ดอกบัวที่ภูตอง


ปรัชญาดอกบัว

   ดอกบัว  เป็นดอกไม้น้ำที่มีสีหลากหลายและสวยงาม  บางชนิดมีกลิ่นหอม  ดอกบัวมีความผูกพันธ์กับคนไทยหลายประการ   สังคมไทยมีวิถีชีวิตผสมผสานกับน้ำ  บางครั้งเราเรียกว่าวิถีแห่งชาวน้ำ  เช่น มีอาชีพเกี่ยวข้องกับน้ำ  (ทำนา)  มีการคมนาคมทางน้ำมาก่อน มีพาหนะเป็นเรือ  นิยมปลูกบ้านริมน้ำ  เป็นต้น  ดอกบัวเป็นไม้น้ำ  จึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีไทย  เช่น  การนำเอาดอกบัวไปเป็นสัญลักษณ์แห่งการแสดงความเคารพสิ่งที่นับถือสูงสุด  ด้วยการนำเอาไปเป็นเครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัย  หรือการนำไปเป็นเครื่องหมายแทนสัญลักษณ์แห่งความรู้สึก  แทนความรัก  การนับถือ  การนอบน้อม  เพราะความเป็นดอกไม้มีรูปลักษณ์เหมือนหัวใจ  เป็นต้น

   แนวคิดทางพระพุทธศาสนา  เปรียบมนุษย์เหมือนดอกบัว เป็นสี่เหล่า  คือ     เหล่าที่หนึ่งเรียกว่า  ปทปรมะ เปรียบได้กับผู้ที่มีปัญญาโง่เขลา เหมือนบัวที่อยู่ในโคลนตม ดำเนินชีวิตแบบไร้สติขาดปัญญาและประกอบด้วยความเป็น มิจฉาทิฏฐิ  จะมีชีวิตถูกอำนาจแห่งความเป็นผู้กิเลสหนาตัณหาจัด  กำหนดเส้นเดินของชีวิตให้  มักตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ที่ขาดการยับยั้ง   เป็นชีวิตที่มีอวิชชามากกว่ามีปัญญา มีชีวิตเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการเท่านั้น ซึ่งเปรียบได้กับบัวที่ยังอยู่ในโคลนตม ที่มีชีวิตเป็นประโยชน์เพียงแค่เป็นอาหารของสัตว์น้ำ เหล่าที่สอง เรียกว่า  เยยะ   เปรียบได้กับผู้ที่มีสติปัญญาฉลาดปานกลาง พอที่จะสั่งสอนและแนะนำได้หรือเวไนยสัตว์ สามารถสร้างพัฒนาการได้  ด้วยการปลูกศรัทธา  ฝึกฝน  สร้างสัมมาทิฏฐิ  เป็นกลุ่มที่พอจะมีชีวิต มีอนาคต  เพระการเรียนรู้และอดทนฝีกฝน  เปรียบเหมือนบัวที่อยู่ใต้น้ำ  วันหนึ่งจะบาน  บัวเหล่าที่สาม  เรียกว่า วิปจิตัญญู  เปรียบได้กับผู้ที่มีความฉลาดรอบรู้พอควร   แต่ต้องอาศัยพัฒนาการด้านอื่นๆ  มาเป็นต้นทุนชีวิต  เป็นชีวิตที่พร้อมจะรับสิ่งใหม่  ไม่เป็นชีวิตแบบชาล้นถ้วย  แต่ภาชนะที่พร้อมจะรองรับสิ่งดีๆ   ไม่นานชีวิตที่ดีจะมาถึง  เปรียบเเหมือนกับดอกบัวที่อยู่เสมอน้ำ   ไม่นานนักก็พร้อมที่รับการทอแสงแห่งอรุณ  และเบ่งบานรับเอาแสงที่มีคุณค่ามาใส่ตัว  บัวเหล่าที่สี่  เรียกว่า อุคฆติตัญญุ   เปรียบได้กับผู้ที่มีความฉลาดมาก เมีสติปัญญาหลักแหลม  เรียนรู้ได้เร็ว ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ  เข้าใจและเข้าถึงสิ่งสมมติได้   เปรียบหมือนบัวที่พ้นน้ำแล้ว  พร้อมจะรับแสงทองแห่งชีวิต  ที่เปรียบได้กับแสงแห่งอรุณ

   ชีวิตถ้ายึดแนวทางปรัชญาแห่งดอกบัว  ก็จะทำให้เห็นว่า  ความแตกต่างมันมีเพราะตัวเราเป็นผู้กำหนด (กรรม)  ชีวิตอาจมาจากดิน  ไม่จำเป็นต้องเป็นดินเสมอไป  ถ้าเชื่อว่ามนุษย์คือสัตว์พัฒนาการ  แต่พัฒนาการอาจต้องใช้เวลา   เพื่อที่จะนำพาตนไปสู่ความเป็นบัวที่พร้อมจะรับแสงทองแห่งอรุณ  บางคนโชคดีรู้ว่าตนเป็นบัวเหล่าไหน  ก็รีบแก้ใขเยียวยา  บางคนรู้ว่าเป็นเหล่าไหนขอเวลาทำอย่างอื่นก่อน  (อาจไม่ได้บาน)  บางคนไม่รู้เลยว่าตนเองเป็นดอกไม้ประเภทใด  ที่โชคร้ายที่สุด  คือผู้ที่ประเมินตนเป็นดอกฟ้า  แต่ใช้ชีวิตคล้ายดอกหญ้า

คำสำคัญ (Tags): #บัวสี่เหล่า
หมายเลขบันทึก: 104082เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2007 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท