สหเวชสร้างเสริมสุขภาพ


สุขภาพเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการดำเนินชีวิต โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพ

    ช่วงนี้ในมหาวิทยาลัยนเรศวร บรรยากาศคึกคักในการเตรียมงานรับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งจะมีขึ้น ในวันที่ 23 มกราคม 49 ผมต้องรีบมาทำงานเช้ากว่าปกติ เพราะถ้ามาช้าก็จะหาที่จอดรถไม่ได้ การที่จะต้องปรับตัวเองในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลรักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรง เมื่อตอนเช้าเห็นอ.สมลักษณ์ (Beeman) ยังเขียนห่วงใยสุขภาพของอาจารย์วิบูลย์ เพราะอาจารย์เขียนข้อคิดเห็นใน Blog ของอาจารย์สมลักษณ์ตอนเวลาประมาณตีหนึ่ง ผมเคยเขียน Blog ตอนไปประชุมที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ตอน 5 ทุ่ม ปรากฎว่าตอนเช้ามาดูที่ Blog ก็ได้รับข้อคิดเห็นจากอาจารย์เรียบร้อยแล้ว อาจารย์เข้ามาแสดงความยินดีกับความสำเร็จในสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงานของคณะสหเวชศาสตร์ แม้แต่คณบดีของคณะสหเวชศาสตร์ ก็เช่นกัน ไม่รู้ท่านนอนเวลาไหน  คุณสริตา เล่าให้ฟังว่าเคยส่ง Mail ไปให้กับอาจารย์ตอนประมาณ 5 ทุ่ม หรือเที่ยงคืน ปรากฎว่าพอส่งไปได้ไม่นาน ได้รับการตอบจากท่านคณบดี การเขียน Blog ของท่านช่วงหลัง ๆ  ท่านใช้เวลาเขียนตอนเช้า น่าเห็นใจผู้บริหารเพราะงานของแต่ละท่านทำงานหนักจริง ๆ เมื่อวานผมเห็นท่านคณบดีใส่ชุดวอร์มไปออกกำลังกายที่ศูนย์ห้องปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพ ของคณะฯ เป็นภาพที่ผมแปลกใจอยู่เหมือนกัน เพราะตั้งแต่ท่านรับตำแหน่งมายังไม่เคยเห็นท่านใส่ชุดวอร์มไปออกกำลังกาย ท่านทักทายผมว่า บอยยังไม่เห็นโครงการสหเวชสร้างเสริมสุขภาพเลย

     โครงการสหเวชสร้างเสริมสุขภาพ ปีนี้ที่ผมได้เสนอโครงการเนื่องมาจากทางคณะสหเวชศาสตร์ ได้สมัครเข้าร่วมโครงการสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน และมีเกณฑ์เรื่อง มีชีวิตชีวา ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการออกกำลังกาย การตรวจสุขภาพประจำปีให้กับบุคลากรของหน่วยงาน ความจริงก่อนที่จะทำโครงการสหเวชสร้างเสริมสุขภาพ ผมได้ทำโครงการออฟฟิศแจ่มใส ซึ่งส่งเสริมให้บุคลากรในสำนักงานเลขานุการ ออกกำลังทุกวันพุธของสัปดาห์หลังเลิกงาน หลายคนรู้สึกดีที่ได้มีการผ่อนคลายหลังเลิกงาน เนื่องจากผมเห็นว่าเป็นนโยบายของทางจังหวัดและมหาวิทยาลัยก็ส่งเสริมให้บุคลากรได้มีการออกกำลังกาย วันพุธบุคลากรในสำนักงานเลขานุการก็จะใส่ชุดวอร์มมา ทางอาจารย์ในคณะฯ ก็อยากมีส่วนร่วมด้วย แต่ติดเรื่องเวลาเพราะอาจารย์มีภาระงานสอนค่อนข้างเยอะ จึงไม่ค่อยมีเวลา ที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะเห็นควรให้บุคลากรทั้งเจ้าหน้าที่ได้มีการออกกำลังกาย รวมถึงสนับสนุนให้บุคลากรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย โครงการนี้จึงได้รับการบรรจุในแผนปฏิบัติการประจำปี แต่ลำพังบุคลากรตัวเล็ก ๆ อย่างผมคงไม่อาจทำได้ เพราะจะมีการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย คณะสหเวชศาสตร์มี 4 สาขาวิชา คือ เทคนิคการแพทย์ เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก รังสีเทคนิค และกายภาพบำบัด เมื่อตอนประชุมคณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ ผมได้ขอนำเรื่อง โครงการสหเวชสร้างเสริมสุขภาพ เข้าในที่ประชุมด้วย จึงได้มีมติว่า จะมีการตรวจสุขภาพประจำปีให้กับบุคลากรทั้งคณะ โดยทั้ง 4 ภาควิชายินดีจะให้บริการตรวจให้กับทุกคนในคณะ เป็นอันว่าบุคลากรทุกคนในคณะได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ความจริงก็เป็นเงินในโครงการ คือเงินคณะ) แต่ถือเป็นสวัสดิการให้บุคลากรในคณะ

      การดำเนินงานโครงการสหเวชสร้างเสริมสุขภาพ ผมได้หารือกับผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสหเวชศาสตร์ชุมชน (ดร.สุรพล ตั้งวรสิทธิชัย) ให้ท่านช่วยเป็นประธานดำเนินงานให้ และให้หัวหน้าภาควิชาทั้ง 4 ภาควิชาร่วมเป็นกรรมการดำเนินงาน ส่วนผมเป็นเลขานุการ และดึงเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการเป็นผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อให้งานห้องปฏิบัติการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในโครงการของสำนักงานเลขานุการด้วย เวลาทำโครงการของสำนักงานเลขานุการ งานห้องปฏิบัติการมักไม่ได้มีส่วนร่วม ปีนี้จึงให้เข้ามามีส่วนร่วม ผมยกร่างกิจกรรมออกกำลังกายดังนี้

  • ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ ออกกำลังกายทุกวันจันทร์
  • ภาควิชาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ออกกำลังกายทุกวันอังคาร
  • สำนักงานเลขานุการ ออกกำลังกายทุกวันพุธ
  • ภาควิชารังสีเทคนิค ออกกำลังกายทุกวันพฤหัสบดี
  • ภาควิชากายภาพบำบัด ออกกำลังกายทุกวันศุกร์

     เป็นการยกร่างดูแต่ไม่รู้จะได้รับความเห็นชอบจากภาควิชาหรือเปล่า ตอนนี้ให้อาจารย์สุรพล ช่วยตรวจโครงการให้ การออกกำลังกายก็จะเริ่มเวลาประมาณ 15.30 น. เรียกว่าเมื่อถึงเวลาก็วางปากกา ปิดเครื่องคอมฯ และเปลี่ยนชุดกันไปออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ทางคณะพยาบาลฯ (คุณสุรีย์) ที่ทำงานอยู่ติดกันมาชวนผมไปร่วมกิจกรรมออกกำลังกายแบบแอโรบิคอยู่เหมือนกันที่คณะพยาบาลฯ เพราะได้รับการสนับสนุนโครงการจากงปม.ของ สสส.  ผมได้ลองทำตัวชี้วัดโครงการนี้ดูว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการและหลังเข้าร่วมโครงการสมรรถภาพทางร่างกายของผู้เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไรบ้าง

     สุขภาพเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการดำเนินชีวิต โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพกาย ความจริงได้เกริ่นเรื่องสุขภาพจิตใจกับคณบดี เรื่องห้องปฏิบัติธรรมไว้เหมือนกัน แต่วันนี้ผมว่าทุกคนในคณะทำงานหนัก ควรให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพกันด้วยครับ โดยเฉพาะการปฏิบัติตัวตามนาฬิกาชีวิตของหมอวัลลภ เป็นประโยชน์มาก เมื่อตอนปีใหม่รองคณบดีฝ่ายวิชาการ (ผศ.ปนดา เตชทรัพย์อมร) แจกหนังสือเรื่อง นาฬิกาชีวิต ได้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างดี หัวหน้าภาควิชากายภาพบำบัด (อาจารย์กนกพร อุณเอกลาภ) แจกหนังสือเช่นกันโดยให้สุ่มจับ มีหลายเรื่อง ผมได้เรื่อง อุบายระงับความโกรธ ให้ประโยชน์เป็นอย่างดีเช่นกัน

       เมื่อตอนช่วงเทศกาลเข้าพรรษาได้ชักชวนบุคลากรในสำนักงานเลขานุการ ที่เป็นสุภาพบุรุษงดเหล้าเข้าพรรษา  รู้สึกว่ามีความสุขดีที่เห็นสุภาพบุรุษในสำนักงานเลขานุการที่ให้ความร่วมมือกับผมเป็นอย่างดี โดยไปตั้งสัจจะอธิษฐานที่ลานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยังคิดเล่น ๆ อยู่ว่า อยากชักชวนคนในมน. ตั้งชมรมคนเหล้าเข้าพรรษา (ความจริงคงมีหลายคนที่ไม่ดื่ม หรือดื่มเฉพาะช่วงเทศกาล) โดยเริ่มจากในคณะสหเวชศาสตร์ก่อน และชวนหน่วยงานอื่น ๆ เข้าร่วมอุดมการณ์

      ก่อนจบ Blog นี้ขอให้ทุกท่านดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยครับ

บอย

ชุมชนสำนักงานเลขานุการ

 

 

หมายเลขบันทึก: 12895เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2006 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

     เป็นโครงการที่เยี่ยมครับ สำนักงานหลาย ๆ แห่ง รวมถึงชุมชนหลาย ๆ ที่ ได้พยายามจุดประกาย แต่ตอนสุดท้ายครับมักจะค่อย ๆ หายไปทีละคน สองคน แล้วก็เงียบไป ความต่อเนื่องนี่สิครับที่ดูจะเป็นประเด็น

     ผมได้เคยฟังปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่ง คือลุงลัภย์ หนูประดิษฐ์ ท่านบอกว่า ต้องโอนอ่อนตามกลุ่ม เน้นความบันเทิงด้วย แล้วจะได้ความร่วมมือจากสมาชิกในการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายของชุมชนที่ลุงลัภย์ฯ ดำเนินการอยู่ ที่สงขลา

คุณบอยครับ

 

เล่าสู่กันฟังในส่วนของคณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในส่วนการเสริมสร้างสุขภาพ

1. คณะเภสัชศาสตร์ มช. มีการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี  โดยได้เชิญคณะเทคนิคการแพทย์ มาให้บริการที่คณะ  โดยจะมีการเจาะเลือด ตรวจหาค่าต่าง ๆ มีการตรวจปัสสาวะ อุจจาระ และ X-ray ปอด  ซึ่งรายการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถเบิกได้ในรายการใด  และส่วนที่ไม่สามารถเบิกได้ก็จะจ่ายเอง (สำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำ) สำหรับพนักงาน หรือลูกจ้างชั่วคราว เราจะได้ส่วนลดจากคณะเทคนิค เช่น ถ้ากี่คนจะได้ฟรี 1 คน เป็นต้น  และปีที่ผ่านมาลูกจ้างชั่วคราวเราก็ได้ตรวจฟรีกันทุกคน  ปีก่อน ๆ ที่ไม่ฟรี เราก็ได้ส่วนลดประมาณ 40 เปอร์เซนต์ครับ  และในปีนี้เราได้มีการเปิดตัวรวมพลคนรักสุขภาพเป็นปีที่ 2 ซึ่งงบประมาณบางส่วนได้รับการสนับสนุนจาก สสส. คณะจะทำหนังสือเชิญ เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา มาบริการวัดมรรถนะทางการ เช่น ตรวจความจุปอด ปั่นจักรยาน วัด ฯลฯ  แล้วจะมีสมุดบันทึกสุขภาพ  ซึ่งทางคณะจัดทำขึ้น และมีการบันทึกการออกกำลังกายประจำวันด้วย  ซึ่งรายละเอียดในสมุดจะมีรายละเอียดการตรวจเลือด และรายละเอียดการวัดสมรรถนะททางกาย  แล้วเราจะมีการทำซ้ำเมื่อครบ 6เดือนครับ  สำหรับสมุดบันทึกการออกกำลังจะสืบเนื่องมาจาก สสส.อยากให้บุคลากรได้มีการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับนโยบายมหาวิทยาลัยให้คณะหน่วยงานกำหนดวันใดวันหนึ่งในสัปดาห์เป็นวันออกกำลังกาย คณะ ได้กำหนดวันพุธเป็นวันออกกำลังกาย โดยทุกคนสามารถใส่ชุดกีฬามาทำงานได้  และเวลา 15.30 น.เป็นต้นไป ก็จะมีการออกกำลังกายแล้วแต่ความสนใจ เช่นแอโรบิค เปตอง ปิงปอง เดิน วิ่ง แล้วแต่ความสนใจ ซึ่งก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์ ถ้าสามารถปลีกเวลาได้ ก็มาร่วมกิจกรรมกัน  หรือใครที่ไม่สามารถออกกำลังกายในวันพุธ เค้าก็สามารถออกในวันอื่น ๆ ได้ แล้วก็มีการบันทึกลงในสมุด  แล้วทางฝ่ายผู้รับผิดชอบ ของ สสส. ก็จะกำหนดกิจกรรมขึ้นเพื่อให้ใครที่จะประกวดการออกกำลังกายสม่ำเสมอก็เอาสมุดส่งเพื่อประกวดได้ (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

2.  สมพร ได้มีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการของ สสส.ด้วย และในปีนี้ได้มีส่วนร่วมอีกอย่างหนึ่งคือ เราได้สร้างเครือข่ายบุคลากรสายสนับสนุนเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ (12 สถาบัน) เพื่อร่วมกันสร้างเสริมสุขภาพในด้านต่าง ๆ โดยได้มีการประชุมแกนนำและตอนนี้อยู่ระหว่างการเสนอของบประมาณสำหรับดำเนินการในปี 49 ครับ ไม่แน่ใจว่าจะได้งบเท่าไร  ถึงได้ไม่เท่าไรเราก็จะพยายามเสริมสร้างสุขภาพกันครับ ค่อย ๆ ทำกันไป  ยิ่งเดี๋ยวนี้คนยิ่งรักสุขภาพกันมากขึ้น เราอาจต้องหาโครงการดี ๆ เพื่อชักชวนให้ทุกคนร่วมกันครับ

3.  ในส่วนของธรรมะก็น่าสนใจ ตอนนี้เลขานุการคณะ (คุณติ๊ก) ก็อยู่ระหว่างจัดทำโครงการ 2 ลักษณะ คือ จัดทำห้องสมุดธรรมะ โดยมีคอนเซบประมาณว่า "ธรรมะเพื่อพ่อ" คือฉลองครบรอบครองราชย์ฯ 60ปี เราอาจจะหามุมใดมุมหนึ่งในคณะเพื่อเป็นมุมสำหรับธรรมะ อาจจะมีหนังสือเพื่อแลกเปลี่ยนกันอ่าน เป็นต้น  ซึ่งส่วนนี้เราก็ไม่ได้คาดหวังจะให้ทุกคนสนใจ แต่คิดว่าก็ต้องมีบางคนสนใจ เป็นต้น  และอีกโครงการหนึ่ง (กำลังเสนอใน สสส. เหมือนกัน) คือธรรมะในสวน ก็ประมาณว่าในทุก 2 เดือนจะจัดให้มีการทำบุญตักบาตรที่คณะ และฟังพระธรรมเทศนา คาดว่าอาจจะใช้เวลาประมาณ 7.00-08.45 น.ก่อนการทำงาน  ก็เรียบร้อย (จัดในสวน คนเยอะน้อยไม่ซีเรียสขอให้ได้เริ่มครับ)  อย่างนี้เค้าเรียกเจ้าแม่ล้านโปรเจคครับ) เหนื่อยครับแต่สนุก....

ในส่วนของคณะ นั้น คณบดีก็พยายามปลีกเวลามาตีปิงปองในช่วงเย็น  เพื่อจะเป็นตัวอย่างให้ผู้ร่วมงานครับ (คณะ สนับสนุนโต๊ะปิงปอง 3 ชุด ให้ทั้งนักศึกษาและบุคลากรเล่นครับ  ตั้งอยู่หน้าโถงธุรการเลย  ก็จะมีคนเล่นทุกวันครับ.......แต่หน้าเดิม..... ก็ยังดี)

 

น่าสนใจไหมครับ  ถ้าอยากได้สมุดบันทึกสุขภาพ ไว้มาเชียงใหม่จะเอาไปให้เป็นตัวอย่างครับ

 

สมพร

ได้ประโยชน์มากเลยครับ ผมทราบว่าคณะเภสัชศาสตร์ มน.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จาก สสส. ด้วยเช่นกัน การดำเนินงานที่คุณสมพร ได้เป็นคณะกรรมการ สสส. ด้วย ทำให้มีการดำเนินงานในเรื่องสุขภาพที่มีความชัดเจน และต่อเนื่อง ผมเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของคุณชายขอบ สำหรับปราชญ์ชาวบ้าน ลุงลัภย์ หนูประดิษฐ์ ในด้านความร่วมมือ

ท่านคณบดีของคณะเภสัชศาสตร์ มช. เป็นตัวอย่างที่ดีในการออกกำลังกาย ทำให้การดำเนินงานในการสร้างเสริมสุขภาพมีความเข้มแข็ง และมีเลขานุการคณะ (คุณติ๊ก) ที่ให้ความสนใจเรื่อง ธรรมะ มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพจิตใจของคนบุคลากรในหน่วยงานเป็นอย่างดี การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ ตอนแรกอาจจะยังไม่ได้ผล 100 % สิ่งสำคัญการทำอะไรก็ตามแต่ต้องอาศัยความต่อเนื่องจึงจะมีพลัง ได้ลปรร.กับคุณสมพรแล้วทำให้ผมอยากไปคณะเภสัชศาสตร์ มช.ครับ

เรียนท่านเลขานุการคณะ

 เป็นโครงการที่ดีมากครับ แต่เวลาน่าจะขยับครับ น่าจะหลัง ๑๖.๓๐ น. หากในเวลาราชการอาจติดต่องานไม่สะดวกครับท่าน และ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย ๓-๕ วันในหนึ่งอาทิตย์ครับ

ดีใจนะที่น้องรุ่นนี้เห็นความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเพราะเราเปนผู้นำ

พี่จบพยาบาล มหิดล ปี 2523 / แต่ออกมาดูแลสุขภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจ...พี่รณรงค์ให้พนักงานเห็นความสำคัญการตรวจสุขภาพตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน...........จากที่พนักงานตรวจสุขภาพกันปีละไม่ถึง30 % ปัจจุบันตรวจสุขภาพกัน 120 - 130 % ( เพราะบางคนตรวจปีละ 2 ครั้งเลยนับเบิ้ล )

ปัจจุบันตรวจตามการปฏิบัติงานแล้วค่ะ  เช่น ทำงานกับสารเคมีอันตรายก้อตรวจเพิ่ม

ข้อคิดเห็น

พี่ว่าจะกลับไปบอกอาจารย์ที่ มหิดลว่าปี 1 - 2 ทุกคณะควรมีหน่วยกิจการดูแลสุขภาพให้เข้มงวดไปเลย

จบออกมาจะได้ Excellent เลย บุคลากรทางการแพทย์ในอนาคตคง.สวย/หล่อ...แบบสุขภาพดี

เป็นโมเดลลิ่งได้ทุกคน

อาภิชญา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท