สหประชาชาติกับสงครามกลางเมือง


เราเรียนประวัติศาสตร์มักไม่ค่อยรู้ที่มาที่ไปของความขัดแย้ง

เมื่อวานผมอ่านนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ เจ้าประจำ ได้ความรู้ที่อยากจะมาเล่าต่อ เชื่อมกับเรื่องรวันดาที่ผมมาเล่าไว้ในบันทึกก่อนล่าสุดของผม

เป็นประวัติศาสตร์วิกฤตในตะวันออกกลาง ช่วงอียิปต์อ้างความเป็นเจ้าของคลองสุเอซ ขับไล่อังกฤษ กับฝรั่งเศสออกไปจากเขตคลองสุเอซ

แต่ทั้งสองมหาอำนาจไม่ยอม เลยไปสมคบกับอิสราเอล ทำเป็นบุกมาทำสงครามกับอียิปต์ รุกคืบเข้าไปยึดคลองสุเอซ เพื่อให้ฝรั่งเศสกับอังกฤษอ้างความชอบธรรมบุกเข้าอียิปต์ โดยอ้างว่ามาช่วยยุติความขัดแย้งของสองประเทศ แล้วถือโอกาสโค่นล้ม นัสเซอร์ประธานาธิบดีอียิปต์ในสมัยนั้น พร้อมกับส่งทหารคุมคลองสุเอซต่อไปโดยไม่มีกำหนด

แต่บังเอิญอเมริกาไม่เล่นด้วย เลยบีบอังกฤษให้ถอนทัพออก พร้อมกับฝรั่งเศส กลายเป็นว่าอียิปต์ชนะมหาอำนาจทั้งสอง เพราะอเมริกามาขวางไว้ และพาเอาสหประชาชาติมาร่วมวงด้วยการส่งกองกำลังสหประชาชาติเข้าไปทำงานแทนอังกฤษกับฝรั่งเศส

ถ้าใครไปอ่านบันทึกเรื่องรวันดา ้(http://gotoknow.org/blog/learningsociety/38158 ) ก็จะพบว่าในกรณีรวันดา ชาติมหาอำนาจต่างพากันตีลูกซึม ไม่เอาสหประชาชาตเข้ามาช่วยจัดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยอ้างว่าไปยุ่งกับเรื่องภายในประเทศไม่ได้

เมื่อเทียบกันสองกรณี ก็ชัดเจนว่าการแสดงบทบาทของสหประชาชาติขึ้นกับผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่อีกเรื่องที่ผมได้ก็คือ เรามักจะเรียนประวัติศาสตร์โดยไม่รู้ที่มาที่ไปขอความขัดแย้งต่างๆที่เกิดขึ้น แถมยังมีข้อสรุปตามทัศนคติของคนเขียนและสอนประวัติศาสตร์ว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนเลว

แต่ความจริงแล้วเบื้องหลังความขัดแย้ง และผลแพ้ชนะนั้น ปัจจัยตัดสินคือผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หาใช่ความดี ความเลวของฝ่ายต่างๆไม่

อียิปต์อยากได้คลองสุเอซคืนก็เพราะถูกอังกฤษและฝรั่งเศสเอาเปรียบ และการที่อิสราเอลบุกอียิปต์ก็ไม่ใช่เพราะความขัดแย้งทางศาสนา แต่เพราะต้องการฉวยโอกาสกำจัดอิทธิพลอียิปตที่อาจจะกลายเป็นมหาอำนาจในตะวันออกกลาง หลังสงครามโลก

ส่วนอเมริกาก็เข้ามายุ่งไม่ใช่เพราะเห็นใจอยากให้อียิปต์ได้เป็นเจ้าของที่ชอบธรรมของคลองสุเอซ หรือเพราะเห็นว่าอังกฤษ กับฝรั่งเศสทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่เพราะกลัวเสียงฐานเสียงในการเลือกตั้งภายในประเทศ เพราะตอนนั้นคนอเมริกันไม่อยากเห็นผู้นำที่ไปเที่ยวชักศึกเข้าบ้าน ไปยุ่งเรื่องชาวบ้านหรือทำตัวเป็นตำรวจโลก

เวลารับรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ คำถามที่ควรถามตัวเองบ่อยๆคือ ทำไม ไม่ใช่อะไร แต่ดูเหมือนเวลาสอน และสอบประวัติศาสตร์เราจะถามแต่ปี พศ ไหน ใครทำอะไร มากกว่าการถามว่าเรื่องราวต่างๆมันเกิดขึ้นเพราะอะไร

 

์ 

ิ  

หมายเลขบันทึก: 41735เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2006 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 13:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เห็นด้วยครับ

ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การลอบสังหารคนเพียงคนเดียว ทำให้เกิดสงครามโลกได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แต่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ แทบจะไม่เห็นหนังสือเล่มไหนที่ปูให้เห็นฉากหลังที่เป็นเหมือนเชื้อไฟที่กำลังระอุ และการลอบสังหารเป็นเพียงแค่การโยนไม้ขีดติดไฟลงไปให้ครบองค์ เห็นแต่การที่คนถูกลอบสังหาร แล้วคนนั้นรบกับคนนี้ โดยบอกวันเวลาได้ละเอียดเป็นฉาก ๆ บรรยายให้สงครามคือปรากฎการณ์'ผุดบังเกิด'ที่เกิดจากความบังเอิญ จากอากาศที่ว่างเปล่า

เราจึงเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยไงครับ

เราเห็นฮิตเลอร์เข้ามาด้วยการเลือกตั้ง แล้วกลายเป็นเผด็จการผ่านระบบรัฐสภา เราก็ดูด้วยความใสซื่อ คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว คนละยุคกับเรา จะไม่เกิดกับเรา

ค่าเรียนประวัติศาสตร์นี่แพงไม่เบานะครับ

คุณไทยมุงเขียนยักับรู้ใจผม เพราะตัวผมเองก็ชอบยกตัวอย่างการสังหาร ดยุคเฟอร์ดินาน (จำชื่อได้โดยไม่รู้ว่าเป็นใคร) ที่เป็นต้นตอของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ที่น่าเจ็บใจคือตัวเองก็ไม่เคยตั้งคำถามเลยตอนที่เรียนว่าอะไรมันจะง่ายขนาดนั้น คนๆเดียวถูกฆ่าพาให้คนอื่นมาฆ่ากันต่อไปอีกตั้ง 4 ปี แถมเป็นสงครามระหว่างประเทศ อีตาคนนี้คงต้องสำคัญน่าดู แต่เรากลับไม่มีรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับคนนี้

กว่าจะรู้ว่าที่แท้เขาก็เป็นแค่หมากตัวหนึ่งที่ใช้จุดระเบิดควมขัดแย้งอื่นที่คุกรุ่นอยู่ก่อนแล้ว

เรื่อง ฮิตเลอร์ ผมก็รู้สึกเหมือนคุณไทยมุง หลังจากดูหนังเรื่อง The triumph of the Will ที่แสดงภาพช่วงรุ่งเรืองของพรรคนาซี และเห็นลีลาการปราศรัยของฮิตเลอร์ (http://gotoknow.org/blog/learningsociety/21212)   ก็ไม่แปลกใจว่าคนอย่างเขาคงไม่ใช่จบที่ตัวเขาแน่ๆ  ตราบที่คนเรายังอยากมีชีวิตที่ดีกว่า และการกดขี่เอาเปรียบยังมีอยู่

ปีศาจที่มาภายใต้คราบนักบุญก็กลายเป็นวีรบุรุษได้เสมอ แถมทำความเสียหายได้ยาวนานก่อนผู้คนจะทันรู้ตัว 

ผมอ่านข้อเขียนของคุณหมออยู่ประจำ อาจยกเว้นเรื่องคุณเอื้อ เพราะไม่รู้จัก

(จะบอกว่ารู้จักแต่คำว่า 'เอื้ออาทร' ก็เกรงใจ ของแสลงเว้นได้ผมก็เว้น)

แต่เห็นด้วยกับที่คุณหมอเขียน รู้สึกว่าเขียนได้แรงอก

เรื่องประวัติศาสตร์นี่ผมว่าคนไทยอ่อน

อ่อนมาก อ่อนปวกเปียก

ไม่ใช่อ่อนเพราะไม่รู้ว่าเตยเกิดอะไรขึ้น แต่อ่อนเพราะมองไม่เห็นว่ามันกำลังเกิดซ้ำตรงหน้า เกิดต่อหน้าต่อตาทุกวัน เปลี่ยนแต่ตัวละคร วานซืนฮิตเลอร์ เมื่อวานสโลโบดาน มิโลเซวิค วันนี้ก็เป็น 'คนที่คุณก็รู้อยู่ว่าใคร'

อาจจะอ่อนเพราะวิธีสอนหรือเปล่า ก็เกรงจะเป็นถ้อยร้อนคำแรงเกินไป เอาเป็นว่า โครงสร้างของเนื้อหาไม่เหมาะสมดีกว่า

ผลคือเราต้องจ่ายค่า'ลงทะเบียนเรียน'วิชาประวัติศาสตร์กันอยู่เรื่อย ๆ สอบตกแล้ว สอบตกอีก น่าอนาถใจ

วันที่คนเดือนตุลาเขาเฉลิมฉลองวันที่ระลึกครบรอบ 14 ตุลาคม/6 ตุลาคม ผมก็ดูด้วยความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจสุดบรรยาย

เขาจะฉลองให้กับจิตวิญญาณที่ตายไปแล้วนี่นะ ? ทำไปทำไม ? เพื่อให้ได้ชื่อว่ากูเป็นคนเดือนตุลาหรือ ? ไม่ทำไม่ 'อิน-เทรนด์' ใช่ไหม ?

ถ้าอ่านประวัติศาสตร์อย่างที่ควรอ่าน เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ที่แท้แล้ว คนไม่เปลี่ยน เปลี่ยนแต่คราบที่สวมใส่ ถ้าซ้ายเท่ห์-กูก็ซ้าย ถ้าขวาเท่ห์-กูก็ขวา ตัวกูคือคนชอบเท่ห์ คราบคือซ้าย-ขวา ถ้าพรุ่งนี้คนถอยหลังเข้าคลองเทห์ กูก็จะถอยมั่ง

(กราบขออภัยที่ใช้ภาษาดิบ แต่ถ้าไม่ใช้อย่างนี้จะไม่สื่อ ถ้าเห็นว่าหนักไปจะลบหรือปรับแก้ก็เชิญนะครับ)

เขียนอย่างที่อยากเขียนแหละครับดี ผมก็ไม่ค่อยชอบเกลาคำพูดใน blog เท่าไรหรอกครับ

ผมเองไม่ค่อยชอบประวัติศาสตร์ตอนเรียนหนังสือ แต่กลับพบว่าประวัติศาสตร์มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ว่าด้วยความคิด และความรู้ ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ว่าด้วยความขัดแย้ง

ผมเคยอ่านประวัติของวิชา embryology ว่าด้วยความพยายามที่จะอธิบายพัฒนาการของตัวอ่อน พออ่้านแล้วทำให้เข้าใจวิชานี้มากขึ้นแยะ และรู้ถึงจุดที่ควรระวังในคำอธิบายที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ว่ามันมีสมมุติฐานเ๖้มไปหมด ยังไม่ได้เกิดจากความรู้จริงที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว

เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง ความที่เราเรียนลุกๆน้อย เราก็เลยคิดว่าทุกอย่างเป็นผลจากกการกระทำของผู้นำ ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมมีความหมายมาก

ส่วนการเอาประวัติศาตร์ว่าด้วยกลุ่มโน้นกลุ่มนี้มากล่าวอ้าง  ไม่ว่าจะในเชิงยกย่องหรือเหยียบยำ ่ผมว่าเป็นการexploit กลุ่มเหล่านั้นมากกว่า เมื่อ ตุลาปี 16 คนเดือนตุลามีความหมายที่ดี แต่เดี๋ยวนี้เอามาพูดถึงเสมือนหนึ่งว่าเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ไปร่วมกิจกรรม ทั้งที่ความจริงมันหมายถึงคนที่มีจิตวิญญาณที่ต้องการสร้างสิ่งที่ดีกว่า

ผมก็ไม่ค่อยอยากพูดถึงตัวอย่างคนเดือนตุลา เพราะผมตีความคนละแบบ และถือว่าใครก็ตามที่ร่วมกิจกรรมเดือนตุลา แต่เดี๋ยวนี้ทำตรงข้าม ย่อหมดสิทธิ์บอกว่าตัวเองเป็นคนเดือนตุลา

ไม่งั้นผมก็ต้องยกให้คำคำนี้เป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ครับ 

 

ประเด็นที่คุณหมอบอกว่า

"...แต่กลับพบว่าประวัติศาสตร์มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ว่าด้วยความคิด และความรู้ ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ว่าด้วยความขัดแย้ง"

ผมกลับมองว่าประวัติศาสตร์หมวดไหน ๆ ก็ล้วนไม่แตกต่าง (คิดอีกที ต่อให้แตกต่างจริง ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่มั้ง)

ประวัติศาสตร์สอนว่า เมื่อสุกงอม ผลต้องร่วงหล่น เมื่อเงื่อนไขสุกงอม สิ่งที่มันควรจะเกิดก็ต้องเกิด

เมื่อท้องฟ้าสะสมพลังงานในเมฆมากพอ เราทำนายได้ล่วงหน้าว่าฟ้าต้องผ่า แม้เราจะไม่สามารถระบุเวลาและสถานที่ได้ก็ตาม

ปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจลอยแพค่าเงินบาท ภาพที่เกิดขึ้น มีนักเศรษฐศาสตร์'หัวแข็ง'บางท่าน (คนไทยนี่แหละครับ) วาดให้เราเห็นไว้ก่อนตั้งแต่ปี 2537 !

นิวตัน กับลิบนิทซ์ 'ประดิษฐ์' calculus ในเวลาอันไล่เลี่ยกัน ทั้งที่อยู่กันคนละที่ เพราะระนาบความรู้ทางคณิตศาสตร์ตอนนั้นสุกงอมพอที่จะให้ calculus เกิดได้

การค้นพบทางวิทยาศาสตร์มีหลายกรณีที่ค้นพบไล่เลี่ยกันทำนองนี้ นั่นก็คงเป็นเพราะระนาบความรู้มาถึงระดับที่สูงพอจะเป็นฐานให้ปีนต่อได้สะดวก

T.E. Lawrence เขียนหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ 'Seven Pillars of Wisdom' (ที่ตอนหลังนำไปทำหนัง Lawrence of Arabia) เล่าว่าจุดกำเนิดของประเทศอาหรับ เกิดจากนโยบายดุลอำนาจของอังกฤษที่ผลักดันให้คนอาหรับปลดแอกจากมหาอำนาจตุรกี มองในแง่นี้ นโยบายของอังกฤษ ก็เป็นเพียงตัวเร่งให้เกิดการสุกงอมเร็วขึ้นของดุลอำนาจเท่านั้น ต่อให้อังกฤษไม่มีนโยบายนี้ ไม่แน่ว่าลำดับเหตุการณ์ก็ไม่เปลี่ยนเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ไม่ต่างจากปรากฎการณ์ทางคณิตศาสตร์ที่บรรยายระบบซับซ้อนที่เรียกว่า basin of attractors นั่นคือ แม้รายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นไปได้จะมีมากมาย แต่แนวโน้มใหญ่ ก็ไปในทิศที่'มุ่งมั่น'และเสมือนถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า หากมีเงื่อนไขเริ่มต้นเหมือนกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อมีเหตุปัจจัยที่สุกงอม สิ่งที่จะเกิด ก็จะเกิดขึ้นเอง

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ มสช. ...

  • การเรียนประวัติศาสตร์แบบวิเคราะห์ที่ท่านอาจารย์แนะนำน่าจะเป็นมิติใหญ่ของการเรียนรู้ และจะช่วย "อคติ" ได้มากทีเดียว
  • บ่อยครั้งที่ "ความเข้าใจ" นำมาซึ่ง "ความเห็นใจ"...

ขอขอบพระคุณ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท