DAR กิจกรรมเชียร์และรับน้อง


               ทำความดีเล็กๆให้บ่อยที่สุดกับน้องใหม่ นี่คือเรื่องหนึ่งที่พวกเราได้เรียนรู้ในช่วง 5 วันที่ผ่านมาครับ

               สวัสดีครับ หายหน้าหายตาไปหลายวัน ผมไปอบรมการเป็นกระบวนกร (facilitator) ในการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาที่สถาบันขวัญเมือง มูลนิธิสังคมวิวัฒน์ เชียงราย มา 1 สัปดาห์ครับ

               กลับมาถึงที่ม.นเรศวร กิจกรรมรับน้องของคณะก็เริ่มต้นไปได้ 2 วันแล้ว  วันนี้เป็นวันที่ 5 ของกิจกรรมครับ เหลืออีก 2 วันก็จะเสร็จสิ้น ผมอยากจะลองสกัดสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการได้เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งเป็นกระบวนกรเองด้วย มาบันทึกไว้ครับ

               ในวันแรก ทีมงานเล่าให้ฟังว่า น้องๆคุยกันมาก ไม่ค่อยฟัง ค่อนข้างจะเหนื่อยมาก ทำให้ตอนประชุมสรุปงานในวันแรก มีทีมงานหลายคนรู้สึกว่า อยากจะกลับไปทำแบบเดิมที่มีพี่วินัยคอยควบคุม (เล่าการเตรียมงานไว้ในบันทึกก่อนหน้านี้ครับ)

               แต่เมื่อคุยกันจนเข้าใจว่า มันเป็นธรรมชาติของคนหมู่มาก เราต้องปล่อยให้น้องๆค่อยๆปรับตัว แล้วจะค่อยๆดีขึ้น ซึ่งเราก็พบว่าดีขึ้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหยุดพูดคุย เมื่อพี่ๆมีอะไรจะพูดด้วย ยกมือไหว้รุ่นพี่เอง (เราตกลงกันตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่บังคับในเรื่องนี้ ซึ่งทีมงานหลายคนสะท้อนกลับมาตอนประชุมสรุปงานเมื่อวานนี้ว่า ความรู้สึกดีกว่าที่น้องยกมือไหว้แบบมีพี่วินัยคอยบังคับเยอะมาก)

                สิ่งที่ได้เรียนรู้ในประเด็นนี้คือ เราปล่อยให้เกิดความไร้ระเบียบได้ และเฝ้าดูองค์กรจัดการตัวเองในตัวของทุกคนจัดระเบียบตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่บีบคั้น เพียงแต่ทีมงานจะต้องอดทน เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ ก็จะทำให้ทีมงานไม่รู้สึกเป็นทุกข์

               อีกเรื่องหนึ่งที่ทีมงานค่อยๆปรับตัวเองมาทุกๆวันคือ บทบาทของรุ่นพี่ แต่เดิมทุกคนเคยชินกับการใช้อำนาจสั่งการ บังคับให้น้องใหม่ทำอย่างที่รุ่นพี่ต้องการ แต่ในปีนี้เราตกลงกันแล้วว่าจะไม่มีแบบนี้อีก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราจะคุยกันดีดี ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง อยากให้น้องทำดีด้วย รุ่นพี่ต้องเป็นคนทำดีกับรุ่นน้องก่อน ซึ่งในวันแรกๆ ทีมงานหลายคนยังไม่เข้าใจบทบาทแบบนี้ ทำให้อึดอัดพอสมควร เมื่อได้คุยกันตอนประชุมสรุปในแต่ละวันหลังเลิกงาน ทำให้ทีมงานปรับตัวเองได้ดีขึ้นเรื่อยๆ มีความสุขกับการทำงานมากขึ้น

                สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ การไม่ใช้อำนาจบังคับสั่งการ ก็สามารถทำให้เกิดความร่วมมือของคนหมู่มากได้ เช่น เรื่องร้องเพลงเชียร์ต่างๆ ที่เราทำแบบไม่เครียด สอนร้องเพลงกันแบบสบายๆ อยากจะเปลี่ยนท่านั่งยังไงก็ได้ ไม่ใช้ระเบียบเชียร์ที่เข้มงวด (แต่เปลี่ยนเป็นบัญญัติ 8 สำราญ แบบฮิปฮอปแทน) ไม่ต้องนั่งหลังตรงตลอดเวลา แต่เวลาที่เราต้องการให้ยืนตรงหรือนั่งหลังตรง น้องใหม่ก็ทำได้ดี

                 ประเด็นที่ตั้งไว้แต่แรก ที่บอกว่าทำเรื่องดีเล็กๆให้เกิดขึ้นบ่อยที่สุดนั้น เราพบว่าได้ผลมาก เมื่อวานนี้มีช่วงเวลาให้น้องใหม่ได้แสดงความคิดเห็นกับช่วงเวลา 4 วันที่ผ่านมา หลายๆคนสะท้อนว่ารู้สึกดีที่พี่มาถามว่าเหนื่อยมั้ย เป็นยังไงบ้าง รู้สึกดีที่พี่ๆหลายคนวนเวียนกันมาถามไถ่เมื่อรู้ว่าน้องไม่ค่อยสบาย อบอุ่นมาก ทำให้บรรดาทีมงานปลื้มใจกันถ้วนหน้า

                วิธีที่เราใช้ก็คือ ในระหว่างวันทีมงานทุกคนจะต้องคอยสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของรุ่นน้อง ใครเหงา ใครไม่สบาย ฯลฯ เราจะเก็บมาบอกต่อกันในที่ประชุมหลังเลิกงานแต่ละวัน และบอกกันว่าพรุ่งนี้มีน้องชื่อนั้น ชื่อนี้ ให้ทุกคนช่วยเข้าไปทักทาย ดูแลอารมณ์ จิตใจของน้องด้วย ซึ่งทำให้น้องๆหลายคนดีขึ้นมาก รวมทั้งพี่ๆเองก็ได้ฝึกที่จะละเอียดอ่อนกับอารมณ์ความรู้สึกของน้องด้วย

                 ติดตามตอนต่อไปนะครับ 

หมายเลขบันทึก: 101034เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2007 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เล่าเก่งจังค่ะ  จะติดตามอ่านตอนต่อไปนะคะ ....

  • ผมคนนึงที่เคยผ่านระบบ "ว๊าก" และเคยเป็นพี่ "ว๊าก" ยอมรับว่าได้ระเบียบตามต้องการครับ แต่ไม่ได้จิตใจที่คล้อยตามจากน้องๆ
  • วิธีการแบบนี้ผมว่าเป็นแนวทางที่ดีครับ เป็นกำลังใจให้ทีมงานทุกคนนะครับ
  • ทุกอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีเหตุการณ์ที่ควบคุมยาก
  • แต่ก็ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถ และความตั้งใจของเรา
  • เคยโดนว๊าก และถูกว๊าก ก็ไม่ชอบเช่น รู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำ เราก็แค่ ทำหน้าให้พี่เข้าใจว่าเรากลัวเท่านั้น ไม่ได้รู้สึกดี หรือผูกพันเลย
  • เพราะว่าการที่จะทำใหรุ่นพี่รุ่นน้อง ใกล้ชิอดกันมีวิธีดีๆอีกตั้งหลายวิธี ว๊าก ไปให้เจ็บคอทำไม เน้อ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท