AAR ตลาดนัดความรู้สู่คณะคุณภาพ มรภ.สุราษฎร์ธานี


KM ไม่ทำไม่รู้จริงๆ

          เมื่อวันที่  19-20  ธันวาคม  2548  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี  ได้จัดกิจกรรมขยายผลการจัดการความรู้  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สืบเนื่องมาจาก โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สคส. กับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 13  แห่ง  ซึ่งลงนามร่วมกันเมื่อวันที่  12  กรกฎาคม  2548  เพื่อเป็นการแสดงเจตน์จำนงที่จะร่วมมือทางวิชาการ ในการใช้การจัดการความรู้สู่การพัฒนาพันธกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายแห่งความร่วมมือกันดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญ ดังนี้คือ
          1.ร่วมมือในการฝึกอบรมและพัฒนาคณะจารย์ให้มีความรู้ความเข้าใจ เจตคติและทักษะในการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยกระบวนการจัดการความรู้
          2.ร่วมมือศึกษา  ค้นคว้า วิจัย พัฒนาการเรียนการสอน และการพัฒนาหลักสูตรด้วยกระบวนการจัดการความรู้สู่การประยุกต์ใช้และเผยแพร่
          3.ร่วมมือในการติดตาม  ทบทวน เพื่อการประเมินผล การนำกระบวนการจัดการความรู้ไปปฏิบัติจริงในการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
          ทาง มรภ. สุราษฎร์ธานี  ใช้ชื่อกิจกรรมครั้งนี้ว่า  “ตลาดนัดความรู้สู่คณะคุณภาพ”  ซึ่งจัดโดย กองแผนงานและนโยบาย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี  ณ  กระบี่ มาริไทม์  สปา แอนด์  รีสอร์ท  จังหวัดกระบี่  ผู้เข้าร่วมทั้งหมด  60  คน  ประกอบด้วย คณบดี รองคณบดี  อาจารย์  จากทั้ง 6 คณะของ มรภ.สุราษฎร์ธานี  กิจกรรมครั้งนี้ เป็นการต่อยอดขยายผลการจัดการความรู้ ให้เกิดขึ้นภายใน มรภ.สุราษฎร์ธานี  โดยมีวัตถุประสงค์ คือ  1. เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้บริหารและอาจารย์ในคณะ   2. เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการกับองค์ความรู้  3. เพื่อให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบครบวงจร  4. เพื่อให้มีการถ่ายทอดความรู้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ   ซึ่งรูปแบบกระบวนการตลาดนัด  ทางผู้จัดได้ใช้กระบวนการแบบเดียวกับที่ สคส. ใช้  โดยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นวิทยากรนำกระบวนการ คือ ผู้ที่เข้าร่วมตลาดนัดความรู้   การจัดการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศของผู้เรียนและชุมชน  เมื่อวันที่ 9-11  ตุลาคม  2548  ณ  โรงแรมรอยัล ซิตี้ กรุงเทพฯ  กิจกรรมและกระบวนการดังกล่าว ค่อนข้างรื่นไหล บรรยากาศเป็นกันเอง  สนุกสนาน  ผู้เข้าร่วมฯ ให้ความร่วมมือและสนใจที่จะเรียนรู้อย่างเต็มที่

      
       บรรยากาศของตลาดนัดความรู้              การสกัดขุมความรู้จากเรื่องเล่า

         และต่อไปนี้ คือ  AAR  ของผู้เขียน
          1. ความคาดหวังหรือวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้  คือ  ไปเป็นพี่เลี้ยงและเป็นที่ปรึกษาให้กับทีมวิทยากรและคณะทำงานผู้รับผิดชอบโครงการ
          2. สิ่งที่ได้รับเกินความคาดหมาย คือ  ได้เห็นคณะวิทยากรและคณะทำงานที่มีความตั้งใจอย่างสูง  และสามารถดำเนินการออกมาได้ดี  ที่สำคัญมีการทำงานเป็นทีม    ไม่ว่าจะเป็นทีมประสานงาน  ที่บริหารจัดการทั้งคน  เวลา  สถานที่  วัสดุอุปกรณ์อย่างพร้อมสรรพ  ทีมวิทยากรก็มีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี  มีการประชุมพูดคุยกับทำความเข้าใจกันหลายครั้งทีเดียว  แต่ละคนเตรียมตัวและทำหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดี  ที่สำคัญ มีการกำหนด วิทยากรประจำกลุ่มด้วย  โดยทำหน้าที่เหมือนกับเป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มย่อย  ซึ่งทีมวิทยากรกลางกับวิทยากรประจำกลุ่มย่อย จะมีการประชุมและ AAR  ร่วมกันตลอดเวลา  ทำให้ทีมวิทยากรได้รับรู้ถึงความเข้าใจและปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการของตลาดนัดความรู้ได้อย่างทันท่วงที 
          การเตรียมการเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า  การเริ่มต้นการจัดการความรู้  โดยให้ลงมือปฏิบัติจริงๆ เลยนั้น  มีประโยชน์มาก  คณะวิทยากรได้บอกกับผู้เขียนว่า  ครั้งแรกที่เข้าร่วมตลาดนัดความรู้ที่ สคส. เป็นวิทยากรให้นั้น  ก็พอจะเข้าใจกระบวนการบ้าง  แต่เมื่อลงมือเป็นวิทยากรเองนั้น  ยิ่งทำให้เข้าใจกระบวนการจัดการความรู้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ตรงนี้จึงเป็นความภูมิใจของผู้เขียนมากที่สุด
          3. สิ่งที่ไม่ได้รับหรือได้รับน้อยกว่าที่คาดหมายไว้ คือ  “แก่นความรู้”  เนื่องจากว่า  “หัวปลา” ในครั้งนี้ คือ "คณะคุณภาพ"  ซึ่งค่อนข้างกว้าง  ผู้เข้าร่วมหรือ “คุณกิจ” ก็มีทั้งผู้บริหารและอาจารย์ผู้สอน  จึงเล่าเรื่องกันแบบกระจัดกระจาย  ส่งผลให้ “แก่นความรู้”  ที่ได้จึงมีถึง 20  แก่น  แต่เท่าที่สังเกตเห็นผู้เข้าร่วมรู้สึกพึงพอใจกับแก่นความรู้ที่ได้ 
          4. จะกลับไปทำอะไรต่อ  สำหรับตัวผู้เขียน  คงทำหน้าที่ “คุณประสาน”  เพื่อให้ มรภ. ทั้ง 13  แห่งและผู้สนใจทั่วไป ได้ทราบถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ  ของ มรภ. สุราษฎร์ธานี  และกระตุ้นให้ มรภ. สุราษฎร์ธานี  ได้ผลักดันให้ มรภ.  อื่นๆ  ได้ลงมือ “ปฏิบัติ”  การจัดการความรู้เองบ้างต่อไป  เพราะตอนนี้เรียกว่า  มรภ.สุราษฎร์ธานี  เป็นได้ลงมือเดินหน้านำร่องไปแล้ว  รวมทั้งเพื่อกระตุ้นผลักดันให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือข่าย 13  มรภ.  โดยมี มรภ.สุราษฎร์ธานีเป็นแกนนำ  และอาจจะขยายออกไปยัง มรภ. อื่นๆ  ด้วยต่อไป  ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อเตรียมการที่จะเกิดเป็นเวทีแลกเปลี่ยนระดับประเทศ ในงานมหกรรมจัดการความรู้ ครั้งที่ 3 ต่อไป
          5. หากจะมีการจัดกิจกรรมเช่นนี้ในครั้งต่อไป  จะต้องมีการปรับปรุงอะไรบ้าง  สำหรับตัวผู้เขียนคิดว่า  การกำหนดหัวปลาให้ชัดเจนและการเตรียมบทบาท “คุณอำนวย”  กับ “คุณลิขิต”  มีความสำคัญอย่างมาก  เพราะจะทำให้กระบวนการรื่นไหลและได้รับผลที่ดีมากยิ่งขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #อุดมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 10520เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2005 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ไม่ทราบว่า มร.สฎ.ยังดำเนินการ KM อยู่อีกหรือป่าว หน่วยงานของผมเพิ่งจะเริ่ม .... ขอรบกวนคนบ้านไกล้ช่วยดูแลด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท