177 เฮฮาศาสตร์ 3 ไม่ต้องไปมองหาใหม่ ของที่มีอยู่จงทำให้ดีที่สุด


ไม่ต้องไปพิจารณาก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ๆหรอกครับในดงหลวง แค่ที่มีอยู่มุ่งการจัดการ กระตุ้นให้เกษตรกรมาใช้ประโยชน์ให้มาก

มักได้ยินกันบ่อยๆไปว่า ภาคอีสานนั้น หากมีน้ำความยากจนก็ไม่มีจนพรรคการเมืองและหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งสนับสนุนแนวคิดการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามากระจายทั่วภาคอีสาน โดยจะใช้งบประมาณนับแสนล้านบาท แผนงานนี้ก็เตรียมพร้อมสำหรับจังหวะทางการเมือง 

วงกลมแดงๆ และหมุดเหลืองนั่นคือที่ตั้งแหล่งน้ำ 15 แห่ง 

หากพิจารณาเผินๆก็เป็นแนวคิดที่น่าสนับสนุน ก็มันขาดน้ำจริงๆน่ะซี ไม่เชื่อลองทัวร์ทางอากาศดูซิ แดงเถือกไปหมดอีสานบ้านเฮา มีแต่ทุ่งนา ต้นไม้ไม่มี แต่ที่ดงหลวงพอจะมีป่ามีต้นไม้  แต่การสำรวจความต้องการของประชาชนก็ยังกล่าวถึงแหล่งน้ำ อยากได้แหล่งน้ำจะได้ปลูกพืชผัก ทำมาหากิน  และเป็นแนวทางหลักในการส่งเสริมความเป็นอยู่ให้แก่เกษตรกรภายหลังออกมาจากป่า   หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงทำแผนงานสร้าง พัฒนาแหล่งน้ำขึ้นมากมาย 

อ่างห้วยไผ่ที่เฮฮาศาสตร์ 3 จะมาพักที่นี่ เป็นอ่างขนาดใหญ่ ที่มีโครงการผันน้ำลงท่อไปเติมอ่างเก็บน้ำที่ อ.เขาวง

ลองขึ้นดาวเทียม Point Asia ดูว่าทั้งดงหลวงมีแหล่งน้ำขนาดกลางและใหญ่อยู่เท่าไหร่ ที่ไหนบ้าง พบว่ามีแหล่งน้ำขนาดกลางและใหญ่มากถึง 15 แห่ง ล้วนเป็นอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านทำการเกษตร เป็นแนวคิดพื้นฐานที่คิดเช่นนี้และทำเช่นนี้มานานแล้วครับ 

เป็นอ่างที่ตั้งใกล้กับบ้านแก่งนางที่มีการใช้ประโยชน์บ้าง 

แต่ในฐานะที่เดินทางในสนามมาทั่วดงหลวง แหล่งน้ำหลายแห่งก็รู้จักดี แต่บางแห่งก็รู้จักบ้าง แต่ก็ทราบดีว่า การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นนั้นมีจำนวนไม่มาก  บางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ด้วยซ้ำไป 

ผู้บันทึกเคยทำงานส่งเสริมการเกษตรในระดับไร่นาที่เขื่อนขนาดใหญ่มาแล้วจึงทราบดีว่า แหล่งน้ำที่มีอยู่ในดงหลวงนั้นสามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ไม่ได้ทำกัน?? 

ใช้อัตวิสัยวิเคราะห์ว่าน่าที่จะมีเหตุผลคือ มีแต่แหล่งน้ำแต่ไม่มีระบบจัดการน้ำเพื่อเข้าแปลงนา อันนี้ก็พบบ่อยๆ เพราะการก่อสร้างนั้นเป็นของหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทหน้าที่ในเรื่องก่อสร้าง แต่ไม่ถนัดในเรื่องการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ และมักพูดว่า สร้างให้แล้ว หน่วยงานอื่นก็มารับช่วงไปพัฒนาเอาต่อ อีกเหตุผลหนึ่งคือ เกษตรกรไม่ได้สนใจที่จะใช้ประโยนชน์จริงๆสมตามเจตนาของผู้กำหนดนโยบาย 

แหล่งน้ำทั้ง 15 แห่งของดงหลวงนั้น ผมประมาณแบบคร่าวๆคิดว่าเพียงร้อยละสิบเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์จริงๆ  ได้แต่เสียดาย เพราะงบประมาณที่ใช่ก่อสร้างนั้นจำนวนมากเมื่อรวมๆกัน และเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรที่ประชาชนจ่ายเต็มๆให้ประเทศชาติ

อ่างชะโนด ใกล้กับที่ว่าการอำเภอดงหลวง มีการเพาะปลูกพืชบ้างแต่ไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น 

ก็ยังเชื่อว่าราชการที่ทำหน้าที่สนับสนุนการเกษตรก็คงจัดทำแผนงานพัฒนาขึ้นมา แต่อาจจะพบอุปสรรคอื่นๆ  เช่น ไม่มีตลาด หรือตลาดน้อย  หรือตลาดอยู่ไกล จึงไม่มีแรงจูงใจเกษตรกรที่จะนำน้ำมาทำการผลิตเพื่อขาย 

ผู้บันทึกให้น้ำหนักไปที่ว่า การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของเรา ที่ประสบผลสำเร็จมีน้อยมากจริงๆ  เพราะเขาถนัดเรื่องการส่งเสริมการปลูก แต่ไม่ถนัดในเรื่องการค้าขาย สู้พ่อค้า นักธุรกิจตัวจริงไม่ได้ 

อ่างห้วยขี้หมู ที่ท่านนายกฯไปเยี่ยมเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา 

แต่เชื่อว่าเราทำได้ เพียงแต่เราไม่ได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการการตลาดเพื่อการผลิตอย่างจริงจังในภาคเกษตร  แต่ตรงข้ามภาคอุตสาหกรรมรัฐทนุถนอมเรื่องการส่งออกมากจริงๆ 

ผมคิดว่าแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วนี้ หากร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง หากมีการบูรณาการกันอย่างจริงจัง และพัฒนาระบบการบริหารจัดการใหม่โดยเอาประโยขชน์สูงสุดของชาวบ้านเป็นหลักแล้ว ผมยังมีความเชื่อว่า เราสามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ แม่อาจจะใช้เวลาบ้างก็ตาม 

เฮฮาศาสตร์ 3 ท่านมีโอกาสท่องแหล่งน้ำต่างๆด้วย

หมายเลขบันทึก: 125444เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2007 02:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะท่านพี่...บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

  • โอ้โฮ! ท่านพี่  โฆษณาประชาสัมพันธ์  งานเฮฮาศาสตร์แบบเยี่ยมยอดแบบนี้  สงสัยครูอ้อยต้องไปขออาจารย์สอบก่อนแน่เลยค่ะ  วันนี้  ครูอ้อยจะแย้บแย้บ  ไปอ้อนอาจารย์ก่อนนะคะ  หากสำเร็จ  ครูอ้อยจะยืนยันขอไปดงหลวง...อยากเห็น  อยากสัมผัสค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • มาติดตามเก็บเกี่ยวข้อมูลครับ
  • งานส่งเสริมของราชการเป็นแบบต่างคนต่างทำครับ  การบูรณาการโดยใช้พื้นที่หรือคนเป็นตัวตั้ง แล้วทำการพัฒนาในทุกเรื่องไปพร้อมๆ กันนั้นยังหากไม่ค่อยได้ในทางปฏิบัติ
  • บางทีคนทำงานก็มองเห็น แต่ไม่มีโอกาสหรือมีพลังเพียงพอที่จะไปปรับอะไรได้เลย
  • เพราะส่วนมากคนทำงานฯ จะยังไม่หลุดออกจากกรอบต่างๆ ที่กักขังไว้ เช่น การจะก้าวข้ามมิติของเวลา(ปีงบประมาณ) ก็ยากแล้วครับ การจะก้าวข้ามหน่วยงานฯลฯ ยิ่งยาก
  • พอจะเห็นทางสว่างในตอนนี้  ก็อย่างการใช้วิธีการอิงระบบของมหาชีวาลัยอีสาน และอาจมีอีกหลายๆ ที่ ที่ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกับหลายๆ หน่วย หลายศาสตร์ หลายมิติ  แต่ก็น่าจะยังมีน้อยมากนะครับ
  • พวกเราที่เห็นและทำกันอยู่ในหลายๆ พื้นที่ก็มีอยู่นะครับ แต่ก็น่าเสียดายที่ทุกคนสู้ และทำงานเหมือนหน่วยงานใต้ดิน ทั้งๆ ที่เราเดินมาถูกทางแล้ว  (ในระบบรับรองว่าไม่น่าจะไปถึงดวงดาวได้)
  • ดังนั้นผมจึงต้องออกมาเติมพลังและหาเครือข่ายจากชุมชน อย่างเฮฮาศาสตร์ ที่มีพลังของความแตกต่างหลากหลาย ที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงเพื่อให้ได้มีกำลังใจในการยืนหยัดทำงานเพื่อสังคม เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขอย่างแท้จริงต่อไป
  • ขออภัยครูอ้อยครับ ตั้งแต่เช้า เพิ่งจะเข้าบ้านครับ
  • ประชุมทั้งวัด ทำรายงานทั้งวันเลยครับ
  • ที่ปีชาสัมพันธ์เพราะว่าอยากให้ข้อมูลไปเรื่อยๆ เมื่อถึงวันนั้นก็ เที่ยวดูธรรมชาติอย่างเดียวครับ
  • เรายินดีต้อนรับครูอ้อยและเพื่อนๆเสมอครับ
  • สวัสดีครับน้องสิงห์
  • ขออภัยที่ตอบช้าครับ นอกจากวันนี้เข้าบ้านช้าแล้ว ระบบยังรวนๆยังไงไม่รู้
  • ญาติพี่น้องพี่เป็นข้าราชการกันมาก รวมทั้งภรรยาของพี่เองครับ ก็ทราบดีว่าระบบเป็นอย่างไร นี่เธอร่ำๆจะลาออกมาก็หลายครั้ง แต่ด้วยความรักสถาบัน รักพี่รักน้องๆ จึงอยู่จนทุกวันนี้
  • บางครั้งก็ซมซานกลับมาบ้านแบบหมดอาลัยตายอยาก  บางครั้งก็หึกเหิม เกินตัว
  • แต่ที่แน่ๆ พี่เห็นเธอทำงานหามรุ่งหามค่ำ และนั่งหลับบนเก้าอี้มาเป็นปี แล้ว  นั่งหลับบนเก้าอี้ทำงานที่บ้านจริงๆ ทำงานกันยันสว่างเลยก็บ่อย เพื่อทำให้ต่อเนื่อง ให้จบ ให้เสร็จ น่ะซี ทุ่มกันหมดหน้าตักเลยแหละ
  • ตลอดที่พี่ทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาก็เป็นงานของราชการนี่แหละจึงรับรู้ช่องโหว่มากมาย  แต่ก็ตั้งใจทำอยู่ เพื่อนฝูงที่เป็นใหญ่เป็นโตก็คุยกันว่า หากตรงเป็นไม้บรรทัด ก็อยู่ไม่ได้ หากปล่อยให้ล่องลอยไปตามกระแสมันก็ฝืนอุดมการณ์ จึงตั้งใจทำ และขณะเดียวกันก็รักษาเนื้อตัวไปด้วย ..อิ อิ..
  • บางครั้งพี่ยกหูโทรศัพท์คุยกับระดับสูงของหน่วยงานเรื่องปัญหาในพื้นที่ ท่านก็ช่วยจัดการให้เต็มที่ แต่บางครั้งท่านก็บอกว่า เออ รับรู้มาซะหูแฉะแล้ว  หากจะฟาดฟันกันละก็ ไม่มีวันหมด และก็ยุ่งกันไปทั้งชีวิตแหละ เอาว่าบางเรื่องก็ทำเป็นไม่เห็นไปซะ..เมื่อถึงเวลา จังหวะก็ค่อยจัดการทีเดียว...
  • คนดีดีที่พี่ทำงานด้วยมีมากครับ แต่ระบบนี่แหละที่เป็นพันธนาการไป จนคนดีขยับอะไรไม่ได้มาก 
  • พี่ยังคิดว่าหากท่านที่ทำงานพื้นที่ดงหลวงเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้งมากกว่านี้สักหน่อย งานจะก้าวหน้าไปมากมาย
  • เมื่อข้าราชการ คือฐานหลักของระบบบริหารประเทศ หากไม่ปรับตัวนะครับ เวียตนามเขาปกครองด้วยสังคมนิยมวิ่งแซงประชาธิปไตยแบบไทยไทยไปแล้ว  เขาเพิ่งฟื้นตัวจากสงครามด้วยซ้ำไป
  • อย่างแหล่งน้ำที่พี่เสนอในบันทึกนี้ มากมายจริงๆ แต่การใช้ประโยชน์น้อยมาก ทั้งๆที่เป็นพื้นที่โครงการพระราชดำริ ที่พระองค์ท่านพระราชทานแนวคิดมาให้  ในที่ประชุมก็หลายครั้งที่ราชเลขาตำหนิว่างานไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร นี่ก็สองสามปีไปแล้วก็ไม่เห็นเปลี่ยนแปลงอะไรดังที่ท่านเป็นห่วงเลย
  • พี่ยังดีใจที่พบและรู้จักน้องสิงห์ ข้าราชการที่เป็นน้ำดีของระบบ มาให้ชื่นใจ
  • แวะมาอ่านงานตกผลึกของรุ่นพี่เพื่อสะกัดเอาไปปรับใช้ในพื้นที่
  • ก็พบปัญหาเชิงระบบของราชการไทย แม้กระทั่งงบเด็กยังคอรับชั่น เห็นแล้วเซ็ง แต่ก็รู้ว่าโอกาสต้องมาถึงในสักวัน...ถ้าเราไม่ท้อไปซะก่อน
  • อ่านบันทึกของพี่แล้ว ทำให้คิดถึงเรื่องสามก๊ก คิดว่าต้องหาเวลาไปอ่านสามก๊ก (อีก) แล้วครับ
  • หรือบางทีเหนื่อยหน่ายกับตำราวิชาการ และความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือหน่วยงาน หันไปอ่านพิชัยสงครามอย่างซุนวู ก็เอามาปรับใช้กับการทำงานแบบ "ไทยๆ" ได้ดีครับ
  • ศรัทธาในอุดมการณ์ แต่ต้องเดินทางอย่างยืดหยุ่น ผมสรุปเอาอย่างนี้นะครับ
  • เอ้ย..หวัดดีน้องยอดดอย
  • ก็ทำงานมาจนป่านนี้แล้ว พบสัจจะมาก็มาก ปัญหามันก็เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาแหละ  ดันขึ้นไปได้สักพัก ครกมันก็กลิ้งลงมาอีก เราก็ดันขึ้นไปอีก มันก็กลิ้งลงมาอีก ตราบใดที่เราไม่สามารถควบคุมทุกปัจจัยได้ งานที่ทำก็แค่เสี้ยวสว่นของสิ่งที่เราคาดหวังของสังคม
  • แต่สมมติว่าเราควบคุมได้หมดแต่ก็มิใช่จะเนรมิตรสังคมความฝันได้ ดูเพื่อนบ้านทั้งหลายสิ
  • เหลือเพียงว่า เออ ทำงานเล็กๆที่งดงาม สร้างสรรค์ อันอาจจะเป็นพลังที่เติบใหญ่ได้
  • สักวันคงพบกันนะครับ น้องยอดดอย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท