BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : ความหมาย


ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม ๒

ความหมายของคำว่า คุณธรรม ตามนัยวิชาการผู้เขียนได้เล่าไว้แล้วที่ จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๒. ซึ่งผู้สนใจอาจเข้าไปดูได้... ในบันทึกนี้จะเล่าใหม่ทำนองวิชาเกิน...

บางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ภายในใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เราแสดงพฤติกรรมออกมา โดยพฤติกรรมที่แสดงออกมานี้ย่อมเป็นที่พึงพอใจบ้าง ไม่เป็นที่พึงพอใจบ้าง..... เฉพาะบางสิ่งที่มีอยู่ภายในใจซึ่งเป็นสาเหตุให้แสดงพฤติกรรมอันเป็นที่พึงพอใจเท่านั้น เรียกว่า คุณธรรม ...

ดังนั้น คุณธรรม ก็คือ พื้นฐานทางจิตใจที่พึงปรารถนา...

.......

บางคนมีน้ำใจชอบช่วยเหลือคน... เห็นคนแก่ทำท่างกๆ เงิ่นๆ เพื่อจะข้ามถนน ก็กุลีกุจอเข้าไปช่วยเหลือ... มีฝรั่งเข้ามาสอบถามหนทางก็ชี้แนะด้วยความเต็มใจ.... ขึ้นสะพานลอย เห็นขอทานมือเท้าพิการก็รู้สึกสลดใจ ล้วงไปในกระเป๋าควักเศษสตางค์ทำทานไปเล็กน้อย... ลงมาจากสะพานลอย เห็นพนักงานอายุมากกำลังกวาดถนนอยู่อย่างเคร่งเครียดท่ามกลางฝุ่นละอองก็แผ่ความรู้สึกไปว่า อย่าเจ็บอย่าไข้นะ ! .... ประมาณนี้

พฤติกรรมที่ใครคนนี้แสดงออกมาตามตัวอย่าง มีสาเหตุมาจากพื้นฐานทางใจบางอย่าง ซึ่งสมมติกันตามศัพท์บาลีว่า เมตตา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข และ กรุณา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์... ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกมาของใครคนนี้ หากเป็นที่พึงปรารถนาของคนทั่วไปก็เรียกว่า คุณธรรม ... นั่นคือ เมตตาและกรุณาจัดเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง

พฤติกรรมของใครคนนี้... ถ้าเกิดเฉพาะวันนี้วันเดียวเท่านั้นก็ไม่จัดเป็น อุปนิสัย ... แต่ถ้าเค้ามีปกติเป็นอย่างนี้อยู่เสมอก็จัดเป็นอุปนิสัย เพราะอุปนิสัยหมายถึงบางสิ่งที่นอนเนื่องอยู่ภายในจิตใจ... และถ้าอุปนิสัยนั้นเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาก็จัดเป็นคุณธรรม... ดังนั้น คุณธรรม คืออุปนิสัยที่พึงปรารถนา

....

ตามที่เล่ามาเบื้องต้น จะมีศัพท์สำคัญอยู่ดังนี้ คือ

สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ภายในจิตใจซึ่งเรียกกันว่า ภาวะ หรือ การเป็น ดังนั้นแนวคิดจริยศาสตร์ทำนองนี้จึงเรียกชื่ออย่างหนึ่งว่า จริยศาสตร์แห่งการเป็น (Ethics of Being)

สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ภายในจิตใจที่พึงปรารถนาเหล่านี้เรียกว่า คุณธรรม ดังนั้น แนวคิดทำนองนี้จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จริยศาสตร์คุณธรรม (Virtue Ethics)

สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ภายในจิตใจเหล่านี้ เป็นสาเหตุของสิ่งที่แสดงออกมาทางกายวาจาใจ ซึ่งเรียกว่า พฤติกรรม ดังนั้น แนวคิดทำนองนี้จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จริยศาสตร์แห่งพฤติกรรม (Ethics of Conduct) หรือ  จริยศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Ethics)

และเพราะเหตุว่าบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ภายในใจซึ่งเป็นสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้ นอนเนื่องอยู่ภายในใจของเขา และเขาก็แสดงสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นประจำ ซึ่งเรียกว่า อุปนิสัย ดังนั้น แนวคิดทำนองนี้จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จริยศาสตร์แห่งอุปนิสัย ( Ethics of Character)

สรุปว่า แนวคิดทำนองนี้เหมือนกัน เพียงแต่การใช้ศัพท์อาจแตกต่างกันออกไปเท่านั้น

...........

ส่วนคำว่า Ethics ซึ่งเราบัญญัติศัพท์มาใช้ว่า จริยศาสตร์ นั้น หมายถึงการศึกษาพฤติกรรมหรือการกระทำของคนว่า ควรจะเป็นอย่างไร ? ...  และจากประเด็นนี้ก็ขยายออกไปถึงการศึกษาเรื่องความดีความชั่วหรือความถูกความผิดของการกระทำ เป็นต้น

ถามว่า บางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ภายในใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาที่เรียกว่า คุณธรรม นี้ มีอะไรบ้าง ? 

ผู้เขียนจะขยายความในตอนต่อไป...     

หมายเลขบันทึก: 110095เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2007 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

พระอาจารย์ครับ...

 

แล้วนิสัยที่ชอบติดตามอ่านเรื่องราวคุณธรรม...ถือว่าเป็นจริยศาสตร์แห่งอุปนิสัย ( Ethics of Character)หรือปล่าวครับ...55555

P

"นิสัยที่ชอบติดตามอ่านเรื่องราวคุณธรรม"

จัดเป็น อุปนิสัย ... แต่ยังไม่จัดว่าเป็น จริยศาสตร์แห่งอุปนิสัย เพราะจริยศาสตร์แห่งอุปนิสัย จะเป็นแนวคิดที่ถือว่าคนจะดีชั่วถูกผิดเริ่มต้นมาจากนี้....

แต่ถ้าถือว่า นิสัยชอบติดตามอ่านเรื่องราวคุณธรรม เป็นสิ่งที่ดี อุปนิสัยนี้จึงจัดว่าเป็นสิ่งที่ดี นั่นคือ ถ้าใครเป็นอย่างนี้ก็จัดเป็นคนดี.... ประมาณนี้

เจริญพร

 

"การที่มีอะไรอยู่ในใจที่เกี่ยวกับความรู้สึกเมตตา  กรุณา นั้น  มันเกิดขึ้นแล้ว  มันมีอยู่แล้ว ในจิตของคนไทยในสมัยหลายพันปีมาแล้ว !! "

ฉะนั้น  "เราต้องไม่ได้แปลคำ -- คุณธรรม  มาจากคำว่า  Virtue   อย่างแน่นอน เรามีมโนทัศน์นี้อยู่ก่อนแล้ว!!! "

เราต้องแปลคำคุณธธรม  "ไปให้เป็นหรือตรงกับคำ Virtue ของฝรั่งเท่านั้น "

คือ ฝรั่งไม่ได้มาทำให้เราเกิดมโนทัศน์ "คุณธรรม"  เรา "เกิดของเราเองอยู่ก่อนแล้วในจิตของเรา"

ไม่มีรูป

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

เห็นด้วยกับอาจารย์...

แต่ประเด็นที่นำเสนอไป รู้สึกว่าจะต่างประเด็นไปจากความเห็นของอาจารย์....

เจริญพร 

ขอดูหน่อยปรัชญากับศาสนามีความเกียวเนื้องกันอย่างไร ขอบคุณครับ

ไม่มีรูปthongxai

 

ความเชื่อมโยมระหว่างปรัชญากับศาสนา มีหลายนัย แต่ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า...

  • ปรัชญา เน้นการใช้เหตุผลอธิบายความเชื่อ
  • ศาสนา เน้นการปฏิบัติตามความเชื่อ

อีกอย่างหนึ่งก็คือ...

  • วิทยาศาสตร์ เน้นการพิสูจน์ความเชื่อ

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท