เปิดโลกกิจกรรม (2) : อีกเส้นทางของการค้นหาคำตอบของชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย


เสมือนการสัญจรท่องอยู่ในเวทีแห่งความคิดและปัญญา
ย้อนกลับไปวันเปิดโลกกิจกรรมเมื่อ  19  ปีที่แล้วกันอีกสักครั้ง

ดังที่ผมกล่าวไปแล้วในบันทึกที่แล้วว่า  วันเปิดโลกกิจกรรม   เป็นเสมือนสายธารของการก่อเกิดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย  เพราะเป็นครั้งแรกที่ชมรมและองค์กรต่าง ๆ จะได้ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการอย่างพร้อมเพรียงกันต่อมวลชนในมหาวิทยาลัย

   

เรื่องราวของกิจกรรมนิสิต  ยังคงไม่สิ้นมนต์ขลัง   หากแต่ยังคงเป็นเสมือนหนังสือเรียนอีกเล่มหนึ่งที่ทรงคุณค่าต่อการศึกษาเรียนรู้  และหนังสือเล่มนี้ยังมีที่ว่างอีกมากมายให้ผู้ที่เรียนรู้สามารถบันทึก หรือจารึกเรื่องราวแห่งชีวิตลงไปนั้น  เผื่อว่าสักวันในภายภาคหน้า   คนที่สัญจรเข้าสู่เส้นทางสายกิจกรรมแห่งการแสวงหานี้จะได้เรียนรู้และเสพอ่านกันสืบต่อไปอย่างไม่รู้จบ

     

การทอดเท้าเดินและปล่อยวางให้หัวใจได้มีเสรีเที่ยวท่องในบริบทของงานเปิดโลกกิจกรรม  เป็นเสมือนการสัญจรท่องอยู่ในเวทีแห่งความคิดและปัญญา  และเป็นมุมของนักฝันที่มีความฝันในการแสวงหาคำตอบของชีวิต  หรือแม้แต่การเป็นเสมือนวิถีแห่งการเดินทางเพื่อค้นหา ตัวตน  ของตนเอง    ชีวิตในมหาวิทยาลัยมีหลากหลายคำถามที่ชวนต่อการค้นหาคำตอบ  แต่อย่างน้อยที่สุดคำถามที่เกี่ยวกับการค้นหาตัวตนของตนเองก็ถือว่าสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคำตอบอันเป็นความรู้ในตำราเรียน ...   

19  ปีที่แล้ว  :  ในจุลสารเล่มเล็กที่จัดทำขึ้นในวันเปิดโลกกิจกรรมเมื่อวันที่  13  กรกฎาคม  2531   ปรากฏลำนำชีวิตนานาคำถามของคนหนุ่มสาวที่พร่ำถามตนเองอย่างสุภาพ   คล้ายกับลังเล  เคว้งคว้าง  หวั่นหวาดต่อเส้นทางชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย  หรือแม้แต่สนุกสนานเริงร่าราวนกฟ้าที่เพิ่งท่องทะยานฟ้า  กระนั้น  ลำนำดังกล่าวก็แฝงความมั่นคงทางจิตใจอันเด็ดเดี่ยวที่จะเลือกเดินเข้าสู่ถนนสายกิจกรรม      

ลองสัมผัสดูนะครับ ... อาจจะไม่โดดเด่นอะไรเลยในทางวรรณศิลป์  แต่สำหรับผมแล้วมันสำคัญมาก  เพราะนี่คือห้วงหนึ่งของคนที่เดินอยู่ในถนนสายกิจกรรมเมื่อ  19  ปีที่แล้ว   

ฉันเป็นใคร

 

ฉันมาจากไหน

 

ฉันจะทำอะไร

 

ฉันจะทำเพื่อใคร

 

ฉันจะไปทางไหน

 

ฉันอ้างว้างโดดเดี่ยว

 

ฉันเหงาเศร้าซึม

 

ฉันสนุกสนานเริงร่า

 

ฉันมีความสุข

 

ฉันมีความทุกข์

 

ฉันมีเพื่อนร่วมทาง

 

ฉันยังมีความหวัง

 

ฉันยังมีลมหายใจในกาย

 

ฉันยังมีความคิด

 

ฉันยังมีอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง

 

ฉัน...ยังไม่รู้

 

ว่าฉันเป็นใคร

 

ฉันเลือกถนนสายนี้

 

ฉันจะก้าวไปอย่างมั่นคง

 
   

ฟังดูบางจังหวะในลำนำนั้น  ดูเหมือนกำลังสับสนและยืนอยู่บนทางแยกที่จะต้องเลือก  ..  สิ่งที่ไม่รู้ในวันนี้จะนำพาชีวิตไปสู่การค้นหาคำตอบที่ควรต้องรู้ในอนาคต ..

ผมว่าใครก็ตามเถอะหากอยู่ในสถานะของผู้มาใหม่และแปลกหน้าต่อสถานที่ที่กำลังยืนอยู่เช่นนั้น  ก็คงย่อมอยู่ในอารมณ์ที่ไม่แปลกแยกและแตกต่างกันเท่าใดนัก   

 

แต่อย่างน้อยลำนำนั้นก็กำลังจะบอกกับเราทั้งหลายว่า  ผู้ที่ตัดสินใจสัญจรเข้าสู่ถนนสายกิจกรรมเส้นนี้  จะพานพบกับเรื่องราวแห่งการเรียนรู้อันหลากหลายบรรยากาศ  และที่สำคัญ  คือ  เส้นทางสายนี้จะไม่มีวันเดินดุ่มอย่างเดียวดายเป็นแน่ ...!

หมายเหตุ

  

จำนวนรายชื่อชมรมที่รวมเป็นกลุ่มประสานงาน 14  ชมรม  ในการขับเคลื่อนวันเปิดโลกกิจกรรมเมื่อปี  2531

  อาสาพัฒนาศิลปะนครินทร์วิชาการคณิตศาสตร์ - สถิติเชียร์พุทธศาสน์เกษตรสัมพันธ์สังคมศาสตร์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศึกษาศาสตร์ถ่ายภาพวรรณศิลป์นาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมืองนาฏศิลป์และดนตรีไทย

 

 

หมายเลขบันทึก: 112130เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2007 06:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับพี่พนัส

"ศรัทธา เชื่อมั่น" คำนี้ผมได้ยินมาหลายปีแล้ว และจำได้แม่นครับ

มันมีความหมายในตัว ไม่ต้องขยายความให้เสียเวลาครับ

  • เสียดายที่พี่ไม่ได้เก็บภาพกิจกรรมไว้แลกเปลี่ยนบรรยากาศกัน
  • ที่ม.อหาดใหญ่จัดเปิดโลกกิจกรรมตอนเปิดเทอมใหม่หลังจากปฐมนิเทศน้องใหม่ค่ะ
  • พี่ลาป่วยไปหลายวัน เป็นไข้หวัดใหญ่เดิมหมอสันนิฐานว่าเป็นไข้เลือดออก เพราะตัวซีดเหลืองและอาเจียน ไข้สูง นอนโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ 2 วัน ให้น้ำเกลือ 3 ขวด เพิ่งทำงานได้วันนี้ แต่ยังเดินเหมือนคนเมายา (เดินโซซัดโซเซ) อยู่เลย  หมอบอกว่าไข้หวัดตอนนี้รักษายากมากและใช้เวลาพักฟื้นหลายวันค่ะ
  • ตอนนี้ไข้เลือดออกระบาดหนักที่จังหวัดสงขลา ที่ม.อ หาดใหญ่ได้พ่นยาหมอกกควันที่หอพักนักศึกษาเมื่อวันศุกร์ 13 นี้
  • ราวปี 2538 หรือสิบสองปีที่แล้ว เกิดวิกฤตขยะล้นเมืองเชียงใหม่  ผมเหลียวหน้าเหลียวหลัง ก็ไม่เห็นนักศึกษาหรือชมรมอะไรออกมาทำอะไรสักที เลือดรักเชียงใหม่ก็เลยเดือดปุดๆ ว่า เอ เราจะทำอะไรกันได้บ้าง
  • ไปๆมาๆ ผมก็เอางี้เลย ติดประกาศทั่วมหาวิทยาลัย หาแนวร่วม ใครสนใจก็มาคุยกันใต้ตึก เออ แฮะ มีคนมาตั้งสามสี่คน 
  • ผมก็เลยตั้งกลุ่มเล็กๆขึ้นมา รณรงค์เรื่องขยะ ไม่ว่าจะเป็น จัดวันอาสาสมัคร Clean up ถนนหน้ามหาวิทยาลัยบ้าง อ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัยบ้าง เพื่อนนักข่าวเห็น เขาก็เอาไปลงให้ ทั้ง น.ส.พ ท้องถิ่น และส่วนกลาง ก็เลยเริ่มดัง (ได้สาวสวยมาซ้อนมอเตอร์ไซต์ให้เพื่อนน้ำลายไหล ก็งานเนียะ)
  • ผมทำกลุ่มอยู่ประมาณปีเศษ มีสมาชิกทั้งขาจรและประจำก็นับสิบคน เป็นกลุ่มที่ไม่สังกัดสโมสรของมหาวิทยาลัย แต่อาศัยนักศึกษาแกนนำมหาวิทยาลัยมารวมการเฉพาะกิจกันทำครับ
  • เราไม่ใช้งบของมหาวิทยาลัยเลยแม้แต่บาทเดียว และแม้จะมีนักการเมืองจะสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์(โดยมีข้อแม้ว่า ต้องมีโลโก้ของเขาอยู่ด้วย) เราก็ปฏิเสธ
  • เรียกได้ว่า เป็นกลุ่มนักศึกษาเอ็นจีโอ ก็น่าจะได้ เพราะเราไม่อยากเข้าสังกัดของมหาวิทยาลัย (เราคิดว่าชมรมมหาวิทยาลัยมันอยู่ในกรอบเกินไป และติดกับระบบงานราชการเกินควร) แต่เราขอแค่ความร่วมมือขอใช้สถานที่และเวทีเป็นพอ ที่เหลือ เราระดมทุนจากชุมชน ห้างร้าน ตลาด และองค์กรต่างๆ ได้เอง
  • ชมรมของเรา ตั้งขึ้น และสลายตัวไปตามปัญหาขยะที่คลี่คลายลง ปัญหาหมดไปแล้ว ก็ไม่รู้จะอยู่เสวยอำนาจไปทำไม
  • ผลผลิตหนึ่งในสมาชิกกลายเป็น อดีต ส.ส. หญิงคนหนึ่งของพรรคไทยรักไทย ที่ไม่ยกมือโหวตให้ทักษิณ จนถูกคนในพรรครุมด่า ส่วนผมกลายมาเป็นนักวิชาการแหกคอกอยู่บ้านนอกบ้านนา ดังนี้แล
  • ไม่เคยถอดบทเรียนให้ใคร นี่เอามาลงบล็อกของคุณแผ่นดินเป็นแห่งแรกในเว็บนะครับ

สวัสดีครับ  น้องแจ๊ค

P

ศรัทธา เชื่อมั่น,  ..   สั้น ๆ แต่หนักแน่นและมีความหมายที่ทรงพลังมาก

หลายมหาวิทยาลัยใช้คำสองคำนี้มากพอสมควร  โดยเฉพาะในแวดวงของกลุ่มชมรมที่ทำงานด้านอาสาพัฒนา,  และบำเพ็ญประโยชน์ ..

ขอบคุณครับ,  และยังอยากจะบอกว่า ณ วันนี้ก็ยัง  "ศรัทธา เชื่อมั่น"  อย่างไม่คลอนแคลน

 

สวัสดีครับ  พี่อัมพร

ตอนนี้หายป่วยหรือยังครับ...เป็นห่วง...และขอให้หายวันหายคืนนะครับ

เปิดโลกกิจกรรมที่ ม.สงขลานครินทรฯ  ดูเหมือนจัดเร็วมาก  ขณะที่ มมส  จะต้องรอให้มีการรับน้องใหม่, ไหว้ครูเสียก่อน..  ดังนั้นจึงมักวนเวียนอยู่ไม่เกินสัปดาห์ที่สองของเดือนกรฎาคมของทุกปี

โดยส่วนตัว,  ผมให้ความสำคัญกับกิจกรรมโครงการนี้มาก  เพราะโอกาสที่เราจะได้พบเจอเหล่าชมรมต่าง ๆ อย่างพร้อมหน้านั้นหาได้ยากยิ่งนัก ...

นี่จึงเป็นเสมือน "ตลาดนัด"  ของคนที่มี "ความฝัน"  ในถนนสายกิจกรรม นั่นเอง ..

....

หายไข้ไว ๆ  นะครับ

สวัสดีครับ

P

ผมถือว่า "บทเรียนที่ท่านถอดออกมานั้น"  เป็นสุดยอดบทเรียนแห่งปีอีกบันทึกหนึ่งของผมเลยทีเดียว

กิจกรรมสร้างคนเสมอ...  เรื่องเล่าของคุณยอดดอย  เป็นเครื่องชี้ชัดและการันตีได้อย่างดีเยี่ยม

การเคลื่อนตัว หรือรวมกลุ่มของนิสิตนักศึกษา  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเคลื่อนไหวไปตามภาวะของสังคม    ซึ่งหมายถึงเกิดขึ้นมาตามแรงเร้าและแรงขับทางสังคม,  จากนั้นก็หายลับไปตามปรากฏการณ์ที่แตกดับไปของปัญหา

ลักาณะเช่นนี้ไม่แปลก   แต่น่าสนใจและควรค่าต่อการหยิบมาศึกษาเป็นอย่างมาก   ดีกว่าหลายองค์กรที่เกิดและแช่อยู่ในระบบเป็น "พันปี"  แต่ไม่เคยทำกิจกรรมที่สอดรับกับความเคลื่อนไหวในทางสังคม ...

ผมเป็นอีกคนที่พยายามอย่างเหลือทนในการหนีไปจากขนบวัฒนธรรมทางกิจกรรม ...  ในสมัยที่เป็นนิสิตก็พาน้องใหม่ไปพัฒนาเทศบาล,  จัดโครงการดินน้ำป่าอีสานเพื่อสะท้อนปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมของชาวมหาสารคาม,  ทำผ้าป่าอาหารสัตว์  ... และอื่น ๆ

โดยส่วนตัวผมมองว่าทุกวันนี้นิสิตนักศึกษาทำกิจกรรมในเรื่อง "สิ่งแวดล้อม"  กันน้อยมาก   ทั้งที่ยุคสมัยนี้มีแหล่งทุนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะสนับสนุน  แต่กลับกลายเป็นว่านิสิตมุ่งความสนใจไปในเรื่องอื่น ๆ อย่างน่าเสียดาย

ที่ มมส  ปีนี้,  เรากำลังมุ่งไปในด้านวิถีวัฒนธรรมและศิลปะแขนงต่าง ๆ ... เพื่อชีhให้เห็นความงามของความเป็นมนุษย์  และสะท้อนให้เห็นความพอเพียงที่ควรจะเป็นในสังคม ...

....

ขอบคุณเรื่องเล่าดี ๆ ที่ถอดบทเรียนออกมาอย่างทรงคุณค่า

ผมชื่นชมและให้ความเคารพต่อ "นาฏกรรม"  ที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล .... และขออนุญาตที่จะนำไป "ต่อยอด"  บอกเล่าให้กับผู้นำนิสิตได้รับรู้บ้างนะครับ

ขอบคุณอีกครั้ง ครับ !

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท