BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : มาตรฐานคุณธรรม


ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม ๕

ตามนัยครั้งก่อน เมื่อความหมายของคุณธรรม คือ อุปนิสัยที่พึงปรารถนา ซึ่งอาจระบุได้มากมาย เช่น ความมีใจดี ความไม่เห็นแก่ตัว ความตรงต่อเวลา ความกล้าหาญ ความขยัน ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ ฯลฯ...

ความหลากหลายของอุปนิสัยที่พึงปรารถนาเหล่านี้ บางอย่างก็มีความขัดแย้งกัน เช่น คนตรงต่อเวลาอาจไร้น้ำใจ... หรือบางอย่างก็กำหนดขอบเขตได้ยาก เช่น คนกล้าหาญเกินไปอาจกลายเป็นคนบ้าบิ่น ซึ่ง ความบ้าบิ่น คือความกล้าหาญเกินความพอดี เป็นอุปนิสัยที่ไม่พึงปรารถนา...

นักจริยปรัชญาบางท่าน ค้นหาคุณธรรมที่คิดว่าจำเป็นต่อทุกสังคมและกาลสมัย เป็นคุณธรรมที่มวลมนุษยชาติจะต้องมี เรียกว่า คุณธรรมหลัก... อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องคุณธรรมหลักก็ยังไม่สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว....

อนึ่ง อริสโตเติลมองเห็นปัญหานี้ จึงพยายามนำเสนออุปนิสัยที่พึงปรารถนาว่าจะต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างที่สุดโต่งทั้งสอง เช่น

  • ระหว่างความขลาดกลัว กับ ความบ้าบิ่น จะต้องมีความกล้าหาญ
  • ระหว่างความสุรุ่ยสุร่าย กับ ความตระหนี่ถี่เหนียว จะต้องมีความพอประมาณ
  • ฯลฯ

ปัจจุบันแนวคิดนี้ของอริสโตเติลได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งผู้เขียนค่อยนำมาเล่าในภายหลัง

..........

จะเห็นได้ว่าจริยศาสตร์คุณธรรม มีปัญหาเรื่องมาตรฐาน เพราะคุณธรรมมีหลายมาตรฐาน ไม่สามารถที่จะสรุปลงเป็นหนึ่งเดียวได้ ดังนั้น นักจริยปรัชญายุคต่อมาจึงพยายามเสนอแนวคิดที่มีมาตรฐานเดียว หรือหลักการเดียวในเรื่องนี้....

จากประเด็นนี้ ทำให้จริยศาสตร์แบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย กล่าวคือ

กลุ่มที่ยึดถือแนวคิดว่า คุณธรรม คือ อุปนิสัยที่พึงปรารถนา ซึ่งมีหลายอย่างตามที่เล่ามาแล้ว เรียกว่า พหุนิยมทางจริยะ (Ethical Puralism)

กลุ่มที่คัดค้านความเห็นเบื้องต้นและพยายามเสนอคุณธรรมที่มีมาตรฐานเดียว เรียกว่า เอกนิยมทางจริยะ (Ethical Monism)

และนี้คือความขัดแย้งทางจริยศาสตร์ซึ่งมีมาจนกระทั้งปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนค่อยขยายความในตอนต่อไป   

หมายเลขบันทึก: 116713เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2007 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการท่านพระมหา

ผมมีปัญหาความขัดแย้งในชีวิตผมอย่างที่ท่านว่า มาตลอดช่วง ๓๐ ปี

ผมหวังดีกับผู้เรียน จริงจังในการสอน แต่เขาว่าผมโหด

ผมหวังดีอยากแก้ปัญหาของชาติ และคนที่กำลังเผชิญปัญหา แต่เขาว่าผมเครียด

ผมหาจุดพอประมาณไม่ค่อยเจอ

ทำอย่างไรดีครับ

ถ้าท่านอ่านงานผม ท่านจะเข้าใจที่ผมพูดได้ชัดเจนครับ

ขอท่านกรุณาชี้แนะด้วยครับ

 

P
ในฐานะที่เป็น ครู เหมือนกัน ประเด็นที่อาจารย์ว่ามา คงจะเป็นเรื่องธรรมดา ...
อาตมาเคยเห็นป้ายที่เขียนไว้ในวัดแห่งหนึ่งนานแล้วว่า...
...."ไม่มีอะไรได้ดังใจเท่าม้าก้านกล้วย"....
อาตมารู้สึกชอบใจมากเลย เพราะม้าก้านกล้วย เราจะยกหาง วิ่ง ร้อง หรือหยุด อย่างไรก็ได้ ... แต่ในชีวิตจริงไม่ได้ดังใจ... ประมาณนั้น
อาตมาพิจารณาตัวเอง ตอนนี้เกี่ยวข้องโดยตรงอยู่ ๓ ฝ่าย กล่าวคือ วัด มจร. และครอบครัว... ซึ่งทั้ง ๓ ฝ่ายนี้ อาตมาก็ไม่ค่อยได้ดังใจในหลายๆ เรื่อง
เดียวนี้ อาตมาก็ทำเท่าที่ทำได้ หรือพอใจจะทำเท่านั้น...
อาตมาคิดว่า ชีวิตจริงของคนอื่นๆ ก็คงจะเป็นไปทำนองนี้....
เจริญพร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท