On education: child-centered VS teacher-centered?


เขียนเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นเรื่องใหม่ น่าสนใจ น่าตื่นเต้นอะไรหรอกครับ ผมรู้อยู่ว่าเรียนแบบเด็กเป็นศูนย์กลางหรือ Child-centered นั้นเป็นเรื่องที่เรารู้ๆ กัน แต่ผมไม่แน่ใจว่าเรารู้เท่ากันและเข้าใจตรงกัน
ผมขอเดาเอาเองนะครับ ว่าการเรียนแบบเด็กเป็นศูนย์กลาง คือการมองที่ความต้องการของเด็กเป็นหลัก และสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ ค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเอง อาจจะหมายรวมถึงการให้เด็กได้คิดกิจกรรมการเรียนด้วยตนเองซึ่งส่งผลให้เด็กสร้างองค์ความรู้ซึ่งมีความหมายกันตัวเขาเอง
ผมเดาต่อเอาว่าการศึกษาแบบเด็กเป็นศูนย์กลางนี้ ได้รับอิทธิพลจากทฤษฏีการเรียนรู้ (epistemology) ที่ชื่อว่า constructivism ซึ่งอธิบายว่าความรู้นั้นเกิดขึ้นจากความรู้ความเข้าใจของบุคคลและกลุ่มคน ซึ่งทำให้อธิบายได้ว่าองค์ความรู้ในแต่ละวัฒนธรรมนั้นมีความแตกต่างกัน การเรียนรู้จึงขึ้นกับบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
พูดง่ายๆ ก็คือ การรับเอาหลักคิดนี้มาใช้ในการเรียนการสอน ก็คือการยอมรับว่าเด็กนั้นสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง และยอมรับในภูมิหลังที่แตกต่างของเด็กเข้าในเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน

Constructivism นั้นดูจะเป็นขั้วตรงข้ามกับ Positivism และ Post-positivism ซึ่งอธิบายว่าความรู้นั้นเป็นของตายตัว เรียนรู้และพิสูจน์ได้ ซึ่งบอกเป็นนัยว่าความรู้นั้น สามารถถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง การเรียนการสอนจึงหมายถึงการส่งต่อข้อมูลจากรุ่นสู่รุ่น จากครูสู่เด็ก

อธิบายแบบนี้พอจะเข้าท่าไหมครับ?
ผมว่าอธิบายแบบนี้แล้ว คงคล้ายๆ กับที่หลายๆ ท่านเข้าใจ และนำไปสู่ความเข้าผิดที่ว่า การเรียนแบบเด็กเป็นศูนย์กลางนั้นเป็นคนละขั้วกับการเรียนแบบให้ครูเป็นศูนย์กลาง ออกแนวว่าต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง นั้นคือ ถ้าเลือกให้เด็กเป็นศูนย์กลางแล้ว ครูต้องออกมาเป็นคนคุมเชิง แนะนำโน่นนี่ แต่ไม่ไปสอนเขาตรงๆ หรือถ้าเลือกการเรียนแบบครูเป็นศูนย์กลาง เด็กต้องสงบปากสงบคำ อย่าหวังที่จะมีปากมีเสียงในชั้นเรียน

หลายๆ ครั้งเราทึกทักเอาว่าทฤษฏีใหม่ๆ จะเป็นคำตอบให้กับทุกคำถาม เป็นทางออกให้กับเด็กไทย แต่ก็ต้องพบว่าไม่มีทฤษฏีไหน หรือเทคนิคใหม่อะไรที่ช่วยเราได้ในทุกๆ สถานการณ์ ซ้ำร้ายกว่านั้น เราถามผิด ก็เลยไม่เจอคำตอบ

คุณ Jeanne Ormrod ไม่ได้ตั้งคำถามเหมือนที่ผมถามไว้ว่าตกลงเราจะให้เด็กหรือครูเป็นศูนย์กลาง แต่ถามว่าวิธีการไหนจะช่วยให้เกิดการ ”เรียนรู้” ได้ดีที่สุด คำถามนี้ไม่ได้มองที่ทฤษฏี ไม่ได้เน้นที่เด็กหรือครู แต่มุ่งไปที่เทคนิคการสอนในบริบทที่ต่างกันไป ความหมายของการเรียนรู้นั้น คือมีการเปลี่ยนแปลง และสามารถแสดงออกได้ นั่นคือผู้เรียน (1) ได้รับความรู้ใหม่ (2) จดจำความรู้นั้นได้และ (3) สุดท้ายคือนำมาใช้ได้
พูดอย่างยาวๆ ก็คือว่า เรามองว่าจะนำเสนอเนื้อหาวิชานั้นๆ อย่างไร ให้ผู้เรียนรับรู้ และจดจำได้ดี จากนั้นก็ต้องให้ผู้เรียนเชื่อมโยง และต่อยอดความรู้นั้น เพื่อจะนำกลับมาใช้ได้ใหม่

ดังนั้น แทนที่จะเถียงกันว่าเวลาเราจะสอนให้เด็กรู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ เราจะให้ครูสอน หรือให้เด็กไปหาเอาเอง ก็น่าจะมองหาวิธีที่ทำให้เด็กจำได้ดีที่สุด เช่นการยกตัวอย่างประโยคในชีวิตประจำวัน หรือการยกศัพท์ที่มีความหมายคล้ายกันให้เด็กได้เปรียบเทียบ แน่นอนครับ จะให้เด็กหาคำคล้าย หรือครูจะบอก มันก็ไม่ได้ต่างกันแล้ว ในเมื่อเรารู้หลักการว่าการสอนศัพท์หลายๆ คำที่มีความหมายเชื่อมโยงนั้นดีกว่าสอนแบบแยกเป็นคำโดดๆ

หรือหลักการง่ายๆ อย่างเช่น เรารู้ว่าการทบทวนนั้นช่วยให้จำได้ดีขึ้น ครูควรจะทบทวนหัวข้อเก่า ก่อนขึ้นหัวข้อใหม่ต่อไป (อันนี้เอาครูเป็นศูนย์กลาง) ในขณะเดียวกัน เรารู้ว่าการเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ก็ช่วยให้จำได้ดีขึ้น ดังนั้นการแนะให้เด็กลองหาตัวอย่างจากชีวิตจริง ในสิ่งแวดล้อมที่บ้านเขาเอง ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ (อันนี้เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง)

อีกตัวอย่างก็คงเป็นตัวผมเอง สมมติถ้าผมต้องอ่านหนังสือเรียนสักเล่มหนึ่ง ผมจะพยายามมองว่าสามารถจะวาดหัวข้อต่างๆ ในหนังสือออกมาเป็นแผนภูมิ หรือที่เขาเรียกว่า mind map ได้ไหม ถ้ามันเข้าท่าก็จะวาด ถ้าไม่เข้าท่าก็เลิก แต่ถ้าผมต้องเรียนวิชาสถิติ ผมก็ต้องเตรียมตัวอ่านไปก่อน ตั้งใจฟังในห้อง และกลับมาทบทวน แต่รู้แน่ๆ ว่าถ้าไม่ฟังในห้องจะลำบาก สรุปง่ายๆ คือมีการรุกและรับไปในการเรียน ทั้งหมดทั้งปวงก็เพราะหวังว่าจะเป็นวิธีที่ทำให้จำ และเข้าใจ และเอามาใช้ได้

ผมแก้เรื่องนี้กลับไปกลับมาอยู่หลายรอบ พยายามจะยกตัวอย่างบ้าง แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันตอบอะไรไม่ได้มากนัก ซึ่งนั้นก็เป็นการยืนยันว่าบันทึกอันเดียวตอบอะไรไม่ได้ทุกอย่าง มันไม่มีขาวและดำ ออกจะเทาๆ  เขียนไปผมก็ทำความเข้าใจกับตัวเองไป

เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็เชิญแลกเปลี่ยนกันโดยพลันนะครับ

อ้างอิง: Human Learning (2008, 5th edition) textbook by Jeanne Ormrod

หมายเลขบันทึก: 160422เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2008 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • ผมมองว่ามันเป็น dilemma นะครับคือ ไม่ว่าอะไรที่มันต่อท้ายด้วย center แสดงว่ามันย่อมมี marginal อยู่
  • และไอ้สิ่งที่ข้ามไปนั่นคือ relation อย่างที่คุณแว้บว่า อันนี้เห็นด้วยว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมาก
  • ผมไม่รู้ว่าเจ้าของทฤษฎีเค้าว่าอย่างไร เพราะผมไม่ชำนาญทฤษฎีนะครับ แต่เดาๆในแง่บวกว่า เค้าคงพูดถึง relation เหมือนกัน คือไม่ได้แยกส่วนกันนะครับระหว่าง เด็กกับครู หรือ Center กับ marginal แต่คนไทยอาจจะแปลมาผิด ก็เลยเหมาไปว่าเขาแยกส่วน  ที่จริงอาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่ "ความคับแคบ" ของโครงสร้างภาษาทำให้ผู้เขียนสื่อสารออกมาลำบาก 
  • ถ้า child-centered ก็ดี หรือ teacher-centered ก็ดี มันวางอยู่บนรากฐานการคิดแบบปัจเจก ผมเห็นด้วยกับความคิดว่าสิ่งที่จะทำให้ก้าวข้าม dilemma นี้ได้คือทะลุมิติมันไปเลย ให้เป็น participation แบบที่เน้นความเสมอภาค (เพศ, วัย, ศาสนา, ชาติพันธุ์, ชนชั้น, ฯลฯ)และสุขภาวะในการเรียนรู้ให้มากขึ้น
  • ผมใช้โจทย์ใหม่ตอบโจทย์เก่าของคุณแว้บ แต่โจทย์นี้จะมีคนคิดต่อด้วยคงดีนะครับ

 

 สวัสดีครับพี่วิสุทธิ์

เรื่องมองอะไรขาวกับดำ มองสุดโต่ง ไม่เห็นทางเชื่อมแบบที่พี่ว่านี้ มีอยู่ทุกที่ทุกแห่งในโลกละครับ นึกว่าฝรั่งดีอย่างนั้น เก่งอย่างนี้ คนเราที่ไหนก็มี รัก โลภ โกรธ หลง เหมือนกันละครับ
ผมเห็นต่างกับพี่ว่าภาษาไทยไม่ได้คับแคบกว่าภาษาอื่น แต่เห็นว่าภาษาแต่ละภาษาโครงสร้างต่างกัน จะเก่งหลายๆ ภาษานั้นยากครับ ยิ่งเก่งแปลจากหนึ่งภาษาเป็นอีกภาษานั้น ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
จริงๆ แล้วทฤษฏีการศึกษาก็แบ่งเป็นยุคชัดเจน คือเริ่มจาก พฤติกรรมนิยม (behaviorism) มาเป็นทฤษฏีการรับรู้ (cognitivism) จนตอนนี้ก็กำลังเห่อเรื่อง constructivism กับ constructionism ซึ่งผมไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่ายังไง แต่ละครั้งที่มีการเอาทฤษฏีใหม่มาพูด ก็เห่อตามกันไปว่าจะช่วยให้เด็กเก่งขึ้น สอนได้ดีขึ้น แต่ก็วนเวียนอยู่เหมือนเดิม ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นตลอด (หรือเป็นเพราะปัญหามันคู่กับชีวิต?)

เรื่องโจทย์ที่พี่ให้ไว้นี่เป็นเรื่องน่าสนใจนะครับ ตอนนี้โลกเชื่อมกันด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ห้องเรียนก็เข้าไปอยู่ในนั้น ความแตกต่างก็ยิ่งมากขึ้น คนยิ่งเห็นความต่างมากขึ้น แต่ผมสงสัยว่าความอดทนเราน้อยลงหรือเปล่า? คนเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกขึ้น แต่ความรักถิ่นฐานน้อยลงหรือเปล่า?

เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่ท้าทายการศึกษาอย่างมากนะครับ ผมว่า, ว่าไหมครับ?

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ

สวัสดีด้วยความระลึกถึงยิ่งค่ะอาจารย์วสะ

  • อาจารย์เอาเรื่องสนุกมาฝากอีกแล้ว  : )
  • ความหมายภาษาไทย  จาก  หนังสือ ศาสตร์การสอน ของ รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี  ค่ะ
  • constructivism    ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (รังสรรค์นิยม)
  • constructionism  ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (บางที่ใช้ว่า สร้างสรรค์นิยม )
  • คุณ ยอดดอย ตั้งโจทย์ใหม่น่าสนใจจังค่ะ

สวัสดีค่ะ

ความเห็นและประสบการณ์ของดิฉัน คิดว่า จะไปฟันธงแบบไหนดีกว่าแบบไหนไปทีเดียวเลยคงไม่ได้มังคะ

มันน่าจะอยู่ที่ เทคนิคการสอน ที่เหมาะกับเด็ก ในช่วงอายุ และสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน

อย่างที่คุณแว้บกล่าวถึง  นั่นคือผู้เรียน (1) ได้รับความรู้ใหม่ (2) จดจำความรู้นั้นได้และ (3) สุดท้ายคือนำมาใช้ได้   จากนั้นก็ต้องให้ผู้เรียนเชื่อมโยง และต่อยอดความรู้นั้น เพื่อจะนำกลับมาใช้ได้ใหม่

ส่วนทฤษฏีต่างๆ เช่น ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม....ก็อาจจะยังดีอยู่   ถ้าผู้สอนนำมาใช้อย่างเหมาะสมและระมัดระวัง

ทฤษฎีปัญญานิยม ....ตัวดิฉันเองก้เคนเรียนแบบนี้มาก่อนและได้ผลดี  เช่น เป็นการย่อความ การใช้กราฟ  การไฮไลท์ การทำแผนภูมิให้ตัวเองจำได้ง่ายๆเป็นต้นทฤษฎีรังสรรค์นิยม ..น่าจะเป็นเรื่องการทำงานเป็นกลุ่ม การพยายามหาทางแก้ปัญหา ค้นคว้า สืบสวนต่างๆ ซึ่งควรทำเป็นกลุ่ม มีการแบ่งงานกันทำเป็นต้น วิธีนี้ มีเด็กเป็นศุนย์กลางมีอยู่พักหนึ่ง คนพูดถึงการเรียน ที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางกันมาก  มองที่ความต้องการของเด็กเป็นหลัก  ให้เด็กเป็นคนกำหนดเอาเองว่า จะเรียนอะไร อย่างไร ดิฉันก็ยังงงๆอยู่ ไม่ทราบว่า มีความเข้าใจที่ตรงกันหรือไม่แต่ก็ไม่เห็นด้วย  ที่จะมีการเรียนแบบครูเป็นศูนย์กลาง เด็กต้องสงบปากสงบคำ อย่าหวังที่จะมีปากมีเสียงในชั้นเรียนได้ ตัวเองก็แอนตี้การเรียนแบบpassive learning นี้ที่สุดเหมือนกันสรุปสำหรับความเห็นส่วนตัวว่า  ...สำหรับเด็กๆมากๆ  คงเป็นการเรียนที่ไม่แยกส่วนอะไรแบบไหนอย่างชัดเจน แต่พอโตขึ้น คงต้องเป็นแบบ active learning กระตุ้นให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ที่เรียกว่า  Constructivismพอมีความรู้แล้ว เด็กโตสามารถจะนำประสบการณ์นี้ ไปสร้างความรู้ใหม่ ขึ้นมาได้ตนเองอีกค่ะ ไม่ทราบว่าเขาเรียก Constructionism ไหม 

ผมคิดว่าการสอนในลักษณะ (ครูเป็นศูนย์กลาง) ถ่ายทอดความรู้จากสมองของผู้สอนไปสู่ผู้เรียนนั้น เป็นความคิดที่ตลกครับ ถ้าเราเชื่ออย่างนั้นอย่างจริงจัง ก็จะทำได้เพียงเก็งข้อสอบให้ผ่านๆ ไป แล้วก็มาบ่นว่าเด็กท่องจำ

ครู อาจารย์ "กระตุ้น" ให้เด็ก relate สิ่งที่พยายามจะถ่ายทอด ไปในแนวทางที่ "ถูกต้อง" (เด็กเป็นศูนย์กลาง) ซึ่งก็ยากด้วยเหตุผลสำคัญที่เราละเลยอย่างเป็นระบบมานาน เช่น 

  • ความสามารถในทางภาษาของเด็ก ต่ำมาก [ คนไทยจบแค่ชั้นประถม ฯ ?
  • ความสามารถในการตั้งคำถาม คุณภาพคำถาม การฉุกคิด ฯลฯ อืม อย่าให้พูดเลยครับ 
  • ความภูมิใจในตัวเอง สูงมาก จนไม่ตระหนักถึงองค์ความรู้ ประสบการณ์ และโอกาสที่ผ่านมา (แล้วก็ผ่านไป)
  • ทักษะในการทำงาน รวมถึงการต่อสู้ ฝ่าฟัน แทบไม่มีเลย; ฉาบฉวย ไม่อดทน ผิวเผิน ต้องการผลเร็วแต่ไม่ยอม commit

ไม่รู้จะบ่นไปทำไมนะครับ เราไม่ได้กำลังแก้ปัญหาอะไรเลย เพียงแต่รู้สึกเหวอว่านี่เรากำลังจะฝากประเทศในอนาคตไว้กับอะไร

เราบังคับเด็ก ม.๔ ให้เลือกโปรแกรมเรียน ให้เด็ก ปี ๑ เลือกการศึกษาสำหรับอาชีพของเขาทั้งชีวิตโดยการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย และมีหลักสูตรกำกับเป็นมาตรฐาน (ไม่รู้เดี๋ยวนี้ยังมีมหาวิทยาลัยที่สอน Microsoft Office ให้แก่นักศึกษา แล้วนับให้ 3 หน่วยกิตอีกหรือเปล่าครับ) จึงทำให้เด็กที่จบปริญญาตรีต้องเรียนปริญญาโทต่อทันทีเพื่อยืดเวลาการว่างงาน

แต่ระบบการศึกษาของเราล้มเหลวในการให้/ฝึกฝนวิธีการเรียนรู้แก่นักศึกษานะครับ หลังจาก "จบแล้ว" เขายังต้องเรียนรู้ด้วยตนเองไปอีกหลายสิบปีกว่าจะเกษียณ แล้วหลังจากนั้นก็ยังเรียนรู้ต่อไปได้อีกตามกำลัง 

P สวัสดีครับอาจารย์สุขุมาล

ขอบคุณสำหรับคำภาษาไทยครับ ผมชอบคำแปลตรงตัวว่า:

Constructivism    ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง และ

Constructionism  ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน

แปลยาวหน่อย แต่เข้าใจดีครับ ส่วน รังสรรค์นิยมหรือสร้างสรรค์นิยมนี่ ผมว่าต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที หรือไม่ก็ต้องเอาเนื้อหามาจับ สร้างบริบทให้กับคำ หรืออาจจะต้องใช้เวลาจนกว่าคนจะคุ้นเคย

ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งนะครับ 

สวัสดีครับคุณพี่ศศินันท์

คุณพี่พูดได้ชัดเจน และเข้าใจดีกว่าผมหลายเท่าเลยครับ ผมเห็นด้วยครับว่าแต่ละทฤษฎีก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป behavioralism หรือพฤติกรรมนิยมนั้นก็มีข้อเด่นมากๆ อยู่ โดยเฉพาะในวงการแพทย์ หรือสำหรับเด็กเล็กนั้นก็มีประโยชน์อย่างมาก ทฤษฎีปัญญานิยมหรือ cognitivism (ขอบพระคุณคุณพี่มากเลยครับ ผมแอบเปิดหาคำแปลไทยเป็นอังกฤษจาก google ถึงได้ทราบคำว่าปัญญานิยม) นั้นก็มีข้อเด่นและมีเทคนิควิธีหลายหลายที่อิงกับทฤษฎี เรียกได้ว่าเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาก ต่างกับ รังสรรค์นิยม หรือแม้แต่ สร้างสรรค์นิยม (ขอขอบคุณอาจารย์สุขุมาลอีกครั้งครับ) ซึ่งนับว่าเป็นทฤษฎีใหม่ ในขณะที่นักการศึกษาที่เมืองนอกตื่นเต้นไปกับสองทฤษฎีนี้ นักจิตวิทยากลับไม่ค่อยตื่นเต้นสักเท่าไหร่ ข้อใหญ่ใจความคือมันยังเลื่อนลอย ไม่มีเทคนิควิธีรองรับ ไม่มีงานวิจัยที่เจ๋ง ๆ บอกให้รู้ว่ามันได้ผลดีแค่ไหน อย่างไร

อีกเรื่องที่ผมเห็นด้วยมากคือเรื่อง active learning ครับ คือต้องมีการกระตุ้นให้เด็กสนใจ  มีการท้าทาย ซึ่งตรงนี้ถือว่ายากนะครับ ถ้ากระตุ้นแบบเดิมๆ บ่อย หรือกระตุ้นแบบเอาของรางวัลมาช่วย (ใช้พฤติกรรมนิยม) โดยไม่จูงใจให้เด็กสนใจสิ่งนั้นจริง หรือไม่สร้าง intrinsic motivation นานๆ เข้าก็เบื่อ ก็ต้องหาวิธีใหม่อยู่ร่ำไป ครั้นจะวิเคราะห์ว่าเด็กคนไหนสนใจอะไร จะได้ดึงความสนใจได้อย่างเหมาะสม ก็เจอปัญหาว่าครูในห้องมีนักเรียนอยู่สักสามสิบคน แล้วจะวิเคราะห์กันอย่างไร จะจูงใจกันแบบไหน ถึงจะได้ผลดีกับส่วนรวม ผมแอบคิดเองว่าครูที่ดีจะหาคำตอบเหล่านี้ได้จากพ่อแม่ และผู้ปกครองในครอบครัว ช่วยกันส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ ต่อเติมในสิ่งที่เขาสนใจต่อไปได้ดีครับ

ทฤษฎี constructionism นี้ผมก็ไม่ทราบรายละเอียดนะครับ ได้ยินมา (ไม่ยืนยัน) ว่าเป็นการต่อยอดจาก constructivism ที่อธิบายว่ามนุษย์เรียนรู้จากการให้ความหมายสิ่งต่างๆ หรืออธิบายได้ว่าความรู้เกิดจากตัวผู้เรียนนั่นเอง โดย constructionism นี้ เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติจริง ได้หยิบจับสิ่งของ เพื่อสร้างความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อมเพื่อจะได้เกิดความรู้จริง คุณพี่พูดถึงการเรียนแบบผสมผสาน ทำให้ผมนึกถึงหลักสูตรที่ผมเคยเห็นถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเว็บของ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เขามีวิดีโอแสดงหลักสูตรให้เด็กพับใบตองครับ โดยเขาบอกว่าเด็กจะได้เรียนรู้ศัพท์เกี่ยวกับกล้วย (เรียนภาษาไทย) ได้ทำงานฝีมือฝึกความละเอียดอ่อน ผมเห็นแล้วปิ๊งสุดๆ แต่คิดไปคิดมา เรื่องแบบนี้ถ้าเราอยู่ตามชนบทก็ไม่ต้องขวนขวายมาเรียนก็ได้ เพราะปู่ย่าตายายจะสอนเราเอง แต่ก็นับเป็นการออกแบบที่น่าชื่นชม มีทฤษฎีรองรับ และปฏิบัติได้จริง น่าเสียดายที่ผมกลับไปเว็บของเขา (http://www.okmd.or.th)  ตอนนี้ หาไม่เจอแล้วครับว่าอยู่ตรงไหน

ขอบคุณพี่ศศินันท์ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนนะครับ

เข้ามาอีกทีค่ะ เพราะกำลังสนใจเรื่องนี้อยู่ แต่ ทำไมศัพท์มากจัง .....

จะใช้วิธีอะไรก็แล้วแต่ ภูมิหลังของเด็ก สำคัญมากเช่นกัน.....

เด็กที่มีครอบครัวเอาใจใส่เรื่องการเรียนรู้ของเด็กตั้งแต่เล้กๆ เด็กจะชอบเรียน เพราะเห็นตัวอย่างที่บ้าน

เช่นพี่เอง คุณพ่อคุณแม่ สนับสนุน และพี่เรียนในระบบ passive learning มาก่อน โดนครูตีบ่อย เพราะชอบคุยในชั้นเรียน และยังหงุดหงิดกับครูมากๆ เนื่องจาก ครูสอนน่าเบื่อมาก เราเลยไม่สนใจ แต่ก็มาตีเรา แทนที่จะดูตัวเองมั่ง หรือ บางที ครูยืนอบรมเราคนเดียวในห้องครึ่งช.ม. เพราะโกรธที่เรา ไปถามอะไรก้ไม่รู้ ที่ครูตอบไม่ได้ แล้วเลยเสียหน้า ทั้งๆที่ไม่ได้ตั้งใจจริงๆ ถามไปเพราะโง่ ไม่รู้ ไม่ได้ลองภูมิ

แต่พอโตขึ้น ก็สามารถแหวกตัวเองออกมา เป็นหนูทดลองให้ครูสอนแบบ active learning จนได้ ในโรงเรียนเดียวกัน  แทนที่จะถูกกลืน ไป ในวิธีการสอนแบบเก่าๆ  เรียกว่า ทำตัวเป็นกบฏ

พอมาถึงลูก อยู่ร.ร.เซ็นต์คาเบรียล และเตรียมอุดมฯ  ก็passive learning บางส่วนเหมือนกัน     แต่มีเด็กจำนวนมาก ที่ไม่passive ตามนะคะ รับรองได้ แค่ มีวินัยสูง เพราะเด็กผู้ชาย ต้องมีวินัยกำกับค่ะ ไม่งั้น เอาไม่อยู่นะ  อาจารย์เป็นผู้ชาย ก็รู้สว่า เด็กผู้ชาย เวลาเก ก็ไม่เบานะ

แสดงว่า ไม่ใช่แต่วิธีการสอนอย่างเดียว ไม่ใช่ครูเท่านั้น ที่จะมีอิทธิพลต่อเด็ก แต่ครอบครัวสำคัญมากๆเลยค่ะ เพราะเขาเห็นตัวอย่างที่บ้านทุกวัน

มาวันนี้ เกิดวิธีการสอนเด็กใหม่ๆขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องหนังสือ และทักษะการเข้าสังคม พ่อแม่เอาลูกไป เข้าPlay Groupต่างๆ เรียนภาษาอังกฤษ กันตั้งแต่ ยังพูดภาษาคน ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง

จริงๆ เด็กไม่ได้ฉลาดขึ้นหรอก แต่เข้าสังคมได้ และฝึกทักษะในด้านความพร้อมที่จะเรียนต่อไปในชั้นอนุบาลได้ดีขึ้น

โรงเรียนดีๆ มีไม่มาก ถ้าเด็กเรา ไม่พร้อม เขาก็ไม่อยากรับและเด็กคนอื่นทำอะไรๆเป็น ของเราไม่เป็นก็ไม่ดี เช่น หกคะเมนตีลังกาได้(มีgymของเด็กค่ะ) เด็กเล็กๆก็จะไม่สนุกเวลาเข้ากลุ่ม  แล้วก็จะปลีกตัวออกมา จากกลุ่ม ซึ่งไม่ดี   เด็กจะเรียนรู้ผ่านการเล่นมากที่สุด

สำหรับเด็กๆในวัยต้น ทฤษฏีพฤติกรรมนิยม ใช้ได้ดีค่ะ เพราะเหมาะกับวัยของเขา และเขาก็ต้องการเช่นนั้น เช่น ตอนนี้หลาน อายุ 1ขวบ 7เดือน นับเลข 1-10ได้  ชี้บอกได้ว่า สัตว์อะไร เรียกชื่อ ว่าอะไร กินข้าวเองได้    เราก็ต้องปรบมือให้กำลังใจเขาเป็นต้น แต่ต่อไป เขาก็จะเริ่ม ทำอะไรได้เอง โดยความคิดของเขาเองไปเรื่อยๆ

สรุปว่า การศึกษา เป็นเรื่องสำคัญมากๆๆ และต้องมีการวางแผน ตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ก่อนเกิดออกมาดูโลกด้วยซ้ำค่ะ

และที่คุณConductor มีความห่วงใยเด็กๆสมัยนี้มากๆนั้น

สาเหตุส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่ง.....

 เป็นเพราะ เขาอาจไม่ได้รับการเอาใจใส่ จากที่บ้านเพียงพอ ตั้งแต่ต้นค่ะ

 ถ้าที่บ้านให้ความสำคัญแก่เด็ก และปลูกเมล็ดพันธุ์ดีๆให้แก่เขา ตั้งแต่ต้น พี่ว่า ไม่ค่อยเห็นเด็กคนไหน ที่น่าผิดหวังนักนะคะ

พี่ศศินันท์ มากกว่านี้ก็จะสำลักแล้วล่ะครับ

สิ่งที่เราควรถามตัวเองคือเราปฏิบัติต่อเด็กอย่างไร สมกับที่เด็กเป็นอนาคตของชาติจริงหรือไม่ และเราได้ลงทุนกับเด็กอย่างไรเพื่อที่จะให้ชีวิตเขาเติบโตกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ

สิทธิเด็ก

P คุณ conductor ครับ

ขออภัยที่มาตอบช้ามากนะครับ ช่วงนี้เครียดกับการสอบอยู่ เลยหายไปนาน

ที่คุณ conductor บอกว่า "ผมคิดว่าการสอนในลักษณะ (ครูเป็นศูนย์กลาง) ถ่ายทอดความรู้จากสมองของผู้สอนไปสู่ผู้เรียนนั้น เป็นความคิดที่ตลกครับ ถ้าเราเชื่ออย่างนั้นอย่างจริงจัง ก็จะทำได้เพียงเก็งข้อสอบให้ผ่านๆ ไป แล้วก็มาบ่นว่าเด็กท่องจำ" นั้นเป็นสองช่วงของการศึกษานะครับ คือเป็นความเชื่อในการถ่ายทอดและการวัดผล ครูท่านหนึ่งอาจจะเชื่อว่าความรู้ต้องถ่ายทอดแบบจากครูสู่ลูกศิษย์ ก็สอนปาวๆ ครูอีกท่านเชื่อว่าความรู้มีอยู่ทั่วไปและหมุนวนไปได้ทุกทาง ทั้งจากผู้เรียนสู่ผู้สอนและในทางกลับกันก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการวัดผล ซึ่งหลายๆ ครั้ง ครูแม้จะมีความคิดอย่างที่สอง แต่ไม่รู้จะวัดผลผู้เรียนอย่างไร ครูทั้งสองท่านก็อาจจะต้องวัดผลด้วยวิธีเดียวกันคือออกข้อสอบให้เด็กท่องจำ ตรงนี้ผมว่ามันยากเพราะระบบทั้งหมดครับ และไม่ต้องห่วงว่ามันจะยากแค่ในประเทศเรา มันเป็นกันทั้งโลกครับ

ของที่อเมริกา ในแต่ละรัฐก็มีข้อสอบกลางของตัวเอง เช่นใน Florida ก็มี FCAT เป็นข้อสอบมาตรฐานที่เด็กทุกคนต้องสอบ และจะว่าไปแล้ว เนื้อหาข้อสอบก็เป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันว่าวัดผลเด็กในระดับต่ำ คือมีแต่ท่องจำ และครอบคลุมเนื้อหาเยอะ อารมณ์เดียวกับข้อสอบ entrance บ้านเรา ส่วนพวก onet anet นี่ผมไม่ทราบว่าบัดนี้ไปถึงไหน แต่จะว่าไปแล้วปัญหามันลึกกว่านั้นนะครับ คือถ้าจะบอกว่าครูไม่ทุ่มเท ไม่ยอมออกข้อสอบให้ดีกว่านี้ ทำไมไม่ให้เด็กเขียนเรียงความ ไม่ให้เด็กไปหาข้อมูลเพิ่มเติม มันเป็นการตอบคำถามคนละข้อ คือถ้าเด็กอยากเรียนต่อ เด็กก็ต้องสอบข้อสอบมาตรฐานให้ผ่าน เด็กและผู้ปกครองเองต้องการ "คุณภาพ" หรือเปล่า หรือต้องการเข้ามหาวิทยาลัยไปก่อน พูดแบบนี้ไม่ได้เป็นการแก้ตัวนะครับ ผมไม่ได้อยู่จุดนั้น เพราะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมพูดเอาจากประสบการณ์ตัวเอง ที่ต้องเรียนกวดวิชามากมายกว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาัลัยได้เหมือนกัน

ส่วนเรื่องที่คุณ conductor ว่า "เลือกการศึกษาสำหรับอาชีพของเขาทั้งชีวิตโดยการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย และมีหลักสูตรกำกับเป็นมาตรฐาน" นั้น ผมถือว่าเป็นคำถามระดับปรัชญาเลยนะครับ ผมขอถามกลับได้ไหมครับว่ามันจะเป็นอย่างอื่นได้ไหม? ถ้าเป็นแบบอื่นแล้วจะเป็นอย่างไร? ในเมื่อเราแบ่งการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยตามสาขาวิชา (ไม่ได้แบ่งตามความเก่งของเด็กเหมือนเราทำในชั้นประถม)

ผมมองคำว่า มาตรฐาน คู่กับคำว่า ระบบ นะครับ คือมันเป็นไม้บรรทัดวัดว่าถ้าคุณจะอยู่ในระบบ คุณต้องทำให้ได้เท่าไหน เช่นหน่วยงานจะรับเด็กปริญญาตรี ต้องเกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป หรือมหาวิทยาลัยจะรับเด็กต่อปริญญาโทต้องได้เกรดเฉลี่ย 3.0 ขึ้นไป อะไรแบบนั้น ประเด็นก็คือ ถ้าจะอยู่ในระบบ ก็ต้องรับเอามาตรฐานนั้นมา ถ้าไม่อยู่ในระบบ ก็ไม่ต้องไปสนใจ เดี๋ยวนี้มีโรงเรียนนอกระบบมากมาย และมีผู้ปกครองหลายท่านให้ความสนใจ ก็เป็นอีกคำตอบหนึ่งของคนที่ไม่สนใจระบบการศึกษาดั้งเดิม โรงเรียน รุ่งอรุณ และโรงเรียนเพลินพัฒนา รวมถึงการศึกษาแบบ home school น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการออกนอกระบบ แต่คำถามหนึ่งที่ต้องตอบคือ ออกไปทำไม? ออกแล้วได้อะไร? ยังไม่รวมถึงคำถามที่จะได้รับจากคนรอบข้าง เช่นแม่ที่ home school อาจจะถูกตั้งคำถามว่าลูกเธอผิดปกติอะไร ถึงไม่ให้เข้าโรงเรียน หรือถ้าส่งลูกเข้าโรงเรียนที่ไม่ได้ใช้หลักสูตรมาตรฐาน แล้วลูกจะสอบเข้าชั้นมัธยมตามหลักสูตรมาตรฐานได้ไหม แล้วจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยอย่างไร

ผมว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในระบบการศึกษาของทุกประเทศคือการมองว่าการศึกษาคือการเตรียมตัวสำหรับการใช้ชีวิตนะครับ หลายคนเรียนไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่ายังไม่พร้อมที่จะใช้ชีวิต แต่ในขณะที่ผมรู้สึกว่าการเรียนกับการใช้ชีวิตมันน่าจะเป็นสิ่งเดียวกัน 

พี่ศศินันท์ครับ

ยินดีที่คุณพี่เข้ามาเสมอครับ (เห็นด้วยว่าศัพท์ยากจริงๆ ครับ ผมก็งงเหมือนกัน)

ผมตื่นเต้นกับโรงเรียนทางเลือกที่ผุดเป็นดอกเห็นในบ้านเรา ซึ่งดูจะน่าตื่นเต้นกว่าปรากฎการณ์เดียวกันในต่างประเทศ เพราะโรงเรียนในบ้านเรารับเอาแนวทางพุทธ เป็นหนึ่งในหลักการเบื้องต้นของการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากเลย ว่าไหมครับ

เรื่องที่พี่บอกว่า "ครูตอบไม่ได้ แล้วเลยเสียหน้า" นั้น ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดาทีเดียว เพราะถ้าครูยึดเอาความคิดว่าตัวเป็นศูนย์กลาง ตัวเป็นผู้รู้ เหมือนอย่างที่คุณ conductor กล่าวไว้นั้น ถ้าเขาถูกย้อน ถูกท้าทาย ก็เหมือนเป็นการทำให้เสียหน้ากัน แต่ถ้าครูเข้าห้องด้วยความคิดที่ว่า "ฉันไม่ได้รู้ทุกอย่าง เด็กๆ ในห้องที่อายุน้อยกว่าฉัน อาจจะรู้อะไรที่ฉันไม่รู้ และเรามาอยู่ร่วมกันเพื่อจะได้เรียนรู้กันและกัน" (ยังกะ edu-topia ว่าไหมครับ) แบบนี้แล้ว รับรองว่าเด็กจะท้าทายยังไง ครูก็ยิ้มรับ และตื่นเต้นไปกับความรู้ที่เด็กบอกเล่า

ฟังคุณพี่ศศินันท์เล่าประสบการณ์เลี้ยงลูกหลานแล้วผมประทับใจมากเลยครับ ผมคงตอบอย่างเดียวกับคุณพี่ว่าครอบครัวนั้นมีอิทธิพลต่อเด็กมาก และมากกว่าโรงเรียนด้วยซ้ำ เพราะในวัยเด็ก เด็กอยู่โรงเรียนแค่เจ็ดแปดชั่วโมง อยู่บ้านมากกว่าโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นตัวอย่างให้เด็กเรียนรู้ยิ่งกว่าเพื่อนและครูอีกครับ แต่พอถึงวัยรุ่นแล้วเพื่อนและสังคมภายนอกจะเพิ่มบทบาทขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะไปได้แค่ไหน ก็ขึ้นกับภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากสมัยเด็ก ว่าไหมครับ?

ผศ.ดร.บุรินทร์ แก้วพลไกร

เป็นเว็ปที่ให้ความรู้แก่เด็กไทย ก็ดีนะครับ

มีอะไรติดต่อผมที่ มช. ได้ทุกเวลาแต่ช่วงนี้วิจัยอยู่ ไม่ค่อยว่างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท