหากิน ที่นั่นจะมีคนไปเสวย และพร้อมที่จะทำลาย เพราะไม่ต้องรับผิดชอบ

ระบอบทุนคืออย่างนี้ครับ  มันจะเคลื่อนย้ายกันไป แล้วกอบโกย ใครจะเป็นไงช่างมัน  ถ้าพินาศมันก็จะย้ายกันไปอีก จนไม่มีที่ไปนะครับ

คุณเอาที่ชัดๆที่พัทยาไงครับ กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม

แล้วที่ สามเหลี่ยมทองคำละ  พวกอิทธิพลเข้าครอบงำมันกำลังขยี้ความสวยงามของธรรมชาติไปหมดสิ้น

น้องเอกทำถูกแล้วครับ  หนุ่มสาวสมัยนี้ทิศทางที่ทรงพลัง ความเร่าร้อน ปกปักรักษาของดีที่พวกเราหวงแหนเสียตอนนี้ ดีกว่าเรามาเยียวยาในตอนหลังซึ่งจะลำบากมาก  มันจะก่อรากสร้างอิทธิพลกันจะถอนกันยากมากครับ

ให้กำลังใจถึงแม้ว่าจะช่วยอะไรไม่ได้มาก    

โชคดีครับ

  • สวัสดีค่ะ  คุณเอก..

เคยไป "ปาย"  แต่ไม่เคยไปบ้านวัดจันทร์เลยค่ะ   ในสายตาของต้อมๆ ว่าปายกำลังป่วยเหมือนที่พ่อครูบาพูดไว้จริงๆ

"ปาย" ในความคิดคำนึงของต้อมคือ หญิงสาวชาวป่า  ผู้ที่มีความงดงามตามธรรมชาติ  เธอสวยใส  สงบนิ่ง   แต่พอได้ไปสัมผัสปาย  ต้อมก็คิดว่าแม่สาวชาวป่าของต้อมเธอเปลี่ยนไป  ราวกับเธอแต่งหน้าด้วยแป้ง  แต้มปากด้วยลิปสติก  ทาบลัสออน    พาลนึกเล่นๆ ว่าถนนเข้าไปถึงก็พาความเจริญต่างๆ และผู้คนเข้าไป   มันก็เลยเกิดการเปลี่ยนแปลง  ทั้งดีและไม่ดี   เลยส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตเดิมๆ ของชาวบ้าน    ซึ่งตอนนี้ "วัดจันทร์" ก็คงจะเป็นไปคล้ายๆ กัน

จะมีหนทางไหนที่เราจะช่วยสกัดกั้นกันได้บ้างนะ   ต้อมเอาใจช่วยคุณเอกค่ะ

สวัสดีครับพี่เหลียงสิทธิรักษ์

จากที่เชียงรายไม่มีโอกาสได้ไปหากันเลย ผมกลับได้ทะลุไปพม่าตั้งนานสองนาน กะว่าจะไปแลกเปลี่ยนยังบ้านพี่ หรือที่ร้านอาหารเล็กๆริมโขง จิบเครื่องดื่มเย็นๆกันครับ

ในเวทีใหญ่ครั้งต่อไปน่าจะเป็นเวทีประชาคม ที่เราคิดทำงานกันในสามหมู่บ้านนำร่อง ส่วนกระบวนการเป็นยังไงนั้นผมจะคิดทบทวนอีกที พร้อมกับวางแผนกับภาคีในพื้นที่

ความชอบธรรมที่เราต้องการให้เกิดมี คือ สิทธิการจัดการชุมชนของคนท้องถิ่น และการอยู่ร่วมกันอย่างศานติสุข ปรองดอง และสมดุล

รุกคืบเข้ามาแล้วกระแสโลกาภิวัฒน์ หากขวางกั้นไม่ใช่วิธีการที่ดี คงต้องยอมรับและเรียนรู้กับกระแสนี้อย่างรู้เท่าทัน

ทำเสาเรือนเราให้แข็งแรง...น้ำจะถาโถมมาเท่าไหร่ ก็ไม่หวั่น แถมยังได้ใช้ประโยชน์จากน้ำนั้น

ขอบคุณครับ

ขอชนสักแก้วครับ  ...!!!!

 

 

เป็นปัญหาที่น่าวิตกมาก ๆ ครับ...

ผมเห็นด้วยกับท่าน ผอ.ครับ ที่ว่าเราคงห้ามกระแสน้ำที่จะไหลเข้ามาไม่ได้ แต่ถ้าเสาบ้านเราแข็งแรง เราก็จะอยู่รอดปลอดภัยได้...

คงต้องอาศัยการปลูกจิตสำนึกของคนในพื้นที่ให้ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันในการป้องกันครับ...

การพัฒนาจะต้องเป็นไปอย่างเป็นระบบ เพื่อจะได้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนครับ...

ขอบคุณมากครับ...

สวัสดีครับ ท่านอัยการชาวเกาะ

ผมคุยในเวที หรือ คุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนเราก็มองความเห็นตรงกันว่า เราต้องสร้างคนให้เข้มแข็ง ทั้ง วิธีการจัดการระดับชุมชน สิทธิชุมชน ต่างๆ

สร้างคนให้เข้มแข็งด้วยกระบวนการแบบใด นี่สิครับ เราก็คุยกันหลากหลาย

อ.พนา พัฒนาไพรวัลย์ ท่านได้เล่าเรื่อง การสืบสานวัฒนธรรมกระเหรี่ยง ผ่านเยาวชน ผ่านคนพื้นถิ่นด้วยกระบวนการต่างๆ ท่านได้ปลูกฝังลูกหลานให้รักและภูมิใจใน วิถี ปกาเกอญอ

ท่าบอกว่า คำว่า ปกาเกอญอ หมายถึง มนุษย์

คุณ ชิ สุวิชาน เป็นลูกชายคนหนึ่งของท่านที่โด่งดังเป็นนักดนตรีแห่งพงไพร และเป็นกำลังขับเคลื่อนพัฒนาวิถีคนบนดอยสู่คนข้างล่างเพื่อความเข้าใจในกลุ่มชาติพันธุ์

ผมได้อ่าน เรื่องราวของพ่อ กับลูกที่รักผูกพัน อ.พนาได้เขียนเพลงมอบให้กับ ชิ ที่ไปร่ำเรียนอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ผมเห็นความรักกรุ่นในบทเพลงนั้น

เพลง  คิดถึงลูก  อยู่ในอัลบั้ม เพลงนกเขาป่า โดย  ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ คนหลังเขาแห่งแดนป่าสนวัดจันทร์

--------------------------------------------------------------

ยามสุริยัน  ใกล้โพ้นขอบฟ้า

 ฝากเป็นแสงทอง ส่องเพื่ออำลำ

ลูกรักจากบ้าน คิดถึงห่วงหา จากไปเนิ่นนาน

บ้านดอยอ้างว้าง เหลือความทรงจำ


....โอ้ลูกรัก  เจ้าจะรู้ไหม  ลูกคือดวงใจ

คือแรงแห่งกาย  คือแรงแห่งใจ  

หวังยังอีกไกล เจ้าจงอุตส่าห์ สู้และฝ่าฟัน  

ให้ถึงจุดหมาย  ปลายทางแห่งฝัน

 

ยามห้าโมงเย็น  จักจั่นร่ำร้อง  

ฝากความอาลัย  กลางใจหุบเขา  

นึกถึงความฝัน  และคอยฟังข่าว  

คร่ำครวญเฝ้ารอ  ลูกรักกลับมา หวนคืนบ้านดอย

เนื้อเพลงเดิมถอดความมาจากภาษาปกาเกอญอ ครับ

 

--------

ขอบคุณท่านอัยการครับ

ที่อยู่ผม

๑๙ หมู่ ๓ ต.ทุ่งยาว อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ๕๘๑๓๐

สวัสดีครับ คุณเนปาลี

ขอบคุณครับสำหรับกำลังใจที่ดี

เชื่อว่าคุณต้อม ต้องเคยรับรู้เรื่องของ คุณ ชิ สุวิชาน บ้างไม่มากก็น้อยผ่านสื่อ

นี่คือตัวตนของเขา ที่มีเลือด มูเสคี ข้นคลั่ก

----- 

แนะนำ ชิ สุวิชาน ลูกชายของ อ.พนา พัฒนาไพรวัลย์

-------------------------

ท่ามกลาง กระแสโลกาภิวัตน์ที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นกระทั่งชาวปกาเกอะญอกว่า 1,000 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ ณ ดินแดนมูเสคี หรือป่าสนวัดจันทร์ ป่าสนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ชิ เติบโตบนดอยสูงแห่งนี้ เขาหัดเล่นเตหน่าตั้งแต่เด็ก และยังคงดีดพิณเตหน่าจนถึงทุกวันนี้ เขาบอกว่า มันเป็นภาระหน้าที่หนึ่งของลูกหลานปกาเกอะญอในการสืบทอดเรื่องราวความเป็นชนเผ่าให้ผู้คนได้รับรู้

ในวัยเด็ก เขาชื่อจอเต่อะเหล่อะ (เจ้าตุ้ยนุ้ย) มีพ่อเขาคนเดียวที่เรียกว่า ชิ (เจ้าตัวเล็ก) เพราะเชื่อว่าโตขึ้นจะไม่อ้วน ซวอหวอทู คือชื่อภาษาปกาเกอะญอแปลว่า นกโพระดกทอง และ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ เป็นชื่อภาษาไทย เมื่อนำมารวมกัน เขาจึงได้อีกชื่อว่า ชิ สุวิชาน

5 ปีที่ผ่านมา ชิใช้ เตหน่า*** ร่วมแสดงดนตรีกับวัชพืชหลังเขา วงดนตรีชนเผ่าแห่งบ้านวัดจันทร์ ควบคู่ไปกับการเป็นนักศึกษาเอกพัฒนาชุมชนที่สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ ในระหว่างนี้เขายังทำงานวิจัย เรื่องการจัดการศึกษาเพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนปกาเกอะญอ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ(สกว.)

*** เตหน่า เป็นเครื่องดนตรีชนเผ่า ชนิดหนึ่ง

 

 

 

--------

ข้อมูลจาก เว็ปป่าชุมชน

อย่าเหลือแต่ความทรงจำ สูจงทำมิรอมิชักช้า

อิดออดรีรอนา  จะเหลือท่าความทรงจำ

 

 

สวัสดีครับMr.Direct

เวทีนี้หากดิเรกได้มาร่วมคงสนุกและได้เห็นศักยภาพของคนในชุมชน คนท้องถิ่น ศรัทธาในวิธีคิดและความสามัคคี

ที่คุยให้ฟังเมื่อวานผ่านเอ็มเอสเอ็น ผมตั้งใจไม่น้อยในการเขียนบันทึกนี้ขึ้น ตามจริงมีเรื่องราวหลากหลาย เขียนเล่าได้มากกว่า ๑๐ หน้าเลยทีเดียว แต่ขอถอดบทเรียนบางส่วน และโค้ดเอาคำพูด ประโยคเด่นๆออกมา พร้อมให่เห็นกระบวนการ

เราคงต้องเตรียมให้พร้อมครับ

---

เอาเพลง "เตหน่า" มาฝาก


เธอชื่อเตหน่า  

คำร้อง  สุวิชานนท์  รัตนภิมล

-------------------------------

  
เธอเป็นสิ่งงดงามบนดอย  คนบนดอย รับฟังด้วยหัวใจ

แต่ยามเธออยู่ใต้แสงไฟ  เดียวดายเหมือนฉันเดียวดาย

เธอลงดอยมุ่งมาสู่เมือง  มาบอกเรื่องราว คนปกาเกอะญอ

เหมือนลูกจากอ้อมออกแม่พ่อ เสียงเธอคลอน้ำใสในดวงตา

ยามเธออยู่ใต้แสงจันทร์  คืนวันร้องอื่อธาในหุบเขา

เสียงเธอใสกล่อมใจฉันวัยเยาว์  เผ่าพันธุ์ของฉันฉันปกาเกอะญอ

เสียงเธอใส ชวนใจคิดถึงบ้าน  ยามยินเสียงกังวานร้องลั่นป่า

เธอคือสิ่งสวยงามมีค่า  คือเธอ เตหน่า คนปกาเกะญอ

เตหน่า โพ  เตหน่าโพ เลเยอ เลเยอ เอ ออ เตหน่าโพ เลเยอ เอ เอ เตหน่าโพ เลเยอ เอ ออ

เดหยื่อนา เด หยื่อนา ละเตลาเตหน่าโพ เดหยื่อนา ละเตละเตนาโพ

(เตหน่าน้อยๆของฉัน  ฉันจะเล่นเธอเอง  )  คำแปลประมาณนี้แหละครับ

---------------------------- 

เป็นเพลงของนักร้องคนต้นน้ำอีกคน  ที่ชื่อ  ลีซะ  ชูชื่นจิตสกุล  อดีตพรานมือหนึ่งแห่งแม่แฮใต้  กลับตัวกลับใจมาเดินทางสายพระเจ้า  สั่งสอนผู้คนบนดอยด้วยบทเพลงแห่งชนเผ่าและพระเจ้า

สวัสดีครับพี่เอก ช่วงนี้ไม่ได้เข้าโกทูโนวนานเลยเพราะกำลังวุ่นๆเครียดมากครับ อยากไปพักผ่อนตากอากาศมั่งจังเลย เปิดเทอมขึ้นปี3ก็ต้องอยู่บ้านคนเดียวแล้ว แม่และน้องไปอยู่ต่างประเทศ เหงาแยเลยครับ

สวัสดีครับพี่เหลียง สิทธิรักษ์

ขอบคุณครับสำหรับบทกวีที่เตือนให้ตื่น

ขอระดมความคิดพร้อมกำลังใจจากพี่ๆนักพัฒนาด้วยครับ

สวัสดีครับ น้องด้อยประสบการณ์ปี2

ให้กำลังใจในการเตรียมตัวสอบครับ...มีโอกาสมีเวลามาเยี่ยมพี่ได้ครับ ขึ้นปีสามก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น พร้อมที่จะเผชิญกับโลกข้างนอกมากขึ้น

เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และพัฒนาสังคมไปด้วยกันครับ

ผมให้กำลังใจน้องเสมอ

อีกหน่อยคงเป็น น้องด้อยประสบการณ์ ปี 3 ใช่มั้ยละครับ :)

  • ทุกครั้งที่ฟังอึทา
  • ฟังเตหน่าของพี่น้องปกากญอ
  • ทำให้เราเข้าใจวิถีชุมชน วัฒนธรรมได้ดี
  • ไม่รู้ว่าผมมีอะไรผูกพันธ์กับชาวปกากญอมากนัก
  • ทุกครั้งที่ใครเขียนเรื่องปกากญอผมจะตามไปอ่าน
  • วัดจันทร์และปายเปลี่ยนไปจริง
  • พี่เชื่อว่า ถ้าพลังของชุมชนเข้มแข็ง
  • ปายจะคงเดิม
  • มาให้กำลังใจและเอาใจช่วยน้องเอก
ลมหนาวมาเยือนอีกกี่ระลอก
ต้นสนก็ยังยืนโต้ลม
เสียงเตหน่าก็ยังบอกผ่านลม
พร้อมเสียงอื่อธาที่ขับขานกล่อมใจ
หากชีวิตยังต้องเดินทาง
ความคิดความรู้สึกก็คงต้องเดินทาง
ณ ที่นั่น ป่าสนวัดจันทร์ แห่งมูเส่คี
ความรู้สึกดีๆ รอคอยการเดินทางของเธอมาเยือน.....

คัดจากเวปหนึ่ง http://www.sumbala.com/

-------------------- 

สวัสดีครับ อาจารย์ขจิต ฝอยทอง

อื่อทา(อื่อธา,อึทา) และ เตหน่า เสมือนการบอกเล่าวิถีของคนบนดอยผ่านเสียงดนตรี และบทเล่าในอื่อทาก็ได้บรรยายวิถีของคนบนดอยออกมาได้แจ่มชัด

ปกาเกอญอ เป็นปราชญ์ภูเขา กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อย่างพอเพียงพึ่งพา ดิน น้ำป่าอย่างเอื้ออาทร

โลกาภิวัฒน์ กำลังเข้าไป รุกรานพวกเขา หากเปราะบางเขาจะอยู่ได้หรือ

ปายเปลี่ยนไป...แต่หากเราพลิกวิกฤติได้ เป็นเรื่องที่ท้าทาย

และ วัดจันทร์ กำลังจะถูกกระแสเช่นเดียวกับปาย หากเราสร้างภูมิคุ้มกันให้ที่นี่ไว้ก่อน ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย...

มันยากครับ แต่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดของบ้านของเรา

ขอบคุณมากครับ ...สำหรับกำลังใจ

--------------

ท่านผู้อ่านครับ

 

อยากรู้เรื่องของ "ทา" อ่านที่นี่ครับ เรียนทากับป่าความรู้

"เตหน่า" เครื่องดนตรี ชาวปกาเกอญอ

เจ้าเตหน่าน้อย

เตหน่าน้อยที่ฉันรัก

ฉันดีดเจ้าด้วยความคิดถึง

ฉันบรรเลงความคิดถึงให้เธอฟัง

เตหน่าน้อยที่ฉันรัก

(จากหน้า ๓๐ )

ในหนังสือ รวมเรื่องสั้น ‘เชวาตัวสุดท้าย ประพันธ์โดย โถ่เรบอสนพ.สานใจคนรักป่า

อ่อ ที กะต่อ ที เหม่ เก อ่อ ก่อ กะต่อ ก่อ เหม่ เก

ใช้ผืนน้ำให้รักษาไว้ ใช้ผืนดินให้รักษาไว้

แพะ คึ ขุ ซี เส่ เตอะ เก แพะ คึ ขุ ซี หว่า เตอะ เก

ถางไร่อย่าฟันไม้ให้ตาย ฟันไร่อย่าถางไผ่ให้ตาย

เส่ หว่า เมะ ลอตุ ลอเช เปอะ บะ กอวี บะ กอเจ

หากไม้และไผ่หมดไป เราจะอดน้ำอดข้าวตาย

เปอะ โอะ ฮี่ เลอ โหม่ แดลอ เปอะ โอะ ฮี่ เลอ ป่า แดลอ

หมู่บ้านที่เราแม่เคยอาศัย หมู่บ้านที่เราพ่อเคยอาศัย

สะสวีส่า เลอ โหม่ สู่ ลอ มะแงส่า เลอ ป่า สู่ ลอ

ส้มโอที่แม่ปลูกไว้ มะนาวที่พ่อปลูกไว้

เปอะอ่อกะต่อ อ่อกะต่อ กุ อ่อ ปกา เล ตื่อ เล ตอ

เรากินไปเรารักษาไป เราจึงมีกินตลอดไป

----------------------------------------

อื่อธา แห่งปกาเกอญอลุ่มสาละวิน

จาก เครือข่ายแม่น้ำเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ 

         สวัสดีค่ะ ขอบคุณที่ยังมีคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ รักษ์ธรรมชาติ คงวิถีชีวิตพี่น้องชนเผ่า  เสียใจกับชาวปาย  ห่วงใยวัดจันทร์  รักษ์ไทยใหญ่

ยินดีให้ความร่วมมือ ขอเป็นกำลังใจในการต่อสู้

คุณเอกค่ะ น่าจะมีเสียงเพลงนะค่ะ  

 คิดได้  ว่า  ตอนครูเออยู่แม่ฮ่องสอน จะมีวงดนตรีของปกาเกอญอ ชื่อ ตือโพ อะไรเนี่ยค่ะ ไม่แน่ใจค่ะ เคยฟังเพลงเขาเพราะมาก เขาจะเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ไปแสดงดนตรีตามหมู่บ้าน จุดเด่นเขาเป็นเนื้อหาในบทเพลง ถ่ายทอดวิถีชีวิตปกาเกอญอ และเน้นให้คนปกาเกอญอรักถิ่นฐานบ้านเกิด  คุณเอกพอหาฟังได้ไหมค่ะ ลองถามดูนะค่ะ

สวัสดีครับคุณเอื้องแซะ

ขอบคุณครับ สำหรับกำลังใจ อยู่แม่ฮ่องสอนด้วยกัน ถือว่าไม่ไกลกันครับ มีโอกาสคงได้พบกันนะครับผม

ผมจินตภาพถึง เอื้องแซะ ดอกไม้ป่า สวย กลิ่นหอม และทรงคุณค่า

ให้กำลังใจเช่นกันครับ

ครูเอ  ครับ

ผมเอาเพลงของ คุณชิ สุวิชาน มาเปิดให้ฟังคลอ Blog ตามประสงค์ของครูเอแล้วครับ เสียงเครื่องดนตรีที่บรรเลงนั้นใช้เตหน่าด้วยครับ

ส่วนตือโพนั้นผมเคยฟังเขาที่ บ้านเมืองแพม อ.ปางมะผ้า กับ สาวสวมชุดเชวาสวยๆคนนั้นครับ

คุณตือโพนั้นมีเอกลักษณ์ที่เฉพาะ เครื่องดนตรีที่เขาเล่นก็ไพเราะมากด้วยครับ

ขอบคุณครับ ขอให้ครูเอ เพลิดเพลินกับเพลงที่เปิดนะครับ

บทเพลงที่บรรเลงอยู่นี้

 

เป็นเพลง ของ ชิ สุวิชาน  เป็นเพลงปกาเกอญอ ชื่อว่า ภูเขาใหญ่

------------------- 

ยามก้าวเดินภูเขาก็ไม่สูงกว่าหัวเข่า

ภูเขาใหญ่ สูงเสียดฟ้า สูงเท่าใดไม่เกินหัวเข่า  หากไม่กลัวฝนไม่กลัวแดดจูงมือร่วมก้าวเดินไป

ภูเขาใหญ่สูงเสียดฟ้าหากจะขึ้นต้องค่อย ๆ เดิน ค่อย ๆ เดินขึ้นไป หากไปถึงยอดเขาความสุขใจความสบายใจก็จะมาเยือน

ภูเขาใหญ่ดอกเสี้ยวบาน เป็นที่อยู่ของเจ้าป่า เจ้าเขา....

 

--------------------------

เขาบอกว่า แม้ภูเขาจะสูงเสียดฟ้า แต่ทุกก้าวเดินของเรานั้น ภูเขาสูงก็แค่หัวเข่าเท่านั้น จริงของเขาทันทีที่เราก้าวเท้าไป ไม่ว่าจะสูงแค่ไหนก็ไม่สูงกว่า

 

ดังนั้นภูเขาใหญ่จึงไม่ได้สูงเกินกว่าที่จะก้าวเดินได้ด้วยเท้าของเราเอง

 

ชิ สุวิชาน เขียนเพลงนี้ ในช่วงที่มีการคัดค้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาว  ในนามของรัฐบาลที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลัก จะพัฒนาโดยหลวงเชียงดาว โดยการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นสู่ยอดดอยหลวง

 

 

ข้อมูลจาก http://www.oknation.net/blog/parjaru

 

 

หลายปีมาแล้ว น่าจะตั้งแต่เด็กๆ  พี่เคยคิดแบบเอกนี่แหละ ว่าถ้าเราทำลายสิ่งแวดล้อมแบบนี้ อนาคตจะมีต้นไม้เหลืออยู่ไหม

มาถึงวันนี้ขับรถผ่านภูเขาหัวโล้น แทบไม่มีต้นไม้อยู่เลย

เมื่ออ่านบทความนี้ของเอก ทำให้คิดถึงความคิดเดิมของเรา

ดีแล้วค่ะที่เรารีบคิดไว้ก่อน  ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

พี่อุบล จ๋วงพานิช ครับ

ผมคิด หลายๆคนคิด  เมื่อคิดแล้วทำ จะเกิดผลครับ ตอนนี้การท่องเที่ยวมาแรง เราใช้ประเด็นนี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรที่สมดุลของชุมชน

ตอนนี้อยู่ในระหว่างเเรกเริ่มกระบวนการครับ...

ยังอีกยาวไกลเหมือนที่ผมทิ้งท้ายไว้

------------------

มีแฟนนิรนามจากใน  Blog  ส่งบทกลอนมาให้ครับ

------------------

ยูโทเปีย ยูโทปาย คล้ายดั่งว่า  

เป็นพาราอันสงบยามพบเห็น 

ทิวเขาสวยลำธารใสสายหมอกเย็น 

ไม่ว่างเว้นผู้คนมายลเยือน

 

ดอกบัวตองทุ่งสีทองน่ามองนัก 

พลอยพยักทักทายหมายคอยเพื่อน 

มาท่องเที่ยวเมืองปายไม่แชเชือน 

มิลืมเลือนทุ่งสีทองบัวตองงาม  

 

เมืองสามหมอกไม่กลับกลอกยอกย้อนจิต 

เมืองหมู่มิตรภาพมากล้นหลาม 

เมืองน้ำใจไมตรีเฟื่องเลื่องลือนาม 

เมืองอร่ามงามระยับจับใจเจียว 

 

แม้นเส้นทางคดเคี้ยวเลี้ยวพันโค้ง  

ก็คดโก่งเพียงถนนคนไม่เกี่ยว 

ชมพฤกษ์ไพรในดงดอยไม่ดายเดียว  

ไม่ห่อเหี่ยวได้ไปเที่ยวเกี่ยวก้อยกัน 

 

มวลดอกท้อล้อลมชมกล้วยไม้ 

ดอกเหมยใฝ่ใหลหลงดงพฤกษ์ฝัน 

ต่างชูช่อล้อลมเล่นไม่เว้นวัน 

เครือเถาวัลย์พันดอกบ๊วยย้วยสวยดี 

 

อากาศดีบริสุทธิ์ประดุจแก้ว 

อย่าได้แผ้วพาลพิษร้ายคลายหมองศรี  

อนุรักษ์ธรรมชาติไว้ให้ดี 

เป็นเมืองที่อยู่ในฝันนิรันดร  

-------------------------- 

จาก ........น.ท. .........

 

 

 

ตามมาฟังเพลงอีกครั้งค่ะ

ฟังแล้ว ได้ข้อคิดมากมายและตามมาอ่านบทกลอนค่ะ

เอกคงมีความสุขนะ ที่ได้ทำงานที่เรารักและอิสระ

ขอบคุณครับ พี่อุบล จ๋วงพานิช 

ที่ตามมาฟังเพลง เพลงนี้ร้องโดยลูกชาย พะตี่ อ.พนา พัฒนาไพรวัลย์ครับ ชื่อ "คุณชิ สุวิชาน" ครับ  เสียงหญิงสาวหากผมจำไม่ผิด น่าจะเป็น "น้องวา" น้องสาวของคุณชินั่นเอง

ผมมีความสุขเสมอๆครับ กับสิ่งที่คิดและทำ บางครั้งไม่ได้ดังใจแต่นี่ก็เป็นวิถีเรียนรู้ที่ผมต้องเรียนรู้อยู่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจครับ

ขอบคุณครับ

เมื่อผู้คนลำบากในการทำมาหากิน มันก็ถึงเวลาออกหาเหยื่อตามต่างจังหวัด

ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดโดยไม่คิดว่ามันทำลายธรรมชาติ

ผลพวงอันนี้จะไปโทษใครไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ผลพวงการบริหารที่ไม่ดีพอ

โปรยเงินโปรยทองไม่มีนโยบายรองรับ

ไม่คิดว่าในชุมชนจะเกิดอะไรขึ้น

สวัสดีครับพี่เหลียงสิทธิรักษ์

เช้านี้เปิดอ่านบันทึก เห็นข้อเสนอแนะพี่แล้วยิ้มๆครับ หากเป็นความอยู่รอดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของคนพวกหนึ่งแล้วไซ้ร คนอีกพวกจำต้องสร้างเกราะ ภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกัน สร้างความเข้มแข็ง

งานสร้างความเข้มแข็งเป็นเรื่องยากครับ โดยเฉพาะจิตสำนึก ฐานวัฒนธรรมที่เข้มแข็งน่าจะช่วยได้

ผมได้พูดคุยกับ พะตี่ อ.พนา ท่านได้ทำเรื่อง การฟื้นฟูวิถีปกาเกอญอและผลักความรู้ของพวกเขาสู่หลักสูตรท้องถิ่นผมมองเห็นศาสนาเป็นเครื่องยึดโยงในพื้นที่ ทั้งคริสต์และพุทธ ตรงนั้นก็เป็นทุนอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ทั้งหมดเป็นงานพัฒนาที่เรากำลังคิดอยู่ครับ โดยใช้ฐานวัฒนธรรมเป็นตัวเดินเรื่องทั้งหมด

อีกไม่กี่วันผมจะเดินทางไป แม่สรวย เชียงรายอีกครั้ง เพื่อไปเปิดเวทีชุมชนที่ โครงการหลวงดอยวาวีครับ ที่นั่นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู น่าจะมีเนื้อหานำเสนอที่แตกต่างกัน

แล้วผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังเรื่อยๆครับ ขอบคุณมากครับ

ตามมาฟังเพลงอีกรอบ...

ผมว่าเพลงถ่ายทอดได้ลึกซึ้งครับ ดนตรีเพราะ ความหมายดี ได้กลิ่นอายของความเป็นตัวตนของพวกเขาครับ...

ถ้ามีโอกาสอยากขอติดตามไปสัมผัสบรรยากาศเหล่านั้นอีกนะครับ...

บันทึกนี้เข้ามาแล้วเต็มอิ่มครับ...

ขอบคุณมากครับ...

สวัสดีครับเพื่อนMr.Direct

เพลงนี้ตั้งใจ ภูมิใจนำเสนอเลยครับ เพราะมาก กับเครื่องดนตรีใสๆ เนื้อหาดีๆ

หากต้องการอ่านเนื้อเพลงก็ตามข้อเสนอแนะด้านบนถัดขึ้นไปครับผม

มีโอกาสมาเยี่ยมอีกได้ คาดว่าในสามพื้นที่ในโครงการหลวงแถบเหนือ น่าจะเคลื่อนงานเหล่านี้ได้ มีกิจกรรมเข้มข้นที่ต้องลงไปดูครับ

-----

อีกไม่กี่วันผมจะเดินทางไป แม่สรวย ไปที่ดอยวาวีครับ ทางโครงการหลวงวาวีจะเปิดเวทีชาวบ้าน เพื่อระดมความคิด งานนี้นอนบนดอย จิบกาแฟวาวีถึงแหล่งผลิต

เช่นเคยว่าผมเดินทางคนเดียว เป็นวิทยากรกระบวนการคนเดียว ทั้งวัน เป็นเรื่องที่ปกติมากๆ- - -ที่ต้องหาเจ้าหน้าที่โครงการหลวงมาเป็นผู้ช่วย

ลักษณะกระบวนการจะแตกต่างกับที่ดิเรกสัมผัสที่ หมอกจ๋ามนะครับ ทั้ง วัดจันทร์ และ วาวี ผมปรับให้ตรงกับเป้าหมายซึ่งก็ยากเหมือนกัน

ด้วยหลายๆท่านโทรศัพท์สอบถามเกี่ยวกับศัพท์ "มูเสคี" ว่าแปลว่าอะไรนั้น  ผมจึงนำความหมายของคำนี้มาเขียนลงในบันทึกเพื่อให้ทราบโดยทั่วกันครับ

มูเสคี เป็นคำที่ใช้เรียก ชาวปกาเกอญอที่อยู่ที่นี่

ชาวมูเสคี หมายถึง ชาวลุ่มน้ำแจ่ม อันเป็นเสมือนสายเลือดของพวกเขา

มูเสคี จึงมีนิยามว่า  "คนลุ่มน้ำแจ่ม"

ชมภาพสวยๆของวิถีมูเสคีที่นี่ครับ  Click

ยามเย็นที่โครงการหลวงบ้านวัดจันทร์

 

  • ขอแสดงความยินดีด้วยครับ :-) ที่ผมจะได้ไม่ต้องไปต่างประเทศ แค่เพียงเข้าไปในเมืองไทยก็เห็นต่างประเทศแล้ว :-)
  • ความประทับใจที่เมืองปายอย่างที่สุดคือ "ความสงบ"
  • ความสนุกสนาน เสียงหัวเราะ เฮฮา หาที่ไหนก็ได้ในเมืองไทยนี้
  • ขอบคุณครับ
  • ดีใจและเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ตระหนักในเหตุการณ์ที่กำลังจะเป็นไป ร่วมแรงร่วมใจ ให้บ้านวัดจันทร์ยังคงสวยงามในวัฒนธรรม
  • ปาย  หรือ ?????
  • วันนี้ในฐานะไม่ใช่คนปาย ก็เหมือนคนปาย   ครูแอนชอบมากกับธรรมชาติ วิถีชีวิต...จริง...มันเริ่มเปลี่ยน....และไม่ชอบปายยามค่ำคืนเอาซะเลย...กับเสียงดนตรี ร้านอาหาร ผับ เธค ฝรั่งขี้เมา...มาทำระยำตำบอนบ้านเรา
  • ดังนั้นจึงต้องเก็บตัวอยู่กับธรรมชาติที่แสนจะสงบในเมืองแปง...แต่ใครจะรู้เล่า..ว่า...สักวันหนึ่ง...น้ำ..มันคงจะมากระแทกเมืองแปงให้พังย่อยยับไป หากชุมชนไม่เข้มแข็ง และคนจิตใจละโมบมากขึ้น
  • เป็นกำลังใจให้ทุกฝ่าย...หากแม้นว่าจะกั้นน้ำไว้ไม่อยู่ แต่ก็ขอให้มีฝายชะลอให้มันเบาบางลงบ้าง...ก็ยังดี

สวัสดีครับ อ.นเรศมันต์นมินทร์ (นม.)

บ.วัดจันทร์ไม่ไกลจาก อ.ปายครับ คราวที่อาจารย์มาเยี่ยมผมไม่ได้พาไปเที่ยวเพราะเวลาน้อย หากมีโอกาสมาอีกครั้งจะพาไปเที่ยวครับ

ขอบคุณครับ

สบายดีหรือเปล่าครับ ...เงียบๆไปนะครับ

สวัสดีครับ น้องครูแอน

ผมชื่นชมในอุดมการณ์การทำงานของคุณครูครับ และชื่นชมในการรักเมืองเล็กๆแห่งนี้

ที่เปลี่ยนเป็นเรื่องปกติ แสนธรรมดาที่ไหนก็มีการเปลี่ยนแปลง แต่หากคนท้องถิ่นตระหนักเรื่องนี้ และช่วยกันสร้างความสมดุลไม่ใช่ส่งเสริมและเพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ช่วยกันครับในหน้าที่ของทุกคนที่มี

ขอบคุณครับ

อยู่กันแบบธรรมชาติครับ

ธรรมชาติสวยงาม สดใส  มีเสน่ ไร้เรียงสา มันอธิบายในตัวของมันเองทุกกระเบียดนิ้ว 

ถึงมันจะร้ายในบางครั้ง  ถึงมันจะโหดในบางครา  แต่มันไม่ซ่อนเร้น ไม่แอบแฝง

มันมีความสมดุลกันในตัวของมัน มันสร้างวัฎจักรในการดำรงค์ มันสร้างกฏเกณฑ์อย่างเป็นระเบียบ

วิงวอนเถิดครับ   มนุษย์นั่นแหละเจ้าเล่ห์  ทำร้ายทุกอย่าง

ขอร้องเถิดครับ 

พี่เหลียงสิทธิรักษ์
ครับ

หากพี่มีโอกาสไปเยี่ยม "มูเสคี" ก็จะชอบในความสดใส บริสุทธิ์และวิถีของชาวปกาเกอญอที่นี่เรียบง่ายมากครับ

การเรียกร้องหาสมดุลอาจยากบ้าง แต่ก็สำคัญที่เราเริ่มตระหนัก และช่วยกัน พอมีหวังใช่มั้ยครับ?

ช่วยกันครับผม

ให้กำลังใจคนเชียงแสนด้วยนะครับ

เรามาอ่านตั้งแต่วันที่เอกเขียนแล้วล่ะ แต่ยังยุ่งๆ อยู่เลยไม่ได้ comment ไว้ เราว่าเรื่องนี้จะหวังคนที่เข้ามาเที่ยวมีจิตสำนึกทั้งหมดคงไม่ได้ เรื่องนี้ต้องเริ่มจากชาวบ้านและชุมชนช่วยกันเองก่อน รณรงค์ ร่วมกันทำและแสดงออกอย่างจริงจังว่าอะไรที่มันไม่ใช่วิถีของที่นี่ คนที่เข้ามาลงทุนเราต้องฟอร์มทีมเข้าไปคุย ขอความร่วมมือ คือถ้ามันมีเจ้าภาพดูแลแบบเป็นจริงเป็นจัง คนที่ไม่ใช่คนพื้นที่แต่เข้ามาลงทุนเขาก็ต้องตามน้ำ ไม่กล้าฝืนหรอก อาจจะต้องมีมาตรการบังคับร่วม โดยยืมมือเทศบาลมาช่วยนอกเหนือจากการรณรงค์ให้พัฒนาอยู่ภายใต้กรอบความเป็นปาย ไม่ให้ที่นี่กลายเป็นตรอกข้าวสาร หรือพัทยาใต้

ยกตัวอย่างให้เห็นที่ญี่ปุ่น มีเมืองท่องเที่ยวที่ชาวบ้านช่วยกันพัฒนาขึ้นมา เขาไม่ปิดกั้นคนนอกที่จะมาลงทุน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงของสภาท้องถิ่น ว่าทำอะไรได้ อะไรไม่ควรทำ อะไรที่ทำแล้วเป็นผลกระทบในระยะยาวแล้วส่งผลให้วิถีการท่องเที่ยวเมืองนั้นเปลี่ยนแปลงไป ต้องบอกว่าไม่ยุ่งไม่ได้ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนท้องถิ่นที่อยู่ ถ้าคุณจะมาพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงชาวบ้านก็ต้องไปพัฒนาที่อื่น เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม อันนี้ต้องว่ากันจริงจัง

ส่วนนักท่องเที่ยวนี่จัดการไม่ยาก ถ้าผู้ให้บริการร่วมมือกัน นักท่องเที่ยวเขาจะเรียนรู้เองว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ฝืนทำก็ไม่ได้หรอกถ้าไม่มีคนเป็นธุระจัดหาให้ อย่างสมมุติว่าตกลงกันในบรรดาผู้ประกอบการว่า 22.00 น. ทุกร้านปิดหมด ไม่มีการขายสุราหลังจากเวลานี้ ถนนคนเดินก็เลิก ดูสิว่านักท่องเที่ยวจะทำอะไรได้ สถานที่พักแจ้งดับไฟภายนอกเวลา 24.00 น. อุทยานห้ามจริงจังไม่ให้นักท่องเที่ยวส่งเสียงอึกทึก เจ้าหน้าที่คอยตรวจ อย่างนี้มันก็ทำได้อยู่ จำกัดจำนวนยังทำได้เลย ปัญหาที่แท้จริงมันคือคิดได้แต่ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำ ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพลงมือจริงจัง คุยกันเสร็จแล้วก็หายไปเพราะต่างคนต่างมีภาระ

จริงๆ แล้วการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวนี่มันทำได้นะ เอาที่พักทั้งหมดมาคำนวณดูจำนวนห้องพัก เต้นท์แต่ละที่มีการกำหนดแน่นอนว่าให้ตั้งได้ไม่เกินเท่าไหร่ เจ้าของพื้นที่ย่อมมีสิทธิกำหนด แล้วมันจะเป็นการจัดสรรที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ล้น มีการควบคุมคุณภาพได้ มาแบบ one day trip ก็ปล่อยเขา ไม่มีที่พักเขาก็ต้องหาทางกลับเอง เหมือนที่ญี่ปุ่นที่เรายกตัวอย่างมา เขาไม่ขยายที่พักเพิ่มมากมาย คนจะมาพักต้องจองมาล่วงหน้าเป็นปี คือมีความตั้งใจจริงที่จะมา อะไรที่ได้มายากๆ มันจะมีค่านะ แล้วนักท่องเที่ยวประเภทไม่มีจิตสำนึกหรือมักง่ายก็จะไม่ผ่านการสกรีนแบบนี้ด้วย เพราะพวกนี้ขี้เกียจรอคอย ชอบอะไรง่ายๆ จ่ายตังค์ถูกๆ เปลี่ยนที่กินเหล้า อะไรประมาณนั้นแหล่ะ

ส่วนการท่องเที่ยวภาค หรือพวกนิตยสารก็ควรจะส่งเอกสารถึงเขาแบบเป็นกิจลักษณะ ให้ความรู้เขาว่าเราเป็นอะไร ไม่ได้เป็นอะไร มี center ในการให้ข้อมูล อย่าไปเขียนซี้ซั้ว นั่งเทียนนึกเอาเอง หรือแต่งเรื่องชวนเชื่อจากตำนาน (พวกนี้ทำบ่อย) ส่วนใหญ่ที่สภาพแวดล้อมเสียก็มาจากททท.ส่วนหนึ่ง คือเน้นขายอย่างเดียว ตะบี้ตะบัน รู้แต่ว่าต้องทำยอดรายได้ อย่างอื่นไม่รู้ ธรรมชาติเป็นไง ชาวบ้านเป็นไงไม่สน นอกจากนั้นภาษีที่ได้จากการท่องเที่ยวของกิจการต่างๆ ควรจะปันกลับมาเพื่อท้องถิ่นในการพัฒนา ซ่อมบำรุงสิ่งที่สึกหรอไปจากการท่องเที่ยว นี่ล่ะสิ่งที่เราเห็นว่าควรทำ

ปล. เราว่าพวกแบ็คแพคทำให้ที่ท่องเที่ยวเสียมากกว่าได้นะ โดยเฉพาะพวกที่คิดจะมาเสพยา ควรมีการตรวจอย่างจริงจัง บ้านเราเมืองเรามีกฏหมาย พวกนี้คิดว่าปายเป็นสวรรค์ของยาเสพติดเพราะตำรวจไม่กวดขันกับนักท่องเที่ยว

ซูซานLittle Jazz \(^o^)/

ต้องขอบคุณซูซานมากเลยครับ ที่มาเติมประเด็นในมุมมองของคนนอกที่หลากหลายดีมากครับ

ประเด็นที่ปายอาจก้าวผ่านกระบวนการทั้งหมดที่เขียนไป วันนี้ที่ปายคงคุยกันถึง "การระดมพลังทางสังคม" ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆหลายๆภาคส่วนก็ยังไม่มียุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดคล้องกับปัญหาและศักยภาพ

เป็นเรื่องที่พวกเราชาวปายต้องคิดกันต่อไปครับ

มาที่วัดจันทร์...

ประเด็นที่เขียนมาในข้อเสนอแนะนั้น

ประเด็นนักท่องเที่ยวนั้น หากมาที่ท่องเที่ยวแบบนี้สกรีนได้ระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่มาเที่ยวเพื่อหาธรรมชาติ เป็นการท่องเที่ยวทางเลือกส่วนใหญ่ คนที่มีมามีระดับการคิด เรื่องอนุรักษ์ระดับหนึ่งเลยครับ

แต่ที่เรากลัวก็คือ การสร้างกระแสที่รวดเร็ว ใครๆก็มุ่งจะมา ตรงนั้น ทำให้เกิดภาพ Mass tourism ได้ชัดเจนมาก การควบคุม จัดการของชาวบ้านเป้นไปด้วยความลำบาก เหมือนที่เราเขียนว่า เสาเรือนไม่แข็งแรง มีแต่จะพังเวลาเจอน้ำแรงๆ

ทำยังไงให้เสาเรือนในเเข็งแรง...??

ตรงนี้ต่างหากเป็นโจทย์ที่ท้าทายของพวกเรา

อยู่ที่ประชาคมในพื้นที่เข้มแข็งขนาดไหน...ที่จะกำหนดวิถีตนเองได้ท่ามกลางทุนนิยมขนาดนี้ ยังหวั่นครับ

ที่นี่อาจเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาสังคมเรื่องของการใช้ ศก.พอเพียงในการท่องเที่ยวด้วย แต่ต้องคิดต่อ กระบวนการต้องแจ๋ว ส่วนร่วมต้องชัด และทำกันจริงจัง

การกำหนดนักท่องเที่ยวนี่น่าสนใจครับ กรณี "ภูฏาน" เราก็คุยกันบ่อย ที่ เมืองไทย "ดอยหลวงเชียงดาว" เราก็ทำ การคิด CC:carrying capacity นั้นต้องทำแบบจริงจังมีกฏเกณฑ์ที่ชัดๆ มีคำถามต่อว่าใครจะทำ??

หลากหลายประเด็นที่ซูซานเขียนมาน่าสนใจมาก ผมจะนำเรื่องราวทั้งหมดเข้าปรึกษาในเวทีที่มีในครั้งต่อๆไปครับ

ขอบคุณมากครับผม

เอก เราเอาบทความที่ลงหนังสือพิมพ์มาให้อ่าน "ปาย" ในฝัน สวรรค์ของใคร?

ซานLittle Jazz \(^o^)/

เราเพิ่งคุยประเด็นนี้กับ น้องชาย หมอพัฒน์ บ่ายนี้เองครับ

ขอบคุณครับ สำหรับลิงค์ครับ

เอกน้องรัก

รู้อยู่เต็มอก...ว่าเกิดอะไรกับเมืองปาย...แต่มนุษย์อย่างเราจะทำอะไรได้มากมาย...

นอกจากการร่ำร้องอยู่อย่างนี้...ร้องไปเท่าใด...ไผก็บ่สน

........??

พี่หมอครับMr. Kraton Pai

ช่วยกันทำครับ เล็กน้อยก็ได้ทำ ในฐานะคนเมืองปาย ผมเชื่อว่าคนปายหลายคนรักเมืองเรามาก เราไม่ได้หมดหวังนี่ครับ

สู้ๆครับ

สุดยอดเลยค่ะ

จะเป็นกำลังใจให้นะคะ สู้ๆค่ะ ^^

ให้กำลังใจคุณparanapa   เช่นกันครับ

โอกาสหน้ามาแลกเปลี่ยนกันอีกครับ

บ้างก็ใช้และเขียนว่า..กะเหรี่ยง..

บ้างก็ใช้และเขียนว่า..กระเหรี่ยง..

ขอโทษครับสำหรับผมใช้ ..กะเหรี่ยง..

ในพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตใช้..กะเหรี่ยง..

และหรือใคร จะใช้คำว่า..กระเหรี่ยง..ก็เป็นสิทธิส่วนตัวครับ

ครับ ขอบคุณครับคุณ วุฒิ บุญเลิศ

หากพจนานุกรมราชบัญฑิตใช้ กะเหรี่ยง ผมจะต้องแก้ไขครับ

ยังไงคงต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้ความสุข และการเอื้ออาทรเพื่อสร้างบรรยากาศเรียนรู้ครับ

ชีวิตอย่าซีเรียสมากเกินไป ทุกข์เปล่าๆครับ

โอะ มึ โช เปอ ครับ

"รูปสวยน่าไปเที่ยวนะครับ  มีที่ที่ชาวบ้านจะขายไหมครับ?

หาที่สวยๆให้ไว้สักแปลงนะ  อยากไปสร้างรีสอร์ต

ดูแล้วมันน่าสร้างสนามกอฟฉิบเลยหว่า!!

ได้ข่าวมันจะเป็นอำเภอแล้ว  ต้องรีบซื้อที่ก่อนที่การท่องเที่ยวมันจะบูม เดียวมันบูมขึ้นมาเมื่อไหร่ ราคามันแพงซื้อไม่ไหว" 

บทสนทนาของคนที่เพียงจ้องหาโอกาสในการขูดรีดธรรมชาติในการทำมาหาเงิน  ไม่ได้ทำมาหากิน

"เราไม่ปฏิเสธคนที่จะมาพัฒนา  แต่เราไม่ไว้ใจคนที่จะมาเปลี่ยนแปลง"   (การพัฒนาไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเสมอไป  การต่อยอด การยกระดับ น่าจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่า ไหมครับท่านครับ???)

 

ขอบคุณครับ ชิ 

เราคงต้องช่วยกันนะครับ อย่างน้อยก็สร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในพื้นที่ให้มากๆครับ

ให้กำลังใจครับ

ผมเชื่อว่าคนในพื้นที่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องสร้าง แต่เราจะเสริมภูมิคุ้มกันที่มีอยู่แล้วให้เข้มแข็งมั่นคงได้อย่างไร?

นี่เป็นโจทย์ของผู้หวังดี เราจะลดปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก เราจะกั้น เราจะกรองมันได้อย่างไร ไม่ใช่ภาระของคนภายในอย่างเดียว ผู้หวังดีที่เข้าใจย่อมทำด้วยหัวใจ

ต่าบลื๊อครับ

ชอบวัดจันทร์มาก ไปเมื่อไหร่แวะไปอุดหนุนสินค้าปาเก่อญอที่ วัดจันทร์แกลลอรี่ ทุกทีเพราะชอบพี่น้องปาเก่อญอมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท