มุมมองจากผู้หญิงต่อการปฏิบัติตัวเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram)


การปฏิบัติตัวหากถูกต้องก็มีผลต่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ และความสุขสบายของผู้หญิงในขณะตรวจและหลังตรวจลองคิดต่อว่า แล้วข้อมูลตรงๆ จากผู้ที่มีประสบการณ์รับการตรวจแมมโมแกรมล่ะ จะเป็นอย่างไร

 

            มะเร็งเต้านม เป็นอุบัติการณ์ที่พบมากขึ้นในประเทศไทยนะคะ งานสำรวจที่มีใน Thailand health Profile 2000-2004 ให้ข้อมูลว่า แนวโน้มของการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงสูงขึ้น เมื่อเทียบอุบัติการณ์จากปี 1990 (พ.ศ 2533) พบเพียง 13.5 ใน 100,000 ราย ขณะที่ ในปี 1999 (2542) พบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 19.9 ในประชากรผู้หญิง 100,000 ราย นอกจากนั้นพบสถิติมะเร็งเต้านมสูงสุดที่เขตกรุงเทพมหานคร และผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปจะมีอุบัติการณ์ได้สูงกว่าผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี

                แต่อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงไทยก็ยังมีข่าวดีกว่าผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาค่ะ เพราะถ้าเปรียบเทียบระหว่างผู้หญิงของสองประเทศ ที่อายุ ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปนั้น จะพบว่า ผู้หญิงสหรัฐ พบมะเร็งเต้านมมากกว่า ผู้หญิงไทย แต่ก็น่าเสียใจสำหรับผู้หญิงไทยอยู่บ้าง ตรงที่มักจะค้นพบมะเร็งเมื่อมันลุกลามไประดับที่รุนแรงกว่า

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงไปไม่น้อย เช่นในประเทศอังกฤษนั้น dailymail.co.uk รายงานว่ามีผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมปีละ 40,000 รายและเสียชีวิตมากกว่า 12,400 รายต่อปี (www.dailymail.co.uk)

การรณรงค์ความรู้เพื่อการป้องกันและการดูแลตัวเองต่อภาวะมะเร็งเต้านมมีความจำเป็นมากแน่นอนค่ะ สังเกตได้จากจำนวนบทความต่างๆที่เพิ่มขึ้น ลำพังเฉพาะใน gotoknow.org เมื่อลองค้นคำว่า มะเร็งเต้านม จะพบถึง 432 ลิ้งค์ (25 มิ.ย 2550) ซึ่งรวมทั้งเรื่องการป้องกัน การดูแลตัวเอง การดูแลผู้ป่วยด้วยเคมีบำบัด ฯลฯ (ตัวอย่างจากบล็อกของ อาจารย์วัลลภ พรเรืองวงค์ บ้านสุขภาพ และ  CoP เคมีบำบัด ของชุมชนคณะแพทย์ขอนแก่น)

การตรวจหามะเร็งตั้งแต่ระยะแรกจึงมีความจำเป็นต้องรณรงค์เช่นกันค่ะ รวมทั้งการให้ความรู้อย่างถูกต้องถึงการตรวจพิเศษเช่น แมมโมแกรม (mammogram) ซึ่งจะช่วยให้สามารถค้นพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกก็เป็นสิ่งที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจด้วย

เมื่อลองค้นหาคำว่า แมมโมแกรม ใน gotoknow.org จะพบเพียง 3 ลิ้งค์ (หนึ่งในนั้นเป็นของนายแพทย์นิพัธ กิตติมานนท์ และท่านมีบันทึกที่อยากแนะนำด้วยคือ ตั้งชมรม "ท่าทองรวมใจต้านภัยมะเร็งสตรี") และถ้าลองหาจาก google.com คำว่า แมมโมแกรม พบ 795 ลิ้งค์ และคำว่า “Mamogram” พบ 40,000 ลิ้งค์ค่ะ

ที่นำเสนอจำนวนลิงค์ไว้ตรงนี้ (25 มิ.ย 2550 เวลา 16.42 น) ก็เพื่อจะให้เห็นว่า ปัจจุบันนี้มะเร็งเต้านมเป็นเรื่องที่ไม่ลึกลับอีกต่อไป มีบทความที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งเรื่องของแมมโมแกรม แต่น่าแปลกใจอยู่บ้างเมื่อลองค้นหาต่อ ด้วยคำว่า แมมโนแกรม การปฏิบัติตัว ไม่พบคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้หญิงที่ต้องเตรียมตัวเองเพื่อการปฏิบัติในการรับการตรวจวินิจฉัยค่ะ การปฏิบัติตัวหากถูกต้องก็มีผลต่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ และความสุขสบายของผู้หญิงในขณะตรวจและหลังตรวจด้วย ลองคิดต่อว่า แล้วข้อมูลตรงๆ จากผู้ที่มีประสบการณ์รับการตรวจแมมโมแกรมล่ะ จะเป็นอย่างไร

ที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นมุมมองจากประสบการณ์ตรงและจากการสอบถามจากผู้หญิงท่านอื่นๆ ที่เคยเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมมาก่อนเพื่อจะเป็นแนวคิด แนวศึกษาสำหรับผู้ที่จะเข้ารับการตรวจด้วยแมมโมแกรมค่ะ

 

1.     อย่าทาแป้งและโรลออนก่อนไปตรวจ

น้องคนหนึ่งบอกว่า  คราวก่อนไปตรวจต้องถ่ายเอกเรย์ตั้งสามครั้งแน่ะ หมอบอกว่าได้ผลไม่ชัด ดูไม่ออก บีบไปบีบมาหมอถามว่า ทาแป้งมาหรือเปล่า ถึงได้รู้ว่าอย่าทาแป้งหน้าอกไปนะ ....ความจริงคืออะไรไม่รู้ แต่คิดว่าแป้งคงมีโลหะหนักทำให้ผลเอกซเรย์มันไม่ชัด..หมอบอกว่าโรลออนก็ไม่ควรใช้....มันคงไปเคลือบผิวหนังมั้งเลยดูผลยาก

 

2.     อย่าไปตรวจระยะก่อนมีประจำเดือน

พี่คนหนึ่งแนะนำว่า อย่าไปตอนก่อนมีประจำเดือนนะ แหมมันเจ็บจนน้ำตาเล็ด ตอนนั้นเต้านมมันก็ตึงๆคัดๆ อยู่แล้ว ถูกบีบเลยเจ็บมาก..เวลาที่เขานัดก็ต้องนับวันว่าจะเป็นช่วงประจำเดือนใกล้จะมาหรือเปล่า.เพราะเรานับวันเราก็ต้องรู้ของเราเองแล้วเราก็ขอเลือกคิวทำหลังจากเมนส์มาแล้วนั้น ถ้าได้ช่วงอาทิตย์แรกหลังประจำเดือนมาล่ะจะดี

 

3.      อย่าเกร็งขณะทำ

พี่อีกคนก็แนะนำว่า เวลาเขาจะทำเขาจะจัดท่าให้เราก่อน ทำตัวอ่อนๆ ผ่อนๆ อย่าไปเกร็ง เจ้าหน้าที่เขาจัดท่ายากเขาก็จะโกยนมเรา โกยๆๆ และจัดท่าเรายาก ตอนที่เขาพยายามจัดท่าน่ะ ถ้าช้ามันเมื่อยคอนะ เพราะว่ามันต้องบิดคอแนบกับตัวเครื่อง ที่จริงเขาก็จะบอกอย่าเกร็งๆ แต่เราก็อาจจะเกร็งไม่รู้ตัว .....เขาไม่บอกหรอกว่าอย่าเกร็งทำอย่างไร เราก็นึกได้ว่าให้หายใจเข้าออกช้าๆ ผ่อนลมหายใจ และพี่จะสวดมนต์ด้วย นึกบทไหนก็สวดไป เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ

 

4.     อย่ากลัวผล

น้องผู้หญิงอีกคนก็บอกเล่าเรื่องของเธอ เวลาไปทำ คนส่วนใหญ่จะกลัวก็จะเครียด แหมมันภาวะไม่แน่ไม่นอน ตอนรอใจตุ๊บๆต๊อมๆ ไม่รู้ว่าจะเจออะไรต่อ ครั้งแรกที่น้องไปทำ ไม่หิวข้าวไม่หิวน้ำเลย  แต่จริงๆไม่ต้องกลัวผลหรอก ถ้าหมอเขาไม่แน่ใจเขาก็จะทำอัลตราซาวน์ต่อ บางทีก็เจาะไปตรวจดู และถ้าว่าผลมันเป็นมะเร็งจริงๆ หมอเขาก็จะให้คำแนะนำว่าควรไปหาใครและทำอะไรต่อ มีคนที่เป็นและรักษาหายเยอะแยะ

 

5.     ทำเสร็จแล้วดื่มน้ำเยอะๆ

อีกท่านหนึ่งให้ความเห็นเรื่องของการสะสมพิษจากเอกซเรย์และการป้องกัน เอกซเรย์มันก็เป็นพิษเหมือนกันนะ ใครๆว่าไม่มีผลอะไร แต่พี่คิดว่าดื่มน้ำเยอะๆ ขับๆ พิษถ้ามันมีนะ ให้มันออกไปเร็วๆ เคยอ่านที่ไหนจำไม่ได้แล้ว เขาว่าทำแมมโมแกรมอาจจะไปกระตุ้นให้เป็นมะเร็งก็ได้ พี่ก็ฟังหูไว้หู คิดเหมือนกันว่าตอนที่เขาบีบๆเค้นๆ จัดท่าตอนทำ เซลล์ร่างกายเรามันก็ชอกช้ำได้ เจอเอกซเรย์เข้าไปก็อาจจะมีส่วน ก็ดื่มน้ำเยอะๆก็แล้วกันนะ

 

                การพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์มาก่อนและกับผู้หญิงคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์การตรวจด้วยแมมโมแกรม เป็นมุมมองที่อาจจะแตกต่างหรือเหมือนมุมมองของผู้ให้บริการ และอาจจะแตกต่างจากผู้ที่ไปตรวจและพบผลการตรวจว่าเป็นมะเร็งก็ได้ค่ะ เพราะกลุ่มที่ได้คุยกันก็คือคนที่ไปตรวจเป็นประจำทุกปีและได้ผลว่าปกติไม่เป็นมะเร็ง

  

ก็หวังว่าสำหรับผู้หญิงๆ ด้วยกันแล้ว  ความรู้เล็กๆน้อยๆเหล่านี้คงมีประโยชน์บ้างค่ะ

คุณละคะ เคยรับการตรวจด้วยแมมโมแกรมหรือยังคะ คุณมีประสบการณ์อย่างไรบ้าง..ชวนเล่าสู่กันฟังค่ะ     

 

               

   
หมายเลขบันทึก: 106314เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • ตามมาอ่านและขอบคุณ
  • แหมได้วิธีการตรวจด้วย
  • แต่มีไม่ใครยอมให้ตรวจครับ
  • ฮ่าๆๆๆๆ

ขอบคุณที่แวะมาอ่านค่ะ อาจารย์ขจิต

อันที่จริงมะเร็งเต้านมในผู้ชายก็เคยพบค่ะ แต่เปอร์เซนต์น้อยกว่าผู้หญิงเยอะเลย

แว่วข่าวว่าอนาคตจะมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งเต้านมในระยะแรกได้ด้วยค่ะ

ระหว่างที่ยังไม่มีนี้ แมมโมแกรมสามารถช่วยในการวินิจฉัยได้ และบางครั้งก็มีการใช้อัลตราซาวน์ร่วมด้วย

เทคนิคเล็กๆน้อยๆจากผู้ที่มีประสบการณ์รับการตรวจมาก่อน คงมีประโยชน์กับผู้หญิงเป็นหลักใหญ่ แต่ก็คงใช้ได้กับผู้ชายด้วยในบางอย่างค่ะ

ถ้าอาจารย์ขจิตมีญาติพี่น้องผู้หญิง...แนะนำให้อ่านบันทึกการป้องกันจากบล็อกอาจารย์วัลลภนะคะ และหากไปตรวจด้วยแมมโมแกรม..ขอเชิญอ่านบันทึกนี้ด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์จันทรรัตน์

  • อาจารย์คะ  ขอบพระคุณมากเลยค่ะ ดิฉันประทับใจวิธีนำเสนอแบบสนทนานี้มาก  จึงต้องล็อกอินเข้ามาเรียนอาจารย์แต่เช้า 
  • ภาษาพูดที่ถ่ายทอดด้วยความรู้สึกของคนจริงๆที่ได้รับประสบการณ์จริง  แล้วบอกเล่าด้วยถ้อยคำตรงไปตรงมา  ทำให้เข้าใจได้เร็วกว่าอ่านภาษาโบรชัวร์ (ภาษาเขียนแบบทางการ)มากมายนัก
  • และยังช่วยลดความวิตกกังวลลงไปได้มากที่เดียว
  • ดิฉันจะไปเล่าให้เพื่อนๆพยาบาลฟัง เผื่อจะช่วยกันหาวิธีสร้างสื่ออย่างง่ายเพิ่มเติม  (จากปกติที่ทำอยู่แล้ว) เพื่อจะสื่อสารกับผู้มารับบริการได้ในเวลารวดเร็ว  และช่วยให้มีกำลังใจ  ไม่กังวลไปก่อนในขณะตรวจ
  • เด็กๆที่เรียนนิเทศศาสตร์คงต้องเรียนรู้วิธีสื่อสารแบบนี้ด้วย  หลายคนไปช่วยงานประชาสัมพันธ์ที่โรงพยาบาลค่ะ   เขาอาจจะช่วยผลิตสื่อทางเลือกเล็กๆได้บ้างตามสมควร 
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากๆค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ดอกไม้ทะเล

ก่อนอื่นขอชื่นชมอาจารย์นะคะว่าเป็นครูนิเทศในสายเลือด เพราะอาจารย์สามารถเชื่อมโยงความรู้ไปสู่การสอน การปฏิบัติของนักศึกษาได้อย่าง "ในเนื้อ" จริงๆ เลย

อันที่จริงวัตถุประสงค์หลักของบันทึกนี้ คือการนำเสนอความรู้และประสบการณ์ไปสู่การส่งเสริมสุขภาพของผู้หญิง แบบ ผู้หญิงๆ คือการพูดคุยกันค่ะ )

แต่วัตถุประสงค์รอง (ที่คิดว่าอาจารย์คงรู้แต่ไม่ได้เอ่ยถึง) คือเพื่อนำเสนอ รูปแบบการวิจัยแบบง่ายๆ บนฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วและใกล้ตัวที่สุด สำหรับประชาชนและผู้ที่สนใจหาความรู้ผ่านอินเตอร์เนต คือฐานความรู้จาก google และ gotoknow (ที่อาจารย์Conductor กล่าวว่า "เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.) GotoKnow ลบทุกสถิติอีกแล้วครับ" ใน การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ GotoKnow.....ซึ่งแสดงว่าgotoknow น่าจะเป็นฐานความรู้ที่อ้างอิงได้)

ซึ่งดิฉันลอง ใช้วิธีนำเสนอด้วยสถิติ ตัวเลข เชื่อมโยงสู่สิ่งที่ขาดหายไปและต้องการการเติมเต็ม แล้วเพิ่มการไปหาความรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ตรง และนำมารวบรวมเรียงร้อย

บันทึกอาจมีจุดแข็ง ที่เน้นความรู้จริงจากประสบการณ์จริงบนฐานความรู้บนอินเตอร์เนตที่มีอยู่แล้ว

แต่ก็อาจจะยังมีจุดอ่อนตรงวิธีนำเสนอที่ยังยาวไป สำหรับการเขียนในบล็อก ...คิดว่าอาจจะต้องใช้วิธีลิงค์ไปที่ไฟล์ จะดีกว่าไหม..อาจารย์จะให้ความเห็นอย่างไร

เล็กๆน้อยๆค่ะ เล่าสู่กันฟัง...วิจัยง่ายๆ ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า แบบ บ้านๆ ค่ะ

หากบันทึกนี้และความเห็นที่เราคุยกันเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย จะยินดียิ่งค่ะ

ขอบคุณค่ะ 

สวัสดีค่ะคุณจันทร์รัตน์

  • การตรวจแมมโมแกรม ผู้หญิงส่วนใหญ่ถ้าไม่รับรู้ถึงสิ่งผิดปกติที่เต้านม จะไม่ค่อยอยากไปตรวจ เพราะวิธีตรวจจะเจ็บมาก โดยเฉพาพวกเต้าเล็ก จะถูกหนีบ
  • ดิฉันเคยไปตรวจ 1 ครั้ง ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ไปอีกค่ะ
  • ใช้วิธีตรวจด้วยตนเองมากกว่า
  • CoP เคมีบำบัด ชุมชนKM คณะแพทยศาสตร์ มข ดิฉันเป็นหัวหน้าทีมเองค่ะ
  • ขอบคุณนะคะที่เข้าไปอ่านค่ะ

ขอบคุณค่ะ คุณอุบล จ๋วงพานิช

P

 

ที่แวะมาเยือนและเพิ่มประเด็น..ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่อยากไปตรวจเพราะเจ็บมาก และความอาย

ตรงกับใจที่ทำให้เขียนบันทึกนี้ขึ้นมาค่ะ ..ความเจ็บ จากธรรมชาติของกายภาพเต้านมก่อนมีประจำเดือน และจากอาการเกร็งเพราะความกลัว การต้องถูกทำซ้ำเพราะไม่ทราบว่าห้ามทาแป้งและโรลออน ....ความเชื่อว่าเต้านมเล็กเจ็บกว่าเต้านมใหญ่

คำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์คาดว่าจะช่วยให้ผู้หญิงเกิดความมั่นใจมากขึ้นเมื่อจำเป็นเข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยแมมโมแกรม    (หากจำเป็น...ตามความเสี่ยงที่มี...เช่นอายุมาก มีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านม....คลำเจอก้อนที่ไม่แน่ใจ....พบซีส......ใช้ฮอร์โมนแก้ไขอาการวัยทอง....ฯลฯ)

อยากได้แนวคิดจากผู้ให้บริการด้วยน่ะค่ะ ...ว่า...จะมีคำแนะนำอะไรอีกเพื่อลดความเจ็บ ความกลัว...และความอายค่ะ...

อีกกรณีคือ ความอาย...ผู้หญิงที่บอกเล่าบอกว่าอายเวลาที่หน้าห้องตรวจปะปนกันไม่แยกเป็นสัดส่วน...และมักจะมีผู้ชายมานั่งดูทีวีที่โรงพยาบาลจะจัดไว้ให้สำหรับผู้รับบริการ...เพราะเธอต้องโนบราและเสื้อผู้ป่วยมักจะเนื้อบาง....แต่ต้องมานั่งปะปนกันกับผู้ป่วยชาย.....วัฒนธรรมไทยตรงนี้ โรงพยาบาลบางแห่งยังไม่ลึกซึ้งและไม่ไวกับความรู้สึกของผู้รับบริการหญิงค่ะ

การนัดตรวจ บางโรงพยาบาลจะนัดนอกเวลา ซึ่งจะมีเฉพาะผู้หญิง ก็ลดอายได้

ขอเสื้อที่หนาๆก็ได้ค่ะ เวลาโนบรา

ลดเจ็บได้  ต้องมาตรวจไม่อยู่ในช่วงใกล้เป็นประจำเดือน

มาตรวจช่วงที่ไม่ใกล้เป็นประจำเดือน จะลดปวดได้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ คุณอุบล

ดีใจที่ได้รับคำยืนยันและแนะนำจากผู้ให้บริการค่ะ

คุณอุบลแนะนำเพิ่มเติมว่า...

"มาตรวจช่วงที่ไม่ใกล้เป็นประจำเดือน จะลดปวด"

และโรงพยาบาลที่มีความเข้าใจความรู้สึกของผู้หญิง...ก็จะนัดตรวจนอกเวลา และจัดหาเสื้อที่หนาพอไว้ให้

มีโรงพยาบาลไหนบ้างน้อ..ที่สามารถยืนยันตัวเองได้ว่า มีบริการที่เข้าใจความต้องการของผู้หญิง และมี gender sensitivity แล้ว

ความมั่นใจในบริการคงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจและรับการรักษาแต่เนิ่นๆ ...

คุณผู้หญิงมีความเห็นอย่างไรบ้างคะ

 

  • แวะมาช้าไปหน่อยค่ะ
  • พอดีเพิ่งรับงานประจำคอลัมน์ health & wellness ให้นิตยสารฉบับหนึ่ง เลยค้นหาเรื่องต่างๆ มาเป็นฐานความคิดว่าจะเขียนอะไรดี
  • ตัวเองตรวจมา 5 ครั้งแล้วค่ะ 
  • เจ็บเหมือนกัน แต่ก็ทนได้ค่ะ เพราะช่วงเวลาที่หน้าอกถูกบีบ  กินเวลาไม่นาน
  • หมอดูประวัติแล้วเห็นทำแมมฯทุกปี บอกว่า 2 ปีทำครั้งก็ได้  ส่วน pep smear ทำปีละครั้งค่ะ
  • สอง-สามปีมานี้ มีคนรู้จักเสียชีวิตเพราะมะเร็งเต้านมหลายราย  เสียดายทรัพยากรมนุษย์
  • เราคงต้องรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยเลิก "อาย" เรื่องแบบนี้กันหน่อย      

สวัสดีค่ะ ป้าเจี้ยบ

  • ดีใจที่ป้าเจี้ยบแวะมาเยือนค่ะ...นั่งยิ้มอยู่หน้าจอคนเดียวเลยค่ะ
  • และขอบคุณมากค่ะกับความเห็นของป้าเจี้ยบ
  • คุยกับคนที่ทำวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม...น่าเป็นห่วงว่า พบมากขึ้นๆ ในผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง ...ความเครียดเรื้อรังคงมีส่วนส่งเสริมมะเร็งอย่างมากเลยค่ะ
  • น่าเสียดายทรัพยากรมนุษย์อย่างที่ป้าเจี้ยบบอกไว้จริงๆค่ะ
  • ส่วนที่หลายๆคนมักจะสงสัยว่า ตัวเองมีความเสี่ยงมากน้อยอย่างไร ควรไปตรวจได้หรือยัง.....มีเว็บ หลายเว็บที่พยายามให้คำนวณดูความเสี่ยงของตนเองและศึกษาถึงพวก risk factors ต่างๆไว้ด้วย...อย่างเช่น http://www.yourdiseaserisk.harvard.edu/ ก็น่าสนใจ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคน ด้วยค่ะ
  • ขอบคุณที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับป้าเจี้ยบค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท