การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ GotoKnow


ในระหว่างที่รอ Blogging Statistics API นี้ (ไม่ได้กดดันนะครับ) ผมลองพยายามจะหาข้อตั้งสมมุติฐานหลายอย่าง เกี่ยวกับการเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ GotoKnow

การเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ขึ้นกับระยะเวลาการเป็นสมาชิก GotoKnow มา และเขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอ 

  • การใช้งานมานานและเขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้บันทึกผ่านตามวลสมาชิกมาก บันทึกเก่าก็มีโอกาสไปขึ้นที่หน้าแรกผ่านบันทึกสุ่มแสดงด้วยอัตราที่สูงกว่า หากมีปริมาณบันทึกมาก
  • เมื่อสมาชิกได้อ่านบันทึกแล้วชอบในประเด็น ในอรรถประโยชน์ของบันทึก ในสไตล์การเขียน ในความเป็นกันเอง ฯลฯ ก็จะรับบล๊อกนั้นเข้าแพลนเน็ตของตน แพลนเน็ตเป็นเครื่องมือหลักของ GotoKnow ที่ช่วยให้สมาชิกรู้จักกัน และ ลปรร.กันได้เหมือนเครือญาติเพื่อนฝูง เป็นการแสดงความยอมรับกันในขั้นแรก
  • เมื่อมีบันทึกใหม่เกิดขึ้นในบล๊อกนั้นๆ สมาชิกผู้ที่รับบันทึกเข้าไปไว้ในแพลนเน็ต ก็จะได้อ่านและ ลปรร.
  • หากไม่ได้รับบล๊อกเข้าแพลนเน็ต หน้าแรกของ GotoKnow เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเชื่อมโยงสมาชิกเข้ากับสมาชิกอื่นๆ ด้วย บันทึกล่าสุด บันทึกที่ได้รับความคิดเห็นล่าสุด บันทึกสุ่มแสดง คำถามที่ตอบล่าสุด คำถามที่ได้รับความเห็นล่าสุด; นอกจากนี้ ทีมงาน GotoKnow ยังคัดสรรสมาชิกตามกฏเกณฑ์ที่ประกาศไว้ เข้าไว้ในกลุ่ม "สคส.- สุดคะนึง - จตุรพลัง" ซึ่งเป็นแพลนเน็ตพิเศษ (ชื่อ unite) ที่แสดงในหน้าแรกด้วย
  • หน้าแรกของ GotoKnow จึงมีความสำคัญมาก ที่จะช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก โดยหน้าแรกก็หน้าที่็มีการเรียกดูสูงที่สุดใน GotoKnow และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน -- จากต่ำกว่า 3% ในต้นปีนี้ จนเป็น 4+% ในเดือนที่ผ่านมา
  • การแก้ไขหน้าแรก จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกัน การปรับปรุงหน้าแรก จะให้ผลต่อสมาชิกสูงสุด

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก เมื่อไม่ได้รับบล๊อกเข้าแพลนเน็ต

  • เช่นที่กล่าวมาแล้ว หน้าแรกของ GotoKnow เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะเชื่อมโยงสมาชิกเข้าหากัน ก่อให้เกิดเครือข่ายทางสังคมระหว่างสมาชิก
  • แต่เนื่องจากระบบ GotoKnow ทำงานแบบ interactive เป็น เว็บไซต์ที่มีพลวัตสูง หน้าแรกจึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา -- ดังนั้น เครือข่ายทางสังคมของสมาชิก ก็ขึ้นกับพฤติกรรมการเข้าชม GotoKnow ด้วย
  • การวิเคราะห์อัตราการเข้าชมแยกตามเวลา พบว่า
    • มีการเข้าชมในวันทำงานมากกว่าในวันหยุดมาก สอดคล้องกับพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไปในเว็บไซต์ในประเทศ
    • อัตราการเข้าชม แปรเปลี่ยนตามเวลา เหมือนกันทั้งวันทำงานและวันหยุด พอจะแบ่งคร่าวๆ ตามเวลาการใช้งานได้เป็น 4 กลุ่มคือ
      • 08:00-12:59 น. -- กลุ่มเช้า (จากที่ทำงาน 5 ชม.)
      • 13:00-17:59น. -- กลุ่มบ่าย (จากที่ทำงาน 5 ชม.)
      • 18:00-22:59น. -- กลุ่มกลางคืน (จากบ้าน 5 ชม.)
      • 23:00-07:59น. -- กลุ่มเวลาประหลาด (จากบ้านและต่างประเทศ 9 ชม.)
    • เท่าที่สุ่มสำรวจ พบความเชื่อมโยงว่าสมาชิกมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยเกาะเป็นกลุ่มตามเวลาที่โพสบันทึก -- เรื่องนี้จะตรวจสอบเพื่อยืนยันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสามารถดึงข้อมูลมาทำ Social Network Analysis ได้
    • พบสมาชิกหลายท่าน ที่เข้า GotoKnow ตามเวลาสะดวก และมีปฏิสันถารไปทั่ว; เรื่องนี้เป็นเรื่องน่ายกย่อง และต้องถือว่าเป็นความพยายาม+ความสามารถเฉพาะตัว
  • หากระบบ GotoKnow จะช่วยสนับสนุนให้บันทึกปรากฏข้ามกลุ่มเวลามากขึ้น ก็อาจจะต้องใช้วิธี time-shifted (deferred posting) โดยหน่วงเวลาการโพสออกไป(อย่างน้อย)ห้าชั่วโมง; การทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ visibility ในกลุ่มเวลาเดียวกันลดลง เนื่องจากบล๊อกที่ได้รับความนิยม มักจะถูกรับเข้าไปอยู่ในแพลนเน็ตแล้ว แต่ deferred posting จะทำให้บันทึกถูกโพสข้ามกลุ่มเวลาไปยังกลุ่มถัดไป เป็นการช่วยให้สมาชิกรู้จักกันมากขึ้น ลปรร.กันได้มากขึ้น
คำสำคัญ (Tags): #gotoknow.org#system news#สถิติ g2k
หมายเลขบันทึก: 101906เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2007 05:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 01:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดีค่ะคุณConductor

  • ขอบพระคุณมากนะคะ   สำหรับข้อมูลการวิเคราะห์ "พฤติกรรมการสื่อสาร"ที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์
  • สงสัยดิฉันคงเข้าข่ายอยู่ในกลุ่ม "เวลาประหลาด"   ด้วยอะค่ะ  แต่ขณะโพสต์  ดิฉันรู้สึกว่าตนเองเป็นปกติสุขดี  : )  
  • และบางทีเน็ตหลุด  ก็ต้องเปิดเข้าไปซ้ำแล้วซ้ำอีก    เลยรู้สึกว่าความพยายามสูงมาก  ถ้าตอนเรียนขยันอย่างนี้คงได้ดิบได้ดีปแล้ว   
  • ดิฉันจะติดตามอ่านต่อไปนะคะ  บางครั้งจะมีศัพท์เฉพาะบางคำที่ดิฉันไม่เข้าใจกระจ่างนัก แต่ก็จะพยายามทำความเข้าใจต่อไป 
  • การได้"เข้าใจ" โลกที่เรามีส่วนร่วมอยู่บ้างนี้  ก็ทำให้รู้สึกมีความสุขดีค่ะ
  • ขอบพระคุณคุณ Conductor มากๆอีกครั้งนะคะ

อาจารย์คะ

เคยสังเกต ในเรื่องบันทึกในแพลนเนตเหมือนกันค่ะหันไปหันมา...จะเลือก Blogger ในดวงใจจากแพลนเนต ก็เกิดข้อสังเกต...

มีข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงเพิ่มอีกหน่อยสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตบางส่วน.....คือ บันทึกของบล็อกเกอร์กิตติมศักดิ์หายไป...ก็ไม่ทราบจะไปหาที่ไหน

กับเดิมเคยเสนอให้เก็บบันทึกที่ได้รางวัลสุดคะนึงไว้หน้าแรกเพื่อจะเป็นตัวอย่างสำหรับคนอื่นๆ ที่สนใจว่าจะบันทึกอย่างไรดี เพราะระยะแรกให้รางวัลจากบันทึก.........แต่ตอนหลังพบว่าเกณฑ์ของบันทึกสุดคะนึง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นกับกรรมการแต่ละเดือน ซึ่งก็ชื่นชมความสามารถของกรรมการแต่ละท่านที่สรรหาทั้งเกณฑ์ทั้งบล็อกเกอร์ได้เก่งมาก......ก็คิดว่าได้รับคำตอบจากข้อเสนอไปโดยปริยาย เพราะสังเกตเห็นว่าด้วยวิธีจัดวางหน้าแรก....บันทึกสุดคะนึง กับ บล็อกเกอร์สุดคะนึง คือความหมายเดียวกัน...

ขอความกรุณาอ่านแล้ว คิดว่าเป็นความเห็นส่วนตัวที่เล่าสู่กันฟังเท่านั้นค่ะ....เพราะไม่อยากเห็นผู้จัดการระบบเสียกำลังใจ..ดิฉันเข้ามาใช้งานฟรีแล้วก็พอใจแล้วค่ะ ไม่ได้เรียกร้องอะไรค่ะ

อาจารย์แอมป์ดอกไม้ทะเล: ความจริงไม่น่าเรียกว่าการวิเคราะห์หรอกครับ น่าจะเป็นข้อสังเกตเสียมากกว่า ถ้าวิเคราะห์ต้องมีข้อมูลจริง หรือ sample set ที่มี margin of errors ต่ำหน่อยครับ เรื่องนี้ก็ต้องต่อคิวการพัฒนาครับ

ที่เรียกว่ากลุ่มเวลาประหลาด odd hours คือกลุ่มนี้มีอภินิหารเหมือนไม่หลับไม่นอนครับ แต่ว่าคนที่อยู่กลุ่มนี้ก็ต้องรู้สึกว่าเป็นปกติสุขดีอย่างแน่นอน เพราะมีพลังมาก : )

เรื่องศัพท์เทคนิค มีคำไหนที่ควรอธิบายเพิ่มไหมครับ ถ้าเป็นเรื่องการแบ่งกลุ่ม ผมหมายถึงแท่งสีฟ้าในรูปข้างล่างครับ จัดกลุ่มได้สี่กลุ่ม

Social Network Analysis คือการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกชนในสังคมครับ คนที่อยู่ในกลุ่ม (cluster) เดียวกัน มักจะมีความสนใจร่วมกัน หากจัดกลุ่มได้ ก็จะช่วยให้เข้าใจความต้องการของผู้ใช้มากขึ้นครับ ว่าเมื่อทำอะไรแล้ว มีกระทบกับใคร-อย่างไร

เรื่อง time-shifted/deferred posting หมายถึงการโพสบันทึกให้ไปปรากฏในอีกห้าชั่วโมงถัดไปครับ มีวัตถุประสงค์คือให้บันทึกปรากฏในกลุ่มถัดไป เรื่องนี้เป็นข้อเสนอเฉยๆ ครับ อาจารย์ธวัชชัยทราบรายละเอียดแล้ว แต่ยังติดคิวการพัฒนาเรื่องอื่น

ที่เสนอไปอย่างนี้เพราะ GotoKnow มีบันทึกใหม่ประมาณ 300 บันทึกต่อวัน แล้วถ้าหากว่าอยู่กันคนละกลุ่ม ก็ไม่เคย "รู้จักกัน" อย่างจริงจัง-ยกเว้นซอกแซกส่วนตัว; การที่มี deferred posting ทำให้บันทึกไปปรากฏในหน้าแรก ทำให้คนในกลุ่มถัดไปได้เห็นบันทึก และอาจเกิดการ ลปรร.ในวงกว้างมากขึ้นครับ -- deferred posting เป็นเพียงข้อเสนอนะครับ

อาจารย์จันทรรัตน์: เรื่องบล๊อกเกอร์กิตติมศักดิ์ และเรื่องรางวัลสุดคะนึงนี่ ผมไม่ทราบจริงๆ ครับ ผมเพียงแต่ทำอะไรไปตามเรื่อง ในฐานะสมาชิก (ซึ่งไม่มีฐานะอื่นใน GotoKnow) -- เดี๋ยวคงมีทีมงานมาให้ความกระจ่างแก่อาจารย์ได้ครับ

เท่าที่คุยมาเป็นครั้งเป็นคราว ผู้บริหารระบบและทีมงานทุกท่านให้ความสำคัญและให้คุณค่ากับ user feedback มากครับ เชื่อว่าความเห็นนี้ ไม่มีทางทำให้เสียกำลังใจหรอกครับ ขอให้อาจารย์สบายใจ

นอกจากชอบเนื้อความในบันทึกนี้แล้ว ยังชอบวิธีการที่คุณ Conductor ตอบคุณ ดอกไม้ทะเล และอ.จันทรรัตน์ มากๆเลยค่ะ ทำให้ได้วิถิปฏิบัติที่ดีๆอีกแล้ว ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ชอบใจจังที่บันทึกในบล็อกคุณ Conductor มาอยู่หน้าแรกค่ะ

เรียนถามคุณ Conductor

เมื่อทราบพฤติกรรมปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ใน GotoKnow แล้ว ในฐานะ Blogger คนหนึ่งจะสามารถในไปใช้ต่อยอดได้ไรได้บ้างครับ?

  • ขอบพระคุณคุณConductor มากๆค่ะ    ดิฉันเข้าใจกระจ่างขึ้นเยอะ
  • ศัพท์เฉพาะวงการเช่นนี้  ดิฉันรู้น้อยมากค่ะ  และเต็มใจที่จะค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเอง   เรื่องนี้น่าเรียนรู้มาก  
  • แต่หากคุณConductor  พิจารณาเห็นว่า บางคำ เป็นศัพท์ที่ควรอธิบายต่อท้าย  หรืออธิบายเพิ่มเติมไว้ในเนื้อความ ตามที่เห็นสมควร  ก็จะขอบพระคุณยิ่ง    
  • และหากดิฉันติดขัดค้นไม่เจอจริงๆ  ก็จะขออนุญาตรบกวนเรียนถามเป็นคราวๆไปค่ะ
  • อนึ่ง.....  ดิฉันได้พิจารณาแล้วว่า  การอยู่ในกลุ่มอ๊อดฯ   : )  นานๆนั้น อาจทำให้สุขภาพถดถอย    (เพราะจริงๆแล้วดิฉันไม่ใคร่มีพลัง)  จึงอาจกระโดดไปอยู่กลุ่ม กะเช้า  หรือ  กะกลางคืน   บ้างตามความเหมาะสม  
  • จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอะค่ะ  : )    
  • ขอบพระคุณมากๆค่ะ

อาจารย์โอ๋: สิ่งหนึ่งที่ผมชอบ GotoKnow เป็นพิเศษคือสามารถ ลปรร.กับผู้มีความรู้ในวงกว้างของสังคมได้ คุณค่าของข้อความในนี้ จึงปรากฏให้เห็นทั้งในบันทึกและความคิดเห็น สมกับคือว่า "GotoKnow.org - คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้" ครับ

ที่นี่ผมพบบ่อยมากว่าคุณภาพของคำตอบ เริ่มต้นด้วยคุณภาพของคำถาม จะพัฒนาต่อยอดไปได้แค่ไหน ขึ้นกับทัศนคติทั้งของสมาชิก ขึ้นกับระดับความเหมาะสมของสิ่งที่นำมาเขียนเนื่องจากสมาชิกแต่ละท่าน มีพื้นฐานต่างกัน มีความสนใจต่างกัน มีดีต่างกัน

ถ้าผมนำเรื่องในวิชาชีพมาเขียน ก็คงจะมึนไปตามๆ กัน ดังนั้นจึงพยายามเลี่ยงเรื่องที่มีความเฉพาะเจาะจง แต่เลือกสิ่งที่ relate กับชีวิตจริง (ยกเว้นเรื่องการเมือง) มาเขียนครับ 

คุณวิลาศ TheInk: ความจริงเราเคยเจอกันสามครั้งเมื่อคุณเอาเรื่อง wish.in.th มาปรึกษานะครับ ถ้านึกออกว่าผมเป็นใคร ขอให้รักษาความเป็นส่วนตัวของผมไว้ด้วย ถ้านึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร-ดีแล้วครับ

แต่ผมไม่เคยให้คำตอบอะไรคุณตรงๆ เลยใช่ไหมครับคนฉลาดอย่างคุณเรียนรู้ได้เอง คราวนี้ก็เช่นกันครับ กรุณาศึกษาต่อที่นี่ คุณจะได้คำตอบที่ดีกว่าที่ผมตอบเสียอีก

อาจารย์แอมป์ ดอกไม้ทะเล: เรื่องคำศัพท์จะพยายามมากขึ้นครับ คราวนี้ไม่ได้อธิบายมากเพราะเป็นเพียงข้อเสนอ ไม่แน่ว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือว่าเหมาะสำหรับ GotoKnow หรือไม่ (เช่นการให้เจ้าของบันทึกระบุเวลาที่ให้บันทึกปรากฏขึ้นเลยจะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเวลาเป็นอนาคตก็ไม่แสดงบันทึกนั้น จะเหมาะกว่า-เขียนง่ายกว่าหรือไม่) แต่ได้มีโอกาสคุยกับ อ.ธวัชชัย ในรายละเอียดแล้วครับ

ผมคิดว่าในขณะนี้ เวลาที่เหมาะที่สุดที่จะไล่อ่านบันทึกคือช่วงเช้าตรู่แบบครูอ้อยและ early birds ทั้งหลายครับ ครูอ้อยก็เข้ามาตามอัธยาศัยซึ่งผมคิดว่าทำให้ท่านเป็นบุคคลที่กว้างขวางที่ไม่มีชื่ออยู่กับสันติบาลนะครับ

อิอิ..ถูกพาดพิงด้วย..สวัสดีค่ะท่าน..Conductor

  • ครูอ้อยเป็นพวก...ตามใจฉัน  อยากเขียนก็เขียน ..เขียนทุกเรื่องที่นึกออก
  •  อยากอ่านก็อ่าน..อ่านทุกเรื่องที่พบ  ทุกวัย  ทุกประเด็น  ชอบชอบ
  • ไม่มีสโลแกนอะไร...เพียงแต่..ออกมาจากใจ

ขอบคุณค่ะ 

นี่เป็นความลับระหว่างเราสองคนนะครับเนี่ย ผมพาดพิงโดยเจตนา!

ผมเห็นว่าความเพียรพยายามของครูอ้อยน่ายกย่อง การไม่ฝืนทำ ปล่อยให้ออกมาเอง ไม่ต้องตั้งกฏเกณฑ์อะไรบังคับตัวเองนักแบบนี้ แม้คนอื่นอาจจะได้อะไรไปไม่เท่ากัน (หรือบางคนอาจจะไม่ได้อะไรไปเลย) แต่เราไม่ได้เสียอะไรเช่นกันใช่ไหมครับ -- ดังนั้นทำอะไรไปก็จะมีแต่ผลบวก ถ้าไม่บวกก็เสมอตัว-ไม่แย่ลง เป็นความพอเพียงแบบพิสดาร

ผมคิดว่าครูอ้อยเป็นตัวอย่างของผู้ที่มี EQ สูง จึงเรียนเชิญมาให้แง่คิดกับสมาชิกด้วยวิธีการแปลกๆ แบบนี้ คงไม่โกรธนะครับ (กรุณาอย่าเรียกผมว่าท่านเลยครับ)

  • ถูกพาดพิงเหมือนกันครับ
  • พบว่าการคุยในบันทึกนำไปสู่การพบกันและทำกิจกรรมดีๆๆร่วมกันได้
  • ระบบไม่สามารถตรวจพบความห่วงใย น้ำใจ ไมตรีและความเป็นกัลยาณมิตรจากเหล่า bloggerได้
  • ผมใช้ไม่เป็นเวลาเหมือนกันครับ
  • แต่เดินทางไปทั่ว
  • ดีใจที่ได้อ่านบันทึกนี้ได้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก
  • ขอบคุณมากๆๆเลยครับผม
  • แวะมารายงานตัวค่ะว่า  สงสัยตัวเองจะอยู่ในกลุ่มกลางคืนเลยไปถึงเวลาประหลาด   เพราะต้องตรวจงานนักศึกษาที่ learners.in.th ด้วย
  • ข้อดีของกลุ่มเวลาประหลาดก็คือ  บันทึกที่โพสต์ใหม่จะอยู่หน้าแรกนานมากค่ะ  ทำให้เรามีเวลาพอที่จะอ่านงานใหม่ๆของเพื่อนๆ
  • ถ้าเข้ามาช่วงกลางวันก็ติดสอน  แล้วบันทึกเยอะมากอ่านไม่ทันค่ะ
  • ข้อเสียของพวกชมรมนกฮูกก็คือ  สุขภาพอาจจะทรุดโทรมได้ง่าย   ทำให้ต้องไปต่อเวลาในการนอนเฉพาะวันที่ไม่ต้องไปทำงานเช้า
  • แต่ถ้าให้เปลี่ยนเวลาเข้า g2k ก็รู้สึกไม่คุ้นเคยกับเพื่อนๆบางท่านค่ะ  จึงแว๊บๆเข้ามาบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น

สงสัยบันทึกนี้ จะกลายเป็นบันทึกของเหล่านกฮูกแล้วนะครับ

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ผมเชื่อว่า GotoKnow ก็จะยังเป็นสถานที่ให้คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

ขอให้บัณฑิตใหม่ระลึกไว้ว่า วิชาความรู้ที่มีอยู่กับตัวนั้นจะเกิดประโยชน์ได้ ก็ต่อเมื่อรู้จักประสานงาน คือรู้จักติดต่อกับผู้อื่น กับบัณฑิตด้วยกัน กับผู้ที่ทำงานอยู่ก่อนและช่วยเหลือผู้ที่จะมาภายหลังด้วย ก็จะช่วยทำให้สามารถทำงานด้วยกันได้โดยราบรื่น บังเกิดผลดีแก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวม……..

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ๒ กรกฎาคม ๒๕๐๗)


บัณฑิตทั้งหลายเป็นผู้มีขีดความสามารถสูงในการปฏิบัติงาน ในการสร้างเสริมความรู้ ความคิด และศรัทธา สมควรอย่างยิ่งที่จะรับเป็นภาระ ในอันที่จะใช้สติปัญญาความรู้ความสามารถ ประสมประสานกันโดยพร้อมเพรียง ทั้งในการปฏิบัติงานด้านต่างๆของชาติ และในการปลูกฝังความคิดความเชื่อที่ถูกต้อง ให้เกิดมีในประชาชาติไทยอย่างกว้างขวางหนักแน่น.........ข้าพเจ้าได้พูดกับบัณฑิตให้นำเอาความรู้ความสามารถที่มีอยู่ออกไปใช้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาให้เกิดประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองจริงๆ ด้วยความจุดประสงค์ที่จะสั่งสอนถ่ายทอด ความรู้ความฉลาดในทางที่ถูกที่สร้างสรรค์แก่เยาวชนให้อนุชนรุ่น หลังสามารถสร้างตนสร้างส่วนรวมให้มั่นคงและตั้งตัวได้ด้วยความเจริญและก้าวหน้า

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ : ๔ กันยายน ๒๕๑๘)
  • สวัสดีครับ
  • มุมมองเรื่องเครือข่ายทางสังคม หรือกระบวนทัศน์ในเรื่องทุนทางสังคม ที่พัฒนาจากโครงสร้างความสัมพันธ์ และการสื่อสาร ในโลกของความสัมพันธ์การสื่อสารปัจจุบัน น่าสนใจมากครับ
  • ทุนทางสังคม ในโลกของเวปบล็อค และชุมชนออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่พยายามจะสร้างสรรค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมกันเรียนรู้นั้น น่าสนใจครับ
  • ประเมิน ตีความ และวิเคราะห์ ประเด็นแนวโน้ม และทิศทางใหม่ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมนะครับ
  • น่าสนใจมาก
  • โดยเฉพาะ ถ้าสามารถทดลองนำเสนอประเด็น ในตัวตั้งของหัวเรื่องงานศึกษา - กรณีศึกษา
  • โดยเฉพาะ สิ่งที่เรายังไม่รู้ ถึงการแตกหน่อ จากกระบวนการทัศน์ ของเครือข่ายทางสังคมรูปแบบใหม่ ว่าจะมีองค์ประกอบความสัมพันธ์เช่นไร เชื่อมโยงกันได้จริงเพียงใด รองรับตัวตน ความคิดเห็น และการมีอยู่จริงของสถานะทางสังคมในรูปแบบใด จนกระทั่งสุดท้ายคือการยอมรับที่จะให้มีเครือข่ายเช่นนี้อยู่จริง
  • น่าสนใจมากครับ
  • ขอบคุณครับ สำหรับเนื้อหาข้อมูล และสมมุติฐานในข้อเขียนชิ้นนี้
  • ขอบคุณครับ
ไม่ทราบว่าเป็นกลุ่้มไหนเหมือนกัน เพราะต้องบอกเข้าและอ่านได้ตามรายสะดวก คงเหมือนนิตยสารทางวิชาการ ที่จริงๆ มีตารางกำหนด แต่ด้านปฏิบัติเป็นความสะดวกซะงั้น  ต้องแอบบอกว่าเป็นแฟนพันธ์แท้ ของ
P
Conductor  เพราะอ่านแล้วได้ความรู้ทุกบันทึกเลยค่ะ

ขอบคุณคุณคติและอาจารย์สุนีย์ครับ ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร อยู่กลุ่มไหน มาใช้ GotoKnow ด้วยเหตุผลอะไร เพื่ออะไร เขียนบันทึกแบบซีเรียสวิชาการจ๋า หรือสนุกเฮฮาสะท้อนประเด็นชีวิต จะมีใครติดตาม ชื่นชอบหรือไม่ก็ตาม เราก็อยู่ในสังคมเดียวกัน

เป็นความหลากหลายนี้เอง ที่ทำให้ GotoKnow น่าสนใจ เป็นช่องทางที่ให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้เรียนรู้มุมมองต่างๆ ในสังคมครับ

เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.) GotoKnow ลบทุกสถิติอีกแล้วครับ

ส่วนเมื่อวาน (12 มิ.ย.) ก็ทำ new high อีกแล้วครับ

ขออภัยครับพิมพ์ตก

แก้ไขครับ : ขอบคุณทุก ๆ ท่านครับ  ได้ข้อมูลดี ๆ เลยครับ

คุณทุก ๆ ท่านครับ  ได้ข้อมูลดี ๆ เลยครับ

ผมใช้ไม่บ่อยครับ เฉพาะเวลามีเน็ทให้เล่น

และจะเพิ่มบล็อกในทุกอารมณ์ครับ โกรธก็เขียนบันทึก อารมณดีก็เขียนบันทึก ขี้เกียจก็เขียนบันทึก(ขี้เกียจทำงาน)

ถ้าคิดไม่ออก ก็อ่านบล็อกครับ

เท่ห์มากเลยครับ อ.จารุวัจน์
             วิธี time-shifted (deferred posting) โดยหน่วงเวลาการโพสออกไป(อย่างน้อย)ห้าชั่วโมง ....ผมคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์มาก แต่อยากขอคำอธิบายเพิ่มเติมว่าคือทำอย่างไร ผมยังไม่ค่อยเก็ตครับ
สวัสดีครับ...

วิธีการวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อดูเครือข่ายทางสังคมลองเข้าไปอ่านงานวิจัยนี้ หรืองานนี้ดูครับ  อาจจะได้ประเด็นในการวิเคราะห์เพิ่มเติม...น่าจะพอมีประเด็นที่เป็นประโยชน์แก่ GotoKnow บ้าง (อันนี้ผมไม่แน่ใจ)  สำปรับผู้ที่ศรัทธาใน Scientific Method ก็ไม่ควรพลาดครับ

ผมจะลองวิเคราะห์ในมุมมองที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ดูบ้างนะครับ  เพื่อจะค้นหาสิ่งที่คุณ
P ขจิต  กำลังมองหาว่า  มีหรือไม่ในชุมชนแห่งนี้  ซึ่งการนำเสนอผลการวิเคราะห์นี้คงจะสุ่มเสี่ยงต่อข้อหาว่า "ทึกทักเอา" มากพอสมควร  แต่ผมขอยืนยันว่า...เป็นผลการวิเคราะห์ที่กลั่นออกมาจากความรู้สึกแท้ ๆ หากมีโอกาสคงจะได้นำเสนอหลักฐานในโอกาสต่อไป

ขออภัยครับ...มือไปโดน enter โดยสุจริต...ต่อนะครับ

ระบบไม่สามารถตรวจพบความห่วงใย น้ำใจ ไมตรีและความเป็นกัลยาณมิตรจากเหล่า bloggerได้

เป็นข้อห่วงใยของคุณ P ขจิต  อาจจะใช่ถ้าคุณขจิตไม่ได้รวมเอา "คน" ไว้ในระบบ  แต่ระบบในความหมายของผมเป็น "ระบบที่สามารถปรับตัวได้" จึงมีคนรวมอยู่ด้วยครับ  งั้นลองฟังตอบของผมดู...

ความห่วงใย  น้ำใจไมตรี  และความเป็นกัลยาณมิตรจากเหล่า blogger ด้วยกันนั้น  เครื่องตรวจจับของผม (ใช้ความรู้สึกจับ  จากโครงสร้างของการเขียนและภาษาที่ใช้...โม้เสียไม่มี)  รายงานว่า...

ในกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว...จะพบส่งเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก...ซึ่งหากจะสรุปว่า  ชุมชน GotoKnow สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา  ก็ออกจะเป็นการสรุปแบบ "หาดีใส่ตัว" ไปนิสส์หนึ่ง...ถ้าจะมองว่าชุมชน GotoKnow ช่วยเสริมก็เป็นการสรุปที่พอรับได้

แต่สำหรับคนแปลกหน้าอย่างผม...ผมรู้สึกได้ถึงการ "มีไมตรีอย่างระมัดระวัง"  ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับความรู้สึกที่ผมรับได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับ "คนเมือง" ทั้งในที่ทำงานและสถานการศึกษา  เข้าข่ายมีความสัมพันธ์ "ในเชิงการเมือง" ก็ว่าได้...ที่ผมสรุปอย่างนี้ผมพิจารณาจาก...การแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันอย่างอ้อม ๆ โดยการใช้คำว่า "น่าสนใจ" บ้าง "ดี" บ้าง หรือคำประเภทสรรเสริญเยินยออื่น ๆ  ซึ่งถ้อยคำเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิง "มิตรไมตรี" เลย  นอกจากการสื่อความเพื่อ "ประนีประนอม" ตามค่านิยมของสังคมไทย...ซึ่งผมเชื่อว่า..."มิตรแท้ไม่ได้สร้างขึ้นจากความสะดวกสบาย  แต่มิตรแท้จะพบได้เมื่อได้ผ่านเรื่องที่ขัดแย้งกัน  มีการอภิปรายอย่างเปิดเผย  จนทำให้เกิดการยอมรับในเหตุผลของกันและกัน  เมื่อนั้นมิตรแท้จึงจะเกิดได้"  แต่ปรากฏการณ์ที่พบในชุมชน GotoKnow นี้ชี้ไปในทางนั้นน้อยมาก  แม้ในเวทีที่ได้มีการพบปะกันโดยตรง  ก็ยังมีความเข้มข้นไม่พอที่จะละลายจิตใจของคนให้รวมเป็นหนึ่งเดียวได้

หลายท่านอาจจะกำลังมองผมว่า...เจ้าหัวเหม่งนี้ช่างได้รับอิทธิพลจากพวกฝ่ายซ้ายเสียนี่กระไร...ก็ไม่เป็นไรครับ...ยินดีรับฟังความคิดเห็น...นี่แหละสิ่งที่ผมต้องการ...กระตุ้นให้คนไทยแสดงความรู้สึกออกมาตรง ๆ เราต้องผ่านขั้นตอนนี้ไปให้ได้...เราถึงจะก้าวไปถึงดินแดนที่เรียกว่า "ความรู้" ได้  ไม่งั้นเราจะติดอยู่แค่ "กำแพงแห่งความกลัว"

...บทวิเคราะห์...เรื่องเล่า...นิทาน...ความฝัน...วิทยาศาสตร์...ความรู้...หาใช่อื่นใดเลย...ถ้าเราไม่ก้าวออกมาจากกำแพงที่เราใช้ป้องกันตัวเองจากโลกภายนอก...เพราะเหตุผลของความปลอดภัย...ทำลายกำแพงเสีย...หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง...แล้วจะได้เลิกเป็น "มนุษย์มือสอง" กันเสียทีครับ (มนุษย์มือสองคือ  ไม่ยอมออกจากกำแพงไปเผชิญกับประการณ์ด้วยตัวเอง  จึงต้องรอรับข้อมูลจากคนอื่นที่มาในรูปต่าง ๆ เลยไม่รู้ว่าจริง ๆ สิ่งนั้นคืออะไร)

ขออภัยนะครับ...ยาวอีกแล้ว...ตามประสาคนขี้โม้

ครูนงเมืองคอน P : การทำ deferred posting ต้องเขียนโปรแกรมครับ -- feature นี้จะมีหรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่ผู้ดูแลระบบ ส่วนตอนนี้ผมกลับคิดว่า การระบุเวลาที่ให้บันทึกปรากฏขึ้น น่าจะช่วยให้บันทึกของสมาชิกไปปรากฏข้ามกลุ่มได้ดีกว่าเสียอีกครับ

ดร.สวัสดิ์ P : ผมชอบคำว่า "มีไมตรีอย่างระมัดระวัง" ครับ แต่คำนี้ ก็อาจจะไม่ได้มีความหมายในแง่ลบ (ว่าไม่จริงใจ) เสียทีเดียว ผมคิดว่าเป็นปฏิกริยาทางสังคมอันเป็นธรรมชาติ ที่แต่ละคนพยายามจะสร้าง "ตัวตนออนไลน์" ขึ้นมาจากสิ่งที่แต่ละคนคิดว่าสมาชิกในสังคมควรจะเป็น

เชื่อว่าในระยะยาว ก็จะมีความเป็นตัวตนที่แท้จริงค่อยๆโผล่ออกมาทีละน้อย และหากมีการพบปะกันแบบ F2F ก็จะเป็นการเร่งให้ได้รู้จักกันและกันอย่างแท้จริงได้เร็วขึ้นครับ

ไม่ทราบว่าใครคิดอย่างไรนะครับ แต่ผมไม่เห็นว่าความคิดเห็นยาวๆ เป็นเรื่องที่เสียหายเลย ที่จริงแล้วคุณค่าของข้อความ ไม่ควรจจะจำกัดอยู่เฉพาะตัวบันทึกด้วยซ้ำไป สิ่งที่เห็นอยู่เป็นประจำใน GotoKnow.org คือความคิดเห็นที่ให้กันต่อๆ มา ก็มักจะให้ประเด็นที่ดีอยู่บ่อยๆ -- ส่วนเรื่องเจ๊าะแจ๊ะ ซึ่งถ้าไม่ชอบก็อ่านข้ามไปโดยไม่ลำบากเลยใช่ไหมครับ (ผมใช้อีเมลถ้าคิดว่าข้อความที่เขียนไม่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท