เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงู


ขอคำแนะนำว่ากรณีตัวอย่างเหล่านี้ ใช้ธรรมะข้อใด เพื่อการ "อยู่ในปากงูโดยไม่ถูกพิษงู"

เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงู
           ผมเอาร่างบทความที่ผมจะไปเสนอที่สวนโมกข์ในวันเสาร์หน้า (๒๓ กค.) มาลงเพื่อขอคำแนะนำ   หวังว่าอย่างน้อยก็จะมี  อาจารย์ ดร. ประพนธ์  กับคุณ Morning Glory สองคน ที่จะช่วยให้ข้อคิดเห็น    แต่จริงๆ แล้ว ผมอยากได้ข้อคิดเห็นที่มาจากหลากหลายมุมมอง
          สาระสำคัญที่ผมต้องการเสนอในการเสวนา   คือ "ชีวิตปลอดพิษกิเลสครอบงำ"   ที่จริงจะว่าปลอดพิษเสียทีเดียวคงจะไม่ง่าย   เอาเป็นว่าลดพิษกิเลส ก็แล้วกัน    ผมต้องการให้วงเสวนา (ที่สวนโมกข์) ลองช่วยกันคิดวิธีการมีชีวิตอยู่แบบคนธรรมดา    ที่ไม่ถูกเพลิงกิเลสเผาผลาญมากนัก    ทั้งที่เป็นเพลิงภายใน (คือเรากำหนดเองหรือเป็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์)  กับเพลิงภายนอก คือแรงกระตุ้นปลุกเร้าให้อยากได้ อยากมี อยากเด่น อยากดัง จากสื่อ จากแรงกดดัน หรือค่านิยม ในสังคม
           วิธีการที่ผมอยากให้เกิด เป็นวิธีการที่จะได้ผลต่อคนจำนวนมาก   ในลักษณะรวมกลุ่มกันดำเนินการ    เป็นการช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเอง    เพื่อการ "อยู่ในปากงูโดยไม่ถูกพิษงู เหมือนกับลิ้นงู"   คืออยู่ในสังคมบริโภคนิยม วัตถุนิยม ในลักษณะอยู่อย่างพอเพียง   มีความสุขอยู่กับชีวิตที่ชีวิตที่ขยัน ประหยัด อดออม และเจือจาน   ที่สำคัญคือมี สิกขา หรือการเรียนรู้ เพื่อใช้และสร้างความรู้ ในการดำรงชีพทุกด้าน ในลักษณะของ การรวมกลุ่ม    ใช้เทคนิคของ KM
ในการ ดำรงชีพแบบ ใช้ความรู้เป็นฐาน

 

 


ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนธรรมดา*
วิจารณ์ พานิช
http://thaikm.gotoknow.org
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
www.kmi.or.th
           

           ผมได้รับเชิญจากคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช ให้มาร่วมเป็นผู้บรรยายหรือเป็นผู้เริ่มการเสวนา ที่เรียกว่า สวนโมกข์เสวนา พุทธทาส ๑๐๐ ปี  ตอนรับปากก็รู้สึกสนุก และภูมิใจ ที่จะได้มาร่วมกิจกรรมดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อสังคม   และคิดว่าเราก็มีความคุ้นเคยกับการพูดเสนอความคิดในที่ต่างๆ มามาก ปีละนับร้อยครั้ง   ไม่คิดว่าจะเป็นภาระมากนัก ก็รับปากโดยง่าย    พอใกล้วันเสวนาก็เริ่มร่างความคิด   เริ่มต้นก็คิดว่าจะพูดเรื่องอะไรดี   จึงเริ่มตระหนักว่าตัวเองไม่คุ้นเคยกับการพูดเรื่องธรรมะในวัด  และเริ่มกังวลว่าจะต้องมาพูดในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือสวนโมกข์ อารามอันเป็นกำลังแห่งการเข้าถึงสัจจะและความหลุดพ้น    เราจะไปทำให้เสียบรรยากาศของความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่    เมื่อต้นเดือน ลูกชาย คือวิจักขณ์ พานิช กลับจากมาปลีกวิเวกที่นี่เป็นเวลาเดือนเศษ เขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า มา retreat     เมื่อกลับไปบ้าน ก่อนจะกลับไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา เขาถามเชิงแปลกใจ ว่าพ่อจะไปพูดที่สวนโมกข์หรือ    ผมตอบว่าใช่ รับปากหมอบัญชาไว้     แต่พ่อยังไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องอะไรเลย    ตั้มคิดว่าพ่อควรพูดเรื่องอะไรดี     ลูกชายตอบว่า พ่อมีอะไรก็พูดไปเถอะ    ดังนั้นวันนี้ผมจะพูดตามที่ลูกแนะนำ     คือพูดตามที่ตัวเองมี หรือคุ้นเคย     คงจะเป็นการพูดหรือเสวนาแบบเล่าประสบการณ์ในชีวิต     และคงต้องสารภาพว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตของคนที่ห่างวัด   
             ภรรยาเขามักกลับมาเล่าว่าเขาแปลกใจ ที่คนจำนวนหนึ่งคิดว่าผมเป็น "คนวัด" หรือเคร่งศาสนา    แต่ตัวเขาเองเห็นตรงกันข้าม   คือแม้จะเห็นว่าสามีเป็นคนเอางานเอาการ   แต่ก็มีชีวิตที่ห่างวัด  ซึ่งเป็นความจริง
             ดังนั้นเรื่องของการเสวนาวันนี้อาจให้ชื่อว่า "ธรรมะของคนห่างวัด" ก็ได้
             เราจะเสวนากันเรื่อง ความสุข เน้นที่ความสุขของฆราวาส ที่เป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไป    เน้นความสุขในชีวิตประจำวัน    เป็นความสุขที่หาง่าย ถ้าทำเป็น ประพฤติปฏิบัติเป็น คิดเป็น และรู้วิธีผ่อนแรง หรือวิธีที่ไม่ต้องลงแรงอะไรเลย   และเป็นความสุขที่แบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันได้โดยง่าย  นี่อาจถือเป็นหลักสำคัญที่ผมกำลังเสนอก็ได้
ความสุขมีอยู่ทั่วไป  สามารถได้มา หรือบรรลุได้โดยไม่ต้องลงแรงมากนัก หากมีปฏิปทาที่ถูกต้อง  
           ไม่ทราบว่าวิธีคิดแบบนี้ถูกต้องหรือไม่    ขอเสนอเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนหรือเสวนาในวันนี้   โดยผมจะเสนอประสบการณ์ของตัวเองประกอบข้อสรุปนี้    โดยจะขอเสนอกรณีตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจความสุขของฆราวาส สัก ๓ ตัวอย่าง

_____________________
* กล่าวนำการเสวนา “สวนโมกข์เสวนา พุทธทาส ๑๐๐ ปี”  ณ สวนโมกขพลาราม   ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘


  ๑. โรงเรียนชาวนา  
            ที่สุพรรณบุรี มีองค์กรพัฒนาเอกชนชื่อมูลนิธิข้าวขวัญ  จัดกิจกรรมชื่อ โรงเรียนชาวนา ชักชวนชาวนาจำนวนหนึ่งมาเข้าโรงเรียนแบบใหม่    ย้ำว่าเป็นโรงเรียนแบบใหม่นะครับ    คือตัวชาวนาที่มาเข้าโรงเรียนเป็นทั้งนักเรียนและเป็นครูในเวลาเดียวกัน   การเรียนก็เรียนกันตามศาลาวัด หรือที่บ้านชาวนานั่นเอง    ที่จริงพูดอย่างนี้อาจจะผิด เพราะจริงๆ แล้วโรงเรียนคือแปลงนาของนักเรียนชาวนานั่นเอง    นักเรียนโรงเรียนชาวนาเรียนจากแปลงนาของตนเอง  เรียนจากการปฏิบัติในแปลงนาของตนเองเป็นกิจกรรมหลัก   และเรียนจากการเอาสิ่งที่แต่ละคนเรียนรู้จากแปลงนามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันกับเพื่อนนักเรียนชาวนาด้วยกัน   เล่าอย่างนี้นึกภาพไม่ค่อยออก    ถ้ามีห้องประชุมและมีเครื่องฉายภาพผมมีรูปการเรียนของโรงเรียนชาวนาให้ดูจะเข้าใจง่ายขึ้น    และจะดีที่สุดถ้าไปเยี่ยมชมของจริงเลย    ผมเคยพาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนไปดู   และให้ชาวนาบรรยายให้ฟังว่าเขาเรียนรู้จากการทำนาอย่างไร    สร้างความรู้หรือสิ่งของที่ใช้ในการทำนาแบบลดต้นทุน และลดการใช้สารพิษอย่างไร   จะตื่นตาตื่นใจมาก    และจะยิ่งประทับใจเมื่อได้ฟังว่ากิจกรรมการรวมตัวกันเป็นกลุ่มและเรียนรู้ร่วมกันผ่านการทำมาหากิน เกิดผลเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของเขาอย่างไร เกิดความสุขในการดำรงชีวิตอย่างไร  
           มูลนิธิข้าวขวัญมีผู้อำนวยการหรือประธานมูลนิธิชื่อคุณเดชา ศิริภัทร อายุประมาณ ๕๐ ปี เรียนจบเกษตรจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น  และที่สำคัญเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์พุทธทาส เคยมาบวชและศึกษาธรรมะที่สวนโมกข์เมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว   คุณเดชาเล่าว่าการมาบวชครั้งนั้นได้เปลี่ยนโลกทัศน์ของตนไปโดยสิ้นเชิง    มูลนิธิข้าวขวัญมุ่งส่งเสริมให้ชาวนาพึ่งตนเอง มีความมั่นใจในภูมิปัญญาของตนเอง รู้จักเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นออกมาใช้และผสมผสานกับความรู้สมัยใหม่ กลายเป็นความรู้ที่ชาวนาร่วมกันสร้างขึ้นเอง สำหรับทำนาแบบเกษตรยั่งยืน หรือเกษตรไร้สารพิษ  ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า และปุ๋ยเคมี    เขาเรียกการทำนาแบบที่ทำกันโดยทั่วไปในขณะนี้ว่าการเกษตรเคมี  และเรียกวิธีที่เขากำลังเรียนกันอยู่ว่าการเกษตรอินทรีย์  หรือเกษตรไร้สาร(พิษ)  หรือเกษตรยั่งยืน
           โรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญมี ๓ ระดับ คือ
  ๑. ระดับประถม  เรียนวิธีทำนาโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง    คือเรียนวิธีจัดการแมลงโดยวิธีธรรมชาติ ให้แมลงควบคุมกันเอง
  ๒. ระดับมัธยม   เรียนวิธีทำนาโดยไม่ใช่ปุ๋ยเคมี     คือเรียนวิธีบำรุงดินโดยวิธีธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยธรรมชาติ
  ๓. ระดับอุดม   เรียนวิธีปรับปรุงพันธุ์ พัฒนาพันธุ์ข้าว ให้เหมาะต่อการทำนาแบบไร้สารพิษ

 


           เป้าหมายของชาวนาที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรี คือต้องการลดต้นทุนในการทำนา  และต้องการปลดหนี้    เวลานี้ชาวนาเรียนมาถึงระดับมัธยม     เมื่อตอนเรียนจบชั้นประถม คือจบ ๖ เดือนแรกชาวนาพบว่าต้นทุนในการทำนาลดลงไปเหลือไม่ถึงครึ่งของวิธีเดิม  ทำให้หนี้ลดลง     และที่สำคัญ เกิดผลพลอยได้อีก ๓ ประการ คือ
1.        ความเจ็บป่วยลดลงอย่างมาก    ลดลงเหลือไม่ถึงหนึ่งในสี่ของความเจ็บป่วยที่มีตอนทำนาแบบเดิม
2.        มีเวลาว่างมากขึ้น    ทำให้มีเวลาทำกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมประเพณีร่วมกันในหมู่บ้านหรือในชุมชน  ทำให้คนรักกันมากขึ้น     เพื่อนบ้านที่เดิมแทบจะไม่มีเวลาคุยกัน เพราะต่างก็ยุ่งอยู่กับการทำนา (ปีละ ๓ ครั้ง) มีเวลาคุยกันและทำกิจกรรมร่วมกัน แม้จะยังทำนาปีละ ๓ ครั้งอย่างเดิม
3.        มีความสุขมากขึ้น    นี่คือหัวใจที่ผมนำเรื่องนี้มาเล่า


           คงต้องลองวิเคราะห์ตีความว่าทำไมกิจกรรมโรงเรียนชาวนาจึงทำให้ชาวนามีความสุข    ผมมองว่าความสุขของชาวนาเหล่านี้เกิดจากปัจจัย ๔ ประการประกอบกับ
1.        ความสุขที่เกิดจากความภูมิใจ ที่ตนสามารถคิดเอง ทำเอง ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หาวิธีทำนาแบบลดต้นทุนลดการใช้สารพิษได้    ภูมิใจที่ตนคิดวิธีเรียนรู้จากการทำงานหรือการปฏิบัติในแปลงนาของตนเองได้    อาจเรียกความสุขแบบนี้ว่า ความสุขจากการเรียนรู้ ที่เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง    สร้างความรู้ด้วยตนเอง    มีอิสระที่จะทดลองสร้างความรู้ด้วยตนเอง    มีความมั่นใจตนเองที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ  อาจเรียกว่า ความสุขทางปัญญา ก็น่าจะได้    แต่เป็นปัญญาทางโลก
2.        ความสุขที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม  ซึ่งกิจกรรมในที่นี้คือกิจกรรมการเรียนรู้ในการทำนาแบบยั่งยืน และกิจกรรมเสริมอื่นๆ ที่ชาวนาช่วยกันคิดขึ้น  นี่คือ ความสุขทางสังคม เกิดจากการรวมตัวกันทำสิ่งที่เห็นคุณค่าร่วมกัน
3.        ความสุขที่เกิดจากไม่เจ็บป่วย หรือเจ็บป่วยน้อยลงอย่างมาก   เกิดจากไม่ต้องสัมผัสสารพิษทางการเกษตรอย่างที่เคยทำมาตามแนวทางเกษตรเคมี   อาจเรียกว่าเป็น ความสุขอันเกิดจากการปลอดโรค หรือความสุขทางกาย
4.        ความสุขที่เกิดจากความภูมิใจในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น   คือผลิตข้าวปลอดสารพิษให้แก่ผู้บริโภค   ถือเป็นการประกอบอาชีพโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น    อาจเรียกว่า ความสุขจากการมีชีวิตอันไม่มีโทษแก่ผู้อื่น    คุณอรุณ จันทีมา ชาวนาตำบลวัดดาว  อำเภอบางปลาม้า  จ. สุพรรณบุรี กล่าวแก่คณะที่ไปเยือนเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ด้วยความภาคภูมิใจว่า “ชาวนาคือผู้เลี้ยงโลก”    การมีจิตใจอันละเอียดอ่อนในด้านการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น    หลีกเลี่ยงการดำรงชีพอยู่บนความยากลำบากของผู้อื่นหรือเบียดเบียนผู้อื่น    ถือเป็นการปฏิบัติธรรมที่สูงส่ง    และจะส่งผลให้เกิดความสุขทางจิตใจ หรือทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน


           การได้รับความสุขในลักษณะของนักเรียนโรงเรียนชาวนาเป็นความสุขที่มีอยู่ทั่วไป  ไม่ต้องซื้อหา  ไม่ยากที่จะได้รับ  หากมีวิธีคิด หรือ ทิฐิ ที่ถูกต้อง     ซึ่งในกรณีนี้คือเป้าหมายในชีวิต     คนโดยทั่วไปถูกสังคมชักจูงแกมบังคับให้ต้องการร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองและวัตถุ     หากไม่มีก็อายเขา    ชาวนาโดยทั่วไปถูกกระแสวัตถุนิยม เงินนิยม ชักจูงให้มุ่งทำนาเพื่อหวังรวย     เมื่อมีนักวิชาการ  เจ้าหน้าที่ของทางราชการ  และพ่อค้าสารเคมีมาแนะนำวิธีทำนาให้ร่ำรวยก็เชื่อเขา  และตกเป็นหนี้ในที่สุด    นี่คือความทุกข์ที่เกิดจากมิจฉาทิฐิหลายๆ มิจฉาทิฐิประกอบกัน    มูลนิธิข้าวขวัญเข้ามาชักชวนให้ชาวนาละมิจฉาทิฐิ     มุ่งสู่สัมมาทิฐิคือไม่หวังรวย  แต่หวังความพอดี พอเพียง    ไม่มุ่งทำนาปริมาณหวังผลผลิตสูงเป็นหลัก    แต่มุ่งคุณภาพมุ่งลดต้นทุนเป็นหลัก     หักลบกันแล้วกำไรสูงกว่าแม้ผลผลิตจะเท่าเดิมหรือลดลงเล็กน้อย     แต่จากการทำวิจัยโดยชาวนาเอง เริ่มพบว่าวิธีการที่ชาวนาปรับปรุงขึ้นเรื่อยๆ ให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีการแบบเกษตรเคมี


           เพียงแค่ออกจากครอบแห่งอวิชชา คือโลภ หวังรวย หวังรวยเร็ว     และหลงใช้ชุดความรู้ที่ผิด ไม่เหมาะสมต่อบริบทหรือสภาพของตน     ปลดปล่อยตนสู่อิสรภาพ  โดยเฉพาะความมีอิสระที่จะใช้ความคิดของตนเอง    ร่วมกันคิด หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตรง หรือการปฏิบัติ    คือใช้ ปัญญาปฏิบัติ ฟันฝ่าเอาชนะอุปสรรค ผ่านการเรียนรู่ร่วมกันในการปฏิบัติ  ก็จักบรรลุความอยู่เย็นเป็นสุขได้


           เรื่องโรงเรียนชาวนานำไปสู่ประเด็นความสุข หรือความทุกข์ จากสาเหตุเชิงระบบ หรือเชิงโครงสร้างสังคม เชิงอารยธรรมของมนุษย์    ซึ่งก็คือเรื่อง สัมมาทิฐิ นั่นเอง     เรื่องนี้โยงไปสู่กระแสโลกาภิวัตน์   กระแสทุนนิยมบริโภคนิยมวัตถุนิยมสุดโต่ง   กระแสจักรวรรดินิยมหรือจ้าวโลก    ซึ่งครอบงำมนุษยชาติอย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และกัดกร่อนทำลายศีลธรรม คุณธรรมในภาพใหญ่ลงไปเรื่อยๆ


           ที่จริงความครอบงำโดยกิเลสตัณหาคงจะไม่ใช่เพิ่งมามีเอาในสมัยนี้     คงจะมีคู่มากับการอุบัติขึ้นของมนุษยชาติ     การที่จะมีความสุขได้ก็จะต้องไม่เอาตัวเข้าไปอยู่ใต้การครอบงำนั้น    หรือต้องอยู่กับโลกอย่างมีสติ ไม่ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาอย่างหยาบเหล่านั้น 


           ผมเริ่มต้นโดยบอกว่าเราจะเดินเรื่องเสวนากันเรื่องความสุข     และจะเน้นเรื่องการเอาตัวอย่างความสุขมาขยายพืชพันธุ์     แต่วนไปพูดเรื่องความทุกข์เสียแล้ว     จึงขอวกกลับมาเล่าเรื่องความสุขต่อ 
               
    ๒. ครูบาสุทธินันท์กับลาบเป็ด
           ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานแห่งอำเภอสตึก  จังหวัดบุรีรัมย์เล่าให้ผมฟังเมื่อ ๒ – ๓ ปีที่แล้ว เรื่องการค้นหาความหมายของคำว่าความสุข ในหมู่ชาวบ้านภาคอีสาน    นี่คือโครงการที่ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)  ให้ทุนครูบาสุทธินันท์ ไปดำเนินการ     ครูบาสุทธินันท์เปิดฉากโครงการด้วยการนัดประชุมชาวบ้านในเครือข่ายกลุ่มใหญ่หลายสิบคน  และตั้งคำถามว่าความสุขคืออะไร    มีคนตอบไปต่างๆ นานา     มีคนหนึ่งให้คำตอบที่สะกิดใจครูบาฯ มากที่สุด ว่า “ความสุขคือลาบเป็ดแม่นแล้ว”     ครูบาฯ จึงจัดมหกรรมลาบเป็ดขึ้น โดยให้เงินชาวบ้านแต่ละกลุ่มไปกลุ่มละพันบาท    ให้ไปซื้อเป็ดมาทำลาบเป็ดกินประชันกัน (พร้อมเครื่องเคียง คือเหล้า) ที่สนามหน้าบ้านครูบาฯ    และบันทึกวิดีโอกิจกรรม  พฤติกรรม  และคำสัมภาษณ์ผู้มาร่วมงาน ส่งเป็นผลงานไปยัง สสส.     ได้รับคำตอบว่าดูไม่รู้เรื่อง     และสรุปว่าครูบาฯ ไม่เข้าใจโจทย์ของโครงการ      ครูบาจึงเอามาให้ผมดูเมื่อผมเดินทางไปเยี่ยมท่านและนอนค้างคืนที่บ้านท่าน    และผมก็ดูไม่รู้เรื่อง    แต่ก็ยังสงสัยว่าที่ไม่รู้เรื่องอาจเป็นเพราะผมเพลียจากการเดินทางหรือเพราะง่วงเนื่องจากดูตอนเลยเวลานอนของผมแล้ว     จึงขอแผ่นวิดีโอกลับไปดูที่กรุงเทพซ้ำอีก    ผลคือผมดูไม่รู้เรื่องเหมือนเดิม
          เวลาผ่านมา ๒ – ๓ ปีแล้ว ผมเริ่มตั้งสติได้ ว่าเรื่องแบบนี้ต้องตีความ   และใครจะตีความว่าอย่างไรก็ไม่มีถูก-ผิด    เพราะเรากำลังหานามธรรมจากรูปธรรม     ผมตีความว่าชาวบ้านได้แสดงว่า ความสุข ของเขาคือความสนุกสนานครึกครื้น    เขาไม่คิดอะไรมาก    ไม่ได้สนใจเรื่องชีวิตในระยะยาว     ไม่ทราบว่าผมตีความถูกหรือไม่ 


           คำถามสำหรับการเสวนาก็คือการมองความสุขในชีวิตแบบนี้เป็นลักษณะของคนไทยโดยทั่วๆ ไปใช่หรือไม่  หรือว่าเป็นลักษณะเฉพาะคนอีสาน  หรือว่าจริงๆ แล้วคนไทยมีมุมมองต่อความสุขหลายแบบหลายมิติ ลุ่มลึกกว่าลาบเป็ดมากมาย 


  ๓. โรงพยาบาลบ้านตาก
            โรง พยาบาลบ้านตากเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ ขนาด ๖๐ เตียงในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข     มีฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอธรรมดาๆ     แต่โรงพยาบาลบ้านตากไม่ธรรมดา     มีผลงานเป็นที่เลื่องลือในคุณภาพของบริการ     ต้องไปเห็นด้วยตาตนเองจึงจะรู้ว่าโรงพยาบาลนี้คุณภาพดีอย่างไร     เมื่อเดินเข้าไปในโรงพยาลบ้านตาก ท่านจะรู้สึกคล้ายเข้าไปในโรงพยาบาลเอกชน     คือสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย  คนไม่แน่น  เจ้าหน้าที่ยิ้มแย้ม    เข้าไปในห้องน้ำจะสะอาดเหมือนของโรงแรมชั้น ๑  แม้อุปกรณ์จะไม้ใช่ของราคาสูง   
           ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกคนมีดวงตาที่ฉายแววแห่งความสุขความภูมิใจในโรงพยาบาลของตน    เราเห็นความสุขอันเกิดจากสถานที่ทำงานที่มีคุณภาพ  มีการเรียนรู้ร่วมกันของเจ้าหน้าที่ผ่านการปฏิบัติงานและปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง


           นี่คือตัวอย่างของความสุขอันเกิดจากสถานที่ทำงานเป็นสถานที่เรียนรู้    มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติงาน    เกิดการพัฒนางานต่อเนื่อง    เกิดความภูมิใจร่วมกันต่อผลงาน    เกิดความเคารพซึ่งกันและกันว่าแต่ละคนมีความรู้ในงานของตน และมีทักษะในการเรียนรู้ในงานของตนเรื่อยไปไม่สิ้นสุด 

 

 


            ทั้ง ๓ ตัวอย่างมีความเหมือนกันที่เป็นการมองความสุขเชิงกลุ่ม  ไม่ใช่มองที่ตัวบุคคลคนเดียว     และเหมือนกันตรงที่เรามองความสุขผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่มารวมกลุ่มกัน 
           แต่ความต่างก็คือตัวอย่างที่ ๑ และ ๓ เป็นกระบวนการต่อเนื่องระยะยาว     แต่ตัวอย่างที่ ๒ เป็นกิจกรรมสั้นๆ เพียงวันเดียว  เมื่อจบแล้วก็เลิกกันไป    ตัวอย่างที่ ๑ และ ๓ เป็นกิจกรรมของการทำงานหาเลี้ยงชีพ ไม่ทำไม่ได้  และถ้าทำแล้วเกิดความสุข ก็จะก่อผลต่อเนื่องยาวนาน    ในขณะที่ตัวอย่างที่ ๒ เป็นกิจกรรมชั่วครั้ง ความสุขที่เกิดก็มีผลชั่วคราว อาจก่อความประทับใจคนบางคนไปนาน แต่ก็แค่ประทับใจ ไม่ใช่ความสุขแท้


           คำถามสำหรับการเสวนาก็คือ เราจะช่วยกันทำให้เกิดชีวิตการทำงานหรือประกอบอาชีพ ที่ก่อความสุขแบบ “อยู่เย็นเป็นสุข” ตามที่เห็นในตัวอย่างที่ ๑ และ ๓ ให้เต็มพื้นที่ประเทศไทยได้อย่างไร    ควรหรือไม่ที่จะใช้ความพยายาม ลงทุนลงแรงสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขแก่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยโดยวิธีนี้    วิธีที่ใช้สร้างความสุขผ่านการเรียนรู้ในที่ทำงาน   ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายตามหน้าที่     เหมาะสมหรือไม่สำหรับสังคมไทย     เพียงพอหรือไม่    ถ้าไม่เพียงพอควรเสริมด้วยวิธีการใด


           ท่านพุทธทาสสอนให้พวกเราลดละกิเลส  ลดความรู้สึกเป็น ตัวกู ของกู    การลดละทำได้โดยการให้ หรือแบ่งปัน    ตัวอย่างที่ ๑ และ ๓  มีหัวใจอยู่ที่การแบ่งปัน    แต่ไม่ใช่แบ่งปันวัตถุสิ่งของ   หากเป็นการแบ่งปันความรู้     การแบ่งปันวัตถุสิ่งของมีลักษณะที่เมื่อให้แล้วจะมีเหลือน้อยลงหรือหมดไป     แต่การแบ่งปันความรู้หรือปัญญาเมื่อให้แล้วกลับมีมากขึ้น ทั้งฝ่ายผู้ให้และฝ่ายผู้รับ     แต่คนเรามักยึดติดกับความรู้สึกว่าเมื่อให้ไปแล้วจะทำให้ตนเองขาดทุนเพราะฝ่ายผู้รับจะเก่งขึ้นมาทาบตนเอง     การฝึกและปฏิบัติแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อบรรลุผลงานร่วมกันในกลุ่มผู้ร่วมงานจะพิสูจน์ให้ประจักษ์เอง ว่ายิ่งแบ่งปัน ยิ่งมีความรู้มากขึ้น ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ     น่าจะเป็นลู่ทางในการปฏิบัติธรรมข้อจาคะ และข้อเมตตา กรุณา และมุทิตา     และในทางกลับกัน การมีธรรมะข้อดังกล่าว จะช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทรงพลัง   


           ธรรมะข้อ ลดละ ตัวกู ของกู นั้นเป็นพื้นฐานของการบริหารงานแนวราบ แบบที่เน้นการ เอื้ออำนาจ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า empowerment     คือส่งเสริมให้ลูกน้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หาวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม     คนระดับหัวหน้าที่จะประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ได้จะต้องมีความรู้สึกเชิง ตัวกู ของกู เบาบาง     และเมื่อประพฤติปฏิบัติเช่นนี้แล้วได้ผลดี ก็จะเป็นการเรียนรู้ที่ส่งผลให้ ตัวกู ของกู ยิ่งเบาบางลงไปอีก    ผมจึงมีความเห็นว่าการทำงานแบบเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ  เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง


            โดยสรุป ผมได้เสนอข้อแลกเปลี่ยนว่า ความสุขไม่ใช่ของหายาก  แต่มีอยู่ทั่วไป  สามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก  ถ้าเราไม่เอาเส้นผมมาบังภูเขา     หรือไม่เดินเข้าไปอยู่ในม่านบังตาเสียเอง     ความสุขในที่นี้ผมหมายถึงความสุขในระดับปุถุชน    ไม่ใช่ระดับอริยชน   เป็นความสุขที่ได้มาเองผ่านการทำงานเพื่อการดำรงชีพตามปกติ    และเรามีลู่ทางบรรลุความสุขเป็นทีมหรือเป็นกลุ่มได้     หรืออาจกล่าวว่าการปฏิบัติเป็นกลุ่มช่วยเสริมพลังในการปฏิบัติธรรมผ่านการทำงาน ผ่านความพากเพียรยกระดับคุณภาพหรือผลสัมฤทธิ์ของงาน    ซึ่งก็ไม่ทราบว่าความคิดเช่นนี้จะมีข้อบกพร่องตรงที่ใดบ้าง     ขอกราบเรียนอาราธนาและกราบเรียนเชิญท่านผู้รู้ช่วยชี้แนะครับ

___________________

           เมื่อท่านอ่านบทความแล้ว สิ่งที่ผมอยากให้ช่วยเหลือคือ   ในกระบวนการตามกรณีตัวอย่างนั้น มีการประยุกต์ใช้ธรรมะข้อใดบ้าง   ใช้อย่างไร
           เท่ากับผมมองว่า ชีวิตที่เป็นสุขอย่างพอเพียง บางเบาจากกิเลส นั้น   จะต้องมีการใช้ธรรมะเล็กๆ นับร้อยข้อ   เป็นการใช้โดยไม่รู้ตัว   เหมือนเราใช้ ความรู้ฝังลึก    ผมมองว่าในชีวิตประจำวันของผู้มีความสุขอย่างพอเพียง   ที่
สามารถ "อยู่ในปากงูโดยไม่ถูกพิษงู" นั้น    จะต้องมีการใช้และสร้าง "ธรรมะฝังลึก"  ขึ้นใช้ จำนวนมากมาย
            ผมรู้สึกว่าชีวิตของผมเป็นอย่างนี้    ไม่ทราบว่าเป็นความรู้สึกแบบภาพหลอนหรือไม่
            ย้ำคำถามอีกทีครับ   ในกรณีศึกษาทั้ง ๓ มีการใช้ "ธรรมะฝังลึก" ข้อใดบ้าง   ใช้อย่างไร
วิจารณ์ พานิช
๑๗ กค. ๔๘

หมายเลขบันทึก: 1308เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2005 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ไม่กล้าตอบคำถามของอาจารย์ค่ะ เพราะอ่อนเรื่องธรรมะมากๆ

อ่านข้อเขียนของอาจารย์แล้ว เห็นคล้อยตามทุกเรื่อง และรู้สึกว่าน่าจะกระตุ้นให้คนฟังรู้ว่าคนเราสามารถหาความสุขอย่างยั่งยืนได้จากงานที่ทำ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นลึกๆ ในใจ เกิดจากการมีความรู้ การใช้ความรู้ และการแบ่งปันความรู้

เมื่อการทำงานก่อให้เกิดความรู้และความสุข คนเราก็จะรักงานที่ทำ เห็นคุณค่า และอยากพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

งาน ความรู้ ความสุข กลายเป็นวงจรต่อเนื่อง

ท่านพุทธทาส เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้นำเอาพุทธธรรม
กลับมาเป็นที่สนใจของคนสมัยใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง  ผมเองสมัยเด็กๆ
ก็ได้อ่านหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาส เป็นเล่มแรกๆ ที่ยังติดใจ
และชอบแนะนำคนอื่น ก็มีเล่ม คู่มือมนุษย์ กับ อานาปานสติ เป็นต้น

หลักการสำคัญข้อหนึ่ง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลับมาสนใจ  คือท่านนำเสนอ
ว่าการปฏิบัติตามหลักพุทธธรรม ต้องไม่แปลกแยกออกไปจากชีวิต
ต้องให้ "การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม" ไปในตัวหรือที่มักพูดกันง่ายๆ ว่า
"ทำงานด้วยจิตว่าง" เป็นต้น   เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก
ว่าหลักการทำงาน และดำเนินชีวิต ที่สอดคล้องไปกับความก้าวหน้าใน
การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องทำอย่างไร  จะมีหลักอะไร

ผมเชื่อว่าแนวคิดเรื่อง การจัดการความรู้ ของ สคส. เป็นคำตอบหนึ่งของ
คำถามนี้   วิธีคิดแบบตะวันตกแบบดั้งเดิม เน้นเรื่องวัตถุ เน้นการแข่งขัน
ในขณะที่วิธีคิดเรื่องการจัดการความรู้ เน้นความรู้ เน้นปัญญา เน้นการแบ่งปัน
เช่น การ benchmark เอง  สคส. ก็เน้นการ benchmark เพื่อช่วยเหลือกัน
ไม่ได้ benchmark เพื่อแข่งขันเอาชนะกัน  หลักคิดเรื่อง KM แบบนี้เป็นหัวใจ
ที่สำคัญที่สุด ที่เป็นคำตอบเชิงพุทธ ต่อยุคเศรษฐกิจฐานความรู้

อาจารย์ขอให้ผมลองแยกแยะดูว่า กรณีตัวอย่างที่ยกมา จะจัดเข้าเป็น
หลักธรรมะข้อใดบ้าง  ผมจะขอลองเทียบดูตามที่ผมเข้าใจนะครับ

- การยกเรื่อง ความสุข เป็นตัวตั้ง
คำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าท่านสอนพระ ท่านมักจะเอาทุกข์เป็นตัวตั้ง
แล้วค่อยอธิบายเหตุของทุกข์ ความพ้นทุกข์ และการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์
ไปตามลำดับอริยสัจ 4  แต่ถ้าท่านสอนฆราวาส ท่านมักจะสอนอีกแบบ
คือสอนตามอนุปุพพิกถา คือ ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และข้อดี
ของการออกจากกาม  เป็นการสอนแบบเอาความสุขเป็นตัวนำก่อน  
พอคนทำดี คือให้ทาน ช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน  รักษาศีล คือไม่เบียดเบียน
กันแล้ว ก็ย่อมทำให้แต่ละคนเป็นสุข (ในความดีของตน) และสังคมก็
เป็นสุข (ความดีงามในสังคมส่วนรวม)  สิ่งนี้ก็นำไปสู่สวรรค์ ในปัจจุบัน
และในอนาคต  พอคนเห็นสุขในขั้นต้นแล้ว  ท่านจึงสอนต่อถึงความ
พ้นทุกข์ในขั้นปลาย ซึ่งเป็นปลายทางของพุทธศาสนาต่อไป

- การรวมกลุ่มของชาวนา เพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติร่วมกัน
  และใช้ปัญญา เพื่อให้พึ่งตนเองได้
ข้อนี้ทำให้นึกถึงธรรมหมวดหนึ่ง คือ นาถกรณธรรม 10
นาถกรณธรรม ธรรมทำที่พึ่ง, ธรรมสร้างที่พึ่ง, คุณธรรมที่ทำให้
พึ่งตนได้ มี ๑๐ อย่างคือ
๑. ศีล มีความประพฤติดี ๒. พาหุสัจจะ ได้เล่าเรียนสดับฟังมาก
๓. กัลยาณมิตตตา มีมิตรดีงาม ๔.โสวจัสสตา เป็นคนว่าง่าย ฟังเหตุผล
๕. กิงกรณีเยสุ ทักขตา เอาใจใส่กิจธุระของเพื่อนร่วมหมู่คณะ
๖. ธัมมกามตา เป็นผู้ใคร่ธรรม ๗. วิริยะ ขยันหมั่นเพียร
๘. สันตุฏฐี มีความสันโดษ ๙. สติ มีสติ
๑๐. ปัญญา มีปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
(ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์)
จะเห็นว่า ความรู้ในหลายๆ ระดับ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างที่พึ่ง
ให้กับตนเองได้  เช่น การเล่าเรียน, การมีเพื่อนแนะนำ, การรับฟัง
การใฝ่เรียนรู้, และการเข้าใจตามความเป็นจริง

- ความสุข ในวิถีชีวิตของชาวนา ที่พึ่งตนเองได้ และลดการเบียดเบียน
เรื่องนี้ทำให้นึกถึงธรรมะ เรื่องความสุขของชาวบ้าน 4 ประการคือ
๑. อัตถิสุข (สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ
ว่าตนโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงความขยันหมั่นเพียรของตน
และโดยชอบธรรม)
๒. โภคสุข (สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ
ว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้น เลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยง
และบำเพ็ญประโยชน์)
๓. อนณสุข (สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ
ว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร)
๔. อนวัชชสุข (สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ
เอิบอิ่มใจ ว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครๆ
ติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ)
........... บรรดาสุข ๔ อย่างนี้ อนวัชชสุข มีค่ามากที่สุด
(ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลธรรม)
น่าสังเกตว่า ค่านิยมยุคใหม่ เน้นการสะสม และใช้จ่าย มากกว่าเน้น
เรื่องการไม่มีหนี้ และการไม่มีโทษ   จึงเกิดการเบียดเบียน ฉ้อโกงกันมาก
กว่าคนจะเข้าใจความจริง ว่าสุขของการไม่มีโทษนั้น มีค่ามากกว่าข้ออื่น
ก็มักจะเมื่อสายเกินไปเสียแล้ว

- การโลภ หวังรวยเร็ว กลับทำให้จน ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์
ทำให้นึกถึงธรรมะเรื่องการตั้งต้นชอบ มาในชุด จักร 4 คือ
จักร ล้อ, ล้อรถ, ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุจล้อนำรถ
ไปสู่ที่หมาย มี ๔ อย่าง คือ
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นที่เหมาะ
๒. สัปปุริสูปัสสยะ สมาคมกับคนดี
๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
๔. ปุพเพกตปุญญตา ได้ทำความดีไว้ก่อน (ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์)
ธรรมะหมวดนี้ เป็นธรรมะสั้นๆ ง่ายๆ แต่ความหมายลึกซึ้ง
สองข้อแรกเป็นปัจจัยภายนอก  คืออยู่ในที่ดีๆ และได้คบคนดี
สองข้อหลังเป็นปัจจัยภายใน  คือตั้งเป้าหมายไว้ถูก และมีทุนเดิมดี
นำไปวิเคราะห์กรณีความสำเร็จได้ทุกเรื่อง  รับรองว่าลงในจักร 4 ได้หมด

- ความสุขในเชิงกลุ่ม ความสุขทางสังคม
ข้อนี้จะตรงกับหลักเรื่อง "สังฆะ" คือการรวมกลุ่มเป็นชุมชน
ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มีหลักปฏิบัติร่วมกัน  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
พระพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัย เป็นแก่น เป็นอุดมการณ์ร่วมกัน
พระธรรม คือหลักคำสอน หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เปรียบได้
กับ practice ใน CoP  ส่วนพระวินัยก็คือกฎเกณฑ์เพื่อความเป็น
ระเบียบเรียบร้อย  เป็นหลักปฏิบัติร่วมกันเพื่อความสงบสุขของสังฆะ

เรื่องสุดท้าย อาจารย์ได้อธิบายไว้ชัดอยู่แล้ว คือการฝึกละตัวกู ของกู
ูผ่านการทำงานในลักษณะต่างๆ  ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขณะทำงาน
จะเป็นเครื่องชี้วัดอย่างดี ให้เห็นว่า ใจยังยึดผลประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่
(กามุปาทาน) ความคิดความเห็นของตนเท่านั้นถูก (ทิฏฐุปาทาน)
รูปแบบวิธีปฏิบัติ ระเบียบต่างๆ (สัลัพพตุปาทาน)  และการแบ่งก๊กหมู่
พวกเขาพวกเรา (อัตวาทุปาทาน) มากน้อยเพียงไร
การปฏิบัติตามหลักการทำงาน หลักบริหารที่ดี  ก็มีส่วนละตัวกูของกู
เหล่านี้อยู่โดยปริยาย  ซึ่งเมื่อประกอบกับการฝึกเจริญสติเพื่อเห็นสิ่งต่างๆ
ตามความเป็นจริง จนปล่อยวางได้ด้วยปัญญา  ก็เชื่อว่าจะทำให้สามารถ
ทำงานทางโลกได้เกื้อกูลกับทางธรรม อย่างเป็นเนื้อเดียวกันได้ครับ

โดยสรุปแล้ว  ผมเชื่อว่า แนวคิดแนวปฏิบัติที่ สคส. ใช้ในกระบวนการ
จัดการความรู้ทั้งหมด  มีความสอดคล้องกับหลักพุทธธรรม  สามารถใช้
เป็นเครื่องมือพัฒนาคน พัฒนาองค์กร และพัฒนาสังคมได้อย่างเกื้อกูลกัน
โดยอิงหลักธรรมสำคัญคือ
- ใช้ความรู้ และปัญญา  ละอวิชชา
- ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (ทาน และ จาคะ)
- ความพอดี พอเพียง (สันโดษ) และพึ่งตนเอง (นาถะ)
- ความสุขจากการไม่มีหนี้ และไม่มีโทษ(อนวัชชะ)
- การมีสัมมาทิฏฐิ ตั้งตนไว้ชอบ มุ่งละทุกข์ สร้างสุขมากกว่าเงิน
- หลักของ ชุมชนแนวปฏิบัติ (สังฆะ)
          สำหรับข้อเขียนของผม ขออยู่ตรงกลางระหว่างระหว่าง อ. วัลลา (ที่ออกตัวว่าอ่อนเรื่องธรรมะ) กับ อ. กรกฎ (ที่สามารถให้ข้อคิดเกี่ยวกับธรรมะได้อย่างลึกซึ้ง ... จนผมถึงกับ “อึ้ง” ไปชั่วขณะ) ผมอยากจะเริ่มตรงที่ว่าโดยส่วนตัวแล้วมีความสนใจในบทธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาส ตรงที่ท่านสอนให้เราปฏิบัติธรรมได้ในสถานะของฆราวาส ทำให้เรื่องการปฏิบัติธรรมกลมกลืนและไหลลื่นไปกับการทำงานและการดำรงชีวิต ดังที่ท่านย้ำอยู่เสมอว่า “การทำงาน (อย่างมีสติ) คือ การปฏิบัติธรรม” วันก่อนผมได้มีโอกาสพาครอบครัวไปทานข้าวกับครอบครัวของคุณบัญชา เฉลิมชัยกิจ แห่งสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ท่านได้พูดถึงคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสที่ท่านใช้สอนลูกของท่านอยู่เสมอ ...และเรื่องนั้นก็คือ เรื่องการทำตัวให้เป็น “เหมือนลิ้นงูที่อยู่ในปากงู” ที่อาจารย์หยิบยกมาเป็นประเด็น ผมว่าเป็นคำสอนที่สำคัญและเหมาะกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยพิษ (เขี้ยว) งูอย่างยิ่งครับ
                สำหรับเรื่องกรณีศึกษาทั้ง 3 กรณี ที่อาจารย์กล่าวถึง เมื่อมองผ่านเลนส์ KM แล้ว ผมก็เห็นว่าส่วนที่เหมือนกันก็คือการหยิบเอา “ภาพที่พึงปรารถนา” เป็นตัวตั้ง เช่น
-  กรณีโรงเรียนชาวนาก็คือ ภาพของการทำนาที่ชาวนามีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี
-  กรณีครูบาสุทธินันท์ก็เห็นภาพของความสุข สนุกสนานรื่นเริงของชาวบ้าน
-  กรณีรพ. บ้านตาก เห็นภาพรพ.คุณภาพที่เจ้าหน้าที่ต่างก็มีหน้าตายิ้มแย้มมีความสุข
เรียกได้ว่าทั้ง 3 กรณี มีการหยิบเอาสภาวะที่พึงปรารถนามาเป็นตัวตั้งทั้งสิ้น ซึ่งในอริยสัจสี่สิ่งนี้ก็คงจะตรงกับสภาวะที่เรียกว่า “นิโรธ” และการจะถึงซึ่งนิโรธก็จำเป็นต้องอาศัยเส้นทางเดินหรือ “มรรค ซึ่งก็เปรียบได้กับกระบวนการ KM นั่นเอง ในเรื่องนี้มีคนถามอยู่เสมอว่า ถ้ากระบวนการ KM เริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นบวก สิ่งที่ทำได้ดี สิ่งที่เป็นความภูมิใจ แล้วทำไมในอริยสัจสี่ จึงเริ่มจาก “ทุกข์” เริ่มจากปัญหา ผม “คิด” ว่าในอริยสัจสี่นี้มีกระบวนการ KM อยู่ 2 คู่ ครับ คู่แรก คือ นิโรธ กับ มรรค ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนคู่ที่สอง คือ ทุกข์ กับ สมุทัย (สาเหตุแห่งทุกข์) ตามความคิดของผม “ผมคิดว่า” เรื่องที่ไม่สลับซับซ้อน เราสามารถเรียนรู้ได้จากปัญหา เป็นการเรียนรู้ที่ตรงไปตรงมา รู้ว่าปัญหาคืออะไร เกิดจากอะไร และก็ตรงเข้าไปแก้ปัญหาที่สาเหตุได้เลย ถ้าถือว่าเป็นการทำ KM ก็เป็น KM ที่เน้นการศึกษาที่เรียนรู้จากปํญหา เป็นการสรุปบทเรียนหรือ “Lesson  Learned” เอาไว้ใช้ต่อไปในอนาคต
แต่ในกรณีที่ปัญหามีประเด็นที่สลับซับซ้อน เช่น ประเด็นเรื่องชีวิต เรื่องชุมชน มีหลายองค์ประกอบทับซ้อนกันอยู่หลายมิติ สลับซับซ้อน (Complex) ไม่ตรงไปตรงมา (Straight forward) ผมคิดว่าคงไม่มีทางอื่น นอกจากต้องเริ่มต้นด้วยนิโรธ (ภาพที่พึ่งปรารถนา - KV) และเดินต่อไปด้วยมรรค (KS และ KA) ครับ ... จะผิดถูกประการใด ต้องกราบขออภัยไว้ด้วยครับ ... เพราะเป็นการ “ตีความ” โดยนำอริยสัจสี่มาใช้อธิบายในบริบทของ KM ครับ
ขอคารวะทั้งคุณกรกชและอาจารย์ ดร.ประพนธ์ ที่เพิ่มเติมให้รู้เรื่องธรรมะมากขึ้นค่ะ ดิฉันก็อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสเช่นกัน แล้วรีบสรุปตามคำที่ท่านว่า"การทำงานคือการปฏิบัติธรรม" ดิฉันตีความเอาว่าทำงานที่ตนรับผิดชอบให้ดี ก็ถือว่าได้ปฏิบัติธรรมแล้ว รู้ไม่ลึกจริงๆ ค่ะ
ขอแสดงความคิดเห็น ความหมายของความสุข  กรณี

  ครูบาสุทธินันท์กับลาบเป็ด

ปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานแห่งอำเภอสตึก  จังหวัดบุรีรัมย์  ที่ให้ความหมาย  ความสุข ด้วยการให้เครือข่ายแสดงความคิดเห็น และสรุปว่า...

 " ความสุขของพวกเขาคือลาบเป็ด " จึงจัดมหกรรมลาบเป็ดประชันกัน  บันทึกวิดีโอการจัดกิจกรรม  พฤติกรรม  และคำสัมภาษณ์ผู้มาร่วมงานส่งไปให้คนอื่นรับรู้ว่า ความสุข ของพวกเขาคืออะไร 

      ลาบเป็ดและการจัดมหกรรมลาบเป็ดประชันกัน 

      น่าจะมีความหมายของความสุขมันคงมากกว่านั้น 

       ความหมายที่แสดงออกมาภายใต้กิจกรรมเหล่านั้นดิฉันคิดว่ามันมากมายกว่านั้นมาก  เพราะสิ่งที่ปรากฏน่าจะแฝงด้วยการบ่งบอกถึงบริบท  วัฒนธรรม  วิถีชีวิตที่มีการสืบทอดอารยธรรมหลากหลายเป็นเวลานาน ของชาวบ้านชาวอีสานเขาเหล่านั้น

         ...คงไม่มีใครไปบอกเขาเหล่านั้นว่า ความสุขของพวกเขาเป็นอย่างไรได้ถูกต้องเท่าที่เขาเป็น...

         การตีความในแง่หลักธรรม(ประสา คนข้างๆวัด)  คงจะเป็น  สุ  จิ  ปุ  ลิ   ที่สอดคล้องกับหลักการจัดการความรู้ที่เกิดจากความรู้ที่ฝังลึกจนกลายเป็นองค์ความรู้  เปลี่ยนผ่าน หมุนเกลียวไปสู่ การจัดการความรู้ที่จะขยายวงออกไปอีก 

        ไม่ทราบว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่สอดคล้องประเด็นหรือไม่  แต่ก็อดไม่ได้ที่จะขอมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะแฟน(พันธุ์แท้)ของ สสส.ที่ต้องเข้ามาอ่านและศึกษาเรียนรู้ทุกครั้งที่มีโอกาส

คุณวิไล ตระกูลสิน แห่ง Ashoka ได้ส่ง อี-เมล์ แนบข้อความจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๒๓ กค. ๔๘ มาให้  ดังต่อไปนี้

อิสรภาพกับความสุขของมนุษย์ เป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่แท้จริง

ผ.ศ.วรรณา ประยุกต์วงศ์ / คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผู้เขียนได้เคยนำเรื่องราวเกี่ยวกับ "ความสุข" ซึ่งลงในนิตยสารไทม์ (ฉบับวันที่ 28
ก.พ.2548) ไปบอกเล่าให้ผู้ร่วมเป็นวิทยากรในระหว่างการเดินทางไปอบรมในที่แห่งหนึ่งว่า
มีนักวิจัยด้านจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสุข
และพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับระดับของรายได้หรือการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ





ผู้ร่วมสนทนาได้กล่าวสวนขึ้นในทันทีว่า
"ถ้าเช่นนั้นผู้เขียนคงไม่สนใจค่าตอบแทนที่จะได้รับจากการอบรม"
ซึ่งผู้เขียนก็มิได้แสดงความเห็นใด นอกจากกล่าวว่าแล้วแต่ผู้จัดการอบรม
เชื่อเหลือเกินว่า หากบทสนทนานี้เกิดขึ้นซ้ำอีก
ผู้ร่วมสนทนาคงจบการสนทนาในรูปแบบเดิมและตอกย้ำว่า เงินมีความสำคัญ

เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง
อิสรภาพและความสุข (Capabilities and Happiness) ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เมื่อเดือน
มิ.ย.ที่ผ่านมา ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในบทความดังกล่าว และแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์
ตลอดจนความสำคัญของเงินมากขึ้น

การประชุมของกลุ่มนักวิชาการที่สนใจเรื่องความสุขโดยจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 นับจาก
2 ปีที่แล้วได้จัดในหัวข้อ ข้อขัดแย้งของความสุข (Paradox of Happiness)
มาปีนี้ผู้จัดได้นำประเด็นแนวคิดเรื่องอิสรภาพของมนุษย์ (Capability Approach)
เพิ่มเติมขึ้นมา อันเป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย "อมาตยา เซ็น"
ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์สวัสดิการในปี
2541

จากผลงานอันโดดเด่นเรื่องนี้ ซึ่งเขาศึกษามาตั้งแต่ปี 2513 โดยได้ให้ความหมายของ
"อิสรภาพมนุษย์" คือ "ความสามารถที่มีอิสรภาพของมนุษย์ที่จะเข้าถึงทางเลือกต่างๆ
ที่เขามีอยู่ได้อย่างแท้จริงเพื่อทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณค่า"
โดยเขามองว่าอิสรภาพดังกล่าว ประกอบด้วย

1.อิสรภาพทางการเมือง
อันเป็นโอกาสของมนุษย์ในการพิจารณาเลือกผู้ปกครองหลักการในการปกครอง
รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ การเข้าถึงข่าวสารข้อมูล
และการตรวจสอบการคัดเลือกและการทำงานของผู้ปกครอง

2.สิ่งอำนวยความสะดวกด้านเศรษฐกิจ
อันเป็นโอกาสของมนุษย์ในการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจเพื่อการบริโภค การผลิต
และการแลกเปลี่ยน

3.โอกาสทางสังคม ทั้งในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ

4.หลักประกันด้านความโปร่งใส อันเป็นหลักประกันสำคัญเพื่อป้องกันปัญหาการคอร์รัปชัน
ความไม่รับผิดชอบทางการเงิน ตลอดจนการละเมิดกฎเกณฑ์สังคมของภาครัฐและธุรกิจ

5.การป้องกันด้านความปลอดภัย
อันเป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมช่วยป้องกันมนุษย์จากความเสี่ยงภัย
ตลอดจนความอดยากและทุพภิกขภัย

ในปัจจุบันทางสหประชาชาติด้านมนุษย์ก็ยอมรับแนวคิดนี้
และนำไปใช้ในการสร้างดัชนีตัวชี้วัดสุขภาวะ (Well-Being) และคุณภาพชีวิต

เรื่องของความสุขนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่พยายามสร้างตัวชี้วัดที่มาประเมิน
โดยในส่วนของนักจิตวิทยาซึ่งต้องช่วยดูแลคนไข้ที่ไม่มีความสุข
(หรือคนไข้โรคจิตจำนวนมากและมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี) เห็นว่า
ควรประเมินค่าความสุขจากความพอใจในชีวิตของมนุษย์แต่ละคน (Life Satisfaction)
ในมิติเศรษฐกิจและสังคม

แม้ว่าความพอใจในชีวิตเป็นเรื่องแต่ละบุคคล
แต่ปัจจัยที่ส่งผลต่อความพอใจกับเป็นมิติทางสังคม ได้แก่ คนรัก ครอบครัว เพื่อน
ตลอดจนองค์การที่ทำงานหรือชุมชนที่รักใคร่ปรองดองกัน
และยังเห็นว่าสังคมปัจจุบันซึ่งเป็นสังคมที่เน้นวัตถุเป็นตัวบั่นทอนต่อความพอใจในชีวิต

การศึกษาวิจัยจำนวนมากพบว่า ระดับของรายได้ที่สูงไม่มีผลต่อความพอใจในชีวิตที่เพิ่มขึ้น
เพราะแท้จริง การที่คนเรามีรายได้สูงก็คือการทำงานมากขึ้น
ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมหรือมิติทางสังคมลดลง

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ก็พยายามประเมินความสุขผ่านสุขภาวะ
แต่ก็ยังอยู่ในรูปของสุขภาวะเชิงรูปธรรม (Objective Well-Being) เช่น รายได้ประชาชาติ
สาธารณูปโภคต่างๆ

ขณะที่นักจิตวิทยาเห็นว่า ควรพิจารณาสุขภาวะเชิงนามธรรม หรือสุขภาวะทางจิต (Subjective
or Psychology Well-being) ด้วย และเห็นว่าพฤติกรรมของมนุษย์มิได้เกิดจากแรงจูงใจภายนอก
(Extrinsic Motivation) เช่น แรงจูงใจทางการเงิน เท่านั้น แต่ยังมีแรงจูงใจภายใน
(Intrinsic Motivation) เช่น ความสนุกสนาน ความรู้ ความรัก หรือความเคารพตนเอง
โดยเห็นว่ามนุษย์มีแรงจูงใจภายในมาตั้งแต่ครั้งเป็นเด็ก และลดน้อยลงเมื่อเติบใหญ่
แรงจูงใจทางการเงินกลับทำให้แรงจูงใจภายในลดลงไปด้วย เช่น
ความพยายามส่งเสริมให้คนบริจาคโลหิตมากๆ ด้วยการเสนอแรงจูงใจทางการเงิน
ด้วยการให้รางวัลหรือการให้เงินทอง
กลับบั่นทอนให้แรงจูงใจอันเนื่องจากต้องการทำความดีหรืออยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ลดลง
และเขายังเห็นว่า การส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจภายในให้มาก
จะมีส่วนช่วยทำให้มนุษย์บรรลุสุขภาวะทางจิตเพิ่มมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ได้ยอมรับว่า อิสรภาพของมนุษย์และความสุขเป็นสิ่งเกื้อกูลต่อกัน
แม้ว่าในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไม่มีการพูดถึงหรือการวัดความสุขโดยตรง
(ทั้งที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริง)
กลับไปประเมินเพียงรายได้ซึ่งเป็นเพียงหนทางสู่เป้าหมายเท่านั้น

สิ่งที่ใกล้เคียงกับความสุขในทางเศรษฐศาสตร์คือ อรรถประโยชน์ (Utility)
หรือความพึงพอใจของแต่ละบุคคล แม้ว่ามีอรรถประโยชน์ระหว่างบุคคล
ภายใต้แนวคิดของระดับเหมาะสมแบบพาเรโต้ ก็อยู่ภายใต้ข้อสมมติว่า
คนบางคนอาจมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นโดยไม่ทำให้ความพึงพอใจของคนที่เหลือลดลง
ซึ่งเป็นไปได้ยากยิ่ง
หากมนุษย์แต่ละคนตัดสินใจโดยคำนึงถึงเฉพาะผลประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง
ในขณะที่ความสุขของมนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับมิติทางสังคมนั้น
กลับเป็นสิ่งที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่ให้ความสำคัญ

ไม่ว่าความพยายามในการวัดความสุขจะมาในรูปแบบใดก็ตาม นักวิชาการกลับมองเห็นว่า
ความสัมพันธ์ทางสังคมหรือมิติทางสังคม (Social Dimension) เป็นแหล่งที่มาของความสุข
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมนุษย์ยอมรับมิติทางสังคมเข้าเป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินชีวิตจะยิ่งช่วยทำให้เขาเกิดแรงจูงใจภายในมากยิ่งขึ้น


บทสรุปในเรื่องการวัดความสุขและนโยบายอาจยังไม่ชัดเจน แต่การศึกษายังดำเนินต่อไป
โดยเฉพาะความพยายามในการหาดัชนีชี้วัดความสุขระดับชาติเพื่อช่วยสะท้อนผลการพัฒนาของประเทศต่างๆ
ว่าได้เข้าสู่เป้าหมายที่แท้จริงแล้วหรือยัง

ที่ประชุมเห็นว่า
การสร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนในลักษณะนี้ช่วยก่อกระแสการสร้างความรู้อย่างไม่หยุดนิ่งและนัดมาพบปะแลกเปลี่ยนความก้าวหน้ากันในอีก
2 ปีข้างหน้า
แม้ว่าระดับการพัฒนาของประเทศไทยยังมีช่องว่างระหว่างภาคเมืองและภาคชนบทอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาทั้งหลาย
จึงทำให้บทบาททางเศรษฐกิจเข้าไปมีผลต่อการสร้างความสุขจากปัจจัยพื้นฐาน (Basic Needs)

แต่มิได้หมายความว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่สอดคล้องกับสังคมไทย
โดยเฉพาะการได้เข้าใจถึงเป้าหมายที่แท้จริงของรายได้หรือเงิน
ว่าเป็นเพียงหนทางช่วยให้เกิดความสุขทางหนึ่ง แต่อย่าได้มุ่งเน้นจนละเลยมิติทางสังคม
เหมือนเช่นประเทศทางตะวันตกที่เน้นการพัฒนาทางวัตถุของแต่ละบุคคล
จนต้องกลับมาถามหามิติทางสังคมที่เกือบสูญหายไปแล้ว
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะพัฒนาคนไทยสู่อิสรภาพและความสุขอันเป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่แท้จริง

เป็นมุมมองเกี่ยวกับความสุขที่ลึกซึ้ง   ขอขอบคุณคุณวิไล มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

วิจารณ์ พานิช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท