เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1


วันที่วงเพลงมีอายุครบ 20 ปี ครูผู้ฝึกสอนก็เกษียณอายุราชการพอดี

 

เพลงอีแซว

สายเลือดสุพรรณฯ

โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 

          เมื่อมีหลายท่านสงสัยกันมามากว่า  เมื่อผมเกษียณอายุราชการไปแล้ว  ในอีก 4 ปี ข้างหน้า จะมีใครบ้างมารับช่วงต่อ ใครจะมาสานต่อให้เกิดเป็นวงเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซวที่มีความยั่งยืนยาวนานถึง 16 ปี ได้อย่างเดิมหรือไม่ ข้อนี้คงพูดยากมากเพราะคนที่ทำอย่างนี้ในจังหวัดสุพรรณบุรี มีน้อยคนที่มุมานะเดินหน้าสืบค้นหาคนเพลงด้วยตนเองมาเกือบชั่วชีวิตที่เป็นตัวตน และฝึกหัดเพลงพื้นบ้านเกือบทุกชนิดกับพ่อเพลง แม่เพลงตัวจริง ทำให้เพลงพื้นบ้านมาอยู่กับตัวเองได้อย่างฝักรากลงลึก

         อาจจะมีคนรุ่นน้องที่มีหัวใจเหมือนผม มีความกล้ายิ่งกว่าผม หรือมีความเป็นคนตะเก่า ยิ่งกว่าผมหลายเท่ามาเกิดก็ได้  คำโบราณกล่าวเอาไว้ว่า ตัวตายตัวแทน คงเป็นคำตอบเบา ๆ ที่พอจะยืดความรู้สึกหรืออารมณ์และน้ำใจของผู้ที่ปรารถนาดีเอาไว้ได้บ้าง  คำถามข้างบนที่ผมยกมาเล่า  เป็นคำถามที่ผมถูกถามทั้งบนเวทีการแสดงและหลาย ๆ ครั้ง ที่ผมได้พบกับท่านผู้ที่หวังดี โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 ผมพานักเรียน 15 คนไปแสดงเพลงอีแซว ที่ โรงแรมคุ้มสุพรรณฯ โครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม 4 ภาค  ต้องขอขอบคุณในความห่วงใยที่ท่านมีต่อศิลปะการแสดงของท้องถิ่น ขอบคุณทุก ๆ ท่าน  แต่ทุกอย่างผมอยากให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ  เราคงไม่อาจที่จะขัดขวางกฎเกณฑ์ชีวิต และสังคมได้

        

           ตราบใดที่กระแสมาแรง การรุกเร้ารีบเร่งก็แรงตามมา ตราบใดที่กระแสอ่อนลง ความ ตั้งใจ ความเอาจริงเอาจังก็อ่อนลงตาม แต่เมื่อใดก็ตามที่มีคนใดคนหนึ่งมุ่งมั่นที่จะกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม กระทำในสิ่งที่ดี  ๆ คนผู้นั้นจะต้องอยู่นอกกระแสทั้งปวง หัวใจที่แข็งแกร่ง คือแรงผลักดันไปสู่จุดหมายปลายทาง ที่เราตั้งเป้าเอาไว้  ผมเคยบอกกับเด็ก ๆ รุ่นแรกที่สอนเพลงพื้นบ้าน (ปี 2535) ว่า วันนี้ครูสอนพวกเธอ 5 คน เล่นเพลงพื้นบ้าน ในวันข้างหน้า ครูอยากมีลูกศิษย์ที่มาฝึกหัดเพลงมาก ๆ สัก 15-20 คน (วันนี้มีเกินแล้ว) ผมเคยพูดกับเด็ก ๆ ที่ฝึกหัดเพลงพื้นบ้านว่า ขอให้พวกเรามีความมานะพยายาม และตั้งใจฝึกซ้อมการแสดงทุกงานที่ได้ขึ้นไปยืนบนเวทีขอให้คิดว่า นั่นคือ เวทีแห่งชีวิตเรากำลังฝากอนาคตเอาไว้กับสายตาทุกคู่ที่ท่านให้เกียรติมาดูพวกเราแสดง จะต้องกระทำอย่างสุดฝีมือ 

           เวลาค่อย ๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว วงเพลงอีแซว  สายเลือดสุพรรณฯ  ของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ผ่านงานแสดงมามากว่า 500 ครั้ง ทั้งบนเวทีในระดับท้องถิ่น เวทีในระดับจังหวัด  เวทีในระดับประเทศ ทั้งการแสดงในงานสำคัญระดับชาติ และการแสดงในสถานที่สูงส่ง  ทั้งหมดนั้นเกิดมาจาก ความสามารถของผู้แสดงทุกคนที่ได้สู้อุตส่าห์ ทุ่มเทฝึกซ้อม อย่างจริงจังและต่อเนื่องกันมานาน วันนี้งานแสดงอยู่ในโรงแรมเสียเป็นส่วนใหญ่ และมีหลายกิจกรรมที่ตอบรับศิลปะพื้นบ้าน ทำให้ผมได้นำเด็ก ๆ ไปร่วมในการประชุม สัมมนา อบรมของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของเอกชน และภาครัฐ

          กิจกรรมการแสดงประกอบการประชุม อบรม สัมมนาในโรงแรม ที่เรามีส่วนร่วม คือ 

              1.     เป็นการด้นกลอนสดเพลงพื้นบ้าน 7-9 นาที บอกเรื่องราวของงาน แล้วเชิญพิธีการออกมาดำเนินรายการ แสดงเป็นช่วง ๆ เวลา

         2.    ร้องเพลงแหล่ ขยายเนื้อหาหัวข้อเรื่องที่ เขาจัดอบรม สัมมนา 4-5 นาที แล้วนำเข้าสู่การบรรยายเรื่องราว สลับกันต่อ ๆ ไป

         3.     แสดงเพลงพื้นบ้าน (ลำตัด) สรุปเรื่องที่สัมมนาสั้น ๆ เฉพาะที่เด่น ๆ 5-7 นาทีและเชิญวิทยากร บรรยายหรือนำเสนอความรู้ เป็นตอน ๆ ไป

        4.     แสดงเพลงอีแซว เล่าขานประวัติบุคคลสำคัญของงานนั้น (โดยนักเรียน) ว่า ท่านได้รับรางวัลจากหน่วยงานใด 10-15 นาที แล้วเชิญเจ้าของงานออกมา

        5.     การแสดงเพลงพื้นบ้าน มุขตลกสนุกสนาน สลับกับการอบรม เป็นระยะ ๆ ช่วงเวลาละ 5-7 นาที ตลอดการอบรม ประมาณ 5-6 ตอน 

        หลาย ๆ ท่านคงคิดว่า งานแสดงเพลงพื้นบ้าน มีให้ชมแต่เฉพาะในฤดูเทศกาล งานประจำปิดทองไหว้พระอย่างในสมัยก่อน แต่ในยุคปัจจุบันนี้มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป แม้แต่งานทานเลี้ยงแบบโต๊ะจีนผมได้มีโอกาสนำวงเพลงไปแสดง (แทนที่วงดนตรีที่มีแด๊นซ์มาเต้น) เป็นเพลงพื้นบ้าน (ลำตัด เพลงอีแซว เพลงแหล่) สลับกับมุขตลก สนุกสนาน เฮฮา จนถึงช่วงสุดท้ายเป็นการแหล่ด้นกลอนสดให้กับท่านเจ้าภาพและขอบคุณแขกที่มาทุกท่าน 

              

                กว่าที่จะเดินทางมาถึงจุดนี้ ผมอยากจะบอกว่า มันมาโดยอัตโนมัติ เป็นไปตามเส้นทางชีวิตอีกสายหนึ่ง ที่ผมยึดถือปฏิบัติในชีวิตจริงมาตั้งแต่ยังเด็กอยู่ และปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องจนได้เข้ามารับราชการครู และจนมาถึงยุคที่ผมได้ฝึกหัดเพลงพื้นบ้านให้กับนักเรียน และในส่วนที่สำคัญ คือ ผมมีพี่สาวที่แสนดี อย่างพี่เกลียว เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์) ศิลปินแห่งชาติ และ พี่สุจินต์ ศรีประจันต์ (ศิลปินดีเด่นจังหวัด) ให้ความช่วยเหลือ แนะนำ สิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ทำให้ผมได้ข้อคิด นำมาปรับปรุงผลงานจนเดินมาได้ อย่างถูกต้อง  

         มีการฝึกฝนนักเรียนกันอย่างไร จึงทำให้เด็ก ๆ มีความสามารถรับงานแสดงได้

        1.     มีการฝึกซ้อมกันทุกสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง (1.30 ชั่วโมง)

        2.     มีการฝึกซ้อม พัฒนาผู้แสดงในตอนเช้า และเย็นนอกเหนือเวลาเรียน

        3.     มีการนัดหมายฝึกซ้อมในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ที่บ้านครู ที่บ้านของนักเรียน

        4.     มีตารางฝึกซ้อมทั้งวงก่อนงานแสดงอย่างน้อย 3-5 วัน (วันละ 1.30-2 ช.ม.)

        5.     มีการทบทวนบทบาทหน้าที่การแสดงทุกรอบที่ฝึกซ้อม ปรับปรุงให้เหมาะสม

        6.     มีครูเป็นคนแนะนำฝึกสอนนักร้องนำอย่างทุ่มเทด้วยตนเอง และด้วยคอมพิวเตอร์

        7.     มีรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง แบบขยายผล หนึ่ง ต่อ สอง สาม สี่  ห้า

        8.     มีผู้ปกครองให้การสนับสนุน และส่งเสริม ในการรับ-ส่งนักเรียน

        9.     มีสถานศึกษาที่เปิดโอกาสให้ครูได้ทำงาน อย่างสร้างสรรค์ และให้การสนับสนุน 

             

              ทำอย่างไร วงเพลงจึงยั่งยืนมีนักเรียนมาสืบสานได้อย่างไม่ขาดสาย  ข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพยายาม มัวรอให้มีคนเดินมาเข้าวงฝึกหัดเพลงอย่างเดียวคงไม่ได้  ผมต้องหาคนมาแทนรุ่นที่จบไปเอาไว้ล่วงหน้า จะต้องเตรียมการอย่างน้อยก็ 3 ปี ถ้าไม่เช่นนั้นวงเพลงพื้นบ้านจะขาดตอน แล้วต่อไม่ติด (เหลือแต่ชื่อไม่มีตัวตน) แม้แต่มีความพยายามอย่างไร ในทุกปีการศึกษา วงเพลงก็สั่นคลอน สะเทือนกันไปทุกปี   ถึงแม้ว่าจะมีผู้แสดง ออกไปเพียงคนเดียวก็ตาม เริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ กว่าที่วงเพลงจะเข้าที่ก็ประมาณ ต้น ๆ เดือนมิถุนายน หรือกลางเดือนจึงจะสบายใจได้ แต่ก็เป็นอย่างนี้มา 16 ปีแล้ว ครับ 

               ในวันที่ผมเกษียณอายุราชการ วงเพลงพื้นบ้าน ที่ใช้ชื่อว่า  เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ จะมีอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ ถ้าเป็นชาย ก็อยู่ในวัยหนุ่มเต็มตัว ถ้าเป็นหญิงก็เป็นสาวเต็มตัวเช่นกัน อยู่ในวัยที่เข้มแข็งกำลังเบ่งรัศมีน่าชื่นชม แต่มันก็เป็นวัยที่ผมผู้สร้างสรรค์วงการเพลงพื้นบ้านในสถานศึกษา  หมดเวลาในหน้าที่ราชการเสียแล้ว

ชำเลือง มณีวงษ์/รางวัลชนะเลิศ ประกวดเพลงอีแซว ของจังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ. 2525

 

หมายเลขบันทึก: 106310เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อยากให้อาจารย์รักษาไว้ น้าน...นาน

คนเก่า (ที่ยังไม่แก่มาก) จ๊ะ

  • ก็จะรักษาสิ่งนี้เอาไว้จนตลอดชีวิต
  • และยินดีที่จะถ่ายทอดไปยังเยาวชนทุกสถานศึกษาที่สนใจ

อยากให้อาจารย์รักษาไว้นานๆ แล้วก็อยากบอกท็อปว่าสู้ๆ นะเพื่อนรัก

วิธีรับสมัคนักเรียนวันที่เท่าไหร่ครับอาจารย์ ติดต่อด.ช.ชาคริต เทียนสมใจ

ได้ที่ [email protected] ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับอาจารย์

ทุกๆท่านที่เคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท