วรรณกรรมกับวิชาการ: บุรณาการกับการลดทอน


วรรณกรรมเป็นโลกของการ "บูรณาการ" ในขณะที่วิชาการเป็นโลกของการ "ลดทอน" เพื่อชี้เหตุปัจจัยบางตัวที่มี "นัยสำคัญ" เท่านั้น

เพื่อนเล่าให้ฟังถึงความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมกับวิชาการ  เราคิดว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจมาก

ในโลกของวรรณกรรม  มีเรื่องราว มีรายละเอียด.. มีความรู้สึกของคน  การเคลื่อนไหวของใบไม้ใบหญ้า  สายลม  ..  สิ่งที่เกิดขึ้นผ่านการพรรณาแสดงความสัมพันธ์กันของทุกสรรพสิ่ง ..สายลมกับการแกว่งไหวของใบไม้ นำไปสู่ความรู้สึกสดชื่น หรือเศร้าสร้อยแล้วแต่เหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นกับตัวละคร

รายละเอียดเหล่านั้น .. มีปัจจัยบางตัวเท่านั้นที่จะถูก "กรอง" ผ่านไปสู่ความเป็นวิชาการได้  

ทั้งวรรณกรรมและวิชาการเป็นโลกของการเล่าเรื่องราว สื่อสารบางอย่าง   หากแต่วรรณกรรมเป็นโลกของการ "บูรณาการ" ในขณะที่วิชาการเป็นโลกของการ "ลดทอน"  เพื่อชี้เหตุปัจจัยบางตัวที่มี "นัยสำคัญ" เท่านั้น 

คนที่อยู่ในโลกวรรณกรรม กับคนที่อยู่ในโลกวิชาการ จะคุยกันได้ดีแค่ไหน .....

เราคิดว่า  ในมนุษย์แต่ละคนมีความเป็นวรรณกรรมที่เป็นเรื่องของความรู้สึกละเอียดอ่อนผสมอยู่กับวิชาการที่เป็นเรื่องของเหตุผล...  ก็น่าจะพอคุยกันได้... ถ้าไม่ติด "เครื่องมือ" และ "อัตตา" มากเกินไป

สังคมเองก็ต้องการทั้งวรรณกรรมและวิชาการในฐานะเครื่องมือเพื่อสื่อสารเรื่องราวของสังคม ธรรมชาติ และมนุษย์   และสามารถนำไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่า หรือ แย่กว่า ของสังคมได้

ประวัติศาสตร์บอกเราว่า   วรรณกรรมชิ้นเอกที่กินใจ เปลี่ยนมุมมองของคน  เปลี่ยนสังคมได้ เช่นเดียวกับงานวิชาการเด่นๆหลายชิ้น

ปัญหาคือสังคมนั้นให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ การอ่าน การเรียนรู้ผ่านวรรณกรรมและวิชาการมากน้อยเพียงใด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 101088เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2007 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เรียน อาจารย์ปัทมาวดี ที่เคารพ

พอผมอ่านแล้วก็คิดออกเลยครับ ว่าต้องฝึกสร้างวรรณกรรมและงานวิชาการ ที่ตนเองชอบ จากนั้นค่อยๆเพิ่มทักษะ จนถนัดขึ้น แม้ว่าตอนนี้ผมยังไม่แน่ใจว่าสังคมไทย และสังคมโลก จะเน้นการเรียนรู้ผ่านงานวิชาการ หรือ งานวรรณกรรมก็ตาม แต่สักวันหนึ่ง หากงานที่ผมทำมันเวิร์คนะครับ คงจะมีคนมาหยิบมันเป็นบทเรียนแก่ชีวิตของเขาเอง

ขอบคุณครับ

สังคมเองก็ต้องการทั้งวรรณกรรมและวิชาการในฐานะเครื่องมือเพื่อสื่อสารเรื่องราวของสังคม ธรรมชาติ และมนุษย์

..............................................

   มาสนับสนุนคะ... 

ครับ...ขออีกสักนิสส์...หนึ่งนะครับ...

การแบ่งว่า...งานวิชาการคือการอธิบายความที่ถูกต้องเที่ยงตรง...ส่วนวรรณกรรมนั้นโอนเอนอ่อนไหวดุจไผ่ต้องลม...การคิดในลักษณะนี้เป็นที่นิยมกันมากในนักวิชาการสายโมเดิร์นครับ...สายนี้ได้รับอิทธิพลจากความรู้ที่มีจุดเริ่มต้นตั้งกะศตวรรษที่ 17 โน่น...แรงจริง ๆ นะสายนี้...สามร้อยปียังแรงไม่หาย...

ส่วนนักวิชาการที่มองว่า...ไอ้งานวิชาการจริง ๆ หนะมันไม่มีหรอก...มีแต่ที่เป็น agonistics (ขออภัยคำนี้ไม่ทราบความหมาย  จำเขามีอีกทีหนึ่ง) เท่านั้น...ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม  เรื่องเล่า  นิทาน  ความฝัน  มันเป็นงานวิชาการได้ทั้งนั้น...นักวิชาการที่เพี้ยนแบบนี้...จนแม้แม่นักวิชาด้วยกันในแต่อยู่คนละเผ่าพันธุ์ความคิดยังหงุดหงิดทุกครั้งที่นักวิชาการพันธ์นี้ออกทำการแสดง...นักวิชาการพันธ์นี้มักถูกเรียกว่า...พันธุ์โพสต์โมเดิร์น...

พันธุ์โมเดิร์นด็อก...ก็มันจะมองว่าพวกพันธุ์โพสต์โมเดิร์นด็อกเหลวไหลไร้แก่นสาร...ในขณะที่พันธุ์หลังก็มองว่าพันธุ์ก่อนชอบปั้นน้ำเป็นตัว  ทั้ง ๆ ที่น้ำเป็นของเหลวไหลไปเรื่อย  แต่ก็ชอบสมมติให้น้ำเป็นของแข็ง...

อา...สนุกไหมครับท่านผู้ชม...เราผู้บริโภค (นักเรียน)...ก็เลือกบริโภคได้ตามอัธยาศํย...แต่อย่าลืมอ่านฉลากให้เข้าใจนะครับ...ธรรมดาของนักขายที่ดี...ต้องเชื่อมั่นใจสินค้าของตัวเองอย่างไม่เสื่อมคลาย...ไม่งั้นเวลานำเสนอการขาย...จะไร้พลัง...พาลจะขายไม่ออก...พาลจะไร้ที่ทางทำมาหากินกันพอดี...

...นี่แหละ...เสน่ห์ของตลาด (ทางวิชาการ) เสรี...
ขออนุญาตแสดงความเห็นครับ

ผมว่ามันต่างกันที่จุดประสงค์ครับ

งานวิชาการมุ่งค้นหาความจริง (ถ้าเป็นโพสต์โมเดิร์นก็คือความจริงที่มีหลายแบบ หลายดีกรี หรือวิเคราะห์กระบวนการสร้าง "ความจริง")

นักวิชาการถึงต้องทำวิจัยเพื่อทดสอบทฤษฎี (ในกรณีงานวิิจัยเชิงปริมาณ) หรือเพื่อสร้างทฤษฎี  (ในกรณีงานวิจัยเชิงคุณภาพส่วนใหญ่)

งานวิชาการไม่จำเป็นต้องลดทอนความจริงนะครับ มันแล้วแต่งานวิชาการสายไหน ถ้าเศรษฐศาสตร์ก็รู้ๆกันอยู่ ถ้ามานุษยวิทยาก็มีเป้าหมายหลักคือต้องไม่ลดทอน สื่อความจริงออกมาให้ครอบคลุมที่สุด

.........................

งานวรรณกรรมมุ่งสร้างจินตนาการ (อาจเอาความจริงเป็นฐานก็ได้)

ผู้ผลิตวรรณกรรมไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่างานที่ตัวเองผลิตนั้น "เป็นจริง"

(ถ้าเป็นงาน "ข่าว"  ก็อีกเรื่่องนะครับ อันนั่นต่างที่ระเบียบการวิจัย)

..............................

 ขอหยุดแค่นี้ครับ

แต่ถ้าจะสนทนาต่อว่า "ความจริง" ที่ว่านี้มีจริงไหม แล้วถ้ามันไม่มีความจริงหนึ่งเดียว หรือยังไงยังไงความจริงก็ต้องถูก "แปล" จากนักวิชาการ ทำให้ไม่มี Objective Knowledge

แล้วในสถาณการณ์ต่างๆข้างต้น นักวิชาการจะทำอย่างไร (โดยเฉพาะถ้าความจริงมันมีหลายดีกรี มีหลายแบบ)

คงต้องคุยยาวครับ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

วิธีการ  เป้าประสงค์ และมุมมอง ต่อวรรณกรรมและวิชาการอาจแตกต่างอย่างที่อาจารย์สวัสดิ์และอาจารย์ธรว่า  (ซึ่งดิฉันคิดว่าน่าสนใจมาก)

แต่ดิฉันยังเห็นว่า  สิ่งสำคัญที่สุดคือ  การเป็นประโยชน์  จรรโลงโลกและสังคมให้น่าอยู่ และเป็นธรรมสำหรับผู้คน  นั่นน่าจะเป็นความรับผิดชอบพื้นฐานของคนทำงานวรรณกรรมและงานวิชาการ (รวมทั้งงานอื่นๆ)

 

อาจารย์โชคธำรงค์คะ

เป็นกำลังใจให้กับการมุ่งมั่นฝึกฝนสิ่งที่ตัวเองรักและสนใจค่ะ  

ดิฉันเคยทำงานทั้งสองอย่าง แต่พบว่ามันไปด้วยกันได้ไม่ดีเท่าไร  เพราะเหตุผล "ตัดทอน" จินตนาการ ไปเยอะ    แต่คนอื่นที่ทำทั้งสองอย่างได้ดีก็มีค่ะ

คุณดอกแก้วคะ

พี่คิดว่ากิจกรรมที่สร้างสรรค์ของเด็กรักป่ามีคุณค่าต่อสังคมไม่ต่างจากงานวรรณกรรมค่ะ  ที่สำคัญคือ ต้องใช้จินตนาการ ศาสตร์  ศิลป์ พลังกาย และพลังใจมากทีเดียว

Cheers,

ชอบอ่านวรรณกรรมที่เป็นวิชาการครับ แบบอ่านง่ายสบายและเข้าถึงได้ง่าย

 เรียน อาจารย์ปัทมาวดี ที่เคารพ

พอกลับอ่านบล็อกวันนี้สนุกมากเลยครับ

ขอบคุณครับ

  • ผมก็เห็นเรื่องนี้อยู่พอดีเลยครับ ด้วยเหตุที่ เมื่อผู้รังสรรงานวิจัย งานวิชาการ เริ่มอิ่มตัวกับภาษาที่ไม่มีอรรถรสของตัวละครในงานวิชาการ ขณะที่ฝ่ายวรรณกรรมกำลังพยายามใส่ความจริงที่เป็นวิชาการเพื่อให้ดูหนักแน่นกว่าการจินตนาการและร่ายกิริยา มันจึงกลายเป็น การบูรณาการวรรณกรรมวิชาการ งานวิจัยชุมชนน่าจะทำสิ่งนี้ได้ดีครับ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

แต่ความครึ่งๆกลางๆก็อันตรายนะคะอาจารย์เอก

อันตรายตรงที่คนอ่านต้องแยกแยะให้ออกว่า ตรงไหนคือข้อเท็จจริง ตรงไหนคือจินตนาการ   ข้อเท็จจริงถูกทำให้อ่อน  จินตนาการถูกทำให้แข็ง ...  เพื่ออะไรก็เริ่มงงๆ....

เรียนทุกท่าน 

อาจารย์ภีมเปิดบันทึกวิวาทะในประเด็นนี้ที่ blog / km4fc   ลองเข้าไปอ่านดูนะคะ

  • อันตรายต่อข้างใด ข้างหนึ่ง แต่มีความเป็นสิ่งเฉพาะตัวของศาสตร์นั้น ในส่วนนี้ เหมาะสมกับผู้มีความรู้ในระดับหนึ่งเท่านั้น คือผุ้ที่สามารถแยกแยะความจริงและจินตนาการออกจากกันได้ครับ

ผมเคยคุยกับภรรยาที่สอนสังคมอยู่ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง  เธอพบปัญหาเรื่องการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านสังคมและศิลปที่มีน้อยเกินไป เธอเป็นห่วงว่าเราจะสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นเหมือนหุ่นยนต์ทางวิชาการหรือเปล่า

และผมก็เห็นจริงเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะเมื่อมีการแยกแผนก ระหว่างวิทย์และศิลป  ทำให้ความสำคัญด้านศิลปถูกทิ้งไปในสายวิทย์  และวิทย์ก็ถูกทิ้งไปในสายศิลป์  ผมคงไม่พูดถึงคนเรียนศิลปที่ไม่ได้รู้เรื่องวิทย์นะครับ

ผมกำลังบอกว่า ผมอยากเห็นวิศวกร สถาปนิกที่ออกแบบโครงสร้าง และรูปแบบ  อย่างเข้าใจประวัตฺศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม

ผมอยากเห็นนักวิชาการที่เขียนงานอย่างมีอรรถรสอย่างที่อาจารย์บอก

ระบบการศึกษาหรือเปล่าที่ทำให้เราลืมความเป็นคน ความเป็นมนุษย์  ลืมไปว่าเราทำงานเพื่อใคร สังคม ใช่ไหม  เพื่อสนองจิตใจผู้คนใช่ไหมหนอ

ถ้าเราไม่เข้าใจ หรือรู้จักมันอย่างถ่องแท้แล้วเราจะทำอะไรได้อย่างถูกทางไหม..น่าสงสัย

ผมคิดว่าความรู้ด้านสังคม ศิลป ควรต้องศึกษาควบคู่ไปกับด้านวิทยาศาสตร์หรือวิชาการเสมอ

น่าจะมีใครคิดอย่างนี้บ้าง

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นดีๆนะคะ   ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า  ความรู้ด้านสังคม ศิลปะ ต้องควบคู่กับวิทยาศาสตร์ หรือ วิชาการเสมอ

เพื่อให้จิตใจ  ชีวิตของคนเรามีความสมดุลมากขึ้น และสังคมก็คงสงบสุขมากขึ้น

ความจริง ความงาม ความดี.... เป็นชีวิตที่สมดุลค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท