Fisherman
นาย อาจหาญ นิมิตรหมื่นไวย

จิตตภาวนา


แท้จริงจิตกับสมองไม่เหมือนกัน สมองเป็นส่วนหนึ่งของกาย แต่เป็นเครื่องมือของจิต
จิตตภาวนา หรือการพัฒนาจิต เป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้าคิดค้นขึ้น แล้วตรัสสอนให้พุทธสาวก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้จิตใจสงบ และเป็นวิธีการทำให้เกิดปัญญาแก่ผู้ที่เจริญภาวนา จิตตภาวนานี้แยกออกเป็นสองคำ สองความหมาย คือ คำว่า “จิต” และ “ภาวนา” พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) ได้ให้ความหมายไว้ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม (2538) ดังนี้
 จิต หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ สภาพที่นึกคิด ความคิด ใจ
 ภาวนา หมายถึง การทำให้มีขึ้นเป็นขึ้น การทำให้เกิดขึ้น การเจริญ การบำเพ็ญ
ท่านพุทธทาส (2542 ข) ได้กล่าวไว้ว่า จิตตภาวนา แปลว่า การทำจิตให้เจริญ หรือจะเรียกว่า สมาธิภาวนา คือใช้สมาธิทำให้เกิดคุณค่าต่าง ๆ จะเรียกว่าจิตตภาวนาก็ได้ เพราะว่ามันต้องทำด้วยจิตที่เจริญ  เพราะทุกอย่างนั้นต้องทำด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ถ้าว่าแยกออกไปอีกมันก็กลายเป็นเรื่องสมถะ คือทำในส่วนจิต, และเป็นเรื่องวิปัสสนา ทำในส่วนที่เป็นปัญญา ดังนั้นจึงขอขยายความเพื่อให้เข้าใจในเรื่องการฝึกจิตด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อเกิดความเข้าใจ ดังนี้
 การฝึกจิต ก็คือ ควบคุมจิตที่ออกรับอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ธรรมชาติของจิตนั้นมีลักษณะดังนี้
 1. จิตแตกต่างกับสมอง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาบางคนหรือบางกลุ่มกล่าวว่า “จิตไม่มี สมองต่างหากเป็นผู้สั่งงาน หรือควบคุมร่างกาย และแสดงพฤติกรรมต่างๆออกมา คนเราเมื่อตายแล้วก็สูญ ไม่มีอะไรเหลือ บาปบุญไม่มี เป็นเพียงเชื่อถือกันไปต่างหาก” และบางคนก็ถือว่า “จิตคือสมองนั่นเอง”
 ความคิดและความเชื่อดังกล่าวข้างต้น ขัดกับความเป็นจริง และขัดต่อหลักพระพุทธศาสนา เป็นความคิดเห็นของคนที่ไม่ได้รับการศึกษาในเรื่องจิตศาสตร์ที่แท้จริง โดยเฉพาะพุทธจิตวิทยา จึงเป็นความเชื่อถือที่เป็นอันตรายต่อตนเองและสังคมโดยส่วนร่วมได้มาก เพราะคนเหล่านี้ไม่สนใจต่อการพัฒนาจิต เพราถือว่าจิตไม่มี พวกเขาสามารถทำชั่ว ก่อความทุกข์ความเดือนร้อนให้แก่สังคมตามที่พวกเขาต้องการ ในเมื่อพวกเขามีโอกาสและมีอำนาจที่จะทำได้เพราะเขาไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป
 แท้จริงจิตกับสมองไม่เหมือนกัน สมองเป็นส่วนหนึ่งของกาย แต่เป็นเครื่องมือของจิต บางคนอาจจะคิดว่า “ถ้าไม่มีสมองสั่งงาน เช่นสมองพิการ หรือได้รับการกระทบกระเทือนจนสั่งงานไม่ได้ จิตก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับกายได้เลย จึงแสดงให้เห็นว่า สมองต่างหากเป็นตัวไปสั่งงานไม่ใช่จิต” ข้อนี้อธิบายได้ว่า “ก็เมื่อสมองอันเป็นเครื่องมือในการสั่งงานของจิตพิการเสียแล้วจิตก็ขาดเครื่องมือในการสั่งงาน จึงไม่อาจบังคับร่างกายได้ เพราะขาดเครื่องมือ ถ้าจะเปรียบให้เห็นง่ายๆก็คือ กายอันประกอบด้วยประสาทรับรู้ต่างๆ เปรียบเสมือนโทรศัพท์ที่ต่อจากชุมสายไปตามบ้านเรือนต่างๆ สมองเปรียบเสมือนชุมสายโทรศัพท์หรือโทรศัพท์กลาง จิตเปรียบเสมือนพนักงานควบคุมสายโทรศัพท์กลาง ถ้าหากชุมสายโทรศัพท์เสียใช้การไม่ได้แล้ว แม้จะมีพนักงานมาปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่อาจติดต่อไปถึงทางเครื่องรับได้ เพราะชุมสายใช้การไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด มนุษย์เราก็เหมือนกัน แม้ร่างกายส่วนอื่นยังไม่พิการ แต่ถ้าสมองพิการเสียแล้ว แม้แต่จิตก็สั่งการไม่ได้ เพราะขาดเครื่องมือในการสั่งงาน”
 มนุษย์เราก็เหมือนกัน ถ้ามีร่างกาย สมอง และจิต ครบบริบูรณ์ก็ย่อมนำชีวิตไปสู่ความสงบสุขได้ รวมทั้งช่วยเหลือคนอื่นให้มีความสงบสุขได้ด้วย ถ้ามีแต่ร่างกายกับสมอง แต่ไม่มีจิตเป็นผู้สั่ง คนนั้นก็เหมือนคนนอนหลับ หรือเหมือนกับคนตาย หรือมีร่างกายบริบูรณ์แต่สมองพิการ แม้จะมีจิตเป็นผู้สั่งงานก็สั่งไม่ได้ เพราะเครื่องมือคือสมองใช้การไม่ได้ เพราะฉะนั้น การพัฒนาจิตให้มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ สะอาด สว่าง สงบ ปลอดจากกิเลสและถือว่าคนเราทุกคนล้วนเกิดมาแล้วทั้งสิ้น นับชาติไม่ถ้วน และเกิดในภาพภูมิที่ดีบ้าง ตามกฎแห่งกรรมที่ได้ทำไว้ทั้งดีและชั่ว ถ้ายังมีกิเลสอันเปรียบเหมือนยางเหนียวในพืชอยู่ตราบใด ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตราบนั้น จิตที่ได้รับการอบรมแล้ว ถ้ายังไม่สิ้นกิเลสก็ย่อมนำไปเกิดในภาพภูมิที่ประณีต มีความสุข ประเสริฐ และสูงขึ้น แต่ถ้าจิตไม่ได้รับการอบรม ปล่อยไว้ตามสภาพที่มันเป็น ปล่อยให้สกปรกเศร้าหมอง เพราะถูกกิเลสจับ นอกจากจะก่อความเดือนร้อนให้แก่ตนเองและสังคมในชาตินี้แล้ว ยังจะให้ภาพชาติต่ำทรามลงไป ต้องประสบความทุกข์ ความเดือนร้านมากในชาติต่อไปด้วย
  2. จิตเป็นตัวสั่งสมบุญและบาป ลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของจิต ก็คือ เป็นตัวสั่งสมบุญ บาป กรรม และกิเลสเอาไว้ ก็เมื่อจิตมีหน้าที่รับอารมณ์ จึงเก็บอารมณ์ทุกชนิด ทั้งที่เป็นบุญ ทั้งที่เป็นบาป ทั้งที่มิใช่บุญมิใช่บาปเอาไว้ แล้วเก็บไว้ในภวังค์ที่เรียกว่า “ภวังคจิต” เก็บให้หมดสิ้นอย่างละเอียด และสามารถนำติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปได้ด้วย
 ในเรื่องที่จิตสามารถเก็บบุญและบาปเอาไว้จนถึงนำข้ามภพชาติไปได้นี้ บางคนอาจสงสัยและค้านว่า “ถ้าหากว่าจิตมีลักษณะเกิดดับอยู่ตลอดเวลาแล้ว เมื่อจิตดวงที่ทำบุญและบาปเอาไว้ดับไปแล้ว บุญและบาปจะติดตามจิตต่อไปได้อย่างไร เพราะบุญและบาปได้ดับไปพร้อมจิตดวงนั้นเสียแล้ว”  ข้อนี้ขอเฉลยว่า ธรรมชาติของจิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลาก็จริง แต่ก็ได้เกิดดับสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย เหมือนกระแสไฟฟ้าที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาให้แสงสว่างติดต่อกันตลอด เพราะเกิดดับไวมาก อันธรรมชาติของจิตนั้น ก่อนที่มันจะดับไป ได้ถ่ายทอดทิ้งเชื้อ คือบุญ บาป กรรม กิเลส ไว้ให้จิตดวงต่อไปเก็บไว้นำต่อไป แล้วแสดงผลออกมาเป็นระยะ ตามพลังแต่กรรมคือบุญและบาปที่ได้สั่งสมไว้ บุญบาปมิได้สูญหายไปพร้อมกับความตายของร่างกาย หรือพร้อมกับความดับของจิต แต่ได้ถ่ายทอดสืบเนื่องไปตลอดเวลา เหมือนกับพันธุกรรมของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่ได้ถ่ายทอดสืบต่อ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด แม้ท่านจะตายล่วงลับไปแล้ว แต่ตัวท่านก็ยังอยู่ เพราะยีน (Gene) ซึ่งถ่ายทอดจากสเปอร์มและไข่ อันเป็นเชื้อในพันธุกรรมของท่าน ซึ่งเปรียบเสมือนบุญบาป ยังสืบต่อในบุตรหลานของท่าน เพราะฉะนั้น บาป บุญ จึงมิได้หายไปตราบเท่าที่คนนั้นยังเวียนว่ายตายเกิด แม้จิตจะเป็นธรรมชาติเกิดดับอยู่ตลอดเวลาก็ตาม คนที่เคยพัฒนาตนไว้ดีเมื่อชาติก่อนๆ เมื่อมาสู่ชาติใหม่ จิตก็ยังมีคุณภาพสูงอยู่ ดังที่เราได้พบเห็นท่านที่มีบุญมากมาเกิด ซึ่งเป็นคนที่มีรูปร่างดีปัญญาเฉียบแหลม จิตใจเข้มแข็ง เสียสละ ประกอบด้วยเมตตา กรุณา เป็นต้น 
 กล่าวโดยสรุป  จิตตภาวนา หมายถึง การใช้สมาธิฝึกอบรมจิตใจให้เจริญงอกงามด้วยการใช้สติ เป็นตัวควบคุม กำกับการรับรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ทำให้จิตสงบ สว่าง และสะอาด หรือเรียกอีกชื่อว่า  ”สมาธิภาวนา” ในการฝึกจิตนั้นต้องเข้าใจธรรมชาติของจิตว่าเป็นคนละตัวกับสมอง จิตเป็นตัวที่สั่งการสมอง จิตเป็นตัวสั่งสมบุญและบาป และจิตมีลักษณะที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา
หมายเลขบันทึก: 116711เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท