BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : ความหลากหลายและความขัดแย้ง


ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม ๓

นอกจากเมตตาและกรุณาที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างไปแล้วในครั้งก่อน สิ่งที่เป็นพื้นฐานทางจิตใจหรืออุปนิสัยที่พึงปรารถนาซึ่งเรียกว่า คุณธรรม นี้มีมากมาย เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความตรงต่อเวลา ความเป็นผู้รู้อุปการคุณของผู้อื่น (กตัญญู) ความสุภาพอ่อนหวาน ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความกล้าหาญ ความรู้จักพอประมาณไม่สุรุ่ยสุร่าย (มัธยัสถ์) ... ฯลฯ

จากบุคลสมมติในครั้งก่อน... สมมติต่อว่าใครคนนั้นเป็นนักศึกษา...  เพราะมีน้ำใจพาคนแก่ข้ามถนนและช่วยแนะนำหนทางให้ฝรั่งนักท่องเที่ยว... ทำให้วันนั้น เขาจึงเข้าห้องเรียนสาย และเขาก็ไปสายหรือขาดเรียนเป็นประจำ....

เมื่ออาจารย์ตำหนิเรื่องการเข้าห้องเรียนสายของเขาวันนี้ เขาก็อ้างเหตุผลเบื้องต้นไปตามความจริง... อาจารย์จึงบอกว่า เธอก็มักอ้างแต่ความมีน้ำใจหรือความมีคุณธรรมทำนองนี้อยู่เสมอ แต่เธอขาดความรับผิดชอบในความเป็นนักศึกษา ความเป็นผู้ตรงต่อเวลาของเธอก็บกพร่อง นั่นคือ เธอไม่รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี ไม่คำนึงถึงความเหมาะสม.... ทำนองนี้

ตามตัวอย่างที่ยกมาสั้นๆ จะเห็นได้ว่า คุณธรรมหลายๆ อย่างในโลกของความเป็นจริงแล้ว บ้างก็มีความขัดแย้งกันเอง บ้างก็กำหนดขอบเขตได้ยากว่าแต่ละอย่างควรจะมีมากน้อยเพียงไร.... 

...............

อุปนิสัยที่พึงปรารถนาซึ่งเรียกว่าคุณธรรมนี้ เมื่อพัฒนาไปสู่ขนบจารีตประเพณีแล้วก็ยิ่งเห็นความขัดแย้งได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การครองชีวิตคู่ของชายหญิงซึ่งจะเรียกว่าระบบผัวเมียก็มีหลายแบบในโลกนี้

สังคมไทยทั่วไป ยอมรับระบบผัวเดียวเมียเดียว แม้ว่าระบบผัวเดียวหลายเมียจะมีอยู่ในสังคมแต่ก็พอจะยอมรับกันได้ ซึ่งต่างจากระบบเมียเดียวหลายผัวมักจะไม่เป็นที่ยอมรับกันในสังคมไทย.....

ตามที่พอฟังมาบ้าง สังคมตะวันออกกลางหรืออาหรับยอมรับระบบผัวเดียวหลายเมีย หรือในวัฒนธรรมอิสลามก็ยินยอมให้ผู้ชายมีเมียได้หลายคน....ส่วนธิเบตดินแดนหลังคาโลก มีระบบเมียเดียวหลายผัว...

 อนึ่ง ระบบหลายผัวหลายเมียนั้น ผู้เขียนยังไม่เคยเจอว่าในสังคมหรือวัฒนธรรมใดบ้างที่ยอมรับเรื่องนี้ แต่จากการติดตามข่าวปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษายุคนี้เช่าห้องมั่วกันอยู่ไม่รู้ว่าใครคู่กับใคร ก็น่าจะพอสงเคราะห์ว่าเป็นระบบหลายผัวหลายเมียได้เช่นกัน...

เมื่อนำแนวคิดเรื่องคุณธรรมเข้ามาจับเรื่องระบบผัวเมีย จะเห็นได้ว่าเป็นการยากที่จะยึดถือว่าระบบไหนพึงปรารถนากันแน่ ซึ่งนี้ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งในเรื่องคุณธรรม...

.....

บางกลุ่มมีความคิดว่า คุณธรรมนี้เป็นเพียงค่านิยมที่ยอมรับกันในสังคมนั้นๆ เท่านั้น นั่นคือ การกำหนดว่าอุปนิสัยทำนองใดจะเป็นคุณธรรมได้ จะต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น สังคม ศาสนา หรือยุคสมัย เป็นต้น.... แนวคิดนี้เรียกว่า สัมพัทธนิยมเชิงจริยะ (Ethical Relativism)

แม้ว่าคุณธรรมจะมีหลากหลาย ซึ่งอาจขัดแย้งกันบ้าง ดังคำพังเพยไทยๆว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก ขัดแย้งกับ ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม .... และแม้กรณีเหมือนกัน แต่เมื่อต่างสภาพแวดล้อมออกไป การกำหนดว่าสิ่งใดบ้างเป็นคุณธรรมก็อาจแตกต่างกันไป ดังเช่นระบบผัวเมีย เป็นต้น

แต่นักจริยศาสตร์บางท่านซึ่งได้ศึกษาเรื่องนี้ และมีความเห็นว่า แม้คุณธรรมอาจแตกต่างกันก็จริง แต่มีคุณธรรมบางอย่างที่ทุกสังคมล้วนมีความต้องการเหมือนกันหมด... ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป....   

หมายเลขบันทึก: 110695เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2007 02:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 06:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
บางครั้ง พอพูดเรื่องความขัดแย้งพวกนี้ขึ้นมา บางคนโกรธมาก. 
P
อย่างนั้นแหละน้องวีร์....
เรื่องราวในโลกนี้ที่รบราฆ่าฟันกัน ก็มีพื้นฐานมาจากเรื่องนี้เป็นสาเหตุใหญ่...
ว่ามั้ย ?
เจริญพร

ไม่ได้โกรธอย่างเดียว...ฆ่ากันตายก็เพราะอ้างคุณธรรมที่ขัดแย้งกันอย่างนี้แหละครับ...พระอาจารย์...55555

 

เลยพาลให้ผมคิดว่า...คุณธรรม...เป็นได้แค่เพียงคำกล่าวอ้างของปุถุชนบนโลกใบนี้เท่านั้น...

 

ที่จริง   คุณธรรม   น่าจะเป็นสะพานเชื่อม ระหว่าง โลก กับ ธรรมะ ... นะครับพระอาจารย์...อิอิ

P
นั่นแหละ ท่านเลขาฯ... จริงๆ แล้ว จริยศาสตร์นี้แหละ น่าศึกษาที่สุดในวิชาปรัชญา เพราะเกี่ยวข้องอยู่กับคน และเคลื่อนไหวอยู่ตลอด....
แสดงว่าท่านเลขาฯ จัดอยู่ในพวกสัมพัทธนิยมทางจริยะ...
ประเด็นหลังนี้ ท่านเลขาฯ ต้องขยายความคำว่า คุณธรรม โลก และธรรมะ ก่อน จึงจะเข้าใจความคิดของท่านเลขาฯ ได้...
คนบางคนชอบแต่งคำหรูๆ ออกมา โดยมิได้มีกรอบความคิดในประเด็นนั้นเลย... ไม่อยากจะให้ท่านเลขาฯ จัดอยู่ในกลุ่มนี้....
เจริญพร

55555...พระอาจารย์อย่าจัด(การ)กระผมนะครับ...เดี๋ยวผมจัดเอง...อิอิ

 

โลก...ผมหมายถึง...ความเป็นไปของวงจรกิเลสอาสวะทั้งหลาย...หรืออาการที่คนตกอยู่ในวังวนกิเลสอาสวะ...ประมาณนี้(ยืมคำพระอาจารย์มาใช้...555)

 

ธรรมะ...ผมหมายถึง...ความรู้เท่าทันความเป็นไปแห่งความจริงอย่างยิ่ง... เช่นรู้เห็นและถอดถอนตนเองออกจากวงจรปฏิจจสมุทปบาท...ประมาณนี้...

 

ส่วนคุณธรรมนั้น...ตามที่พระอาจารย์อรรถาธิบายครับ...

P
ตามที่ท่านเลขาฯ ว่ามา...
คุณธรรม (อุปนิสัยที่พึงปรารถนา) จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง โลก (ความเป็นไปของวงจารกิเลสอาสวะ) กับ ธรรม (ความรู้เท่าทันความเป็นไปแห่งความจริงอย่างยิ่ง) ได้อย่างไร ?
อีกอย่างหนึ่ง  การเชื่อมประดุจสะพานนั้น เป็นไปเพื่อการใด ?
นั่นคือ อาตมายังไม่เข้าใจแนวคิดของท่านเลขาฯ อยู่เหมือนเดิม....
เจริญพร 
ผมก็ไม่ใจเหมือนกันครับว่าทำไมรบกัน  ส่วนมากอาจจะแย่งของกัน? ส่วนมากที่ผมเห็นคนโกรธเรื่องนี้คือ คนที่เชื่อหรือปฎิบัติตาม ชุดคุณธรรม สักชุดหนึ่ง แล้วพอถามว่า คุณธรรม 2 คุณธรรม ในชุดนั้น ขัดแย้งกันเองหรือเปล่า เขาก็จะโกรธ อะครับ. 
P
ตามที่น้องวีร์ว่ามา... นั่นคือ ปัญหาของทฤษฎีคุณธรรม กล่าวคือ มีหลายเกณฑ์ในการตัดสิน ....
ตรงข้ามกับทฤษฎีคุณธรรมก็คือ ทฤษฎีหลักการ ซึ่งใช้เกณฑ์เดียวในการตัดสิน... และนี้คือปัญหาเรื่องเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมในจริยศาสตร์ร่วมสมัย....
ประเด็นเหล่านี้ จะค่อยๆ นำเสนอต่อไป....
เจริญพร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท