จุมเรียบซัว(สวัสดี)กัมพูชา ตอน ๑๕


ผู้เขียนถ่ายรูปเก็บไว้ และนำมาขยายดูในภายหลัง พบว่า อาณาจักรขอม (เขมร) ยิ่งใหญ่กว่าที่คิดไว้มากทีเดียว

                              

ด้านในพระราชวังเขมรมีศาลาเล็กๆ หลังหนึ่ง มีแผนที่อาณาจักรขอม (เขมร) ติดไว้ที่ข้างฝา...

  • ผู้เขียนถ่ายรูปเก็บไว้ และนำมาขยายดูในภายหลัง พบว่า อาณาจักรขอม (เขมร) ยิ่งใหญ่กว่าที่คิดไว้มากทีเดียว

ภาพที่ 1: อาณาจักรขอม (เขมร)

    เชิญชมภาพใหญ่...

  • โปรดเลือกดาวน์โหลดตามความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่ท่านผู้อ่านใช้
  1. ภาพขนาด 50KB สำหรับอินเตอร์เน็ตความเร็วต่ำ
    [          คลิก - Click          ]
  2. ภาพขนาด 100KB สำหรับอินเตอร์เน็ตความเร็วปานกลาง
    [          คลิก - Click          ]
  3. ภาพขนาด 151KB สำหรับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง
    [          คลิก - Click          ]

เดิมผู้เขียนคิดว่า อาณาจักรขอมคงจะรวมภาคกลาง ภาคอีสานของไทย และกัมพูชา (เขมร) ปัจจุบัน

  • ทว่า... เมื่อนำแผนที่มาขยายดู พบว่า อาณาจักรขอม (เขมร) แผ่ไปกว้างใหญ่ไพศาลอย่างนี้...
  1. ทิศตะวันตก...
    รวมเชียงแสน เชียงราย พม่า (เขตกะเหรี่ยง และมอญทางตะวันตกของกาญจนบุรีไปจนเกือบถึงมอลัมไย / Moulmein ของพม่า)
  2. ทิศเหนือ...
    รวมลาว (หลวงพระบาง เวียงจันทน์) ไปจรดจีน
  3. ทิศตะวันออก...
    รวมพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของเวียดนาม โดยเฉพาะเวียดนามใต้นั้นคิดเป็นพื้นที่มากกว่า 3 ใน 4 รวมพื้นที่ปากแม่น้ำโขง (หรืออาณาจักรจาม - ปัจจุบันเป็นพื้นที่ "แขมร์กรอม" หรือชนกลุ่มน้อยชาวเขมรในเวียดนาม) และประมาณ 1 ใน 3 ของเวียดนามเหนือ...

    ถ้าจะเปรียบกับแผนที่เวียดนามปัจจุบันก็อาจกล่าวได้ว่า เวียดนามนั้นเดิมเป็น "เวียดนามผอม" หรือมีลักษณะยาวเรียวไปตามแนวเหนือ-ใต้ ปัจจุบันเป็น "เวียดนามอ้วน" เพราะรุกเข้ามาทางตะวันตกได้มาก ทำให้พื้นที่ประเทศเพิ่มขึ้นในแนวกว้าง
  4. ทิศใต้...
    รวมพื้นที่ภาคใต้ของไทยจนถึงพัทลุง

โจทย์คือ อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ทำให้อาณาจักรขอมเสื่อม... ผู้เขียนขอเสนอสมมติฐานแห่งความเสื่อมของอาณาจักรขอมดังต่อไปนี้

  1. การปกครอง...
    อาณาจักรขอมได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) มานานก่อนจะรับพระพุทธศาสนาแบบมหายาน (น่าจะมาจากการค้าขายกับจีน) และพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท (น่าจะมาจากไทย)

    การปกครองแบบพราหมณ์เน้น "พระเดช (อำนาจ)" ไม่เน้น "พระคุณ (ทศพิธราชธรรม)"... เปรียบได้กับ "ของร้อน"... ถ้าไม่มีทางเลือก หรือไม่มีคู่แข่งก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้ามีทางเลือกเมื่อไหร่... คนเราย่อมหนีของร้อนไปหาความร่มเย็นเสมอ 

  2. การรวมชาติไทยและเวียดนาม...
    พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประกาศรวมชาติไทย รับพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และปกครองแบบ "พ่อปกครองลูก" มีพระคุณ (ความดี - ทศพิธราชธรรม) นำพระเดช"

    พระคุณของผู้ปกครองนั้นร่มเย็น... เปรียบได้กับร่มเงาของไม้ใหญ่ และแอ่งน้ำ ทำให้คนหมู่มากหนีของร้อน(อาณาจักรขอม)ไปหาความร่มเย็นใต้พระบรมโพธิสมภาร

    ขณะที่ไทยรวมชาติได้... อีกฟากหนึ่งของอาณาจักรขอมคือ เวียดนามก็รวมชาติได้ และเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งแม้กองเรือจีนในยุคนั้นก็รบแพ้เวียดนาม
  3. การสร้างปราสาท...
    การสร้างปราสาทหินขนาดยักษ์จำนวนมาก... คงจะเปรียบได้กับโครงการเงิน(หมื่นหรือแสน)ล้าน หรือ "เมกะโปรเจคท์ (megaproject)" ของไทย...

    ขอมลงทุนสร้างปราสาทหิน ซึ่งใช้ทรัพยากรมากเกิน ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (gross domestic product / GDP) หรือผลผลิตของชาติที่เป็นหมาก เป็นผลกลับไปสู่ประชาชนลดลง

    ถ้าจะเปรียบคงจะคล้ายการเศรษฐกิจ "ฟองสบู่" ของไทย... เป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต (nonperforming investment) ในยุคนั้น ทำให้ชาติอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ

    ชาติที่ลงทุนเกินตัว (overinvest) มักจะถดถอย และอาจเสื่อมสูญ เช่น อียิปต์สร้างปิระมิดมากเกิน เจงกิสข่านขยายอาณาจักรไกลเกิน ฯลฯ... ตรงกันข้ามชาติที่ "รู้จักพอ และรู้จักพอดี" มักจะอยู่ได้ยั่งยืน

    นอกจากนั้นชาติที่ลงทุนทางด้านการศึกษา... เริ่มจากการพัฒนาภาษาเขียน ส่งเสริมให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้ ส่งเสริมการอ่าน-การบันทึกมักจะเจริญก้าวหน้าไปไกล

  4. การเป็นเมืองขึ้น...
    การตกเป็นเมืองขึ้นนานๆ มีส่วนทำให้ชาติอ่อนแอลง โดยเฉพาะฝรั่งยุคอาณานิคมนี่... ท่านว่า เป็นนัก "แบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule)"

    ฝรั่งยุคอาณานิคมเก่งทางส่อเสียด (ปิสุณวาท) หรือการยุยงคนให้แตกกัน แถมยังทิ้งระเบิดเวลาทางสังคมไว้มากมาย เช่น ปาดแผ่นดินของชาตินี้ให้ชาติโน้น สัญญากับชนกลุ่มน้อยว่าจะให้เอกราช ใช้คนกลุ่มน้อยเป็นทหารปกครองคนกลุ่มใหญ่ ฯลฯ

  5. ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง...
    สังคมขอมไม่มุ่งแก้ไขความเหลื่อมล่ำต่ำสูง... ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนห่างขึ้นเรื่อยๆ

    การมีเจ้านายเล่นการเมืองหลังได้รับเอกราช และการที่คนชั้นล่างถือว่า มีความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติมากกว่า เนื่องจากคนชั้นสูงแต่งงานกับคนต่างชาติมากกว่าคนชั้นล่างมานานนับร้อยๆ ปี...

    ทั้งหมดนี้ (ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โอกาสในสังคม และความบริสุทธิ์ทางเผ่าพันธุ์) เป็นเงื่อนไขทำให้เขมรแดงเข้ายึดครองประเทศได้ง่าย และตามมาด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเองจนเลือดนองแผ่นดินในที่สุด

วันที่ไทยเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ...

  • ท่านอาจารย์ดอกเตอร์มิเชล ทราเน ผู้เชี่ยวชาญสาขาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเขมร เขียนเรื่องตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูชา ทักท้วงว่า ไทยเอาชื่อ "สุวรรณภูมิ" ไปใช้ประเทศเดียวได้อย่างไร

จักรภพนครพนมของเขมรในศตวรรษที่ 1-6 ครอบครองแผ่นดินกว้างขวาง มีทองคำมากมาย ค้าขายไปทั่ว เจริญรุ่งเรืองที่สุดในอินโดจีน

อาจารย์ท่านว่า การที่เขมรจะเจริญได้จะต้องมุ่งไปทางสันติเภียพ (= สันติภาพ) ไม่รบพุ่งกับใคร เขมรจึงจะเจริญก้าวหน้าต่อไป

  • ทุกวันนี้น่ายินดีที่เรามีโอกาสเห็นภาพพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหมุนี พระเจ้าอยู่หัวเขมรเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชน ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรม เห็นคนเขมรจำนวนมากช่วยกันฟื้นฟู พลิกฟื้นแผ่นดินให้อุดมสมบูรณ์...
  • ขอเขมรพึงมีสันติเภียพ (= สันติภาพ)... ขออย่าได้มีสงเครียม (= สงคราม) กันอีกเลย...

    แนะนำให้อ่าน:

    ขอขอบพระคุณ:

  • ท่านอาจารย์กิเลน ประลองเชิง. ที่ไหน? สุวรรณภูมิ. กิเลนประลองเชิง ชักธงรบ. ไทยรัฐ. 3 กุมภาพันธ์ 2550. หน้า 3.
หมายเลขบันทึก: 75723เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณคุณหมอวัลลภ พรเรืองวงศ์

ขอขอบคุณ..ขอขอบคุณ...

ขอขอบคุณอาจารย์ wwibul และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่กรุณาให้เกียรติอ่านบันทึก และแวะมาเยี่ยมเยียน...
  • ข้อคิดเห็นของอาจารย์มีการทำลิ้งค์เชื่อมโยงมากที่สุด (4 ตำแหน่ง) เท่าที่เห็นมาใน go2know ต่อ 1 ข้อคิดเห็น
  • จะแวะไปชมเรื่อง "hotel rwanda อีกครั้ง" ดูตอนนี้เลย

ขอขอบคุณครับ...

  • ชอบที่อาจารย์เล่าเรื่องเชื่อมโยงภาพรวมของหลายๆชาติ ซึ่งทำใหเเห็นภาพเปรียบเทียบมากกว่าเล่าทีละอาณาจักร
  • สมัยผมอยู่มัธยม ในบทเรียนจะสอนที่ละอาณาจักร ทำให้ไม่เห็นภาพรวม
  • ขอบคุณอาจารย์หมอมากครับ
  • จะติดตามอ่านต่อไป

ขอขอบคุณ คุณบีเวอร์...

  • การศึกษาประวัติศาสตร์ควรศึกษาให้เกิดความเข้าใจ และความเชื่อมโยง... ไม่ใช่ท่องจำอย่างที่คุณบีเวอร์กล่าวไว้

area study...

  • ประเทศมหาอำนาจศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติต่างๆ เชื่อมโยงไว้มาก...
  • ฝรั่งสมัยอาณานิคมศึกษาประเทศ และชาติพันธุ์ต่างๆ ไว้ เพื่อสงคราม การค้า และ "เสี้ยมเขา(ควาย)ให้ชนกัน" หรือยุให้คนแตกกัน (ปิสุณาวาท = ยุคนให้แตกกัน เป็นบาปกรรมไปจนกว่าผลของวาจานั้นๆ จะหมดไป นั่นคือ อาจจะก่อบาปต่อไปนับสิบ ร้อย หรือพันๆ ปี)

area study...

  • น่าดีใจที่ มสธ. บังคับให้เรียนวิชา "ไทยศึกษา (Thai study)" เป็นวิชาบังคับ
  • ไทยเราล้าหลังในเรื่อง "พม่าศึกษา (โดดเด่นที่สุดที่ศูนย์พม่าศึกษา มน.)" , "ลาวศึกษา" , " กัมพูชาศึกษา" , " เวียดนามศึกษา" , "มาเลเซียศึกษา" และ "สิงคโปร์ศึกษา"

ความไม่รู้...

  • การขาดความรู้เรื่องไทยศึกษา และ "เพื่อนบ้านศึกษา" ทำให้เราขาดมิตรภาพกับเพื่อนบ้าน... ทะเลาะกันไป ทะเลาะกันมา... จีน ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์เลยแย่งไทยทำการค้ากับเพื่อนบ้านไปเกือบหมด

ขอขอบคุณที่กรุณาให้เกียรติอ่านบันทึก และแวะมาเยี่ยมเยียน...

       นี่ถ้าไม่ได้มาอ่าน bolg ของอาจารย์หมอ ผมไม่รู้เลยนะเนี่ยว่า เขมร จะเคยยิ่งใหญ่ขนาดนี้มาก่อน จะติดตามอ่านต่อไปนะครับ  

ขอขอบคุณ คุณสาทิตย์และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่กรุณาให้เกียรติอ่านบันทึก และแวะมาเยี่ยมเยียน...

อาณาจักร...

  • อาณาจักรขอม (เขมร) มีความรุ่งเรืองมาอย่างที่กล่าวไว้ในบันทึก
  • เพราะฉะนั้นเวลาหนังสือพิมพ์ไทยพาดข่าว "ขอทานเขมร" อะไรทำนองนี้...
  • คนเขมรมีแนวโน้มจะโกรธ เพราะชาติของใคร ใครก็รัก และเขมรก็เป็นชาติที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมาก่อนไทย

ครู...

  • คนไทยเรียนอักษรขอมมาก่อน และจารึกพระธรรมในอักษรขอมมาก่อน ตรงนี้อาจกล่าวได้ว่า เขมรเป็น "ครู" ของไทย
  • ไทยรับขนบธรรมเนียม ประเพณี และราชาศัพท์จากเขมร ตรงนี้อาจกล่าวได้ว่า เขมรเป็น "ครู" ของไทยเช่นกัน

ขอขอบคุณครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท