คุณภาพข้อสอบปรนัย


มีข้อสังเกตจากการประชุมเมื่อวันก่อนครับ คือมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าข้อสอบปรนัยของไทย ค่อนข้างง่าย เมื่อดูสี่คำตอบ สามารถตัดออกไปได้เลยสองคำตอบ เพราะรู้แน่ว่าผิด (เหมือนคำถามตามเกมโชว์ที่กะแจกรางวัลอย่างเดียว)

แต่ข้อสอบปรนัยที่มีคุณภาพ ควรจะวัดความรู้ของผู้สอบได้อย่างชัดเจน คือมีคำตอบที่ถูก 100% อยู่ข้อเดียว ส่วนทางเลือกข้ออื่นๆ ถูกบ้างแต่ไม่ถูก 100%

ไม่ใช่เรื่องเสียหายไม่ใช่หรือครับ ถ้าจะออกข้อสอบที่มีคำตอบยาวออกไปสักนิด แต่สามารถวัดความสัมฤทธิผลของการเรียนรู้ได้จริง 

หมายเลขบันทึก: 98419เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2007 00:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

สาเหตุหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะผู้ออกข้อสอบไม่รู้และไม่เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ และอาจจะไม่ทุ่มเทให้กับการออกข้อสอบอย่างเต็มที่

แม้จะยังไม่มีประสบการณ์ แต่คิดว่าการออกข้อสอบให้ดีมีคุณภาพนั้น ต้องใช้พลังภายในและความรู้ความสามารถสูงระดับหนึ่ง หลายท่านเอาพลังออกมาใช้ไม่หมดจึงยังไม่สามารถออกข้อสอบที่วัดผลของการเรียนรู้ได้จริงค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ณิช

เรื่องสาเหตุนี่ คนนอกอย่างผมคงออกความเห็นไม่สะดวกหรอกนะครับ ได้แต่ตั้งข้อสังเกต รอฟังความเห็นบรรดาคณาจารย์ครับ

สวัสดีค่ะ

P

ตอนนี้ อาจารย์พยายามช่วยให้ลูกศิษย์สอบได้  และได้ดีๆด้วยค่ะ ถ้าออกข้อสอบยากไป นักเรียนก็ทำไม่ได้ ผลงานอาจารย์ก็ไม่ค่อยดีไปด้วยค่ะ

บางที หากเราให้ความสำคัญกับปัญหาเฉพาะหน้าเกินไป ก็อาจออกข้อสอบที่ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องออกมาได้นะครับ เช่น

  ก) ไม่ยุบ-ไม่ยุบ
  ข) ยุบ-ไม่ยุบ
  ค) ไม่ยุบ-ยุบ
  ง) ยุบ-ยุบ

กรณีนี้ เด็กไม่สับสน เพราะเขาจะมั่วมาหนึ่งคำตอบอยู่ดี แต่เขาจะไม่ได้อะไรมา เพราะไม่รู้ว่าทำไมตัวเองจึงควรเลือกคำตอบนั้น

P

   ก) ไม่ยุบ-ไม่ยุบ
   ข) ยุบ-ไม่ยุบ
   ค) ไม่ยุบ-ยุบ
   ง) ยุบ-ยุบ

.... ไม่เลือกข้อใด ส่งกระดาษเปล่า...

เจริญพร

เอื๊อก ไม่มีคำตอบ ยุบหนอ-พองหนอ ;-)

ในประเด็นของการออกข้อสอบ จะดีกว่าไหมครับที่อธิบายเหตุผลด้วยแทนให้เลือก ขาว-ดำ/ถูก-ผิด

การที่เด็กจบการศึกษาออกมา แต่ทำงานไม่ได้นั้น เป็นการใช้เวลาสี่ปีทำลายอนาคตอีกหลายสิบปีนะครับ

เรียน คุณ conductor ที่นับถือ เรื่องการออกข้อสอบ ผมเห็นด้วยกับคุณณิชนันทน์ นั่นคือผู้ออกข้อสอบไม่มีความรู้และไม่ทุ่มเท และที่คุณ Conductor เสนอมาว่าจะดีกว่าใหมที่ให้อธิบายเหตุผลแทนให้เลือกถูกผิด ผมตอบได้เลยว่า ดีครับ แต่จะทำได้ใหม ผมตอบได้เลยว่า ทำไม่ได้ครับ เพราะการออกข้อสอบเป็นเรื่องที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบริบทหลายๆอย่างครับ โดยเฉพาะบริบทด้านวัฒนธรรม วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ชอบอะไรซับซ้อน ไม่ชอบอะไรที่ต้องใช้เหตุผล ไม่ชอบความแตกต่างหลากหลาย และโดยเฉพาะในวงการศึกษา มักจะเป็นการจัดการศึกษาแบบเสื้อโหลครับ คือ เสื้อทุกตัวต้องเหมือนกัน ผมก็อยากเห็นการออกข้อสอบแบบที่คุณ Conductor แนะนำมาเหมือนกันครับ ไม่ทราบว่าในชาตินี้จะได้เห็นหรือเปล่า โดยเฉพาะข้อสอบเอ็นสะท้าน ขอบคุณครับ
แปลกนะครับ รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่เลือกที่จะไม่ทำดี อย่างนี้ไม่รู้จะบ่นไปทำไมครับ บ่นแล้วอะไรๆ จะดีขึ้นมาเองหรือครับ
เรียน คุณ Conductor ที่นับถือ ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาที่อยู่ในระบบราชการ เรายังต้องทำงานตามคำสั่งอยู่นะครับ และผม Small man ชื่อก็บอกอยู่แล้วครับว่าเป็นคนตัวเล็ก เป็นเพียงเฟืองตัวเล็กๆของระบบใหญ่ครับ เฟืองตัวใหญ่หมุนไปทางใหน เฟืองตัวเล็กต้องหมุนตามครับ หัวไม่ส่าย หางจะกระดิกได้อย่างไรครับ โดยเฉพาะถ้าจะพูดในเรื่องของการสร้างข้อสอบ เราต้องทำตามระเบียบ ต้องทำตามนโยบายครับ แล้วเรื่องนี้ก็มีหลายๆคนบ่นกันเสียงดังๆ หวังจะให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ต้องช่วยกันบ่นหลายๆคน หลายๆเสียงครับ ทุกวันนี้เวลามีประชุมสัมมนาอะไร ผมก็หยิบยกเรื่องนี้ไปพูดเสมอ ผู้ใหญ่ท่านก็เข้าใจครับ เพียงแต่ว่าจะต้องใช้เวลาบ้าง การบ่นก็เป็นการทำอะไรอย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ ดีกว่าไม่บ่นเสียเลยขณะที่ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะอยู่ในระบบราชการ

มี account แล้ว ยินดีต้อนรับอีกทีครับ

ผมเห็นด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ คงจะเป็นเรื่องเพ้อเจ้อถ้าจะทำคนเดียวครับ แบบนี้ต้องหาแนวร่วมครับ -- แล้วเมื่อเราเติบโตขึ้นไปในหน้าที่การงาน ก็อย่าลืมว่าเวลานี้เรารู้สึกอย่างไรกับความไม่ถูกต้องนะครับ

สวัสดีค่ะ

ยุบ/ไม่ยุบ/..../....

ตอบ  ไม่ยุบ

เรียน คุณ Conductor ที่นับถือ ขออนุญาตเล่าเรื่องการศึกษาให้ฟังครับ ในเรื่องของการวัดผลทางการศึกษา สมัยที่มีการปฏิรูปการศึกษา ประมาณปี 2540 มีคณะกรรมการการปฏิรูปการศึกษาท่านหนึ่ง ประกาศลาออกจากคณะกรรมการ เพราะสาเหตุที่ว่าไม่มีการนำประเด็นของการวัดผลบรรจุเข้าไว้ใน พรบ.การศึกษา ประเด็นการวัดผลที่ท่านเสนอเข้าไป คือ ให้มีการ ปลี่ยนแปลงการวัดผลจากถูกผิด มาเป็นการอธิบาย ท่านว่าถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงการวัดผลดังกล่าว ก็ถือว่าไม่มีการปฏิรูปการศึกษา เมื่อท่านเสนอไปแล้วไม่ได้รับสนองตอบ ท่านก็ถือว่าหมดหน้าที่ ท่านนั้นคือ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ปรมาจารย์ทางการศึกษา ผูมีทั้งอำนาจและบารมี ตราบวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็เลยต้องมาทำข้อสอบแบบถูกผิด ยุบ - ไม่ยุบ นี่แหละครับ อ้อ มี ท่าน รัฐมนตรีช่วยศึกษาอยู่ท่านหนึ่ง ท่านทำหนังสือแจ้งทุกโรงเรียนให้ออกข้อสอบแบบอัตนัย(อธิบาย) ท่านแจ้งมาเฉยๆ ไม่มีรายละเอียดอะไร มันทำไม่ได้หรอกครับ ให้เปลี่ยนการออกข้อสอบโดยไม่เปลี่ยนระบบ เพราะจะเปลี่ยนการวัดผลต้องเปลี่ยนทั้งระบบครับ ดังบันทึกเรื่อง Teach & Learn ที่คุณConductor นำมาเสนอไว้ ทุกเรื่องต้องเปลี่ยนหมดครับ ต้องปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน ปรับหลักสูตร เปลี่ยนระเบียบ แนวปฏิบัติ โดยเฉพาะที่สำคํญที่พูดถึงกันมาก คือ ข้อสอบเอ็นทรานซ์ ครับ ตราบใดที่ข้อสอบเอ็นทรานซ์ยังป็นข้อสอบถูกผิด ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงการวัดผลในโรงเรียน เพราะมันไม่สอดรับกัน ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการวัดผล ในส่วนตัวผมเอง ผมก็ทำในระบบเล็กๆของผมท่าที่จะทำได้ คือ บางวิชามันเป็นความคิดเห็นครับ ถามว่า ยุบ - ไม่ยุบ บางทีคนตอบถูก อาจไม่ใช่คนที่มีความรู้ ต้องขอโทษด้วยนะครับที่อาจบ่นให้กวนใจคุณ Conductor สักหน่อย ทุกวันนี้ผมก็ทำในส่วนของผม และถ้ามีโอกาสก็จะพูด จะคุย และแสดงความคิดเห็นเท่าที่จะมีโอกาสครับ

เท่าที่อ่าน เท่าที่ดู เท่าที่เห็น การศึกษาไทยในวันนี้ดูเหมือนจะเน้นทฤษฎีเป็นหลัก เน้นคะแนน เน้นผลสัมฤทธิ์ทางด้านวิชาการ เน้นผลิตคนเก่ง ผลผลิตของการศึกษาไทยที่ส่งเข้าสู่สังคมในยุคนี้จึงมักมีปรากฏการณ์แปลกๆให้เห็นตลอดเวลา บุคลากรในสังคมแก่งแย่งแข่งขัน ดิ้นรนพัฒนารายได้ แบบไม่เลือกวิธีการ ใครดีใครได้ ตัวใครตัวมัน พวกใครพวกมัน การดิ้นรนที่จะได้ศึกษา เงินเป็นตัวตั้ง เงินน้อยขาดโอกาสศึกษา อนาคตได้แค่ลูกจ้างระดับล่าง ที่ต้องดิ้นรนเพื่อเงิน นักศึกษามีค่านิยมวัตถุ การแต่งกายล่อแหลม ใช้เงินเปลือง เครื่องดื่มมันเมาและสารเสพติด ขายบริการทางเพศ สร้างอิทธิพลด้วยกิจกรรมรับน้อง ผิดหวังรัก/เรียนก็โดดตึกฆ่าตัวเอง ในวัยการศึกษาภาคบังคับ ก็เรียนไปเล่นไป แต่หนักไปทางเล่น ไม่รู้จักความรับผิดชอบคือสิ่งใด ไม่ได้เงินไม่ไปเรียน ไปไม่ถึงโรงเรียน ไม่มีแฟนถือว่าตกเทรน ท้องระหว่างเรียน ติด0 ติด ร ก็แค่ซ่อม ไล่ลงไประดับประถม เรียนไปวันๆ เพราะทุกคนก็ไปเรียน ทางบ้านบังคับให้ไปเรียน สนุกสนานไปวันๆ เดี๋ยวเย็นก็กลับบ้าน คะแนนเรียนคะแนนสอบได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ให้ก็เอา ไม่ให้ก็ไม่เอา ปีหน้ายังไงก็ได้เลื่อนชั้น ให้สอบ NT สอบไปทำไม ให้สอบก็สอบๆให้เสร็จไป จะได้ไปเฮกับเพื่อนๆซะที หันไปดูผู้ปกครองส่วนใหญ่ ดิ้นรนเพื่อเงินตลอดเวลา ตั้งแต่ก่อนสว่างยันดึกดื่น ตั้งหน้าหาแต่เงิน เช้าก็ยันเงินใส่มือลูก ไล่ให้รีบไปโรงเรียน เย็นมีข้าวให้กินในครัว ช่วยเหลือตัวเองก็แล้วกันพ่อแม่งานยุ่ง บางรายทำโอจนดึก

ทุกอณูของสังคมหายใจเป็นเงิน นับถือเงินเป็นพระเจ้า หาเงินซื้อวัตถุ สร้างแต่วัตถุ เป็นสังคมวัตถุนิยม บริโภคนิยม แม้แต่ในระบบสถานศึกษา ก็เน้นเงิน เน้นวัตถุ ผู้สอนก็ดิ้นรนพัฒนารายได้ของตนเอง สร้างผลงานโกหกหลอกลวงเพื่อเสนอเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน ส่วนใหญ่ต้องละทิ้งผู้เรียน เบียดบังเวลาของผู้เรียน เดินเข้าไปในวัดพบแต่วัตถุที่ทุกวัดก็แข่งกันสร้าง เร่งหาเงินทุกวิธี ทุ่มเทเงินที่ได้เพื่อการสร้างๆๆๆๆ วัตถุ ละทิ้งการให้ปัญญาประชาชน

หลายๆสิ่งที่พบเห็นในสังคมวันนี้ บ่งบอกความจริงอย่างหนึ่ง นั่นคือ "การศึกษาไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง" จะโทษใครได้ แต่ลองมองดูที่หัวแถว หัวเป็นอย่างไรหางก็เป็นอย่างนั้น หัวไปทางไหนหางก็ไปทางนั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท