BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม : การตรวจสอบคุณธรรม


ทฤษฎีและปัญหาคุณธรรม ๕

คนนั้นมีคุณธรรมหรือไม่ ? เมื่อจะตอบว่า มี หรือ ไม่มี ... คำถามนี้คงจะตอบยาก แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามว่า คนนั้นมีคุณธรรมอย่างไร ? ก็จะต้องอธิบายถึงอุปนิสัยที่พึงปรารถนาของเขาว่ามีอะไรบ้าง ... ประมาณนี้

เนื่องจากอุปนิสัยที่พึงปรารถนา ซึ่งเรียกกันว่าคุณธรรมนั้น มีหลากหลาย ... และตามปกติเราก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบจิตใจของใครๆ ได้... สิ่งที่สังเกตได้เป็นเพียงพฤติกรรมหรือการกระทำของคนนั่นๆ เท่านั้น... ดังนั้น การจะอธิบายว่าใครมีคุณธรรมอย่างไรบ้าง ก็ต้องยกเอาพฤติกรรมหรือการกระทำของเขามาอธิบายนั่นเอง...

แต่ สิ่งที่คนทั่วไปกระทำลงไปหรือพฤติกรรมที่ใครๆ แสดงออกมานั้น... บางครั้งหรือบางคน อาจมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่เบื้องหลังก็ได้ เช่น นักการเมืองบางคนพยายามช่วยเหลือสังคมทุกวิถีทาง โดยมีความหวังเป็นคะแนนเสียงในอนาคต... หรือนักร้องนักแสดงก็เช่นเดียวกัน พยายามสร้างภาพให้เป็นที่รักที่พอใจของคนทั่วไป ... เป็นต้น

พฤติกรรมของนักการเมืองหรือนักร้องนักแสดงเหล่านั้น อาจมิได้ออกมาจากพื้นฐานทางจิตใจอย่างแท้จริง เป็นเพียงแค่การสร้างภาพหรือจัดฉากขึ้นมาเท่านั้น ดังนั้น การตรวจสอบคุณธรรมของพวกเขาจริงๆ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก...

.................

อีกกรณีหนึ่ง เพราะคุณธรรมมีหลากหลาย ดังนั้น การจะตรวจสอบว่าเขามีคุณธรรมหรือไม่อย่างไร และอะไรเป็นสิ่งสำคัญกว่ากันจึงเป็นไปได้ยาก เมื่อสิ่งที่แสดงออกมาขัดแย้งกัน เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ๒ ท่าน เข้าบรรจุพร้อมๆ กัน... ท่านหนึ่งมีความตั้งใจสูง เจ้าระเบียบ ตรงต่อเวลา พยายามทำงานวิจัย และสร้างผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับ ได้เป็นศาสตราจารย์ในเวลาต่อมา...

ขณะอีกท่านหนึ่ง มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าเพื่อความเจริญของศิษย์ทั้งหลาย ทั้งมีน้ำใจต่อคนทั่วไป จึงมักจะช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่ช่วยได้... ท่านผู้นี้ แม้จะเป็นที่รักของคนทั่วไป แต่ก็มิได้มีความเจริญก้าวหน้าในงานวิจัย เพราะมัวยุ่งอยู่กับเรื่องอื่นๆ ... ประมาณนี้

อาจารย์ ๒ ท่านนี้ ต่างก็ถูกข้อครหาทั้งคู่ กล่าวคือ ท่านแรกถูกครหาว่า เห็นแก่ตัว ขาดความเสียสละต่อสังคม... ขณะที่อีกท่านหนึ่งก็ถูกครหาว่า ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน  ไม่พัฒนาศักยภาพในความเป็นอาจารย์ของตนเอง ... ประมาณนี้

เมื่อมาตรวจสอบคุณธรรมของอาจารย์ทั้ง ๒ ท่านนี้ ก็ตัดสินได้ยาก... เพราะโดยการตรวจสอบสิ่งที่ท่านได้กระทำลงไป กล่าวคือ ความเป็นผู้เลิศในทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของศิษย์และสถาบันก็เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา... ขณะที่ความรักและมีน้ำใจต่อศิษย์และสถาบันก็เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาเช่นเดียวกัน...

อาจสรุปได้ว่า อาจารย์ทั้ง ๒ ท่านนี้ ต่างก็มีข้อดีข้อเสียด้วยกัน จนยากที่จะตัดสินได้ว่าใครเป็นผู้มีคุณธรรมซึ่งควรแก่การยกย่องยิ่งกว่ากัน...

..........

ตามที่เล่ามาย่อๆ ทำให้เห็นปัญหาได้ว่า คุณธรรมไม่สามารถตรวจสอบจากจิตใจได้ แต่ตรวจสอบจากพฤติกรรมหรือสิ่งที่คนทั่วไปกระทำลงไป และเมื่อสิ่งเหล่านั้นมีความขัดแย้งกันเอง ก็ยากที่จะตัดสินได้... ประมาณนี้

จากประเด็นนี้ นำไปสู่ปัญหาใหม่ว่า คุณธรรม (สิ่งภายในใจ) ถูกตัดสินด้วยสิ่งที่มิใช่คุณธรรม (สิ่งภายนอกที่สังเกตได้)... นั่นคือ การตรวจสอบค่าคุณธรรม ควรตรวจสอบมาจากภายในหรือภายนอก ... ซึ่งประเด็นนี้ ผู้เขียนค่อยนำมาเล่าต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 117586เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2007 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการคะท่าน...ได้ตรวจสอบตัวเองดูแล้วตามหลักการที่ท่านแนะนำ...ไม่กล้าเปิดเผยคะว่ามีด้านไหนมากกว่ากัน...รู้สึกตัวอยู่เหมือนกันว่าหลายครั้งปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทำให้กระทำในหลายๆสิ่งที่ฝืนใจตนเอง...(เป็นข้ออ้างยอดนิยม)...พยายามอยู่คะไม่รู้เหมือนกันว่าจะทานกระแสได้นานเพียงใด...นมัสการด้วยความเคารพสำหรับแนวคิดดีๆของท่านคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท