มหาวิทยาลัยนเรศวรกับการออกนอกระบบ: เศร้า


          ยกเลิกประชาพิจารณ์ในวันที่ 3 ธันวาคม 2550 และชะลอการเสนอร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ...... 

          สภามหาวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ ๑๓๓(๖/๒๕๕๐) เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า  การทำความเข้าใจกับบุคลากรและนิสิตอย่างทั่วถึง  จะต้องใช้เวลาพอสมควร  หากจะดำเนินการในระยะเวลาสั้นๆ  อาจจะทำให้เกิดปัญหาดังเช่นที่ผ่านมาขึ้นอีกได้  จึงเห็นควรชะลอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ..... ไปจนกว่าจะทำความเข้าใจกับประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรให้มีความเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย จึงจะดำเนินการนำเสนอต่อไป

หลักฐาน1  หลักฐาน2

เศร้า....จริงๆ  T T  T T

หมายเลขบันทึก: 150784เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2007 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดีครับ อาจารย์มาลินี

  • การชะลอ พรบ. ออกไป ทำให้อาจารย์ทำงานได้ลำบากมากขึ้นหรือครับ
  • อาจารย์ถึงได้รู้สึก "เศร้า"
  • หรือ พรบ. ได้ถูกคิดกันอย่างรอบคอบแล้ว อาจารย์จึงคิดว่า น่าจะทำการประชาพิจารณ์ให้เร็วขึ้น
  • ว้า ... ไม่ได้อยู่ข้างในนั้นด้วย ไม่ทราบครับ
  • มีเกิด มีดับ เป็นไปตามนั้น ครับ

ขอบคุณครับ :)

  • ชื่นชมอาจารย์ครับ  ที่กล้าแสดงความคิดเห็น  ประเทศเราขาดคนแบบนี้ครับ  อิอิ
  • ดิฉันอาจเศร้าบ้างกับการชะลอ พ.ร.บ. ออกไป
  • แต่ก็ไม่เศร้าเท่ากับ การ ยกเลิกการประชาพิจารณ์
  • ดิฉันไม่แคร์ว่าใครจะชะลอ หรือ จะผลักดัน พ.ร.บ.
  • และไม่แคร์ว่าใครจะเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.
  • แต่แคร์ว่า โอกาสที่ทุกคนควรได้รับรู้ และเข้าใจ จริงๆ กับ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะมลายหายไปอีก
  • ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ควรมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องนี้
  • ยิ่งคนที่มีการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ยิ่งต้องรู้จากการวิเคราะห์ข้อมูลมากพอ จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ไม่ตัดสินปัญหาจาก "เขาเล่าว่า..."  "รู้สึกว่า...."  "กลัวว่า...." ฯลฯ
  • และความเข้าใจนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องประชาพิจารณ์กันเยอะๆ คุยกันเยอะๆ   สร้างความเข้าใจกันบ่อยๆ กับบุคลากร และนิสิตทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
  • ไม่ใช่ว่า เมื่อจะชะลอร่าง พ.ร.บ.ในการนำเข้า พิจารณาใน สนช.แล้ว ก็หยุดทุกสิ่งทุกอย่าง
  • หยุดแม้กระทั่งการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
จะอยู่ในระบบหรือนอกระบบก็เอาเถอะครับ  แต่ต้องถามตัวมหาวิทยาลัยทั้งหลายว่า ได้ทำประโยชน์ให้กับชนส่วนใหญ่ในแผ่นดินหรือไม่  หากยังตอบสนองต่อเหล่านายทุนที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายทำอยู่ก็อดสูอยู่ 
  • ใน Chaordic Organization  ความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นธรรมชาติ  ทำให้เกิดพลังและ Innovation 
  • การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น  หรือความพยายามที่จะทำให้ ( คิด ) เหมือนกัน  เป็นการปิดกั้นความคิดของมนุษย์  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด  แถมต้นทุนต่ำที่สุด  อิอิ

ประเด็นที่อาจารย์คิดนั้น ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่า การสร้างเข้าใจถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

ขอบคุณครับ :)

ทำไมต้องเศร้า ในเมื่อสิ่งที่ผู้บริหารทำนั้น ขาดความรอบคอบ หรือตั้งใจที่จะไม่ให้ความรอบคอบเกิดขึ้น โดยการไม่ให้ประชาคมมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน แต่ไปงุบงิบทำกันเอง ประชาคมเผลอ ก็ไปโผล่ที่สนช. แล้ว เมื่อประชาคมลุกฮือขึ้นมา นี่หรือคือเรื่องน่าเศร้า การที่ประชาคมรู้ทันความไม่ชอบมาพากลนี่หรือคือความเศร้าของอาจารย์ อาจารย์มั่นใจหรือว่าการกระทำครั้งนี้ของผู้บริหาร ไม่มีวาระซ่อนเร้น อาจารย์ไปอ่านพ.ร.บ. ฉบับที่แก้ไขที่พะเยาดู ถ้าอาจารย์ว่าดีแล้ว อาจารย์ก็อยู่กลุ่มเดียวกับพวกฉ้อฉล หากอยากออกนอกระบบ ให้อาจารย์และผู้บริหารไปสร้างมหาวิทยาลัยใ่หม่ดีกว่าไหม อย่าเอามหาวิทยาลัยของหลวงที่มีที่ดินบริจาคของชาวบ้านไปปู้ยี่ปู้ยำเลยนะ
ถ้าออกนอกระบบแล้วผู้บริหารจะได้มีอำนาจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ง่ายขึ้น ถ้าผู้บริหารนั้นมีเมตตาธรรมอยู่ในใจก็ใช้อำนาจไปในทางที่ดีที่ถูก แต่ถ้าผู้บริหารนั้นไม่มีเมตตาธรรมเห็นแก่จะกอบจะโกยเห็นแก่พุงตัวเองละก็ รีดไถลูกหลานประชาชนโดยไม่มีจิตสำนึกที่เขาเสียภาษีไห้ แล้วอย่างนี้เดือดร้อนแน่

สวัสดีค่ะ คุณ hhh และคุณ Jab         

          ดิฉันคิดว่าเราต่างปรารถนาดีต่อสถาบันของเราอย่างแท้จริง หากแต่การมองโจทย์ และการตีความอาจต่างกัน  ดิฉันมีจุดยืนของดิฉันเอง จากการศึกษาข้อดี ข้อเสีย ของการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอดได้อ่าน ร่าง พ.ร.บ. ของ มน. เปรียบเทียบกับ ม.อื่นๆ มาแล้ว  (ทั้งยังได้เคยบันทึกเผยแพร่  แสดงข้อคิดเห็นให้บุคคลทั่วไปที่อ่าน Blog ของดิฉันทราบเป็นประจำ)  

          ดิฉันเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กรแห่งนี้  ไม่ว่าจะในฐานะผู้บริหาร  อาจารย์  พนักงานมหาวิทยาลัย ผู้ปกครองของนิสิต  ดิฉันมีฐานะเช่นนั้นทุกอย่าง  จึงตระหนักดีว่า ต้องเลือกหนทางที่ดีต่ออนาคตทั้งขององค์กร  ของลูกศิษย์  ของตนเอง  และของลูกหลาน  ดิฉันจำเป็นต้องพิจารณาจากข้อมูลที่มีมูลความจริงเท่านั้น

          ดังนั้น ถ้าคุณ hhh และคุณ jab ทราบข้อมูลที่เป็นจริง  ขอได้โปรดแจ้งให้ประชาคมได้ทราบ เช่น

  • ผู้บริหาร ที่คุณ hhh กล่าวถึง ขาดความรอบคอบในเรื่องใด?
  • เรื่องใดใน พ.ร.บ. ที่ประชาคมยังไม่เคยพิจารณาอย่างรอบคอบมาก่อน ?
  • ความไม่ชอบมาพากล คืออะไร?
  • วาระอะไรคือวาระซ่อนเร้น ?
  • สิ่งใดที่เป็นเรื่องฉ้อฉล ?
  • ออกนอกระบบแล้วผู้บริหารจะได้อำนาจมากกว่าที่เป็นอยู่ด้วยเหตุใด ?
  • ออกนอกระบบแล้วผู้บริหารสามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ง่ายขึ้นอย่างไร ?

          โปรดอย่าเข้าใจว่า ความคิดเห็นนี้เป็นการตอบโต้  แต่เป็นความปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะได้ทราบข้อมูล  เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบผู้บริหารแล้ว  ยังจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันของเราด้วย

          ที่สำคัญก็คือ....เราต้องไม่เผชิญปัญหาด้วย "ความรู้สึก"  แต่ต้องรับมือกับมันด้วย "ความรู้" 

เรียน อาจารย์มาลินี

ขอร่วมแสดงความเห็นอีกครั้้ง  ก็ถือว่าแลกเปลี่ยนความเห็นบนฐานของแต่ละคนที่คิดว่าตนมีเหตุผลก็แล้วกัน  ดังนั้นจะขอลองตอบในสิ่งที่อาจารย์ถาม

1. ผู้บริหารขาดหรือตั้งใจขาดความรอบคอบ ในที่นี้คือผู้บริหารกระทำต่อพ.ร.บ. ฉบับนี้โดยไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เป็นเวลาถึง 3 ปี เป็นอย่างน้อย เพราะร่างนี้เป็นร่าง ที่ สคก.ตรวจพิจาณาแล้ว ในปี 2547(โปรดดูหน้าแรกของร่างพ.ร.บ.) ถามว่า 3 ปี ที่ผ่านมาคนในมอรับรู้ไหม อาจารย์ช่วยหาหลักฐานมาบอกหน่อยว่า เมื่อไรที่ ผู้บริหารนำมาเผยแพร่ จนกระทั่ง มีการผลักดัน(ที่ไม่ได้เกิดจากผู้บริหาร)ในต้นปี 50นี้  เวลาตั้ง 3 ปีทำไมจึงเงียบกริบ แล้วโผล่อีกทีที่สนช. อาจารย์ช่วยตอบได้ไหม 

2. ดังที่กล่าวในข้อ 1  และความจริงก็คือ ตั้งแต่ ปี 47 ถึงปัจจุบันมีการพิจารณา เพียง 1 ครั้ง ใช่หรือไม่ เช่นนี้แล้วอาจารย์คิดว่ารอบคอบหรือเปล่า อาจารย์ช่วยอธิบายกระบวนการประชาพิจารณ์ได้ไหม  ถ้าอาจารย์เห็นว่ารอบคอบ อาจารย์กรุณาไปอ่านร่างพ.ร.บ.ที่เผยแพร่กับร่างพ.ร.บ.ที่ให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอเข้าวาระสนช.ดู(ในฐานะผู้บริหารคงหาดูได้ไม่ยาก) อาจารย์ดูหน้าแรกเลยนะ แล้วอาจารย์ค่อยมาตอบว่าอาจารย์รู้หรือเปล่า ถ้าอาจารย์ในฐานะผู้บริหารไม่รู้ อาจารย์จะหวังให้คนอื่นๆในมอรู้หรือ  หรือถ้าอาจารย์รู้อาจารย์ช่วยไปถามประชาคมซิว่ารู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วอาจารย์จะตอบคำถามได้เอง
3-4 อันที่จริงข้อ 1-2 ก็พอจะทำให้เห็นความไม่ชอบมาพากลบ้างแล้ว (ไม่อยากบอกว่ามีมากกว่านี้ และไม่ได้สักแต่เขียนด้วย) จากที่ได้อ่านหนังสือที่ประธานสภาอาจารย์เขียนถึงทุกคน จำนวน 2 หน้านั้น อาจารย์ไม่ถือว่าเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากลหรือ ไม่มีวาระซ่อนเร้นหรือ ผู้บริหาร 3มหาวิทยาลัยไปร่วมทึ้งพ.ร.บ. ที่พะเยา มีใครรู้บ้าง และเมื่อทำแล้วนำมาเผยแพร่หรือไม่ ที่เห็นๆ ก็ได้มาจากไหนไม่รู้ที่เขาแจกๆกันมา อาจารย์จะช่วยตอบได้ไหม ว่านี้คือความตรงไปตรงมาของผู้บริหาร และอาจารย์ช่วยตอบได้ไหมว่าผู้บริหารทำหนังสือถึงประธานกรรมาธิการได้อย่างไร(เผยแพร่ทางเว็บไซต์ด้วยนะ)ในเมื่อยังไม่ผ่านวาระที่ 1 อาจารย์กรุณาให้ความรู้ด้วย 

5-7 อาจารย์กรุณาไปหาร่างฯที่ทำที่พะเยามาอ่าน ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจ แนะนำให้ถามนิติกร (ที่ไม่ใช่นิติกรของมหาวิทยาลัย)แล้วค่อยมาตอบว่าฉ้อฉลหรือไม่

ขอบคุณอาจารย์มากที่ให้โอกาสแสดงความเห็น หวังว่าจะเป็นความรู้ อันเป็นเหตุเป็นผลอยู่บ้าง

hhh 

เรียนคุณ hhh ที่นับถือ

          ดิฉันเห็นด้วยทุกประการกับคุณ hhh ในเรื่อง ที่มหาวิทยาลัย ขาดการประชาสัมพันธ์ และการประชาพิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาคมเกิดความไม่ไว้วางใจ รวมทั้งไม่เข้าใจ

          ดิฉันจึงให้ความเห็นไปแล้ว ในท้ายบันทึกนี้ ตอนต้นๆ ว่า ดิฉัน  เศร้ามาก ที่มหาวิทยาลัยยกเลิกการประชาพิจารณ์

          เพราะความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้ ต้องประชาพิจารณ์กันเยอะๆ คุยกันเยอะๆ   สร้างความเข้าใจกันบ่อยๆ กับบุคลากร และนิสิตทุกระดับอย่างต่อเนื่อง

          แต่ดูเหมือน ทุกอย่างจะหยุดทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

          ดิฉันจึงหันมาพึ่งตนเอง ด้วยการศึกษา พ.ร.บ. มน. (ฉบับล่าสุด) ทีละมาตรา ทีละมาตรา  และศึกษาเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยที่เพิ่งออกนอกระบบไปหมาดๆ ด้วย (ม.มหิดล)

          หวังใจว่าจะไม่พบอะไรหมกเม็ด หรือไม่ชอบมาพากล 

          ยิ่งถ้าได้คุณ hhh มาร่วมตรวจสอบหรือให้ข้อคิดเห็นด้วย  ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง

          ไหนๆ ร่าง พ.ร.บ.มน. ที่ คุณ hhh ไม่วางใจ ก็ไม่ได้เสนอเข้า สนช. แล้ว จะกังวลอะไรอีกละคะ

          ว่างๆ เรามาช่วยกัน พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. กันให้ละเอียดรอบคอบดีกว่า ช่วยกันเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์  ดิฉันลองอ่านดูแล้วไม่ยากเย็นอะไร ไม่ต้องจบนิติศาสตร์ก็อ่านได้ค่ะ

กราบเรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ

เท่าที่ผมทราบอาจารย์เป็นคนที่ผลักดันแล้วเสนอชื่อคนที่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบ จำนวน 800 ชื่อโดยประมาณใช่ไหมครับ แล้วอีกอย่างผมว่าการทำประชาพิจารณ์ควรที่จะยกเลิกเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะนิสิตมอไม่เคยได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ นิสิตบางกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน รวมตัวผมด้วยตั้งแต่แรกเริ่มผมก็หาเอกสารต่างๆเองจากอินเตอร์เน็ตและเว็บไซด์อื่นๆ เพราะการทำประชาพิจารณ์ไม่ใช่การเลือกตั้งที่จะดูผ่านๆตาแล้วก็สามารถที่จะกากบาทได้ทันที เมื่อคิดได้อีกทีก็คงสายไปแล้ว อีกประการหนึ่งที่มหาลัยไม่ควรหยุดนั่นคือการเผยแพร่และให้ความรู้ ผมหวังว่าคงอยู่ดีๆอีก 1 - 2 ปี ก็กลับมาดันอีกนะครับ ถ้ายังคงทำแบบไม่โปร่งใสเช่นเคย ผมอาจจะกลับมาในนามของศิษย์เก่าก็เป็นได้นะครับ ผมไม่ได้คัดค้านระบบดังกล่าว เพราะถึงอย่างไรในที่สุดมันต้องเป็นไปตามกระบวนการแต่ผมขอความชัดเจนและสิ่งที่เคยได้ให้คำมั่นไว้เมื่อ 15 มกราคม 2550

อีกอย่างผมก็เข้าใจและคงมองภาพไม่ยากกับการที่มหาวิทยาลัยเปลี่ยนระบบการจัดการต่างๆไม่ว่าจะเป็น 1.การเปิดหลักสูตรคู่ขนาน เพื่อดึงดูดผู้เรียน ค่าเทอมแพงกว่าปกติ จบมาได้ปริญญา 2 ใบ

2.การปรับเพิ่มค่าเทอมจากเก็บเป็นรายหน่วยกิตมาเป็นแบบเหมาจ่าย และที่สำคัญคือไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดได้

3.การที่แต่ละหน่วยงานหากจะยืมของ/สถานที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมซึ่งแต่เดิมสามารถอนุโลมได้

4.การที่มหาวิทยาลัยให้แต่ละคณะดูแลและจัดการบริหารเองจนบางครั้งทำให้ความรู้สึกของนิสิตเองรักคณะมากกว่ามหาวิทยาลัย จึงไม่แปลกที่จะถามว่าเด็กภาคภูมิใจอะไรมากกว่ากันระหว่างสาขา/คณะที่เรียนกับชื่อมหาวิทยาลัย

 

 

สวัสดีค่ะ คุณสามัญชน

          ดิฉันกระทำเหมือนที่คิด พูด หรือเขียนเสมอ เพียงแต่องค์ประกอบบางอย่างที่ปรากฎให้เห็นเป็นภาพ ไม่ได้เกิดจากดิฉันเพียงคนเดียว สิ่งที่ดิฉันอยากจะเรียนให้ทราบก็คือ "ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่มันเป็นเสมอไป"

          สำหรับเรื่อง พ.ร.บ. ที่คุณสามัญชน ซึ่งเป็นนิสิตให้ความสนใจ  นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นที่สุด รวมทั้งยังเป็นผู้ใฝ่หาความรู้เพื่อประกอบการคิดและตัดสินใจด้วย นับเป็นการกระทำอันสมกับเป็นนักศึกษาจริงๆ

          ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ม.ในกำกับ ที่เราควรทราบเพื่อนำมาใคร่ครวญตรึกตรอง แล้วเลือกใช้ ให้ความเห็น หรือบอกต่อนั้น จะมีสองส่วน คือ  หลักการ และวิธีทำ

          หากศึกษาแล้วเห็นว่า หลักการดีมีประโยชน์  ก็ต้องศึกษาต่อว่าคนที่นำหลักการไปใช้  กระทำได้ถูกหลักการหรือไม่ เช่น ถ้าเราศึกษาดูแล้วเห็นว่าหลักการของ มหาวิทยาลัยในกำกับเป็นเรื่องที่ดี  เราก็ต้องศึกษาต่อว่า  การนำหลักการนี้มาใช้ของ มน. โดยการ ร่างเป็น พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับ นั้น เป็นไปตามหลักการหรือไม่โดยละเอียด

          ดังนั้น  เราก็จะไม่พลาดเวลาถูกซักว่า คุณคิดรอบคอบหรือยัง  เพราะ "สิ่งที่เราไม่ได้เห็นกับตา  ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีเสมอไป"

          อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนและสังคมหมู่มาก  ผู้ที่รับผิดชอบจะต้องทั้งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว กับสร้างเวทีประชาพิจารณ์ที่เปิดเผย  เพื่อเป็นการสื่อสารสองทาง เปิดโอกาสให้ประชาคมซักถามและตอบข้อสงสัย  โดยต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง  และอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ทำเมื่อหมดเวลาส่งการบ้านแล้ว (ใช่ไหมค่ะ)

          แล้วคำถามต่างๆ ในข้อ 1  2  3 4 ที่คุณสามัญชนยังสงสัย ข้องใจ จะได้มีผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงมาเคลียร์  ดิฉันไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะตอบได้  และอันที่จริง ปัญหาต่างๆ ที่หยิบยกมาไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ร่าง พ.ร.บ.มน. เลย ล้วนเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ซึ่งมีการกระทำแล้วและยังกระทำอยู่ขณะมหาวิทยาลัยยังไม่ออกนอกระบบด้วยซ้ำ  เห็นไหมคะว่า มันไม่เกี่ยวข้องกันเลย  แต่สิ่งที่เกี่ยวกันก็คือ "ประสบการณ์ที่เราได้รับ จะเป็นฐานความเชื่อให้เราคิดและตัดสินใจเรื่องต่างๆ เสมอ"

                  

ถ้าเปรียบไปก็เหมือนกับลูกที่อยู่ในบ้านกับลูกที่อยู่นอกบ้าน...ลูกที่อยู่ในบ้านจะทำอะไรที่ไม่ดีก็ยำเกรงพ่อแม่เพราะมีพ่อแม่คอยกำราบไม่ไห้ไปในทางเสีย...ส่วนลูกที่อยู่นอกบ้านห่างใกลพ่อแม่นั้นก็จะไปทำตามชอบใจอย่างไรก็ได้...ถ้าไปทางดีก็แล้วไป

เรียน คุณมาลินี

อันที่จริงแล้ว มหาวิทยาลัยนเรศวรยังมีความไม่พร้อมในหลายๆอย่าง ในหลายๆด้าน หากผู้บริหารคิดที่จะรับฟังเสียงสะท้อนจากนิสิต ผู้บริหารจะได้แนวคิดดีๆที่จะปรับยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย

เราควรจะปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ปลูกอู่ตามใจผู้นอน

มิใช่การคิดเอง กระทำเอง ตัดสินใจเอง แล้วผลกระทบที่กลับมามันยากเกินกว่าที่จะเยียวยาได้

 

เปิดความจริงหลังม.มหิดลออกนอกระบบ สิทธิรักษาพนง.น้อยกว่าเดิม-เงินเดือนขึ้นลูกผีลูกคน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 ธันวาคม 2550 09:06 น.
       ตีแผ่ความจริงหลังการนำม.มหิดลพ้นระบบราชการ เผยปัญหารุมเร้าสารพัด โดยเฉพาะ “พนักงานมหาวิทยาลัย” กว่าหมื่นคนที่ถูกลอยแพอย่างเจ็บช้ำน้ำใจ เหตุได้รับสิทธิและสวัสดิการในการรักษาพยาบาลน้อยกว่าเดิม โดยผู้บริหารพยายามผลักดันให้ใช้สิทธิประกันสังคม ขณะที่การปรับอัตราเงินเดือนใหม่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่เคยนำเสนอ เงินเดือนอาจารย์ที่จะให้เพิ่ม 1.7 เท่าก็ลดลงเหลือไม่เกิน 1.5 เท่า ส่วนพนักงานอื่นๆ จากเพิ่ม 1.5 เท่าก็ลดลงเหลือไม่เกิน 1.3 เท่า เเต่สุดท้ายผู้บริหารกลับบอกว่ายังไม่เเน่นอน อ้างก.คลังยังไม่ตอบว่าจะให้งบประมาณเท่าไหร่

       ม.มหิดลถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ นายวิจิตร ศรีสอ้านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถูกผลักดันให้นอกระบบ
       
       ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็นไปด้วยความราบรื่น และไม่มีปัญหาอะไรปรากฏสู่สายตาของบุคคลภายนอก แต่ความจริงก็คือ การออกนอกระบบของม.มหิดลไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลายคนวาดฝันไว้ ยิ่งกับบรรดา “พนักงานมหาวิทยาลัย” ด้วยแล้ว ยิ่งต้องบอกว่า ถึงขั้นช้ำใจเลยทีเดียว
       
       แหล่งข่าวระดับสูงในม.มหิดลให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ภายในมหาวิทยาลัยมีปัญหาและข้อขัดแย้งเกิดขึ้นหลายประการ เนื่องจาก พ.ร.บ.ม.มหิดล พ.ศ.2550 ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการอย่างเร่งรีบ ไม่ได้มีการให้ข้อมูลกับประชาคมเกี่ยวกับการบริหารจัดการหลังการออกนอกระบบอย่างชัดเจนเเละรอบด้าน รวมทั้งไม่สอบถามความคิดเห็นจากประชาคมอย่างเพียงพอ ขณะที่การออกกฎหมายลูก ผู้บริหารดำเนินการเองโดยไม่ได้มีตัวแทนของพนักงานมหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างข้อบังคับ ทำให้ขณะนี้สภาพการบริหารงานภายในเต็มไปด้วยปัญหา สับสน เพราะขาดการเตรียมพร้อมที่ดีพอและไม่มีใครทราบว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร
       
       ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงของข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการในการรักษาพยาบาล กล่าวคือ ในพ.ร.บ.ม.มหิดล ไม่ได้กำหนดชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการในการรักษาพยาบาล ของพนักงานมหาวิทยาลัย เพียงเเต่กำหนดในหลักการว่าผู้ที่เลือกเป็นข้าราชการต่อไปก็จะยังคงได้รับสิทธิและสวัสดิการในการรักษาพยาบาลเหมือนเดิม ส่วนผู้ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆและสวัสดิการไม่น้อยกว่าเดิม แต่ขณะนี้ผู้บริหารกลับตัดสินแทนพนักงานมหาวิทยาลัยให้ไปใช้สิทธิประกันสังคมทั้งหมด โดยที่ไม่เคยมีการให้ข้อมูลเเละรับฟังความเห็นของพนักงานก่อน โดยส่งรายชื่อพนักงานมหาวิทยาลัยเงินอุดหนุนทั้งหมดให้ไปใช้สิทธิประกันสังคมตั้งเเต่วันที่ 17 ต.ค.50
       
       “เดิมในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยเงินอุดหนุนประจำจะถูกหักเงินเดือน 10% เพื่อจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้เหมือนข้าราชการทุกอย่างคือ เบิกได้ทั้งตนเอง พ่อแม่และลูก แต่เมื่อดันให้ไปเข้าประกันสังคมก็หมายความว่า ต่อไปนี้จะเบิกได้เฉพาะตัวเองคนเดียวซึ่งมีข้อจำกัดมากมาย เมื่อมีการต่อต้าน ผู้บริหารก็เสนอเพิ่มเติมเข้ามาว่า นอกจากสิทธิประกันสังคมแล้ว พนักงานจะสามารถเบิกเงินจากกองทุนสวัสดิการได้ 2 หมื่นบาทต่อปี แต่ถ้าเกินจากนั้นก็จะต้องร่วมกันจ่ายคนละครึ่งแต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อปี แต่เมื่อนำไปเปิดเผยกับประชาคมทั้งที่ ศาลายา รามาฯและศิริราชก็ถูกโจมตีอย่างหนัก”
       
       แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการรับฟังความเห็นที่ผ่านมา ประชาคมต้องการให้มีการบริหารจัดการเรื่องการรักษาพยาบาลเองภายในมหาวิทยาลัยเพื่อความคล่องตัวในการทำงานและน่าจะดูแลพนักงานได้ดีกว่าประกันสังคม เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีโรงพยาบาลในสังกัดถึง 4 แห่งคือศิริราช รามาธิบดี โรงพยาบาลคณะเวชศาสตร์เขตร้อน และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกที่ศาลายา เเต่ก็ไม่เคยได้รับการชี้เเจงจากผู้บริหาร ซึ่งถ้าม.มหิดลบริหารจัดการเรื่องการรักษาพยาบาลเองได้ มหาวิทยาลัยอื่นก็สามารถใช้เป็นเเนวทางได้
       
       สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยของม.มหิดลนั้น แบ่งออกเป็นหลายประเภทเเละมีจำนวนเกินกว่า 10,000 คน
       
       “เราเป็นมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ ไม่มีเหตุผลที่จะทำเรื่องนี้ไม่ได้ ทำไมไม่ไปดูแบบอย่างจาก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่เขาออกนอกระบบไปก่อนเราเเละเขาจัดสวัสดิการให้พนักงานมหาวิทยาลัย เหมือนข้าราชการทุกอย่างได้โดยไม่เข้าประกันสังคม พวกเราดูแล้วเหมือนกับว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ออกนอกระบบไว้ก่อน ส่วนจะมีปัญหาอะไรค่อยไปว่ากันทีหลัง”
       
       “เท่าที่ทราบตอนนี้พนักงานที่รามาฯ ได้ล่ารายชื่อยื่นให้กับมหาวิทยาลัยไปแล้วว่า ต้องได้สิทธิไม่น้อยกว่าเดิม ซึ่งไม่ทราบว่าทางผู้บริหารได้นำมาพิจารณาหรือเปล่า และล่าสุดทราบว่านำเข้าสภามหาวิทยาลัยไปประมาณ 2 อาทิตย์แล้ว พวกเราก็ยังไม่ทราบเหมือนกันว่าจะออกมาอย่างไรเพราะตอนที่แก้ไม่ได้นำมาเปิดเผยให้ประชาคมดูก่อน”
       
       แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า เรื่องอัตราเงินเดือนที่จะเพิ่มขึ้นก็ไม่เป็นไปอย่างที่เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้ กล่าวคือก่อนที่จะออกนอกระบบนั้น ผู้บริหารแจ้งให้ทราบว่า ผู้ที่เป็นอาจารย์จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.7 เท่า ขณะที่พนักงานกลุ่มอื่นๆ จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.5 เท่า แต่เมื่อกฎหมายผ่านสนช.มาแล้ว ผู้บริหารกลับมาบอกว่าอัตราเงินเดือนใหม่คือ อาจารย์ลดลงเหลือไม่เกิน 1.5 เท่าและพนักงานอื่นๆ ลดเหลือไม่เกิน 1.3 เท่า เเต่ขณะนี้ก็ยังไม่เเน่นอนอยู่ดี อาจจะลดลงไปอีกก็ได้
       
       “ตอนแรกผู้บริหารอ้างว่าที่ต้องลดการเพิ่มเงินเดือนเพราะได้รับงบประมาณมาน้อย แต่พอซักไปซักมาก็บอกใหม่ว่า มหาวิทยาลัยยังไม่รู้ว่ากระทรวงการคลังจะให้งบประมาณมาเมื่อไหร่ จำนวนกี่มากน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลกมาก เพราะความจริงกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ตั้งแต่ต้นปี เเละผ่านวาระ 2 เเละ 3 ตั้งเเต่กลางเดือนส.ค. เเละมีผลบังคับใช้ เมื่อกลางเดือนต.ค.ไม่ใช่เพิ่งเสร็จ ทำไมถึงไม่มีการสอบถามหรือตรวจสอบกับสำนักงบประมาณ จากรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ล่วงหน้า”
       
       “ความจริงพวกเราไม่เคยคัดค้านการออกนอกระบบเพราะเชื่อว่าน่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย เเต่ผู้บริหารที่เราไว้วางใจมาตลอดว่าจะดูเเลพนักงานเเละมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดีกลับไม่น่าไว้วางใจอีกต่อไป เราไม่อยากใช้ความรุนแรงด้วยการเดินขบวนประท้วงหรือหยุดงาน เพราะไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย เราอยากมีส่วนร่วมในการรับรู้เเละให้ข้อมูลต่างๆด้วยการพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล แต่ถ้ายังไม่รับฟังความเห็นของประชาคมเช่นนี้ต่อไป ก็คงต้องใช้เหมือนกัน”แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว
       
       ดังนั้น จึงอยากจะขอเตือนให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ออกนอกระบบให้ทำอย่างรอบคอบ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาคมอย่างจริงใจและถ้าเป็นไปได้ให้ชะลอการออกกฎหมายเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภามาช่วยกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งก่อน
อ่านข่าวแล้วน่ากลัวถ้ามันมาเกิดกับมหาวิทยาลัยของเรา

การอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ต้องใช้วิจารณญาณ เพราะไม่เหมือนบทความทางวิชาการที่ต้องมีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้  เมื่อคนเขียนข่าวไม่เปิดเผยแหล่งข่าว จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลก็ได้  

คนเขียนข่าวที่มีจรรณยาบรรณ  ต้องไม่เขียนเกินความจริง  หรือเสนอภาพด้านเดียว  ข่าวจากสื่อมวลชน  จึงมักทำให้คนกลัวก็ได้ กล้าก็ได้  รักก็ได้ เกลียดก็ได้

 เป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยมือใหม่ค่ะ   มีความมึนงง สงสัย หวั่นไหว หวั่นใจ  กับหลากหลายข้อมูล และหลากหลายลีลา ที่ได้เห็นเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในกำกับเหมือนกันค่ะ   ที่นี่ดิฉันรับรู้แต่เพียงว่าเรากำลังถูกให้เข้าแถวรอเป็น ม.ในกำกับ ด้วยความหวังดีของผู้บริหารเท่านั้นเองค่ะ  นอกนั้นงงค่ะ 

 

สวัสดี อ่านเว็บนี้แล้วโดน ขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยคน

ตอนนี้เหมือนมหาวิทยาลัยในประเทศ จะถูกผลักดันให้ออกนอกระบบ (โดยใคร หรือ เป็นกระแสอย่างไรไม่รู้) แต่อยากร่วม

แสดงความรู้สึกว่า ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนจากระบบหนึงไปสู่อีกระบบหนึ่งอย่างทันทีทันใด อย่างที่ทราบกันการเปลี่ยนแปลง

ระบบแบบนี้(แบบทันทีทันใด) แม้มีข้อดี แต่ก็มีข้อเสียด้วย การที่นำเอาระบบการศึกษา มาเสี่ยงกับข้อเสียของการเปลี่ยนแปลง

แบบทันทีทันใดนั้นข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงที่คิดว่าน่าจะเหมาะสมกว่าคือการทำแบบคู่ขนานในช่วงแรก

แล้วดูผลที่เกิดขึ้นหากดีก็ค่อยๆ ดำเนินไปข้างหน้ากับระบบใหม่ หากไม่ดี ก็ยังหันหลังกลับได้ทัน เพราะระบบเก่าก็ยังคงอยู่

ควบคู่กับระบบใหม่แม้ว่าจะหนักหนาสาหัส ในช่วงของการทดลองระบบใหม่ก็ตาม หรือถ้าจะให้ดี แยกทั้งสองระบบออกจากกันเลยจะดีกว่ามีทั้งมหาวิทยาลัยในกำกับ และมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ ใครใคร่อยู่ที่ไหนก็เลือกเอา ไม่รู้จะเทียบได้กับในต่างประเทศ

หรือเปล่าว่ามีทั้ง public และ private university

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท