โรงเรียนกับความต้องการของเด็ก


จากบล๊อกนานาสาระกับอุดมศึกษาไทย ของอาจารย์กมลวัลย์

และอีกส่วนหนึ่งจาก ความคิดเห็น #266143 ใน …ฤาจะรอจนสิ้นชาติ ?....จึ่งฟื้นฟู ของคุณเบิร์ด

เรามีปัญหาจากการใส่ความรู้มากพอแล้วค่ะ..( เบิร์ดเคยแอบคิดว่าโรงเรียนส่วนใหญ่น่าจะเป็น " โรงสอน " มากกว่าโรงเรียน ^ ^ )..มากจนเชาวน์ปัญญาดั้งเดิมที่สรรพสิ่งมี ( ไม่ใช่แค่เด็กนะคะ ต้นไม้ สัตว์ ก็มี )..ถูกกลืนหายไปกับองค์ความรู้ทั้งทางวิชาการ และเทคนิคต่างๆ จนต้องมาขุดหากันอีกรอบเพื่อที่จะพบว่า แท้จริงแล้วเชาวน์ปัญญาที่ว่านั้นล้วนอยู่ในตัวเราเองทั้งสิ้น..

แถมด้วยบันทึก ช่วยด้วย! จะใช้ ICT เพื่อกู้วิกฤต โรงเรียนในสามจังหวัดชายแดน ภาคใต้อย่างไร? ของคุณสุนิตย์ เชรษฐา ใน learners.in.th -- คือว่าเด็กอยากเรียน แต่โรงเรียนโดนเผาไปครับ

มีประเด็นร่วมอยู่อย่างหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ไม่ได้แยกเขียนให้ชัดออกมาครับ คือเรื่องความต้องการ(อย่างเหมาะสม)ของเด็ก เรื่องนี้มีสะท้อนให้เห็นมานานแล้ว ดังเลือกข้อความมาจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เมื่อห้าปีที่แล้ว (น่าจะเป็นช่วงวันเด็ก ซึ่ง "เด็ก" ได้แสดงความรู้สึกต่อการศึกษา)

จี้คนศธ.เลิกขัดขา ก่อนเด็กเป็นควาย

16 มกราคม 2545    กองบรรณาธิการ

ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาเยาวชนแห่งชาติให้ความเห็นถึงการปฏิรูปการศึกษา ว่า ระบบการให้เด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Center) อาจทำให้เด็กกลายเป็น ควาย เซ็นเตอร์

            ว่าต้องชื่นชมที่เด็กออกมาพูด เป็นเรื่องดีมาก  เพราะก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.)  ได้เสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แล้วว่า ให้เร่งทำความเข้าใจกับครูเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ เนื่องจากครูทั่วประเทศจำนวนประมาณ  6  แสนคนนั้น มีเพียงไม่ถึง  20 เปอร์เซ็นต์ ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้เป็นอย่างดี  และสามารถสอนเด็กให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง  ส่วนอีกกว่า  80  เปอร์เซ็นต์ ไม่มีความเข้าใจและไม่รู้ว่า การปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น เป็นอย่างไร
            “คนในกระทรวงศึกษาธิการ   มัวแต่ทะเลาะกัน  หวงเก้าอี้ ของตัวเอง พูดกันแต่เรื่องโครงสร้างโดยไม่พูดถึงการปฏิรูปการเรียนรู้  เมื่อเด็กออกมาพูดความในใจเช่นนี้ ก็จะทำให้คนในกระทรวงศึกษาธิการเลิก หวงเก้าอี้กันเสียที  ไม่เช่นนั้นเด็กจะกลายเป็นควายไปหมด” เลขาฯ สกศ.กล่าว
            ดร.รุ่งยังบอกว่า  ความจริงแล้ว Child Center นั้น ครูจะต้องทำงานหนักขึ้น ไม่ใช่ทิ้งให้เด็กไปหาความรู้  ส่วนตัวเองไปขาย ทัพเปอร์แวร์ Child Center เป็นระบบที่ครูกับนักเรียนต้องไปด้วยกัน ถ่ายทอดความรู้แบบสองทาง  ครูยังต้องทำหน้าที่แนะนำ เป็นที่ปรึกษาและ ประเมินผล ครูยังเป็นบุคคลสำคัญ เป็นผู้ตั้งวัตถุประสงค์  ตั้งเป้าหมาย แนะนำองค์ความรู้ที่จำเป็น และต้องแยกแยะเด็กให้ออก ผมชอบใจนะครับ ที่เด็กออกมาพูดถอนหงอก  และอยากบอกว่าให้ออกมาพูดบ่อยๆ พูดให้หมด
            ทางออกของปัญหาการศึกษาไทยนั้น   ดร.รุ่ง กล่าวว่า มี 3 ประการ คือ 1.การปฏิรูปการศึกษา จะต้องทุ่มเทเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้  ไม่ใช่ปฏิรูปโครงสร้างและระบบการบริหารงานเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ 2.ต้องทุ่มเทเรื่องสื่อการเรียนการสอน ไม่ใช่ทุ่มเรื่องการก่อสร้างสถานที่ใหญ่ โตโอ่โถง และ 3.รัฐบาลต้องเทงบประมาณเพื่อพัฒนาครูอย่างจริงจังให้มากขึ้น.

คิดไปคิดมา ผมก็ไม่มีคำตอบครับ รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงทำได้แต่เปิดพื้นที่ตรงนี้สำหรับ การตอบสนองต่อความต้องการอย่างเหมาะสมของเด็ก นะครับ

หมายเลขบันทึก: 101039เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2007 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะคุณConductor

ขอบคุณที่ช่วยอ้างอิงไปที่สมุด"นานาสาระฯ"นะคะ

เรื่องการตอบสนองต่อความต้องการอย่างเหมาะสมของเด็กนี้ ดิฉันก็เคยถามตัวเองเหมือนกันว่าเขาต้องการอะไร.. เท่าที่พูดคุย ก็มีหลายประเด็น  จากประสบการณ์(เฉพาะอุดมศึกษา) พบว่านักศึกษาเข้ามาเรียนด้วยความคาดหวังเรื่องอาชีพ ความคาดหวังจากผู้ปกครอง และความคาดหวังของสังคม โดยขาดความต้องการในเรื่องการมาเรียนเพื่อให้ตนเองรู้    คล้ายกับว่า ไปมองที่ผลลัพท์คือ การมีวิชาชีพ การได้ปริญญาตรี เพียงอย่างเดียว โดยที่ยังไม่เข้าใจกระบวนการเรียนเพื่อไปสู่จุดหมายมากนัก  หลายคนทุ่มเทกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาก พอเข้าได้ ก็คล้ายกับว่าสำเร็จแล้ว ได้ป.ตรีแล้ว แล้วก็ลืมไปว่ายังต้องผ่านกระบวนการบางอย่างอีก ถึงจะได้ป.ตรี คล้ายกับว่าทำงานมาหนักมากเพื่อให้สอบเข้าได้ พอสอบเข้าได้ก็ดีใจ จนลืมเรียนในปีแรกไป เพราะยังสนุกกับการสอบเข้าได้ กับอิสรเสรีภาพใหม่อยู่

ดังนั้น เท่าที่ประเมิน ความต้องการในการที่จะ"เรียน" ของเขายังไม่ค่อยมี มีแต่ความต้องการที่จะ"จบ"การศึกษา เพื่อไปประกอบวิชาชีพ ก็เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่จะต้องจัดหรือกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดความต้องการในการเรียน ตรงนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นปัญหา เพราะไม่ใช่อาจารย์ทุกคนจะคิดใส่ใจ บางคนก็ทำหน้าที่เข้าสอน แต่ไม่ได้สนใจผลสัมฤทธิ์ของการสอนเท่าใดนัก 

เรื่องนี้เป็นเรื่องยาวจริงๆ เขียนเท่าไหร่ก็รู้สึกว่าไม่สมบูรณ์ค่ะ

ผมเห็นด้วยครับอาจารย์ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาว เขียนเท่าไหร่ก็ไม่สมบูรณ์ เพราะว่าเป็นเรื่องของอนาคตคน ที่ยากที่สุดคือแต่ละคนแตกต่างกัน เขียนบรรยายอย่างไรก็ไม่ครอบคลุมครับ

เด็กส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่อุดมศึกษา ยังค้นไม่พบตัวเอง เรียนจบมัธยมมาเพื่อต้องการเรียนต่อในมหาวิทยาลัย จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ขอให้เรียนจบไว้ก่อน ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะ "ทำ" ให้เด็กค้นพบตัวเองว่าถนัดอะไร รักในวิชาชีพอะไร อยากเป็นอะไร และความฝันนั้นเป็นได้หรือไม่ โดยช่วยให้ค้นพบตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย -- แม้แต่เด็กซิ่ว ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรที่ตนได้ตัดโอกาสทางการศึกษาของคนอื่นสองคน เมื่อสละสิทธิ์ในคณะเดิมเพื่อเข้าเรียนในคณะใหม่นะครับ

พ่อแม่เลี้ยงลูก ก็อยากให้ลูกสบาย ได้เรียนสูงๆไว้ก่อน ต่อไปจะได้เอาตัวรอดได้ (เผื่อว่าลูกจะเหลียวหลังมาดูแลบ้าง ในยามแก่เฒ่า) 

เด็กประถมเรียนเพื่อให้ได้เกรด ๔ เพื่อที่ใครๆ จะชื่นชม เด็กมัธยมเรียนเพื่อให้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยให้ได้ ขวนขวายไปเรียนพิเศษเพื่อให้ได้เจอเพื่อน เด็กมหาวิทยาลัยเรียนเพื่อให้เรียนจบ (และบางทีเรียนต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะมีดีกรีสูงๆ และ/หรือ ยืดเวลาการตกงาน) แต่ไม่มีใครเลยที่เรียนเพื่อจะเป็นคนที่มีคุณค่าต่อคนรอบข้างครับ -- ผมอาจจะเว่อร์ไปหน่อยครับ แต่คิดว่าจำเป็นต้อง exaggerate เพื่อให้เห็นความรุนแรงของปัญหา

ระบบการศึกษาของเราสร้างคนจิตอ่อน ออกมาเป็นจำนวนมาก เป็นคนที่มีความภูมิใจในตนเองต่ำ ตามกระแส ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่กล้ายืนอยู่กับความถูกต้อง และมักจะตัดสินความถูกต้องไม่ได้เนื่องจากติดกระแส ส่วนในรายที่เป็นตัวของตัวเอง ก็สุดโต่งเช่นกัน ดึงดันไม่ฟังเหตุผลของผู้อื่น เหมือนเด็ก spoiled -- ผมเว่อร์อีกแล้วครับ

เรื่องนี้ ผมคิดว่าแก้ปลายเหตุไม่ได้หรอกครับ คงต้องแก้ไขทั้งกระบวนการตั้งแต่ครอบครัว ตั้งแต่เป็นเด็กมาเลย และคงไม่สามารถแก้ไขได้ใน ๑ รอบอายุของรัฐบาลครับ คงต้องใช้ความทุ่มเทอย่างยาวนานทีเดียว

เลิกเขียนก่อนจะ offend คนมากไปกว่านี้ดีกว่าครับ ตอนนี้ขอรวบรวมความคิดเกี่ยวกับ child center ก่อน

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

เข้ามาขอบคุณที่กรุณาเอาประเด็นนี้มาขยายให้ชัดขึ้นค่ะ

เบิร์ดอึดอัดกับการ " รู้ "  เรื่องการปฏิรูปการศึกษาของอาจารย์หลายๆท่านเหลือเกินค่ะ...เพราะการปฏิรูปการศึกษาหัวใจของมันคือการปฏิรูปคน ไม่ใช่ระบบ

Child  center เป็นสิ่งที่ทำให้ครูต้องเรียนรู้หนักขึ้น ( ในกระบวนการของมัน ) แต่สิ่งที่ดีคือเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวของครูเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในที่นำไปสู่ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง  รู้สึกว่าตนเองเปิดกว้างขึ้น มีความสุขกับชีวิตได้มากขึ้น เกิด openmind ที่นำไปสู่ความสุขในชีวิต..แต่ไม่ทราบว่ามีสักกี่คนที่เข้าใจเรื่องนี้นะคะ.. เพราะเป็นเรื่องที่เกิดภายในไม่สามารถวัดเป็นเชิงปริมาณได้

ขอบคุณมากค่ะที่เขียนเรื่องนี้

ผมชอบคำว่า "โรงสอน" ของคุณเบิร์ดครับ คำนั้นคำเดียว ก็อธิบายอะไรหลายอย่างมาก

ผมชอบรูปสุดท้ายของบันทึก Teach & Learn ครับ เราพูดกันมามากแล้วว่าการศึกษาไทย ค่อนข้างออกมาเป็น Memorization (การใช้ความจำ) การเรียนไปตามตำรา สร้างคนระดับ Literal level (คำต่อคำ/ตามตัวอักษร) ข้อสอบก็เป็นข้อสอบปรนัย ไม่ต้องคิดอะไรมาก แถมยังมีกรณีศึกษาแบบที่อาจารย์แป๋วยกมาถามอีก ระบบแบบนี้ สร้างคนออกมาเป็นลักษณะ procedure-oriented ครับ และอาจตอบได้ว่าทำไมเมืองไทยถึงเป็นแบบที่เป็นอยู่

เราผลิตคนในระดับที่ใช้ Judgement ได้ดี ก็มีนะครับ แต่มีจำนวนน้อยเกินกว่าจะขับเคลื่อนประเทศได้ แถมยังสู้รบกับ process ไม่ไหว

Child Center อาจมีความหมายหลายอย่าง แต่อย่างน้อย ก็ไม่ควรสร้างคนแบบ Memorization อีกแล้วครับ -- ครู/อาจารย์พยายาม Teach อย่างเต็มที่ แต่เด็ก Learn อะไรครับ

เรื่องนี้ น่าสนใจค่ะ ลองอ่านที่นี่ประกอบด้วยค่ะ

On education: child-centered VS teacher-centered?

ระบบการศึกษาของเราตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เอาแต่ท่องวิชา

เด็กเลยไม่ค่อยได้ใช้ความคิด

ทำให้ มหาวิทยาลัยไทยขาดปัญญาที่จะช่วยประเทศในเรื่องทิศทางหรือนโยบาย

แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ทั้งหมดค่ะ คนที่มีปัญญามากๆก็มี เด็กเก่งๆก็มีไม่น้อย แต่ไม่มากพอ ที่จะขับเคลื่อนประเทศได้ อย่างที่คุณConductor บอก

เด็กๆควรสมามารถมีการสร้างความรู้เองได้.....คือการวิจัย การวิจัยจะต้องเป็นวิถีชีวิต อยู่ในการศึกษา และอยู่ในการทำงานทุกชนิดด้วย

เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ พูดแล้วจบยากค่ะ.....ดิฉันเอง อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง

 เห็นอะไรอยู่บ้างเหมือนกัน ที่เห็นแล้ว ไม่ค่อยสบายใจนัก เช่น เด็กเดินไปเรียนแล้ว เดินกลับมานั่งเล่นกันบ่อยๆ ถามว่า ทำไมไม่ไปเรียน เขาบอกว่า อาจารย์ไม่มาสอน เป็นต้น ?????????

 

 

 

มานึกขึ้นได้ อีกนิดค่ะ....ประเด็นเรื่องการสอน...

ในอดีต ไทยเราให้ความสำคัญกับการสอนศีลธรรมมาก ในฐานะทีเป็นกฏเกณฑ์พื้นฐานของการปฎิบัติตนเอง และสังคม

แต่ตอนนี้ วิชาที่เรียนจะเป้นเฉพาะด้านมากขึ้น วิชาศีลธรรมจะค่อยๆหายไป เป็นเพียงวิชาเลือก หรือวิชาที่มีหน่วยกิตไม่มากนัก ขณะที่ สภาพการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่เอื้อต่อการสร้างสำนึกทางศีลธรรมเท่าไรนัก

เราจึงเห็นวัยรุ่นมีปัญหามากขึ้น...

ดิฉันเห็นเด็กผู้หญิงใช้ของแพงแล้วสะท้อนใจ พฤติกรรมบริโภคนิยมนี่มันแรงจริงๆ บางทีขโมยของหรือขายตัว เพื่อได้เงินมาซื้อของใช้ด้วย เรื่องนี้ ประสบพบเห็นมากับตัวเองเลยค่ะ

เด็กเดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยสนใจปัญหาบ้านเมืองกันเท่าไร มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท