เมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา อาจารย์อาชีวศึกษาผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการอาชีวะแก้จน ซึ่งเข้ามาเรียนรู้เรื่อง การจัดการความรู้ ครั้งนี้ เป็นความพิเศษกว่าครั้งอื่น เพราะว่าเราจัดให้มี ช่วงวิทยากรภายนอกได้มาเล่าประสบการณ์ ในคืนวันที่ 19 ธันวาคม นั่นก็คือ คุณเดชา ศิริภัทร ผอ. มูลนิธิข้าวขวัญ และคุณชลสรวง พลเสน (ชมพู่) คุณอำนวย (Knowledge Facilitator) ของโรงเรียนชาวนา จังหวัดสุพรรณบุรี มาเล่าที่มาที่ไปของโรงเรียนชาวนา เล่าบทบาทคุณอำนวยในกระบวนการทำงานกับชาวนา ในช่วงกลางคืนก่อนวันดูงานจริงเป็นการ ไกด์ทาง แนวคิด วิธีคิด กระบวนทัศน์ที่ซ่อนอยู่ลึกๆในการะบวนการสร้างโรงเรียนชาวนา
การดูงานของเราเริ่มตั้งแต่เช้าออกเดินทาง โดยนัดหมายกับผู้นำทาง คือ คุณเหรียญ ซึ่งเป็นคุณอำนวยในพื้นที่อำเภอเมือง ได้ขับมอเตอร์ไซด์ นำเราเข้าไปในพื้นที่ ช่วงหนึ่งที่นำทางรถคณะดูงานแบบย้อนศร เล่นเอาอาจารย์อาชีวะเสียวไปตามๆกัน
เริ่มด้วยการไปดูแปลงนาของสมาชิกนักเรียนชาวนา ในนามีต้นข้าวที่อยู่ในระยะใกล้เก็บเกี่ยวได้แล้ว ประมาณ 6 ไร่ ทราบว่าเป็นแปลงที่ปลูกโดยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว ปลูกดำด้วยเทคนิค "การดำต้นเดียว" และดูแลโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆแม้แต่ปุ๋ยเคมี แต่ให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเตรียมดิน เน้นความสมบูรณ์ของธาตูอาหารในดินที่เกิดจากขั้นตอนการหมักฟาง การย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ เหล่านี้เป็นต้น สภาพต้นข้าวที่เราไปเห็นค่อนข้างสมบูรณ์ที่เดียว เปรียบเทียบง่ายๆกับแปลงนาที่ติดกัน ผลงานต่างกันมากครับ จากการซักถามทราบว่าสมาชิกนักเรียนชาวนาจองเมล็ดข้าวจากแปลงนี้หมดแล้ว เพื่อเอาไปทำพันธุ์ปลูกในฤดูกาลถัดไป
แล้วเราก็เดินทางต่อไปคุยกันที่บ้านอดีตผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านนาโพธิ์ อ.เมือง จ. สุพรรรณบุรี ทีนี่แหละครับที่เป็นสถานที่ของโรงเรียนชาวนา อย่าเพิ่งแปลกใจนะครับ บางท่านอาจจะคิดว่าห้องเรียนก็อยู่ใต้ถุนบ้านลุงบุญมา ถูกครับ แต่ถูกไม่ทั้งหมด ตรงนี้เขาเอาไว้มาคุยกัน แต่เวลาปฏิบัติเขาจะลงไปในแปลงนา แปลงปุ๋ย เพราะฉนั้น เวลาส่วนใหญ่ของเขาจะลงมือทำมากกว่า ไม่ใช่มาคุยกันเฉยๆ แล้วไม่กลับไปทำอะไรนะครับ
วันนี้เป็นวันนัดเจอกันเพื่อพูดคุยประจำสัปห์ดา คือ ทุกวันอังคาร จะมารวมตัวกันที่ บ้านลุงบุญมา วันนี้เดิมเขาเตรียมเรื่องการเตรียมและจัดหาวัตถุดิบในการทำปุ๋ย แต่เขาจะคุยกันจริงๆในตอนบ่าย หลังจากที่คณะดูงานกลับแล้ว เพราะไม่คุ้นเคยที่จะคุยกันเพื่อให้คนอื่นนั่งดู ชาวนาบอกว่ามันรู้สึกไม่ค่อยดี ลุงบุญมาเล่าให้คณะของเราฟังว่า เกิดโรงเรียนชาวนาขึ้นมาได้อย่างไร มีวิธีคิดอย่างไร จึงได้หันมาทำเกษตรกรรมแนวเศรษฐกิจพอเพียง ลดยา ลดปุ๋ยเคมี ทำพันธุ์ข้าวขึ้นเอง การทำให้ดินมีชีวิตก่อนการปลูกข้าว เรื่องราวความประทับใจสุดๆ ของนักเรียนชาวนาที่มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายรายงาน ต่อสมเด็จพระเทพฯ เขาเล่าถึงเรื่องการถวายความรู้เชิงปฏิบัติเรื่องการคัดพันธุ์ข้าว และได้เมล็ดข้าวที่พระองค์ทรงทดลองคัดมาไม่กี่เม็ด นักเรียนชาวนารีบกลับมาเพาะในคืนนั้นวันเดียวกับที่ได้ถวายรายงาน เพราะเชื่อในความเป็นศิริมงคล ปรากฎว่า มีเพียงข้าวเม็ดเดียวเท่านั้นที่งอกเป็นต้นขึ้นมา เขาเฝ้าฟูมฟัก เลี้ยงดูอย่างดี ขนาดกางมุ้งกันแมลง รอให้ออกรวงเพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อ เป็นหลายๆต้นจนกว่าจะพอแจกจ่ายแก่เพื่อนสมาชิกโรงเรียนชาวนาทั้งหมด มีการเรียกชื่อกัล่วงหน้าว่า "ข้าวพันธุ์ประทุมฯทรงคัด" ที่ได้เกินคาดครูอาชีวะได้ซักถามขอสูตรปุ๋ยชีวภาพ เกินคาดครับ มีสูตรใหม่พิเศษ เช่น สูตรแทนปุ๋ยยูเรีย คือ ใช้มะพร้าวขูด น้ำมะพร้าว หน่อและเง้าของกล้วยน้ำว้า กากน้ำตาลหมัก หมักทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน จากนั้น เอาไปเจือจางผสมน้ำสัดส่วน 1 ต่อ 20 ลิตร พ่อบุญมาบอกว่าวันรุ่งขึ้นต้นไม้งามใบเขียวเลยละครับ
เมื่อกลับมายังโรงแรม 2000 บุรี เรามาทำ AAR (After Action Review) กัน การจัดการความรู้ของโรงเรียนชาวนาที่นี่เขาเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่ทุกคน เห็นคล้ายกันมาก คือ เป้าหมาย หรือ ธงของโรงเรียนชาวนา ลดรายจ่าย ที่เกิดจากการพึ่งพาความรู้ภายนอก (เช่น ยา สารเคมี ปุ๋ยเคมีฯลฯ) แต่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ "พึ่งพิงความรู้ของชุมชนเอง" โดยมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำต่อเนื่อง สกัดความรู้เดิมที่ชาวนามีรวบรวมเป็นเรื่องเป็นราว เรียนรู้เรื่องใหม่จากข้างนอกชุมชน ผสานเข้าด้วยกันจนกลายเป็นความรู้ใหม่ของตัวเองเพิ่มขึ้นมา เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าว ตัวอย่างเช่น ลุงนคร เห็นเม็ดข้าวที่ไหน ไม่ว่าของชาติใด ก็สามารถนำกลับเอามาพัฒนาพันธุ์ตามที่ตัวเองต้องการได้
จนอาจารย์อาชีวะบอกว่า นักเรียนชาวนาสอนครูเกษตร (จากอาชีวะ) แบบต่อหน้าต่อตา เห็นความสำคัญของการเรียนรู้โดยตัวชาวบ้านเอง เห็นบทบาทสำคัญของคุณอำนวย (Knowledge Facilitator) เห็นช่องทางที่จะเอาไปปรับใช้ในสถาบันอาชีวศึกษา โรงเรียนชาวนา ถือว่า เป็นฐานการเรียนรู้ที่ดีระดับ 5 ดาวเลยทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับ คนที่สนใจนำการจัดการความรู้ และตั้งใจนำเอาไปทำจริง ไม่นับคนที่อยากรู้ KM เพื่อเป็นอาหารสมองเฉยๆ