BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : สรุป


ทฤษฎีและปัญหาจริยธรรม ๘

ประเด็นนี้ได้นำเสนอมาตามลำดับ เมื่อความคิดเห็นกำลังก้าวพ้นหัวข้อเดิม ผู้เขียนก็คิดว่าควรจะจบได้แล้ว เพื่อจะได้เขียนประเด็นอื่นต่อไป (ในวงเล็บคือ link ของเรื่องนั้นๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถกลับไปอ่านได้อีกครั้ง)....

ตามที่นำเสนอมาอาจสรุปได้ ดังนี้

คุณธรรม เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้แทนคำว่า virtue ... โดยตัวมันเอง คำว่า คุณธรรม แม้จะเป็นศัพท์มาจากคำบาลีสันสกฤต แต่ก็มิได้ใช้ตามความหมายว่า virtue ในภาษาอังกฤษ... ดังนั้น การค้นหาความหมายของคำนี้ก็ต้องไปสืบค้นจากความหมายตามภาษาอังกฤษที่ถูกบัญญัติมา....( ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : นำเรื่อง )

คุณธรรม คือ พื้นฐานทางจิตใจที่ดี อุปนิสัยที่พึงปรารถนา ลักษณะนิสัยอันเป็นที่ยอมรับและยกย่องของคนทั่วไป... นั่นคือ เป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในใจของคน ซึ่งอาจสังเกตได้โดยพฤติกรรมของแต่ละคนที่แสดงออกมา....( ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : ความหมาย )

คุณธรรมมีหลากหลาย เมื่อแยกออกไปตามสังคม สิ่งแวดล้อม หรือยุคสมัยแล้ว คุณธรรมเหล่านี้ก็อาจขัดแย้งกันบ้าง ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นว่า คุณธรรมที่พึงประสงค์จริงๆ ควรจะเป็นอย่างไร.... (ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : ความหลากหลายและความขัดแย้ง )

มีแนวคิดเรื่องคุณธรรมหลัก ซึ่งพยายามค้นหาคุณธรรมที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับสังคมทั่วไป ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและกาลเวลา ... แต่แนวคิดเรื่องคุณธรรมหลักก็มิได้มีมติเป็นอย่างเดียวกัน... ( ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : คุณธรรมหลัก )

เพราะคุณธรรมมีหลากหลายและบางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง ทำให้มีปัญหาเรื่องมาตรฐานคุณธรรม นั่นคือ จะกำหนดความพอดีของคุณธรรมได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ แนวคิดของอริสโตเติลเด่นที่สุด และยังคงนำมาปรับใช้อยู่แม้กระทั้งปัจจุบัน...( ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : มาตรฐานคุณธรรม )

เพราะคุณธรรมเป็นคุณค่าภายในใจ แต่การจะตรวจสอบได้ก็ด้วยพฤติกรรมที่แสดงออกมาซึ่งเป็นสิ่งภายนอก ดังนั้น จึงมีปัญหาในการตรวจสอบความมีคุณธรรมของคน... (ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : การตรวจสอบคุณธรรม )

เมื่อไม่อาจตรวจสอบคุณธรรมโดยตรงจากภายใน แต่ตรวจสอบได้โดยอ้อมจากภายนอกที่พฤติกรรมของคน ทำให้มีปัญหาต่อมาว่า จะใช้หลักการประเมินค่าต่อความเป็นคนดีคนเลวได้อย่างไร... (ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : การประเมินค่าทางศีลธรรม )

ทฤษฎีคุณธรรม อาจมีข้อบกพร่องทางจริยปรัชญา... แต่อาจมีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง สำหรับแนวคิดทางศาสนาแต่ละศาสนา ซึ่งมีระบบของมันเองอย่างสมบูรณ์... แต่ระบบคุณธรรมทางศาสนาใดๆ มิอาจใช้ได้ในสังคมเชิงซ้อน จริยปรัชญาจึงค้นหาความเป็นสากลของคุณธรรมแล้วก็แปรรูปมาเป็นแนวทางปฏิบัติโดยผ่านทางกฎหมาย... (ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : เปรียบเทียบกับพุทธจริยศาสตร์ )

................

ตามที่นำเสนอมา มองเห็นประเด็นว่า คุณธรรมไร้สภาพบังคับ จะมีสภาพบังคับได้ก็ต้องผ่านมาทางกฎหมาย ... แต่เมื่อกฎหมายมิได้คล้อยตามคุณธรรมแห่งสังคมนั้นๆ ก็ไม่อาจตอบสนองสังคมนั้นๆ ได้...

ปัญหากฎหมายรัฐธรรมนูญในเมืองไทย ซึ่งเปลี่ยนบ่อยๆ อาจมีปัญหาพื้นฐานมาจากประเด็นนี้ก็ได้ กล่าวคือ ไม่ตอบสนองอุปนิสัยที่พึงปรารถนาของคนในสังคมตามความเป็นจริง แต่ตอบสนองของใครบางคนตามความเฟ้อฝัน... ประมาณนั้น 

หมายเลขบันทึก: 122058เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท