เพลงอีแซว ใช้กลองไฟฟ้าไม่เห็นที่จะน่าฟังเลย ทำไมไม่ใช้ตะโพน


หากต้องการพบกับความจริง จะต้องไปหาจากเวทีแสดงและดูการแสดงตั้งแต่ต้นจนจบในแต่ละงานหรือสอบถามรายละเอียดจากศิลปินต้นแบบที่เขาเป็นเจ้าของต้นตำหรับเพลง จึงจะได้ข้อมูลที่แท้จริง

 

เพลงอีแซว

ใช้เครื่องดนตรี 

ชนิดใดให้จังหวะ             

ทำไมจึงไม่ใช้ตะโพน

ใช้กลองไฟฟ้าไม่เห็นที่จะน่าฟังเลย

         Dsc00533    

           เป็นข้อคิดความเห็นที่น่ารับฟังไม่น้อย ผมถือว่า มีทั้งบวกและลบในความเห็นเดียวกัน ที่ว่าบวกก็คือ จะได้เป็นความรู้แก่ผู้ที่เพิ่งจะเข้ามาสนใจหรือเพิ่งจะได้ชมการแสดงเพลงอีแซวในยุคปัจจุบัน ไม่เคยได้ติดตามดูการแสดงเพลงอีแซวในยุคเก่ามาก่อนเลย  มาถึงก็ได้เห็นการแสดงในยุคใหม่ปัจจุบันนี้เลย  ที่ว่าลบก็คือ ความจริงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะศิลปะพื้นบ้านเป็นของชาวบ้าน ชาวบ้านเขามีอุปกรณ์อะไรก็นำเอามาใช้เอามาเล่นกัน ถ้าคนในวงเพลงวงนั้นเต็มใจที่จะรับเอาสิ่งที่มีคนนำมาก็เป็นอันว่าใช้ได้

           มีท่านผู้รู้ (เรียกตนเองหรือมีผู้อื่นเรียกท่านว่าผู้เชี่ยวชาญทางเพลงพื้นบ้าน) ได้ให้ข้อสังเกตและเตือนผู้ที่ฝึกหัดเพลงอีแซว รวมทั้งเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ว่า เครื่องดนตรีที่จะนำเอามาใช้ในการแสดงเพลงอีแซว จะต้องเป็นตะโพนไทยเท่านั้น และจะต้องตีจังหวะหน้าทับลาว และจะต้องตีตามโน้ตสากลด้วย  พอผมได้รับรู้ ผมงงมากที่สุด งงว่าเขานำเอาที่ไปที่มา มาจากใคร มาได้อย่างไร ผมเกิดมาในวงเพลงอีแซว ฝึกหัดเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ มาจากครูเพลงและบรรพบุรุษของผม ไม่เคยได้ยินท่านสั่งเลยสักคำว่าจะต้องใช้ตะโพนให้จังหวะ ไม่เคยได้ยินท่านสอนให้ตีตะโพนหน้าทับลาว และที่สำคัญที่สุด ไม่เคยมีเรื่องของตัวโน้ตเข้ามาเกี่ยวข้อง ในกรณีนี้ ผมพยายามตามหาคนตั้งทฤษฎี คนที่กำหนดหลักการว่า เขาทำได้จริงหรือไม่ ตามที่เขาผู้นั้นออกมาเสนอแนะ ก็ยังไม่เจอเลย ครับ

           มีนักดนตรีคนหนึ่งและกลุ่มหนึ่ง แสดงความคิดผ่านนักแสดงของผมว่า วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ทำไมจึงใช้กลองไฟฟ้าเอาขึ้นไปตีให้จังหวะในการแสดงฟังไม่เห็นจะดีเลย (ดังกะป๊องกะแป๊ง ไม่เข้าท่า) เด็ก ๆ ที่ได้รับฟังไม่สามารถที่จะชี้แจงให้เขาผู้นั้นทราบได้อย่างชัดเจน (ความจริงเขาน่าจะมาพูดกับผม) แต่ก็เป็นความเห็นที่ดี มีประโยชน์ เพราะเขาผู้นั้นมิใช่ตัวเราคนแสดง และเขาผู้นั้นไม่มีประสบการณ์บนเวทีเพลงพื้นบ้านมาเลย หากคุณเป็นคนตีกลอง ตีบองโก้ ตีรำมะนา ตีตะโพนให้จังหวะในการแสดง 1 งานเป็นเวลา 4 ชั่วโมง คุณจะไม่ต้องมาถามใครเลยว่า ทำไมจึงใช้เครื่องไฟฟ้า

          %e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%9f%e0%b8%9f%e0%b9%89%e0%b8%b2-%e0%b8%82%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%8d%e0%b8%98%e0%b8%93%e0%b8%b2

           กรณีสุดท้ายที่ผมขอนำเอาปัญหาสำคัญมากล่าวในบทความนี้ก็คือ หน้าตาน้องก็ดี ทำไมอาจารย์ชำเลืองให้ตีกลองไฟฟ้า ตีกลองบองโก้ ตีกลองรำมะนา ถ้าไปอยู่วงพี่จะให้เป็นคนร้องนำ อาจารย์ไม่รู้จักใช้คนให้ตรงความสามารถ ปัญหานี้ เพื่อนของเด็กคนตีกลองเขาช่วยแก้ต่างไปให้ได้บ้างรวมทั้งตัวเด็กคนที่ตีกลองไฟฟ้าเขาพอที่จะพูดเหตุผลและความจำเป็นตอบไปได้บ้าง แต่เมื่อได้ฟังเค้าโครงเรื่องราวแล้วก็ยังคลี่คลายข้อสงสัยของผู้ที่แสดงความ เห็นได้ไม่หมดเปลือก ผมจึงขอหยิบยก นำเอาเรื่องของคนและอุปกรณ์ในการให้จังหวะในการแสดงเพลงอีแซวมาเล่าในบทความนี้ โดยถอดความรู้จากประสบการณ์ตรงของผมออกมาให้ผู้ที่สนใจได้รับทราบและช่วยกันตามหาความจริงจากต้นกำเนิดเพลงอีแซวว่าเป็นอย่างไร

           ย้อนหลังไปเมื่อผมยังเด็ก ๆ อายุราว 8-10 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา ผมชอบเสียงร้องเพลงฉ่อยของน้าอุ้ยมาก ติดตามดูเขาร้องเวลาเมา ต่อมามีวงเพลงไสว วงษ์งามมาเล่นใกล้ ๆ บ้าน ผมติดตามไปดูนับเป็นสิบ ๆ ครั้ง ได้ยินการให้จังหวะโดยการปรบมือ และมีเสียงไม้กระทบกัน น่าจะเป็นกรับ ต่อ ๆ มามีการนำเอาฉิ่งเข้ามาใช้ด้วย (พ.ศ. 2502-2504) วันที่ผมไปฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน ที่บ้านป้าอ้น จันทร์สว่าง (พ.ศ.2524) ที่นั่นมีแต่ฉิ่งคู่เดียว  ป้าบอกว่าใช้งานมาตั้งแต่ป้าเป็นสาว ผมเคยถามท่านว่า แล้วใช้อะไรให้จังหวะละครับ ป้าบอกว่าก็ใช้ปรบมือให้จังหวะ ใครมีกรับ มีฉิ่งก็ตีเข้าไปด้วย

           ไปฝึกหัดเพลงกับป้าทรัพย์  อุบล ซึ่งท่านเป็นครูเพลงที่ฝึกหัดนักเพลงจนมีชื่อเสียงในวงการเพลงอีแซวหลายต่อหลายคน ที่บ้านป้าทรัพย์ก็ไม่มีกลอง ตะโพน โทน รำมะนา มีแต่ฉิ่งเพียงคู่เดียวที่นำเอามาตีให้จังหวะประกอบการร้องเพลงอีแซว เพลงฉ่อย  ผมไปฝึกเพลงที่บ้านน้าปาน  เสือสกุล น้าปานค้นหาฉิ่งเป็นการใหญ่ ผมบอกน้าไปว่า น้าปานไม่ต้องไปค้นหรอก ผมนำเอาฉิ่ง (ทองเหลืองอย่างดี) มาด้วย น้าปานหัวเราะดังเลย  ไปฝึกหัดเพลงที่บ้านลุงหนุน กรุชวงษ์ บ้างทะเลบก ลุงบอกว่า สมัยที่ลุงเล่นเพลง ใช้วิธีปรบมือทำจังหวะ เคาะกระบอกไม้บ้าง ใครมีฉิ่งมีอะไรก็เอามีตีเอามาเคาะให้จังหวะกัน  ที่บ้านน้าถุง  พลายละหาร บ้านดอนยาว ใกล้ ๆ วัดสระศรีเจริญ  น้าถุงเป็นศิษย์เอกของ ลุงเคลิ้ม ปักษี บรมครูเพลงแห่งดอนเจดีย์ที่ใคร ๆ ก็มาฝึกหัดกับลุงทั้งนั้น  น้าถุงเล่าว่า สมัยที่น้าหัดเพลง ไม่มีเครื่องดนตรีให้จังหวะ มีเพียงการปรบมือ ต่อมาก็มีกรับ และมีฉิ่ง ร้องกันปากเปล่า ๆ นี่แหละ

          Dsc09452

          ในสภาพของการแสดงจริง ๆ บนเวทีเพลงอีแซวในวันนี้ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะมีหลายอย่างที่นำมาใช้กับการแสดง ได้แก่ ตะโพน กลองทอม กลองชุด ระมะนา บองโก้ กลองแขก (ก็มี) โทนฉิ่ง กรับ บางวงมีฉาบด้วย ถ้าเป็นวงเก่า ๆ หน่อยก็นำเอาวงปี่พาทย์เครื่องห้า วงดนตรีสากลมาร่วมบรรเลงด้วย

          จังหวะที่ใช้ตีในการร้องเพลงอีแซว (เพลงอีแซวเป็นเพลงโต้ตอบ) เขาตีจังหวะสนุก ๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ มีทั้งช้าและเร็ว โดยเฉพาะตอนเพลงปะทะคารม จะตีจังหวะเร็ว ร้องรุกเร้าทำให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ไม่มีมือกลองที่เป็นชาวบ้านบอกผมว่า เขาตีจังหวะอะไร (นี่คือภูมิปัญญาท้องถิ่น) นักแสดงทุกคนไม่รู้จักโน้ต  เพราะเขาจะต้องร้องด้นสด ๆ แม้แต่บทที่เขาร้องก็ยังไม่มี เป็นการเขียนบทในอากาศ (นี่คือความสุดยอดของนักเพลงพื้นบ้านที่เป็นมืออาชีพ) 

          ผมตั้งวงเพลงรับงานแสดงเพลงอีแซว เพลงแหล่ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงเต้นกำ เพลงพวงมาลัย เพลงเรือ ขับเสภา และทำขวัญนาคมานานเกือบจะ 40 ปี เฉพาะเพลงอีแซว 17 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากที่ไม่มีเครื่องดนตรีให้จังหวะเลย ผมใช้ซาวด์จังหวะกลอง ที่บันทึกลงในเทปคาสเสท แล้วนำเอาไปเปิดโดยมีคนหนึ่งคอยควบคุม ปิด-เปิดเสียงเวลานักแสดงร้อง ต่อมาปี พ.ศ. 2539 จึงได้ซื้อตะโพนโบราณจากชาวบ้าน และมีฉิ่ง กรับนำเอามาใช้ให้จังหวะในการแสดง ต่อมามีกลองบองโก้ และมีรำมะนาเข้ามาใช้ด้วยเวลาเล่นลำตัด และมีโทนใช้กับการร้องเพลงขอทานที่ผมถนัด และมาถึงปี พ.ศ. 2545 ผมซื้อกลองไฟฟ้า เป็นริทึ่มบ็อกซ์มีจังหวะมีหลายร้อยจังหวะในตัวเลือกความเร็วและเคาะจังหวะบันทึกใหม่ได้  ในปี พ.ศ. 2548 ผมซื้อกลองไฟฟ้าประเภทกลองแพดมี 7 หน้ากลอง และอีกตัวหนึ่ง มี 4 หน้ากลอง เสียงดีมาก ตั้งเสียงได้ 75 เสียงทั้ง 2 ตัว มีจังหวะอยู่ในตัวเปิดใช้งานได้ทันที (ส่วนใหญ่ผมใช้จังหวะ ชะชะช่า ในการแสดง) ตีที่หน้ากลองหรือเคาะร่วมกับจังหวะในตัวก็ได้ ไม่เหนื่อยแรง

           Dsc09865

           วันนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่ให้จังหวะ ในวงเพลงของโรงเรียนเป็นผู้หญิงทั้งหมดซึ่งจากเดิมเป็นเด็กผู้ชายแต่ด้วยความรับผิดชอบที่จะต้องไปงานแสดงจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามความตั้งใจของเด็ก ผมให้นักแสดงทุกคนแต่งตัว แต่งหน้าให้สวยงาม เพื่อให้เหมาะสมกับการแสดง ดังนั้นผู้แสดงทั้ง 15-19 คนในแต่ละงานจะต้องดูสวยงามเหมาะสมกับบทบาทในการแสดงด้วยและนักแสดงทุกคนฝึกตีเครื่องให้จังหวะได้หมดทั้งเครื่องหนังและเครื่องไฟฟ้า  ส่วนนักดนตรีที่ทำหน้าที่ให้จังหวะก็สามารถที่จะร้องเพลงออกตัวได้ และออกไปแสดงก็ได้ตามความต้องการของเขาเพียงแต่จะต้องฝากงานให้จังหวะกับเพื่อนคนอื่นไปตีแทน (บางงานผมก็ไปตีกลองกับเด็ก) เราหมุนเวียนกันไปตามความต้องการของเด็ก ๆ แต่ใครจะทำหน้าที่ประจำก็ได้

          Dsc09407

           ดังนั้นการที่ท่านมองเห็นภาพภายนอกของทีมงานแสดง รวมทั้งมองโครงสร้างของการแสดงและการให้จังหวะในเพลงอีแซววันนี้ อาจจะไม่ใช่ความจริง เพราะเพลงได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ เครื่องดนตรีประเภทตะโพน กลอง ครูไสว วงษ์งาม ครูเพลงคนหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้นำเข้ามาใช้ประมาณปี พ.ศ. 2524 ซึ่งตะโพนลูกนั้น พี่สุจินต์ ศรีประจันต์ บรมครูเพลงอีแซวในปัจจุบันท่านยังคงนำเอาไปใช้อยู่ และพูดออกตัวกับผมอยู่เสมอว่า อาจารย์ชำเลืองรู้หรือเปล่าว่า ตะโพนลูกนี้อายุเท่าไร ลูกเล็กนิดเดียว แต่เสียงดีมาก เมื่อคืนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ท่านก็นำเอามาใช้บนเวทีงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ (มีผมไปร่วมแสดงด้วย)

          %e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%b5%e0%b9%81%e0%b8%8b%e0%b8%a7%e0%b8%9a%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b9%8c2551

           เพลงอีแซว เป็นเพลงพื้นบ้านรูปแบบเดียวของจังหวัดสุพรรณบุรีที่ยังคงเป็นการแสดงอาชีพได้ และมีผู้ที่ให้ความสนใจติดต่อจ้างวานไปแสดงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนเพลงเก่า ๆ รุ่นอายุ 45-65 ปี ยังอยู่ได้มีงานแสดงเข้ามาไม่ขาด หากต้องการพบกับความจริง จะต้องไปหาจากเวทีแสดงและดูการแสดงตั้งแต่ต้นจนจบในแต่ละงาน หรือสอบถามรายละเอียดจากศิลปินต้นแบบที่เขาเป็นเจ้าของต้นตำหรับเพลง จึงจะได้ข้อมูลที่แท้จริง ส่วนการศึกษาจากเอกสารจากตำราเป็นข้อมูลรองที่อาจมีการปรุงแต่งบ้างตามความเข้าใจของผู้เขียน จึงทำให้บางท่านต้องนำเอาความรู้ที่ตนเองมีมาจากการอ่าน ไปแนะนำตักเตือนนักแสดงตัวจริงที่เป็นเจ้าของเพลงอีแซวให้รู้สึกได้อายเสียด้วยซ้ำ  

          %e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%94%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%ad%e0%b8%b5%e0%b9%81%e0%b8%8b%e0%b8%a7

ชำเลือง มณีวงษ์ - ถ้วยรางวัลชนะเลิศประกวดเพลงอีแซว จ. สุพรรณบุรี     ปี 2525

                      - ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมรางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

                      - โล่รางวัลความดีคู่แผ่นดิน รายการโทรทัศน์ช่อง 5         ปี 2549         

 

หมายเลขบันทึก: 163165เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2008 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
สวัสดีครับ

ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อความสะดวกหลายๆ ประการ อย่างที่อาจารย์เล่ามา แต่ก็เป็นธรรมดาครับ คนที่เห็นแบบเดิมๆ อาจจะขัดหูขัดตา

ถ้าไม่ใช่อวัยวะที่เรามีมาแต่เกิดแล้ว ถือว่าเป็นเทคโนโลยีทั้งนั้นครับ เครื่องดนตรีอะคูสติกส์ หรือไฟฟ้า ก็เทคโนโลยี ต่างแต่ยุคสมัย ช่วงการเปลี่ยนมักจะมีการวิพากษ์วิจารณ์

ผมเคยฟังเครื่องให้จังหวะของดนตรีไทย ปรับจังหวะได้ มีเสียงกลองเสียงฉิ่ง ก็เข้าท่าดี แต่ผมไม่ชำนาญทางดนตรี แยกไม่ออกว่า คนตีหรือเครื่องตีอย่างไหนจะไพเราะกว่า แต่ฟังๆ ไปก็สนุกพอกัน

ศิลปะถ้าตีกรอบ มักจะแข็งทื่อ ปรบมือบ้าง เคาะไม้บ้าง หรือเคาะขวดบ้าง บางทีก็ครื้นเครงดีครับ ;)

ขอบคุณครับ คุณ ธ.วัชชัย

  • ถูกต้องตามที่ได้แสดงความเห็นไว้ เพราะยิ่งคนที่ไม่เคยศึกษาประวัติของเพลงอีแซวจากปราชญ์ด้วยแล้ว มีแต่คำตำหนิมากมาย
  • จุดเริ่มต้นของการให้จังหวะในเพลงอีแซวใช้อวัยวะ (มือ) ปรบให้มีเสียงดัง แล้วพัฒนามาเป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากวัสดุธรรมชาติคือ กระบอกไม้ (กรับ)
  • วงดนตรีบางประเภท เป็นเอกลักษณ์เฉพาะจะต้องคงไว้ แต่ศิลปะพื้นบ้าน มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องกันมา และเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ตามที่คุณ ธ.วัชชัยเข้าใจนั่นแหละ ครับ

นักแสดงจะรู้ที่มาที่ไป แต่นัก...... จะคิดว่าตนเองคือ ผู้รู้ครับ ขอบคุณอีกครั้ง ในความเห็นที่ดีอย่างนี้

เห็นด้วยกับความคิดเห็นที่ 1 ครับ

           เพราะว่าการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ถือว่าเป็นการพัฒนา  ถ้ามัวแต่มองว่าไม่เหมาะสม  ถ้างั้นเพลงคงร้องใส่  Microphone ออก หรือ เครื่องขยายเสียง ไม่ได้น่ะซิ  ก็ต้องร้องปากเปล่าเหมือนก่อนอย่างนั้นหรือ  แล้วถ้าอย่างนี้การเผยแพร่ศิลปะพื้นบ้านคงทำได้ลำบาก (ปัจจุบันก็ลำบากอยู่แล้ว)  เช่น การนำเอาคอมพิวเตอร์บันทึกเสียงเมื่อเราร้อง เราแหล่ หรือการบันทึกวีดิโอ เวลารำ และ ร้อง เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาของบรรพชน (บิดา  มารดา) กลับมาขัดแย้งกันเสียนี่ 
          หากคิดว่า การนำเครื่องประกอบจังหวะมาเล่นกับเพลงนั้น ควรเป็นตะโพนไทยเท่านั้น จริงหรือ  แล้ว ตะโพนมอญ เล่นไม่ได้หรือไง ผมเองก็พอจะรู้เรื่องดนตรีอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ตะโพนไทย  หรือตะโพนมอญ ก็เป็นเครื่องให้จังหวะเหมือนกัน ในส่วนตัว ผมคิดว่าสามารถนำเอามาเล่นกับเพลงเราได้ เช่นเดียวกับ กลองไฟฟ้า เราถือว่าเราประยุกติ์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเหมาะสมกับงานมากกว่าครับ

อยากให้คนเก่งแบบอาจารย์ ช่วยพาเพลงพื้นบ้านซึ่งเป็นสมบัติของ ปู่ ย่า ตา ยาย เรา  ให้สู่สายตาคนทั่วโลกได้ยิ่งดีครับ

เป็นกำลังใจให้ครูเสมอครับ 

จาก  ลูกศิษย์

สวัสดี ครูบรรเจิด พุ่มพันธ์สน (นักดนตรีที่มีฝีมือสูง)

  • ครูเห็นด้วยความความเห็นของครูบรรเจิด เป็นความจริงแท้ การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับเพลงพื้นบ้านมีมานานหลายปีแล้ว
  • ถ้าเป็นคนที่สนใจและติดตามเพลงพื้นนบ้านจริง ๆ (มองไปที่เพลงอีแซว) มีวงเพลงรุ่นเก่า ๆ นำเอาเครื่องดนตรีประกอบจังหวะที่หลากหลายมาใช้ในการแสดง
  • วงเพลงอีแซวสุจินต์  ศรีประจันต์ ใช้กลองชุด กีร์ต้าเบส และอีเลคโทน
  • วงเพลงอีแซวขวัญใจ  ศรีประจันต์ ใช้ตะโพน 2 ลูก มีตะโพนไทยและตะโพนมอญ แถมบางครั้งนำเอาวงปี่พาทย์เครื่องห้าเข้ามาใช้ร่วมด้วย
  • วงเพลงอีแซวนกเอี้ยง  เสียงทอง ใช้วงดนตรีสากลบรรเลงประกอบจังหวะ
  • วงเพลงอีแซวขวัญจิต  ศรีประจันต์ ท่านจะได้เห็นเครื่องประกอบจังหวะหลายอย่าง มีรำมะนา ตะโทน ฉิ่ง กรับ
  • วงเพลงอีแซว โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ตามใจเจ้าภาพ อยากฟังเสียงจังหวะแบบไหน (เครื่องหนังหรือเครื่องไฟฟ้าก็ได้) เพราะมีทั้งโทน ตะโพน รำมะนา บองโก้ ฉิ่ง กรับ กลองแพด บ็อกซ์จังหวะ ที่เลือกจังหวะได้มากกว่า 300 จังหวะ

        เป็นการประยุกต์ตามความจำเป็นและเป็นวิวัฒนาการที่ไม่เสียรูปแบบของการแสดงด้วย ขอบคุณในความเห็นที่เป็นประโยชน์ เพราะนี่คือนักดนตรีและเป็นผู้ที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีตัวจริง ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท