สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๒


"เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้วมันจะไม่กลับมาอีก ถ้าเรามีโอกาสจะใช้มันให้เป็นประโยชน์แล้ว เราไม่ใช้มันก็เป็นที่น่าเสียดาย”
ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย
ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :   นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

[อ่านพระราชประวัติ ตอนที่ ๑, ตอนที่ ๑.๑, ตอนที่ ๑.๒, ตอนที่ ๑.๓, ตอนที่ ๑.๔, ตอนที่ ๑.๕, ตอนที่ ๑.๖

เสด็จนิวัติพระนคร ทรงปรับปรุงการแพทย์และพยาบาลในประเทศไทย

             การเสด็จยุโรปนี้   ได้ทรงแวะประทับที่มหาวิทยาลัยเอดินเบรอ ในสก๊อตแลนด์    และตั้งพระทัยจะศึกษาวิชาแพทย์ต่อที่นั่นให้จบ   แต่ก็มีอุปสรรค ดังจะเห็นได้จากลายพระหัตถเลขาทรงมีถึง มจ. พูนศรีเกษม เกษมศรี ลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖   ใจความตอนหนึ่งว่า “ฉันเคราะห์ร้ายเสียจริงๆ ที่เจ็บเท่าไรก็ไม่หาย เมื่อเดือนเมษายนนี้ ฉันไปตั้งต้นเรียนที่ Edinburgh แต่พอกลางเทอมก็ต้องเลิกเพราะโรคยังไม่หาย ที่จริง ใจฉันร้อน รีบตั้งต้นเร็วเกินไปเลยไม่สบายอีก บัดนี้หมอตัดสินว่าเป็นโรค Kidney เสียเลยจะพาลห้ามไม่ให้อยู่เมืองอังกฤษ เพราะอากาศที่นี่ชื้นและหนาวไป ฉันเลยลังเลว่าจะทำอะไรดี มีแปลนสองอย่าง      (๑) อยู่รักษาตัวจนหายเจ็บแล้วกลับกรุงเทพฯ ราวเดือนตุลาคมและกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ เมื่อมีโอกาสจึงค่อยคิดอ่านออกมาเรียนเอาปริญญา M.D. อีกทีหนึ่ง    (๒) เพราะหมอห้ามไม่ให้อยู่ในเมืองอังกฤษ แต่ไม่ได้ห้ามไม่ให้เรียน เพราะฉะนั้นบางทีฉันจะไปเรียนที่ California ที่นั่นอากาศอุ่นสบายดี”

         ในที่สุดสมเด็จพระบรมราชชนกก็ต้องเสด็จกลับพระนคร เพราะมีพระบรมราชโองการของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งพระองค์เป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย   ถึงประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖

              ทรงเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๖    ทรงประกาศให้ทราบว่าถ้ามีเรื่องราวใดที่เกี่ยวกับโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาล ทรงโปรดให้นำขึ้นกราบบังคมทูลได้ก่อน

          ในด้านการดำเนินการ ให้เป็นไปตามโครงการกับมูลนิธิฯ ต้องทรงทรมานพระวรกายอย่างยิ่งในการต่อสู้แก้ไขอุปสรรคต่างๆ จากบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วย      ปัญหาแรกคือการก่อสร้างและสถานที่ที่จะสร้างห้องปฏิบัติการต่างๆ ทรงมีพระราชดำริว่ามหาวิทยาลัยของไทยนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกับตะวันตก   ควรจะสร้างตามความจำเป็นหรือความต้องการของประเทศคือควรมีการกสิกรรม พาณิชยกรรม และการฝึกหัดครู ทรงเห็นสมควรจะย้ายการเรียนเตรียมแพทย์ไปที่ศิริราช เพื่อคณะแพทยศาสตร์จะได้ควบคุมการสอนให้ได้แนวกับการสอนวิชาแพทย์ แต่ในเวลานั้น นักศึกษาเตรียมแพทย์เป็นนักศึกษาส่วนใหญ่ของคณะนี้  ถ้าย้ายไปก็หมายถึงว่าคณะจะต้องถูกปิดไปโดยปริยาย จึงทรงตัดสินพระทัยว่า การทรงอยู่ของมหาวิทยาลัยนั้นมีความสำคัญเหนือกว่าคณะใดคณะหนึ่ง จึงทรงยอมให้การเรียนเตรียมแพทย์ยังคงอยุ่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสืบมา

            ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ นี้เอง สภาการแพทย์ได้ตราพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับโรงเรียนแพทย์หลายประการ ทรงพินิจพิจารณาและวิจารณ์อย่างรอบคอบ เพื่อกันการขัดแย้งกันในสภา ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ทำการเพื่อหวังผลในการบำรุงการแพทย์ให้ดีขึ้น ทรงหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการแตกแยกกันในระหว่างผู้ร่วมงานด้วยกัน แต่ก็มิได้ทรงสละหลักการทำงานหรือความเห็นที่ดี เพื่อประโยชน์แต่เพียงที่จะให้การเจรจาเป็นไปโดยราบรื่นเท่านั้น   แต่เป็นเพื่อการปรึกษาหารือกัน เพื่อหาเหตุผลอื่นประกอบ และเพื่อที่จะค้นคว้าให้ได้เรื่องที่เป็นจริง ถ้ามีผู้ใดออกความเห็นขัดแย้ง   เมื่อทรงรู้สึกว่าเป็นความเห็นที่สุจริตแล้ว ก็ทรงพระราชทานพระราชวินิจฉันแก่ความเห็นนั้นเป็นอย่างดี แต่ถ้าทรงรู้สึกว่าการที่ออกความเห็นแย้งนั้นมีเจตนาอื่นลับหลัง หรือทำเพื่อแสวงหาอำนาจแล้ว ก็ไม่ทรงผ่อนผันละลดให้เลย

          ตลอดระยะเวลาที่ทรงรับภาระหน้าที่นี้ ได้เสด็จไปปรึกษาหารือกับ ดร.เอลลิส บ่อยๆ  ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการร่วมมือกับมูลนิธิฯ เรื่องโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนพยาบาล รวมทั้งเรื่องที่จะทรงขยายเงินทุนแก่นักศึกษาแพทย์

              ไม่นานนักก็ทรงรู้สึกเบื่องานประจำโต๊ะต่างๆ ซึ่งต้องคอยทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอมความ ตรวจแก้ไขข้อบกพร่องของผู้น้อย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งบั่นทอนพระวรกาย

             ต่อมาได้ทรงสอนวิชาว่าด้วยกายวิภาคศาสตร์ของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง (Anatomy of the Vertebrates) และวิชาประวัติศาสตร์แก่นักเรียนเตรียมแพทย์ ซ้ำพระองค์ทรงมีวิธีการสอนซึ่งผิดจากอาจารย์ผู้สอนคนอื่นๆ ทรงจัดหนังสือให้พวกนักศึกษาอ่าน และจะต้องนำกลับมาบรรยายให้เพื่อนร่วมชั้นฟังได้ มีการถกเถียงปัญหากัน ในการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ทรงเชิญผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ มาบรรยาย เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยากัลยณไมตรี ทรงพาไปสถานที่ต่างๆ   โดยทรงอธิบายเรื่องราวประวัติของสถานที่นั้นๆ อย่างละเอียดลึกซึ้ง   มีบางครั้งที่ทรงพาพวกนักเรียนแพทย์ไปดูโขน ดูละคร    ทั้งนี้เพื่อให้มีความรอบรู้ รู้จักคุณค่าศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้รักและสนใจศิลปะประจำชาติของตน ในการเสด็จพานักเรียนไปที่ใดแต่ละครั้งนั้น ในวันรุ่งขึ้น นักเรียนจะแสดงความคิดเห็น อธิบายเรื่องราวที่ไปดูมาได้ จะทรงอธิบายละเอียด ทั้งดนตรี ท่ารำ เรื่องราวเป็นการเพิ่มความรู้รอบตัวให้แก่นักเรียนของพระองค์

            ในการศึกษาชีววิทยา สมเด็จพระบรมราชชนกก็ทรงเป็นห่วงในเรื่องที่นักเรียนเตรียมแพทย์จะต้องเรียนรู้จากของจริง มีบ่อยครั้งที่ทรงหิ้วชะลอมใส่กบไปให้นักเรียนเพื่อชำแหละศึกษาและเคยทรงรับสัตว์เพื่อการศึกษาค้นคว้าของฝ่ายสรีรวิทยาไปเลี้ยงไว้ที่วัง เพราะทางโรงเรียนแพทย์ไม่มีที่ที่จะเลี้ยง

             ทรงห่วงใยนักเรียนของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะแต่ทางการเรียนเท่านั้น แม้ในทางด้านส่วนตัวการอยู่การกินก็เสด็จตรวจหอพักโดยไม่ทรงบอกกล่าวล่วงหน้า ทรงอบรมสั่งสอนให้รู้จักคุณค่าของเวลา โดยรับสั่งว่า

"เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้วมันจะไม่กลับมาอีก ถ้าเรามีโอกาสจะใช้มันให้เป็นประโยชน์แล้ว เราไม่ใช้มันก็เป็นที่น่าเสียดาย” และพระองค์เองทรงเป็นคนเคร่งครัดต่อเวลาอย่างยิ่ง ในเวลาสอนจะทรงมีนาฬิกาเรือนเล็กๆ ตั้งไว้บนโต๊ะเพื่อทอดพระเนตร เวลาสอนไม่ทรงเข้าสายและไม่ทรงเลิกก่อนหรือหลังเวลา เพราะไม่ทรงโปรดฯ การที่ต้องทำให้คนอื่นคอยและในเวลาที่ทรงพาออกศึกษานอกสถานที่ จะโปรดฯ ให้รถออกตรงเวลา ไม่มีการคอยผู้ที่ยังมาไม่ถึง

             นอกจากจะทรงตรงต่อเวลาแล้ว ทรงรับสั่งว่าจะต้องรู้จักจังหวะของเวลาด้วย เวลาใดควรจะทำอะไร ไม่สับสนกัน ดังมีเรื่องเล่าว่าการเตรียมงานประจำปีของคณะ ซึ่งมีการเล่นละครนั้นต้องซ้อมกันมาก และต้องทำฉากแต่งโรงละคร เมื่อใกล้วันแสดง นักเรียนหนีหายไปจากชั้นเรียนมาก ก็มิได้ทรงตำหนิหรือทำโทษแต่ประการใด เพียงแต่รับสั่งฝากไปกับผู้ที่มาเข้าเรียนว่า

“พวกเธอทั้งหลาย การเล่นนั้นเป็นของดี การเรียนนั้นก็เป็นของดีและสำคัญ แต่การที่จะให้ดีกว่านั้นคือคนที่เรียนก็ดีและเล่นก็ดีด้วย”

             สิ่งที่ทรงพร่ำสอนแก่นักศึกษาแพทย์ทั้งหลาย ก็คืออาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวยก็ควรประกอบอาชีพอื่น ทรงรักวิชาแพทย์และนักเรียนแพทย์อย่างยิ่ง ทรงส่งเสริมโดยการจัดหาอุปกรณ์ดีๆ แพงๆ  การส่งนักเรียนไปเรียนแพทย์ในต่างประเทศนั้น เมื่อคิดเฉลี่ยแล้วจะใช้จ่ายน้อยกว่าการเรียนแพทย์ในเมืองไทย แต่การที่รัฐบาลไทยยังต้องให้มีการศึกษาวิชานี้ในประเทศไทย ก็เพื่อจะมีแพทย์ที่รู้จักโรคของประเทศไทยรักษาคนไทยได้    ทรงสั่งสอนให้รู้จักสิทธิเสรีภาพของบุคคล ทรงสอนให้นักเรียนพยายามคิดค้นทางวิชาการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  เพื่อจะได้เทียบเคียงกับต่างประเทศได้ และถ้าแต่ละคนยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรใหม่   ก็ควรศึกษาหาสิ่งธรรมดาให้รู้ว่ามาตรฐานของคนไทย คืออะไร

              ต่อมา ในปลายเดือนมิถุนายน ทรงพ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และทรงรับตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป  ตำแหน่งนี้ได้ตั้งไว้โดยไม่มีกำหนดเวลา และเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นเฉพาะพระองค์เท่านั้น และตามตำแหน่งจะทรงมีสิทธิตรวจและแนะนำงานต่างๆ ในกระทรวงธรรมการได้ ความประสงค์ของการตั้งตำแหน่งนี้ ก็เพื่อที่จะได้ทรงพ้นจากงานประจำและมีหน้าที่ในการแนะนำได้กว้างขวาง

            ต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ตกลงที่จะสร้างตึกสำหรับแผนกกายวิภาควิทยาและสรีรวิทยาของโรงเรียนแพทย์ โดยร็อกกี้เฟลเลอร์จะเป็นผู้ออกทุน ทรงแนะนำและการก็เป็นไปตามที่ได้ตกลงตรงกับพระราชดำริว่า ให้กระทรวงธรรมการเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง รับสั่งยืนยันเสมอว่าตึกสำหรับโรงเรียนและโรงพยาบาลนั้นให้สร้างเรียบที่สุด ไม่ต้องมีลวดลายและเครื่องประดับที่ไม่จำเป็นและใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทรงระวังให้ประหยัดทุนในการก่อสร้างอย่างที่สุด

 

                 ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๗ .........

* ตัดตอนจากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

………….โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ………..

หมายเลขบันทึก: 40617เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท